เจ้าบุญอุ้ม ณ จำปาศักดิ์
เสด็จเจ้าบุนอุ้ม นะจำปาสัก หรือ เสด็จเจ้าบุญอุ้ม ณ จำปาศักดิ์ (ลาว: ສະເດັດເຈົ້າບຸນອຸ້ມ ນະຈຳປາສັກ) ประสูติ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1911 พิราลัย 18 มีนาคม ค.ศ. 1980 บางแห่งว่าประสูติ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2454 พิราลัย 17 มีนาคม พ.ศ. 2523[1] กษัตริย์และเจ้าครองนครจำปาสักองค์ที่ 13 หรือองค์สุดท้าย ประสูติในราชวงศ์จำปาสัก สืบราชสันตติวงศ์จากสมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร (เจ้าหน่อกษัตริย์) กษัตริย์ผู้สถาปนาและปกครองราชอาณาจักรจำปาสักองค์แรกของลาว เป็นอดีตนายกรัฐมนตรีรัฐบาลพระราชอาณาจักรลาว 2 สมัย อดีตผู้ตรวจราชการแผ่นดินต่างพระเนตรพระกรรณพระบาทสมเด็จพระเจ้ามหาชีวิตพระราชอาณาจักรลาว ประธานที่ปรึกษาพระมหากษัตริย์ และประมุขแห่งราชสกุล นะจำปาสัก (ณ จำปาศักดิ์) มีบทบาทสำคัญทางการเมืองลาวในฐานะฝ่ายขวาหลังรับเอกราชจากฝรั่งเศสกระทั่งสิ้นสุดพระราชอาณาจักรใน พ.ศ. 2518 ได้รับยกย่องจากประชาชนลาวในฐานะผู้ยินยอมสละราชบัลลังก์กษัตริย์แห่งราชอาณาจักรจำปาสักเพื่อให้แผ่นดินลาวรวมเป็นประเทศเดียว ทรงดำรงฐานันดรศักดิ์แห่งราชวงศ์สูงเป็นลำดับ 3 ของพระราชอาณาจักรรองจากพระบาทสมเด็จพระเจ้ามหาชีวิตและสมเด็จเจ้าฟ้าชายองค์มงกุฎราชกุมาร
เจ้าบุญอุ้ม ณ จำปาศักดิ์ | |
---|---|
เสด็จเจ้านครจำปาสัก | |
ประมุขราชวงศ์จำปาศักดิ์ | |
ดำรงพระยศ | 2 มีนาคม ค.ศ. 1946 – 17 มีนาคม ค.ศ. 1980 |
ก่อนหน้า | เจ้ายุติธรรมธร |
ถัดไป | เจ้าแก้ว ณ จำปาศักดิ์ |
นายกรัฐมนตรีลาว คนที่ 4 | |
ดำรงตำแหน่ง 25 มีนาคม ค.ศ. 1948 – 24 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1950 | |
กษัตริย์ | สมเด็จพระเจ้าศรีสว่างวงศ์ |
ก่อนหน้า | เจ้าสุวรรณราช |
ถัดไป | พระยาหัวโขง |
ดำรงตำแหน่ง 13 ธันวาคม ค.ศ. 1960 – 23 มิถุนายน ค.ศ. 1962 | |
กษัตริย์ | สมเด็จพระเจ้าศรีสว่างวัฒนา |
ก่อนหน้า | เจ้าสุวรรณภูมา |
ถัดไป | เจ้าสุวรรณภูมา |
ประธานที่ปรึกษาพระมหากษัตริย์ลาว | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 1947 – 1949 | |
กษัตริย์ | สมเด็จพระเจ้าศรีสว่างวงศ์ |
ก่อนหน้า | สถาปนาตำแหน่ง |
ถัดไป | กุ อภัย |
รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 1948 – 1950 | |
นายกรัฐมนตรี | พระองค์เอง |
ก่อนหน้า | สถาปนาตำแหน่ง |
ถัดไป | พระยาหัวโขง |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 1960 – 1962 | |
นายกรัฐมนตรี | พระองค์เอง |
ก่อนหน้า | เจ้าสุวรรณภูมา |
ถัดไป | กวีนิม พลเสนา |
ประสูติ | 2 ธันวาคม ค.ศ. 1912 พระราชวังหลวง ปากเซ อาณาจักรหลวงพระบาง อินโดจีนของฝรั่งเศส |
พิราลัย | 17 มีนาคม ค.ศ. 1980 บูลอญ-บีย็องกูร์ ปารีส ประเทศฝรั่งเศส | (67 ปี)
บรรจุพระอัฐิ | สุสานทรีว็องซ์ |
พระชายา | บัวผัน ชุมพลภักดี |
หม่อม | แดง น้อย บุญน้อม |
พระราชบุตร | 12 พระองค์ |
ราชวงศ์ | แสนทิพย์นาบัว |
ราชสกุล | ณ จำปาศักดิ์ |
พระราชบิดา | เจ้ายุติธรรมธร |
พระราชมารดา | เจ้าเฮือนสุดสมร |
ศาสนา | พุทธเถรวาท |
อาชีพ | ข้าราชการ นักการเมือง |
พระราชประวัติ
แก้เสด็จเจ้าบุนอุ้มประสูติ พ.ศ. 2454 ภายในพระราชวังหลวงนครจำปาสัก บ้านดอนตลาด นครจำปาสัก ครั้งลาวเป็นอาณานิคมอินโดจีนฝรั่งเศส เป็นพระราชโอรสในสมเด็จเจ้าย่ำขะหม่อมยุติธรรมธร (หยุย ณ จำปาศักดิ์) หรือสมเด็จเจ้าราชดนัย กษัตริย์ครองนครจำปาสักองค์ที่ 12 ระหว่าง พ.ศ. 2436-89 กับพระอัครชายา เจ้าเฮือนหญิงสุดสมร เป็นพระราชนัดดาในสมเด็จเจ้าย่ำขะหม่อมยุติธรรมธรนครจำปาศักดิ์รักษาประชาธิบดี (คำสุก ณ จำปาศักดิ์) กษัตริย์ครองนครจำปาสักองค์ที่ 11 ในฐานะประเทศราชสยาม สำเร็จการศึกษาจากสำนักการศึกษาอินโดจีนฝรั่งเศส กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม [2] พ.ศ. 2484 นครจำปาสักจำใจตกเป็นของสยามรอบ 2 หลังกรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศส ฝรั่งเศสยกนครจำปาสักแก่ไทยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 พร้อมสนับสนุนการสถาปนาเสด็จเจ้าบุนอุ้มขึ้นเป็นกษัตริย์องค์ครองนครจำปาสัก หลังลาวรับเอกราชเสด็จเจ้าบุนอุ้มตั้งสะสมกำลังขัดแข็งอยู่ภาคใต้นับสิบปีจากนั้นจำปาสักจึงถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของลาว ภายใต้การเกลี้ยกล่อมของพระบาทสมเด็จพระเจ้ามหาชีวิตเสด็จเจ้าบุนอุ้มจึงยอมสละสิทธิ์การเป็นกษัตริย์เหนือดินแดนดังกล่าว
