ปอเนาะ (ภาษามลายูปัตตานี เพี้ยนจาก pondok "ปนโดะก์" ในภาษามลายูกลาง ยืมมาจากภาษาอาหรับ فندق "ฟุนดุก" แปลว่า โรงแรม) หมายถึงสำนักสอนศาสนาอิสลามที่มีหอพักนักเรียนอยู่ในบริเวณสำนัก ซึ่งโดยปกติจะเป็นกระท่อมเล็ก ๆ ทุก ๆ ตำบลในสามจังหวัดภาคใต้มีปอเนาะมากกว่าหนึ่งปอเนาะ

ปอเนาะแห่งหนึ่งในจังหวัดนราธิวาส
ที่พักนักศึกษาภายในปอเนาะแห่งหนึ่งในจังหวัดนราธิวาส

ประวัติ

แก้

สำนักสอนศาสนาอิสลามที่ให้บริการที่พักนี้มีมาตั้งแต่ยุคแรกของอิสลาม เพราะนักศึกษาในอดีตจะเดินทางไกลและพักเป็นแรมปีเพื่อเล่าเรียนกับปรมาจารย์ เช่นในเมืองมะดีนะหฺ มีสำนักสอนศาสนาของอิมามอัศศอดิก ที่ใหญ่โตจนเรียกว่ามหาวิทยาลัย และของ มาลิก บินอะนัส (เจ้าของมัซฮับมาลิกีย์)ในสมัยฟาฏิมียะหฺมีการสร้างมหาวิทยาลัยในไคโร [1] นอกจากนั้นปอเนาะอาจมีที่มาจากการศึกษาศาสนาอิสลามในตะวันออกกลางในซาอุดีอาระเบียและเยเมน [2]แล้วจึงแพร่หลายเข้าสู่ทวีปเอเชีย เข้าสู่ประเทศไทยแห่งแรกที่ปัตตานี โดยรับผ่านทางมาเลเซีย[1] หรืออาจจะเข้ามาที่ปัตตานีก่อนมาเลเซีย[2]ในประเทศอาหรับสำนักสอนศาสนาแบบนี้เป็นที่รู้จักในนาม มัดรอสะหฺ (โรงเรียน) หรือเฮาซะหฺ ถ้าเป็นโรงเรียนของชีอะหฺ ปอเนาะที่ปาตานีมีความสำคัญต่อชาวมุสลิมในภูมิภาคนี้มาก ชาวจามในเขมรและเวียดนามจะเรียกปาตานีว่า กิบลัตที่สอง เนื่องจากเป็นสถานที่ที่พวกเขาส่งลูกหลานมาเรียนศาสนา

จากการสำรวจของศูนย์พัฒนาการศึกษา จ.ยะลา เมื่อ พ.ศ. 2521 พบว่าปอเนาะที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่มีหลักฐานเปิดสอนตั้งแต่ราว พ.ศ. 2442 มุฮัมหมัด เศาะฆีร ระบุว่า ปอเนาะแห่งแรกในจังหวัดชายแดนภาคใต้คือปอเนาะกัวลาบือเกาะที่ก่อตั้งโดยบุตรของชัยคอุษมานที่มาจากเยเมน [2] ปอเนาะที่เก่าแก่อื่น ๆ มีอีกหลายแห่ง เช่น ปอเนาะสะนอญันญาร ก่อตั้งเมื่อราว พ.ศ. 2143 และปอเนาะปันนัดายอก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2360

