วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์
วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ (อังกฤษ: Poh-Chang Academy of Arts, Rajamangala University of Technology Rattanakosin) เดิมคือ โรงเรียนเพาะช่าง ตั้งอยู่ที่ถนนตรีเพชร แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร มีสีแดง–สีดำ เป็นสัญลักษณ์ของสถาบัน โรงเรียนเพาะช่างเป็นสถาบันศิลปะและการช่างแห่งแรกของประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยถือเอาวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2456 เป็นวันกำเนิดโรงเรียนเพาะช่าง ซึ่งเป็นวันชุมนุมศิษย์เก่าของทุกปี ปัจจุบันเพาะช่างมีชื่อเต็มคือ "วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์"[1]
Poh-Chang Academy of Arts, Rajamangala University of Technology Rattanakosin | |
สถาปนา | 7 มกราคม พ.ศ. 2456 |
---|---|
ผู้อำนวยการ | ผู้ช่วยศาสตราจารย์ บรรลุ วิริยาภรณ์ประภาส |
ที่อยู่ | เลขที่ 86 ถนนตรีเพชร แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 |
สี | สีแดง–สีดำ |
มาสคอต | พระวิษณุกรรม |
เว็บไซต์ | www.pohchang.rmutr.ac.th |
คำว่า "เพาะช่าง" ได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวาระที่ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดโรงเรียนเมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2456 สืบเนื่องมาจากงานเฉลิมพระชนมพรรษา ในการที่โรงเรียนเพาะช่างได้รับพระราชทานกำเนิดจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ก็เพราะพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[2] ซึ่งทรงห่วงใยในศิลปะการช่างของไทยจะถูกอิทธิพลของศิลปวัฒนธรรมต่างชาติ โดยเฉพาะศิลปวัฒนธรรมตะวันตกที่แพร่หลายเข้าครอบงำ อาจถึงคราวเสื่อมสูญได้ จึงมีพระราชประสงค์จะทำนุบำรุงศิลปะการช่างของไทยให้พัฒนาถาวรสืบไป ปัจจุบันเพาะช่างได้เปิดหลักสูตรการสอนในระดับปริญญาตรี 4 ปี ทั้งภาคปกติและภาคสบทบ มีทั้งหมด 4 กลุ่มวิชา คือ ศิลปประจำชาติ ศิลปหัตถกรรม วิจิตรศิลป์ และออกแบบ โดยสังกัดมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเพาะช่างปัจจุบัน พ.ศ.2566 ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุรัฐ บุญทรง รองผู้อำนวยการวิทยาลัยเพาะช่างปัจจุบัน อาจารย์กลม ไตรปัญญา รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารและวางแผน ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุชา ศิลปชัยศรี รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการและวิจัย และอาจารย์อุตสาห์ ไวยศรีแสง รองผู้อำนวยการฝ่ายกิจการนักศึกษา
ประวัติ
แก้- พ.ศ. 2448 – ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการ ในปัจจุบัน) ได้ก่อตั้งกองช่างแกะไม้ขึ้น เพื่อทำแม่พิมพ์เป็นภาพประกอบแบบเรียนของกองแบบเรียน กระทรวงธรรมการ ประกอบด้วยช่างเขียนและช่างแกะไม้
- พ.ศ. 2450 – ยกฐานะกองช่างแกะไม้เป็นสโมสรช่าง สโมสรสาขาหนึ่งในสามัคยาจารย์สมาคม ในกระทรวงธรรมการ เริ่มรับนักเรียนฝึกหัดเป็นช่างทั้งสองประเภท นับเป็นการเริ่มต้นในการจัดการศึกษาทางด้านช่างศิลปหัตถกรรม
- พ.ศ. 2452 – ขยายกิจการของสโมสรช่าง โดยเพิ่มช่างปั้น ช่างกลึง และช่างประดับมุก
- พ.ศ. 2453 – เพิ่มแผนกวิชาช่างถม ประกอบด้วยฝ่ายขึ้นรูป การสลักลาย และการลงน้ำยา ต่อมากระทรวงธรรมการ ต้องการฝึกหัดครูไปสอนในโรงเรียนต่าง ๆ ตามหลักสูตรใหม่สามัคยาจารย์สมาคม จึงโอนโรงเรียนเพาะช่าง พร้อมทั้งโรงงานช่างให้แก่กระทรวงธรรมการ เมื่อวันที่ 1 มกราคม