สภาวะวุ่นวายทางการเมืองลาวหลังรับเอกราชทำให้ลาวแบ่งขั้วการเมืองเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ ลาวฝ่ายขวานิยมสหรัฐอเมริกา ลาวฝ่ายซ้ายนิยมเวียดนามนำโดยเสด็จเจ้าสุพานุวงส์ และลาวฝ่ายเป็นกลางซึ่งพยายามประนีประนอมฝ่ายขวาและฝ่ายซ้ายนำโดยเสด็จเจ้าสุวรรณภูมา เสด็จเจ้าบุนอุ้มเป็นหนึ่งใน 3 เจ้านายลาวที่มีบทบาทในฝ่ายขวา เมื่อเสด็จเจ้าสุวรรณภูมาพยายามดำเนินนโยบายเป็นกลางใน พ.ศ. 2493 และสามารถเจรจากับฝ่ายซ้ายสำเร็จ เสด็จเจ้าบุนอุ้มซึ่งมีสหรัฐและไทยหนุนหลังทรงคัดค้านอย่างแข็งขัน ทำให้รัฐบาลเสด็จเจ้าสุวรรณภูมาถูกกดดันจนล้ม พ.ศ. 2497 ท้าวกระต่าย โดนสโสฤทธิ์ ผู้รับใช้ฝรั่งเศสอย่างซื่อสัตย์ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งวอชิงตันเลือกให้เป็นผู้ทำทุกวิถีทางเพื่อขัดขวางการจัดตั้งรัฐบาลผสม และภรรยาคนที่ 2 ของท้าวกระต่ายเป็นพระขนิษฐาของเสด็จเจ้าบุนอุ้ม สหรัฐจึงผลักดันให้พระองค์ขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้ามหาชีวิตองค์ต่อไปแทนพระบาทสมเด็จพระเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ซึ่งทรงประชวรอยู่ [3] ต่อมา พ.ศ. 2502 ท้าวโง่น ชนะนิกร จัดตั้งรัฐบาลแทน นายพลพูมี หน่อสะหวัน เข้ายึดอำนาจการปกครองในธันวาคม ต่อมาสิงหาคม พ.ศ. 2503 ร้อยเอกกองแล วีระสาน ยึดอำนาจในนครหลวงเวียงจันทน์สำเร็จจึงสนับสนุนเสด็จเจ้าสุวรรณภูมาจัดตั้งรัฐบาลอีกครั้ง ฝ่ายเสด็จเจ้าบุนอุ้มทรงคัดค้านไม่ยอมเจรจาทุกทาง
10 กันยายน พ.ศ. 2503 นายพลพูมีประกาศงดใช้รัฐธรรมนูญแห่งพระราชอาณาจักรลาวพร้อมประกาศกฎอัยการศึกทั่วพระราชอาณาจักร และจัดตั้งคณะปฏิวัติตามแบบอย่างจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้เป็นน้า โดยยกเสด็จเจ้าบุนอุ้มเป็นหัวหน้าคณะ นิตยสารไทม์ของอเมริกันเคยชมเชยพระองค์ว่า ทรงเป็นแบบฉบับบุรุษเจ้าสำราญของลาวโดยแท้ ทรงมีของโปรดอยู่ 3 สิ่งคือ เงิน เหล้า และสตรี ดังนั้นเมื่อเสด็จเจ้าบุนอุ้มได้เป็นผู้นำคณะปฏิวัติจึงเป็นเรื่องขบขันทั่วนครหลวงเวียงจันทน์ เหตุที่พระองค์และนายพลพูมีไม่พอใจรัฐบาลเสด็จเจ้าสุวรรณภูมาและทำรัฐประหารซ้อนล้มรัฐบาล นายพลพูมีอ้างว่าเพราะรัฐบาลนั้นไม่สามารถรักษาสถานการณ์ได้ ปล่อยให้เวียดมินห์บุกรุกพระราชอาณาจักรทางพงสาลี ซำเหนือ และเชียงขวาง แต่ข้อเท็จจริงเป็นเพราะนายพลพูมีไม่พอใจนโยบายเป็นกลางและสันติซึ่งมีกีนิม พลเสนา สนับสนุนอยู่ อันเปิดโอกาสให้เพิ่มอำนาจแก่คอมมิวนิสต์และแนวลาวรักชาติ นายพลพูมีจึงพยายามเอาชนะทางการทหารเพื่อต่อรองทางการเมืองแต่ไม่สำเร็จ[4] ส่วนสหรัฐและไทยฉวยโอกาสแทรกแซงการเมืองภายในลาวโดยสนับสนุนนายพลพูมีซึ่งพยายามสร้างกองกำลังที่แขวงสุวรรณเขต ไทยเปิดโอกาสให้สหรัฐตั้งฐานทัพในประเทศเพื่อสะสมกองกำลังทิ้งระเบิดในลาว นำมาซึ่งความโกรธแค้นของชาวลาวต่อไทยและสหรัฐสืบถึงปัจจุบัน ฝ่ายเสด็จเจ้าสุวรรณภูมาพยายามเจรจากับฝ่ายปะเทดลาวเพื่อตั้งรัฐบาลผสม สหรัฐกดดันเสด็จเจ้าสุวรรณภูมาให้เจรจากับนายพลพูมีจนพระองค์เสด็จลี้ภัยไปกัมพูชาใน 18 ธันวาคม พ.ศ. 2503 ฝ่ายร้อยเอกกองแลหันไปร่วมมือกับขบวนการปะเทดลาว ความฝักใฝ่การเมืองของเสด็จเจ้าบุญอุ้มยังไม่ยอมลดละ โดย พ.ศ. 2504 มีการจัดตั้งรัฐบาลลาวฝ่ายขวาซึ่งพระองค์เป็นผู้นำทำให้สงครามกลางเมืองลาวขยายตัว
ต่อมาสหรัฐเชิญเสด็จเจ้าบุญอุ้มเข้าร่วมการประชุมเจนีวาในพฤษภาคม พ.ศ. 2504 การเจรจายืดเยื้อถึง พ.ศ. 2505 ในที่สุดที่ประชุมยินยอมให้เสด็จเจ้าสุวรรณภูมาเป็นผู้นำลาว บทบาททางการเมืองของเสด็จเจ้าบุนอุ้มจึงลดลง ฝ่ายขบวนการปะเทดลาวทำสงครามรุกคืบจนได้ชัยชนะใน พ.ศ. 2518 และจับพระบรมวงศานุวงศ์ขุนนางข้าราชการจำนวนมากไปคุมขังและสังหาร ฝ่ายเสด็จเจ้าบุญอุ้มไหวตัวทันจึงเสด็จลี้ภัยออกนอกประเทศพร้อมพระบรมวงศานุวงศ์จำนวนหนึ่ง ทรงประทับและสิ้นพระชนม์ที่ฝรั่งเศสใน พ.ศ. 2523[5]
การถูกลดอำนาจและสิทธิแห่งการสืบราชสกุล
