อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร

อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร เป็นอุทยานประวัติศาสตร์แห่งหนึ่งของประเทศไทยภายใต้การดูแลของกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ตั้งอยู่ในเขตตำบลในเมือง อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร ไม่ไกลจากจังหวัดสุโขทัยเท่าใดนัก ลักษณะของศิลปะและสถาปัตยกรรมในอุทยานแห่งนี้เป็นศิลปะแบบเดียวกับที่ปรากฏในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย มีโบราณสถานที่สวยงามและขนาดใหญ่มากมาย หลายแห่งในอดีตเมืองกำแพงเพชรถือเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญของอาณาจักรสุโขทัย

อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร *
  แหล่งมรดกโลกโดยยูเนสโก
วัดพระแก้วในเขตอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร
พิกัด16°29′17.1″N 99°31′04.9″E / 16.488083°N 99.518028°E / 16.488083; 99.518028
ประเทศ ไทย
ภูมิภาค **เอเชียและแปซิฟิก
ส่วนหนึ่งของเมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร
ประเภทมรดกทางวัฒนธรรม
เกณฑ์พิจารณา(i), (iii)
อ้างอิง574-003
ประวัติการขึ้นทะเบียน
ขึ้นทะเบียน2534 (คณะกรรมการสมัยที่ 15)
พื้นที่338 เฮกตาร์
* ชื่อตามที่ได้ขึ้นทะเบียนในบัญชีแหล่งมรดกโลก
** ภูมิภาคที่จัดแบ่งโดยยูเนสโก
แผนที่
แผนที่

รายชื่อโบราณสถานที่สำคัญบริเวณเมืองกำแพงเพชร

แก้
 
โบราณสถานที่สำคัญบริเวณเมืองกำแพงเพชร
  1. วัดพระบรมธาตุเจดียาราม
  2. วัดเจดีย์กลางทุ่ง
  3. ป้อมทุ่งเศรษฐี
  4. วัดพระธาตุ
  5. วัดพระแก้ว
  6. สระมน
  7. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร
  8. ศาลหลักเมืองกำแพงเพชร
  9. วัดพระนอน
  10. วัดพระสี่อิริยาบถ
  11. วัดสิงห์
  12. วัดช้างรอบ
  13. วัดอาวาสใหญ่

สถานที่สำคัญ

แก้

วัดพระแก้ว

แก้
 
วัดพระแก้ว

วัดพระแก้ว ตั้งอยู่ใจกลางเมืองกำแพงเพชร เป็นวัดที่มีความสำคัญ อยู่ติดกับบริเวณพระราชวังเช่นเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาหรือวัดมหาธาตุกลางเมืองสุโขทัย กำแพงวัดทำจากศิลาแลงกลมทั้งท่อนสูงประมาณเมตรเศษ แผนผังของวัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนานไปกับกำแพงเมือง สิ่งก่อสร้างภายในใช้ศิลาแลงเป็นส่วนใหญ่ ตรงกลางของวัดมีพระเจดีย์กลมแบบลังกาองค์ใหญ่เป็นประธาน ฐานสี่เหลี่ยม ที่ฐานทำเป็นซุ้มคูหา โดยรอบมีสิงห์ยืนอยู่ในคูหา แต่ชำรุดหมด วัดพระแก้วนี้หลังจากขุดแต่งแล้วปรากฏว่า พบฐานเจดีย์แบบต่าง ๆ กัน รวม 35 ฐาน วิหารใหญ่และเล็ก 8 วิหาร ฐานพระอุโบสถ 3 แห่ง ซึ่งแสดงว่าเป็นวัดใหญ่ และสำคัญมากมาก่อน ในปัจจุบันประเพณีนบพระ–เล่นเพลง และประเพณีงานสารทไทย กล้วยไข่เมืองกำแพงเพชร ก็ได้มีการจัดขึ้นในบริเวณของวัดพระแก้วด้วย[1][2]

