เฉลิม นาคีรักษ์

ศาสตราจารย์พิเศษ เฉลิม นาคีรักษ์ (21 กันยายน พ.ศ. 2460 – 2 ธันวาคม พ.ศ. 2545) เป็นศิลปินอาวุโสคนสำคัญด้านจิตรกรรมซึ่งเป็นที่ยอมรับนับถือในวงการศิลปะและศิลปศึกษาโดยทั่วไป

เฉลิม นาคีรักษ์

เฉลิม นาคีรักษ์ ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2530 สาขาจิตรกรรม
เฉลิม นาคีรักษ์ ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2530 สาขาจิตรกรรม
เกิด21 กันยายน พ.ศ. 2460
จังหวัดอุบลราชธานี ประเทศสยาม
เสียชีวิต2 ธันวาคม พ.ศ. 2545 (85 ปี)
อาชีพนักเขียน จิตรกร
สัญชาติไทย ไทย
ช่วงปีที่ทำงานพ.ศ. 2477 - 2545

ประวัติและการศึกษา แก้

เฉลิม นาคีรักษ์ เกิดเมื่อวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2460 ที่อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี มีผลงานดีเด่นทั้งในแบบศิลปะสมัยใหม่และศิลปะแบบประเพณีประยุกต์ ผลงานส่วนใหญ่เกี่ยวกับชีวิตและประเพณีไทยมีความยึดมั่นและศรัทธาในศิลปะได้สร้างสรรค์ผลงานต่อเนื่องกันมาเป็นเวลายาวนานเกือบ 50 ปี มีผลงานแพร่หลายทั้งในและต่างประเทศ เคยได้รับรางวัลในการประกวดศิลปกรรมหลายครั้งและหลายแห่ง ในด้านการถ่ายทอดวิชาความรู้ทางศิลปะนั้น เฉลิม นาคีรักษ์ ได้เป็นอาจารย์สอนวิชาศิลปะที่วิทยาลัยเพาะช่างเป็นเวลา 37 ปี มีศิษย์เป็นจำนวนมากทั่วประเทศ ได้รับราชการโดยตลอดมา จนได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการวิทยาลัยเพาะช่างและเป็นคณบดีคณะศิลปกรรมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา วิทยาเขตเพาะช่าง เมื่อเกษียณอายุราชการแล้ว ได้รับแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์พิเศษในสถาบันดังกล่าว เฉลิม นาคีรักษ์ ได้นำเอาผลงานศิลปะและวิชาการบริการแก่สังคมตลอดเวลาอันยาวนาน เป็นผู้บุกเบิกศิลปะยุคปัจจุบันคนสำคัญคนหนึ่ง นับเป็นศิลปินที่ดำรงชีพและสร้างสรรค์ผลงานศิลปะอันเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมด้วยจริยวัตรที่ดีงามและเป็นคนวาดรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเจ้าอยู่หัว

เฉลิม นาคีรักษ์ ได้รับการศึกษาจนจบระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนในจังหวัดบ้านเกิด ด้วยความที่เป็นผู้ที่มีความสนใจในทางศิลปะเป็นพิเศษมาตั้งแต่เด็ก ๆ จึงตัดสินใจเดินทางเข้ากรุงเทพเพื่อเข้าเรียนวิชาศิลปะที่โรงเรียนเพาะช่างเมื่อ พ.ศ. 2477 ได้ศึกษาอยู่เป็นเวลา 4 ปี จนสำเร็จจึงได้เข้าศึกษาต่อวิชาครูประถมที่โรงเรียนฝึกหัดครูประถมพระนครอีก 1 ปี จากนั้นก็ได้ไปเข้ารับการอบรมวิชาทฤษฎีศิลปะกับศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร อีก 6 เดือน ก่อนที่จะเข้ารับราชการในตำแหน่งครูจัตวา สอนศิลปะที่โรงเรียนเพาะช่างเมื่อ พ.ศ. 2483 ในระหว่างที่รับราชการ ท่านยังได้เคยมีโอกาสเดินทางไปดูงานด้านศิลปะที่ประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย ทำให้ท่านได้สั่งสมประสบการณ์อันเป็นประโยชน์แก่การนำกลับมาถ่ายทอดแก่ลูกศิษย์ลูกหาในเวลาต่อมา ท่านได้ทุ่มเทสติปัญญาความสามารถถ่ายทอดความรู้แก่ศิษย์อย่างเต็มที่ ทั้งยังได้ปฏิบัติงานศิลปะควบคู่กันไปโดยตลอด