แก้หลังฝรั่งเศสยื้อแย่งจำปาสักจากสยามและยินยอมให้ลาวประกาศเอกราช ข้าหลวงใหญ่ฝรั่งเศสบังคับความเห็นร่วมของพระบาทสมเด็จพระเจ้ามหาชีวิตเพื่อลดฐานันดรศักดิ์ของเสด็จเจ้าบุญอุ้มในการขึ้นเป็นกษัตริย์ราชอาณาจักรจำปาสัก ให้กลายเป็นเพียงเจ้าผู้ครองนครจำปาสักคอยตรวจราชการต่างพระเนตรพระกรรณและเป็นประมุขราชสกุลเท่านั้น การเห็นชอบระหว่าง 2 ฝ่ายลงมติว่าสถานะของพระองค์ต้องเป็นไปตามสัญญาต่อท้าย (Protocole secret annexe au Modus Vivendi) ลงวันที่ 12 สิงหาคม ค.ศ. 1946 ดังนี้
1. เสด็จเจ้าบุญอุ้มจะทรงรักษาไว้ซึ่งฐานันดรศักดิ์ด้วยการสืบทอดเชื้อสายโดยตรงทางเพศชาย นามยศเจ้านครจำปาสัก
2. ตำแหน่งและอภิสิทธิ์ต่าง ๆ ของเจ้านครจำปาสักจะเป็นอันดับรองโดยตรงจากพระบาทสมเด็จพระเจ้ามหาชีวิตและองค์มกุฎราชกุมาร
3. เสด็จเจ้านครจำปาสักจะทรงได้รับค่าใช้จ่ายเพื่อบริหารงานและการอำนวยความสะดวกประจำปีจากงบประมาณแห่งพระราชอาณาจักรลาว เท่ากับ 2/3 ของพระราชวังฯ เสด็จเจ้านครจำปาสักจะทรงได้รับอสังหาริมทรัพย์ ที่ประทับ ไฟฟ้า รถยนต์ประจำตำแหน่ง ตลอดทั้งคนขับ
4. เสด็จเจ้านครจำปาสักโดยตำแหน่งทรงเป็นองค์ตรวจราชการเมืองการปกครองต่างพระเนตร-พระกรรณพระบาทสมเด็จพระเจ้ามหาชีวิต โดยตำแหน่งนี้จะทรงขึ้นตรงต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้ามหาชีวิต
5. เพื่อการรวมลาวเป็นหนึ่งเดียว เสด็จเจ้านครจำปาสักจะทรงไม่ยอมรับที่จะขึ้นครองราชอาณาจักรจำปาสัก[6]
เมื่อเสด็จเจ้าบุญอุ้มจำใจสละสิทธิ์เหนือดินแดนราชอาณาจักรจำปาสัก พระบาทสมเด็จพระเจ้ามหาชีวิตมีพระราชเลขาแสดงความพอพระทัยและขอบพระทัยในความเสียสละของพระองค์ว่า
...ท่านวอนเคารพในการตรวจสอบและขอร้องแก่เรา เพื่อที่จะทราบความรู้สึกของเรานั้น เราขอแสดงว่า การให้คำค้ำประกันในทางส่วนตัวอันเกี่ยวข้องทางตำแหน่งเจ้าราชวงษ์ ณ จำปาสักนั้นซึ่งเป็นที่ยอมรับรู้ในโพรโทคอลผนวกท้ายสัญญาโมดัสวิวังดียังคงใช้ได้แน่นอน เราเสียดายเพียงแต่ในระยะเวลาที่ประเทศลาวได้ถูกปลดปล่อยในสถาบันประชาธิปไตยเช่นนี้ ซึ่งในฐานันดรศักดิ์ของเจ้าของเราจะต้องลดลงมาอยู่ภายใต้เสียงโหวตของประชาชน ตามบันทึกข้อตกลงในโพรโทคอลเกี่ยวกับตัวท่าน... ฝ่าพระบาท เรายอมรับนับถือในความเสียสละของท่านและความเที่ยงธรรมของท่าน ในการช่วยอุ้มชูและเสริมสร้างความคิดเห็นให้แก่ประเทศชาติ เราขอแสดงความรู้สึกอันจริงใจความรักแบบความเคารพอย่างสูงมายังฝ่าพระบาท (ลงพระนาม) ศรีสว่างวงษ์[7]
การศึกษาและกรณียกิจ
แก้เสด็จเจ้าบุนอุ้มสำเร็จการศึกษาชั้นต้นในลาวแล้วศึกษาต่อที่โรงเรียน Chasseloup-Laubat ในไซ่ง่อนถึง ค.ศ. 1935 จากนั้นกลับมาศึกษาที่โรงเรียนกฎหมายและการปกครองในนครหลวงเวียงจันทน์ถึง ค.ศ. 1937 ทรงสำเร็จราชการที่สำนักข้าหลวงใหญ่ฝรั่งเศสประจำนครหลวงเวียงจันทน์เมื่อ ค.ศ. 1938 ช่วง ค.ศ. 1938-41 ประจำการที่เมืองท่าแขก แขวงคำม่วน ค.ศ. 1940 ดำรงตำแหน่งรองเจ้าเมืองท่าแขก ค.ศ. 1941-42 เสด็จประจำการที่สำนักงานกิจการการเมืองการปกครองหอสนามหลวง นครหลวงพระบาง ค.ศ. 1943-44 กลับมาสำเร็จราชการสำนักงานข้าหลวงใหญ่ฝรั่งเศสที่นครหลวงเวียงจันทน์แทนตำแหน่งเสด็จเจ้ามหาอุปฮาดเพ็ชราช รัตนวงสา ค.ศ. 1944-45 ดำรงตำแหน่งเจ้ามืองจำพอนที่แก้งกอก แขวงสุวรรณเขต 9 สิงหาคม ค.ศ. 1945 ญี่ปุ่นยึดอำนาจในลาวและอินโดจีนทรงนำกองกำลังทหารพรานเข้าสมทบกองทหารเครือสหพันธ์ฝรั่งเศสขับไล่ญี่ปุ่นที่ดงเห็น ถือเป็นผู้นำสำคัญในการต่อต้านญี่ปุ่นร่วมกับกองกำลังฝรั่งเศสในลาว ริเริ่มจัดตั้งและบัญชาการกลุ่มราษฎรระดมกองกำลังในภาคกลางที่สุวรรณเขตและภาคใต้ขับไล่ญี่ปุ่น จากนั้นนำกองทหารพรานลาวประสมกองกำลังฝรั่งเศสปลดปล่อยนครหลวงพระบางเมื่อ 13 พฤษภาคม ค.ศ. 1946 โมรีส มีโซแดน (Mr. Maurice Michaudel) สรรเสิญความสามารถทางการทหารของพระองค์ใน Commissaire de la Republique Françise au Laos ว่า
...Teles ces hommes valeureux dont i' histoire a conserve la memoirs, le Prince Boun Oum venait de raviver a la pointe de l'epee l'eclat de la Maison Princiere de Champassak, en combattant au peril de sa vie aupres des defenseurs de la liberte et de la cause de la France au Laos...
