ตระกูลภาษาออสโตรนีเซียน
ตระกูลภาษาออสโตรนีเซียน (อังกฤษ: Austronesian languages) เป็นตระกูลภาษาที่มีผู้พูดกระจายไปทั่วหมู่เกาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และมหาสมุทรแปซิฟิก มีจำนวนน้อยบนผืนแผ่นดินของทวีปเอเชีย อยู่ในระดับมาตรฐานเดียวกับตระกูลภาษาอินโด-ยูโรเปียนและตระกูลภาษายูรัลคือสามารถสืบหาภาษาดั้งเดิมของตระกูลได้
ตระกูลภาษาออสโตรนีเซียน | |
---|---|
กลุ่มเชื้อชาติ: | ชาวออสโตรนีเชียน |
ภูมิภาค: | เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นสมุทร, มาดากัสการ์ และส่วนของอินโดจีน, โอเชียเนีย, ศรีลังกา, ไต้หวัน และมณฑลไหหลำ |
การจําแนก ทางภาษาศาสตร์: | หนึ่งในตระกูลของภาษาหลักของโลก |
ภาษาดั้งเดิม: | ออสโตรนีเซียนดั้งเดิม |
กลุ่มย่อย: |
|
ISO 639-2 / 5: | map |
กลอตโตลอก: | aust1307[1] |
ภาพบริเวณที่มีตระกูลภาษาออสโตรนีเซียน |
คำว่าออสโตรนีเซียนมาจากภาษาละติน austro (ลมใต้) รวมกับคำภาษากรีก nesos (เกาะ) ตระกูลภาษานี้ได้ชื่อนี้ เพราะส่วนมากใช้พูดในบริเวณหมู่เกาะ มีเพียงไม่กี่ภาษา เช่น ภาษามลายู ภาษาจาม ที่ใช้พูดบนผืนแผ่นดิน สมาชิกของตระกูลนี้มีถึง 1,268 ภาษา หรือประมาณ 1 ใน 5 ของภาษาที่รู้จักกันทั่วโลก การแพร่กระจายจากแหล่งกำเนิดของภาษาถือว่ากว้างไกล เริ่มตั้งแต่เกาะมาดากัสการ์ ไปจนถึงเกาะทางตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิก ภาษาราปานูอี ภาษามาลากาซี และ ภาษาฮาวาย เป็นภาษาที่ใช้พูดตามรอบนอกของขอบเขตที่มีการใช้ภาษาตระกูลนี้
ภาษาตระกูลนี้มีสาขามากมาย ส่วนมากพบในไต้หวัน ภาษากลุ่มเกาะฟอร์โมซาในไต้หวันเป็นสาขาหลักของภาษาในตระกูลนี้ มีถึง 9 สาขา ภาษาที่ใช้พูดนอกเกาะฟอร์โมซาทั้งหมด อยู่ในภาษากลุ่มมาลาโย-โพลีเนเซีย ซึ่งบางครั้งเรรียกว่าภาษานอกเกาะฟอร์โมซา
แหล่งกำเนิด
แก้ประวัติศาสตร์เริ่มต้นของกลุ่มชนที่พูดภาษาออสโตรนีเซียนย้อนกลับไปเมื่อครั้งยังเป็นภาษาออสโตรนีเซียนดั้งเดิม จุดเริ่มต้นของภาษานี้อยู่ในไต้หวัน เพราะบนเกาะนี้มีความแตกต่างของภาษาตระกูลนี้มาก โดยมีถึง 9 จากทั้งหมด 10 สาขา [2] ทั้งนี้นักภาษาศาสตร์ถือว่า จุดกำเนิดของภาษาจะอยู่ในที่ ๆ มีความแตกต่างของภาษากลุ่มนั้น ๆ มาก [3]
การศึกษาจุดเริ่มต้นของกลุ่มชนที่พูดภาษาตระกูลออสโตรนีเซียนโดยใช้หลักฐานทางพันธุศาสตร์พบว่าจุดกำเนิดนั้นน่าจะอยู่ในผืนแผ่นดินของทวีปเอเชีย หลักฐานทางโบราณคดีระบุว่า ผู้พูดภาษานี้อพยพไปจากจีนตอนใต้ ไปสู่ไต้หวันเมื่อราว 8,000 ปีมาแล้ว จากนั้นจึงอพยพออกทางเรือไปยังหมู่เกาะต่าง ๆ เมื่อราว 6,000 ปีมาแล้ว กระนั้นก็ตาม ยังมีช่องว่างในช่วงเวลาดังกล่าวอยู่เพราะนักภาษาศาสตร์พบว่าข้อมูลเกี่ยวกับภาษาออสโตรนีเซียนดั้งเดิมยุติแค่ชายฝั่งตะวันตกของไต้หวัน แต่ไม่มีความเชื่อมโยงกับภาษาบนแผ่นดินใหญ่ยกเว้นภาษากลุ่มจาม แต่ก็มีหลักฐานว่าเป็นภาษาของผู้อพยพเข้าไปใหม่
ความสัมพันธ์กับระยะทาง
แก้ได้มีการศึกษาเพื่อเชื่อมโยงตระกูลภาษาออสโตรนีเซียนเข้ากับภาษาตระกูลอื่นๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สมมติฐานที่ดูสอดคล้องที่สุดคือสมมติฐานออสโตร-ไท ซึ่งเชื่อมโยงตระกูลภาษาออสโตรนีเซียนเข้ากับตระกูลภาษาขร้า-ไท Roger Blench (2004) [4] เสนอว่าตระกูลภาษาขร้า-ไทอาจเป็นสาขาของภาษากลุ่มบอร์เนียว-ฟิลิปปินส์ แต่ยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากนักภาษาศาสตร์มากนัก
นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอว่าภาษาญี่ปุ่นอาจมีความเกี่ยวพันกับภาษาตระกูลออสโตรนีเซียน โดยได้รับอิทธิพลจากภาษาตระกูลนี้ โดยผู้ที่เสนอทฤษฎีนี้กล่าวว่าภาษาตระกูลออสโตรนีเซียนเคยครอบคลุมทางเหนือของเกาะฟอร์โมซา (ทางตะวันตกของญี่ปุ่น เช่นหมู่เกาะริวกิว และคิวชู) เช่นเดียวกับทางใต้ ไม่มีหลักฐานทางพันธุศาสตร์แสดงถึงความเกี่ยวพันระหว่างผู้พูดภาษาญี่ปุ่นกับผู้พูดภาษาตระกูลออสโตรนีเซียน เว้นแต่จะมีการติดต่อในยุคก่อนประวัติศาสตร์ระหว่างผู้พูดภาษาญี่ปุ่นโบราณกับผู้พูดภาษาออสโตรนีเซียนดั้งเดิม ซึ่งน่าจะเป็นการติดต่อสัมพันธ์กันธรรมดาที่ไม่มีผลต่อการหลอมรวมทางวัฒนธรรม การวิเคราะห์ทางพันธุศาสตร์ของชาวริวกิว เทียบกับชาวญี่ปุ่นและชาวพื้นเมืองของไต้หวัน พบว่าใกล้เคียงกับชาวญี่ปุ่นมากกว่า ดังนั้น หากจะมีการเกี่ยวข้องกันจริง จะต้องเกิดในจีนแผ่นดินใหญ่ก่อนที่ผู้พูดภาษาออสโตรนีเซียนจะอพยพไปไต้หวัน และผู้พูดภาษาญี่ปุ่นจะอพยพไปญี่ปุ่น
โครงสร้าง
แก้การกำหนดลักษณะทั่วไปของตระกูลภาษาออสโตรนีเซียนทำได้ยากเพราะเป็นตระกูลที่กว้างมาก และมีความหลากหลาย โดยทั่วไปแบ่งได้เป็นสามกลุ่มย่อยคือ [5]
- ภาษาแบบฟิลิปปินส์ เรียงประโยคโดยให้คำกริยามาก่อน และมีการกำหนดจุดเน้นของกริยา
- ภาษาแบบอินโดนีเซีย
- ภาษาแบบหลังอินโดนีเซีย
ภาษาตระกูลนี้มีแนวโน้มจะใช้การซ้ำคำ เป็นภาษารูปคำติดต่อ พยางค์เป็นแบบพยัญชนะ-สระ
การนับเลข
แก้เปรียบเทียบการนับเลขของภาษาต่างๆในตระกูลนี้ได้ดังนี้
ภาษา | 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 |
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
ภาษาออสโตรนีเซียนดั้งเดิม | *esa/isa | *duSa | *telu | *Sepat | * lima | *enem | *pitu | *walu | *Siwa | *sa-puluq |
ภาษาไปวัน | ita | dusa | celu | sepac | lima | unem | picu | alu | siva | ta-puluq |
ภาษาตากาล็อก | isá | dalawá | tatló | ápat | limá | ánim | pitó | waló | siyám | sampû |
ภาษามังยัน | Isa' | rueh | telo | epat | dime | enem | pitu | Balu' | suei | sapuluh |
ภาษามาลากาซี | iráy | róa | télo | éfatra | dímy | énina | fíto | válo | sívy | fólo |
ภาษาอาเจะฮ์ | sa | duwa | lhee | peuet | limöng | nam | tujôh | lapan | sikureueng | plôh |
ภาษาบาตักโตบา | sada | duwa | tolu | opat | lima | onom | pitu | uwalu | sia | sampulu |
ภาษาบาหลี | sa | dua | telu | empat | lima | enem | pitu | akutus | sia | dasa |
ภาษาซาซัก | esa | due | telu | empat | lime | enem | pitu’ | balu’ | siwa’ | sepulu |