วัดพระธาตุ

แก้
 
วัดพระธาตุ

วัดพระธาตุ หรือวัดมหาธาตุ สร้างด้วยลักษณะของสถาปัตยกรรมจัดเป็นแบบเฉพาะของตระกูลช่างกำแพงเพชร มีฐานแปดเหลี่ยมต่อจากฐานเขียงอีกหลายชั้น ต่อจากนั้นเป็นลักษณะของเจดีย์ทรงกลม เป็นวัดที่สำคัญอยู่ภายในกำแพงเมืองกำแพงเพชร อยู่กึ่งกลางของเมืองกำแพงเพชร โบราณสถานภายในวัดประกอบด้วย เจดีย์ประธาน 1 องค์ วิหาร 1 หลัง มีระเบียงคดล้อมรอบเจดีย์ประธาน และวิหาร เจดีย์รายสององค์ ที่มุมด้านหน้าวัด กำแพงวัด ศาลา 1 หลัง ที่ด้านนอกกำแพงวัดทางทิศใต้ และสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมอยุ่ทางทิศตะวันออกด้านหน้าวัด กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนโบราณสถาน เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2511 มีพื้นที่ 5,580 ตารางเมตร จากการขุดค้นของกรมศิลปากร พบพระพุทธรูปทองคำและเงิน ขนาดหน้าตัก 3 นิ้ว เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2543 ประมาณ 10 องค์ ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกำแพงเพชร นอกจากนี้ยังมีการลักลอบขุด พบพระว่านหน้าทองจำนวนมาก จึงยืนยันได้ว่า วัดพระธาตุ เป็นวัดหลวงประจำเมืองกำแพงเพชร[3]

สระมน

แก้

สำหรับบริเวณที่เรียกว่า สระมน สันนิษฐานว่าเป็นเขตพระราชวังเดิม นับเป็นโบราณสถานที่อยู่ภายในกำแพงเมืองที่น่าสนใจศึกษาเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งเมื่อพิจารณาจากผังและตำแหน่งที่ตั้งของเขตพระราชวังแล้ว จะเห็นได้ชัดพอสมควรว่ามีการวางผังสัดส่วน เหมาะสำหรับเป็นที่ประทับหรือเป็นเขตพระราชวัง และตั้งใกล้กับพระอารามที่เป็นศูนย์กลางของเมืองกำแพงเพชรหรือวัดพระแก้ว ลักษณะเช่นนี้เป็นลักษณะเดียวกับพระราชวังโบราณของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับวัดพระศรีสรรเพชญ์ และบริเวณเนินปราสาท (ซึ่งถือเป็นเขตพระราชฐานของพระมหากษัตริย์สุโขทัยในเมืองเก่าสุโขทัย) ก็ตั้งอยู่ด้านหน้าของวัดมหาธาตุ ซึ่งคติการสร้างพระราชวังใกล้กับวัดศูนย์กลางของเมืองเช่นนี้ ยังคงมีสืบต่อมาถึงสมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์[4]

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร

แก้
 
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร ตั้งอยู่ภายในเขตเมืองเก่ากำแพงเพชรระหว่าง โรงเรียนกำแพงเพชรพิทยาคมกับพิพิธภัณฑสถานจังหวัดกำแพงเพชรเฉลิมพระเกียรติ (พิพิธภัณฑ์เรือนไทย) ฝั่งตรงข้ามกับวัดพระธาตุ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองกำแพงเพชร กรมศิลปากรจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานประจำแหล่งประวัติศาสตร์และโบราณคดีเพื่อเก็บรวบรวม สงวนรักษาและจัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่ได้จากการดำเนินงานทางโบราณคดีภายในเขตจังหวัดกำแพงเพชร เพื่ออนุรักษ์และเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการโบราณคดี ประวัติศาสตร์และศิลปกรรมท้องถิ่นของจังหวัดกำแพงเพชร โดยเริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2510 และมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2514 โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้นายสุกิจ นิมมานเหมินทร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้นเป็นผู้แทนพระองค์[5]

นักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมได้ในเวลาราชการทุกวัน เว้นวันจันทร์ วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 09.00–16.00 นาฬิกา ค่าเข้าชมชาวไทยเก็บ 10 บาท ชาวต่างประเทศมากกว่าชาวไทย 20 บาท คือ 30 บาท

พิพิธภัณฑสถานจังหวัดกำแพงเพชรเฉลิมพระเกียรติ

แก้
 
พิพิธภัณฑสถานจังหวัดกำแพงเพชรเฉลิมพระเกียรติ

พิพิธภัณฑสถานจังหวัดกำแพงเพชรเฉลิมพระเกียรติ หรือพิพิธภัณฑ์เรือนไทย ก่อตั้งขึ้นโดยมูลนิธิปริยัติศึกษา ญสส. ในพระสังฆราชูปถัมภ์สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก ร่วมกับจังหวัดกำแพงเพชร  กรมศิลปากร และกรมสามัญศึกษา จัดสร้างพิพิธภัณฑสถานแห่งนี้ขึ้นสนองแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี คือ ให้มีพิพิธภัณฑ์เมืองคู่กับพิพิธภัณฑสถานศึกษา จึงจัดสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองในวโรกาสพระราชพิธีกาญนาภิเษก ฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว[6]

ศาลพระอิศวร

แก้

ตั้งอยู่ภายหลังศาลจังหวัดกำแพงเพชร เป็นที่ตั้งของเทวรูปพระอิศวรจำลอง มีฐานก่อด้วยศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ายกพื้นสูง 1.50 เมตร เดิมองค์จริงประดิษฐานอยู่ในเทวสถานซึ่งราษฎรเรียกว่า “ศาลพระอิศวร” ภายในกำแพงเมืองกำแพงเพชรนี้ มีจารึกที่ฐานรอบบาท (จารึกที่ 13) ความว่าเจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราชประดิษฐานรูปพระอิศวรในเมืองกำแพงเพชร เมื่อ พ.ศ. 2053 ตรงกับสมัยอยุธยาแต่ลักษณะของเทวรูปแสดงถึงการรับอิทธิพลศิลปะเขมรแบบบายน ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ชาวเยอรมันคนหนึ่งได้มาพบเทวรูปนี้ในสภาพดี แม้จะตากแดดตากฝนอยู่นานกว่า 400 ปีโดยลักลอบตัดพระเศียรและพระหัตถ์เทวรูปพระอิศวรออกเป็นชิ้นส่วนจะส่งไปประเทศเยอรมนีแต่โดนจับได้ที่กรุงเทพฯ และถูกเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ซึ่งในปัจจุบันเทวรูปพระอิศวรสัมฤทธิ์องค์จริงถูกนำจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกำแพงเพชร[7][8]

วัดพระสี่อิริยาบถ

แก้
 
วัดพระสี่อิริยาบถ

วัดพระสี่อิริยาบถ หรือ วัดพระยืน เป็นวัดที่ทำจากศิลาแลง มีมณฑปจตุรมุขเป็นที่ประทับของพระพุทธรูปขนาดใหญ่มีสี่อริยาบถ พบหลักฐานว่ามีการลงรักปิดทองทั้งองค์ ลักษณะสกุลช่างกำแพงเพชรในศิลปะสุโขทัย มีบ่อน้ำและที่อาบน้ำอยู่ด้านหน้าวัด เช่นเดียวกับวัดพระนอน กำแพงเป็นศิลาแลงปักตั้งล้อม 4 ด้าน ด้านหน้าวัดมีวิหารที่ก่อด้วยศิลาแลงขนาดใหญ่ยกฐานสูง 2 เมตร กว้าง 17 เมตร ยาวกว่า 29 เมตร นับเป็นวิหารที่ใหญ่ที่สุดในอุทยานประวัติศาสตร์ เสาวิหารมี 4 เสา เป็น 5 ห้อง 2 แถว รวม 7 ห้อง มีเสาลูกกรง เป็นศิลาแลงเหลี่ยม และมีทับหลังบนมุขหน้าวิหาร สิ่งสำคัญของวัดได้แก่ มณฑปจตุรมุข แต่ละทิศประดิษฐาน พระพุทธรูป 4 ปาง คือ เดิน นั่ง ยืน และนอน อยู่โดยรอบทั้ง 4 ทิศตามลำดับ ปัจจุบันเหลือเพียง พระยืนขนาดใหญ่ที่สวยงาม พระพักตร์เป็นลักษณะพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย แบบกำแพงเพชรคือ พระนลาฏกว้าง และพระหนุเสี้ยม ซึ่งหาดูได้ยาก