พฤษภาคม ค.ศ. 1946 ลาวขับไล่ญี่ปุ่นโดยกองกำลังลาว-ฝรั่งเศสสำเร็จ รัฐบาลฝรั่งเศสผ่านข้าหลวงใหญ่ประจำลาวแสดงเจตนารวมลาวเป็นแผ่นดินเดียว พระองค์เห็นด้วยกับนโยบายเพราะเชื่อมั่นว่าจะกอบกู้เกียรติยศราชวงศ์จำปาสักภายใต้การรวมแผ่นดินคืนได้ ทรงร่วมประชุมพิจารณาเตรียมการหยั่งประชามติลาวภาคใต้ตั้งแต่แขวงคำม่วนถึงสตรึงแตรงในกัมพูชา ว่าราษฎรจะเห็นด้วยกับการรวมลาวใต้พระบรมโพธิสมภารของพระบามสมเด็จพระเจ้ามหาชีวิตหลวงพระบางพระองค์เดียวหรือไม่ พระบรมวงศานุวงศ์จำปาสักฝากความหวังไว้ที่พระองค์ในการกอบกู้อำนาจของราชวงศ์กลับมา แต่ต้องผิดหวังเนื่องจากระหว่างเตรียมการประชุมพิจารณาหยั่งประชามติครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อปรากฏว่า ระหว่างพิจารณากำหนดบทบาทราชวงศ์จำปาสักพระองค์ทรงประชวรหนักเพราะบาดแผลสงคราม 26 สิงหาคม ค.ศ. 1946 ขณะบรรทมในโรงพยาบาลเมืองเซโนเพื่อรอรับเครื่องบินพระที่นั่งส่งเสด็จรักษาพยาบาลที่ฝรั่งเศสผ่านไซง่อนปรากฏว่า 27 สิงหาคม ค.ศ. 1946 สมเด็จเจ้าฟ้าชายสว่างวัฒนาองค์มงกุฏราชกุมารและเดอรายมง (Mr. de Rray-mond) ข้าหลวงใหญ่ฝรั่งเศสประจำลาว ลอบเซ็นสัญญาชั่วคราว Modus Vivendi ที่นครหลวงเวียงจันทน์ เพื่อกำหนดพื้นฐานสร้างรัฐบาลใหม่ที่มีเอกภาพและเอกราชใต้เครือสหพันธ์ฝรั่งเศสให้สอดคล้องความต้องการของประชาชนโดยไม่ปรึกษาพระองค์ ด้านกฎหมายนั้นเอกสารจะสมบูรณ์โดยผ่านกระบวนการนิติบัญญัติ เดอรายมงเห็นว่าการรวบรวมลาวเป็นหนึ่งเดียวจะเกิดขึ้นและปฏิบัติได้ต้องรับความเห็นดีเห็นชอบในการยอมสละสิทธิ์ครองอาณาจักรจำปาสักของพระองค์ก่อน 27 สิงหาคม ค.ศ. 1946 เดอรายมงรีบร้อนเชิญสมเด็จเจ้าฟ้าชายสว่างวัฒนาองค์มงกุฏราชกุมารเสด็จโดยเรือบินพิเศษไปเซโนเพื่อเข้าเฝ้าเสด็จเจ้าบุนอุ้ม เดอรายมงพยายามอธิบายและหว่านล้อมให้พระองค์เข้าใจสถานะของพระองค์และราชวงศ์จำปาสักในอนาคตหลังเซ็นสัญญา เมื่อเข้าพระทัยดีแล้วจึงยอมลงพระนามในสัญญาต่อท้าย (Protocole secret annexe au Modus Vivendi)[8]
ปกิณกะพระราชประวัติ
แก้คำปราศรัยในกองประชุมสภาร่วม
แก้นครจำปาสักและหัวเมืองราชอาณาจักรล้านช้างตอนใต้พบมรสุมการเมืองจากหลายฝ่ายทั้งสยามและฝรั่งเศส กระทั่ง 31 สิงหาคม ค.ศ. 1941 กองประชุมสภาร่วมเสนอให้เสด็จเจ้าบุนอุ้มดำรงตำแหน่งประธานสภาร่วม ทรงตรัสคำปราศรัย ณ ที่ประชุมที่เต็มไปด้วยความรู้สึกสูญเสีย คับแค้นพระทัย ไม่พอพระทัยที่ทรงถูกลดสถานะการเป็นกษัตริย์ ราชอาณาจักรจำปาสักซึ่งสถาปนามายาวนาน 236 ปีกลายเป็นแขวงหนึ่งของลาวและพระองค์กลายเป็นเจ้าครองนครที่ไร้อำนาจเต็มในการจัดการหัวเมืองที่เคยอยู่ใต้การปกครองของราชอาณาจักรจำปาสัก ดังความว่า
...บรรดาสมาชิกสภาร่วมและเพื่อนที่นับถือ เอกสาร 2 ฉบับที่ได้ส่งถึงสภาร่วม ฉบับหนึ่งในนามของข้าหลวงใหญ่ฝรั่งเศสประจำอินโดจีน และอีกฉบับหนึ่งในพระปรมาภิไธยพระเจ้ามหาชีวิต จุดประสงค์รวมของเอกสารทั้ง 2 ฉบับนี้ก็คือ เสนอการพิจารณาเงื่อนไขของ "สัญญาต่อท้าย" ในการอภิปรายที่จะเริ่มขึ้นนี้ บรรดาท่านสมาชิกจำนวนหนึ่งอาจมองเห็นแต่ปัญหาส่วนตัว พร้อมกันนั้นข้าพเจ้ามีความมั่นใจว่าบรรดาท่านทั้งหลายคงจะเข้าใจเหตุผลที่ข้าพเจ้าจะต้องปฏิเสธเกียรติยศอันสูงส่ง ที่บรรดาท่านได้แสดงออกต่อข้าพเจ้าในการแต่งตั้งให้เป็นประธานสภาร่วม ถึงอย่างไรก็ดีก่อนจะออกจากสถานที่แห่งนี้ไปข้าพเจ้ามีความเชื่อมั่นว่ามันเป็นหน้าที่ของข้าพเจ้า ในนามผู้ร่วมเซ็น"สัญญาต่อท้าย"ผู้ที่ 3 ข้าพเจ้าจะขอกล่าวต่อบรรดาท่าน อันอาจเป็นคำอำลา
ข้าพเจ้ายอมรับฐานันดรศักดิ์ "เจ้านครจำปาศักดิ์" ก็เนื่องด้วยข้าพเจ้ามั่นใจว่ามันเป็นการถูกต้องเป็นธรรม ในบรรยากาศของประเทศลาวใหม่ และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันที่นามสกุลของครอบครัวข้าพเจ้าจะไม่ถูกลบล้างจากความทรงจำ พรหมลิขิตไม่เข้าข้างอาณาจักรจำปาศักดิ์เสียแล้วและมันก็เป็นความประสงค์ของพวกเราทุกคนที่จะไม่ยกมันขึ้นมาอีก ข้าพเจ้าได้ปกครองประชาราษฎร "ลาวทางภาคใต้" ข้าพเจ้าได้ใช้ชีวิตร่วมกับพวกเขาเป็นเวลายาวนาน ในวาระที่บ้านเมืองประสบความยุ่งยากจากศึกสงครามข้าพเจ้าได้ร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับลูกหลานของพวกเขา บรรดาท่านคงจะไม่สงสัยว่าข้าพเจ้าก็รักพวกเขาอย่างสุดหัวใจ ข้าพเจ้าได้ยอมรับตำแหน่งผู้ตรวจการด้านการเมืองและการปกครองก็เพราะว่าข้าพเจ้าได้สำนึกในความผูกพันกับพวกเขา ข้าพเจ้าจึงกล้าตัดสินใจรับเอาความรับผิดชอบในอนาคต ข้าพเจ้าขอร้องให้บรรดาท่านทั้งหลายจงพิจารณาว่าข้าพเจ้ามีเหตุผลหรือไม่ที่จะรับเอาความชอบธรรมอันนั้น?
