เอนก นาวิกมูล
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
เอนก นาวิกมูล (เกิด 14 มีนาคม พ.ศ. 2496) เป็นนักอนุรักษ์ นักวิชาการ นักประวัติศาสตร์ และนักเขียนสารคดีชาวไทย ผู้ก่อตั้งบ้านพิพิธภัณฑ์ ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติจากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติให้เป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2563
เอนก นาวิกมูล | |
---|---|
เอนก นาวิกมูล ใน พ.ศ. 2560 | |
สารนิเทศภูมิหลัง | |
ชื่อเกิด | เอนก นาวิกมูล |
เกิด | 14 มีนาคม พ.ศ. 2496 จังหวัดสงขลา ประเทศไทย |
อาชีพ | นักอนุรักษ์, นักวิจารณ์, นักวิชาการ, นักประวัติศาสตร์, นักเขียนสารคดี |
ปีที่แสดง | พ.ศ. 2518 - ปัจจุบัน |
เอนก นาวิกมูล เกิดวันเสาร์ที่อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ครอบครัวทำกิจการร้านขายหนังสือแบบเรียน บิดาเป็นนักประดิษฐ์ นักสะสมหนังสือ ปฏิทิน ส.ค.ส. ภาพถ่าย ส่วนตัวจึงชอบถ่ายภาพ ชอบศึกษาค้นคว้า เขียนหนังสือ และเป็นนักสะสมมาตั้งแต่เด็ก
การศึกษา
แก้- ประถมศึกษา จากโรงเรียนบ้านระโนด(ธัญเจริญ) อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา
- มัธยมศึกษาตอนต้น จากโรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา
- มัธยมศึกษาตอนปลาย สายศิลป์-คณิต จากโรงเรียนวรนารีเฉลิม จังหวัดสงขลา ปีพุทธศักราช 2515
- ปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (รัฐศาสตร์ รุ่น 25)
แรกเริ่ม
แก้เอนก เป็นคนที่รักการสะสมแสตมป์ รูปภาพ ถ่ายรูป การเขียนหนังสือและการวาดภาพ วาดการ์ตูนมาตั้งแต่เด็ก ๆ เพื่อน ๆ ในสมัยเรียนต่างชอบอ่านหนังสือการ์ตูน นิทาน ที่เอนกทำขึ้น สมัยที่เรียน มัธยมปลาย เอนก ได้รับมอบหมายให้เป็นสารานียกร หนังสือรุ่น ซึ่งถือเป็นงานหนังสือที่เอนกได้รับผิดชอบและทำได้ดีมากรุ่นหนึ่ง ของโรงเรียนวรนารีเฉลิม เขาเรียนจบปริญญาตรีที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกียรตินิยม จากนั้นทำงานหนังสือพิมพ์ เป็นนักเขียนสารคดีเรื่องทางศิลปวัฒนธรรม เพลงพื้นบ้าน ภายหลังได้ทำงานที่ศูนย์สังคีตศิลป์ ธนาคารกรุงเทพ เชิงสะพานผ่านฟ้าฯ และริเริ่มก่อตั้ง "บ้านพิพิธภัณฑ์" เป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงของใช้เก่าในชีวิตประจำวันของชาวเมืองชาวตลาด ซึ่งหน่วยงานรัฐและคนทั่วไปยังไม่สนใจเก็บรักษา โดยสร้างคำขวัญว่า "เก็บวันนี้ พรุ่งนี้ก็เก๋า"
จนกระทั่งเข้ากรุงเทพฯ ในปี 2515 เข้าเรียนมหาวิทยาลัยก็อยากออกไปสำรวจโลกภายนอก เมื่อไปรู้ไปเห็นเรื่องเก่ามามากเข้า ก็เพลาการเขียนเรื่องสั้นลงไป แล้วหันมามุ่งกับการเขียนสารคดีมากขึ้น เพราะเห็นว่าเมืองไทยขาดแคลนข้อมูลมาก ข้อมูลที่มีอยู่ก็ไม่มีที่มาที่ไป แถมบางทียังขัดกันจนไม่รู้ว่าจะเชื่ออันไหนดี บางเรื่องเป็นเรื่องนอกสายตาที่คนลืมไปแล้ว ก็เขียนลงในนิตยสารหลายเล่ม เริ่มต้นจากวิทยาสาร ปี 2518 โดยในปีนี้เองมีหนังสือสารคดีเป็นของตัวเองเป็นเล่มแรกชื่อ "เพลงยังไม่สิ้นเสียง" เป็นหนังสือที่อาจารย์ให้ทำขึ้นเพื่องานงานหนึ่ง ต่อมาก็เป็นนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ในปี 2522 และมาเขียนให้กับนิตยสารสารคดี ในคอลัมน์ "มุมสะสม" ตั้งแต่ฉบับแรกปี 2528
อะไรเป็นแรงบันดาลใจให้นักรัฐศาสตร์กลายมาเป็นนักเก็บสะสม เอนกเล่าว่า ความที่พ่อเป็นนักเก็บสะสม บวกกับที่เขาเป็นคนชอบอ่านชอบดูมาตั้งแต่เด็ก อยู่ชั้น ป.3 ป.4 ก็นั่งเขียนกลอน ตอน ป.6 ส่งบทกลอนไปที่นิตยสารชัยพฤกษ์ ก็ได้รับการตีพิมพ์เป็นครั้งแรก และเริ่มเขียนเรื่องสั้นตอน ป.7 ทำให้อยากเป็นนักเขียนมากขึ้น แล้วเมื่อขึ้น มศ.1 ก็ประสบความสำเร็จ เมื่อเรื่องสั้น "ปีแห่งกรรม" เป็นเรื่องเกี่ยวกับชาวนาไทย ได้รับรางวัลที่ 1 จากการประกวดเรื่องสั้นทั้งประเทศของนิตยสารชัยพฤกษ์ โดยได้รับอิทธิพลการเขียนและความคิดจากงานประพันธ์ของ น. ณ ปากน้ำ ที่กล่าวถึงการทำลายสถาปัตยกรรม วัดวาอาราม และในช่วงนี้เองครูประจำชั้นก็สอนถ่ายภาพให้
