แม่พระและพระกุมาร

แม่พระและพระกุมาร (อังกฤษ: Madonna and Child; อิตาลี: Madonna col Bambino) เป็นรูปเคารพที่สำคัญที่สุดรูปหนึ่งในศาสนาคริสต์ เป็นรูปของพระนางมารีย์พรหมจารี (ซึ่งชาวคาทอลิกเรียกว่าแม่พระ) และพระกุมารเยซู (พระเยซูเมื่อทรงพระเยาว์)

“แม่พระและพระกุมาร” โดย ฟิลลิปโป ลิปปี (Filippo Lippi)

ที่มาและประวัติ แก้

มาดอนน่า ในภาษาอิตาลีสมัยกลางหมายถึงสตรีผู้สูงศักดิ์หรือมีความสำคัญ และเป็นคำที่ใช้เรียกแทนรูปเคารพของพระนางมารีย์พรหมจารี คำว่า “Madonna” แปลว่าพระแม่เจ้าของข้าพระองค์ (My Lady) ซึ่งเป็นการเน้นความใกล้ชิดของผู้เคร่งครัดซึ่งเปรียบได้กับภาษาฝรั่งเศสว่า “Madonna” ซึ่งแปลว่า “Our Lady” ชื่อที่ใช้นี้เป็นการแสดงถึงความนิยมของ “ลัทธิบูชาพระแม่มารีย์” และการแพร่หลายของภาพวาดของพระแม่ที่สร้างเพื่อสนองความต้องการของ “ลัทธิบูชาพระแม่มารีย์” ในยุคกลาง คำว่า “Madonna” กลายมาเป็นที่ยอมรับกันในหลายภาษาในทวีปยุโรป

หลังจากที่มีความขัดแย้งกันในความเหมาะสมของตำแหน่งของพระแม่มารีย์ในนามของ “พระมารดาพระเจ้า” (กรีก: Theotokos) ทางสภาสังคายนาเอเฟซัสครั้งที่หนึ่ง (First Council of Ephesus) ก็ยอมรับตำแหน่งของพระแม่มารีย์ว่าเป็นพระมารดาพระเจ้า รูปเคารพรูปแรกของพระแม่มารีย์และพระกุมารเยซูวาดเมื่อ ค.ศ. 431 เป็นภาพเขียนบนผนังทึ่เก็บศพแบบรังผึ้งพริสซิลลา (Catacomb of Priscilla) ซึ่งเป็นที่เก็บศพใต้ดินสำหรับชาวยิวและคริสต์ศาสนิกชนที่กรุงโรม ซึ่งเป็นรูปพระเยซูทรงดูดนมจากถันของพระแม่มารีย์ขณะเดียวกันก็ทรงมองมาทางผู้ดูรูป[1]

ต่อมาก็มีการสร้างรูปเคารพของพระแม่มารีย์และพระกุมารกันมากทางจักรวรรดิโรมันตะวันออกถึงแม้ว่าจะได้รับความกดดันจากลัทธิทำลายรูปเคารพซึ่งไม่ยอมรับการสร้างหรือการบูชาสัญลักษณ์ทางวัตถุ และรูปที่สร้างก็ถือว่าเป็น “รูปเคารพ” (Idol) รูปที่สร้างในสมัยนี้ยังเป็นรูปลักษณะที่คล้ายคลึง และซ้ำๆ กัน

เมื่อสมเด็จพระสันตะปาปาอกาเปตุสที่ 1 เสด็จไปเยี่ยมกรุงเยรูซาเลมเมื่อปี ค.ศ. 536 ก็ถูกกล่าวหาว่าไม่ทรงเห็นด้วยกับการบูชารูป “แม่พระและพระกุมาร” และการแสดงรูปของพระแม่มารีย์ภายในวัด[2] ภาพเขียนที่นิยมกันทางตะวันออกจะเป็นภาพแสดงให้เห็นพระแม่มารีย์นั่งบัลลังก์และบางทีก็สวมมงกุฏไบเซนไทน์ประดับมุกโดยมีพระเยซูทรงนั่งบนพระเพลา[3]

รูป “แม่พระและพระกุมาร” ทางตะวันตกตอนต้นสมัยกลางก็ทำแบบศิลปะไบแซนไทน์อย่างใกล้เคียง จนมาถึงคริสต์ศตวรรษที่ 12 และ 13เมื่อลัทธิบูชาพระแม่มารีย์เป็นเผยแพร่กันในทวีปยุโรป การสร้างรูป “แม่พระและพระกุมาร” ก็เริ่มมีแบบที่ต่างจากเดิมหลายแบบตามความต้องการของแต่ละลัทธิบูชา รูปสมัยแรกจะเป็นพระแม่มารีย์นั่งบัลลังก์และพระเยซูจะทรงแสดงกิริยาอย่างผู้ใหญ่เช่นยกพระหัตถ์ขึ้นเพื่อประทานพร ในสมัยกอทิกและสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา องค์ประกอบของรูปจะเป็นพระแม่มารีย์นั่งมีพระเยซูบนตักหรือในอ้อมแขน ต่อมาในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 15 ภาพเขียนแบบอิตาลีก็จะมีแม่พระและพระกุมารและนักบุญยอห์นผู้ให้บัพติศมานั่งมอง

รูปปั้นปลายสมัยกอธิคของแม่พระและพระกุมารอาจจะเป็นรูปพระแม่มารีย์ยืนโดยมีพระเยซูอยู่ในอ้อมแขน รูปเคารพที่ใช้แสดงทั่วไปจะแตกต่างจากที่ใช้เป็นการส่วนตัว แบบหลังจะเล็กกว่าและออกแบบเพื่อให้เหมาะสมกับความเคร่งครัดของผู้บูชาภายในห้องสวดมนต์เล็ก ๆ เช่นภาพพระแม่มารีย์ทรงเลี้ยงพระเยซูด้วยนม (Madonna Litta) ซึ่งแบบนี้ส่วนใหญ่จะใช้เป็นการบูชาเป็นส่วนตัว

อ้างอิง แก้

  1. Victor Lasareff, "Studies in the Iconography of the Virgin" The Art Bulletin 20.1 (March 1938, pp. 26-65) p 27f. (“การศึกษารูปสัญลักษณ์ของพระแม่มารีย์” โดยวิกเตอร์ ลาซาเรฟ)
  2. m. Mundell, "Monophysite church decoration" Iconoclasm (Birmingham) 1977, p 72.
  3. As in the fresco fragments of the lower Basilica di San Clemente, Rome: see John L. Osborne, "Early Medieval Painting in San Clemente, Rome: The Madonna and Child in the Niche" Gesta 20.2 (1981), pp. 299-310.

ข้อมูลเพิ่มเติม แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ ภาพเขียนแม่พระและพระกุมาร   วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ รูปปั้นแม่พระและพระกุมาร   วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ พระแม่มารีย์องค์ดำ

  • Metropolitan Museum: The cult of the Virgin Mary in the Middle Ages (ลัทธิบูชาพระแม่มารีย์ในสมัยกลาง)

สมุดภาพ แก้