คลองสามวา เป็นคลองซึ่งเชื่อมระหว่างคลองหกวาสายล่างกับคลองแสนแสบ เริ่มต้นจากฝั่งตรงข้ามปากคลองหกที่สี่แยกวัดประชุมราษฎร์ในพื้นที่อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี จากนั้นไหลไปทางทิศใต้และทิศตะวันออกเฉียงใต้เมื่อผ่านหลังหมู่บ้านเดอะแพลนท์ วงแหวน-ลำลูกกา จากนั้นไหลไปทางทิศใต้อีกครั้งเข้าสู่กรุงเทพมหานคร ผ่านเขตคลองสามวา และไปบรรจบคลองแสนแสบที่สี่แยกตลาดมีนบุรี (ตลาดเก่า) ตรงข้ามกับปากคลองสองต้นนุ่น ในพื้นที่เขตมีนบุรี มีคลองซอยหลักแปดคลองแบ่งเป็นสองฟาก คือ คลองหนึ่งตะวันตก คลองหนึ่งตะวันออก คลองสองตะวันตก คลองสองตะวันออก คลองสามตะวันตก คลองสามตะวันออก คลองสี่ตะวันตก และคลองสี่ตะวันออก

คลองสามวาช่วงตลาดมีนบุรี

ประวัติ

แก้

คลองสามวาอาจมีชื่อตั้งจากลักษณะความกว้างคลอง โดยในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ ร.ศ. 110 (พ.ศ. 2434) ตามกฎหมายได้กำหนดคลอง 3 ขนาด คือ ขนาดแรก กว้างตั้งแต่สามวาลงมา เป็นคลองขนาดเล็กสุด ขนาดที่สอง กว้างตั้งแต่สี่ถึงหกวา เป็นคลองขนาดกลาง และขนาดที่สาม กว้างตั้งแต่เจ็ดวาขึ้นไป เป็นคลองขนาดใหญ่ คลองที่ขุดใหม่และยังไม่ได้รับพระราชทานชื่อ จึงเรียกชื่อคลองตามขนาดความกว้างของคลองตามที่ได้ขอพระราชทานว่า "คลองสามวา"[1]

จากพระราชนิพนธ์ หนังสือเสด็จประพาสต้นในการเสด็จประพาสเมืองมีนบุรี เมื่อ พ.ศ. 2451 มีความว่า "ลงเรือไปดูคลองสามวา คลองสามวานี้เป็นของกรมภูธเรศขุด แต่เดี๋ยวนี้ใหญ่กว่าสามวามาก ขุดก่อนบริษัทขุดคลองเหนือขึ้นไปจดคลองหกวาสายใต้"[2] จากข้อความดังกล่าวจึงทำให้เข้าใจได้ว่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์เป็นผู้ขุดคลองนี้ บางแหล่งข้อมูลระบุว่าขุดเมื่อ พ.ศ. 2409 แรกขุดลึก 6 ศอก กว้าง 3 วา[3]

เขตคลองสามวาแต่เดิมอยู่ในเขตมีนบุรี ต่อมาประกาศแยกเขตใหม่เมื่อ พ.ศ. 2540 เรียกว่า "เขตคลองสามวา" ตามชื่อคลองนี้

อ้างอิง

แก้
  1. ส.พลายน้อย. แม่น้ำลำคลอง. p. 195.
  2. "เรื่องเสด็จพระพาสคลองแสนแสบ". วัชรญาณ.
  3. "ข้อมูลพื้นฐานของคลองสามวา" (PDF). p. 30.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้