คลองแสนแสบ
คลองแสนแสบ เป็นคลองที่ขุดขึ้นตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) เพื่อเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำบางปะกงเข้าด้วยกัน เมื่อปี พ.ศ. 2380 ด้วยพระราชประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งอาวุธยุทธภัณฑ์ กำลังรบ และเสบียงอาหารไปยังญวน (เวียดนาม) ในราชการสงครามไทย-ญวน ซึ่งใช้เวลารบนานถึง 14 ปี ใน คือ อานัมสยามยุทธ

คลองแสนแสบเป็นเส้นทางโดยสารที่นิยมเป็นอย่างมากเพราะสะดวกและรวดเร็ว แต่ในปัจจุบันนั้นมีปัญหามลภาวะทางน้ำ ส่งกลิ่นเหม็นเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีการทำลายสิ่งแวดล้อมโดยการทิ้งขยะและสิ่งปฏิกูลลงในแม่น้ำ ทำให้คลองแสนแสบนั้นมีสภาพที่สกปรกไม่น่ามอง
ที่มาของชื่อแก้ไข
สำหรับที่มาของชื่อคลองแสนแสบนั้น มีข้อสันนิษฐานดังนี้
- ว่ากันว่าชื่อคลองที่เรียกว่า "แสนแสบ" นั้นเพราะยุงชุม โดยมีหลักฐานจากบันทึกการเดินทางของนักสำรวจชาวอังกฤษชื่อนาย ดี.โอ. คิง ความว่า "...คลองนี้ยาวถึง 55 ไมล์ เชื่อมนครกรุงเทพฯ กับแม่น้ำบางปะกง บริเวณที่ราบชนบท... คนพื้นเมืองเป็นคนเชื้อสายมาเลย์... ไม่ว่าพวกเขาจะทำอะไรอยู่ก็ตาม มือข้างหนึ่งจะต้องใช้ปัดยุงเสมอ ..."
- เป็นคำที่ยืมมาจากภาษาเขมรว่า "แสสาบ" เพราะในสมัยหนึ่งคนไทยเคยเรียกทะเลว่า "เส" หรือ "แส" ส่วนคำว่า "สาบ" เป็นภาษาเขมรแปลว่า "จืด" คำนี้คนไทยยืมมาใช้เรียกทะเลน้ำจืดว่า "ทะเลสาบ" อย่างที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้น "แสสาบ" หรือที่แปลว่าทะเลน้ำจืด อาจถูกนำมาใช้เรียกคลองน้ำจืดอันกว้างและยาวแห่งนี้ แล้วเพี้ยนเสียงกลายมาเป็น "แสนแสบ" ตามกาลเวลาที่ผ่านไป ประกอบกับในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ไทยได้กวาดต้อนเชลยศึกชาวเขมรมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ย่านบางกะปิเป็นจำนวนมาก ชาวเขมรจึงอาจเรียกคลองที่ไหลผ่านแหล่งชุมชนของตนด้วยภาษาเขมร แล้วเพี้ยนมาเป็นแสนแสบดังที่กล่าวไปแล้ว
- "แสนแสบ" น่าจะเพี้ยนมาจากคำมลายู "เซนแญป" เป็นชื่อเรียกขานของชาวมุสลิมที่ถูกกวาดต้อนมาจากหัวเมืองภาคใต้ สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และมาตั้งบ้านเรือนแถบวัดชนะสงคราม กระทั่งสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อขุดคลองแล้วเสร็จและเสร็จศึกจึงให้มาอยู่ตามแนวคลองนั้น และเนื่องจากเคยอาศัยอยู่ริมคลองใกล้ทะเล กระแสน้ำแรง เมื่อมาอยู่ริมคลองที่น้ำไหลช้า ค่อนข้างนิ่ง จึงเรียกคลองนี้ว่า "สุไหงแซนแญบ" หรือคลองที่เงียบสงบ โดยสุไหงแปลว่าคลองหรือแม่น้ำ และแซนแญบหมายถึงเงียบสงบ ต่อมาจึงเรียกเพี้ยนกันไปเป็นแสนแสบ...............
