พิเชษฐ สถิรชวาล

(เปลี่ยนทางจาก พิเชษฐ์ สถิรชวาล)

พิเชษฐ อับดุรฺรอชีด สถิรชวาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ[1]พรรคพลังประชารัฐ[2] อดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีทำหน้าที่ผู้แทนการค้าไทย อดีตแกนนำพรรคเพื่อไทย เป็นอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมและอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในรัฐบาล ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และอดีตผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธรรมไทย

พิเชษฐ สถิรชวาล
ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี
ทำหน้าที่ผู้แทนการค้าไทย
ดำรงตำแหน่ง
30 สิงหาคม พ.ศ. 2554 – 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557
นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
ดำรงตำแหน่ง
17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 – 3 ตุลาคม พ.ศ. 2545
นายกรัฐมนตรีดร. ทักษิณ ชินวัตร
ก่อนหน้าวุฒิชัย สงวนวงศ์ชัย
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
ดำรงตำแหน่ง
3 ตุลาคม พ.ศ. 2545 – สิงหาคม พ.ศ. 2546
นายกรัฐมนตรีดร. ทักษิณ ชินวัตร
ก่อนหน้าประชา มาลีนนท์,
นิกร จำนง
ถัดไปวิเชษฐ์ เกษมทองศรี,
นิกร จำนง
เลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย
ดำรงตำแหน่ง
พ.ศ. 2549 – 29 กันยายน พ.ศ. 2553
ก่อนหน้าเด่น โต๊ะมีนา
ถัดไปพล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด8 ธันวาคม พ.ศ. 2485 (81 ปี)
อำเภอบ้านแหลม
จังหวัดเพชรบุรี
ประเทศไทย
ศาสนาอิสลาม
พรรคการเมืองกิจสังคม (2519 - 2538)
ชาติไทย (2538)
ความหวังใหม่ (2539-2544)
ไทยรักไทย (2544 - 2549)
สันติภาพไทย (2549 - 2550)
รวมใจไทยชาติพัฒนา (2550 - 2551)
เพื่อไทย (2551 - 2561)
ประชาธรรมไทย (2561 - 2564)
พลังประชารัฐ​ (2564 -​ 2566)
เปลี่ยน (2566)
ไทยศรีวิไลย์ (2566 - ปัจจุบัน)
คู่สมรสนางสุรีย์ สถิรชวาล

พิเชษฐ มีบทบาททางการเมืองในปี 2565 โดยถูกกล่าวถึงในฐานะหัวหน้ากลุ่ม 16[3]

ประวัติ แก้

พิเชษฐ สถิรชวาล เกิดเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2485 ที่อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ศึกษาในระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนประจำจังหวัดเพชรบุรีและในระดับหลักสูตรอาชีวศึกษาโรงเรียนพณิชยการตั้งตรงจิต จากนั้นจึงศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีที่แคลิฟอร์เนีย คอลเลจ ออฟ คอมเมอร์ซ สหรัฐอเมริกา และในระดับปริญญาโทบริหารธุรกิจที่มหาวิทยาลัยปาล์มบีช ฟลอริดา สหรัฐอเมริกา[4]

สมรสกับนางสุรีย์ สถิรชวาล (สกุลเดิม นภากร น้องสาวนายทวี นภากร อิหม่ามศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย) ขณะกำลังศึกษาที่สหรัฐอเมริกาด้วยกัน แต่เดิมนายพิเชษฐนับถือศาสนาพุทธ ภายหลังจึงเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามตามภรรยา

การทำงาน แก้

เริ่มทำงานปี 2508 ที่ธนาคารไทยทนุ จำกัด ก่อนจะลาออกเมื่อปี 2511 เพื่อไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา หลังจากสำเร็จการศึกษาแล้วก็เข้าทำงานในภาครัฐกระทั่งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2527 ซึ่งขณะดำรงตำแหน่งได้ริเริ่มนำคอมพิวเตอร์มาใช้ใน ขสมก.และกลยุทธ์ขึ้นค่าโดยสารด้วยการปรับเปลี่ยนสีตัวรถของรถเมล์ ขสมก.จากสีครีม-น้ำเงินเป็นสีครีม-แดง เพื่อใช้เป็นข้ออ้างในปรับขึ้นค่าโดยสาร หลังจากนั้นได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม ตั้งแต่ปี 2531-2538[4]

