ถนนอโศกมนตรี

ถนนอโศกมนตรี (อักษรโรมัน: Thanon Asok Montri) เป็นถนนสายสั้น ๆ ในกรุงเทพมหานคร มีความยาวประมาณ 1.3 กิโลเมตร มีจุดเริ่มต้นที่แยกอโศกมนตรีซึ่งเป็นจุดตัดระหว่างถนนสุขุมวิทกับถนนรัชดาภิเษก (ที่มุ่งหน้ามาจากเขตคลองเตย) มุ่งไปทางทิศเหนือในพื้นที่แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา ข้ามคลองแสนแสบ เข้าพื้นที่แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี ไปสิ้นสุดที่แยกอโศก-เพชรบุรีซึ่งเป็นจุดตัดกับถนนเพชรบุรี ปัจจุบันถนนเส้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของวงแหวนรัชดาภิเษก และตรงไปเป็นถนนอโศก-ดินแดง

ถนนอโศกมนตรีช่วงแยกอโศก
ถนนอโศกมนตรีช่วงด้านหน้ามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

ถนนอโศกมนตรีเดิมมีชื่อเรียกว่า "ซอยสุขุมวิท 21 (ซอยอโศก)" และ "ถนนอโศก" โดยกรุงเทพมหานครได้เปลี่ยนชื่อเป็น ถนนอโศกมนตรี เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2547 ตามข้อเสนอของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เพื่อเป็นเกียรติประวัติแก่พระอโศกมนตรี (เรียม เศวตเศรณี) ซึ่งเป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้อุทิศที่ดินร่วมกับเจ้าของที่ดินรายอื่นและซื้อที่ดินที่เป็นตลาดเดิมมอบให้เทศบาลนครกรุงเทพสร้างถนนสายนี้[1]

สถานที่สำคัญบนถนนสายนี้ มีโรงพยาบาลจักษุรัตนิน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (ประสานมิตร) โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ตึกจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ อาคารสภาวิชาชีพบัญชีฯ และสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์

ประวัติแก้ไข

ทุ่งบางกะปิแก้ไข

แต่เดิมพื้นที่บริเวณถนนอโศกมนตรีเรียกว่า ทุ่งบางกะปิ มีขุนนางและคหบดีเข้ามาซื้อที่ดินเพื่อปลูกบ้านเรือนเนื่องจากจะได้ที่ดินแปลงใหญ่เหมาะสมกับขนาดครัวเรือนและราคาไม่สูงมากเพราะห่างจากตัวเมืองอยู่พอสมควร ผู้คนเดินทางทางเรือโดยใช้คลองแสนแสบจากนั้นต่อรถเจ๊กหรือเดินเท้ามายังบ้านอีกต่อหนึ่ง[2]

เมื่อโรงเรียนกุลสตรีวังหลังเริ่มเปิดสอนเมื่อ พ.ศ. 2417 (ปัจจุบันคือส่วนหนึ่งของโรงพยาบาลศิริราช) มิสเอ็ดนา เซระห์ โคล ครูใหญ่ในสมัยนั้น คิดจะย้ายโรงเรียนกุลสตรีวังหลังจากท่าน้ำวังหลังมายังทุ่งบางกะปิ โดยเมื่อ พ.ศ. 2457 ท่านได้วางแผนโดยการซื้อที่ดินแปลงหนึ่งในตำบลบางกะปิด้านเหนือติดคลองแสนแสบ เนื้อที่ประมาณ 25 ไร่ แหม่มโคลได้จ้างจีนขุดที่ริมคลอง ยกเป็นร่องปลูกต้นไม้ผล เช่น มะม่วง ส้มโอ ส้มเขียวหวาน น้อยหน่า ฝรั่ง และกล้วย กับผักต่าง ๆ เพื่อเป็นอาหารเลี้ยงนักเรียน แล้วปลูกต้นมะพร้าวล้อมไว้ประมาณ 200 ต้น ต่อมา พ.ศ. 2462 มีการก่อสร้างอาคารหลังแรก เรียกว่า อาคารเรียน 1919 ปัจจุบันคือ โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัยตั้งอยู่ซอยวัฒนา (สุขุมวิท 19) ถือเป็นอาคารหลังแรกและเป็นการตัดซอยแรกในย่านสุขุมวิท[3]

เมื่อ พ.ศ. 2474 นายอะหมัด อิบราฮีม นานา (Ahamad Ebrahim Nana) ได้มอบที่ดินขนาด 3 ไร่ บริเวณถนนอโศกมนตรีให้แก่สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ สร้างเป็นอาคารหอประชุมและห้องสมุด ออกแบบโดย เอ็ดเวิร์ด ฮีลีย์ (Edward Healey) สถาปนิกชาวอังกฤษ ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2476[4]

พ.ศ. 2477 พี่น้องวสุวัตได้เริ่มสร้างโรงถ่ายภาพยนตร์เสียง (บริเวณปากซอยอโศก ถนนสุขุมวิทปัจจุบัน) เป็นอาคารคอนกรีตขนาดใหญ่ นับเป็นโรงถ่ายภาพยนตร์เสียงสมบูรณ์แบบแห่งแรกของไทย[5] แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2478 ตั้งชื่อโรงถ่ายว่า ภาพยนตร์เสียงศรีกรุง ก่อนจะต้องยุติกิจการถ่ายทำภาพยนตร์ลง เพราะผลกระทบที่ได้รับจากภาวะสงครามโลกครั้งที่สอง[6]

ตัดถนนสุขุมวิทแก้ไข

จนเมื่อ พ.ศ. 2479 ได้มีการเปิดใช้ถนนสายใหม่เชื่อมกรุงเทพฯ-สมุทรปราการ ภายหลังชื่อถนนสุขุมวิท พื้นที่ริมถนนสุขุมวิทได้รับการพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัยและพาณิชยกรรม บริเวณช่วงปากซอยเกิดตลาดสดปากซอยอโศก ประกอบกับมีหน่วยงานราชการแห่งใหม่เข้ามาตั้งในพื้นที่คือ วิทยาลัยครูประสานมิตร ต่อมา พ.ศ. 2503 มีการตัดถนนเพชรบุรีตัดใหม่พร้อมกับขยายถนนอโศกมนตรีเพื่อเชื่อมต่อถนนสุขุมวิทกับถนนเพชรบุรี หลังจากนี้การพัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มชัดเจนขึ้น เริ่มมีการปลูกสร้างอาคารพาณิชย์และปลูกบ้านให้เช่า[7] ในช่วงปี พ.ศ. 2510 มีการสร้างสะพานข้ามคลองแสนเสบเพื่อเชื่อมถนนเพชรบุรีกับถนนสุขุมวิท

ในช่วงสงครามเวียดนาม ทหารอเมริกันเดินทางเข้ามาเช่าห้องพักบริเวณถนนสุขุมวิท เกิดสถานบริการและสถานบันเทิงเช่นย่านซอยคาวบอย ในช่วงนี้บริเวณถนนอโศกมนตรีเป็นแหล่งสินค้าเพื่อทหารต่างชาติ รวมทั้งแกเลอรีศิลปะ มีแกเลอรีศิลปะที่มีชื่อเสียงในขณะนั้น เช่น บางกะปิแกลเลอรี[8]

ย่านธุรกิจกลางแก้ไข

มีการตัดถนนรัชดาภิเษกต่อจากถนนอโศกมนตรีช่วงจากถนนสุขุมวิทถึงถนนสุนทรโกษา ความยาวประมาณ 2.5 กิโลเมตร เปิดการจราจรเมื่อวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2531[9] เป็นถนนวงแหวนเชื่อมต่อหลายทาง ทำให้พื้นที่บริเวณถนนอโศกมนตรีเข้าถึงได้สะดวกยิ่งขึ้น[10] บริเวณตรงสี่แยกอโศกมนตรีเป็นที่ตั้งของร้านอาหารซีฟูดพาเลซ เป็นร้านอาหารทะเลขนาดใหญ่[11] อาคารตึกแถวส่วนใหญ่สร้างเมื่อ พ.ศ. 2530

ในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2535–2539 ประเทศไทยมีนโยบายพัฒนาประเทศให้เป็นอุตสาหกรรมใหม่จึงเกิดบริษัทข้ามชาติเข้ามาทำให้ย่านนี้เกิดสำนักงาน คอนโดมิเนียม โรงแรมและห้างสรรพสินค้า มีอาคารสำนักงานขนาดใหญ่ได้แก่ อาคารอโศกทาวเวอส์ สร้างเสร็จ พ.ศ. 2528 อาคารซิโน-ไทย สร้างเสร็จ พ.ศ. 2529 อาคารโอเชียนทาวเวอร์ 2 สร้างเสร็จ พ.ศ. 2536 และอาคารจีเอ็มเอ็มแกรมมี่เพลซ สร้างเสร็จ พ.ศ. 2542[12] ภายหลังเมื่อราว พ.ศ. 2540 เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ทำให้โครงการสำนักงานต่าง ๆ ที่กำลังสร้างต้องหยุดชะงักลง พอหลังจากเศรษฐกิจฟื้นอาคารเหล่านี้เปลี่ยนแปลงมาเป็นคอนโดมีเนียมแทน[13]

เมื่อ พ.ศ. 2542 เปิดดำเนินการรถไฟฟ้าบีทีเอสมีสถานีอโศกบริเวณแยกอโศกมนตรี ต่อมารถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคลเปิดให้บริการเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2547 มีสถานีสุขุมวิทและสถานีเพชรบุรีผ่านบนเส้นทางถนนอโศกมนตรี

เทอร์มินอล 21 อโศก บริเวณแยกอโศกมนตรีเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2554 มีจุดเด่นเรื่องศูนย์อาหารราคาถูก[14]

ปัจจุบันถนนอโศกมนตรีเป็นย่านธุรกิจกลางที่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญ เป็นที่ตั้งสำนักงานจำนวนมาก มีการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ระดับสูงอย่างต่อเนื่อง เป็นจุดตัดของสถานีรถไฟฟ้ามีปริมาณการใช้บริการเป็นอันดับที่สองของกรุงเทพมหานครรองจากสถานีสยาม ยังมีโรงแรมและเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ที่มีทั้งอยู่ในซอยและอยู่ติดถนนอโศก ได้แก่ Grand Mercure Bangkok Asoke Residence, Pullman Bangkok, Grande Sukhumvit และ Grande Centre Point Terminal 21 เป็นต้น[15]

อ้างอิงแก้ไข

  1. กนกวลี ชูชัยยะ. พจนานุกรมวิสามานยนามไทย : วัด วัง ถนน สะพาน ป้อม. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2548, 431-432
  2. "เปิดประวัติศาสตร์ความศิวิไลซ์ของที่ดินย่านสุขุมวิทตอนต้น".
  3. "ประวัติอาคารเรียนมัธยมศึกษาเดิม (1919) อาคารประวัติศาสตร์".
  4. "ความเป็นมา". สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์.
  5. "ยุคภาพยนตร์เสียงศรีกรุง". ArtBangkok. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-11-17. สืบค้นเมื่อ 2022-05-21.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  6. "เลือดชาวนา (เศษที่เหลืออยู่)". หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน).
  7. สกาวเนตร สะใบ. "แนวทางการออกแบบเพื่อการใช้ประโยชน์พื้นที่ว่างสาธารณะและกึ่งสาธารณะตามแนวถนน : กรณีศึกษาย่านอโศก-นานา ถนนสุขุมวิท" (PDF). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  8. "พิพิธภัณฑ์และแกลลอรี g23". สถาบันวัฒนธรรมและศิลปะ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
  9. "โครงการก่อสร้างถนนรัชดาภิเษก จังหวัดกรุงเทพมหานคร". พอเพียง.
  10. "สภาพทั่วไปของถนนรัชดาภิเษก".
  11. สตีฟ แวน บีค. "การท่องเที่ยวในวันวาน". p. 63.
  12. "อโศก ทำเลทอง ที่ทุกคนอยากสร้างตึกสูง บนถนนนี้". ลงทุนแมน.
  13. เจนการ เจนการกิจ. "ปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินเพื่อการพาณิชยกรรม ในย่านสุขุมวิท" (PDF). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์.
  14. "แก่นของการมองต่าง แปลงขาดทุนเป็นกำไร เปิดโอกาสธุรกิจเดินหน้าเหนือกว่าได้?". ไทยรัฐ.
  15. ทูล นำพันธุ์วิวัฒน์. "การศึกษาความเป็นไปได้ของที่ดินบนถนนอโศกมนตรี (สุขุมวิท 21)" (PDF). มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

แหล่งข้อมูลอื่นแก้ไข

พิกัดภูมิศาสตร์: 13°44′33″N 100°33′46″E / 13.742598°N 100.562669°E / 13.742598; 100.562669