ตระกูลภาษาออสโตรนีเซียน

(เปลี่ยนทางจาก ออสโตรนีเชียน)

ตระกูลภาษาออสโตรนีเซียน (อังกฤษ: Austronesian languages) เป็นตระกูลภาษาที่มีผู้พูดกระจายไปทั่วหมู่เกาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และมหาสมุทรแปซิฟิก มีจำนวนน้อยบนผืนแผ่นดินของทวีปเอเชีย อยู่ในระดับมาตรฐานเดียวกับตระกูลภาษาอินโด-ยูโรเปียนและตระกูลภาษายูรัลคือสามารถสืบหาภาษาดั้งเดิมของตระกูลได้

ตระกูลภาษาออสโตรนีเซียน
กลุ่มเชื้อชาติ:ชาวออสโตรนีเชียน
ภูมิภาค:เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นสมุทร, มาดากัสการ์ และส่วนของอินโดจีน, โอเชียเนีย, ศรีลังกา, ไต้หวัน และมณฑลไหหลำ
การจําแนก
ทางภาษาศาสตร์
:
หนึ่งในตระกูลของภาษาหลักของโลก
ภาษาดั้งเดิม:ออสโตรนีเซียนดั้งเดิม
กลุ่มย่อย:
ISO 639-2 / 5:map
กลอตโตลอก:aust1307[1]
{{{mapalt}}}
ภาพบริเวณที่มีตระกูลภาษาออสโตรนีเซียน

คำว่าออสโตรนีเซียนมาจากภาษาละติน austro (ลมใต้) รวมกับคำภาษากรีก nesos (เกาะ) ตระกูลภาษานี้ได้ชื่อนี้ เพราะส่วนมากใช้พูดในบริเวณหมู่เกาะ มีเพียงไม่กี่ภาษา เช่น ภาษามลายู ภาษาจาม ที่ใช้พูดบนผืนแผ่นดิน สมาชิกของตระกูลนี้มีถึง 1,268 ภาษา หรือประมาณ 1 ใน 5 ของภาษาที่รู้จักกันทั่วโลก การแพร่กระจายจากแหล่งกำเนิดของภาษาถือว่ากว้างไกล เริ่มตั้งแต่เกาะมาดากัสการ์ ไปจนถึงเกาะทางตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิก ภาษาราปานูอี ภาษามาลากาซี และ ภาษาฮาวาย เป็นภาษาที่ใช้พูดตามรอบนอกของขอบเขตที่มีการใช้ภาษาตระกูลนี้

ภาษาตระกูลนี้มีสาขามากมาย ส่วนมากพบในไต้หวัน ภาษากลุ่มเกาะฟอร์โมซาในไต้หวันเป็นสาขาหลักของภาษาในตระกูลนี้ มีถึง 9 สาขา ภาษาที่ใช้พูดนอกเกาะฟอร์โมซาทั้งหมด อยู่ในภาษากลุ่มมาลาโย-โพลีเนเซีย ซึ่งบางครั้งเรรียกว่าภาษานอกเกาะฟอร์โมซา

แหล่งกำเนิด

แก้

ประวัติศาสตร์เริ่มต้นของกลุ่มชนที่พูดภาษาออสโตรนีเซียนย้อนกลับไปเมื่อครั้งยังเป็นภาษาออสโตรนีเซียนดั้งเดิม จุดเริ่มต้นของภาษานี้อยู่ในไต้หวัน เพราะบนเกาะนี้มีความแตกต่างของภาษาตระกูลนี้มาก โดยมีถึง 9 จากทั้งหมด 10 สาขา [2] ทั้งนี้นักภาษาศาสตร์ถือว่า จุดกำเนิดของภาษาจะอยู่ในที่ ๆ มีความแตกต่างของภาษากลุ่มนั้น ๆ มาก [3]