การเมือง แก้

ใน พ.ศ. 2518 ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคกิจสังคมและใน พ.ศ. 2519 ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลพบุรีในนามพรรคกิจสังคมแต่ก็ไม่ได้รับเลือก ต่อมาในปี พ.ศ. 2538 ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเพชรบุรีในนามพรรคชาติไทยแต่ก็ไม่ได้รับเลือกอีก จนกระทั่งในการเลือกตั้งวันที่ 17 พฤศจิกายน 2539 ก็ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเพชรบุรี พรรคความหวังใหม่

พิเชษฐ สถิรชวาล เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคความหวังใหม่[5] และได้รับโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในรัฐบาลพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตรในโควตาพรรคความหวังใหม่ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2544 และต่อมาหลังจากมีการยุบพรรคความหวังใหม่รวมกับพรรคไทยรักไทยและการปฏิรูปกระทรวง ทบวง กรมในปี 2545 ก็ได้รับโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการการกระทรวงคมนาคมในวันที่ 3 ตุลาคม 2545[6]

ในเดือนสิงหาคม 2546 ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยให้พิเชษฐพ้นจากความเป็นรัฐมนตรีเนื่องจากจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จ รวมถึงห้ามไม่ให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี[7] โดยช่วงเวลาห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้เปลี่ยนการนับถือศาสนาพุทธเป็นศาสนาอิสลาม จากนั้นจึงผันตัวเองไปทำงานด้านกิจการศาสนาอิสลามในตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย

หลังจากพ้นช่วงเวลาการห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็ได้จัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นโดยมีชื่อว่าพรรคสันติภาพไทยซึ่งเป็นพรรคการเมืองแนวมุสลิม[8] โดยพิเชษฐดำรงตำแหน่งประธานที่ปรึกษาพรรค อย่างไรก็ตามนายสมัคร สุนทรเวชหัวหน้าพรรคพลังประชาชน ในขณะนั้นได้เชิญพรรคสันติภาพไทยเข้าร่วมกับพรรคพลังประชาชน[9] ต่อมาสมาชิกพรรคสันติภาพไทยได้ตั้งกลุ่มการเมืองชื่อกลุ่มสันติภาพไทยซึ่งพิเชษฐเป็นประธานที่ปรึกษากลุ่มแล้วเข้าสังกัดพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา[10]โดยที่ไม่ได้เข้าสังกัดพรรคพลังประชาชน อย่างไรก็ตามในการเลือกตั้งวันที่ 23 ธันวาคม 2550 กลุ่มสันติภาพไทยไม่ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ยุบพรรคพลังประชาชนทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคพลังประชาชนเดิมเข้าสังกัดพรรคเพื่อไทย ซึ่งต่อมาพิเชษฐก็เข้าสังกัดพรรคเพื่อไทยโดยได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานภาคใต้พรรคเพื่อไทย ต่อมาเมื่อพลเอกชวลิต ยงใจยุทธเข้าสมัครเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยและได้รับแต่งตั้งเป็นประธานพรรคและประธานภาคใต้ของพรรคเพื่อไทยพลเอกชวลิตก็ได้แต่งตั้งพิเชษฐเป็นประธานโซนอันดามันพรรคเพื่อไทย[11]

ในปี พ.ศ. 2554 พิเชษฐได้รับการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีทำหน้าที่ผู้แทนการค้าไทยในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร[12]

ต่อมาพิเชษฐได้มายื่นจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ชื่อ พรรคประชาธรรมไทย[13] เมื่อวันศุกร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2561 ต่อ คณะกรรมการการเลือกตั้ง มีพิเชษฐเป็นหัวหน้าพรรค โดนชูนโยบายแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ [14] ในปี พ.ศ. 2564 เขาและกรรมการบริหารพรรค ได้ร่วมประชุมและมีมติยุบพรรคประชาธรรมไทย และย้ายเข้าสังกัดพรรคพลังประชารัฐ ในเวลาต่อมา

ในปี 2565 เขามีบทบาทสำคัญในฐานะหัวหน้ากลุ่ม 16 ซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สังกัดพรรคการเมืองขนาดเล็กในสภาผู้แทนราษฎรไทย ชุดที่ 25[15] และในปี 2566 เขาได้ย้ายไปร่วมงานกับพรรคเปลี่ยน[16] ก่อนจะย้ายไปพรรคไทยศรีวิไลย์ ในเวลาต่อมา[17]

การศาสนา แก้

ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พิเชษฐได้กำกับดูแลบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งจุฬาราชมนตรีก็ได้แต่งตั้งพิเชษฐเป็นที่ปรึกษาเพื่ออำนวยความสะดวกในการช่วยเหลือผู้ที่เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ประเทศซาอุดิอาระเบีย ทำให้พิเชษฐเริ่มมีความสัมพันธ์กับผู้นำศาสนาอิสลามในประเทศไทย

