พระราชวังปทุมวัน

พระราชวังปทุมวัน เป็นอดีตพระราชวังตั้งอยู่ริมคลองแสนแสบ บริเวณสี่แยกราชประสงค์ฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือ แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร

พระราชวังปทุมวัน
ส่วนหนึ่งของพระราชวังปทุมวันและวัดปทุมวนาราม
ถ่ายในสมัยรัชกาลที่ 4
แผนที่
ข้อมูลทั่วไป
สถานะถูกรื้อถอน
ประเภทพระราชวัง
สถาปัตยกรรมผสมผสาน
ที่ตั้งแขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน
เมือง กรุงเทพมหานคร
ประเทศ ไทย
พิกัด13°44′46″N 100°32′12″E / 13.74611°N 100.53667°E / 13.74611; 100.53667
เริ่มสร้างพ.ศ. 2400
รื้อถอนพ.ศ. 2525

ประวัติ แก้

พระราชวังปทุมวันสร้างขึ้นใน พ.ศ. 2400 ตั้งอยู่ริมคลองแสนแสบ บริเวณสี่แยกราชประสงค์ฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือ แต่เดิมพื้นที่นี้เป็นนาหลวงเรียกว่า ทุ่งบางกะปิ มีบัวหลวงมากมาย เมื่อจะสร้างพระราชวัง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงพระราชทานนามว่า "พระราชวังปทุมวัน" วัตถุประสงค์ในการสร้างเพื่อเป็นที่เสด็จประพาสและให้เป็นที่พักผ่อนของประชาชน โปรดเกล้าฯ ให้ขุดสระใหญ่ 2 สระติดต่อกัน สระด้านทิศเหนือเป็นที่เสด็จประพาส สร้างพลับพลาที่ประทับ มีพระที่นั่ง 2 ชั้น สำหรับประทับแรม ที่ริมสระด้านตะวันตกให้สร้างวัดประจำพระราชวัง ชื่อว่าวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร และให้อาราธนาพระสงฆ์ธรรมยุติกนิกายมาอยู่ตั้งแต่แรกสร้าง สระด้านใต้ให้ประชาชนไปเล่นเรือได้ ดินที่ขุดจากสระให้ทำเป็นเกาะใหญ่น้อยหลายเกาะ แล้วขุดคลองจากคลองแสนแสบมาเชื่อมสระ

เมื่อแรกสร้างพระราชวัง ยังไม่มีถนนไปจากพระนคร ต้องเสด็จโดยทางเรือผ่านคลองแสนแสบ จึงถือว่าห่างไกลจากพระนคร เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปประทับแรมเป็นครั้งแรก จึงต้องมีหมายรับสั่งให้รักษาพระนครเหมือนกับพระองค์เสด็จประพาสตามหัวเมือง

ในสมัยรัชกาลที่ 5 พระที่นั่งที่ประทับชำรุดทรุดโทรม และสระตื้นเขินจนหมด จึงได้พระราชทานให้เป็นโรงทหารและราชการอื่น ๆ ในสมัยรัชกาลที่ 6 และพระราชทานที่ดินนี้แก่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราไชย ซึ่งเสด็จกลับจากศึกษาในต่างประเทศ เพื่อสร้างวังเป็นที่ประทับ เรียกว่า วังเพ็ชรบูรณ์

ปัจจุบัน แก้

ในปี พ.ศ. 2475 เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง วังหลายแห่งถูกคณะราษฎรเข้ายึดครองและตกเป็นสมบัติของรัฐ รวมถึงวังเพ็ชรบูรณ์ด้วย แต่อยู่ในกรรมสิทธิ์ของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์มาโดยตลอด[1][2] ต่อมาบริษัท วังเพ็ชรบูรณ์ จำกัด ของนายอุเทน เตชะไพบูลย์ ได้เช่าที่ดินของวังเพ็ชรบูรณ์และสร้างเป็นห้างสรรพสินค้าเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ และในปี พ.ศ. 2545 กลุ่มเซ็นทรัลรับช่วงมาดูแลศูนย์การค้าแห่งนี้ต่อในชื่อ "เซ็นทรัลเวิลด์พลาซา" และปัจจุบันได้มีการปรับปรุงโครงสร้างใหม่ทั้งหมด และเปลี่ยนชื่อเป็น "เซ็นทรัลเวิลด์"

อ้างอิง แก้

  1. https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=2298898076840544&id=1174884455908584
  2. เด็กดี.คอม (30 กันยายน 2553). "อาถรรพ์วังเพชรบูรณ์ - - สถานที่ตั้งห้างเซนทรัลเวิด์ล". www.dek-d.com. สืบค้นเมื่อ 21 กรกฎาคม 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)