มณฑปพระสี่อิริยาบถ เป็นมณฑปแบบจัตุรมุขขนาดใหญ่ ก่อด้วยศิลาแลงและอิฐ ใช้แทนเจดีย์ประธาน ตั้งอยู่ด้านหลังพระวิหาร ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว รอบมณฑปประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นทั้งสี่ด้าน ประกอบด้วย อิริยาบถยืน (ปางประทานอภัย) อิริยาบถเดิน (ปางลีลา) องค์พระได้ชำรุดไปมาก มีเพียงพระอูรุปรากฏให้เห็น อิริยาบถนั่ง (ปางมารวิชัย) สภาพชำรุดมากเหลือเพียงส่วนของฐานและอิริยาบถนอน (ปางไสยาสน์) สภาพชำรุดหมด จนไม่เห็นองค์พระโดยปัจจุบันเหลือเพียงอิริยาบถยืน (ปางประทานอภัย) พระพักตร์อิ่มเอิบ พระโมลีขมวดใหญ่ ที่สภาพค่อนข้างสมบูรณ์กว่าอิริยาบถอื่น ๆ[9]

วัดช้างรอบ

แก้
 
รูปปั้นช้าง วัดช้างรอบ

วัดช้างรอบ ตั้งอยู่บนเนินเขาลูกรัง นอกกำแพงเมืองทางทิศเหนือซึ่งเป็นเขตอรัญญิกเมืองกำแพงเพชร ผังของตัววัดหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ปรากฏแนวกำแพงวัดก่อด้วยศิลาแลงเฉพาะด้านทิศตะวันออกและทิศใต้ สิ่งก่อสร้างสำคัญคือ เจดีย์ประธานทรงระฆังขนาดใหญ่ ซึ่งรูปแบบการสร้างขององค์เจดีย์ได้รับอิทธิพลมาจากเจดีย์ช้างล้อมในศิลปะสุโขทัย เจดีย์ประธานประกอบด้วยฐานทักษิณสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ มีบันไดอยู่ที่กลางด้านทั้งสี่ เพื่อใช้ขึ้นไปถึงลานด้านบนหรือลานประทักษิณ ส่วนของผนังฐานสี่เหลี่ยมของเจดีย์ประธานประดับประติมากรรมรูปช้างปั้นจำนวน 68 เชือก ลักษณะของงานประติมากรรมรูปช้างปรากฏเฉพาะส่วนหัวและสองขาหน้าโผล่พ้นจากฐานประทักษิณ มีการประดับลวดลายปูนปั้นที่บริเวณแผลงคอ มงกุฎที่ส่วนหัว กำไลโคนขาและข้อเท้า ผนังระหว่างช้างแต่ละเชือกตกแต่งลายปูนปั้นนูนต่ำรูปพันธุ์พฤกษา โดยลวดลายปูนปั้นรูปใบระกาที่ปรากฏบนแผงคอประติมากรรมรูปช้างมีความคล้ายคลึงกับลายชายผ้าของเทวรูปพระอิศวรสำริด ที่พบยังเมืองกำแพงเพชร ซึ่งมีจารึกที่ระบุปี พ.ศ. 2053 จึงสามารถกำหนดอายุด้วยวิธีการศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบทางศิลปกรรม (Comparative dating) ได้ว่าเจดีย์ประธานวัดช้างรอบแห่งนี้น่าจะสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 21

