นินเท็นโด 64 (อังกฤษ: Nintendo 64 หรือ N64) เป็นเครื่องเล่นเกมคอนโซลรุ่นที่สามของบริษัทนินเท็นโด วางจำหน่ายครั้งแรกที่ญี่ปุ่น วันที่ 23 มิถุนายน ค.ศ. 1996 และที่สหรัฐอเมริกา วันที่ 29 สิงหาคม ค.ศ. 1996

นินเท็นโด 64
Nintendo 64
nintendo 64
nintendo 64
ผู้ผลิตนินเท็นโด
ชนิดเครื่องเล่นวิดีโอเกม
ยุคยุคที่ห้า
วางจำหน่าย23 มิถุนายน ค.ศ. 1996 (JP)
29 กันยายน ค.ศ. 1996 (NA)
1 มีนาคม ค.ศ. 1997 (AU)
1 กันยายน ค.ศ. 1997 (FR)
ยอดจำหน่าย32.93 ล้านเครื่อง
สื่อตลับเกม
แผ่นแม่เหล็ก (64ดีดี)
ซีพียู93.75 MHz NEC VR4300
กราฟิกการ์ดSGI 62.5 MHz 64-bit RCP
เกมที่ขายดีที่สุดซูเปอร์มาริโอ 64
รุ่นก่อนหน้าซูเปอร์แฟมิคอม
รุ่นถัดไปเกมคิวบ์

ชื่อที่ใช้ในการพัฒนาคือ Project Reality ในภายหลังได้ใช้ชื่อ Nintendo Ultra 64 จากความสามารถในการประมวลผลแบบ 64 บิต ซึ่งนินเท็นโดได้นำคำว่า Ultra ออกเหลือเพียง Nintendo 64

ประวัติ

แก้

เริ่มแรกพัฒนาในชื่อโครงการว่า "โปรเจกต์ เรียลลิตี้"[1] บริษัทนินเท็นโดคาดการณ์เอาไว้ว่า เครื่องเกมจากโปรเจกต์นี้จะเป็นเครื่องเกมคอนโซลที่สามารถสร้างภาพคอมพิวเตอร์กราฟิกได้พอๆกับเครื่องซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ในยุคนั้นทีเดียว ในฝั่งตะวันตก เครื่องเกมนี้ถูกเรียกกันว่า "อัลตร้า 64" และภาพดีไซน์ของเครื่องถูกนำออกเผยแพร่เป็นครั้งแรกในปี 1994 ซึ่งมีรูปร่างเหมือนกับเครื่องนินเท็นโด 64 ที่เสร็จสมบูรณ์แล้วทุกประการยกเว้นที่โลโก้ของเครื่อง และมีการยืนยันว่าเครื่องเกมนี้จะใช้ตลับ ซึ่งถือว่าแตกต่างจากเครื่องเกมคอนโซลเจ้าอื่นๆในยุคนั้น ที่กำลังนิยมใช้ CD-ROM เป็นสื่อในการบันทึกเกม ส่วนในญี่ปุ่น บรรดาแฟนเกมและผู้สื่อข่าวต่างสันนิษฐานกันว่าเครื่องเกมนี้จะออกมาในชื่อ "อัลตร้าแฟมิคอม"[2] แต่เมื่อเครื่องที่พัฒนาเสร็จสมบูรณ์ออกในปี 1995 ทางนินเท็นโดได้ประกาศให้ชื่อเครื่องเกมนี้ว่า "นินเท็นโด 64" และใช้ชื่อนี้ทั่วโลก เหตุผลที่ทางนินเท็นโดตัดสินใจตัดคำว่า "อัลตร้า" ออกจากชื่อเครื่อง เนื่องจากชื่อ "อัลตร้า" ได้ถูกจดลิขสิทธิ์โดยบริษัทโคนามิอยู่ก่อนแล้ว เครื่องเกมนินเท็นโด 64 ออกวางขายครั้งแรกในปี 1996[3]

การขาย

แก้

ในอเมริกา เครื่องนินเท็นโด 64ขายได้ 500,000 เครื่องในสี่เดือนแรก[4] แต่ยอดขายในญี่ปุ่นไม่ค่อยดีนัก ในวันที่ 31 ปี ค.ศ.2005 เครื่องนินเท็นโด 64 ขายได้ในญี่ปุ่นได้เพียงจำนวน 5.54 ล้านเครื่อง ส่วนในอเมริกาขายได้ถึง 20.63 ล้านเครื่อง และขายได้ในภูมิภาคอื่นๆอีก 6.75 ล้านเครื่อง รวมแล้วเครื่องนินเท็นโด 64 ขายได้ 32.93 ล้านเครื่อง[5]

