เจ้ายุติธรรมธร (หยุย ณ จำปาศักดิ์)

เจ้ายุติธรรมธร (หยุย ณ จำปาศักดิ์) หรือ เสด็จเจ้าย่ำขะหม่อมยุติธรรมธร ดำรงพระยศเดิมเป็นที่ เจ้าราชดนัยแห่งนครจำปาศักดิ์ (พ.ศ. 2440 - 2 มีนาคม พ.ศ. 2489) เจ้าผู้ครองนครจำปาศักดิ์พระองค์ที่ 12 และผู้ว่าราชการเมืองจำปาศักดิ์ในสมัยที่ลาวตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส

เจ้ายุติธรรมธร (หยุย ณ จำปาศักดิ์)
เจ้าผู้ครองนครจำปาศักดิ์ และผู้ว่าราชการเมืองจำปาศักดิ์
รัชกาลก่อนหน้าเจ้ายุติธรรมธร (คำสุก ณ จำปาศักดิ์)
รัชกาลถัดไปสิ้นสุด
ประสูติพ.ศ. 2417
พิราลัยพ.ศ. 2489
พระมเหสีไม่ปรากฏพระนาม
เจ้าราชดนัย
พระบุตร5 องค์
ราชวงศ์แสนทิพย์นาบัว
พระบิดาเจ้ายุติธรรมธร (คำสุก ณ จำปาศักดิ์)

ประวัติ

แก้

เสด็จเจ้ายุติธรรมธร (หยุย ณ จำปาศักดิ์) ประสูติเมื่อ พ.ศ. 2417[1] เป็นพระราชโอรสพระองค์โตของเสด็จเจ้าย่ำขะหม่อมยุติธรรมธรนครจำปาศักดิ์รักษาประชาธิบดี (คำสุก ณ จำปาศักดิ์) เจ้าผู้ครองนครจำปาศักดิ์พระองค์ที่ 11 ได้รับพระราชทานพระยศจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ให้เป็นที่เจ้าราชดนัย ตำแหน่งผู้ช่วยราชการในเจ้านครจำปาศักดิ์เมื่อ พ.ศ. 2440 [2] อนึ่ง ตำแหน่งเจ้าราชดนัยนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานแก่พระราชโอรสของเจ้านครประเทศราช ซึ่งรองจากพระยศของเสด็จเจ้าราชบุตรหรือเจ้าราชบุตร แต่มิได้นับเข้าในระบบการปกครองแบบอาญาสี่ซึ่งเป็นระบบการปกครองดั้งเดิมของลาว

ต่อมาเมื่อเสด็จเจ้ายุติธรรมธร (คำสุก ณ จำปาศักดิ์) พิราลัยด้วยพระโรคชราในปี พ.ศ. 2444 ทางราชการสยามได้ให้เสด็จเจ้าอุปราช (เจ้าคำพันธ์) เป็นผู้รักษาราชการเมืองนครจำปาศักดิ์ไปพลาง เนื่องจากยังไม่ทันได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แต่งตั้งเจ้าผู้ครองนครจำปาศักดิ์พระองค์ใหม่[3] ต่อมาในปี พ.ศ. 2446 ดินแดนของนครจำปาศักดิ์ได้ตกอยู่ในความปกครองของฝรั่งเศสตามสนธิสัญญาฉบับลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ร.ศ. 122 ฝ่ายฝรั่งเศสจึงได้เกลี้ยกล่อมให้เจ้าราชดนัย (หยุย) เป็นเจ้าผู้ครองเมืองนครจำปาศักดิ์สืบต่อจากพระราชบิดา พระองค์จึงได้มีหนังสือลับไปทูลปรึกษาสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ (ขณะมีพระอิสริยยศเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นฯ) เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในเวลานั้น ซึ่งกรมพระยาดำรงฯ ได้ทรงตอบไปว่า "ให้รับตำแหน่งทำการให้ฝรั่งเศสเสีย มิฉะนั้นถ้าฝรั่งเศสเอาพวกอื่นมาตั้งวงศ์ตระกูลเจ้ายุติธรรมจะได้รับความเดือดร้อน" เจ้าราชดนัย (หยุย) จึงตกลงรับเป็นเจ้าผู้ครองนครจำปาศักดิ์นับแต่นั้น โดยฝ่ายฝรั่งเศสได้ตั้งให้เจ้าราชดนัย (หยุย) ขึ้นเป็นเจ้ายุติธรรมธรเช่นเดียวกับเจ้านครจำปาศักดิ์พระองค์ก่อน ๆ[4] และนับเป็นเจ้าผู้ครองนครจำปาศักดิ์ที่ได้รับพระราชทานนามยศประจำที่เจ้ายุติธรรมธรเป็นลำดับที่ 3 ของราชวงศ์จำปาศักดิ์ด้วย