ภาษาชวา กูนา | sa | rwa | telu | pat | lima | nem | pitu | wwalu | sanga | sapuluh |
ภาษาชวา | siji | loro | telu | papat | lima | nem | pitu | wolu | sanga | sepuluh |
ภาษาซุนดา | hiji | dua | tilu | opat | lima | genep | tujuh | dalapan | salapan | sapuluh |
ภาษามาดูรา | settong | dhua | tello' | émpa' | léma' | énném | pétto' | ballu' | sanga' | sapolo |
ภาษามลายู | satu | dua | tiga | empat | lima | enam | tujuh | lapan | sembilan | sepuluh |
ภาษามีนังกาเบา | ciék | duo | tigo | ampék | limo | anam | tujuah | dalapan | sambilan | puluah |
ภาษาราปานูอี | tahi | rua | toru | ha | rima | ono | hitu | va'u | iva | 'ahuru |
ภาษาฮาวาย | `ekahi | `elua | `ekolu | `eha: | `elima | `eono | `ehiku | `ewalu | `eiwa | `umi |
ภาษาหลัก
แก้ภาษาในตระกูลนี้ที่มีผู้พูดมากกว่า 4 ล้านคนได้แก่ ภาษาชวา ภาษามลายู ภาษาซุนดา ภาษาตากาล็อก ภาษาเซบัวโน ภาษามาลากาซี ภาษามาดูรา ภาษาอีโลกาโน ภาษาฮิลิกายนอน ภาษามินังกาเบา ภาษาบาตัก ภาษาบิโกล ภาษาบันจาร์ ภาษาบาหลี
ภาษาในกลุ่มนี้ที่เป็นภาษาราชการได้แก่ ภาษาอินโดนีเซีย (ประเทศอินโดนีเซีย) ภาษาตากาล็อก (หรือภาษาฟิลิปิโน ประเทศฟิลิปปินส์) ภาษามลายู (มาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไน) ภาษามาลากาซี (มาดากัสการ์) ภาษาเตตุน (ติมอร์-เลสเต) ภาษาฟิจิ (ฟิจิ) ภาษาซามัว (ซามัว) ภาษาตาฮีตี (เฟรนช์โปลินีเซีย) ภาษาตองงา (ตองงา) ภาษากิลเบิร์ต (คิริบาส) ภาษามาวรี (นิวซีแลนด์) ภาษาชามอร์โร (กวมและหมู่เกาะนอร์เทิร์นมาเรียนา) ภาษามาร์แชลล์ (หมู่เกาะมาร์แชลล์) ภาษานาอูรู (นาอูรู) ภาษาฮาวาย (รัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา)
อ้างอิง
แก้- ↑ Nordhoff, Sebastian; Hammarström, Harald; Forkel, Robert; Haspelmath, Martin, บ.ก. (2013). "Austronesian". Glottolog 2.2. Leipzig: Max Planck Institute for Evolutionary Anthropology.
- ↑ Blust, R. (1999). "Subgrouping, circularity and extinction: some issues in Austronesian comparative linguistics" in E. Zeitoun & P.J.K Li (Ed.) 'Selected papers from the Eighth International Conference on Austronesian Linguistics' (pp. 31-94). Taipei: Academia Sinica
- ↑ Sapir, Edward. (1968). Time perspective in aboriginal American culture: a study in method. In Selected writings of Edward Sapir in language, culture and personality (D.G. Mandelbaum ed.), 389- 467. Berkeley: University of California Press.
- ↑ Blench, Roger (2004). Stratification in the peopling of China: how far does the linguistic evidence match genetics and archaeology? (PDF) Paper for the Symposium : Human migrations in continental East Asia and Taiwan: genetic, linguistic and archaeological evidence. Geneva, June 10-13.
- ↑ Ross, 2002