คลองด่าน (จังหวัดสมุทรปราการ)
คลองด่าน หรือเดิมเรียกว่า คลองบางเหี้ย เป็นคลองในท้องที่ตำบลบางบ่อ ตำบลบางเพรียงและตำบลคลองด่าน อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ ไหลลงสู่อ่าวไทย มีความยาวประมาณ 14.7 กิโลเมตร มีความจุคลองประมาณ 2.97 ล้านลูกบาศก์เมตร[1]
ประวัติ
แก้บริเวณบางเหี้ยเป็นชุมชนเก่าแก่สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ว่ากันว่าบรรพบุรุษของชาวชุมชนนี้ส่วนหนึ่งเป็นชาวมอญที่อพยพมาจากพม่าเมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 เหตุที่เรียกว่า บางเหี้ย เพราะบริเวณนี้อุดมสมบูรณ์ไปด้วยกุ้ง หอย ปู ปลา จึงมีเหี้ยอาศัยอยู่มาก
สุนทรภู่ได้แต่ง นิราศเมืองแกลง ระหว่างการเดินทางไปเมืองแกลงเมื่อ พ.ศ. 2350 มีความตอนหนึ่งถึงคลองบางเหี้ยว่า
ถึงชะวากปากคลองเป็นสองแพร่ง | น้ำก็แห้งสุริยนก็หม่นหมอง | |
ข้างซ้ายมือนั้นแลปากตะครอง | ข้างขวาคลองบางเหี้ยทะเลวน |
คลองบางเหี้ยเป็นเส้นทางสัญจรสายหลักของชาวบางบ่อ บางเพรียง และบางเหี้ย จนในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีการสร้างประตูน้ำกั้นคลองบางเหี้ย ชื่อประตูคลองด่าน เพื่อป้องกันน้ำเค็มล้นเข้ามาทำลายพืชผลทางการเกษตร[2]
ส.พลายน้อย ได้เขียนเกี่ยวกับคลองบางเหี้ยไว้ว่า "แม่น้ำนี้เป็นแม่น้ำโบราณ คลองสำโรงมาบรรจบกับแม่น้ำนี้ตรงที่ว่าการอําเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อความเข้าใจและเป็นหลักฐานว่าชื่อแม่น้ำบางเหี้ยเคยเป็นชื่ออําเภอจะขอกล่าวถึงความเป็นมาไว้ด้วย ในสมัยโบราณทั้งคลองสําโรงและแม่น้ำบางเหี้ย น้ำทะเลจะเข้าถึงตลอดทั้งปี ทําให้ประชาชนเดือดร้อน ต้องหาแหล่งน้ำจืดบริโภค…"[3]
เนื่องจากคำว่า เหี้ย เป็นคำหยาบและดูอัปมงคล ภายหลังจึงมีการเปลี่ยนชื่อภูมิศาสตร์ที่เกี่ยวข้องอย่างคลองบางเหี้ยเป็นคลองด่าน และตำบลบางเหี้ยเป็นตำบลคลองด่านเป็นต้น[4] ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม หากใครเรียกคลองด่านว่า บางเหี้ย และทางการได้ยินก็จะถูกปรับเงิน[5]
เหตุที่ได้ชื่อว่า คลองด่าน น่าจะเกี่ยวข้องกับการที่พื้นที่บริเวณประตูน้ำบางเหี้ยนั้นมีด่านเก็บภาษีเรือที่ผ่านเข้าออกผ่านคลองที่ไหลจากทิศเหนือของตำบลลงสู่อ่าวไทย[6]
สถานที่สำคัญ
แก้ชุมชนริมคลองบางเหี้ยมีวัดอยู่ 2 วัด ได้แก่ วัดบางเหี้ยบนหรือวัดบางเหี้ยใน (ปัจจุบันคือวัดโคธาราม) เป็นวัดน้ำจืดเพราะอยู่เหนือประตูน้ำ และวัดบางเหี้ยล่างหรือวัดบางเหี้ยนอก (ปัจจุบันคือวัดมงคลโคธาวาส) เป็นวัดน้ำเค็มเพราะอยู่ใต้ประตูน้ำ วัดนี้มีหลวงพ่อปานเป็นเกจิอาจารย์ชื่อดัง ทั้ง 2 วัด ชาวคลองด่านมีประเพณีอัญเชิญรูปหล่อหลวงพ่อปานจากวัดมงคลโคธาวาส ลงเรือแห่ไปตามลำคลองคลองด่านออกไปทางปากอ่าว[7]
วัดอื่นที่ตั้งอยู่ริมคลอง ได้แก่ วัดสว่างอารมณ์ซึ่งตั้งอยู่ปากคลอง และวัดสร่างโศก
อ้างอิง
แก้- ↑ "รายงานแผนแม่บทการพัฒนาลุ่มน้ำระดับจังหวัดสมุทรปราการ" (PDF). สำนักบริหารโครงการกรมชลประธาน. pp. 2–2. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2022-07-20. สืบค้นเมื่อ 2022-06-02.
- ↑ ปิ่น บุตรี. "เรื่องเหี้ยๆที่คลองด่าน(1) -ตอน : ย้อนอดีต"บางเหี้ย"". ผู้จัดการออนไลน์.
- ↑ "เหี้ยเป็นสัตว์ที่คนรังเกียจ แต่ทำไมสมุทรปราการ มีแม่น้ำ-วัด-อำเภอชื่อ "[บาง]เหี้ย"". ศิลปวัฒนธรรม.
- ↑ "พระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนนามอำเภอและตำบลบางแห่ง พุทธศักราช ๒๔๘๓" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 57: 263–267. 30 กรกฎาคม 2483. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-11-14. สืบค้นเมื่อ 2022-06-03.
- ↑ ปิ่น บุตรี. "เรื่องเหี้ยๆที่คลองด่าน(จบ) :ตอน - โครงการอัปยศ". ผู้จัดการออนไลน์.
- ↑ "กราบ "หลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย" ที่วัดมงคลโคธาวาส ตำบลคลองด่าน อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ ตำนานของผู้สร้าง "เขี้ยวเสือแกะ" จักพรรดิ์ของเครื่องรางแห่งสยาม".
- ↑ "สมุทรปราการ ชาวคลองด่านแห่หลวงพ่อปานลงทะเลตามประเพณีความเชื่อของชาวเรือ". ทีซีนิวส์สเตชั่น.[ลิงก์เสีย]