ชเต็ฟฟันส์โดม

(เปลี่ยนทางจาก ชเตฟันสโดม)

อาสนวิหารนักบุญสเทเฟน หรือ ชเต็ฟฟันส์โดม (เยอรมัน: Stephansdom, อังกฤษ: St. Stephen's Cathedral) เป็นอาสนวิหารโรมันคาทอลิกในอัครมุขมณฑลเวียนนา และเป็นที่ตั้งอาสนะของอาร์ชบิชอปแห่งเวียนนา ตัวอาสนวิหารตั้งอยู่ใจกลางกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย สถาปัตยกรรมที่เห็นอยู่ในปัจจุบันเป็นแบบโรมานเนสก์ และ กอทิก ริเริ่มโดยรูดอล์ฟที่ 4 ดยุกแห่งออสเตรีย โบสถ์ปัจจุบันตั้งอยู่บนซากโบสถ์เดิมที่สร้างก่อนหน้านั้นสองโบสถ์ โบสถ์แรกเป็นโบสถ์ประจำเขตแพริชที่ได้รับการเสกในปี ค.ศ. 1147 อาสนวิหารนักบุญสเทเฟนเป็นสิ่งก่อสร้างที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงเวียนนาที่เห็นได้อย่างเด่นชัดจากหลังคากระเบื้องหลากสี

อาสนวิหารนักบุญสเทเฟน
St. Stephen's Cathedral
Stephansdom  (เยอรมัน)
แผนที่
48°12′31″N 16°22′23″E / 48.2085°N 16.373°E / 48.2085; 16.373
ที่ตั้งเวียนนา
ประเทศประเทศออสเตรีย
นิกายโรมันคาทอลิก
เว็บไซต์www.stephanskirche.at
www.stephansdom.at
ประวัติ
สถานะอาสนวิหาร
(เช่นเดียวกับ parish church)
สถาปัตยกรรม
สถานะการใช้งานเปิดให้บริการ
รูปแบบสถาปัตย์โรมาเนสก์, กอทิก
งานฐานราก1137
แล้วเสร็จ1160
โครงสร้าง
อาคารยาว107 เมตร (351 ฟุต)
อาคารกว้าง70 เมตร (230 ฟุต)
เนฟกว้าง38.9 เมตร (128 ฟุต)
ความสูงอาคาร136.7 เมตร (448 ฟุต)
จำนวนยอดแหลม2 หลัก
ความสูงยอดแหลมเหนือ: 68.3 เมตร (224 ฟุต)
ใต้: 136.44 เมตร (447.6 ฟุต)
การปกครอง
อัครมุขมณฑลเวียนนา
นักบวช
อัครมุขนายกChristoph Cardinal Schönborn, OP
ฆราวาส
ผู้อำนวยการเพลงMarkus Landerer
(Domkapellmeister)
นักออร์แกนThomas Dolezal
Ernst Wally
Konstantin Reymaier
การขยายอาสนวิหารนักบุญสเทเฟน: The หอโรมันและประตูยักษ์ จากซากไหม้ของโบสถ์แรกใช้เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งก่อสร้างแบบโรมาเนสก์โบสถ์ที่สอง สร้างแทนโบสถ์เดิม สี่สิบปีต่อมา ก็เริ่มก่อสร้าง Albertine Choir แบบกอธิค; ห้าสิบห้าปีหลังจากนั้นก็สร้าง ส่วนต่อเติมดยุกรูดอล์ฟที่ 4 รอบบริเวณ โบสถ์ที่สอง ที่ต่อมาถูกรื้อทิ้ง เหลือโบสถ์ที่สามให้เป็นสิ่งก่อสร้างที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน

ประวัติ แก้

เมื่อมาถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 12 เวียนนาก็กลายเป็นศูนย์กลางสำคัญของวัฒนธรรมเยอรมันของยุโรปตะวันออก และสี่โบสถ์ที่มีอยู่ก็ไม่เพียงพอที่จะตอบรับความต้องการทางศาสนาของประชาชนในเมือง ในปี ค.ศ. 1137 เรจินมาร์บิชอปแห่งพัสเซา และ เลโอโพลด์ที่ 4 ดยุกแห่งบาวาเรียลงนามในสนธิสัญญามอเทิร์นที่กล่าวถึงเวียนนาว่าเป็น “Civitas” เป็นครั้งแรก และย้ายโบสถ์นักบุญเปโตร เวียนนาไปขึ้นกับมุขมณฑลพัสเซา ในข้อตกลงของสนธิสัญญาเลโอโพลด์ได้รับดินแดนเลยออกไปจากตัวกำแพงเมืองด้วยยกเว้นดินแดนที่ระบุว่าเป็นของโบสถ์ประจำเขตแพริชที่ต่อมาคือที่ดินที่ตั้งอาสนวิหารนักบุญสเทเฟน แม้ว่าเดิมจะเชื่อกันว่าเป็นโบสถ์ที่สร้างในทุ่งนอกกำแพงเมือง แต่โบสถ์ใหม่ความจริงแล้วน่าจะสร้างบนสุสานโบราณที่มีมาตั้งแต่สมัยโรมันโบราณ การขุดหาระบบทำความร้อนในปี ค.ศ. 2000 พบว่ามีหลุมศพลึกลงไปจากพื้นผิวปัจจุบัน 2.5 เมตรที่เมื่อทำการหาอายุจากคาร์บอนกัมมันตรังสี (Radiocarbon dating) แล้วก็พบว่ามีอายุจากคริสต์ศตวรรษที่ 4[ต้องการอ้างอิง] การพบครั้งนี้ทำให้ทราบว่าแม้ตัววัดเดิมก็ยังสร้างก่อนโบสถ์รูเพรชท์ (Ruprechtskirche) ที่กล่าวกันว่าเป็นโบสถ์ที่เก่าที่สุดในเวียนนา

 
อาสนวิหารนักบุญสเทเฟน (ค.ศ. 1905)

ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1137 หลังจากการตกลงในสนธิสัญญามอเทิร์น โบสถ์ที่สร้างขึ้นบางส่วนแบบโรมาเนสก์ก็ได้รับการสถาปนาในปี ค.ศ. 1147 อุทิศแก่นักบุญสเทเฟนโดยมีผู้ร่วมงานที่รวมทั้งพระเจ้าคอนรัดที่ 3 แห่งเยอรมนี บิชอปออทโทแห่งไฟรซิงและขุนนางเยอรมันอื่นที่กำลังเตรียมตัวที่จะเดินทางไปทำสงครามครูเสดครั้งที่ 2[1] แม้ว่าโครงสร้างช่วงแรกจะสร้างเสร็จในปี ค.ศ. 1160 [2] แต่งานก่อสร้างหลักก็ยังคงดำเนินต่อมาจนถึงปี ค.ศ. 1511 และการซ่อมแซม และ บูรณปฏิสังขรณ์ก็ยังคงทำกันมาจนถึงปัจจุบันนี้ ระหว่างปี ค.ศ. 1230 ถึงปี ค.ศ. 1245 สิ่งก่อสร้างโรมานเนสก์ได้รับการขยายออกไปทางตะวันตกซึ่งคือกำแพงด้านตะวันตกและหอโรมันในปัจจุบัน แต่ในปี ค.ศ. 1258 ก็เกิดเพลิงไหม้ขึ้นที่ทำลายสิ่งก่อสร้างเดิมไปแทบทั้งสิ้น หลังจากนั้นก็ได้มีการก่อสร้างโครงสร้างใหม่แบบโรมานเนสก์เช่นกันขึ้นแทนที่โดยใช้หอโรมัน และสร้างบนฐานที่เป็นโบสถ์เดิม โบสถ์ใหม่ได้รับการสถาปนาเมื่อวันที่ 23 เมษายน ค.ศ. 1263 วันครบรอบการสถาปนาครั้งที่สองนี้ทำการฉลองกันทุกปีโดยการสั่นระฆังพุมเมรินเป็นเวลาสามนาทีตอนค่ำ

ในปี ค.ศ. 1304 พระเจ้าอัลเบรชท์ที่ 1 มีพระราชโองการให้สร้างบริเวณร้องเพลงสวดที่เป็นสามช่องแบบกอทิกทางตะวันออกของตัววัด กว้างไปจนจรดปลายมุขข้างโบสถ์เก่า พระเจ้าอัลเบรชท์ที่ 2 ทรงดำเนินการสร้างบริเวณร้องเพลงสวดต่อจากพระราชบิดา และมาได้รับการเสกในปี ค.ศ. 1340 ในโอกาสครบรอบ 77 ของการเสกครั้งแรก ช่องทางเดินกลางหลักอุทิศให้แก่นักบุญสเทเฟนและนักบุญทั้งหลาย ส่วนมุขข้างโบสถ์ด้านเหนือและใต้อุทิศให้แก่พระนางมารีย์พรหมจารี และอัครทูต บริเวณร้องเพลงสวดมาขยายอีกครั้งในรัชสมัยของรูดอล์ฟที่ 4 ดยุกแห่งออสเตรียพระราชโอรสในพระเจ้าอัลเบรชท์ที่ 2 เพื่อสร้างความมีหน้ามีตาให้แก่เวียนนา เมื่อวันที่ 7 เมษายน ค.ศ. 1359 รูดอล์ฟก็วางศิลาฤกษ์ในบริเวณที่ปัจจุบันคือหอใต้เพื่อขยายบริเวณร้องเพลงสวดอัลเบอร์ทีนแบบกอทิก ส่วนที่ขยายนี้ทำให้เนื้อที่ของบริเวณร้องเพลงสวดครอบคลุมเนื้อที่ทั้งหมดของโบสถ์เดิม ในปี ค.ศ. 1430 ส่วนที่เหลือของโบสถ์เดิมก็ถูกรื้อทิ้งเพื่อการสร้างมหาวิหารใหม่ หอใต้สร้างเสร็จในปี ค.ศ. 1433 และเพดานของทางเดินกลางที่เริ่มสร้างในปี ค.ศ. 1446 ก็มาสร้างเสร็จในปี ค.ศ. 1474 การวางศิลาฤกษ์สำหรับหอเหนือวางในปี ค.ศ. 1450 การก่อสร้างอยู่ภายใต้การอำนวยการของนายช่างโลเรนซ์ ชเปนนิง แต่ก็ต้องมาหยุดชะงักลงเมื่องานใหญ่ของอาสนวิหารมาหยุดลงในปี ค.ศ. 1511

ในปี ค.ศ. 1365 หกปีหลังจากที่เริ่มการขยายบริเวณร้องเพลงสวดอัลเบอร์ทีนแบบกอธิค รูดอล์ฟที่ 4 ก็เปลี่ยนฐานะของชเตฟันส์จากการเป็นเพียงโบสถ์ประจำเขตแพริชมาเป็นโบสถ์ที่มีเคลอจีปกครองเท่าเทียมกับอาสนวิหาร ซึ่งเป็นก้าวแรกของการดำเนินการที่จะทำให้เวียนนากลายเป็นมุขมณฑลอิสระ ในปี ค.ศ. 1469 จักรพรรดิฟรีดริชที่ 3 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ทรงยื่นคำร้องต่อสมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 2 ให้แต่งตั้งบิชอปแห่งกรุงเวียนนา โดยให้จักรพรรดิเป็นผู้เสนอชื่อ แม้ว่าบิชอปแห่งพัสเซาผู้ไม่ต้องการที่จะสูญเสียอำนาจในการปกครองเวียนนาจะทำการประท้วงอยู่เป็นเวลานาน มุขฆมณฑลเวียนนาก็ได้รับการก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 18 มกราคม ค.ศ. 1469 โดยมีอาสนวิหารนักบุญสเทเฟนเป็นโบสถ์แม่ ในปี ค.ศ. 1722 ระหว่างรัชสมัยของจักรพรรดิคาร์ลที่ 6 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ มุขมณฑลเวียนนาก็ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นอัครมุขมณฑล (archbishopric) โดยสมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 13[2]

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 อาสนวิหารนักบุญสเทเฟนปลอดภัยจากการถูกทำลายโดยน้ำมือของกองทัพเยอรมันที่ถอยจากออสเตรียเมื่อกัปตันแกร์ฮาร์ด คลิงคิคท์ขัดขืนคำสั่งของผู้บังคับบัญชาของกรุงเวียนนาเซ็พพ์ ดีทริชที่สั่งให้ “ยิงกระสุนร้อยลูกและทิ้งไว้แต่ซากและขี้เถ้า” แต่เมื่อวันที่ 12 เมษายน ค.ศ. 1945 เพลิงไหม้จากร้านค้าไม่ไกลนัก--ที่เริ่มโดยพลเรือนทำการปล้นสดมขณะที่กองทหารรัสเซียเดินทัพเข้าเมือง—ลุกลามมากับลมมายังโบสถ์และสร้างความเสียหายอย่างมากให้แก่หลังคาวัดจนทำให้พังทลายลงมา แต่โชคดีที่โครงอิฐที่สร้างขึ้นเพื่อพิทักษ์รอบแท่นเทศน์ อนุสรณ์สถานของจักรพรรดิฟรีดริชที่ 3 และสิ่งมีค่าอื่นๆ ทำให้ความเสียหายที่เกิดขึ้นถูกจำกัด

แต่งานแกะสลักอันวิจิตรของเก้าอี้รองเพลงสวดโรลลิงเกอร์ที่ทำกันในปี ค.ศ. 1487 สูญเสียไปกับพระเพลิง Rollinger choir stalls เก็บถาวร 2009-01-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, การสร้างมหาวิหารใหม่เริ่มขึ้นทันที่ และมาเริ่มเปิดเป็นบางส่วนเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม ค.ศ. 1948 และมาเปิดทั้งหมดเมื่อวันที่ 23 เมษายน ค.ศ. 1952

ภายนอก แก้

 
หอโรมานเนสก์ด้านหน้าของมหาวิหาร โค้งระหว่างหอที่เห็นไม่ใช่ประตูยักษ์แต่เป็นหน้าต่างใหญ่เหนือประตู
 
ลายโมเสกบนหลังคา

อาสนวิหารเป็นคริสต์ศาสนสถานที่อุทิศให้แก่นักบุญสเทเฟนผู้ที่ก็เป็นนักบุญองค์อุปถัมภ์อาสนวิหารพัสเซาด้วย ฉะนั้นตัวโบสถ์จึงหันทางที่พระอาทิตย์ขึ้นในวันสมโภชที่ตรงกับวันที่ 26 ธันวาคม ตัวอาสนวิหารที่สร้างด้วยหินปูนมีความยาว 107 เมตร กว้าง 70 เมตร และ สูง 136.7 เมตร โดยมีทางเดินกลางที่ยาว 38.9 เมตร ในช่วงเวลาที่ผ่านมาสิ่งสกปรกจากเขม่าไฟ และ มลพิศต่างก็หมักหมมเกาะตัวบนตัวมหาวิหารจนกลายเป็นสีดำ แต่การบูรณปฏิสังขรณ์ที่เพิ่งดำเนินการไปเมื่อไม่นานมานี้ทำให้มหาวิหารกลับไปเป็นสีขาวตามเดิม

หอ แก้

หอสูง 136 เมตรที่ชาวเวียนนาเรียกว่า “Steffl” (ออกเสียง “สเตฟเฟิล” แผลงมาจากคำว่า “Stephen”) หอใต้ขนาดมหึมาของอาสนวิหารนักบุญสเทเฟนที่เป็นหอที่เด่นสง่ากว่าสิ่งอื่นใดของภูมิทัศน์ตึกรามของเมืองเวียนนาใช้เวลาสร้างทั้งสิ้น 65 ปี ระหว่าง ค.ศ. 1368 ถึง ค.ศ. 1433 ระหว่างการล้อมกรุงเวียนนาในปี ค.ศ. 1529 และอีกครั้งหนึ่งในยุทธการเวียนนาในปี ค.ศ. 1683 หอสเตฟเฟิลใช้เป็นหอสังเกตการณ์และที่ตั้งของกองบังคับการในการป้องกับเมืองเวียนนาที่มีกำแพงล้อมรอบ ในหอถึงกับมีห้องพักสำหรับผู้ทำหน้าที่สังเกตการณ์ หอสเตฟเฟิลมีผู้ประจำการตอนกลางคืนมาจนกระทั่งปี ค.ศ. 1955 ที่จะสั่นระฆังถ้าเห็นไฟไหม้ในเมือง บน ยอด เก็บถาวร 2009-01-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เป็นที่ตั้งของราชอินทรีสองหัวซึ่งเป็นสัญลักษณ์ตราอาร์มของราชวงศ์ฮับส์บูร์ก-ลอแรน บนหน้าอกเป็นกางเขนอัครบิดรที่หมายถึง “Apostolic Majesty” ของพระมหากษัตริย์แห่งฮังการี

หอเหนือเดิมตั้งใจที่จะให้เป็นแบบเดียวกับหอใต้ แต่กลายเป็นโครงการที่ใหญ่เกินตัวเมื่อคำนึงถึงว่าโครงการที่เริ่มขึ้นในช่วงเวลาตอนปลายของสมัยการสร้างมหาวิหารแบบกอธิคที่กำลังใกล้จะสิ้นสุดลง และเมื่อการก่อสร้างต้องมาหยุดชะงักลงในปี ค.ศ. 1511

ในปี ค.ศ. 1578 ฐานหอที่สร้างขึ้นมาบางส่วนแล้วก็ได้รับการสร้างยอดให้เป็นแบบเรอเนสซองซ์ที่มีชื่อเรียกกันเล่น ๆ ว่า “ยอดหอน้ำ” (water tower top) โดยชาวเวียนนา หอนี้สูง 68 เมตร ราวครึ่งหนึ่งของหอใต้

ทางเข้าหลักเรียกว่า “ประตูยักษ์” (Riesentor) ที่หมายถึงกระดูกต้นขาของ Mastodon ที่แขวนอยู่เหนือประตูอยู่เป็นเวลาหลายสิบปี ที่เป็นกระดูกที่ขุดพบในปี ค.ศ. 1443 ขณะที่ขุดบริเวณที่จะทำฐานสำหรับหอเหนือ หน้าบันเหนือประตูเป็นภาพพระเยซูในท่า “พระเยซูผู้ทรงอานุภาพ” (Christ Pantocrator) ขนาบด้วยทูตสวรรค์มีปีกสององค์ ขณะที่ทางซ้ายและขวาของประตูเป็นหอโรมันสองหอหรือ “หอไฮเดน” (Heidentürme) แต่ละหอสูง 65 เมตร ชื่อของหอสร้างมาจากการใช้วัสดุที่มาจากสิ่งก่อสร้างเดิมของโรมัน (=heiden) ระหว่างที่ยึดครองบริเวณนี้อยู่ ฐานสี่เหลี่ยมและแปดเหลี่ยมเหนือแนวหลังคา “หอไฮเดน” เดิมเป็นที่เก็บระฆัง ระฆังในหอโรมันใต้หายไประหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง แต่หอโรมันเหนือยังคงใช้การได้อยู่ หอโรมันและประตูยักษ์เป็นส่วนที่เก่าแก่ที่สุดของมหาวิหาร

หลังคา แก้

ความงดงามของอาสนวิหารนักบุญสเทเฟนอยู่ที่การตกแต่งลวดลายอันวิจิตรของหลังคาด้วยกระเบื้องสีต่างๆ ขนาดของหลังคายาว 111 เมตร และใช้กระเบื้องเคลือบทั้งสิ้น 230,000 แผ่น เหนือบริเวณร้องเพลงสวดทางด้านใต้ของสิ่งก่อสร้างเป็นการวางกระเบื้องเป็นรูปอินทรีสองหัวซึ่งเป็นสัญลักษณ์ตราอาร์มของการปกครองของจักรวรรดิออสเตรียโดยราชวงศ์ฮับส์บูร์ก ทางด้านเหนือเป็นตราอาร์มของ เมืองเวียนนา และของ สาธารณรัฐออสเตรีย ในปี ค.ศ. 1945 เพลิงไหม้ที่ข้ามมาจากสิ่งก่อสร้างอื่นยังหอเหนือลามไปสร้างความเสียหายให้แก่โครงไม้ของหลังคา ความใหญ่โตของหลังคาทำให้ถ้าจะใช้ไม้ในการสร้างโครงสร้างใหม่ขึ้นแทนที่ก็จะต้องโค่นป่าราวหนึ่ตารางกิโลเมตรจึงจะได้ไม้พอเพียง ฉะนั้นจึงได้ใช้โครงสร้างเหล็กหล่อ 600 เมตริกตันแทนที่ หลังคาเป็นทรงที่แหลมมากจนการทำความสะอาดด้วยน้ำฝนก็พอเพียง และนอกจากนั้นก็แทบจะไม่มีหิมะเกาะได้

ระฆัง แก้

 
หอเหนือ
 
ระฆังพุมเมริน

กล่าวกันว่าคีตกวีลูทวิช ฟัน เบทโฮเฟิน ทราบว่าตนเองหูหนวกก็เมื่อหันขึ้นไปมองนกบินออกมาจากหอระฆังเพราะระฆังถูกสั่นแต่ก็ไม่ได้ยินเสียงระฆัง อาสนวิหารนักบุญสเทเฟนมีระฆังทั้งหมด 23 ใบ ใบใหญ่ที่สุดที่แขวนในหอเหนือมีชื่อเป็นทางการว่าระฆังพระแม่มารีย์ แต่มักจะเรียกกันว่า “ระฆังพุมเมริน” ระฆังพุมเมรินหนัก 20,130 กิโลกรัม เป็นระฆังที่ใหญ่ที่สุดในออสเตรียและเป็นระฆังแบบแกว่งที่ใหญ่เป็นที่สองในยุโรป รองจาก “ระฆังปีเตอร์” ที่หนัก 23,500 กิโลกรัมที่มหาวิหารโคโลญ ระฆังพุมเมรินหล่อในปี ค.ศ. 1711 จากปืนใหญ่ที่ยึดได้จากมุสลิมที่มาล้อมกรุงเวียนนา และมาหล่อใหม่ในปี ค.ศ. 1951 หลังจากหล่นลงมาแตกบนพื้นหลังจากเพราะคานไม้ที่แขวนที่ได้รับความเสียหายจากเพลิงไหม้ในปี ค.ศ. 1945 หักตัวลง ระฆังใหม่ที่มีเส้นผ้าศูนย์กลาง 3.14 เมตรเป็นของขวัญจากรัฐโอแบร์เอิสเตอร์ไรช์ ระฆังนี้สั่นเฉพาะโอกาสพิเศษเช่นปีใหม่ ในหอเดียวกันนี้มีระฆังที่เก่ากว่าอีกสามใบที่ไม่ได้ใช้แล้ว:

