คลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต

คลองในจังหวัดฉะเชิงเทราและสมุทรปราการ

คลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต หรือ คลองเจ้า เป็นคลองชลประทานที่เชื่อมระหว่างคลองแสนแสบ คลองสิบเจ็ด คลองนครเนื่องเขต คลองประเวศบุรีรมย์ และคลองสำโรง เป็นคลองขนาดใหญ่กว้าง 40–60 เมตร ไหลเชื่อมในแนวเหนือ–ใต้ผ่านพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทราและจังหวัดสมุทรปราการ มีความยาวจากคลองประเวศบุรีรมย์ถึงคลองสำโรง 14.5 กิโลเมตร

คลองพระองค์เจ้าไชยานุชิตขุดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพงษาดิศรมหิป พระราชโอรสพระองค์ที่ 55 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งพระองค์เจ้าไชยานุชิตทรงรับราชการกรมชลประทาน เมื่อ พ.ศ. 2430 ทรงอำนวยการขุดคลองตั้งแต่คลองสิบสี่ถึงคลองยี่สิบเอ็ดในจังหวัดฉะเชิงเทรา

คลองพระองค์เจ้าไชยานุชิตเป็นคลองสำคัญที่ใช้ระบายน้ำหลักจากคลองแสนแสบ คลองนครเนื่องเขต คลองประเวศบุรีรมย์ และคลองสำโรง เพื่อช่วยเหลือแบ่งเบามวลน้ำฟากตะวันออกของกรุงเทพมหานคร ไหลลงสู่อ่าวไทย แต่ปัญหาในการระบายน้ำออกจากคลองพระองค์ไชยานุชิตลงสู่ทะเลยังมีปัญหา เนื่องจากทางเดินของน้ำไม่สะดวกเพราะลำคลองช่วงพื้นที่ตำบลคลองหลวงแพ่งเป็นคอขวดที่ลีบและเล็ก[1] คลองมีประตูน้ำ สร้างเพื่อป้องกันน้ำท่วมและกักน้ำ ทำให้ไม่สามารถสัญจรทางน้ำได้[2]

สถานที่สำคัญที่ตั้งอยู่บริเวณริมคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต ได้แก่ วัดแครายวงศ์มณี วัดคลองเจ้า วัดสุทธาวาส วัดขวัญสะอาด วัดกาหลง วัดสุคันธาวาส มัสยิดยามีอุ้ลอีบาดะห์ ศาลเจ้าปึงเถ่ากง (ตลาดปากคลองเจ้า จ.สมุทรปราการ) โรงเรียนตลาดปากคลองเจ้า โรงเรียนบ้านคลองเจ้า โรงเรียนแพ่งพิทยาภูมิ โรงเรียนคลองสะบัดจาก และยังมีตลาดน้ำคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต ภายในตลาดมีอาหารคาวหวาน ขนมไทย ผักผลไม้ในท้องถิ่นหลากหลายชนิด มีปลาสวายหลายพันตัวในคลอง[3]

อ้างอิง

แก้
  1. เรือนอินทร์ หน้าพระลาน. "ชุมชนคนท้องถิ่น : คลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต". คมชัดลึก.
  2. วีระ ลีลาพัฒนภูติ และนิติชาญ ปลื้มอารมย์. "การวางแผนป้องกันการบุกรุกพื้นที่และพัฒนาสภาพภูมิทัศน์คลองพระองค์เจ้าไชยานุชิตและคลองสาขา จังหวัดสมุทรปราการ". วารสารวิชาการคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล.
  3. "ตลาดน้ำคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต Khlong Chao Chaiyanuchit Floating Market 差亚怒斥运河水上市场". สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬา จังหวัดสมุทรปราการ.