หลังจบการศึกษาจากจุฬาฯ เอนกทำงานหนังสือพิมพ์ เป็นนักเขียนสารคดีเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม เพลงพื้นบ้าน ต่อมาจึงไปทำงานที่เมืองโบราณ สมุทรปราการ เมื่อปีพุทธศักราช 2520 และลาออกไปทำงานที่ศูนย์สังคีตศิลป์ ธนาคารกรุงเทพ เชิงสะพานผ่านฟ้าโดยร่วมงานกับ กวีรัตนโกสินทร์ " คุณเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ " ศิลปินแห่งชาติ ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2527 จนถึงปัจจุบัน ในยุคนั้นได้มีเพื่อนร่วมงานที่มีชื่อเสียงตาม ๆ กันมาอาทิ คุณเจนภพ จบกระบวนวรรณ คุณโดม สุขวงศ์ เป็นต้น
เอนก นาวิกมูล มีผลงานเขียนหนังสือหลายสิบเล่ม (104 เล่ม - ม.ค. 2549) ซึ่งเป็นการค้นคว้า และวิเคราะห์เรื่องราวและภาพถ่ายเก่า จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ และแหล่งอื่น ได้รับรางวัลผู้สนับสนุนการอนุรักษ์มรดกไทยดีเด่น เนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย เมื่อปีพุทธศักราช 2534 และได้รับการยกย่องเป็นนิสิตเก่ารัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยดีเด่น เมื่อปีพุทธศักราช 2536
เอนก เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้ง บ้านพิพิธภัณฑ์ ในปีพุทธศักราช พ.ศ. 2530 เป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงของใช้เก่าๆ ในชีวิตประจำวันของคนไทยในอดีต จำลองบรรยากาศร้านค้าประเภทต่างๆ เช่น ร้านกาแฟ ร้านตัดผม ร้านขายยา ร้านถ่ายรูป ร้านขายหนังสือ นำมาจัดแสดง บ้านพิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่ที่ บ้านเลขที่ 170/17 หมู่ที่ 17 หมู่บ้านคลองโพแลนด์ ซอยคลองโพ 2 ถนนศาลาธรรมสพน์ (ถนนต่อจากถนนพุทธมณฑลสาย 2 ด้านทางรถไฟ) เขตทวีวัฒนา กรุงเทพ 10170 เริ่มเปิดให้เข้าชมตั้งแต่ ปีพุทธศักราช 2544 โดยนิสัยส่วนตัวของเอนก เป็นคนรักความสงบ อ่อนน้อม แต่จริงจังและมีความสุขกับการทำงาน เขาชอบที่จะใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายและสมถะ จึงเป็นที่รักใคร่ของเพื่อนๆ และผู้ที่ได้รู้จัก และเขายังได้มีคติประจำตัวของเอนกนั้นคือ "ศรัทธาเป็นพลัง"
เกียรติยศรางวัล
แก้- ได้รับรางวัล ผู้สนับสนุนการอนุรักษ์มรดกไทยดีเด่น เนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย ในปีพุทธศักราช 2534
- ได้รับการยกย่องเป็นนิสิตเก่ารัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยดีเด่น ประจำปี พุทธศักราช 2536
- ได้รับรางวัล ‘สารคดี’ เกียรติยศ ครั้งที่ 1 ณ.หอศิลป์กรุงเทพมหานคร วันพฤหัสบดีที่ 6 พฤษภาคม พุทธศักราช 2553
- ได้รับรางวัล ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2554 จาก กระทรวงวัฒนธรรม
- ได้รับการยกย่องเป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2563 จากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม[1][2][3]
- ได้รับการยกย่องเป็นนิสิตเก่ารัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยดีเด่น ประจำปี พุทธศักราช 2567 สาขาธุรกิจเอกชน หรือวิชาชีพอิสระ หรือองค์การเอกชนเพื่อสาธารณะประโยชน์ จากสมาคมนิสิตเก่ารัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้- พ.ศ. 2565 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นที่ 4 จตุตถดิเรกคุณาภรณ์ (จ.ภ.)[4]
อ้างอิง
แก้- ↑ อรสม-เอนก-สุดา คว้าศิลปินแห่งชาติ
- ↑ สุดา-รุ่งฤดี ได้ศิลปินแห่งชาติ ยกย่อง "12คน" ทั้งหมด 3 สาขา ประจำปี 2563
- ↑ ‘เอนก นาวิกมูล’ ศิลปินแห่งชาติ ปี 63 : นักเขียนเรื่องเก่าที่หายไป
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ประจำปี ๒๕๖๕, เล่ม ๑๔๐ ตอนพิเศษ ๒ ข หน้า ๗๒, ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๖
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- เอนก นาวิกมูล เก็บถาวร 2007-03-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน นิตยสารสกุลไทย 11 ธันวาคม 2544 โดย นิติกร กรัยวิเชียร
- 'เอนก นาวิกมูล' ชีวิตที่ไม่หยุดแค่นักเขียน เก็บถาวร 2007-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ไทยโพสต์ 27 มกราคม 2545
- painaima.com แนะนำ บ้านพิพิธภัณฑ์ เก็บถาวร 2007-03-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน