พรรคพลังใหม่ เป็นพรรคการเมืองในประเทศไทย ก่อตั้งและดำเนินกิจกรรมการเมืองหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 โดยจดทะเบียนเป็นพรรคการเมืองเลขที่ 17/2517 เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2517[1] มีนายแพทย์กระแส ชนะวงศ์ ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค

พรรคพลังใหม่
หัวหน้าน.พ.กระแส ชนะวงศ์
รองหัวหน้าประสิทธิ์ ณรงค์เดช
ประสาน ต่างใจ
สมหวัง ศรีชัย
สันฐาน สุริยะคำ
เลขาธิการปราโมทย์ นาครทรรพ
คำขวัญเพื่อความเป็นธรรมในสังคม
ก่อตั้ง21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2517
(ชื่อ "พรรคพลังใหม่")
26 มีนาคม พ.ศ. 2531
(เปลี่ยนชื่อเป็น "พรรคพลังสังคมประชาธิปไตย")
พ.ศ. 2535
(เปลี่ยนชื่อเป็น "พรรครวมพลังใหม่")
ถูกยุบพ.ศ. 2535
ที่ทำการ48 ถนนเศรษฐศิริ เขตดุสิต กรุงเทพ
การเมืองไทย
รายชื่อพรรคการเมือง
การเลือกตั้ง

ซึ่งพรรคพลังใหม่ เป็นพรรคการเมืองขนาดเล็ก แต่ได้รับการจับตามองอย่างกว้างขวาง เนื่องจากเป็นพรรคที่ถูกมองว่าเป็นแหล่งรวมนักการเมืองน้ำดี หรือนักการเมืองรุ่นใหม่ และเป็นพรรคที่เอนไปทางฝ่ายซ้าย หรือสังคมนิยม[2] ทางพรรคได้ส่งผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2518 ภายใต้รัฐธรรมนูญ ฉบับ ปี พ.ศ. 2517 ซึ่งบังคับให้ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องสังกัดพรรคการเมือง มีสมาชิกพรรคพลังใหม่ได้รับเลือกตั้งเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 12 คน อาทิ นายเลิศ ชินวัตร บิดาของ ดร. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี, นายปรีดา พัฒนถาบุตร และนายชัชวาลย์ ชมภูแดง[3]

ในการเลือกตั้งครั้งนั้นมีพรรคการเมืองส่งผู้สมัครถึง 42 พรรค แต่ได้รับเลือกตั้งเพียง 22 พรรค ซึ่งได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกระจายกันออกไป หลังการเลือกตั้ง หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้ ส.ส. มาทั้งหมด 72 คน เป็นพรรคที่มีคะแนนเสียงเป็นอันดับหนึ่ง สามารถรวบรวมพรรคต่าง ๆ ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลได้ และได้เป็นนายกรัฐมนตรี

ต่อมาในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในปีเดียวกัน ซึ่งเป็นการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นครั้งแรกด้วย พรรคพลังใหม่ก็ได้ส่งผู้สมัครลงสมัคร คือ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง[4] เพราะพ่ายแพ้ต่อ นายธรรมนูญ เทียนเงิน ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ไปราว 7,000 คะแนนเท่านั้น[2] กระทั่งเกิดการรัฐประหารเมื่อวันพุธที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 โดย คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ทำให้พรรคพลังใหม่ในยุคแรกต้องยุติบทบาทลง

ใน พ.ศ. 2525 ได้มีการจดทะเบียนพรรคพลังใหม่ขึ้นมาอีกครั้งโดยใช้ตราสัญลักษณ์เมื่อคราวจดทะเบียนปี พ.ศ. 2517 เป็นตราประจำพรรคมี ร้อยตรี สมหวัง ศรีชัย เป็นหัวหน้าพรรคคนแรกและนาย สุเทพ วงศ์กำแหง เป็นเลขาธิการพรรคคนแรก [5]

พรรคพลังสังคมประชาธิปไตย แก้

ต่อมาในวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2531 พรรคพลังใหม่ได้ทำการประชุมใหญ่สามัญของพรรคและได้เปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่โดยมีนาย ชัชวาลย์ ชมภูแดง เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่พร้อมกับเปลี่ยนแปลงชื่อพรรคเป็น พรรคพลังสังคมประชาธิปไตย [6] แต่ได้รับเลือกตั้งเพียง 1 ที่นั่ง ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2531 และเปลี่ยนชื่อเป็นพรรครวมพลังใหม่ ในปี พ.ศ. 2535[7] แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จทางการเมือง จนกระทั่งยุบพรรคในปีต่อมา[8]

ประวัติการทำงานในรัฐสภา แก้

ครั้งที่ การเลือกตั้ง จำนวน ส.ส.[9] สถานภาพพรรค นายกรัฐมนตรี หมายเหตุ
1. 2518 12 คน ร่วมรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช
2. 2519 3 คน ฝ่ายค้าน ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช
3. 2522 8 คน ฝ่ายค้าน พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์พลเอก เปรม ติณสูลานนท์
4. 2529 1 คน ร่วมรัฐบาล พลเอก เปรม ติณสูลานนท์
5. 2531 1 คน ร่วมรัฐบาล พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ ในชื่อพรรคพลังสังคมประชาธิปไตย

อ้างอิง แก้

  1. ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การจดทะเบียนพรรคการเมือง เก็บถาวร 2011-11-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนราชกิจจานุเบกษา เล่ม 92 ตอนพิเศษที่ 193ง หน้า 192 วันที่ 18 กันยายน 2518
  2. 2.0 2.1 "ย้อนรอยสงครามชิงเมืองหลวง : ขยายปมร้อน โดยศูนย์ข้อมูลเลือกตั้งเครือเนชั่น จากคมชึดลึก". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-04-05. สืบค้นเมื่อ 2013-04-05.
  3. "สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรที่ได้รับเลือกตั้งทั่วไปของจังหวัดร้อยเอ็ด". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-11-20. สืบค้นเมื่อ 2012-01-30.
  4. "ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-12-31. สืบค้นเมื่อ 2013-04-04.
  5. "ทะเบียนพรรคพลังใหม่ขึ้นมาอีกครั้งโดยใช้ตราสัญลักษณ์เมื่อคราวจดทะเบียน" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2018-06-16.
  6. ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง พรรคพลังใหม่เปลี่ยนแปลงชื่อพรรค ภาพเครื่องหมายพรรค ที่ตั้งสำนักงานใหญ่ คณะกรรมการบริหารพรรค และนโยบายพรรค เก็บถาวร 2019-08-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 105 ตอน 89 ก พิเศษ หน้า 3 1 มิถุนายน พ.ศ. 2531
  7. ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง พรรคพลังสังคมประชาธิปไตยเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารพรรค ชื่อพรรค และภาพเครื่องหมายพรรค
  8. ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การยุบเลิกพรรคการเมือง (พรรครวมพลังใหม่, พรรคสหประชาธิปไตย, พรรคเกษตรเสรี และพรรคท้องถิ่นก้าวหน้า)
  9. "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-09-21. สืบค้นเมื่อ 2020-05-12.