ย่านบางกะปิ
ย่านบางกะปิ เป็นย่านการค้าแห่งหนึ่งในเขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร มีศูนย์กลางอยู่บริเวณตลาดบางกะปิ มีตลาดย่อย รวม 5 ตลาด เป็นของกรุงเทพมหานคร 2 ตลาด ได้แก่ ตลาดบางกะปิ และตลาดบางกะปิ 3 และตลาดเอกชน 3 ตลาดคือ ตลาดลาดพร้าว 123 ตลาดนัดบางกะปิ และตลาดอาภาพร[1] มีห้างสรรพสินค้า ได้แก่ เดอะมอลล์ แมคโคร โลตัส ตะวันนา และพันธุ์ทิพย์ พลาซ่า รวมถึงมีตลาดแฮปปี้แลนด์และต่อยอดเฟรช[2]
ประวัติ
แก้ทุ่งบางกะปิ
แก้แต่ก่อนนั้นบางกะปิเป็นทุ่งกว้าง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทุ่งหลวง ที่มีอาณาบริเวณตั้งแต่ใต้กรุงศรีอยุธยาลงมาจนถึงกรุงเทพมหานคร เป็นป่าประเภทป่าบึง (Swamp forest) มีสัตว์ป่าหลายชนิดตั้งแต่เสือ ช้าง กระทิง เก้ง กวาง เนื้อทราย และเนื้อสมัน ทั้งยังเป็นที่อยู่ของนกน้ำนานาชนิด ในเขตทุ่งหลวงนี้ไม่มีผู้คนเข้าไปอยู่อาศัยนอกจากชายขอบ จนเมื่อในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สยามทำสงครามเพื่อขจัดอิทธิพลของญวนที่เข้ายึดครองเขมร พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองแสนแสบ เริ่มมีผู้คนอพยพมาอยู่อาศัยมากขึ้น
ทุ่งบางกะปิมีพื้นที่กว้างขวางมาก ครอบคลุมทั้งย่านคลองจั่นและย่านที่เป็นต้นทางของถนนสุขุมวิทในปัจจุบัน ถูกบุกเบิกเป็นนา บริเวณทุ่งบางกะปิตรงสุขุมวิทมีการตั้งโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ พ.ศ. 2417 ส่วนทุ่งบางกะปิย่านคลองแสนแสบจากคลองหนองจอกออกไป บริเวณทุ่งแสนแสบต่อกับตอนใต้ของทุ่งรังสิตยังปรากฏว่ามีช้างป่าอาศัยอยู่เมื่อ พ.ศ. 2431 ครั้นสำรวจอีกครั้งเมื่อ พ.ศ. 2438 ได้กลายเป็นชุมชนที่อยู่ของชาวบ้าน และแหล่งเพาะปลูกไปแล้ว ส่วนช้างป่าถูกขับไล่ออกไปจนไม่เหลือ
บริเวณคลองแสนแสบ เมื่อมี "เรือขาว" โดยบริษัทนายเลิศ ได้รับความนิยมอย่างมาก ส่วนตามรายทางก็มีตลาดเกิดขึ้นริมคลองหลายแห่ง รวมถึงตลาดบางกะปิ บางกะปิย่านคลองจั่นเริ่มดังขึ้นมาหลังมีการตัดถนนลาดพร้าวและถนนรามคำแหง เกิดเคหะคลองจั่นขึ้นหลังไทยเป็นเจ้าภาพเอเชียนเกมส์ครั้งแรก[3]
ย่านการค้า