  • “ระฆังเล็ก” (Kleine Glocke) - หนัก 62 กิโลกรัม หล่อในปี ค.ศ. 1280
  • “ระฆังอาหารค่ำ” (Speisglocke) - หนัก 240 กิโลกรัม หล่อในปี ค.ศ. 1746
  • “ระฆังขบวนแห่” (Zügenglocke) - หนัก 65 กิโลกรัม หล่อในปี ค.ศ. 1830

กลุ่มระฆังสิบเอ็ดใบที่หล่อในปี ค.ศ. 1960 แขวนบนหอใต้ แทนที่ระฆังโบราณที่สูญไปกับเพลิงใหม้ในปี ค.ศ. 1945 ใช้ระหว่างพิธีมิสซา สี่ใบใช้ในพิธีมิสซาตามปกติ จำนวนระฆังที่ใช้เพิ่มขึ้นตามความสำคัญของพิธีมิสซา การใช้ทั้งสิบเอ็ดใบก็เมื่อพระคาร์ดินัลอาร์ชบิชอปแห่งเวียนนากระทำพิธีมิสซาเอง ระฆังทั้งสิบเอ็ดใบมีชื่อตั้งแต่ใบใหญ่ที่สุดถึงเล็กที่สุดตามลำดับคือ

และบนยอดหอที่สูงที่สุดแขวน “ระฆังพริมกล็อก” (หล่อใหม่ ค.ศ. 1772) และ “ระฆังอัวร์เชลเลอ” (หล่อ ค.ศ. 1449) ที่ใช้สั่นเพื่อบอกชั่วโมง

หอโรมันเหนือมีระฆังหกใบ ห้าใบที่หล่อในปี ค.ศ. 1772 ใช้สำหรับสั่นเป็นสัญญาณการทำวัตรเย็นและเมื่อมีงานศพ และเป็นระฆังใช้งานที่มีชื่อเรียกตามหน้าที่

  • “ระฆังเพลิง” (Feuerin) ใช้ส่งสัญญาณเตือนไฟ แต่ในปัจจุบันใช้เป็นสัญญาณการสวดมนต์เย็น (หล่อ ค.ศ. 1859)
  • “ระฆังนักดนตรี” (Kantnerin) เป็นสัญญาณเรียกนักดนตรี (cantor) มาทำพิธีมิสซา
  • “ระฆังมิสซา” (Feringerin) เป็นสัญญาณพิธีมิสซาใหญ่วันอาทิตย์
  • “ระฆังเบียร์” (Bieringerin) เป็นสัญญาณสุดท้ายของทาเวิร์น
  • “ระฆังวิญญาณ” (Poor Souls) เป็นสัญญาณงานศพ
  • “ระฆังเชอร์เพิทส์ช” (Churpötsch)

สิ่งตกแต่งบนผนังด้านนอก แก้

   
มาตรฐานหน่วยวัดความยาว “เอลล์” ที่ใช้กับผ้าลินนินและผ้าอื่นบนผนังวัด
“พระเยซูปวดฟัน” (Zahnweh-Herrgott) ที่ตำแหน่ง CT
 
แท่นเทศน์นักบุญยอห์นคาพิสทราโน

ในยุคกลางเมืองสำคัญ ๆ ต่างก็มีระบบมาตรการชั่งตวงวัดสำหรับสาธารณชนที่พ่อค้าต้องทำตามมาตรฐานของเมืองที่กำหนดไว้ เวียนนาใช้ “เอลล์” ในการวัดความยาวของผ้าชนิดต่างๆ ที่สลักบนผนังของมหาวิหารอย่างเป็นทางการทางซ้ายของทางเข้าหลัก “เอลล์” ที่ใช้วัดความยาวของผ้าลินนินก็เรียก “ยาร์ดเวียนนา” (Viennese yard) ด้วย (89,6 เซนติเมตร) และถ้าเป็น “เอลล์” ผ้าม่านก็จะเป็น 77 เซนติเมตรที่ใช้ท่อนเหล็กสองท่อนวัด ตามความเห็นของฟรันซ์ ทวาร็อคอัตราส่วนระหว่างลินนินเอลล์และผ้าม่านเอลล์จะเท่ากับ  .[3][4] พอดี เอลล์เวียนนาได้รับการกล่าวถึงครั้งแรกในปีค.ศ. 1685 โดยแคนนอนเทสทาเรลโล เดลลา มาสสาในหนังสือ “Beschreibung der ansehnlichen und berühmten St. Stephans-Domkirchen[5]

แผ่นจารึก (ใกล้กับแท่นเทศน์นักบุญจอห์นคาพิสทราโน (SJC) บนผัง) มีรายละเอียดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างโวล์ฟกัง อะมาเดอุส โมซาร์ทกับมหาวิหารที่รวมทั้งการได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการดนตรีพิเศษไม่นานก่อนที่จะเสียชีวิต เซนต์สตีเฟนเป็นวัดของโมซาร์ทขณะที่พำนักอยู่ที่บ้านฟิกาโรและสมรสที่นั่น และลูกสองคนก็ได้รับศีลจุ่มที่นี่ด้วย งานศพของโมซาร์ทจัดในชาเปลกางเขน (PES บนผัง) ภายในมหาวิหาร[6]

แท่นเทศน์ที่ตั้งอยู่ด้านนอก (SJC บนผัง) เป็นแท่นที่นักบุญจอห์นคาพิสทราโนใช้เทศน์เรื่องสงครามครูเสดในปี ค.ศ. 1454 เพื่อเรียกร้องให้ทำการยุติการรุกรานของมุสลิมเข้ามาในยุโรป[7] ประติมากรรมบาโรกของคริสต์ศตวรรษที่ 18 แสดงภาพนักบุญฟรานซิสภายใต้รัศมีพระอาทิตย์อันเรืองรองเหยียบย่ำชนเตอร์ก แท่นเทศน์นี้เดิมเป็นแท่นเทศน์เอกของมหาวิหารที่ตั้งอยู่ภายในจนกระทั่งมาแทนที่ด้วย แท่นเทศน์พิลแกรมในปี ค.ศ. 1515

นอกจากนั้นก็มีพระรูปของพระเยซู (CT บนผัง) ที่ชาวเวียนนาเรียกกันอย่างชื่นชมว่าภาพ “พระเยซูปวดฟัน” เพราะพระพักตร์ที่บิดเบี้ยว และ นาฬิกาแดด (S บนผัง)

ภายใน แก้

 
ผังอาสนวิหารนักบุญสเทเฟน พร้อมด้วยอักษรสีแดงที่เป็นเครื่องหมายว่าเป็นสิ่งที่กล่าวถึงในบทความ CT ประติมากรรม “พระเยซูปวดฟัน”; Fr3 อนุสรณ์พระศพของจักรพรรดิฟรีดริชที่ 3; G ประตูยักษ์ HA แท่นบูชาเอก; MP รูปเคารพพระแม่มารีโพช; NT หอเหนือ; P แท่นเทศน์; PES ชาเปลพระศพของเจ้าชายยูจีนแห่งซาวอย; RT หอโรมัน; S นาฬิกาแดด; SJC แท่นเทศน์นักบุญจอห์นคาพิสทราโน; ST หอใต้; WNA ฉากแท่นบูชาน็อยชตัดท์
 
มุมมองจากช่องทางเดินเหนือไปยังด้านหลังของอาสนวิหาร ทางขวาเป็นประตูสู่ชาเปลกางเขน [[PES]] (1849).
 