ข้าพเจ้าขอขอบใจต่อรัฐบาลฝรั่งเศสที่ได้ตัดสินใจเปิดเผยสัญญาที่ได้ถือกันเป็นความลับให้บรรดาท่านได้ทราบ ข้าพเจ้าขอขอบพระคุณต่อพระเจ้ามหาชีวิตที่ได้ทรงเห็นชอบร่วมกันอันเป็นเหตุให้ข้าพเจ้าต้องได้รับความเจ็บปวดจากความไม่เข้าใจที่เกิดจากเอกสารลับที่ได้ร่างขึ้นอย่างกะทันหัน ข้าพเจ้าเข้าใจว่าคู่เซ็นสัญญาผู้สูงศักดิ์ยังคงยึดมั่นอย่างมั่นคงต่อคำสัญญา โดยส่วนตัวแล้วข้าพเจ้าจะไม่ปรารถนาสิ่งใด ถ้าหากว่าการปรากฏตัวของข้าพเจ้าอยู่ในประเทศลาวจะเป็นสาเหตุก่อให้เกิดความวุ่นวาย อันจะเป็นอันตรายต่อการรวมลาวที่พึ่งจะได้มาในขณะนี้...[9]
พระราชสาส์นครั้งเป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ
แก้หลังเสด็จเจ้าบุญอุ้มถูกลดสถานะความเป็นกษัตริย์ทรงดำรงบทบาทแก้ไขปัญหาการเมืองลาว เอกสารหน่วยผสม 333 เรื่อง 700 ปีแห่งมรสุมในพระราชอาณาจักรลาว ของคณะกรรมการป้องกันการแทรกซึมของคอมมิวนิสต์ เผยแพร่พระราชสาส์นของพระองค์เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะปฏิวัติ ฉบับแปลภาษาไทย (ลับมาก) ทรงกราบทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้ามหาชีวิตว่า[10]
...โดยจุดประสงค์สันติภาพและมุ่งหวังในขอบเขตจำกัด พวกทหารราบอากาศที่ 2 ซึ่งไม่พึงพอใจบางสิ่งบางอย่างได้ตั้งตัวแข็งข้อต่อคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ข้าพระบาทได้เห็นสภาพการณ์เวียงจันทน์ เวลาเหตุเกิดขึ้นวันที่ 4 สิงหาคมแล้วนี้ ก็ไม่นึกว่าการกระทำของเขาพอจะนำเอาความกระทบกระเทือนมาสู่พระราชอาณาจักรปั่นป่วนจนต่ำต้อยถอยลงทุก ๆ วัน พวกก่อการวุ่นวายพร้อมด้วยคณะสมรู้ร่วมคิดของเขาก็ฉวยโอกาสดัดแปลงสถานการณ์ไปเป็นจุดหมายของเขาอย่างง่ายดาย คือทำให้ประเทศชาติของเราเป็นคอมมิวนิสต์ในไม่ช้านานนี้ พวกข้าพระบาทได้ลุกขึ้นทำสถานการณ์ครั้งนี้ก็เนื่องจากรัฐบุรุษบางคน และนักการเมืองบางพรรคสวมเอากำลังและผลงานอันดีของคณะรัฐประหารมาสร้างอิทธิพลส่วนตัว ซึ่งไม่มีใครปรารถนาที่จะปล่อยให้เป็นไปได้ ข้าพระบาทได้รู้เห็นเหตุการณ์ที่นำพาให้รัฐบาลเจ้าสุวรรณภูมาจัดตั้งขึ้น ได้เห็นการโหดร้าย การหลบลี้หนีภัย การข่มขู่ผู้แทนราษฎร อันทำให้การประชุมสภาแห่งชาติผิดไปหมด วิธีการข่มขู่ลงมติและวิธีทำให้ประชาชนสนับสนุนการทารุณต่าง ๆ ก็ไม่แตกต่างวิธีปฏิบัติของคอมมิวนิสต์เลย สิ่งที่ร้ายแรงแท้นั้นตั้งแต่รัฐบาลสุวรรณภูมาขึ้นกำอำนาจก็ได้ชักนำคณะปะเทดลาวทวีการล้างบ้านเผาเมือง ขู่ขวัญประชาชนให้หวาดหวั่นเกรงกลัวอย่างร้ายกาจ เขาโจมตีค่ายทหารของเราที่แขวงพงสาลี ซำเหนือ ทำลายหัวสะพาน ถนนหนทาง กั้นกางการเคลื่อนไหวของกำลังช่วยเหลือกองทัพแห่งชาติ ต่อหน้าสภาพการณ์อันเศร้าทั้งหมดนี้รัฐบาลเวียงจันทน์ก็มิได้นำพากลับเพิกเฉยเสียเหมือนดังเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดนำด้วย กำลังของเราก็เคลื่อนถอนมารวมกันอยู่เหมือนจะปล่อยให้ประชาชนตกอยู่เงื้อมมือของคณะทรยศต่อชาติ ประหัตประหารฆ่าฟันทารุณทำให้บาดเจ็บช้ำใจตามใจพวกเขาด้วยการจำเป็นเสียดายของพวกเรา พร้อมกันนั้นพวกศัตรูก็โฆษณาใส่ร้ายป้ายสีทำลายระบอบปกครองของพวกเราทั่วพระราชอาณาจักร ยิ่งกว่านั้นการประนามสร้างตึงเครียดเกลียดแค้นก็มาจากเวียงจันทน์นั้นเอง เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่าคณะปะเทดลาวที่อ้างตนว่าจะมาติดต่อเจรจาหยุดรบ ได้บุกรุกเข้ามาสมทบกับแนวขบวนวุ่นวายเวียงจันทน์ หลอกลวงให้จ่ายปืนและอาวุธอื่น ๆ ให้คณะสนับสนุนของเขา เมื่อเป็นเช่นนั้นก็เป็นที่ประจักษ์ชัดว่ารัฐบาลไม่สามารถปกป้องคุ้มครองความเป็นระเบียบเรียบร้อยอยู่ในวิถีทางสันติได้
ต่อหน้าสภาพการณ์อันนี้ข้าพระบาทใคร่ขอกราบบังคมทูลใต้ฝ่าละอองพระบาทสมเด็จพระเจ้าว่า เห็นผลที่จะทำให้บ้านเมืองเราเสื่อมเสียลงทุกวันนี้มีสองประการ ด้านหนึ่งคือความหวังควบคุมอำนาจเพื่อป้องกันผลประโยชน์ครอบครัวของเจ้านายบางคน ถึงว่าบรรดาเจ้านายพวกนั้นรู้ดีว่ามันตรงกันข้ามกับผลประโยชน์ประเทศชาติก็ดี ด้านหนึ่งนักการเมืองเถื่อนเฉพาะอย่างยิ่งพรรคแนวลาวรักชาติได้ถือโอกาสฟื้นขยายตัวซึ่งเขาปฏิบัติไม่ได้ถ้าว่าบ้านเมืองอยู่ในภาวะเรียบร้อย จุดหมายที่เขาได้แสดงให้เห็นอย่างจะแจ้งก็คือหวังยึดเอาเขตแดนให้กว้างขึ้นไว้รวบรวมกำลังประกอบอาวุธ แล้วบุกตีโค่นล้มระบอบการปกครองพร้อมทั้งรัฐบาลเป็นครั้งใหญ่และครั้งสุดท้าย โดยรัฐบาลอาจหลงเชื่อและสมรู้ร่วมคิดอย่างไม่รู้สึกตัวก็เป็นได้ เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ ข้าพระบาทขอกราบบังคมทูลใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทว่า เพื่อให้ประเทศผ่านพ้นภัยอันตราย เพื่อมิให้การยั่วเย้าหลอกลวงอันชั่วช้านี้ได้ ก็มีแต่การลงมือปฏิวัติกระทันหันรีบด่วนเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ข้าพระบาทจึงได้ตัดสินใจนำหน้าคณะปฏิวัติกั้นการทำลายประเทศชาติและระบอบปกครองของเราในโอกาสนี้ ในการปฏิบัติงานเพื่อชาติในครั้งนี้ข้าพระบาทขอน้อมเกล้าถวายแด่ใต้ฝ่าพระบาท ซึ่งเจตนาบริสุทธิ์สูงส่งของพระบาทพร้อมด้วยคณะอันมาจากความรักชาติอันแท้จริง อยากรักษาจารีตประเพณี ความเป็นอิสระเสรี เอกราชและเอกภาพ จุดหมายปลายทางตอนต้นของคณะปฏิวัติก็คือจัดให้พระราชอาณาจักรมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย มีความสงบสุข นับถือวินัย ถือในอิสระเสรี ด้วยว่ารัฐบาลนี้ไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตนและไม่สามารถคุ้มครองพระราชอาณาจักรได้ คณะจึงได้ประกาศยุบรัฐบาลเจ้าสุวรรณภูมา เห็นว่าในสถานการณ์ปัจจุบันรัฐสภาขาดอิสระเสรีในการลงมติต่าง ๆ คณะจึงงดใช้การปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไว้ชั่วคราว เมื่อคณะปฏิวัติหากปฏิวัติสำเร็จแล้วพวกข้าพระบาทจะทูลถวายอำนาจบริหารราชการแผ่นดินทุกอย่างแก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในทันใด บุคคลบางคนอันไร้เจตนาดีใส่ร้ายป้ายสีคณะปฏิวัติในทำนองว่าอยากแบ่งแยกประเทศลาวของเราเป็นสองขั้นสองตอน ข้าพระบาทขอกราบบังคมทูลใต้ฝ่าละอองพระบาทว่าเป็นการกล่าวหาอันไม่มีมูลความจริงแต่อย่างใดเลย ข้าพระบาทเชื่ออยู่เสมอว่าข้าพระบาทเคยบริสุทธิ์ใจ แสดงท่าทีและปฏิบัติงานเพื่อความเป็นเอกภาพมาได้นานแล้ว ยิ่งกว่านั้นท่าทีในบรรดาผู้ร่วมงานข้าพระบาทคราวนี้ก็ล้วนแล้วแต่แสดงความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทั้งเป็นบุคคลที่มาจากทุก ๆ แขวงในพระราชอาณาจักรและซึ่งเคยเป็นผู้รักษาและรักหวงเอกภาพประเทศชาติแต่ใดมา
ขอเดชะพระบารมี ควรมิควรสุดแล้วแต่จะโปรด เจ้าบุญอุ้ม ณ จำปาศักดิ์ หัวหน้าคณะปฏิวัติ... [11]
พระราชทานคำนิยมในหนังสือประวัติศาสตร์ลาว
แก้เสด็จเจ้าบุนอุ้มพระราชทานคำนิยมในหนังสือความเป็นมาของลาวหรือเล่าเรื่องชาติลาวต่อจากคำนิยมของสมเด็จเจ้ามหาอุปฮาดเพ็ชราช รัตนวงสา รวบรวมโดยอู่คำ พมวงสา ซึ่งเคยมอบเป็นสมบัติหอสมุดกลางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปรากฏคำนิยมของพระองค์ว่า
การเฮียนฮู้ประวัติศาสตร์ของซาตินั้นเป็นของสำคัญและจำเป็นของทุกซาติทุกพาสา ซาติลาวเคยเป็นซาติใหย่และเคยเจริญรุ่งเรืองมาแล้ว พอเพียงใดนั้นควรที่ประซาซนซาวลาวทั้งหลายจักพากับซอกค้นหาเบิ่งแล้วนำออกมาแผ่ผายให้นานาซาติทั้งหลายในโลกได้รู้เห็น หนังสือความเป็นมาของลาวหรือเล่าเรื่องซาติลาว รวบรวมโดยท้าวอู่คำ พมวงสา นี้ได้เว้าเถิงความเป็นมาของซาติลาวแต่ปางดึกดำบรรพ์มาฮอดสมัยปัจจุบันนี้อย่างสังเขป ข้าพะเจ้าจึงหวังว่าหนังสือนี้จักเป็นเทียนเล่มหนึ่งสำหรับใซ้ส่องเบิ่งซาติปางหลังของลาวเราได้เป็นอย่างดี
เสด็จเจ้าบุนอุ้ม นะ จำปาสัก เจ้านะคอนจำปาสัก ผู้กวดราชการต่างสมเด็จเจ้ามหาชีวิต (เจ้าบุนอุ้ม นะ จำปาสัก) วันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2501 เวียงจันทน์, ประเทศลาว[12]
พระราชวังจำปาศักดิ์อันหรูหรา
แก้สิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ไทยคืนจำปาสักที่ได้ใน พ.ศ. 2484 แก่ฝรั่งเศสแต่ลาวกลับเป็นเมืองขึ้นตามเดิม เสด็จเจ้าบุญอุ้มรับผลตอบแทนจากฝรั่งเศสมหาศาลด้วยการสถาปนาเป็นเจ้าองค์ครองนครจำปาสัก มีฐานการเมืองที่เมืองปากเซตอนใต้ของลาว พระองค์มีโอกาสและช่องทางแสวงหาสมบัติจำนวนมากโดยเฉพาะกำไรกิจการเหมืองแร่และลือว่ามีกิจการค้าอาวุธกับกลุ่มคอมมิวนิสต์ รวมถึงงบประมาณประจำปีที่รัฐบาลต้องจ่ายตามสัญญาต่อท้าย หลังย้ายศูนย์กลางการเมืองมาปากเซ ใน พ.ศ. 2511 ทรงสร้างพระราชวังอันหรูหราและใหญ่โตที่บ้านพระบาท[13] บนเนินสูงใจกลางเมืองเพื่อเป็นที่ประทับของพระองค์และพระบรมวงศานุวงศ์ พระราชวังห่างจากตัวเมืองปากเซไปทิศตะวันออกบนทางหลวงหมายเลข 13 ระยะทางราว 500 ม. ใกล้วัดพระบาทราว 0.2 กม. ใกล้พิพิธภัณฑ์มรดกทางประวัติศาสตร์จำปาสักราว 0.8 กม.[14]
การสร้างพระราชวังจำปาสักแห่งใหม่ใช้เวลานาน 7 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2511-2518[15] อาศัยสถาปนิกจากฝรั่งเศสโดยรูปแบบสถาปัตยกรรมลาวใต้ผสมโคโลเนียลฝรั่งเศส[16] และสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ พระราชวังสร้างขึ้นตามข้อตกลงในสัญญาต่อท้ายซึ่งฝรั่งเศสสนับสนุนการก่อสร้าง อาศัยแรงงานจากลาว เวียดนาม และไทยจำนวนมาก ช่างชาวอีสานที่เคยเดินทางไปแกะสลักลวดลายในพระราชวังคือนายจันที แหวนเพชร ช่างสลักหินบ้านนากระเดา ตำบลสายนาวัง อำเภอนาคู จังหวัดกาฬสินธุ์[17] พระราชวังเป็นตึกสูงสง่า 6 ชั้นก่ออิฐถือปูนและฉาบผนังปูน บ้างกล่าวว่าผนังอาคารไม่มีการก่ออิฐถือปูน ฐานพระราชวังไม่มีการตอกเสาเข็มแต่อาศัยเสาจำนวนมากรองรับน้ำหนัก แปลนพระราชวังประกอบด้วยตัวอาคารขนาดใหญ่ 3 ส่วนรูปอักษรอี (E) ทุกส่วนเชื่อมถึงกันหันหน้าสู่แม่น้ำโขง ด้านหลังติดแม่น้ำเซโดนซึ่งบรรจบแม่น้ำโขงที่ปากน้ำเซบริเวณท่าแพข้ามฟากปากเซ-เมืองเก่า (ท่าบัก) แต่ละชั้นมีป่องเอี้ยมหรือหน้าต่างประดับลวดลายลาวโบราณอย่างวิจิตร ภายในมีประตูและหน้าต่างรวมมากกว่า 1,900 บานจนได้รับฉายาจากชาวลาวว่าศาลาพันป่อง[18] หรือศาลาพันห้อง[19] หลังปฏิวัติชาวบ้านนิยมเรียกว่าเฮือนใหย่ปะซาซน (เรือนใหญ่ประชาชน) ลือว่าหากให้คนหนึ่งคนเปิดปิดหน้าต่างทั้งหมดของพระราชวังต้องใช้เวลา 1 วัน จุดสูงสุดของพระราชวังคือชั้น 6 สามารถเห็นทิวทัศน์ตัวเมืองโดยรอบทั้งหมด สามารถเห็นสะพานมิตรภาพลาว-ญี่ปุ่นทอดตัวยาวข้ามแม่น้ำโขง สะพานเหล็กข้ามแม่น้ำเซโดนหลังพระราชวัง และเป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้น-ตกที่งดงามแห่งหนึ่งของลาวใต้
