มัสยิดยาบัลโรดเหร๊าะหม๊ะ

มัสยิดยาบัลโรดเหร๊าะหม๊ะ ประจำอำเภอเมืองสิงหนคร ตั้งอยู่ที่ ม.๔ ต.หัวเขา อ.สิงหนคร จ.สงขลา

ประวัติ แก้

จากการศึกษาของนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่น คาดว่ามัสยิดยาบัลโรดเหร๊าะหม๊ะ สร้างในราวรัชสมัยของสุลตาน สุลัยมาน ชาฮ์ (ประมาณ พ.ศ. ๒๑๗๓-๒๒๐๓) เมื่อมีการยกเขตรอบนอกเมืองสิงหนครเป็นเมืองหน้าด่านทางทะเลสาบสงขลาสำหรับกันทัพเรือของเมืองปัตตานี ต่อมาเป็นมัสยิดร้างเสียเมื่อคราวสมัยสุลตานมุซตาฟา ชาฮ์ ทำสงครามพ่ายแพ้แก่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา มัสยิดหลังแรกซึ่งสร้างในรัชสมัยสุลตานสุลัยมาน ชาฮ์นั้น เข้าใจกันว่าสร้างด้วยไม้ทั้งหลัง แต่ปูพื้นด้วยกระเบื้องแบบไทย ขนาดกระเบื้องเป็นรูปจัตุรัสกว้างยาวประมาณ ๑ ศอกยังปรากฏหลักฐานมาจนถึงปัจจุบันนี้[1]

ต่อมาเมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าในปี พ.ศ. ๒๓๑๐ พระยาวิชิตภักดี(มรหุมมุดา)เจ้าเมืองไชยาผู้เป็นเหลนของสุลตาน สุลัยมาน ชาฮ์ ได้เทครัวอพยพชาวเมืองไชยาบางส่วนหลบหนีการจับกุมของทัพพม่า มาตั้งหลักอยู่ที่บ้านหัวเขา อ.สิงหนคร จ.สงขลา ซึ่งในสมัยนั้นยังเป็นเมืองร้าง มีการสร้างบ้านเรือนแบบเดิมคือสร้างบ้านเรือนในน้ำและสร้างมัสยิดไว้บนยอดเขา แต่เดิมบนยอดเขานั้นมีกองอิฐคล้ายกับป้อมปราการ รื้อลงเสียเมื่อคราวมีการสร้างมัสยิดหลังปัจจุบัน มัสยิดที่สร้างโดยพระยาวิชิตภักดีนั้นเห็นจะไม่มั่นคงแข็งแรงด้วยรีบสร้างให้ทันการประกอบศาสนกิจ ด้วยเหตุนี้จึงปรากฏแค่ซากกองอิฐจำนวนมากปูทับกัน มัสยิดยาบัลโรดเหร๊าะหม๊ะหลังต่อมาคงจะสร้างในรัชกาลที่๔ คงจะไม่เกินเมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินเมืองสงขลาในคราวแรก ซึ่งในครั้งนั้นมีรายงานว่าราษฎรเมืองสิงหนครได้เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาทด้วย และปรากฏในคำบอกเล่าต่อมาว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ที่สองเสด็จออกทอดพระเนตรบ้านเรือนราษฎรชาวไทยมุสลิมซึ่งนิยมปลูกเรือนในทะเลสาบสงขลา ที่ราบในบริเวณนั้นจึงใช้เป็นที่สร้างมัสยิดและกุโบร์(ที่ฝังศพ) มัสยิดหลังนั้นสัณฐานคล้ายพระที่นั่งสุทไธสวรรค์ในพระบรมมหาราชวัง มีแท่นมิมบัรสำหรับดะโตะคอเต็บขึ้นแสดงธรรม ไม่มีผนังและไม่มียอด มีแต่เพียงหลังคาทอดแนวยาวไปทางทิศตะวันออก-ตะวันตก เข้าใจว่าคงจะมีการสร้างใหม่ทับพื้นที่มัสยิดหลังเดิม

พ.ศ. ๒๔๗๐ มัสยิดหลังเก่าชุดรุดทรุดโทรมลลงมาก ปวงสัปบุรุษจะจัดให้การสร้างมัสยิดแห่งใหม่ในสถานที่ปัจจุบันมีขนาดเป็นรูปจัตุรัส กว้างยาวด้านละ ๑๕ วา ข้างหน้ามีมุขเด็จสำหรับแขวนกลองขนาดใหญ่ใช้ตีบอกเวลาในการปฏบัติศาสนกิจและการทำกิจกรรมสำคัญๆ การตีกลองมีความสำคัญมากเป็นการบอกเวลาในการทำกิจกรรมเช่น ตีกลอง ๕ ครั้งแทนการอะซาน(การเรียกร้องให้มุสลิมมาละหมาด) เป็นต้น

ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๒ กรมศาสนาได้ขึ้นทะเบียนมัสยิดยาบัลโรดเหร๊าะหม๊ะเป็นมัสยิดตามกฎหมายตาม พรบ.มัสยิดอิสลาม พ.ศ. ๒๔๙๒

ประวัติมัสยิดยาบัลโรดเหร๊าะหม๊ะ หลังปัจจุบัน แก้

ในปี พ.ศ. ๒๕๑๘-๒๕๒๐ มัสยิดหลังเก่าได้อยุ่ในสภาพชำรุดทรุดโทรมลงตามกาลเวลา นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี คนที่ 18 (ในขณะนั้นเป็นดะโตะอิหม่าม มัสยิดยาบัลโรดเหร๊าะหม๊ะ) จึงได้มีการประชุมสัปบุรุษอีกครั้งปรากฏตามจดหมายเหตุความว่า จึงดาโตะอิหม่าม คอเต็บ บิหลั่น ธรรมการประจำมัสยิดทั้งนั้น ก็ปฤกษากิจการด้วยปวงสัปบุรุษแห่งเมืองสิงหนคร กับทั้งพ่อค้าวาณิชย์ทั้งไทย มลายู จีน อาหรับ เห็นพร้องต้องกันให้ขยายเขตมัสยิดออกไป จึงพ่อค้าชาวอาหรับชื่อเชคอับดุลลาตีฟ ได้มีศรัทธาบริจาคเงินกองหนึ่งเป็นทุน สำหรับให้ก่อสร้างมัสยิดอันเป็นถาวรสืบไป ครั้นปฤกษากันแล้วเสร็จ ดาโตะอิหม่าม อาศิล พิทักษ์คุมพล ก็ปฤกษาให้ครูเยื้อน โรงเรียนบ้านหัวเขาเขียนโครงมัสยิด ให้มีโดมอย่างสูงตามอย่างมัสยิดในนครเมกกะ๑ โดมกว้างตามแบบนครมะดีนะ๑ แล้วให้มีโดมตามแบบไทยเป็นจัตุรัส๑ กระเบื้องมุงนั้นท่านสั่งมาแต่เมืองเพชรทั้งสิ้น ปัจจุบันมัสยิดยาบัลโรดเหร๊าะหม๊ะ ทรุดโทรมลงตามกาลเวลาอันเนื่องมาจากขาดการบูรณะมาเป็นเวลาเกือบ ๓๐ ปี แต่มัสยิดนี้ก็ยังคงรักษาเอกลักษณ์อย่างเดิมไว้ทุกประการ[2]

อ้างอิง แก้

  1. มัสยิดยาบัลโรดเหร๊าะหม๊ะ
  2. ประวัติมัสยิดยาบัลเหร้าหม๊ะ