ฉากแท่นบูชาน็อยชตัดท์

อาสนวิหารนักบุญสเทเฟนมีแท่นบูชาด้วยกันทั้งหมด 18 ในบริเวณหลักของตัวโบสถ์และอีกหลายแท่นตามคูหาสวดมนต์รอบๆ แท่นบูชาเอก [[HA]] และ “ฉากแท่นบูชาน็อยชตัดท์” (เยอรมัน: Wiener Neustädter Altar) [[WNA]] เป็นแท่นบูชาที่เด่นที่สุดในวัด

แท่นบูชาแรกที่จะเห็นเมื่อเข้าไปในโบสถ์คือแท่นบูชาเอกที่อยู่ไกลออกไปตรงปลายสุดของทางเดินกลางที่ใช้เวลาสร้างกว่าเจ็ดปีระหว่าง ค.ศ. 1641 ถึง ค.ศ. 1647 ที่เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างเสริมมหาวิหารให้เป็นแบบบาโรก แท่นบูชาสร้างโดยโทไบอัส พ็อคตามคำสั่งของฟิลิปป์ ฟรีดริช กราฟ บรึนเนอร์จากหินอ่อนจากโปแลนด์, สไตเรีย และ ไทโรล เนื้อหาของฉากประดับแท่นบูชาเอกเป็นภาพการขว้างก้อนหินเพื่อสังหารนักบุญสเทเฟนผู้เป็นนักบุญองค์อุปถัมภ์มหาวิหาร ล้อมรอบด้วยภาพนักบุญจากบริเวณเวียนนา — นักบุญลีโอโพลด์ นักบุญฟลอเรียน นักบุญเซบาสเตียน, นักบุญร็อค — ตอนบนเป็นประติมากรรมของพระแม่มารีย์ ที่แย้มให้ผู้ศรัทธาได้เห็นสวรรค์ที่พระเยซูทรงรอรับนักบุญสเทเฟนอยู่ (มรณสักขีองค์แรกที่ขึ้นจากเบื้องล่าง)

“ฉากแท่นบูชานอยชตัดท์” ที่ตั้งอยู่ทางตรงปลายช่องทางเดินข้างทางทิศเหนือได้รับการสั่งให้สร้างในปี ค.ศ. 1447 โดยจักรพรรดิฟรีดริชที่ 3 ผู้ที่มีอนุสรณ์พระบรมศพอยู่ตรงกันข้าม บนฐานฉากแท่นบูชา เป็นภาพเครื่องมือสัญลักษณ์ “A.E.I.O.U.” อันมีชื่อเสียงของจักรพรรดิฟรีดริช พระองค์ทรงสั่งให้สร้างสำหรับอารามวิคทริง แต่ตั้งอยู่ที่นั่นมาจนกระทั่งแอบบีถูกปิดในปี ค.ศ. 1786 ที่เป็นผลมาจากนโยบายการปฏิรูปสถาบันนักบวชของจักรพรรดิฟรันซ์ที่ 2 จากนั้นเครื่องมือสัญลักษณ์ “A.E.I.O.U.” ก็ถูกส่งไปยังอารามคณะซิสเตอร์เชียนของนักบุญแบร์นาร์แห่งแกลร์โวที่ก่อตั้งโดยจักรพรรดิฟรีดริชที่ 3 ที่เมืองวีนเนอร์น็อยชตัดท์ และในที่สุดก็ขายให้แก่มหาวิหารเมื่ออารามถูกปิดหลังจากที่ไปรวมตัวกับอารามไฮลีเกนครอยซ์

“ฉากประดับแท่นบูชาน็อยชตัดท์” ประกอบด้วยบานพับภาพสองตอน ตอนบนมีความสูงสี่เท่าของตอนล่าง เมื่อเปิดตอนล่างออกมาก็จะเป็นกรงสำหรับเดิมเป็นที่เก็บเรลิกเหนือแท่นบูชา ในวันราชการบานพับสี่บานก็จะปิดให้เห็นแต่ภาพนอกที่เป็นภาพเขียนสีมัว ๆ ของนักบุญ 72 องค์ ในวันอาทิตย์จึงจะมีการเปิดให้ได้เห็นงานสลักไม้ทาสีทองอันวิจิตรภายในที่เป็นภาพฉากชีวิตของพระแม่มารี การบูรณปฏิสังขรณ์ฉากแท่นบูชาเริ่มทำกันในปี ค.ศ. 1985 และใช้เวลาทั้งสิ้น 20 ปีจึงเสร็จ โดยใช้ศิลปินนักบูรณปฏิสังขรณ์ 10 คนที่ใช้เวลาทำงาน 40,000 ชั่วโมง และใช้เงิน 1.3 ล้านยูโร

รูปสัญลักษณ์พระแม่มารีโพช แก้

 
พระแม่มารีโพช

ไอคอนพระแม่มารีโพช [[MP]] เป็นรูปสัญลักษณ์แบบไบแซนไทน์ของแม่พระและพระกุมาร ไอคอนพระแม่มารีย์ได้ชื่อมาจากโบสถ์ฮังการีมาเรียโพช (Máriapócs ออกเสียง Poach) ที่อัญเชิญมายังเวียนนา รูปสัญลักษณ์เป็นภาพพระแม่มารีชี้ไปยังพระบุตรเป็นนัยยะว่า “พระองค์คือผู้ที่จะมาเป็นผู้นำทาง” และ พระบุตรทรงถือกุหลาบสามก้านซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของตรีเอกภาพ และสวมกางเขนบนพระศอ ไอคอนที่มีขนาด 50 x 70 เซนติเมตรสร้างในปี ค.ศ. 1676 โดยจิตรกรIstvan Papp ที่สั่งทำโดย Laszlo Csigri เมื่อถูกปล่อยจากการเป็นเชลยโดยเติร์กผู้เข้ามารุกรานฮังการีในขณะนั้น อาจจะเป็นได้ว่าผู้ว่าจ้างไม่มีเงินจ่ายค่าจ้าง 6 ดูคัต เพราะ Laszlo Hurta ซื้อไอคอนไปถวายโบสถ์มาเรียโพช

หลังจากที่เกิดปาฏิหาริย์เมื่อพระแม่มารีในภาพทรงหลั่งน้ำพระเนตรสองครั้งในปี ค.ศ. 1696 แล้วจักรพรรดิเลโอโพลด์ที่ 1 ก็ทรงอัญเชิญพระรูปมายังอาสนวิหารนักบุญสเทเฟนเพื่อความปลอดภัยจากกองทหารมุสลิมที่สนับสนุนโดยฝรั่งเศสที่ยังคงมีอำนาจโดยทั่วไปในฮังการีอยู่ในขณะนั้น หลังจากการขนย้ายที่ใช้เวลาห้าเดือนพระรูปก็มาถึงเวียนนาในปี ค.ศ. 1697 จักรพรรดินีเอเลอเนอร์ มักดาเลเนอแห่งพาลาทิเนต-นอยบูร์กก็ทรงจ้างให้สร้างเสื้อคลุมโลหะ (Riza) “Rosa Mystica” อันวิจิตร และกรอบ และจักรพรรดิเลโอโพลด์มีพระราชโองการให้ตั้งพระรูปไม่ไกลจากแท่นบูชาเอกที่ตั้งมาตั้งแต่ ค.ศ. 1697 มาจนถึง ค.ศ. 1945 ตั้งแต่นั้นพระรูปก็ได้รับการโยกย้ายหลายครั้ง ในปัจจุบันตั้งอยู่เหนือแท่นบูชาภายใต้เบญจาคริสต์หินโบราณติดกับมุมตะวันตกเฉียงใต้ของช่องทางเดิน จากเทียนจำนวนมากมายทำให้ทราบว่าพระรูปยังเป็นที่นิยมสักการะกันอยู่โดยเฉพาะโดยชาวฮังการี ตั้งแต่นำมาตั้งที่อาสนวิหารพระแม่มารีย์ก็มิได้ทรงหลั่งน้ำพระเนตรอีก แต่ก็มีปาฏิหาริย์ที่เกิดขึ้นหลายครั้งที่เชื่อว่าเกิดจากพระรูปรวมทั้งชัยชนะของเจ้าชายยูจีนแห่งซาวอยต่อเติร์กที่เซนทาเพียงสองสามอาทิตย์หลังจากที่นำพระรูปมาไว้ที่มหาวิหาร

