กบฏทหารนอกราชการ

(เปลี่ยนทางจาก กบฏ 9 กันยา)

กบฏทหารนอกราชการ หรือ กบฏ 9 กันยา[2] หรือ กบฏสองพี่น้อง[3] เป็นความพยายามรัฐประหารเมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2528 ของนายทหารนอกประจำการคณะหนึ่ง

กบฏทหารนอกราชการ

รถถังยิงจากบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า หน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม
วันที่9 กันยายน พ.ศ. 2528 (39 ปีที่แล้ว)
สถานที่
ผล

ชัยชนะของรัฐบาล

  • ผู้ก่อการกบฎล้มเหลว ต้องหลบหนีออกไปต่างประเทศ
คู่สงคราม
รัฐบาลพลเอกเปรม

คณะปฏิวัติ

  • กลุ่มนายทหารนอกประจำการ

ประชาชนบางส่วน

  • กลุ่มแรงงาน
  • กลุ่มศิลปิน
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
พลเอก เปรม ติณสูลานนท์
พลเอก ประจวบ สุนทรางกูร
พลเอก อาทิตย์ กำลังเอก
พลเอก เทียนชัย สิริสัมพันธ์
พลโท ชวลิต ยงใจยุทธ
พลโท พิจิตร กุลละวณิชย์
พันเอก มนูญกฤต รูปขจร
นาวาอากาศโท มนัส รูปขจร
พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์
พลเอก เสริม ณ นคร
พลเอก ยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา
เอกยุทธ อัญชันบุตร
ความสูญเสีย
- -
ผู้สื่อข่าวต่างประเทศ 2 คน
ประชาชน 1 ราย[1]

ภูมิหลัง

แก้
 
ความเสียหายหน้าสถานีวิทยุกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ จากการถูกระดมยิงด้วยปืนกล 93 ขนาด 12.7 มม. (0.50 นิ้ว) บนป้อมรถสายพาน M113

ประกอบด้วย

  1. พ.อ. มนูญ รูปขจร (ยศในขณะนั้น, ปัจจุบันชื่อว่า มนูญกฤต รูปขจร)
  2. น.ท. มนัส รูปขจร
  3. พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์
  4. พล.อ. เสริม ณ นคร
  5. พล.อ. ยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา
  6. พล.อ.อ. กระแส อินทรรัตน์
  7. พล.ต. ทองเติม พบสุข
  8. พ.อ. ประจักษ์ สว่างจิตร
  9. พ.อ. สาคร กิจวิริยะ

ร่วมด้วยทหารประจำการอีกส่วนหนึ่ง เช่น

  1. เอกรัฐ ษรารุรักษ์

พลเรือนบางส่วนซึ่งเป็นผู้นำแรงงาน เช่น

  1. นายสวัสดิ์ ลูกโดด
  2. นายประทิน ธำรงจ้อย

โดยได้ความสนับสนุนทางการเงินจาก เอกยุทธ อัญชันบุตร การกบฏครั้งนี้พยายามยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาล พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ กบฏครั้งนี้มีขึ้นในช่วงที่นายกรัฐมนตรีเดินทางไปราชการที่อินโดนีเซีย ส่วน พล.อ. อาทิตย์ กำลังเอก ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น อยู่ระหว่างปฏิบัติภารกิจในทวีปยุโรป

การกบฏครั้งนี้ยังถือเป็นการใช้ความพยายามรัฐประหารที่ไม่ประสบความสำเร็จครั้งสุดท้าย ที่เรียกว่า "กบฏ" อีกด้วย นอกจากนี้ยังถือเป็นความพยายามรัฐประหารรัฐบาล พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ครั้งสุดท้าย ภายหลังความล้มเหลวในการก่อการของกบฏยังเติร์ก เมื่อ พ.ศ. 2524

เริ่มต้นเหตุการณ์

แก้

การก่อการเริ่มต้นเมื่อเวลา 03:00 น. โดยรถถังจำนวน 22 คัน จากกองพันทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ (ม.พัน.4 รอ.) พร้อมด้วยกำลังทหารกว่า 400 นายจากกองกำลังทหารอากาศโยธิน เข้าควบคุมกองบัญชาการทหารสูงสุด, สนามเสือป่า, กรมประชาสัมพันธ์และองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อสมท.) และอ่านแถลงการณ์ของคณะปฏิวัติ ระบุนาม พล.อ. เสริม ณ นคร เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ จับกุม พล.อ.อ. ประพันธ์ ธูปะเตมีย์

ฝ่ายนายเอกยุทธ อัญชันบุตร ซึ่งเป็นพลเรือน ได้นำกำลังทหารส่วนหนึ่งและผู้นำสหภาพแรงงานเข้ายึดองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และควบคุมตัวนายพิเชษฐ สถิรชวาล ผู้อำนวยการ ขสมก. ในขณะนั้น เพื่อนำรถขนส่งมวลชนไปรับกลุ่มผู้ใช้แรงงานเข้ามาร่วมด้วย

