คลองสำโรง

คลองในจังหวัดสมุทรปราการ

คลองสำโรง เป็นคลองที่สำคัญของจังหวัดสมุทรปราการและจังหวัดฉะเชิงเทรา เริ่มจากแม่น้ำเจ้าพระยา ตำบลสำโรงและตำบลสำโรงกลาง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ผ่านพื้นที่อำเภอเมืองสมุทรปราการ อำเภอบางพลี อำเภอบางเสาธง อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ และบรรจบแม่น้ำบางปะกง ตำบลท่าสะอ้าน อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา

คลองสำโรง
ระบบอุทกวิทยา
แอ่งสมุทรมหาสมุทรแปซิฟิก
ระบบแม่น้ำเชื่อมระบบแม่น้ำเจ้าพระยา
กับระบบแม่น้ำภาคตะวันออก
ลุ่มน้ำประธานเชื่อมลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา
กับลุ่มแม่น้ำบางปะกง
ลุ่มน้ำเชื่อมลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาสายหลัก
กับลุ่มที่ราบแม่น้ำบางปะกง
ชื่อแหล่งน้ำคลองสำโรง
ข้อมูลทั่วไป
ประเภทคลองขุด
ต้นน้ำปากคลองสำโรง
ที่ตั้งของต้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา ตำบลสำโรงและตำบลสำโรงกลาง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ
ท้ายน้ำบรรจบแม่น้ำบางปะกง
ที่ตั้งของท้ายน้ำตำบลท่าสะอ้าน อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา

ประวัติ

แก้

สันนิษฐานว่าเป็นคลองที่ขุดขึ้นในสมัยขอมเรืองอำนาจ ระหว่าง พ.ศ. 978–1700[1] มีข้อสันนิษฐานเพิ่มว่า คลองสำโรงอาจเป็นเส้นทางน้ำทางธรรมชาติที่มีมาก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยา จนมีการขุดคลองในสมัยขอมเพื่อใช้เป็นเส้นทางเดินทัพจากเมืองหลวงนครธมมายังดินแดนแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยา บ้างสันนิษฐานว่า คำว่าสำโรงหมายถึง ต้นสำโรง อันเป็นคำที่มาจากภาษาเขมรคำว่า สํโรง (เขมร: សំរោង, อ่านว่า ซ็อมโรง)[2]

ในรัชกาล สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ได้ขุดซ่อมคลองนี้ เมื่อ พ.ศ. 2041 (บ้างระบุ พ.ศ. 2068) เนื่องจากคลองที่ขุดไว้แต่เดิมนั้นตื้นเขิน[3] และมีการขุดพบรูปเทพารักษ์ 2 องค์ในครั้งนี้ ได้แก่ พระยาแสนตาและบาทสังขกร[4] ความว่า

... ขณะนั้นคลองสำโรงที่จะไปคลองศีรษะจระเข้ คลองทับนางจะไปปากน้ำ เจ้าพญาตื้น เรือใหญ่จะเดินไปมาขัดสน จึงให้ชำระขุดได้รูปเทพารักษ์ 2 องค์หล่อด้วยสัมฤทธิ จารึกองค์หนึ่งชื่อพญาแสนตา องค์หนึ่งชื่อบาทสังฆกรในที่ร่วมคลองสำรงกับคลองทับนางต่อกัน จึงให้พลีกรรมแล้วออกมาปลูกศาลเชิญขึ้นประดิษฐานไว้ ณ เมืองพระประแดง ...

[5]

คลองสำโรงอาจมีการตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่สมัยอยุธยา แต่ยังไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด สุนทรภู่ได้เดินทางผ่านคลองสำโรงเมื่อ พ.ศ. 2352 ดังปรากฏในนิราศเมืองแกลง ได้พบชุมชนเป็นช่วง ๆ อย่างเช่น ทับนางเป็นชุมชนเกษตรกรรมปลูกข้าว และบางพลีเป็นชุมชนการค้า เป็นต้น[6]

ในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ คลองสำโรงใช้เพื่อสนับสนุนการทำสงครามกับเขมร-เวียดนาม และการขนส่งสินค้า เช่น น้ำตาลและข้าว จากพื้นที่แถบตะวันออกทางจังหวัดฉะเชิงเทราสู่ท่าเรือที่กรุงเทพ[7]