ชานบันไดแต่ละด้านประดับสิงห์และทวารบาลปูนปั้น บันไดด้านบนสุดที่เข้าสู่ลานประทักษิณทำเป็นซุ้มประตูมีหลังคายอดเป็นเจดีย์ทรงระฆัง ส่วนของลานประทักษิณก่ออิฐเป็นกำแพงเตี้ย ๆ ล้อมรอบและเชื่อมต่อซุ้มประตูทั้ง 4 ด้าน ทั้งสี่มุมของลานประทักษิณมีฐานเจดีย์ขนาดเล็ก พบหลักฐานส่วนยอดที่หักเป็นเจดีย์ทรงกลีบมะเฟือง[10]

วัดพระนอน

แก้
 
วัดพระนอน

วัดพระนอน ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองทางด้านทิศเหนือที่เป็นเขตอรัญญิกของเมืองกำแพงเพชร ผังของตัววัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าหันหน้าไปทางทิศตะวันออก อาคารต่าง ๆ ก่อสร้างด้วยศิลาแลง พื้นที่นอกกำแพงวัดด้านทิศตะวันออกมีอาคารศาลาโถง และบ่อน้ำที่ขุดเจาะลงไปในชั้นศิลาแลง ประตูทางเข้าอยู่ทางทิศตะวันออก ทางเดินปูลาดด้วยศิลาแลง มีเสาปักตลอดสองฟากข้างทางเดิน

สิ่งก่อสร้างที่สำคัญของวัดประกอบด้วยพระอุโบสถ ตั้งอยู่ทางตอนหน้าสุด มีมุขทั้งด้านหน้าและด้านหลัง รูปแบบของอาคารเป็นฐานบัวลูกแก้วอกไก่ ภายในอาคารปรากฏแท่นชุกชีที่ใช้ประดิษฐานพระพุทธรูป ภายนอกอาคารมีเสาศิลาแลงรูปแปดเหลี่ยมเป็นเสาพาไลรองรับชายคาของอาคาร และมีฐานใบเสมา 8 ฐาน ตั้งอยู่รอบพระอุโบสถ สลักจากหินชนวน

ถัดจากพระอุโบสถเป็นวิหาร มีผังเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ภายในปรากฏแท่นอาสนสงฆ์และแท่นชุกชีที่ใช้ประดิษฐานพระพุทธรูปในอิริยาบถไสยาสน์ องค์พระพุทธรูปพังทลายเหลือแต่ส่วนโนของพระบาทที่บริเวณด้านทิศเหนือของแท่นชุกชี

ถัดจากวิหารไปทางทิศตะวันตกเป็นพระเจดีย์ประธาน เป็นแบบเจดีย์ทรงกลม ฐานหน้ากระดานล่างสุดก่อเป็นฐานสี่เหลี่ยม ด้านหน้าทำเป็นมุขเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูป ถัดจากฐานหน้ากระดานรูปสี่เหลี่ยม เป็นฐานหน้ากระดานรูปแปดเหลี่ยมที่ซ้อนลดหลั่นกัน 3 ชั้น ถัดไปเป็นฐานบ่อลูกแก้วอกไก่ ต่อด้วยชุดบัวคว่ำ 3 ชั้น หรือชั้นบัวถลา รองรับองค์ระฆังและบัลลังก์รูปสี่เหลี่ยม ส่วนยอดเจดีย์หักพังทลายไป [11]

การเป็นแหล่งมรดกโลก

แก้

ในวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2534 องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้ประกาศให้อุทยานแห่งนี้เป็นแหล่งมรดกโลกร่วมกับอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยและศรีสัชนาลัยโดยใช้ชื่อว่า "เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร"[12]