ชาวเมืองโพชเรียกร้องให้นำพระรูปมาเรียโพชคือ แต่จักรพรรดิเลโอโพลด์ทรงเพียงแต่ส่งรูปก็อปปีไปให้ ตั้งแต่นั้นมาก็กล่าวกันว่าพระแม่มาเรียในภาพก็อปปีทรงหลั่งน้ำพระเนตรและช่วยให้เกิดปาฏิหาริย์ หมูบ้านจึงเปลี่ยนชื่อเป็น “มาเรียโพช” และกลายเป็นเมืองสำคัญสำหรับผู้เดินทางมาจาริกแสวงบุญ

แท่นเทศน์ แก้

   
แท่นเทศน์ที่เป็นประติมากรรมของนักบุญเกรกอรี นักบุญเจอโรม และนักบุญออกัสตินแห่งฮิปโป
คนแอบมอง

แท่นเทศน์หิน [[P]] เป็นงานชิ้นเอกของงานประติมากรรมแบบกอธิค เดิมเชื่อกันว่าเป็นงานที่สร้างโดยอันทวน พิลแกรมแต่ในปัจจุบันเชื่อกันว่าเป็นงานของนิโคเลาส์ แกร์ฮาร์ทมากกว่า ตัวแท่นเทศน์ตั้งติดเสาที่หันมาทางทางเดินกลาง แทนที่จะอยู่ทางด้านหน้าของมหาวิหาร

ด้านข้างของแท่นเทศน์แผ่บานออกมาเหมือนกลีบดอกไม้ที่บานออกมาจากก้านที่รองรับอยู่ข้างล่าง บนกลีบเป็นประติมากรรมภาพนูนของนักปราชญ์แห่งคริสตจักรเดิมสี่องค์ที่รวมทั้งนักบุญออกัสตินแห่งฮิปโป นักบุญแอมโบรสแห่งมิลาน นักบุญเกรกอรี และ นักบุญเจอโรม ตามราวกระไดอ้อมรอบเสาจากตัวแท่นเทศน์ลงมาถึงพื้นเป็นงานสลักตกแต่งต่างๆ ที่รวมทั้งกบและจิ้งเหลนกัดกันซึ่งเป็นสัญลักษณ์ความการต่อสู้ระหว่างความดีกับความชั่ว ตอนบนบันไดเป็นรูปสลักสุนัขเพื่อพิทักษ์ผู้เทศน์จากผู้ขัดขวาง

ใต้บันไดเป็นสัญลักษ์อันเป็นที่ชื่นชมกันที่สุดในมหาวิหารที่เป็นภาพเหมือนตนเองของสถาปัตยกรรมไม่ทราบนามแอบเปิดหน้าต่างแอบมองที่เรียกว่า “คนแอบมอง” (Fenstergucker) สิ่วในมือของตัวแบบและเครื่องหมายช่างหิน บนเกราะเหนือหน้าต่างทำให้สันนิษฐานกันว่าเป็นภาพเหมือนตนเองของประติมากร

ชาเปล แก้

 
ชาเปลนักบุญนักบุญแคเธอริน
 
ผังห้องใต้ดินของมหาวิหารเซนต์สตีเฟน

อาสนวิหารนักบุญสเทเฟนมีชาเปล หรือ ชาเปลอย่างเป็นทางการหลายชาเปลที่รวมทั้ง:

  • ชาเปลนักบุญแคเธอริน ที่ตั้งอยู่ที่ฐานของหอใต้ชาเปลศีลล้างบาป ในบริเวณนี้เป็นที่ตั้งของอ่างศีลจุ่มสิบสี่เหลี่ยมที่สร้างเสร็จในปี ค.ศ. 1481 ที่มีฝาห้อยอยู่ตอนบนที่เดิมใช้เป็นแผ่นสะท้อนเสียง (sound board) ที่ตั้งอยู่เหนือแท่นเทศน์ ฐานที่เป็นหินอ่อนเป็นรูปสลักอีแวนเจลิสทั้งสี่ ขณะที่ในช่องรอบอ่างเป็นอัครทูต, พระเยซู และ นักบุญสเทเฟน
  • ชาเปลนักบุญบาร์บารา ที่ตั้งอยู่ที่ฐานของหอเหนือ ใช้เป็นที่ทำสมาธิและสวดมนต์
  • ชาเปลนักบุญเอลิเจียส ที่ตั้งอยู่ทางมุมตะวันออกเฉียงใต้ใช้สำหรับสวดมนต์ แท่นบูชาในชาเปลนี้อุทิศให้แก่นักบุญวาเลนไทน์ ที่มีร่างอยู่ในชาเปลอีกชาเปลหนึ่งชั้นบน (คริสต์ศาสนสถานหลายแห่งอ้างว่าเป็นเจ้าของร่างของนักบุญวาเลนไทน์)
  • ชาเปลนักบุญบาร์โทโลมิว ที่ตั้งอยู่เหนือชาเปลนักบุญเอลิเจียสเพิ่งได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์เมื่อเร็วๆ นี้
  • ชาเปลกางเขน (The Chapel of the Cross)[[PES]] ที่ตั้งอยู่ตรงมุมตะวันออกเฉียงเหนือเป็นที่ตั้งอนุสรณ์ของเจ้าชายยูจีนแห่งซาวอย ภายในมีโรงสามโลงและโกฐใส่หัวใจภายใต้แผ่นหินใหญ่ที่มีห่วงวงแหวน ชาเปลนี้เป็นที่จัดงานศพของโมซาร์ทเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม ค.ศ. 1791 หนวดบนพระพักตร์พระเยซูบนกางเขนเป็นผมคน ชาเปลนี้ไม่เปิดให้สาธารณชนเข้าชม
  • ชาเปลนักบุญวาเล็นไทน์ ที่ตั้งอยู่เหนือชาเปลกางเขนในปัจจุบันเป็นที่เก็บมงคลวัตถุจำนวนเป็นร้อยที่เป็นของมหาวิหารที่รวมทั้งชิ้นผ้าจากผ้าปูโต๊ะที่ใช้ในโอกาสพระกระยาหามื้อสุดท้าย ในหีบใหญ่บรรจุกระดูกของนักบุญวาเล็นไทน์ ซึ่งย้ายมาจากที่ที่เคยเป็นหอประชุมสงฆ์เดิม