ต่อมาทหารฝ่ายรัฐบาล ประกอบด้วย

  1. พล.อ. เทียนชัย สิริสัมพันธ์ - รองผู้บัญชาการทหารบก รักษาการตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก
  2. พล.ท. ชวลิต ยงใจยุทธ - รองเสนาธิการทหารบก
  3. พล.ท. พิจิตร กุลละวณิชย์ - แม่ทัพภาคที่ 1 ประสานกับฝ่ายรัฐบาล
  4. พล.อ. ประจวบ สุนทรางกูร - รองนายกรัฐมนตรี อยู่ในตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรี

ตั้งกองอำนวยการฝ่ายต่อต้านขึ้นที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ เขตบางเขน และนำกองกำลังจาก กองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (พัน.1 ร.2 รอ.) เข้าต่อต้าน และออกแถลงการณ์ตอบโต้ในนาม พล.อ. อาทิตย์ กำลังเอก กองกำลังหลักของฝ่ายรัฐบาลคุมกำลังโดยกลุ่มนายทหาร จปร.5 ประกอบด้วย พล.ท. สุจินดา คราประยูร, พล.ท. อิสระพงศ์ หนุนภักดี และ พล.อ.ท. เกษตร โรจนนิล

รัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ในวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2528 โดย พล.อ. ประจวบ สุนทรางกูร รองนายกรัฐมนตรี รักษาการแทนนายกรัฐมนตรี และ พล.อ. สิทธิ จิรโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้ลงนามในประกาศดังกล่าว[4] และยกเลิกในวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2528 เวลา 18:00 น.[5]

เมื่อเวลาประมาณ 09:50 น. รถถังของฝ่ายกบฏที่ตั้งอยู่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าเริ่มระดมยิงเสาอากาศวิทยุและอาคารของสถานีวิทยุกระจายเสียงกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ และยิงปืนกลเข้าไปในบริเวณวังปารุสกวัน ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ทำให้ผู้สื่อข่าวต่างประเทศเสียชีวิตสองคน ได้แก่นีล เดวิส ชาวออสเตรเลียและบิล แรตช์ ชาวอเมริกัน

ทั้งสองฝ่ายปะทะกันรุนแรงขึ้น และมีการเจรจาเมื่อเวลา 15:00 น. โดยมี พล.ท. พิจิตร กุลละวณิชย์ เป็นตัวแทนฝ่ายรัฐบาลและ พล.อ. ยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา เป็นตัวแทนฝ่ายกบฏ ทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้และถอนกำลังกลับที่ตั้งเมื่อเวลา 17:30 น.

ส่วน พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ เดินทางกลับประเทศไทยเมื่อคืนวันนั้น แล้วเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จ.นราธิวาส โดยทันที

เมื่อการกบฏล้มเหลว ผู้ก่อการ คือ พ.อ. มนูญ รูปขจร และ น.ท. มนัส รูปขจร ได้ลี้ภัยไปสิงคโปร์และเดินทางไปอยู่ในประเทศเยอรมนีตะวันตก ส่วนคณะที่เหลือให้การว่าถูกบังคับจากคณะผู้ก่อการกบฏ มีผู้ถูกดำเนินคดี 39 คน หลบหนี 10 คน

ทั้งนี่เชื่อกันว่าเบื้องหลังการยึดอำนาจครั้งนี้ พ.อ. มนูญ รูปขจร ทำหน้าที่เพียงเป็นหัวหอกออกมายึดเท่านั้น เพื่อคอยกำลังเสริมของผู้มีอำนาจนำออกมาสมทบในภายหลัง และการก่อการครั้งนี้ล้มเหลวเนื่องจากมีใครบางคนที่ "นัดแล้วไม่มา"[6][2]

ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. 9 กันยายน 2528: กลุ่ม “ทหารนอกราชการ” ก่อกบฏ อ้าง “เศรษฐกิจแย่-ว่างงานเยอะ-อาชญากรรมสูง” ศิลปวัฒนธรรม สืบค้นเมื่อ 9 กันยายน 2564
  2. 2.0 2.1 รัตนทรัพย์ศิริ, ปกรณ์ (September 8, 2012). "ปฏิวัติ 9 กันยา นัดแล้วไม่มา". วอยซ์ทีวี. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-10-18. สืบค้นเมื่อ September 9, 2016.
  3. รอดเพชร, สำราญ (February 16, 2010). "รัฐประหาร 53 ใครจะกล้าทำ". ผู้จัดการออนไลน์. สืบค้นเมื่อ September 9, 2016.[ลิงก์เสีย]
  4. ประกาศกฎอัยการศึก
  5. ยกเลิกกฎอัยการศึก
  6. สิริรัตน์ เรืองวงษ์วาร, ประวัติศาสตร์การเมืองไทย ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 จนถึงปัจจุบัน, สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, พ.ศ. 2539, หน้า 518-519[ระบุข้อมูลทางบรรณานุกรมไม่ครบ]