การจัดการเรียนการสอน

แก้

การเรียนการสอนในปอเนาะดำเนินการโดยโต๊ะครู ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ทางศาสนา การเปิดปอเนาะถือเป็นวิทยาทาน ไม่เก็บค่าเล่าเรียน โต๊ะครูมีรายได้จากการบริจาค (ศอดะเกาะหฺ) หรือซะกาต วิชาที่สอนในปอเนาะได้แก่ การสอนภาคศรัทธา (เตาฮีด) ภาคปฏิบัติ (ฟิกหฺ) ซึ่งรวมถึงศาสตร์มรดกและครอบครัว (ฟะรออิฏ) ภาคจริยธรรม (อัคลาก)ภาคประวัติศาตสตร์ (ตารีค) การอ่านอัลกุรอาน และการปฏิบัติตนที่ถูกต้องตามหลักศาสนา สอนเป็นภาษามลายูและภาษาอาหรับ ระยะเวลาในการเรียนของแต่ละคนไม่เท่ากัน ขึ้นกับความสมัครใจ ส่วนใหญ่อยู่ระหว่าง 2-6 ปี แต่ก็มีผู้ศึกษาจนถึง 10-15 ปี[3]

การเรียกชื่อปอเนาะมักเรียกตามชื่อหมู่บ้าน สถานที่ตั้งอาจเป็นของโต๊ะครู หรือจากการบริจาคของชาวบ้านที่ศรัทธาโต๊ะครูผู้นั้นก็ได้

ปอเนาะในปัจจุบัน

แก้

ในปัจจุบันปอเนาะได้พัฒนากลายเป็นโรงเรียนสอนศาสนาที่มีทั้งภาคสามัญและภาคศาสนา นักเรียนส่วนน้อยเท่านั้นที่พักอยู่ในหอพัก ปอเนาะแบบเดิมมีเหลืออยู่ไม่มาก และทางรัฐบาลก็ได้มีกฎหมายเข้มงวดในเรื่องใบอนุญาตเปิดปอเนาะ เนื่องจากสถานการณ์ภาคใต้ ที่มีพวกแบ่งแยกดินแดนเอาปอเนาะเป็นฐานในการปลุกระดม รัฐบาลได้ออกระเบียบต่างๆ เพื่อเปลี่ยนแปลงการศึกษาศาสนาอิสลามในปอเนาะ 2 ช่วงด้วยกัน ช่วงแรกระหว่างพ.ศ. 2502-พ.ศ. 2508 [4] เพื่อเปลี่ยนปอเนาะเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม

การเปลี่ยนแปลงช่วงที่ 2 เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ปล้นปืน 4 มกราคม พ.ศ. 2547 ปอเนาะถูกมองในแง่ลบ ทางรัฐพยายามจัดให้มีการจดทะเบียนปอเนาะ 28 เมษายน พ.ศ. 2547 กระทรวงศึกษาธิการได้ออกระเบียบว่าด้วยสถาบันศึกษาปอเนาะ เพื่อให้ปอเนาะมาจดทะเบียนให้ถุกต้องตามกฎหมาย ปอเนาะที่จดทะเบียนแล้วนี้จะเรียกสถาบันศึกษาปอเนาะ (pondok institute) ไม่ใช่โรงเรียนปอเนาะ[2] ซึ่งพบว่าในเดือนพฤษภาคม 2547 มีปอเนาะมาจดทะเบียน 214 โรง ในเดือนกรกฎาคม 2547 มีปอเนาะจดทะเบียนทั้งหมด 249 โรง แยกเป็นปัตตานี 150 โรง ยะลา 53 โรง และนราธิวาส 46 โรง และใน พ.ศ. 2550 ปรากฏว่ามีปอเนาะจดทะเบียนเป็น “สถาบันการศึกษาปอเนาะ” ทั้งหมด 317 โรง [4]

ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 "สยามิค สารานุกรมอิสลาม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2021-09-25.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 อิบราเฮ็ม, 2549
  3. สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ 2529
  4. 4.0 4.1 โตะข่าวภาคใต้ การศึกษาปอเนาะ จุดหมายปลายทางที่สันติภาพ[ลิงก์เสีย]
  • สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ พ.ศ. 2529 เล่ม 5. สถาบันทักษิณคดีศึกษา. 2529
  • อิบราเฮ็ม ณรงค์รักษาเขต. การศึกษาอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้. วารสารอินโดจีนศึกษา ฉบับวิกฤติไฟใต้. 7(1): 56-86. 2549