- พ.ศ. 2454 – เปลี่ยนชื่อว่า "โรงเรียนหัตถกรรมราชบูรณะ" จัดเป็นโรงเรียนสอนวิชาพณิชยกรรมเกษตรกรรมและศิลปกรรมขึ้นเป็นครั้งแรก พระราชดำริในอันที่จะทรงทำนุบำรุงศิลปะการช่างและหัตถกรรมไทยให้เจริญพัฒนาถาวรของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังหาได้สำเร็จสมดังพระราชหฤทัยไม่ ด้วยเสด็จสวรรคตเสียก่อน
ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงสืบทอดพระราชดำริของสมเด็จพระบรมชนกนาถต่อมา ประจวบกับบรรดาข้าราชการในกระทรวงธรรมการ ได้เรี่ยไรกันสร้างอาคารเรียน 2 ชั้นขึ้น ในโรงเรียนหัตถกรรมราชบูรณะเป็นถาวรวัตถุ อุทิศเกล้าถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดอาคารเรียน และพระราชทานว่า "โรงเรียนเพาะช่าง"
- พ.ศ. 2456 – เปลี่ยนแผนกวิชาช่างออกแบบอย่างก่อสร้างที่เปิดสอนมาแต่ พ.ศ. 2455 เป็นแผนกสถาปัตยกรรม โรงเรียนเพาะช่างในสมัยแรก มีแผนกพิมพ์รูป แผนกช่างเขียน แผนกช่างปั้น แผนกช่างแกะ แผนกช่างถม แผนกช่างกลึง แผนกช่างไม้ และแผนกสถาปัตยกรรม นอกจากนี้ยังมีวิชาที่เรียน คือ วิชาภาพร่าง วิชาลายไทย วิชาลายฝรั่ง วิชาวาดเส้น วิชาเขียนพู่กัน วิชาช่างแบบอย่าง และวิชาเรขาคณิต
- พ.ศ. 2460 – ความต้องการครูสอนวาดเขียนในโรงเรียนต่าง ๆ มีมากขึ้น โดยที่ยังไม่มีสถาบันใดผลิตครูสอนสาขาวิชานี้ กระทรวงธรรมการจึงอนุมัติให้โรงเรียนเพาะช่างเปิดแผนกฝึกหัดครูขึ้นอีกแผนกหนึ่งคือ ประกาศนียบัตรครูวาดเขียนตรีและครูวาดเขียนโท มีหลักสูตรการเรียน 4 ปี
- พ.ศ. 2461 – พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราไชย มาดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการโรงเรียนเพาะช่าง จนกระทั่งสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2465 ตลอดระยะเวลาที่ทรงรับราชการ ได้ทรงบริหารการศึกษาศิลปหัตถกรรมของโรงเรียนเพาะช่างให้เจริญรุ่งเรืองเป็นอันมาก ได้รับความนิยมตั้งแต่พระมหากษัตริย์ จนถึงเจ้านาย ข้าราชการ และบุคคลทั่วไป ตลอดชาวต่างประเทศ ทรงจัดตั้งแผนกช่างทอง แผนกเจียระไนเพชรพลอย แผนกทำบล็อกสกรีน โดยเฉพาะเครื่องถม ได้ขยายวิธีการไปอย่างกว้างขวางจนเป็นที่แพร่หลาย เป็นที่รู้จักมาจนถึงปัจจุบันคือ "ถมจุฑาธุช" ทรงจัดให้มีพิธีไหว้ครูช่างแบบอย่างโบราณขึ้นในโรงเรียนเพาะช่างเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2463 และทรงคิดสีประจำโรงเรียนคือ "สีแดง–สีดำ" สีแดงหมายถึงเลือดของช่าง สีดำหมายถึงไม่ใช่ช่าง เพื่อเป็นเครื่องเตือนสติให้ช่างทั้งหลายได้มีเลือดเป็นสีแดงอยู่เสมอ อย่าให้สีแดงของช่างจางไปหรือกลายเป็นสีดำ
ทรงขยายแผนกการค้า ทรงสร้างห้องแสดงสินค้าห้องประชุมโรงเรียน จนกระทั่งนำผลกำไรจากการค้าของโรงเรียนไปสร้างโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวายขึ้นอีกโรงเรียนหนึ่ง (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย ในปัจจุบัน)
- พ.ศ. 2466–2472 – เปิดแผนกช่างถ่ายรูป ซึ่งในช่วงนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงสนพระทัย เสด็จทอดพระเนตรกิจการของโรงเรียนเพาะช่าง
- พ.ศ. 2473 – แผนกสถาปัตยกรรมได้แยกไปตั้งเป็น คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย งานช่างศิลปะในโรงเรียนเพาะช่าง ยังคงเหลืออยู่ 15 แขนง ในขณะนั้นได้แก่ ช่างวาดเขียน ช่างปั้น ช่างพิมพ์บล็อกสกรีน ช่างโลหะรูปพรรณ (ช่างทอง) ช่างเพชรพลอย (เจียระไนและฝัง) ช่างเงิน (ขึ้นรูป–สลักดุน) ช่างถม ช่างลงยา ช่างรัก (ฝังมุกและลายรดน้ำ) ช่างไม้ ช่างแกะสลัก ช่างจักสาน ช่างกลึงร่างออกแบบ และช่างถ่ายรูป
