อาศิส พิทักษ์คุมพล
อาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี ประธานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย อดีตสมาชิกวุฒิสภา อดีตประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา
ฮัจญี อาศิส พิทักษ์คุมพล | |
---|---|
![]() | |
จุฬาราชมนตรี | |
เริ่มดำรงตำแหน่ง 6 มิถุนายน 2553 | |
กษัตริย์ | พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว |
ก่อนหน้า | สวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 6 มีนาคม พ.ศ. 2490 จังหวัดสงขลา ประเทศไทย |
เชื้อชาติ | ไทย |
ศาสนา | อิสลาม |
คู่สมรส | รอปีอ๊ะ พิทักษ์คุมพล |
บุตร | 4 คน |
บุพการี |
|
อาชีพ | นักวิชาการศาสนาอิสลาม |
ประวัติ แก้ไข
อาศิส พิทักษ์คุมพล เกิดเมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2490 ที่ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา โดยสืบเชื้อสายมาจาก สุลต่าน สุลัยมาน ชาห์ ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมถึงรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง[ต้องการอ้างอิง] ท่านเป็นบุตรของนายมะแอ(ฮัจญีอิสมาแอล) กับ นางน๊ะ (อามีนะห์) เบ็ญสะอีด[1] สมรสกับนางรอปีอ๊ะ พิทักษ์คุมพล มีบุตรธิดา 4 คน
ท่านศึกษาสายสามัญในระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนบ้านหัวเขา ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา และในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนสงเคราะห์ประชา อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา สำหรับสายศาสนานั้นท่านศึกษาที่ปอเนาะอัลนาซอนีย๊ะ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา และที่ปอเนาะตุยง(ปัจจุบันคือโรงเรียนสกุลศาสน์อิสลาม) อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี[2]
หลังจากนายประเสริฐ มะหะหมัดได้รับการโปรดเกล้าฯให้เป็นจุฬาราชมนตรี ได้เสนอชื่อท่านเพื่อโปรดเกล้าฯให้เป็นกรรมกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และได้มอบหมายให้ดูแลงานวิชาการร่วมกับนายวินัย สะมะอุน ต่อมาในปี พ.ศ. 2530 ประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลาได้ถึงแก่กรรม คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลาได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ท่านเป็นประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา และได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนี้มาโดยตลอด และเมื่อพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 ได้ประกาศใช้ โดยกำหนดให้คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยประกอบด้วยกรรมการผู้ที่เป็นผู้แทนของแต่ละจังหวัด ซึ่งท่านก็ได้รับการเลือกให้เป็นผู้แทนคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลาในคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย โดยเคยดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการและรองประธานกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ในชุดที่มีนายสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ อดีตจุฬาราชมนตรี เป็นประธานกรรมการ
ในปี พ.ศ. 2539 ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกวุฒิสภาสัดส่วนผู้นำศาสนาอิสลาม นอกจากนั้นแล้วยังเป็นที่ปรึกษากระทรวงศึกษาธิการในการจัดทำหลักสูตรอิสลามศึกษาเพื่อใช้ในสถานศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงนาย ทักษิณ ชินวัตร ได้แต่งตั้งให้เป็นกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) เพื่อศึกษาปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาตใต้และเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว
วันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ได้รับลงคะแนนเสียงเป็นอันดับ 1 จากกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศให้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีตามพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 [3] ซึ่งนับโดยเป็นคนที่ 2 ต่อจากนายสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ และได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นจุฬาราชมนตรีคนที่ 18 เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2553[4]
วันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออก ณ ห้องประชุม ชั้น 14 (ปัจจุบันคือ ห้องประชุมสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์) อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นำ นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี พร้อมด้วยคณะข้าราชการกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงวัฒนธรรม เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท รับพระราชทานพระบรมราโชวาท
วันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แต่ท่านได้ปฏิเสธการรับตำแหน่งนี้ในภายหลังโดยให้เหตุผลว่าตำแหน่งจุฬาราชมนตรีเป็นผู้นำศาสนาอิสลามในไทยไม่สมควรรับตำแหน่งใดๆทางการเมือง[5]ท่านลาออกในวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2557 เป็น สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ 5 วัน
คำปรารภเนื่องในโอกาสเข้ารับตำแหน่งจุฬาราชมนตรี แก้ไข
“ท่านที่เคารพรักทั้งหลาย บัดนี้ข้าพเจ้าได้รับเลือกให้เป็นผู้นำของพวกท่าน และไม่ใช่ว่าข้าพเจ้าจะดีที่สุดไปกว่าพวกท่าน ดังนั้นหากข้าพเจ้ากระทำในสิ่งที่ถูกต้อง แล้ว ขอให้ท่าน ทั้งหลายได้โปรดให้ความช่วยเหลือแก่ข้าพเจ้าด้วย และหากข้าพเจ้ากระทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องขอให้ท่านทั้งหลายได้ช่วยกันแก้ไข ให้ข้าพเจ้าได้กระทำในสิ่งที่ถูกต้อง ......ตราบใดที่ข้าพเจ้ายังเชื่อฟังในอัลลอฮ์ (ซ.บ.) และร่อซูล (ศ.ล.) ของพระองค์ก็ขอให้ท่านโปรดเชื่อฟังข้าพเจ้า และหากข้าพเจ้าไม่เชื่อฟังในอัลลอฮ์ (ซ.บ.) และร่อซูล (ศ.ล.) ของพระองค์ ดังนั้น พวกท่านก็ไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่จะต้องเชื่อฟังข้าพเจ้า”
บทบาทก่อนรับตำแหน่งจุฬาราชมนตรี แก้ไข
- สมาชิกวุฒิสภา
- รองประธานกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย คนที่ 1
- รองเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย คนที่ 1
- ประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา (พ.ศ. 2530–ปัจจุบัน)
- ประธานชมรมคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด 14 จังหวัดภาคใต้
- สมาชิกสภาที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้
- ประธานคณะกรรมการยุติธรรม ความเสมอภาค และความมั่นคง ในสมาชิกสภาที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้
- ประธานคณะอนุกรรมาธิการกิจการฮัจญ์ ในสมาชิกสภาที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้
- กรรมาธิการวิสามัญติดตาม เร่งรัด ประเมินผลการแก้ไขปัญหา และการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ วุฒิสภา
- ประธานคณะทำงานปรับปรุง ยกร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยครอบครัวและมรดกตามหลักการอิสลาม
- ประธานคณะอนุกรรมาธิการกิจการฮัจญ์ ในคณะกรรมาธิการวิสามัญติดตาม เร่งรัด ประเมินผลการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ วุฒิสภา
- กรรมการนโยบายและอำนวยการการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
- กรรมการอิสระไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ
- กรรมการอิสระไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์ตากใบ
- ประธานคณะทำงานปรับปรุงยกร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยครอบครัวและมรดกตามหลักการอิสลาม
- กรรมการจัดทำหลักสูตรและตำราอิสลามศึกษา กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ
- กรรมการจัดทำหลักสูตรและตำราอิสลามศึกษา สมาคมคุรุสัมพันธ์
- กรรมการส่งเสริม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
- กรรมการส่งเสริม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
- กรรมการส่งเสริม วิทยาลัยอิสลามยะลา[6]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้ไข
- พ.ศ. 2557 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์มงกุฎไทย (ป.ม.)[7]
- พ.ศ. 2541 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 2 ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก (ท.ช.)[8]
- พ.ศ. 2533 – เหรียญราชการชายแดน (ช.ด.)[9]
อ้างอิง แก้ไข
- ↑ "หนังสือพิมพ์กำปงไทย ประจำเดือน ยามาดิลอาเคร-รอยับ ฮ.ศ. 1430" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-03-01. สืบค้นเมื่อ 2010-08-08.
- ↑ บอร์ดเสวนาสำนักงานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสตูล อ้างจาก นสพ.ส่องใต้(สตูล)[ลิงก์เสีย]
- ↑ 'อาศิส พิทักษ์คุมพล' เป็นจุฬาราชมนตรีคนใหม่
- ↑ "แต่งตั้งจุฬาราชมนตรี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2010-06-09.
- ↑ "อาศิส พิทักษ์คุมพล" จุฬาราชมนตรีขอไม่รับตำแหน่ง "สนช.", ไทยพีบีเอส, 2 สิงหาคม 2557 เก็บถาวร 2015-06-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ ประวัติจุฬาราชมนตรี อาศิส พิทักษ์คุมพล[ลิงก์เสีย]
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๕๗, เล่ม ๑๓๑ ตอนที่ ๒๗ ข หน้า ๑๔๐, ๓ ธันวาคม ๒๕๕๗
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๑๕ ตอนที่ ๒๓ ข หน้า ๒, ๒ ธันวาคม ๒๕๔๑
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญราชการชายแดน, เล่ม ๑๐๗ ตอนที่ ๗๓ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๓, ๔ พฤษภาคม ๒๕๓๓