สภาพทางกายภาพ

แก้

คลองสำโรงมีระยะทางยาวประมาณ 55 กิโลเมตรเศษ สำหรับความกว้างของคลองสำโรง ช่วงที่กว้างที่สุดอาจกว้างได้ถึง 50 เมตร และมีความลึกโดยประมาณ 4–5 เมตร

เนื่องจากคลองสำโรงเป็นคลองที่สำคัญ จึงทำให้มีสะพานข้ามคลองสำโรงบริเวณถนนสายสำคัญต่อไปนี้ (เรียงลำดับจากต้นน้ำถึงท้ายน้ำ)

คลองสาขาที่สำคัญ

  • คลองมหาวงษ์ (เชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยา)
  • คลองบางปิ้ง (คลองปากน้ำ เชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยา)
  • คลองตาจัน
  • คลองสามแพรก
  • คลองหนามแดง
  • คลองตายม
  • คลองทับนาง
  • คลองหนองกระทุ่ม
  • คลองหนามแดงเดชะ
  • คลองปลัดเปรียง
  • คลองหลวงแพร่ง
  • คลองตัน
  • คลองหนองบัว
  • คลองบางแก้วใหญ่
  • คลองบางแก้วน้อย
  • คลองเสือตาย
  • คลองขุด (เลียบถนนกิ่งแก้วและถนนตำหรุ-บางพลี เชื่อมคลองชายทะเล)
  • คลองบางพลี (คลองลาดกระบัง เชื่อมคลองประเวศบุรีรมย์)
  • คลองบัวคลี่
  • คลองกู้พารา
  • คลองอ้อมบางปลา
  • คลองบางเรือน
  • คลองบางปลา (เชื่อมอ่าวไทย)
  • คลองส่งน้ำสุวรรณภูมิ (เชื่อมอ่าวไทย)
  • คลองสี่ศอก
  • คลองเจริญราษฎร์ (เชื่อมอ่าวไทย)
  • คลองนาเกลือ
  • คลองปั้นหยา
  • คลองด่าน (เชื่อมอ่าวไทย)
  • คลองบางโฉลง
  • คลองบางน้ำจืด
  • คลองจระเข้ใหญ่ (คลองหัวตะเข้ เชื่อมคลองประเวศบุรีรมย์)
  • คลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต (เชื่อมคลองแสนแสบ)
  • คลองบ้านระกาศ
  • คลองบางพลีน้อย
  • คลองหอมศีล
  • คลองชายทะเล (เลียบถนนสิริโสธรและถนนสุขุมวิท เชื่อมคลองบางปิ้ง)

อ้างอิง

แก้
  1. คลองสำโรง สายน้ำแห่งชีวิตของชาวบางพลี, "บางพลี...นามนี้มีที่มา", หน้า 8–9. เล่าเรื่อง..บางพลี..วิถีมรดกไทย.. (เอกสารแจกฟรี) โดย สำนักงานเทศบาลตำบลบางพลี
  2. "บันทึกชุมชนบางพลีและคลองสำโรง ชีวิตและการเปลี่ยนแปลงของคนกับคลอง" (PDF). Greenpeace Thailand. p. 6.
  3. สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๓๓ / เรื่องที่ ๓ คลอง / คลองขุดในประเทศไทย
  4. สุจิตต์ วงษ์เทศ. "แม่น้ำเจ้าพระยา ได้ชื่อ "เจ้าพระยา" จากเทวรูป พบที่คลองสำโรง สมุทรปราการ". มติชน.
  5. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระจักรพรรดิพงษ์ (จาด) (กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2533), 18. พระราชพงศาวดารฉบับนี้ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ สันนิษฐานว่าเป็นพระราชพงศาวดารที่ชำระในสมัยราชวงศ์บ้านพลูหลวง
  6. พิมพ์อุมา โตสินธพ. "คลองเชื่อมกับพัฒนาการของชุมชนในลุ่มแม่น้ำบางปะกง ระหว่าง พ.ศ. 2420-2500" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร.
  7. วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. "จากปากน้ำถึงสมุทรปราการ เมืองหน้าด่านชายทะเล". มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-07-22. สืบค้นเมื่อ 2022-01-05.