ผู้ขุดคลองแสนแสบแก้ไข
จากหนังสือพระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 โดยเจ้าพระยาทิพากรวงศ์(ขำ บุนนาค) หัวข้อ 117. ขุดคลองบางขนากและแก้คลองพระโขนง มีข้อความว่า
ครั้นมาถึงเดือน ๒ ขึ้น ๔ ค่ำ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้พระยาศรีพิพัฒนรัตนราชโกษา เป็นแม่กองจ้างจีนขุดคลอง ตั้งแต่หัวหมากไปถึงบางขนาก เป็นทาง ๑,๓๓๗ เส้น ๑๙ วา ๒ ศอก ลึก ๔ ศอก กว้าง ๖ วา ราคาเส้นละ ๗๐ บาท รวมเป็นเงินทั้งค่าต่อไม้ ค่าแก้คลองพระโขนงและค่าขุด รวมเป็นเงิน ๑,๒๐๖ ชั่ง ๑๓ ตำลึง ๒ บาท ๑ สลึงเฟื้อง ขุดอยู่ถึงปีชวดโทศก ศักราช ๑๒๐๒ จึ่งสำเร็จ
ครั้นมาถึง ณ วันอังคาร เดือน ๓ แรม ๑๑ค่ำ[๑] กรมหลวงเทพพลภักดิ์สประชวรลมสิ้นพระชนม์ พระชนม์ได้ ๕๒ พรรษากับ ๖ เดือน
ต่อมาพบหลักฐานจากจดหมายหลวงอุดมสมบัติว่า พระยาศรีพิพัฒนรัตนราชโกษา (ทัด) ทำการขุดคลองอยู่ได้ไม่นาน ประจวบกับมีเหตุการณ์ขบถเมืองไทรบุรี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีพิพัฒนรัตนราชโกษา (ทัด) เป็นแม่ทัพยกไปปราบ เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) จึงรับผิดชอบในด้านการขุดคลองบางขนากนั้นแทน ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่า เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เป็นผู้ควบคุมการขุดคลองแสนแสบ ดังความในจดหมายหลวงอุดมสมบัติว่า
ครั้น ณ วันเดือน 3 แรม 5 ค่ำ เพลาค่ำ ท้าวพระกรุณากลับมาแต่ราชการขุดคลอง ทรงตรัสถามว่า เป็นกระไรออกไปดูที่ขุดคลองได้เห็นแล้วหรือ ท้าวพระกรุณากราบทูลว่า ที่ข้างบางขนากนั้นได้เห็นแล้ว ทรงตรัสว่า ให้ไปดูแลจะให้จัดแจงทำก็จะไม่ได้อยู่ทำ คิดจะเล่นแร่ให้สนุกก็จะไม่ได้เล่น มีการจะต้องไปเสียแล้ว แล้วรับสั่งสั่งท้าวพระกรุณาด้วยราชการเมืองไทรว่าออกไปสักทีหนึ่งเถิด…
ความยาวและเส้นทางแก้ไข
คลองแสนแสบเป็นคลองสำคัญที่เชื่อมต่อจากปลายคลองมหานาค ผ่านย่านสำคัญของกรุงเทพฯ ได้แก่ ย่านมหานาค , ประตูน้ำ ในพื้นที่เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย , เขตดุสิต , เขตปทุมวัน , เขตราชเทวี , เขตวัฒนา , เขตห้วยขวาง , เขตสวนหลวง , เขตบางกะปิ , เขตวังทองหลาง , เขตบึงกุ่ม , เขตคันนายาว , เขตสะพานสูง , เขตมีนบุรี , เขตคลองสามวา และ เขตหนองจอก ไปออกแม่น้ำบางปะกงที่เขตอำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา มีความยาวประมาณ 73.8 กิโลเมตร โดยแรงงานสำคัญของการขุดในช่วงต้น คือ ชาวจีนขุดคลองตั้งแต่ปลายคลองมหานาคไปจนถึงช่วงหัวหมาก และขุดจากคลองบางกะปิไปเชื่อมกับคลองบางขนาก จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นแรงงานจ้างชาวจีน[3]
คลองสาขาแก้ไข
เนื่องจากคลองแสนแสบเป็นคลองหลัก ในการคมนาคมระหว่างลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำบางปะกง จึงมีการขุดคลองซอยขึ้นเป็นจำนวนมาก ดังนี้
คลองซอยฝั่งซ้ายแก้ไขคลองซอยฝั่งซ้ายหมายถึงคลองทางฝั่งทิศเหนือหรือใกล้เคียง เรียงจากปากคลองด้านติดคลองผดุงกรุงเกษมไปทางตะวันออก ได้แก่
|
คลองซอยฝั่งขวาแก้ไขคลองซอยฝั่งขวาหมายถึงคลองทางฝั่งทิศใต้หรือใกล้เคียง เรียงจากปากคลองด้านติดคลองผดุงกรุงเกษมไปทางตะวันออก ได้แก่
|
ดูเพิ่มแก้ไข
อ้างอิงแก้ไข
- ↑ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์(ขำ บุนนาค) (1938-03-17). "117. ขุดคลองบางขนากและแก้คลองพระโขนง". พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3.
- ↑ รศ.ดร. ศานติ ภักดีคำ (2019-09-23). "วัดเทพลีลา วัดของเจ้าพระยาบดินทรเดชา ที่สร้างคราวขุดคลอง "แสนแสบ"". ศิลปวัฒนธรรม.
- ↑ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์(ขำ บุนนาค) (1938-03-17). "117. ขุดคลองบางขนากและแก้คลองพระโขนง". พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3.
แหล่งข้อมูลอื่นแก้ไข
- แผนที่กรุงเทพมหานคร โดย สำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร
คอมมอนส์ มีภาพและสื่อเกี่ยวกับ: คลองแสนแสบ |
พิกัดภูมิศาสตร์: 13°44′57.878″N 100°32′25.035″E / 13.74941056°N 100.54028750°E