- พ.ศ. 2477 – ได้มีการเปลี่ยนแปลง โดยเลิกล้มแผนกฝึกหัดครู (ครูสอนวาดเขียนตรี–โท) เปิดเป็นแผนกมัธยมการช่าง หลักสูตร 4 ปี รับผู้สำเร็จมัธยมปีที่ 4 เข้าเรียน จบแล้วไปประกอบอาชีพช่างเขียน ถ้าจะเป็นครูก็ต้องเรียนวิชาครูที่โรงเรียนฝึกหัดครูประถมอีก 1 ปี จะได้ประกาศนียบัตรประโยคครูประถมการช่าง และได้เปิดแผนกฝึกหัดครูสตรีขึ้นอีกแผนกหนึ่ง รับนักเรียนสตรีที่สำเร็จมัธยมปีที่ 6 เข้าเรียน หลักสูตร 2 ปี สำเร็จแล้วจะได้รับประกาศนียบัตรผู้สอนวาดเขียนตรี
- พ.ศ. 2482 – เลิกล้มแผนฝึกหัดครูทั้งชายและหญิง จัดตั้งเป็นแผนกฝึกหัดครูประถมการช่าง หลักสูตร 3 ปี รับผู้สำเร็จชั้นมัธยมปีที่ 6 ทั้งชายและหญิงเข้าเรียน ผู้สำเร็จจะได้รับประกาศนียบัตรประโยคครูประถมการช่าง และเปิดแผนกไม้ไผ่ขึ้นอีกแผนกหนึ่ง
- พ.ศ. 2486 – วันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2486 อาคารหลังกลาง คืออาคารที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมาเปิด ถูกระเบิดทำลายเสียหายหมดสิ้น ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 โรงเรียนเพาะช่างต้องย้ายที่ทำการไปเปิดการสอนชั่วคราวอยู่ที่วัดนางนอง ตำบลบางค้อ เขตบางขุนเทียน ธนบุรี และต่อมาในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2487 อาคารริมถนนตรีเพชร ก็ถูกระเบิดทำลายลงอีก เมื่อสงครามสงบใน พ.ศ. 2488 โรงเรียนก็ได้ย้ายมาเปิดทำการใหม่ในที่เดิม โดยปลูกเพิงหลังคามุงจากใช้เรียนชั่วคราว
- พ.ศ. 2489 – นายจิตร บัวบุศย์ (ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ประกิต บัวบุศย์) อาจารย์โรงเรียนเพาะช่าง ซึ่งได้รับทุนไปดูงานที่ประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่ พ.ศ. 2484 เดินทางกลับมาถึง ได้รับมอบหมายจากกรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ให้เป็นผู้ออกแบบโครงการก่อสร้างอาคารโรงเรียนเพาะช่าง และได้ปรับปรุงหลักสูตรใหม่ โดยนำวิธีการและหลักสูตรแผนใหม่เข้ามาใช้ในการศึกษาศิลปหัตถกรรมตามหลักอะคาเดมีของอารยประเทศ นับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่ได้เปลี่ยนแปลงการศึกษาทางศิลปกรรมสากล
- พ.ศ. 2500 – โครงการก่อสร้างโรงเรียนเพาะช่างแล้วเสร็จ ได้อาคารทรงไทยประยุกต์เป็นศรีสง่า 3 หลัง เพิ่มวิชาภาพแกะไม้ขึ้นมาสอนกันใหม่ในวิชาศิลปกรรม นำวิชาเครื่องเคลือบโลหะสอนเพิ่มในแผนกเครื่องโลหะ วิชาการสานหวายเพิ่มในแผนกเครื่องไม้ไผ่ และวิชาการย้อมสีลวดลายด้วยวิธีบาติกสอนเพิ่มในแผนกเครื่องทอ–ย้อม โรงเรียนเพาะช่างได้รับความนิยมอย่างสูง มีผู้สนใจเข้าเรียนเป็นจำนวนมาก กระทรวงศึกษาธิการได้อนุมัติให้เปิดสอนทั้งรอบเช้าและรอบบ่าย การศึกษาโรงเรียนได้แบ่งเป็น 3 แผนก คือ แผนกฝึกหัดครู แผนกวิจิตรศิลป และแผนกหัตถกรรม มีหลักสูตร 3 ปี และ 5 ปี
เปิดแผนกศิลปะประยุกต์ หลักสูตร 3 ปี รับผู้สำเร็จมัธยม ปีที่ 6 ทั้งชายและหญิงเรียนวิชาการดิน การรัก การสาน การโลหะ การทำพิมพ์ หล่อพิมพ์ และการทอพรม เพิ่มวิชาการออกแบบในแผนกหัตถกรรมและวิชาการทำลวดลายนูนในวิชาเครื่องรัก
- พ.ศ. 2502 – กระทรวงศึกษาธิการอนุมัติให้สร้างอาคารศิลปประยุกต์ (อาคารหัตถกรรม)
- พ.ศ. 2505 – เปิดแผนกช่างบล็อกแม่พิมพ์ขึ้นอีกเป็นวิชาเสริมหลักสูตร
- พ.ศ. 2506 – พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดการแสดงภาพเขียน ของเหม เวชกร และเพื่อน พร้อมครูอาจารย์โรงเรียนเพาะช่าง โดยจัดร่วมกับสโมสรโรตารีแห่งประเทศไทย
- พ.ศ. 2507 – พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดงานแสดงภาพถ่าย ครั้งที่ 3 ซึ่งจัดโดยสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ร่วมกับโรงเรียนเพาะช่าง และทอดพระเนตรกิจการของโรงเรียนเพาะช่างด้วย
- พ.ศ. 2509 – เปิดแผนกพาณิชย์ศิลป์ หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง 2 ปี โดยยุบเลิกแผนกศิลปะประยุกต์ไปรวมกับแผนกหัตถกรรม