แก้ตลาดสดบางกะปิแต่เดิมเป็นเพียงร้านเล็ก ๆ 2–3 ร้าน จน พ.ศ. 2505 สุขาภิบาลบางกะปิได้จัดสร้างอาคารและตลาดสาธารณะขึ้นบนพื้นที่ 5 ไร่ 31 ตารางวา เปิดดำเนินการ พ.ศ. 2507 ขณะเดียวกันเอกชนได้สร้างอาคารพาณิชย์จำนวน 13 ห้อง และเปิดขายในปีต่อมา จน พ.ศ. 2511–2520 ห้างสรรพสินค้าน้อมจิตต์ (ปัจจุบันคือ ศูนย์การค้าเอ็นมาร์คพลาซ่า) ได้เข้ามาดำเนินการเป็นห้างแห่งแรกในย่านนี้ ขณะเดียวกันมีตลาดสดเพิ่มรวมเป็นตลาดสด 3 แห่ง พ.ศ. 2521–2530 เกิดห้างสรรพสินค้าบางกะปิ ต่อมาคือ ห้างซุปเปอร์เซฟ มีการเปิดตลาดแฮปปี้แลนด์เพิ่มอีกแห่ง ย่านบางกะปิจึงเริ่มขยายไปทางทิศตะวันตก ขณะที่แยกลำสาลีหรือทางทิศใต้ของคลองแสนแสบเริ่มมีการขยายตัวของอาคารพาณิชย์และหมู่บ้านจัดสรรเช่นกัน
ระหว่าง พ.ศ. 2531–2540 ย่านบางกะปิมีห้างสรรพสินค้าเพิ่ม คือ ห้างแมคโคร เดอะมอลล์บางกะปิ ห้างสรรพสินค้าบางกะปิคอมเพล็กซ์ และห้างดีเซมเบอร์ รวมถึงตะวันนา[4] ปลายปี พ.ศ. 2545 ห้างเทสโก้โลตัสเข้ามาเปิดในย่านบางกะปิ ซึ่งมีการร่วมทุนกับเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์[5]
การคมนาคม
แก้การคมนาคมมีทั้งทางบกและทางน้ำ โดยทางน้ำมีเรือโดยสารคลองแสนแสบ ส่วนทางบกเชื่อมต่อกับถนนสายสำคัญ คือ ถนนรามคำแหง ถนนลาดพร้าว ถนนศรีนครินทร์ ถนนนวมินทร์ และถนนเสรีไทย เป็นปลายทางของรถประจำทางบริเวณตลาดแฮปปี้แลนด์ และเป็นท่ารถตู้[6] พ.ศ. 2566 มีรถไฟฟ้าสายสีเหลืองที่เปิดให้บริการและในอนาคตจะมีรถไฟฟ้ามหานคร สายสีส้ม[7]
อ้างอิง
แก้- ↑ "เปิดพฤติกรรมแรงงานต่างด้าวตลาดบางกะปิ". พีพีทีวี.
- ↑ "กดปุ่มรถไฟฟ้าสายสีเหลือง จุดพลุย่าน'ลาดพร้าว-สำโรง' ตึกแถวราคาพุ่ง 'อิมพีเรียลเวิลด์'ทุ่มพลิกโฉมรอบ30ปี". มติชน.
- ↑ โรม บุนนาค. "บางกะปิย้ายบาง จากถนนสุขุมวิทไปอยู่คลองจั่น!! เปิดตำนานพื้นที่กรุงเทพฯเป็นป่าชุ่มน้ำมาก่อน!". ผู้จัดการออนไลน์.
- ↑ "ตะวันนา". www.sanook.com/travel. 2002-01-22.
- ↑ รุ่งทิวา ประโยชน์สมบูรณ์. "ผลกระทบจากธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ที่มีต่อสภาพแวดล้อมชุมชน : กรณีศึกษา ย่านบางกะปิ กรุงเทพมหานคร" (PDF). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์.
- ↑ ปิยะมาศ เลิศนภากุล. "อิทธิพลของศูนย์การค้าชานเมืองด้านตะวันออกของกรุงเทพมหานคร : กรณีศึกษาย่านบางกะปิและบริเวณใกล้เคียง" (PDF). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์.
- ↑ "รู้จักย่านบางกะปิแบบเจาะลึก".