ระเบียงภาพ

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. สำนัก​วิทย​บริการ​และ​เทคโนโลยี​สาร​สน​เทศ​. มหาวิทยาลัย​ราชภัฏ​กำแพง​เพ​ชร. ฐานข้อมูลท้องถิ่น จังหวัดกำแพงเพชร-ตาก เรื่อง วัดพระแก้ว. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: https://arit.kpru.ac.th/contents/pdf/local/265.pdf [2560]. สืบค้น 23 ธันวาคม 2564.
  2. กลุ่มงานยุทธศาสตร์และข้อมูลเพื่อการพัฒนาจังหวัด. สำนักงานจังหวัดกำแพงเพชร. ศาลากลางจังหวัดกำแพงเพชร. วัดพระแก้ว - จังหวัดกำแพงเพชร. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.kamphaengphet.go.th/kp/index.php/site_content/9-gallery/106-watphrakaew เก็บถาวร 2021-05-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน [2558]. สืบค้น 23 ธันวาคม 2564.
  3. สำนักจัดการสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม. ความสำคัญ/ลักษณะ - วัดพระธาตุ จังหวัดกำแพงเพชร. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: https://culturalenvi.onep.go.th/site/detail/20 [2561]. สืบค้น 23 ธันวาคม 2564.
  4. คณะโบราณคดี. มหาวิทยาลัยศิลปากร. การขุดค้นทางโบราณคดีที่สระมนหรือเขตพระราชวังเดิม อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.sure.su.ac.th/xmlui/bitstream/handle/123456789/2043/Worayot_Thatsanapitikul_ba.pdf?sequence=6&isAllowed=y [2526]. สืบค้น 23 ธันวาคม 2564.
  5. กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม. ประวัติและบทบาทหน้าที่ - พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: https://www.finearts.go.th/kamphaengphetmuseum/categorie/history [2563]. สืบค้น 23 ธันวาคม 2564.
  6. มิวเซียมไทยแลนด์. พิพิธภัณฑสถานจังหวัดกำแพงเพชรเฉลิมพระเกียรติ (พิพิธภัณฑ์เรือนไทย). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: https://www.museumthailand.com/th/museum/rtmuseum [2559]. สืบค้น 23 ธันวาคม 2564.
  7. เทศบาลเมืองกำแพงเพชร. จังหวัดกำแพงเพชร. ศาลพระอิศวร - เทศบาลเมืองกำแพงเพชร. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: https://www.kppmu.go.th/travel/5 เก็บถาวร 2021-12-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน [2560]. สืบค้น 23 ธันวาคม 2564.
  8. องค์การบริหารส่วนจังหวัดกำแพงเพชร. จังหวัดกำแพงเพชร. ศาลพระอิศวร - อบจ.กำแพงเพชร. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: https://www.kpppao.go.th/travel/travel/detail/42 เก็บถาวร 2021-12-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน [2558]. สืบค้น 23 ธันวาคม 2564.
  9. สำนัก​วิทย​บริการ​และ​เทคโนโลยี​สาร​สน​เทศ​. มหาวิทยาลัย​ราชภัฏ​กำแพง​เพ​ชร. ฐานข้อมูลท้องถิ่น จังหวัดกำแพงเพชร-ตาก เรื่อง วัดพระสี่อิริยาบถ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: https://arit.kpru.ac.th/contents/pdf/local/265.pdf [2560]. สืบค้น 24 ธันวาคม 2564.
  10. กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์. กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม. วัดช้างรอบ โบราณสถานเมืองกำแพงเพชร. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: https://www.finearts.go.th/promotion/view/20054-วัดช้างรอบ-โบราณสถานเมืองกำแพงเพชร [2563]. สืบค้น 25 ธันวาคม 2564.
  11. กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์. กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม. วัดพระนอน เมืองกำแพงเพชร. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: https://www.finearts.go.th/promotion/view/20995-วัดพระนอน-เมืองกำแพงเพชร [2563]. สืบค้น 26 ธันวาคม 2564.
  12. UNESCO World Heritage Centre. Historic Town of Sukhothai and Associated Historic Towns - UNESCO World Heritage Centre. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: https://whc.unesco.org/en/list/574 [ม.ป.ป.] สืบค้น 25 ธันวาคม 2564.

ดูเพิ่ม

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้