- พ.ศ. 2510 – สร้างอาคารเรียนทฤษฎีหลังใหม่ 4 ชั้น (อาคาร 5)
กระทรวงศึกษาธิการยกฐานะโรงเรียนเพาะช่างให้เป็นวิทยาลัย พร้อมกับอนุมัติให้เปิดรับนักศึกษาภาคบ่ายขึ้นอีกครั้งหนึ่ง
- พ.ศ. 2513 – สร้างอาคารเรียน 4 (อาคาร 6)
- พ.ศ. 2515 – ปรับปรุงหลักสูตรใหม่ 3 ปี แรกจากหลักสูตรประกาศนียบัตรประโยคครูประถมการช่าง และ มศ.6 เป็นหลักสูตรระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ แทนส่วนระดับประกาศนียบัตรประโยคครูมัธยมการช่าง ให้ยุบเลิกไปด้วย คงเหลือระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ซึ่งยกฐานะแผนกเป็นคณะวิชาคือ คณะศิลปประจำชาติ คณะวิจิตรศิลปกรรม คณะออกแบบ และคณะหัตถกรรม มีแผนกต่าง ๆ สังกัดอย่างเช่นปัจจุบัน เพื่อขยายความต้องการครูศิลปะที่กว้างขึ้น จึงให้ผู้เรียนสำเร็จประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง เข้าศึกษาต่ออีก 1 ปี ในหลักสูตรประกาศนียบัตรครูมัธยมศิลปหัตถกรรม (ปม.ศ.)
- พ.ศ. 2517 – กระทรวงศึกษาธิการอนุมัติให้เปิดสอนหลักสูตรเทียบเท่าปริญญาตรี โดยขยายหลักสูตรประกาศนียบัตรครูมัธยมศิลปหัตถกรรม ต่ออีก 1 ปี เป็นหลักสูตรประกาศนียบัตรครูเทคนิคชั้นสูง (ปทส.) สาขาศิลปกรรม หลักสูตร 2 ปี
- พ.ศ. 2518 – จัดตั้งวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา เพื่อยกฐานะทางการศึกษาด้านวิชาชีพให้สูงถึงระดับปริญญา เปิดการศึกษา 6 สาขา รวมทั้งโรงเรียนเพาะช่างให้เปิดสายศิลปกรรมในนามคณะศิลปกรรม
- พ.ศ. 2519 – ยกเลิกหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ และได้งบประมาณก่อสร้างอาคาร 7 ชั้น (อาคาร 3)
- พ.ศ. 2520 – กระทรวงศึกษาธิการ ได้โอนกิจการของโรงเรียนเพาะช่าง จากกรมอาชีวศึกษา ไปสังกัดวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา โดยมีสถานภาพเป็น "วิทยาเขตเพาะช่าง"[3]
- พ.ศ. 2523 – ปรับปรุงหลักสูตรใหม่เพื่อให้สอดคล้องตลาดวิชาชีพและโครงสร้างหลักสูตรรวมของวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา ยกฐานะแผนกวิชาสามัญเป็นคณะวิชาสามัญวิชาชีพร่วม เป็นคณะวิชาสัมพันธ์วิชาชีพ และระดับประกาศนียบัตรครูมัธยมศิลปหัตถกรรม เป็นคณะวิชาศิลปกรรมศึกษา
- พ.ศ. 2527 – ได้งบประมาณสร้างอาคารเรียน 7 ชั้น (อาคาร 2) ปรับปรุงหลักสูตรระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ที่ใช้มาแต่ปี 2523
- พ.ศ. 2531 – พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาใหม่เป็นสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล เมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2531
- พ.ศ. 2533 – ได้รับงบประมาณก่อสร้างอาคาร 7 ชั้น (อาคารจุฑาธุช) งบประมาณพิเศษจากการสนับสนุนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตพระนคร สุเทพ วงศ์กำแหง แล้วขอประทานนามอาคารจากพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุทธสิริโสภา ว่าอาคาร "จุฑาธุช" ตามพระนามของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราไชย
- พ.ศ. 2535 – แผนกศิลปะการถ่ายภาพได้ย้ายจากคณะวิชาวิจิตรศิลป์มาสังกัดคณะวิชาออกแบบ และคณะศิลปกรรมก็ได้ขยายที่ทำการจากวิทยาเขตเพาะช่าง เปิดทำการสอนหลักสูตรปริญญาตรี 4 ปี ณ ศูนย์กลางสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ตำบลคลองหก อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี
- พ.ศ. 2537 – ได้มีการรื้อฟื้นสร้าง "หอศิลป์ เพาะช่าง" ขึ้นมาอีกครั้ง โดยใช้บริเวณชั้นล่างของตึกคณะออกแบบ ซึ่งประตูทางเข้าอยู่ติดกับฝั่งถนนตรีเพชร เพื่อเป็นสถานที่แสดงผลงานนักศึกษาและศิษย์เก่า แก่ประชาชนและผู้ประกอบการทั่วไป รวมไปถึงการสร้างรูปหล่อของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราไชย ขึ้นมาตรงบริเวณเสาธงหน้าบ่อเต่า โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเปิดนิทรรศการภาพถ่ายของสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ณ วิทยาเขตเพาะช่าง พร้อมทั้งทรงเปิดพระอนุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย และในปีการศึกษา 2537 นี้ได้เปิดหลักสูตรระดับปริญญาตรี ศิลปบัณฑิต สาขาวิชาออกแบบพาณิชยศิลป์–ศิลปการถ่ายภาพ หลักสูตรต่อเนื่อง 2 ปีหลัง
- พ.ศ. 2540 – พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จพระดำเนินเปิดนิทรรศการศิลปกรรมและวิชาการของอาจารย์เพาะช่าง ณ หอศิลป์เพาะช่าง ในปี พ.ศ. 2542 เสด็จฯ เปิดนิทรรศการศิลปะเด็กและเยาวชน เรื่อง "ในหลวงกับการพัฒนาสังคมไทย" วิทยาเขตเพาะช่างจัดร่วมกับมูลนิธิเพื่อสังคมไทย เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ครบรอบ 72 พรรษา พ.ศ. 2542 สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ได้อนุมัติโครงการเปิดสอนระดับปริญญาตรี หลักสูตรศิลปบัณฑิต (ต่อเนื่อง 2 ปี) ภาคปกติ เพิ่มขึ้นในวิทยาเขตเพาะช่าง อีก 3 สาขา คือ สาขาวิชาหัตถกรรม สาขาวิชาศิลปะไทย และสาขาวิชาจิตรกรรม
- พ.ศ. 2543 – เปิดสอนหลักสูตรศิลปบัณฑิต (ต่อเนื่อง 2 ปี) สาขาวิชาเครื่องโลหะและรูปพรรณอัญมณี เพิ่มขึ้นอีก 1 สาขาวิชา การจัดการศึกษาในระดับปริญญาตรีในปีนี้จึงมี 5 สาขา คือ ศิลปบัณฑิต สาขาวิชาออกแบบนิเทศศิลป์–ศิลปการถ่ายภาพ สาขาวิชาหัตถกรรม สาขาวิชาศิลปะไทย สาขาวิชาจิตรกรรม และสาขาวิชาเครื่องโลหะและรูปพรรณอัญมณี
- พ.ศ. 2546 – ปรับปรุงและซ่อมแซมองค์พระวิษณุกรรม ทั้ง 2 องค์ใหม่ วิทยาเขตได้อนุมัติให้เปิดสอนหลักสูตรศิลปบัณฑิต เพิ่มอีก 3 สาขาวิชา ในหลักสูตรสายตรง 4 ปี คือ สาขาวิชาหัตถกรรม สาขาวิชาออกแบบนิเทศศิลป์ และสาขาวิชาเครื่องปั้นดินเผา ส่วนหลักสูตรศิลปบัณฑิต ต่อเนื่อง 2 ปี ที่เปิดสอนในปีนี้คือ สาขาวิชาศิลปะไทย สาขาวิชาจิตรกรรม สาขาวิชาโลหะรูปพรรณและอัญมณี และสาขาวิชาหัตถกรรม
- พ.ศ. 2547 – ได้มีการปรับปรุงตึกคณะออกแบบครั้งใหญ่ โดยปรับปรุงตกแต่งสถานที่รวมไปถึงอุปกรณ์การเรียนให้ทันสมัยยิ่งขึ้น และวิทยาเขตได้อนุมัติให้เปิดหลักสูตรศิลปบัณฑิต 4 ปี ปกติ เพิ่มอีก 3 สาขา ได้แก่ สาขาวิชาจิตรกรรม สาขาวิชาประติมากรรม และสาขาวิชาออกแบบภายใน ภาคสมทบ 2 สาขาวิชา คือ สาขาวิชาออกแบบนิเทศศิลป์ และสาขาวิชาออกแบบภายใน
- พ.ศ. 2549 – สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ได้เปลี่ยนฐานะเป็นมหาวิทยาลัย ทำให้เพาะช่างต้องเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น "คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์" โดยลบคำว่าเพาะช่างออกไป ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน[4][5] ในปีนี้ได้มีโครงการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรในหลาย ๆ แขนงวิชาให้เป็นหลักสูตรปริญญาตรี 4 ปี และบางสาขาวิชาให้มีหลักสูตร 2 ปีหลังต่อเนื่อง
- พ.ศ. 2550 – หลังจากได้เปลี่ยนชื่อและโครงสร้างของสถาบันเป็น "คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์" ทำให้กลุ่มศิษย์ปัจจุบัน ศิษย์เก่า คณาจารย์ ซึ่งนำโดยศิษย์เก่าซึ่งเป็นนักวิชาการด้านศิลปะ ศิลปินแห่งชาติ แสดงความเห็นคัดค้านกับการลบชื่อ "เพาะช่าง" ออกไป เนื่องจากคำว่า เพาะช่าง เป็นคำพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมไปถึงเป็นตักศิลาเก่าแก่ด้านศิลปะของชาติ ได้มีการชุมนุมใหญ่ของศิษย์เก่าในวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2550 โดยศิษย์เก่าจำนวนมากได้ใส่เสื้อดำแสดงความไม่เห็นด้วยกับการลบชื่อเพาะช่าง รวมไปถึงมีการยื่นเรื่องสอบถามร้องเรียนกับทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ รวมไปถึงสือมวลชน จนท้ายสุดทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ จึงเปลี่ยนแปลงชื่อของสถาบันให้อีกครั้งเป็นกรณีพิเศษโดยยังคงชื่อเพาะช่างไว้เป็นชื่อหน่วยงาน วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์[6]