การศึกษาจุดเริ่มต้นของกลุ่มชนที่พูดภาษาตระกูลออสโตรนีเซียนโดยใช้หลักฐานทางพันธุศาสตร์พบว่าจุดกำเนิดนั้นน่าจะอยู่ในผืนแผ่นดินของทวีปเอเชีย หลักฐานทางโบราณคดีระบุว่า ผู้พูดภาษานี้อพยพไปจากจีนตอนใต้ ไปสู่ไต้หวันเมื่อราว 8,000 ปีมาแล้ว จากนั้นจึงอพยพออกทางเรือไปยังหมู่เกาะต่าง ๆ เมื่อราว 6,000 ปีมาแล้ว กระนั้นก็ตาม ยังมีช่องว่างในช่วงเวลาดังกล่าวอยู่เพราะนักภาษาศาสตร์พบว่าข้อมูลเกี่ยวกับภาษาออสโตรนีเซียนดั้งเดิมยุติแค่ชายฝั่งตะวันตกของไต้หวัน แต่ไม่มีความเชื่อมโยงกับภาษาบนแผ่นดินใหญ่ยกเว้นภาษากลุ่มจาม แต่ก็มีหลักฐานว่าเป็นภาษาของผู้อพยพเข้าไปใหม่

ความสัมพันธ์กับระยะทาง

แก้

ได้มีการศึกษาเพื่อเชื่อมโยงตระกูลภาษาออสโตรนีเซียนเข้ากับภาษาตระกูลอื่นๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สมมติฐานที่ดูสอดคล้องที่สุดคือสมมติฐานออสโตร-ไท ซึ่งเชื่อมโยงตระกูลภาษาออสโตรนีเซียนเข้ากับตระกูลภาษาขร้า-ไท Roger Blench (2004) [4] เสนอว่าตระกูลภาษาขร้า-ไทอาจเป็นสาขาของภาษากลุ่มบอร์เนียว-ฟิลิปปินส์ แต่ยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากนักภาษาศาสตร์มากนัก

นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอว่าภาษาญี่ปุ่นอาจมีความเกี่ยวพันกับภาษาตระกูลออสโตรนีเซียน โดยได้รับอิทธิพลจากภาษาตระกูลนี้ โดยผู้ที่เสนอทฤษฎีนี้กล่าวว่าภาษาตระกูลออสโตรนีเซียนเคยครอบคลุมทางเหนือของเกาะฟอร์โมซา (ทางตะวันตกของญี่ปุ่น เช่นหมู่เกาะริวกิว และคิวชู) เช่นเดียวกับทางใต้ ไม่มีหลักฐานทางพันธุศาสตร์แสดงถึงความเกี่ยวพันระหว่างผู้พูดภาษาญี่ปุ่นกับผู้พูดภาษาตระกูลออสโตรนีเซียน เว้นแต่จะมีการติดต่อในยุคก่อนประวัติศาสตร์ระหว่างผู้พูดภาษาญี่ปุ่นโบราณกับผู้พูดภาษาออสโตรนีเซียนดั้งเดิม ซึ่งน่าจะเป็นการติดต่อสัมพันธ์กันธรรมดาที่ไม่มีผลต่อการหลอมรวมทางวัฒนธรรม การวิเคราะห์ทางพันธุศาสตร์ของชาวริวกิว เทียบกับชาวญี่ปุ่นและชาวพื้นเมืองของไต้หวัน พบว่าใกล้เคียงกับชาวญี่ปุ่นมากกว่า ดังนั้น หากจะมีการเกี่ยวข้องกันจริง จะต้องเกิดในจีนแผ่นดินใหญ่ก่อนที่ผู้พูดภาษาออสโตรนีเซียนจะอพยพไปไต้หวัน และผู้พูดภาษาญี่ปุ่นจะอพยพไปญี่ปุ่น

โครงสร้าง

แก้

การกำหนดลักษณะทั่วไปของตระกูลภาษาออสโตรนีเซียนทำได้ยากเพราะเป็นตระกูลที่กว้างมาก และมีความหลากหลาย โดยทั่วไปแบ่งได้เป็นสามกลุ่มย่อยคือ [5]

  • ภาษาแบบฟิลิปปินส์ เรียงประโยคโดยให้คำกริยามาก่อน และมีการกำหนดจุดเน้นของกริยา
  • ภาษาแบบอินโดนีเซีย
  • ภาษาแบบหลังอินโดนีเซีย