ต่อมารัฐบาลอินโดจีนฝรั่งเศส ได้ยกเลิกฐานะความเป็นเจ้าผู้ครองนครลงเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2447[1] เสด็จเจ้ายุติธรรมธร (หยุย) จึงมีฐานะเป็นผู้ว่าราชการเมืองจำปาศักดิ์แทนแต่ก็ยังทรงดำรงฐานันดรศักดิ์แห่งราชวงศ์จำปาศักดิ์อยู่ จนถึง พ.ศ. 2484 เมื่อประเทศสยามได้ยึดดินแดนนครจำปาศักดิ์กลับคืนมาอีกครั้ง และจัดตั้งขึ้นเป็นจังหวัดนครจัมปาศักดิ์แล้ว ทางราชการไทยก็ได้คงพระเกียรติยศของเสด็จเจ้ายุติธรรมธร (หยุย) ในฐานะเจ้าผู้ครองนครจำปาศักดิ์ไว้ตามเดิม กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ให้เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดที่ตั้งขึ้นมาใหม่นั้นเอง พระองค์ได้ทรงอยู่ในตำแหน่งและฐานันดรศักดิ์นี้จนถึงแก่พิราลัยในตำแหน่งเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2489 ก่อนหน้าที่ดินแดนจำปาศักดิ์จะกลับไปเป็นของฝรั่งเศสอีกครั้งไม่นานนัก[5]

ผู้สืบสกุล

แก้

เสด็จเจ้ายุติธรรมธร (หยุย ณ จำปาศักดิ์) ทรงมีราชโอรสพระราชธิดาที่ประสูติแต่พระชายาและหม่อมห้าม 5 พระองค์ ดังนี้ [6][1]

  1. เจ้าเฮือนทองพูน ไม่มีโอรสธิดาด้วยกัน
  2. เจ้าเฮือนสุดสมร มีโอรสธิดา 3 องค์ คือ
    1. เสด็จเจ้าบุญอุ้ม ณ จำปาศักดิ์ (เจ้าผู้ครองนครจำปาศักดิ์พระองค์ที่ 13 และอดีตนายกรัฐมนตรีลาว)
    2. เจ้าสมบูรณ์ ณ จำปาศักดิ์
    3. เจ้าบุญอ้อม ณ จำปาศักดิ์ (อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการลาว ในรัฐบาลพระราชอาณาจักรลาว)
  3. หม่อมนวล มีโอรสธิดา 7 องค์ คือ
    1. เจ้าบุญเอื้อ ณ จำปาศักดิ์
    2. เจ้าเฮือนเนย ณ จำปาศักดิ์
    3. เจ้าเฮือนน้อม ณ จำปาศักดิ์
    4. เจ้าเฮือนบุญล้น ณ จำปาศักดิ์
    5. เจ้าเฮือนบุญหลี ณ จำปาศักดิ์
    6. เจ้าสรรพสิทธิ ณ จำปาศักดิ์
    7. เจ้าเฮือนสีดา ณ จำปาศักดิ์
  4. เจ้าเฮือนจันทร์ มีโอรสธิดา 9 องค์ คือ
    1. เจ้าเฮือนบุญชู ณ จำปาศักดิ์
    2. เจ้าเฮือนสมบูรณ์ ณ จำปาศักดิ์
    3. เจ้าเฮือนเฮียง ณ จำปาศักดิ์
    4. เจ้าเฮือนบุญโฮม ณ จำปาศักดิ์
    5. เจ้าเฮือนบุญเฮือง ณ จำปาศักดิ์
    6. เจ้าศรีโรเม ณ จำปาศักดิ์
    7. เจ้าเฮือนนารี ณ จำปาศักดิ์
    8. เจ้าเฮือนบุญเหลือ ณ จำปาศักดิ์
    9. เจ้าเฮือนสุดาจันทร์ ณ จำปาศักดิ์
      1. นายจันทร์ โพธิ์สอาด (อาชญาจันทร์ โพธิ์สอาด)
  5. หม่อมจูม มีโอรสธิดา 1 องค์ คือ เจ้าจิตประสงค์ ณ จำปาศักดิ์

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

แก้

อ้างอิง

แก้
ก่อนหน้า เจ้ายุติธรรมธร (หยุย ณ จำปาศักดิ์) ถัดไป
เจ้ายุติธรรมธร (คำสุก ณ จำปาศักดิ์)   เจ้าผู้ครองนครจำปาศักดิ์
และผู้ว่าราชการเมืองจำปาศักดิ์

(พ.ศ. 2446 – 2 มีนาคม พ.ศ. 2489)
  เจ้าบุญอุ้ม ณ จำปาศักดิ์
(ประมุขแห่งราชสกุล ณ จำปาศักดิ์)