- พ.ศ. 2557 – สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นองค์ประธานเปิดงานศิลปะปูนปั้นแห่งประเทศไทย เจ้าภาพ วิทยาลัยเพาะช่าง ณ หอศิลป์เจ้าฟ้า พิธีพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งที่ 28 วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ทูลเกล้าถวายปริญญาศิลปดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการถ่ายภาพ แด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
- พ.ศ. 2566 – ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุรัฐ บุญทรง ผู้อำนวยการวิทยาลัยเพาะช่าง อาจารย์กลม ไตรปัญญา รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารและวางแผน ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุชา ศิลปชัยศรี รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการและวิจัย อาจารย์อุตสาห์ ไวยศรีแสง รองผู้อำนวยการฝ่ายกิจการนักศึกษา
สัญลักษณ์ประจำสถาบัน
แก้ตราสัญลักษณ์ของวิทยาลัยเพาะช่าง
แก้- ใช้วงกลมเป็นสัญลักษณ์ และองค์พระวิษณุกรรมแสดงรัศมีสื่อถึงความรอบรู้และปัญญาของช่างศิลปะ
- คำว่า โรงเรียนเพาะช่าง และ กำเนิด ๒๔๕๖
สีประจำสถาบัน
แก้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราไชย ทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการโรงเรียนเพาะช่างพระองค์แรก ทรงกำหนดสีประจำโรงเรียนเพาะช่าง คือ "สีแดง–สีดำ" โดยทรงให้เหตุผลว่า "สีแดง" หมายถึงเลือดของช่างที่สดใสอยู่เสมอ "สีดำ" หมายถึงสิ่งที่ตรงกันข้ามกับช่าง ฉะนั้นอย่าให้สีแดงเจือจางหรือหมองคล้ำจนกลายเป็นสีดำ
คำขวัญประจำสถาบัน
แก้เพาะช่างได้นำสัญลักษณ์คำขวัญมาจากเสาทั้ง 6 ต้นของตึกอำนวยการ (ตึกกลาง) คือ ระเบียบ หน้าที่ ประเพณี สามัคคี อาวุโส จิตใจ
อาคารเรียนและสถาปัตยกรรมอันเป็นสัญลักษณ์
แก้อาคารเรียนของเพาะช่าง โดยเฉพาะตึกอำนวยการ (ตึกกลาง) และเสา 6 ต้น (ออกแบบโดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ประกิต บัวบุศย์) เป็นสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นแห่งนึงในสมัยรัตนโกสินทร์ยุคหลังที่สร้างภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งสามารถมองเห็นตึกกลางสีเขียวได้เด่นชัดจากภายนอกสถาบัน สัญลักษณ์อีกอย่างของเพาะช่างคือองค์พระวิษณุกรรมสีทอง 2 องค์ที่ตั้งอยู่ภายในสถาบัน ถือเป็นสิ่งที่ศิษย์เพาะช่างทุกคนเคารพและสักการะ
หลักสูตรที่เปิดสอน
แก้เปิดการสอนในระดับปริญญาตรี 4 ปี ทั้งภาคปกติและภาคสบทบ (ในบางสาขาวิชา) โดยผู้ที่ประสงค์จะเข้าศึกษาจะต้องผ่านการสอบเข้าสถาบัน (สอบตรง) โดยผู้มีสิทธิ์สมัครสอบจะต้องจบหลักสูตรขั้นต่ำ คือมัธยมการศึกษาตอนปลายหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) หรือวุฒิการศึกษาใกล้เคียง โดยการสอบจะเป็นข้อสอบวิชาสามัญและวิชาปฏิบัติ เช่น วิชาวาดเส้น ความถนัดในสาขาวิชาที่จะสอบ และการสอบสัมภาษณ์ ปัจจุบัน วิทยาลัยเพาะช่าง ได้แบ่งส่วนราชการออกเป็น 4 ภาควิชาได้แก่ ภาควิชาศิลปประจำชาติ ภาควิชานิเทศน์ศิลป์ ภาควิชาออกแบบ และภาควิชาศิลปสากล
|
ศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียง
แก้เพาะช่างได้ผลิตศิลปินและบุคลากรด้านศิลปะ–วรรณกรรม–บันเทิง ให้กับประเทศมากมาย ด้านศิลปะเช่น เฟื้อ หริพิทักษ์, ประกิต บัวบุศย์, เฉลิม นาคีรักษ์, ถวัลย์ ดัชนี, เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ด้านวรรณกรรม เช่น อังคาร กัลยาณพงศ์, ชาติ กอบจิตติ, ศักดิ์สิริ มีสมสืบ, จุก เบี้ยวสกุล (จุลศักดิ์ อมรเวช), ราช เลอสรวง, โอม รัชเวทย์ ด้านทัศนศิลป์ พูน เกษจำรัส, กมล ทัศนาญชลี ด้านบันเทิง–ดนตรี–ภาพยนตร์ เช่น สุเทพ วงศ์กำแหง, ชาย เมืองสิงห์, เปี๊ยก โปสเตอร์, ปยุต เงากระจ่าง, โอฬาร พรหมใจ, วสันต์ โชติกุล, พิง ลำพระเพลิง, อุดม แต้พานิช ด้านการถ่ายภาพ อนุชัย ศรีจรูญพู่ทอง ด้านอื่น ๆ เช่น ปราจิน เอี่ยมลำเนา, ยอดกมล เรืองเดช ทั้งนี้มีศิษย์เก่าที่ได้รับเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ จำนวน 30 คน และกวีรางวัลซีไรต์ จำนวน 3 คน
ศิษย์เก่าที่ได้รับเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ
แก้- เฟื้อ หริพิทักษ์ (ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์–จิตรกรรม ปี พ.ศ. 2528)
- ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ (ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์–ประติมากรรม ปี พ.ศ. 2529)
- ประสงค์ ปัทมานุช (ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์–จิตรกรรม ปี พ.ศ. 2529)
- ชิต เหรียญประชา (ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์–ประติมากรรม ปี พ.ศ. 2530)
- โหมด ว่องสวัสดิ์ (ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์–จิตรกรรม ปี พ.ศ. 2530)
- เฉลิม นาคีรักษ์ (ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์–จิตรกรรม ปี พ.ศ. 2531)
- พูน เกษจำรัส (ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์–ศิลปะภาพถ่าย ปี พ.ศ. 2531)
- พิมาน มูลประมุข (ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์–ประติมากรรม ปี พ.ศ. 2531)
- สนิท ดิษฐพันธุ์ (ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์–จิตรกรรม ปี พ.ศ. 2532)
- อังคาร กัลยาณพงศ์ (ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี พ.ศ. 2532)
- ทวี นันทขว้าง (ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์–จิตรกรรม ปี พ.ศ. 2533)
- สุเทพ วงศ์กำแหง (ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง–เพลงไทยสากลขับร้อง ปี พ.ศ. 2533)
- สวัสดิ์ สันติสุข (ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์–จิตรกรรม ปี พ.ศ. 2534)
- ประยูร อุลุชาฎะ (ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์–จิตรกรรม ปี พ.ศ. 2535)
- ชาย เมืองสิงห์ (ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง นักร้อง–นักแต่งเพลงลูกทุ่ง ปี พ.ศ. 2538)
- ชำเรือง วิเชียรเขตต์ (ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์–ประติมากรรม ปี พ.ศ. 2539)
- กมล ทัศนาญชลี (ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์–จิตรกรรมและสื่อผสม ปี พ.ศ. 2540)
- ประหยัด พงษ์ดำ (ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์–ภาพพิมพ์ ปี พ.ศ. 2541)
- ชลูด นิ่มเสมอ (ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์–ประติมากรรม ปี พ.ศ. 2541)
- แท้ ประกาศวุฒิสาร (ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง–ผู้สร้างภาพยนตร์ ปี พ.ศ. 2542)
- มานิตย์ ภู่อารีย์ (ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์–ภาพพิมพ์ ปี พ.ศ. 2542)
- ดำรง วงศ์อุปราช (ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์–จิตรกรรม ปี พ.ศ. 2542)
- ถวัลย์ ดัชนี (ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์–จิตรกรรม ปี พ.ศ. 2544)
- ประกิต บัวบุศย์ (ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์–จิตรกรรม ปี พ.ศ. 2545)
