ประหยัด พงษ์ดำ
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ประหยัด พงษ์ดำ (28 ตุลาคม พ.ศ. 2477 - 19 กันยายน พ.ศ. 2557) ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติจากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติเป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ภาพพิมพ์) ประจำปี พ.ศ. 2541 เป็นอดีตคณบดีคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และเป็นศิลปินชั้นเยี่ยมในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ
![]() | |
เกิด | 28 ตุลาคม พ.ศ. 2477 อำเภอเมืองสิงห์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี |
เสียชีวิต | 19 กันยายน พ.ศ. 2557 (79 ปี) กรุงเทพมหานคร |
ตำแหน่ง | ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ภาพพิมพ์) พ.ศ. 2541 |
คู่สมรส | นางประภาศรี พงษ์ดำ |
บุพการี |
|
หมวดหมู่:ศิลปินแห่งชาติ |
ประวัติ
แก้ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ประหยัด พงษ์ดำ เป็นบุตรของนายสายบัว และนางเป้ พงษ์ดำ เกิดเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2477 ที่ตำบลโพกรวม อำเภอเมือง จังหวัดสิงห์บุรี ได้รับการศึกษาในระดับประถม ที่โรงเรียนประชาบาลวัดกุฎีทอง จากนั้นได้เข้าศึกษาต่อในระดับมัธยมที่โรงเรียนนาคประดิษฐ์วิทยา และโรงเรียนสิงหวัฒนาพาหะ ตามลำดับ
ความสนใจในศิลปะของท่านนั้นมีมาตั้งแต่เยาว์วัย โดยท่านชอบวาดรูปเล่นเสมอ ๆ ในยามว่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งรูปสัตว์ต่างๆ ดังนั้น ท่านจึงให้ความสนใจกับวิชาศิลปะที่โรงเรียนมากเป็นพิเศษ ซึ่งส่งผลให้ท่านมีพื้นฐานทางศิลปะที่มั่นคง และสามารถสอบเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนเพาะช่างได้เมื่อจบการศึกษาในระดับมัธยม ท่านได้ศึกษาอยู่ที่โรงเรียนเพาะช่างเป็นเวลา 2 ปี ก็สามารถสอบเข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยศิลปากรได้
การเรียนของท่านดำเนินไปด้วยดีจนได้รับความไว้วางใจจาก ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี ให้ช่วยสอนวิชาพื้นฐานทางศิลปะในขณะที่ท่านยังศึกษาอยู่ในชั้นปีที่ 10 และเมื่อท่านจบการศึกษาแล้ว ท่านก็ได้รับการบรรจุเข้ารับราชการเป็นอาจารย์ประจำที่มหาวิทยาลัยศิลปากร
ท่านได้ทำงานสอนอยู่ระยะหนึ่งก็สามารถสอบชิงทุนไปศึกษาศิลปะที่ประเทศอิตาลีได้ ด้วยพื้นฐานอันมั่นคงที่ได้รับมาเมื่อยังศึกษาอยู่ที่เมืองไทย และความสามารถเฉพาะตัวในเชิงศิลปะ ตลอดจนผลงานอันโดดเด่นที่เป็นประจักษ์ของคณาจารย์ที่นั่น ศาสตราจารย์เกียรติคุณประหยัด พงษ์ดำ จึงได้รับการยกเว้นไม่ต้องเริ่มเรียนในชั้นปีที่ 1 และ 2 เหมือนคนอื่น แต่ให้ข้ามไปเรียนในชั้นปีที่ 3 เลย ยิ่งไปกว่านั้น ระหว่างการศึกษาท่านได้สร้างความประทับใจ เป็นที่ชื่นชมแก่คณาจารย์เป็นอย่างยิ่ง โดยสามารถทำคะแนนสอบวิชาศิลปะดีเด่นและมีผลงานจำนวนมากที่ได้รับรางวัล ท่านสำเร็จการศึกษาและเดินทางกลับมารับราชการเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยศิลปากรดังเดิม เมื่อ พ.ศ. 2504
หน้าที่การงานของท่านเจริญก้าวหน้ามาโดยลำดับ โดยได้ดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ ในคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ ตั้งแต่หัวหน้าภาควิชาศิลปะภาพพิมพ์ จนถึงตำแหน่งคณบดี และได้รับการแต่งตั้งให้เป็น ศาสตราจารย์ ระดับ 10 นอกเหนือจากงานสอนศิลปะ อันเป็นงานหลักแล้ว ศาสตราจารย์เกียรติคุณประหยัด พงษ์ดำ ยังได้เป็นกรรมการและอนุกรรมการในทางวิชาการของทั้งภายในมหาวิทยาลัยศิลปากร และสถาบันการศึกษาอื่นๆ อีกหลายแห่ง เป็นประธานกรรมการและกรรมการตัดสินการประกวดศิลปกรรมที่สถาบันต่าง ๆ จัดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในทางศิลปะของภาครัฐและเอกชนหลายคณะ และเป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาศิลปะภาพพิมพ์ในสถาบันการศึกษาอีกหลายแห่ง
ศาสตราจารย์เกียรติคุณประหยัด พงษ์ดำ เกษียณอายุราชการเมื่อ พ.ศ. 2538 ถึงแม้ท่านจะเกษียณอายุราชการไปแล้ว แต่ยังคงได้รับเชิญเป็นอาจารย์พิเศษสอนที่คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากรต่อมาอีก นอกเหนือจากงานทางวิชาการที่กล่าวมาแล้ว ท่านยังมีผลงานภาพพิมพ์และงานจิตรกรรม อีกทั้งท่านยังเป็นผู้บุกเบิกคนสำคัญในการพัฒนาการออกแบบแสตมป์ไทยให้ทันสมัยเป็นสากล โดยการนำเอกลักษณ์ของไทยที่มีแบบอย่างในทางศิลปวัฒนธรรมที่งดงามมาออกแบบเป็นดวงแสตมป์ ที่ได้ใช้ติดจดหมายและไปรษณียภัณฑ์ไปยังทั่วทุกมุมโลก อันเป็นการเผยแพร่เอกลักษณ์อันดีงามของชาติไทยอีกวิธีหนึ่งด้วย ศาสตราจารย์เกียรติคุณประหยัด พงษ์ดำ เคยจัดงานแสดงผลงานหลายครั้งทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
งานที่ภาคภูมิใจที่สุดงานหนึ่งในชีวิตของศาสตราจารย์เกียรติคุณประหยัด พงษ์ดำ คือการที่ได้รับใช้เบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เขียนภาพประกอบในหนังสือพระมหาชนก หลังจากนั้น ท่านก็ยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้ออกแบบลวดลายพื้นและเขียนภาพเพดานพระอุโบสถใหม่ วัดโสธรวรารามวรวิหาร จังหวัดฉะเชิงเทรา และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถวัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก ร่วมกับศาสตราจารย์เกียรติคุณปรีชา เถาทอง อีกด้วย
ศาสตราจารย์เกียรติคุณประหยัด พงษ์ดำ ได้รับเลือกเป็นศิลปินเกียรติยศ สาขาภาพพิมพ์ จากสถาบันศิลปะกรุงฟลอเรนส์ อิตาลี โดยรัฐบาลอิตาลี เมื่อ พ.ศ. 2506 ได้รับเกียรติให้เป็นศิลปินชั้นเยี่ยม ในการประกวดศิลปกรรมแห่งชาติในประเทศไทย และได้รับการเชิดชูเกียรติให้เป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
ศาสตราจารย์เกียรติคุณประหยัด พงษ์ดำ ได้รับการยกย่องว่าเป็นทั้งครูผู้ประสิทธิ์ประสาทความรู้แก่ศิษย์ด้วยความเสียสละ ด้วยวิญญาณแห่งความเป็นครูอย่างแท้จริง และเป็นศิลปินที่มีความสามารถเป็นที่ยอมรับของวงการศิลปะทั้งระดับชาติและระดับสากล อีกทั้งยังอุทิศตนทำงานเพื่อวงการศิลปะและสังคมอย่างสม่ำเสมอ ท่านจึงได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ภาพพิมพ์) พ.ศ. 2541
การศึกษา
แก้- พ.ศ. 2491 - สำเร็จสำเร็จชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จาก โรงเรียนนาคประดิษฐ์วิทยา อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี
- พ.ศ. 2492 - สำเร็จชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนสิงห์บุรี
- พ.ศ. 2494 - โรงเรียนเพาะช่าง
- พ.ศ. 2500 - ปริญญาตรีศิลปบัณฑิต (สาขาจิตรกรรม) มหาวิทยาลัยศิลปากร
- พ.ศ. 2504 - Diploma of Fine Arts จาก L’Accademia di Belle Arti di Roma กรุงโรม ประเทศอิตาลี
การรับราชการ
แก้- พ.ศ. 2501 - คณะจิตรกรรมและประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร
- พ.ศ. 2505 - อาจารย์โท คณะจิตรกรรมและประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร
- พ.ศ. 2511 - อาจารย์เอก คณะจิตรกรรมและประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร
- พ.ศ. 2515 - ผู้ช่วยศาสตราจารย์ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
- พ.ศ. 2523 - คณบดีคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
- พ.ศ. 2524 - รองศาสตราจารย์ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
- พ.ศ. 2528 - ผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งหอศิลปมหาวิทยาลัยศิลปากร
- พ.ศ. 2536 - ศาสตราจารย์ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
- พ.ศ. 2539 - ศาสตราจารย์เกียรติคุณ มหาวิทยาลัยศิลปากร
งานด้านวิชาการ
แก้เป็นอาจารย์ประจำคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยสอนวิชาจิตรกรรม องค์ประกอบศิลป์ วาดเส้น ทฤษฎีศิลป์ ทัศนียวิทยา และกายวิภาควิทยา ปัจจุบัน สอนวิชาภาพพิมพ์
งานเขียนหนังสือ และตำรา
แก้ประหยัด พงษ์ดำ. กรรมวิธีสร้างแม่พิมพ์ผิวนูนภาพพิมพ์แกะไม้. กรุงเทพมหานคร: บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), พ.ศ. 2536, 168 หน้า
งานบริการวิชาการ
แก้- ประธาน อ.ก.ค. พิจารณาผลงานทางวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ
- อนุกรรมการบัญญัติศัพท์ศิลปะราชบัณฑิตยสถาน
- กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน
- กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของกรุงเทพมหานคร
- ศิษย์เก่าดีเด่นของสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตเพาะช่าง
- ศิษย์เก่าดีเด่นของสมาคมนักศึกษาเก่ามหาวิทยาลัยศิลปากร
กรรมการสภาต่าง ๆ
แก้- กรรมการ และประธานกรรมการ ตัดสินผลงานศิลปกรรมแห่งชาติ
- กรรมการตัดสินการประกวดดวงตราไปรษณียากรแห่งชาติ
- กรรมการ และประธานกรรมการ ตัดสินผลงานแสดงศิลปกรรม ปตท. (การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย)
- กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภามหาวิทยาลัยศิลปากร
- กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์
- กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต
- อนุกรรมการบัญญัติศัพท์ศิลปะ ราชบัณฑิตยสถาน
- ประธานคณะกรรมการดำเนินงาน กองทุนส่งเสริมการศึกษาการสร้างสรรค์ศิลปะ "มูลนิธิรัฐบุรุษ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์"
- ประธานอนุกรรมการคัดเลือกบุคคลเพื่อเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
- ประธานคณะทำงานร่างต้นแบบและเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังพระพุทธรัตนสถานในพระบรมมหาราชวัง
- ประธานฝ่ายจิตรกรรมเขียนภาพประดับเพดาน และพื้นพระอุโบสถ วัดโสธรวรารามวรวิหาร (หลวงพ่อโสธร)
การแสดงงานศิลปะที่สำคัญ และรางวัลเกียรติยศ
แก้- พ.ศ. 2499 - รางวัลที่ 3 ประเภทจิตรกรรม การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 7
- พ.ศ. 2500 - รางวัลที่ 2 ประเภทจิตรกรรม การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 8
- พ.ศ. 2501 - รางวัลที่ 2 ประเภทเอกรงค์ การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 9, รางวัลที่ 3 ประเภทจิตรกรรม การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 9 และรางวัลที่ 3 ประเภทมัณฑนศิลป์ การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 9
- พ.ศ. 2502 - รางวัลภาพจิตรกรรมจากแคว้นบราซาโน ประเทศอิตาลี และรางวัลที่ 2 ประเภทเอกรงค์ การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 10
- พ.ศ. 2503 - รางวัลภาพจิตรกรรมจากแคว้นกูปิโอ ประเทศอิตาลี
- พ.ศ. 2504 - รางวัลภาพจิตรกรรมจากสถาบันศิลปะกรุงโรม ประเทศอิตาลี และรางวัลที่ 2 ประเภทภาพพิมพ์ การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 12
- พ.ศ. 2505 - รางวัลที่ 2 ประเภทภาพพิมพ์ การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 13 และรางวัลจิตรกรรมจากกรุงไซ่ง่อน ประเทศเวียดนาม
- พ.ศ. 2506 - รางวัลที่ 1 ประเภทภาพพิมพ์ การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 14 และรางวัลที่ 3 ประเภทเอกรงค์ การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 13
- พ.ศ. 2506 - ได้รับเลือกเป็นศิลปินเกียรติยศสาขาภาพพิมพ์ (Accademic Onorario Classe Incisione) โดยรัฐบาลอิตาลี จากสถาบันศิลปะกรุงฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี (L’Accademia Florentina delle Arti del Disegno)
- พ.ศ. 2507 - รางวัลที่ 2 ประเภทภาพพิมพ์ การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 15, รางวัลจิตรกรรม (ภาพพิมพ์) ประเทศยูโกสลาเวีย และรางวัลจิตรกรรม ประเทศบังคลาเทศ
- พ.ศ. 2524 - รางวัลที่ 1 ประเภทภาพพิมพ์ การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 27 และได้รับเกียรติเป็นศิลปินชั้นเยี่ยมในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ
- พ.ศ. 2539 - ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม สาขาทัศนศิลป์ จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
- พ.ศ. 2541 - ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ภาพพิมพ์)
- พ.ศ. 2543 - ศิลปดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ภาพพิมพ์) มหาวิทยาลัยศิลปากร
อนิจกรรม
แก้ศาสตราจารย์เกียรติคุณประหยัด พงษ์ดำ ถึงแก่อนิจกรรมอย่างสงบด้วยสาเหตุระบบหายใจและไหลเวียนโลหิตล้มเหลว ณ บ้านเลขที่ 237/1 ซอยเพชรเกษม 72 แขวงบางแคเหนือ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร เมื่อเวลาประมาณ 05.00 น. ของวันศุกร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2557 สิริรวมอายุ 79 ปี 326 วัน[1][2][3][4]
ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานโกศแปดเหลี่ยม พร้อมฉัตรเบญจาตั้งประกอบเกียรติยศ และพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ ศาสตราจารย์เกียรติคุณประหยัด พงษ์ดำ ณ ศาลา 1 (เตชะอิทธิพร) วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร เมื่อวันศุกร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2557 เวลา 19.00 น. และรับศพไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ พร้อมทั้งพระราชทานพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมศพ มีกำหนด 7 วัน ระหว่างวันที่ 19 ถึง 25 กันยายน พ.ศ. 2557 ทั้งยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพวงมาลาหลวง และพวงมาลาของพระบรมวงศานุวงศ์อีกด้วย[5]
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2558 ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้- พ.ศ. 2550 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)[6]
- พ.ศ. 2534 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)[7]
- พ.ศ. 2542 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นที่ 4 จตุตถดิเรกคุณาภรณ์ (จ.ภ.)[8]
- พ.ศ. 2528 – เหรียญจักรพรรดิมาลา (ร.จ.พ.)[9]
อ้างอิง
แก้- ส่งเสริมวัฒนธรรม,กรม. ศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช 2541. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้แอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), 2542.
- ส่งเสริมวัฒนธรรม, กรม. โครงการเปิดบ้านศิลปินแห่งชาติ : ศาสตราจารย์เกียรติคุณประหยัด พงษ์ดำ[10]
- ราชภัฏเทพสตรี, มหาวิทยาลัย. สารสนเทศท้องถิ่น : บุคคลจากจังหวัดสิงห์บุรี[11]
- ↑ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม, ข่าวสิ้นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ภาพพิมพ์) ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ประหยัด พงษ์ดำ[ลิงก์เสีย], 19 กันยายน พ.ศ. 2557, สืบค้นเมื่อ 21 กันยายน พ.ศ. 2557.
- ↑ ไทยรัฐออนไลน์, ข่าวอาลัยศิลปินแห่งชาติ 'ศ.ประหยัด พงษ์ดำ' เสียชีวิตแล้ว, 19 กันยายน พ.ศ. 2557, สืบค้นเมื่อ 21 กันยายน พ.ศ. 2557.
- ↑ โพสต์ทูเดย์ออนไลน์, ข่าวสิ้นศิลปินแห่งชาติอีกราย"ศ.ประหยัด พงษ์ดำ"[ลิงก์เสีย], 19 กันยายน พ.ศ. 2557, สืบค้นเมื่อ 21 กันยายน พ.ศ. 2557.
- ↑ แนวหน้าออนไลน์, ข่าว 'ประหยัด พงษ์ดำ' ศิลปินแห่งชาติ เสียชีวิตแล้วด้วยวัย 79 ปี, 19 กันยายน พ.ศ. 2557, สืบค้นเมื่อ 21 กันยายน พ.ศ. 2557.
- ↑ ไทยรัฐออนไลน์, ข่าวในหลวงพระราชทานโกศแปดเหลี่ยม บรมครูศิลปะ 'ประหยัด พงษ์ดำ', 19 กันยายน พ.ศ. 2557, สืบค้นเมื่อ 21 กันยายน พ.ศ. 2557.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก และเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2010-10-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๔ ตอนที่ ๑๘ ข หน้า ๗, ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๐๘ ตอนที่ ๒๐๘ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๙, ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๓๔
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์, เล่ม ๑๑๖ ตอนที่ ๒๑ ข หน้า ๒๓, ๒ ธันวาคม ๒๕๔๒
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา, เล่ม ๑๐๓ ตอนที่ ๕๘ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๓๓๔, ๑๔ เมษายน ๒๕๒๙
- ↑ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม, ประวัติและผลงาน ศาสตราจารย์เกียรติคุณประหยัด พงษ์ดำ เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 15 มีนาคม พ.ศ. 2557 สืบค้นเมื่อ 21 กันยายน พ.ศ. 2557.
- ↑ มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี, ประวัติศาสตราจารย์เกียรติคุณประหยัด พงษ์ดำ[ลิงก์เสีย] สืบค้นเมื่อ 21 กันยายน พ.ศ. 2557.