หลังปฏิวัติใน ค.ศ. 1975 (พ.ศ. 2518) พระราชวังอยู่ในความดูแลของรัฐบาล ส่วนพระองค์เสด็จลี้ภัยประทับที่กรุงปารีสใน ค.ศ. 1978 (พ.ศ. 2521) โดยไม่เคยประทับพระราชวังแห่งนี้เนื่องจากเสด็จลี้ภัยก่อนพระราชวังสร้างเสร็จ หลังสร้างค้างไว้ไม่นานรัฐบาลลาวปรับปรุงเป็นสถานที่จัดประชุมพรรคและที่พำนักแขกเมืองจนถึง พ.ศ. 2538 จึงเปิดโอกาสให้บริษัทของ ดร.ปองศักดิ์ ว่องพาณิชเจริญ ชาวจังหวัดศรีสะเกษ ต่อเติมจนเสร็จสิ้นและเปิดเป็นโรงแรม ปัจจุบันถูกดัดแปลงเป็นโรงแรมชั้นหนึ่งของปากเซชื่อโฮงแฮมจำปาสักพาเลดหรือโรงแรมจำปาสักพาเลส (Champasak Palace Hotel)[20] บริหารโดยบริษัท จำปาสัก พาเลด โรงแรมและการท่องเที่ยว เดิมผู้ลงทุนเคยเปลี่ยนชื่อโรงแรมเป็นพระราชวังจำปาสักตามชื่อเดิม แต่ทางการไม่อนุญาตเนื่องจากเป็นชื่อสนับสนุนแนวคิดระบอบเก่าจึงเปลี่ยนใช้ชื่อจำปาสักพาเลดตามเดิม จากนั้นถูกสัมปทานให้ชาวลาวเชื้อสายเวียดนาม[21] ปัจจุบันภายในล็อบบี้โรงแรมกรุด้วยไม้แกะสลักอย่างงดงาม ห้องประชุมตกแต่งด้วยฮูปแต้มหรือจิตรกรรมฝาผนังรูปชาวลาวลุ่มและเผ่าต่าง ๆ ของลาวใต้[22] มีห้องพัก 115 ห้อง
การพระราชทานสกุล ณ จำปาศักดิ์
แก้4 กันยายน พ.ศ. 2454 ร.6 พระราชทานนามสกุล ณ จัมปาศักดิ์ (Na Champassakdi) แก่เจ้าศักดิ์ประสิทธิ์ (เบงหรือเบ็งคำ) อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง นายอำเภอเมืองพิษณุโลก ปลัดเมืองแพร่ และเจ้าศักดิ์ประเสริฐ (อุยหรืออุ้ย) อดีตอภิรัฐมนตรีที่ปรึกษาในพระบาทสมเด็จพระเจ้ามหาชีวิตแห่งพระราชอาณาจักรลาว ณ นครหลวงเวียงจันทน์ ข้าราชการกระทรวงมหาดไทยของสยาม ลำดับสกุลพระราชทานที่ 1618 ทั้ง 2 องค์เป็นเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ของราชวงศ์จำปาสักที่มาประทับรับราชการในไทยจากการเกลี้ยกล่อมของไทยด้วยไม่ปรารถนาเป็นข้าราชการอินโดจีนฝรั่งเศส ทั้ง 2 เป็นพระโอรสสมเด็จเจ้าย่ำขะหม่อมยุติธรรมธรนครจำปาศักดิ์รักษาประชาธิบดี (คำสุกหรือคำศุข ณ จำปาศักดิ์) กษัตริย์ครองนครจำปาสักองค์ที่ 11 และเป็นพระนัดดาในสมเด็จเจ้าย่ำขะหม่อมฮุย กษัตริย์ครองนครจำปาสักองค์ที่ 7 นอกจากนี้ยังเป็นพระปิตุลา (อา) ของเสด็จเจ้าบุนอุ้มด้วย ต่อมา พ.ศ. 2490 หลังเสด็จเจ้าบุนอุ้มเป็นผู้สำเร็จราชการต่างพระเนตรพระกรรณในพระบาทสมเด็จพระเจ้ามหาชีวิต และหลังการสถาปนาพระราชอาณาจักรลาว พระองค์ไม่พอพระทัยและไม่ปรารถนาให้ราชวงศ์จำปาสักเป็นส่วนใดส่วนหนึ่งของสยามตามพระปิตุลาทั้ง 2 จึงดำริใช้ราชสกุลให้ต่างจากสกุลพระราชทานของไทยโดยอาศัยชื่อราชสกุลเดิมจากราชสกุล ณ จัมปาศักดิ์ แล้วตั้งเป็นราชสกุล ณ จำปาศักดิ์ (Na Champassak) เพื่อใช้เป็นราชสกุลของพระองค์ในฐานะประมุขสูงสุดของราชวงศ์และพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์ที่ประสูติและประทับในพระราชอาณาจักรลาวกับนครจำปาสัก ข้อแตกต่างระหว่างราชสกุลที่พระองค์ทรงใช้และราชสกุลพระราชทานจาก ร.6 คือ
1. ราชสกุลของพระองค์ใช้คำว่า จำปา เป็นคำนำหน้าซึ่งเขียนแบบภาษาลาว ส่วนราชสกุลพระราชทานจาก ร.6 ของสยามใช้คำว่า จัมปา ซึ่งมาจากบาลี-สันสกฤตว่า จมฺปา
2. คำว่า สัก หรือ ศักดิ์ ของนามราชสกุลในรูปอักษรโรมันนั้นเสด็จเจ้าบุญอุ้มสะกดว่า sak ตรงตามเสียงภาษาลาว แต่นามราชสกุลพระราชทานจาก ร.6 ของสยามใช้คำว่า sakdi ตามรากศัพท์สันสกฤตว่า ศกฺติ
อย่างไรก็ตามเจ้านายจำปาสักบางองค์ที่ประทับในลาวมีการใช้ราชสกุลที่รับพระราชทานจากพระองค์ต่างกันไปทั้ง ณ จำปาศักดิ์, นะจำปาสัก (ນະຈຳປາສັກ), นะ จำปาสัก (ນະ ຈຳປາສັກ) และ นะจำปาสักดิ (ນະຈຳປາສັກດິ) ːซึ่งเขียนโดยภาษาลาวตามความเข้าใจของเจ้านายจำปาสักบางองค์ เนื่องจากชั้นต้นภาษาลาวฝ่ายอาณาจักรไม่นิยมใช้ ดิ์ และนิยมเขียนตามคำอ่านคล้ายการสะกดคำพื้นฐานในภาษาไทย ส่วนนามสกุลที่มีความเกี่ยวข้องกับราชสกุล ณ จัมปาศักดิ์ มีหลายสกุล สันนิษฐานว่าอาจเป็นต้นแบบสกุลที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า จำปา แต่ไม่ปรากฏหลักฐานชัดว่าสืบทอดจากราชสกุลนี้[23]
พระญาติวงศ์
แก้เสด็จเจ้าบุนอุ้มมีพี่น้องร่วมพระราชมารดา 4 องค์คือ
- เสด็จเจ้าสมบูรณ์ พิราลัยขณะศึกษาที่ไซ่ง่อน พ.ศ. 2470
- เสด็จเจ้าบุญอ้อม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในรัฐบาลพระราชอาณาจักรลาวและอดีตเจ้าเมืองนครจำปาสัก พิราลัยขณะลดกระจกรถพระที่นั่งเพื่อสูดอากาศบริเวณถนนหลักไปทางวัดไต นครหลวงเวียงจันทน์ เนื่องจากคนร้ายขี่จักรยานยนต์ปาระเบิดเข้ามาในรถหลังกลับจากเสวยกระยาหารค่ำพร้อมสหาย 4 คน รอด 1 คน
- เจ้าเฮือนบุนน้อม
- เจ้าเฮือนบุนเนย พิราลัยแต่ยังสาว
ทรงสมรสกับชายาและหม่อมดังนี้
- หม่อมแดง มีพระธิดา 1 องค์คือ เจ้านางบุนแอ้ม
- ชายาบัวผัน ชุมพนพักดี ชาวเมืองแก้งกอกแขวงสุวรรณเขต สมรสใน ค.ศ. 1944 มีพระบุตรและพระธิดา 9 องค์คือ เจ้าจำพอนสัก เจ้าไซซนะสัก เจ้าหาลือสัก เจ้านางนินดาสัก เจ้าสีมงคนสัก เจ้าวันนะสัก เจ้าวงดาสัก เจ้านางแก้วดาราสัก และเจ้านางแก้วมะนีสัก
- หม่อมน้อย มีพระธิดา 1 องค์คือ เจ้านางคำโพ
- หม่อมบุญน้อม มีพระโอรส 1 องค์คือ เจ้าบุญทุ่ม
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้เครื่องราชอิสริยาภรณ์ลาว
แก้- พ.ศ. ไม่ปรากฏ - เครื่องราชอิสริยาภรณ์ล้านช้างร่มขาว ชั้นประถมาภรณ์
- พ.ศ. ไม่ปรากฏ - เครื่องราชอิสริยาภรณ์มงกุฎขัตติยาภรณ์ ชั้นประถมาภรณ์
- พ.ศ. ไม่ปรากฏ - เครื่องราชอิสริยาภรณ์พลเมืองดีแห่งชาติ ชั้นตริตาภรณ์
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ
แก้- ฝรั่งเศส :
- พ.ศ. ไม่ปรากฏ - เครื่องอิสริยาภรณ์เลฌียงดอเนอร์ ชั้นกอม็องเดอร์
- พ.ศ. 2483 - เหรียญคัมแบทเทิน ครอส
- พ.ศ. 2484 - เหรียญครัวค์เดอแกรร์ 1914 - 1918 ประดับใบปาร์ม และดาว
- พ.ศ. 2489 - เหรียญครัวค์เดอแกรร์ 1939 - 1945
- พ.ศ. 2489 - เหรียญเรคอนเนสซองส์ฝรั่งเศส ชั้นที่ 1 (เหรียญทอง)
- พ.ศ. 2497 - เหรียญคัมปาญดิอินโดจีน
- พ.ศ. 2488 - เหรียญเรซิสแตนซ์ ชั้นที่ 2
- ไทย :
- พ.ศ. ไม่ปรากฏ - เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)
- กัมพูชา :
- พ.ศ. ไม่ปรากฏ - เครื่องอิสริยยศพระราชาณาจักรกัมพูชา ชั้นมหาเสนา
อ้างอิง
แก้- ↑ เจ้าสันประสิด นะจำปาสัก, เสด็จเจ้าบุนอุ้ม เสด็จเจ้านครจำปาสัก (En Hommage A S.A.R. Chao Boun Oum Prince de Champassak 1910-1980): เจ้านางบุนแอ้ม สินบันดิด นะจำปาสัก พิมพ์แจกยายเป็นธรรมทานเนื่องในงานครบ 18 ปี วันพิราลัยเสด็จเจ้าบุนอุ้ม เจ้านครจำปาสัก 11/11/1911-18/03/1980, (Le Plessis Trévise, Paris, France: ม.ป.พ, 1999), หน้า a. (อัดสำเนา)
- ↑ https://www.facebook.com/KhnRakWangBanBoran/posts/288100761332596
- ↑ http://socialitywisdom.blogspot.com/2009/03/cia_16.html
- ↑ http://socialitywisdom.blogspot.com/2009/04/blog-post_6645.html
- ↑ ราชบัณฑิตยสถาน, สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่: เอเชีย เล่ม 1 อักษร A-B ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, (กรุงเทพฯː: ราชบัณฑิตยสถาน, 2539).
- ↑ ดูรายละเอียดใน เจ้าสันประสิทธิ์ ณ จำปาศักดิ์, บันทึกประวัติศาสตร์ราชวงศ์จำปาศักดิ์, (ม.ป.ท: ม.ป.พ, 1980).
- ↑ ดูรายละเอียดใน สุรพล จุลละพราหมณ์, ศึกสามเจ้าลาว, (พระนคร: ːแพร่พิทยา, 2505).
- ↑ เจ้าสันประสิด นะจำปาสัก, เสด็จเจ้าบุนอุ้ม เสด็จเจ้านครจำปาสัก (En Hommage A S.A.R. Chao Boun Oum Prince de Champassak 1910-1980): เจ้านางบุนแอ้ม สินบันดิด นะจำปาสัก พิมพ์แจกยายเป็นธรรมทานเนื่องในงานครบ 18 ปี วันพิราลัยเสด็จเจ้าบุนอุ้ม เจ้านครจำปาสัก 11/11/1911-18/03/1980, หน้า a-e. (อัดสำเนา)
- ↑ ศิริกาญจน์ ดุจจานุทัศน์ และนนทลี พรธาดาวิทย์, ราชวงศ์จำปาศักดิ์: ประวัติศาสตร์ในราชสำนัก, (กรุงเทพฯ: ทริปเพิ้ล เอ็ดดูเคชั่น, 2553), หน้า 107-108.
- ↑ หน่วยผสม 333, 700 ปีแห่งมรสุมในพระราชอาณาจักรลาว, (ม.ป.ท.: คณะกรรมการป้องกันการแทรกซึมของคอมมิวนิสต์, ม.ป.ป.), หน้า 344-346.
- ↑ https://www.facebook.com/groups/593238237489298/permalink/780033728809747/
- ↑ อู่คำ พมวงสา, ความเป็นมาของลาวหรือเล่าเรื่องชาติลาว, (ม.ป.ท.: ยุวสมาคมแห่งประเทศลาว, ม.ป.ป.), หน้า ฌ-ญ.
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-11-09. สืบค้นเมื่อ 2016-03-20.
- ↑ https://th.hotels.com/ho465707/
- ↑ http://www.ounon19.com/Champasak1.htm
- ↑ https://th.tripadvisor.com/Hotel_Review-g670161-d641388-Reviews-Champasak_Palace_Hotel-Pakse_Champasak_Province.html
- ↑ "นายจันที แหวนเพชร". คำให้การผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมท้องถิ่น. กรมส่งเสริมวัฒนธรรม. 29 กันยายน 1998. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 มีนาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 24 มีนาคม 2016.
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-04-09. สืบค้นเมื่อ 2016-03-19.
- ↑ "วังเจ้าบุญอุ้ม (โรงแรมจำปาสักพาเลส)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-08-12. สืบค้นเมื่อ 2016-03-19.
- ↑ Southeast Asia Handbook. Moon Publications. 1994. p. 326. ISBN 9781566910026.
Boun Oum Palace
. - ↑ http://board.trekkingthai.com/board/print.php?forum_id=2&topic_no=51663&topic_id=51876&mode=lite[ลิงก์เสีย]
- ↑ http://www.oceansmile.com/Lao/Jampasak.htm
- ↑ https://www.facebook.com/Lookinglaoslanxang/posts/544471865579487
ก่อนหน้า | เจ้าบุญอุ้ม ณ จำปาศักดิ์ | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
เจ้าสุวรรณราช | นายกรัฐมนตรีแห่งพระราชอาณาจักรลาว สมัยที่ 1 (พ.ศ. 2491 – 2493) |
ผุย ชนะนิกร | ||
เจ้าสุวรรณภูมา | นายกรัฐมนตรีแห่งพระราชอาณาจักรลาว สมัยที่ 2 (พ.ศ. 2503 – 2505) |
เจ้าสุวรรณภูมา | ||
เจ้ายุติธรรมธร (หยุย ณ จำปาศักดิ์) เจ้าผู้ครองนครจำปาศักดิ์ ผู้ว่าราชการเมืองจำปาศักดิ์ และประมุขแห่งราชสกุล ณ จำปาศักดิ์ |
ประมุขแห่งราชสกุล ณ จำปาศักดิ์ (พ.ศ. 2489 – 2523) |
เจ้าแก้ว ณ จำปาศักดิ์ |