ในด้านการตลาด ทางนินเท็นโดได้โฆษณาว่าเครื่องนินเท็นโด 64 เป็นเครื่องเกม 64 บิทเครื่องแรกของโลก[6] ซึ่งขัดแย้งกับคำกล่าวอ้างของบริษัทอาตาริ ผู้ที่อ้างว่าเครื่องจากัวร์ของตนเป็นเครื่องเกม 64 บิทเครื่องแรกของโลก แต่อย่างไรก็ดี คอมพิวเตอร์ 64 บิทของจากัวร์ เป็นการนำเอาคอมพิวเตอร์ 32 บิท 2 ตัวมาใช้ร่วมกันเท่านั้น

จุดสิ้นสุดของยุคตลับเกม

แก้

ทางนินเท็นโดยังคงใช้ตลับเกมเป็นสื่อบันทึกเกมสำหรับนินเท็นโด 64 ตลับเกมนั้นมีความจุตั้งแต่ 4 เมกะไบต์ จนถึง 64 เมกะบิท การเซฟเกมกระทำโดยการบันทึกข้อมูลลงบนแบ็ตเตอรี่แบ็คอัพแรมในตลับ แต่บางเกมที่ใช้เมมโมรี่การ์ดแยกต่างหาก

การตัดสินใจใช้ตลับเกมเป็นสื่อบันทึกเกมของนินเท็นโด ถือว่าเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด และเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้นินเท็นโดพ่ายแพ้ต่อโซนี่ในวงการอุตสาหกรรมเกมคอนโซลในยุคนั้น หลังจากที่เป็นผู้ครองตลาดมาหลายสิบปี ทางนินเท็นโดได้พยายามโฆษณาถึงข้อดีของตลับเกม และข้อเสียของซีดีรอม นินเท็นโดโจมตีว่า เกมที่ใช้ซีดีรอมนั้นต้องเสียเวลาโหลดนานและโหลดถี่ ต่างกับตลับที่แทบไม่ใช้เวลาในการโหลดเลย เนื่องจากในยุคนั้นเทคโนโลยีหัวอ่านแผ่นซีดียังไม่ก้าวหน้ามากนัก และยังโจมตีว่าเกมจากแผ่นซีดีนั้นสามารถก๊อปปี้ได้ง่าย ต่างจากตลับเกมที่ก๊อปปี้ได้ยากกว่า นอกจากนั้นแผ่นซีดีนั้นยังบอบบางและเสียหายง่าย หากมีรอยขีดข่วนก็อาจจะอ่านข้อมูลจากแผ่นนั้นไม่ได้เลย ต่างจากตลับที่ทนทานกว่า

แต่ตลับเกมก็มีจุดเสียเปรียบที่ทำให้พ่ายแพ้ต่อแผ่นซีดี ข้อเสียเปรียบที่สำคัญข้อแรกคือ ตลับเกมมีความจุน้อยกว่าแผ่นซีดีมาก ในขณะที่ตลับเกมมีความจุสูงสุดที่ 64 เมกะไบต์[7] แต่ซีดีรอมมีความจุถึง 650 เมกะไบต์[8] ในขณะที่เกมในยุคนั้นมีการพัฒนาจนซับซ้อนกว่าแต่ก่อน ผู้พัฒนาเกมต้องการพื้นที่ความจุที่มากขึ้นเพื่อจะได้ช่องทางในการสร้างสรรค์มากขึ้น ข้อเสียเปรียบข้อถัดไปก็คือตลับเกมนั้นผลิตได้ยากกว่าและแพงกว่าซีดีรอม ในขณะที่ซีดีรอมนั้นผลิตง่ายและต้นทุนไม่สูงนัก ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้เหล่าผู้พัฒนาเกมหันไปพัฒนาเกมให้กับเครื่องเกมที่ใช้ซีดีรอมอย่างเพลย์สเตชันหรือเซก้าแซทเทิร์นแทน

อ้างอิง

แก้
  1. http://www.highbeam.com/doc/1G1-18750905.html [ลิงก์เสีย]
  2. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-03-04. สืบค้นเมื่อ 2021-08-17.
  3. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-03-17. สืบค้นเมื่อ 2009-02-22.
  4. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-07-14. สืบค้นเมื่อ 2012-07-14.
  5. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-07-14. สืบค้นเมื่อ 2012-07-14.
  6. NINTENDO DEBUTS 64-BIT GAMING AT E3
  7. Nintendo 64 Tech
  8. http://www.pcguide.com/ref/cd/mediaCapacity-c.html

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้