- ชาติ กอบจิตติ (ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี พ.ศ. 2547)
- ทวี รัชนีกร (ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์–จิตรกรรม ปี พ.ศ. 2548)
- เดชา วราชุน (ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์–ภาพพิมพ์ ปี พ.ศ. 2550)
- ปรีชา เถาทอง (ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์–จิตรกรรม ปี พ.ศ. 2552)
- ธงชัย รักประทุม (ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์–จิตรกรรม ปี พ.ศ. 2553)
- เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ (ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์–จิตรกรรม ปี พ.ศ. 2554)
สมาคมศิษย์เก่าเพาะช่าง
แก้ที่ทำการอยู่ภายในวิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ติดกับหอศิลป์เพาะช่าง และตึกภาควิชาออกแบบ
หอศิลป์เพาะช่าง
แก้มีการปรับปรุงหอศิลป์ครั้งล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. 2561 โดยมีการย้ายจากใต้ตึกออกแบบไปอยู่ที่ อาคารอำนวยการ (ตึกกลาง) ข้างๆตึกภาควิชาออกแบบแทน พื้นที่จัดแสดงงานจะมีสองชั้น มีการจัดแสดงงานศิลปะอย่างต่อเนื่อง มีทั้งผลงานของศิษย์ปัจจุบัน คณะครูอาจารย์ ศิษย์เก่า และผลงานของบุคคลภายนอกในบางครั้ง ปัจจุบันพื้นที่ใต้ตึกออกแบบได้ปรับเปลี่ยนเป็นร้านค้าขายผลงานศิลปะของนักศึกษาและร้านอินทนิล คอฟฟี่
อ้างอิง
แก้- ↑ กฎกระทรวง จัดตั้งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ กระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. ๒๕๕๖, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๐ ตอนที่ ๓๗ ก หน้า ๔ ๒๖ เมษายน ๒๕๕๖
- ↑ ข้อมูลอ้างอิงบางส่วนจาก วารสาร 84 ปี ราตรีเพาะช่าง ปี 2547 ปี 2540
- ↑ ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การเปลี่ยนชื่อสถานศึกษาและจัดตั้งเป็นวิทยาเขต, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๕ ตอนที่ ๖ หน้า ๑๓ ๑๗ มกราคม ๒๕๒๑
- ↑ [http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9500000005465&Keyword= "วิรุณ" สวดยับเปลี่ยนชื่อ "ร.ร.เพาะช่าง" หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ][ลิงก์เสีย], Manager Online 16 มกราคม 2550 11:31 น.
- ↑ "เพาะช่าง" ถูกลบชื่อ ศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน ลุกฮือค้าน เก็บถาวร 2007-07-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Metro Life – Manager Online 14 มกราคม 2550 15:18 น.
- ↑ กฎกระทรวง จัดตั้งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ กระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. ๒๕๕๐, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๔ ตอนที่ ๕๔ ก หน้า ๑๘ ๑๔ กันยายน ๒๕๕๐
ดูเพิ่ม
แก้หนังสือและบทความ
แก้- ชาตรี ประกิตนนทการ. (2560). ประวัติศาสตร์โรงเรียนสถาปัตยกรรมยุคแรก: การออกแบบสถานะและช่วงชั้นสถาปนิกในสังคมสมัยใหม่. ใน ความ(ไม่)เป็นสมัยใหม่: ความเปลี่ยนแปลงและย้อนแย้งของไทย. บรรณาธิการโดย ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ. น. 205-46. กรุงเทพฯ: สยามปริทัศน์.
เว็บไซต์
แก้แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- เว็บไซต์วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ เก็บถาวร 2014-01-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- เฟซบุ๊กวิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์
- ภาพถ่ายทางอากาศของ วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์
- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์