ภาษาตระกูลนี้มีแนวโน้มจะใช้การซ้ำคำ เป็นภาษารูปคำติดต่อ พยางค์เป็นแบบพยัญชนะ-สระ

การนับเลข

แก้

เปรียบเทียบการนับเลขของภาษาต่างๆในตระกูลนี้ได้ดังนี้

ภาษา 1 2 3 4 5 6 7 8 9 10
ภาษาออสโตรนีเซียนดั้งเดิม *esa/isa *duSa *telu *Sepat * lima *enem *pitu *walu *Siwa *sa-puluq
ภาษาไปวัน ita dusa celu sepac lima unem picu alu siva ta-puluq
ภาษาตากาล็อก isá dalawá tatló ápat limá ánim pitó waló siyám sampû
ภาษามังยัน Isa' rueh telo epat dime enem pitu Balu' suei sapuluh
ภาษามาลากาซี iráy róa télo éfatra dímy énina fíto válo sívy fólo
ภาษาอาเจะฮ์ sa duwa lhee peuet limöng nam tujôh lapan sikureueng plôh
ภาษาบาตักโตบา sada duwa tolu opat lima onom pitu uwalu sia sampulu
ภาษาบาหลี sa dua telu empat lima enem pitu akutus sia dasa
ภาษาซาซัก esa due telu empat lime enem pitu’ balu’ siwa’ sepulu
ภาษาชวา กูนา sa rwa telu pat lima nem pitu wwalu sanga sapuluh
ภาษาชวา siji loro telu papat lima nem pitu wolu sanga sepuluh
ภาษาซุนดา hiji dua tilu opat lima genep tujuh dalapan salapan sapuluh
ภาษามาดูรา settong dhua tello' émpa' léma' énném pétto' ballu' sanga' sapolo
ภาษามลายู satu dua tiga empat lima enam tujuh lapan sembilan sepuluh
ภาษามีนังกาเบา ciék duo tigo ampék limo anam tujuah dalapan sambilan puluah
ภาษาราปานูอี tahi rua toru ha rima ono hitu va'u iva 'ahuru
ภาษาฮาวาย `ekahi `elua `ekolu `eha: `elima `eono `ehiku `ewalu `eiwa `umi

ภาษาหลัก

แก้

ภาษาในตระกูลนี้ที่มีผู้พูดมากกว่า 4 ล้านคนได้แก่ ภาษาชวา ภาษามลายู ภาษาซุนดา ภาษาตากาล็อก ภาษาเซบัวโน ภาษามาลากาซี ภาษามาดูรา ภาษาอีโลกาโน ภาษาฮิลิกายนอน ภาษามินังกาเบา ภาษาบาตัก ภาษาบิโกล ภาษาบันจาร์ ภาษาบาหลี

ภาษาในกลุ่มนี้ที่เป็นภาษาราชการได้แก่ ภาษาอินโดนีเซีย (ประเทศอินโดนีเซีย) ภาษาตากาล็อก (หรือภาษาฟิลิปิโน ประเทศฟิลิปปินส์) ภาษามลายู (มาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไน) ภาษามาลากาซี (มาดากัสการ์) ภาษาเตตุน (ติมอร์-เลสเต) ภาษาฟิจิ (ฟิจิ) ภาษาซามัว (ซามัว) ภาษาตาฮีตี (เฟรนช์โปลินีเซีย) ภาษาตองงา (ตองงา) ภาษากิลเบิร์ต (คิริบาส) ภาษามาวรี (นิวซีแลนด์) ภาษาชามอร์โร (กวมและหมู่เกาะนอร์เทิร์นมาเรียนา) ภาษามาร์แชลล์ (หมู่เกาะมาร์แชลล์) ภาษานาอูรู (นาอูรู) ภาษาฮาวาย (รัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา)

อ้างอิง

แก้
  1. Nordhoff, Sebastian; Hammarström, Harald; Forkel, Robert; Haspelmath, Martin, บ.ก. (2013). "Austronesian". Glottolog 2.2. Leipzig: Max Planck Institute for Evolutionary Anthropology.
  2. Blust, R. (1999). "Subgrouping, circularity and extinction: some issues in Austronesian comparative linguistics" in E. Zeitoun & P.J.K Li (Ed.) 'Selected papers from the Eighth International Conference on Austronesian Linguistics' (pp. 31-94). Taipei: Academia Sinica
  3. Sapir, Edward. (1968). Time perspective in aboriginal American culture: a study in method. In Selected writings of Edward Sapir in language, culture and personality (D.G. Mandelbaum ed.), 389- 467. Berkeley: University of California Press.
  4. Blench, Roger (2004). Stratification in the peopling of China: how far does the linguistic evidence match genetics and archaeology? (PDF) Paper for the Symposium : Human migrations in continental East Asia and Taiwan: genetic, linguistic and archaeological evidence. Geneva, June 10-13.
  5. Ross, 2002