ผลงานด้านศิลปะ แก้

 
ภาพเขียนของเฉลิม นาคีรักษ์

งานศิลปะของเฉลิม นาคีรักษ์ โดยหลักนั้นคืองานจิตรกรรม ซึ่งมีทั้งแนวสากลสมัยใหม่และแนวประเพณีประยุกต์ ส่วนเทคนิคที่ใช้มีทั้งสีน้ำมัน สีน้ำ สีฝุ่น และสีพลาสติก ส่วนเนื้อหาและเรื่องราวที่เขียนนั้นมีหลากหลาย ตั้งแต่ภาพหุ่นนิ่ง ภาพทิวทัศน์ ภาพบุคคล และภาพเกี่ยวกับประเพณีและวัฒนธรรมไทย ซึ่งผลงานเหล่านี้ล้วนเป็นผลงานที่ดีเด่นเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป ผลงานสำคัญที่ได้สร้างสรรค์ไว้ได้แก่พระบรมสาทิศลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ตลอดจนพระมหากษัตริย์และเจ้านายในราชวงศ์จักรีอีกหลายพระองค์ ซึ่งประดิษฐานไว้ในสถานที่สำคัญต่าง ๆ หลายแห่ง ด้านการเขียนภาพสีน้ำ ก็เป็นงานที่ท่านรักและทำได้ดีเป็นพิเศษ จนได้รับคำชมเชยจากศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี งานประเภทนี้ส่วนใหญ่จะเป็นภาพทิวทัศน์ที่ต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ท่านได้เดินทางไปพบเห็นและเกิดความประทับใจ

ส่วนผลงานแนวประเพณีประยุกต์นั้น นับเป็นผลงานดีเด่นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ผลงานเหล่านี้นอกจากจะสามารถถ่ายทอดชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านในชนบทได้เป็นอย่างดีแล้ว ยังให้ความรู้สึกของความสดใสสนุกสนาน มีรายละเอียดที่ซับซ้อนน่าสนใจไปทั่วทุกตารางนิ้วของผลงาน อันเกิดจากการรวมตัวกันของแนวความคิดสร้างสรรค์ องค์ประกอบทางศิลปะ และฝีมือชั้นครูด้วย

เฉลิม นาคีรักษ์ ได้จัดแสดงผลงานเดี่ยว และส่งผลงานร่วมแสดงในงานแสดงผลงานศิลปะหลายครั้งทั้งในประเทศและต่างประเทศตั้งแต่ พ.ศ. 2483 ต่อเนื่องเรื่อยมาและได้รับรางวัลเกียรติคุณหลายครั้งอาทิ ได้รับรางวัลจิตรกรรม จากงานประกวดศิลปะในงานฉลองรัฐธรรมนูญ และได้รับรางวัลในการประกวดผลงานศิลปกรรมซึ่งจัดโดยกระทรวงวัฒนธรรมแห่งชาติในสมัยที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี

ความประทับที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเฉลิม นาคีรักษ์ คือการที่ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในโอกาสสำคัญ 2 โอกาส ๆ แรกเข้าเฝ้าฯพร้อมคณะศิลปินเมื่อ พ.ศ. 2506 เพื่อเขียนภาพถวายให้ทอดพระเนตร และได้ร่วมโต๊ะเสวยด้วย ส่วนครั้งที่ 2 ได้ร่วมคณะไปกับอธิบดีกรมศิลปากรและอาจารย์มหาวิทยาลัยศิลปากรอีกหลายท่าน เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อถวายคำวิจารณ์ผลงานจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ที่ทรงไว้ อันเป็นโอกาสสำคัญซึ่งท่านถือว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณและเป็นสิริมงคลสูงสุด

เฉลิม นาคีรักษ์ ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ประจำปี พ.ศ. 2531

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้

อ้างอิง แก้

  1. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๙ ตอนที่ ๑๕๔ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๖๐, ๔ ธันวาคม ๒๕๓๕
  2. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-07-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๙๕ ตอนที่ ๖๓ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๕๗๑, ๑๕ มิถุนายน ๒๕๒๑
  3. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา[ลิงก์เสีย], เล่ม ๘๒ ตอนที่ ๑๑๑ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๘๒๕, ๒๓ ธันวาคม ๒๕๐๘

แหล่งข้อมูลอื่น แก้