อนุสรณ์ผู้เสียชีวิต, สุสานใต้ดิน และ คริพท์ แก้

ตั้งแต่สมัยแรกเป็นต้นมามหาวิหารเซนต์สตีเฟนก็เป็นที่สำหรับการฝังศพตั้งแต่สมัยโรมัน และ เป็นที่บรรจุศพของทั้งขุนนางและคนธรรมดา แต่การได้รับการบรรจุภายในตัวมหาวิหารถือกันว่าเป็นสิ่งที่มีเกียรติเพราะความที่ได้ใกล้ชิดกับนักบุญต่างที่มีมงคลวัตถุเก็บรักษาไว้ภายในมหาวิหาร ผู้ที่ไม่มีเกียรติยศเท่าใดนักก็จะได้รับการฝังใกล้มหาวิหาร

ภายในมหาวิหารจะมีอนุสรณ์ของเจ้าชายยูจีนแห่งซาวอย [[PES]] แม่ทัพสูงสุดของกองทัพของพระจักรพรรดิในสงครามสืบราชบัลลังก์สเปนใน “ชาเปลกางเขน” (Chapel of The Cross) (มุมตะวันตกเฉียงเหนือของมหาวิหาร) และของจักรพรรดิฟรีดริชที่ 3 [[Fr3]] ในรัชสมัยของพระองค์เวียนนาได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นมุขมณฑลอิสระจากมุขมณฑลพัสเซาเมื่อวันที่ 18 มกราคม ค.ศ.1469 (มุมตะวันออกเฉียงใต้ของมหาวิหาร) การก่อสร้างอนุสรณ์ใช้เวลากว่า 45 ปีโดยเริ่มราว 25 ปีก่อนที่จะเสด็จสวรรคต โลงหินอันโอฬารนี้สร้างด้วยหินอ่อนเนื้อแน่นกว่าปกติสีแดงที่พบที่เหมืองอัดเนท แกะสลักโดยนิโคเลาส์ แกร์ฮาร์ท ฝาโลงเป็นพระรูปของจักรพรรดิฟรีดริชทรงเครื่องทรงชุดราชาภิเษกล้อมรอบด้วยตราอาร์มของราชอาณาจักรต่างที่อยู่ภายใต้พระราชอำนาจ อนุสรณ์มีประติมากรรมรูปคน 240 รูปที่แสดงถึงความรุ่งเรืองของการสร้างงานประติมากรรมของยุคกลาง

 
อนุสรณ์พระบรมศพจักรพรรดิฟรีดริชที่ 3

เมื่ออัฐิสถาน และสุสานแปดสุสานที่ติดกับกำแพงด้านข้างและหลังของมหาวิหารปิดลงเพราะการระบาดของกาฬโรค กาฬโรค ในปี ค.ศ. 1735 กระดูกที่ขุดขึ้นมาจากสุสานเหล่านี้ก็ถูกนำไปเก็บไว้ในสุสานใต้ดินใต้วัด การบรรจุศพภายในสุสานใต้ดินโดยตรงเริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 1783 เมื่อกฎหมายที่ออกใหม่ระบุห้ามการฝังภายในตัวเมือง ภายในสุสานใต้ดินที่ไม่เปิดให้ชมมีศพกว่า 11,000 คน นอกจากนั้นชั้นล่างใต้ดินของวัดก็ยังเป็นที่บรรจุศพของบิชอป ผู้มีตำแหน่งหน้าที่ทางศาสนา และดยุก ศพสุดท้ายที่บรรจุไว้ในคริพท์ที่สร้างเสร็จในปี ค.ศ. 1952 ทางต้อนใต้ของบริเวณร้องเพลงสวดที่เป็นศพของคาร์ดินัลฟรันซ์ เคอนิกในปี ค.ศ. 2004 ที่บรรจุศพของดยุกแห่งเวียนนา (Ducal Crypt) ตั้งอยู่ภายใต้บริเวณพิธีมีที่บรรจุสัมริด 78 อันที่บรรจุร่าง, หัวใจ หรือ อวัยวะภายในของสมาชิกในราชวงศ์ฮับส์บวร์ก 72 พระองค์ ก่อนหน้าที่จะเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1365 รูดอล์ฟที่ 4 ดยุกแห่งออสเตรียสั่งให้สร้างคริพท์สำหรับบรรจุร่างของตนเองในมหาวิหารที่ได้สั่งให้สร้าง เมื่อมาถึงปี ค.ศ. 1754 ห้องสี่เหลี่ยมเล็กๆ นี้ก็ล้นไปด้วยโลงหิน 12 โลงและโกฐอีก 39 โกฐ บริเวณนี้จึงได้รับการขยายโดยเพิ่มห้องรูปไข่ติดกับด้านตะวันออกของห้องเดิม ในปี ค.ศ. 1956 ห้องทั้งสองนี้ก็ได้รับการบูรณะและสิ่งที่บรรจุอยู่ก็ได้รับการจัดเรียบเรียงใหม่ โลงหินของดยุกรูดอล์ฟและภรรยาได้รับการวางไว้บนแท่น และโกฐ 62 โกฐที่ใช้บรรจุอวัยวะก็ถูกย้ายจากชั้นสองชั้นภายในห้องใหม่ไปไว้ในตู้ในห้องเดิม

ออร์แกน แก้

มหาวิหารเซนต์สตีเฟนมีออร์แกนเก่าที่กล่าวถึงเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1334[8][9] หลังจากเพลิงไหม้ในปี ค.ศ. 1945 มิคาเอล คอฟฟ์มันน์ก็สร้างออร์แกนไฟฟ้าใหม่ที่เสร็จในปี ค.ศ. 1960 ที่มี 125 เสียง, 4 manuals และ 9000 ท่อโดยทุนเงินบริจาคจากสาธารณชน[10] ในปี ค.ศ. 1991 ออร์แกนสำหรับบริเวณร้องเพลงสวดก็ได้รับการสร้างโดยบริษัทออสเตรียชื่อบริษัทสร้าออร์แกนรีเกอร์ (Rieger Orgelbau) ออร์แกนนี้เป็นออร์แกนเครื่อง (mechanical organ) ที่มี 56 เสียงและ 4 manuals[11]

การอนุรักษ์และการบูรณปฏิสังขรณ์ แก้

 
นั่งร้านบนหอบนใต้ของมหาวิหารเซนต์สตีเฟนระหว่างการบูรณปฏิสังขรณ์ในปี ค.ศ. 2006
 
พระเยซูในสวนเกทเสมนี หลังจากการบูรณะ

การอนุรักษ์และการบูรณปฏิสังขรณ์มหาวิหารที่สร้างในยุคกลางเช่นมหาวิหารเซนต์สตีเฟนเป็นกระบวนการที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องกันมาโดยตลอดตั้งแต่การเริ่มก่อสร้างในปี ค.ศ. 1147 เป็นต้นมา

หินปูนที่เป็นหินที่เป็นโพรงพรุนได้รับอันตรายจากสภาวะอากาศ ซึ่งถ้าเคลือบด้วยวัตถุเช่นซิลิโคนก็จะเป็นการกักความชื้นให้ขังอยู่ในตัวหินและจะทำให้หินร้าวได้ง่ายเมื่อน้ำที่ขังอยู่ขยายตัวเมื่อเปลี่ยนตัวเป็นน้ำแข็งในฤดูหนาว “Dombauhütte” (ไทย: แผนกก่อสร้าง) ของมหาวิหารใช้วิธีล่าสุดทางวิทยาศาสตร์ (รวมทั้งเลเซอร์) ในการทำความสะอาดงานหินอันละเอียดอ่อน และในการสืบสวนกระบวนการในการอุดโพรงหินด้วยสิ่งที่กันจากการซึมของน้ำเข้าไปในเนื้อหิน