เมื่อถูกห้ามไม่ให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิเชษฐก็ได้ผันตัวเองมาทำงานศาสนาอิสลามด้วยการสมัครเป็นกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเพชรบุรีและได้รับเลือกเป็นกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเพชรบุรี จากนั้นกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเพชรบุรีก็เลือกให้พิเชษฐเป็นผู้แทนในคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เมื่อได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย แล้วคณะกรรมการก็มีมติให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย

หลังจากได้รับเลือกเป็นเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย นายสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์จุฬาราชมนตรี (ในขณะนั้น) ก็ได้เสนอชื่อให้พิเชษฐเป็นประธานจัดงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย ฮิจเราะห์ศักราช 1427 ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย รวมถึงได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนฮัจญ์ทางการไทย (อะมีรุลฮัจญ์)[18]อีกด้วย

อย่างไรก็ดีหลังจากที่นายอาศิส พิทักษ์คุมพลเข้ารับตำแหน่งจุฬาราชมนตรีซึ่งเป็นประธานกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยโดยตำแหน่งไม่นาน คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยก็ได้มีการยกเลิกโครงสร้างของคณะกรรมการสมัยจุฬาราชมนตรีคนก่อน ทำให้พิเชษฐต้องพ้นจากตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยไปด้วย ต่อมาพิเชษฐก็ได้ลาออกจากกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเพชรบุรีทำให้พ้นจากตำแหน่งกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยด้วยเช่นกัน

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้

อ้างอิง แก้

  1. "ประกาศคณะกรรมการการเลือกต้ง เรื่อง ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-05-08. สืบค้นเมื่อ 2019-06-03.
  2. พิเชษฐ สถิรชวาล สมัครเข้าเป็นสมาชิก​พรรคพลัง​ประชารัฐ​เรียบร้อย​แล้ว[ลิงก์เสีย]
  3. "กลุ่ม 16" พรรคเล็ก เทียบ"ตำนาน" ย้อนผลงาน โบว์แดง-โบว์ดำ
  4. 4.0 4.1 ประวัติ พิเชษฐ สถิรชวาล
  5. "ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2022-05-31. สืบค้นเมื่อ 2011-05-26.
  6. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-11-03. สืบค้นเมื่อ 2010-04-08.
  7. นิจฉัยให้พิเชษฐพ้นจากความเป็นรัฐมนตรีเนื่องจากจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จ[ลิงก์เสีย]
  8. "พรรคสันติภาพไทยซึ่งเป็นพรรคการเมืองแนวมุสลิม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-11-20. สืบค้นเมื่อ 2010-04-08.
  9. พิเชษฐดำรงตำแหน่งประธานที่ปรึกษาพรรค
  10. เชษฐเป็นประธานที่ปรึกษากลุ่มแล้วเข้าสังกัดพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา[ลิงก์เสีย]
  11. แต่งตั้งพิเชษฐเป็นประธานโซนอันดามันพรรคเพื่อไทย
  12. นายกปูตั้ง"บังยี"เป็นผู้แทนการค้าไทย
  13. ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง รับจดทะเบียนจัดตั้งพรรคประชาธรรมไทย
  14. พิเชษฐ สถิรชวาล ยื่นจองชื่อ'พรรคประชาธรรมไทย' ชู แก้3จังหวัดชายแดนใต้ มติชนออนไลน์ 9 มีนาคม 2561
  15. “พิเชษฐ” ขู่ “กลุ่ม 16” จ่อโหวตสวนปมประมูลท่ออีอีซี ไม่แคร์ถูกขับพ้น พปชร.
  16. "พิเชษฐ สถิรชวาล ลาออกพลังประชารัฐ ย้ายเข้าพรรคของ นอท กองสลากพลัส เผยมีอดีต ส.ส. และอดีต รมต. ย้ายมาเพิ่ม". THE STANDARD. 2023-03-15.
  17. "เลือกตั้ง 2566 : "เต้" เปิดตัว "พิเชษฐ" นั่งทีมเศรษฐกิจพรรคไทยศรีวิไลย์". www.thairath.co.th. 2023-03-23.
  18. ได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนฮัจญ์ทางการไทย[ลิงก์เสีย]
  19. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2022-05-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๙ ตอนที่ ๒๑ ข หน้า ๑, ๔ ธันวาคม ๒๕๔๕
  20. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2017-12-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๙ ตอนที่ ๒๒ ข หน้า ๖, ๔ ธันวาคม ๒๕๔๔