งานซ่อมที่เห็นได้ชัดที่สุดของโครงการซ่อมแซมล่าสุดคือการการบูรณปฏิสังขรณ์หอใต้ โดยการติดตั้งนั่งร้าน ทางโครงการพยายามหาทุนสนับสนุนโครงการโดยการติดตั้งป้ายโฆษณาบนนั่งร้านแต่ก็ถูกประท้วงจนต้องยุติลงไป เมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ. 2008 งานซ่อมส่วนใหญ่ของหอใต้ก็สำเร็จลง และนั่งร้านส่วนใหญ่ก็ได้รับการถอดออก

การทำความสะอาดภายในอย่างเป็นระบบก็ค่อยๆ เริ่มทำรอบผนัง และ ภายนอกที่เป็นงานประติมากรรมนูนของพระเยซูในสวนเกทเสมนีก็ยังอยู่ในระหว่างการบูรณะ

เมื่อไม่นานมานี้ทางมหาวิหารก็ได้ทำโครงการยักษ์สำเร็จที่เป็นโครงการที่ทั้งผู้มาเยี่ยมเยือนและมาสักการะมหาวิหารต้องการมาตั้งแต่การสร้างมหาวิหารในปี ค.ศ. 1147 นั่นคือระบบการทำความร้อนภายในตัวมหาวิหารระหว่างฤดูหนาว ระบบเดิมที่ใช้ใช้เตาผิงซึ้งทิ้งเขม่าไฟและไขมันไว้บนงานศิลปะ แต่ระบบใหม่ใช้เครื่องมือตามจุดต่างๆ เพื่อที่จะลดการหมุนเวียนของอากาศให้น้อยที่สุดเพื่อที่จะไม่ส่งผงพิษที่เป็นอันตรายต่อสิ่งก่อสร้างและงานศิลปะ ในปัจจุบันระบบการทำความร้อนรักษาอุณหภูมิให้อยู่ในระดับราว10 °C (50 °F).

งานวาดทางสถาปัตยกรรมที่วาดขึ้นในยุคกลางบนกระดาษยาว 15 ฟุตบอบบางเกินกว่าที่จะจับต้องได้ ทางมหาวิหารจึงใช้เลเซอร์วัดเพื่อสร้างหุ่นจำลองสามมิติของมหาวิหารที่เก็บไว้ในคอมพิวเตอร์เพื่อที่จะได้นำมาใช้ในการจำลองโครงการต่างๆ ในอนาคตได้อย่างรวดเร็ว เมื่องานหินที่ได้รับความเสียหายจากสภาวะอากาศจำเป็นที่จะต้องได้รับการซ่อมแซมหรือใส่หินก้อนใหม่แทน คอมพิวเตอร์ก็สามารถที่จะสร้างจำลองขนาดเท่าของจริงให้ช่างหินเก้าคนที่ทำงานอยู่บนกำแพงทางด้านเหนือของมหาวิหารได้ทันทีโดยไม่ต้องรอคอยเป็นเวลานานเช่นในสมัยก่อน

ระเบียงภาพ แก้

อ้างอิง แก้

  1. "The City Of Vienna". Catholic Encyclopedia. สืบค้นเมื่อ November 26, 2007.
  2. 2.0 2.1 "Stephansdom". Österreich-Lexikon. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-01-21. สืบค้นเมื่อ November 26, 2007. (...) History of Construction: First (?) construction 1137, consecrated 1147, completed as parish church (in possession of the bishopric of Passau) in 1160 (lower floors of the eastern "Heidentürme" and lower parts of the wall divisions are still extant). The various princes subsequently tried to found an independent diocese at St. Stephen's. Vienna was finally granted the status of a diocese in 1469 and St. Stephen's became a cathedral; metropolitan church of the archdiocese since 1723. (...)
  3. "Viennese Ells". July 2007. สืบค้นเมื่อ November 14, 2007.
  4. Twaroch, Franz (2002). "Die Maßstäbe am Wiener Stephansdom". Wiener Geschichtsbiatter (ภาษาเยอรมัน). Vienna. 57.
  5. Haiden, Susanne; Pastner, Ingrid (July 2007). "Normen und Regelungen - Übung „St. Stephan im Mittelalter" (ภาษาเยอรมัน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (Ms Powerpoint)เมื่อ 2004-06-27. สืบค้นเมื่อ November 14, 2007.
  6. It is often mistakenly stated that Mozart died poor and so was buried in an unmarked pauper's grave. The truth is that under burial laws decreed in 1784, all — rich or poor — were required to be buried unembalmed and without coffins in communal graves. These laws were still in effect when Mozart died in 1791.
  7. The Muslims invaded in 1529 and again in 1683, but were turned back from Europe both times by the resistance of Vienna to the sieges it endured.
  8. "Die Orgel im Stephansdom" (ภาษาเยอรมัน). "Rettet den Stephansdom" - Verein zur Erhaltung des Stephansdoms. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-01-06. สืบค้นเมื่อ January 1, 2013.
  9. Lade, Günter (1990). Orgeln in Wien. Wien: Selbstverl. p. 295. ISBN 3950001700.
  10. "St Stephan's Church: Main organ". Catalogue entry. International Organ Foundation. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-08-18. สืบค้นเมื่อ January 1, 2013.
  11. "St Stephan's Church: Choir organ". Catalogue entry. International Organ Foundation. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-08-18. สืบค้นเมื่อ January 1, 2013.

บรรณานุกรม แก้

  • Böker, Johann J. (2007). Der Wiener Stephansdom in der Spätgotik (First ed.). Salzburg: Pustet. p. 432. ISBN 978-3-7025-0566-0.
  • Donin, Richard Kurt (1952). Der Wiener Stephansdom und seine Geschichte (ภาษาเยอรมัน). Vienna: A. Schroll. ASIN B0000BHI6S.
  • Feuchtmüller, Rupert; Kodera, Peter (1978). Der Wiener Stephansdom (ภาษาเยอรมัน). Vienna: Wiener Dom-Verl. p. 420. ISBN 3-85351-092-2.
  • Gruber, Reinhard H.; Bouchal, Robert (2005). Der Stephansdom: Monument des Glaubens (ภาษาเยอรมัน). Vienna: Pichler Verlag. ISBN 3-85431-368-3.
  • Gruber, Reinhard H. (1998). St. Stephan's Cathedral in Vienna. Vienna: St. Stephan's Cathedral. ASIN B001OR6HQ4.
  • Macku, Anton (1948). Der Wiener Stephansdom: Eine Raumbeschreibung (ภาษาเยอรมัน). Vienna: F. Deuticke. p. 30.
  • Meth-Cohn, Delia (1993). Vienna: Art and History. Florence: Summerfield Press. ASIN B000NQLZ5K.
  • Riehl, Hans (1926). Der St. Stephansdom in Wien (ภาษาเยอรมัน). Vienna: Hrsg. von der Allgemeinen vereinigung für christliche kunst. p. 64.
  • Strohmer, Erich V. (1960). Der Stephansdom in Wien (ภาษาเยอรมัน). Vienna: K.R. Langewiesche. ASIN B0000BOD4J.
  • Toman, Rolf (1999). Vienna: Art and Architecture. Cologne: Könemann. ISBN 978-3829020442.
  • Zykan, Marlene (1981). Der Stephansdom (ภาษาเยอรมัน). Vienna: Zsolnay. p. 301. ISBN 3-552-03316-5.

ดูเพิ่ม แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ มหาวิหารเซนต์สตีเฟน   วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ ภายนอก   วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ ภายใน   วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ แท่นเทศน์