หม่อมราชวงศ์ถนัดศรี สวัสดิวัตน์

หม่อมราชวงศ์ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ (28 พฤษภาคม พ.ศ. 2469 – 27 สิงหาคม พ.ศ. 2562) เป็นศิลปินแห่งชาติ นักแสดง นักร้อง นักเขียน และนักจัดรายการวิทยุโทรทัศน์ มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักจากการแนะนำและจัดระดับความอร่อยของร้านอาหาร ในชื่อ "เชลล์ชวนชิม" สัญลักษณ์ชามลายผักกาด ทางหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ตั้งแต่ พ.ศ. 2504 [1] โดยดัดแปลงมาจาก "มิชลินไกด์" ของผลิตภัณฑ์มิชลิน[2] คุณชายเป็นโอรสคนโตในหม่อมเจ้าเฉลิมศรีสวัสดิวัตน์ สวัสดิวัตน์ กับหม่อมเจริญ

ถนัดศรี สวัสดิวัตน์
สารนิเทศภูมิหลัง
เกิด28 พฤษภาคม พ.ศ. 2469
วังเพชรบูรณ์ จังหวัดพระนคร
เสียชีวิต27 สิงหาคม พ.ศ. 2562 (93 ปี)
โรงพยาบาลเปาโล กรุงเทพมหานคร
คู่สมรสหม่อมหลวงประอร มาลากุล (2495–2501) (6 ปี)
โรจนา สวัสดิวัตน์ ณ อยุธยา (2505–2562) (57 ปี)
อาชีพนักชิม, นักจัดรายการวิทยุและโทรทัศน์, นักเขียนและนักร้อง
ปีที่แสดงพ.ศ. 2486–2562 (76 ปี)
ศิลปินแห่งชาติพ.ศ. 2551 - สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล-ขับร้อง )
โทรทัศน์ทองคำพ.ศ. 2553 - เกียรติยศคนทีวี

รายการโทรทัศน์ "การบินไทยไขจักรวาล", "ครอบจักรวาล" (และมีรายการวิทยุ) ติดต่อกันมานานหลายปี

นอกจากนี้ยังเป็นนักร้องเพลงลูกกรุง ที่มีชื่อเสียง เช่น สีชัง, ยามรัก, หวงรัก, วนาสวาท, ระฆังทอง, โศก, ตราบสิ้นลม ฯลฯ

ประวัติ แก้

หม่อมราชวงศ์ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ เป็นโอรสคนใหญ่ในหม่อมเจ้าเฉลิมศรีสวัสดิวัตน์ สวัสดิวัตน์ กับ หม่อมเจริญ สวัสดิวัตน์ ณ อยุธยา (สกุลเดิม เศวตะทัต) เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2469 ที่วังเพชรบูรณ์ กรุงเทพมหานคร และเติบโตอยู่ภายในวังสระปทุม[3]ภายใต้พระราชูปถัมภ์ในสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า มีพี่สาวและน้องชาย คือ

  1. เภสัชกรหญิง หม่อมราชวงศ์สนองศรี สวัสดิวัตน์
  2. หม่อมราชวงศ์เพิ่มศรี สวัสดิวัตน์

เริ่มการศึกษาที่โรงเรียนราชินี พ.ศ. 2481 และโรงเรียนเทพศิรินทร์ พ.ศ. 2485 มีเลขประจำตัวนักเรียน ท.ศ.5444 จนจบชั้นมัธยมในปีต่อมา นับรุ่นคือนักเรียนเก่าเทพศิรินทร์รุ่นปี 2485 แล้วศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง พร้อมกับเริ่มเข้าวงการบันเทิง เป็นนักแสดงและร้องเพลงหารายได้ ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ

หม่อมราชวงศ์ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ ได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคมะเร็งท่อนํ้าดีระยะสุดท้าย ที่โรงพยาบาลเปาโล เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2562 เวลา 11.35 น. สิริอายุ 93 ปี[4] สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า ฯ เสด็จพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2562 ณ เมรุ วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร

งานด้านสื่อสารมวลชน แก้

 
ตราชามและลายเซ็น “เชลล์ชวนชิม”

ช่วงหลังสงครามได้ไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ จึงได้เป็นนักจัดรายการวิทยุ บีบีซี ภาคภาษาไทย

เมื่อกลับประเทศไทย ได้เป็นนักร้องให้กับวงดนตรีสุนทราภรณ์ของครูเอื้อ สุนทรสนาน และร่วมงานกับโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหม ด้านละครและขับเสภา/ร้องเพลงไทย เคยรับบทเด่น เป็น "ตั๋งโต๊ะ" ในงิ้วไทย "สามก๊ก" บทพระนิพนธ์ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ซึ่งมี อารีย์ นักดนตรี และเทิ่ง สติเฟื่อง ร่วมแสดง พ.ศ. 2499[5] รวมถึงแสดงนำใน "สุริยานีไม่ยอมแต่งงาน" ซึ่งเป็นละครโทรทัศน์เรื่องแรกของไทย พ.ศ. 2499 ในปีเดียวกันด้วย[6]

ร่วมแสดงภาพยนตร์ไทย "วนาลี" พ.ศ. 2502 และ "นางแมวผี" พ.ศ. 2503 [7]

นักแสดงรับเชิญ ร่วมกับ คุณหญิงจินตนา ยศสุนทร, อิงอร ฯลฯ ในรายการ "สัมนานักสืบ" ดำเนินรายการโดย พ.อ.ถาวร ช่วยประสิทธิ์ (ยศขณะนั้น) ทางทีวีกองทัพบก ช่อง 7 ขาวดำ (ททบ.ช่อง 5 ปัจจุบัน) พ.ศ. 2508

ปรากฏตัวพิเศษฉากเพลง "ยามรัก" ในภาพยนตร์ไทยซาวด์ออนฟิล์ม เรื่อง "กลัวเมีย" ของ ศรีกรุงภาพยนตร์ (ภาพยนตร์เสียงศรีกรุง) พ.ศ. 2514 กำกับการแสดงโดยขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) นำแสดงโดยสมบัติ เมทะนี และอรัญญา นามวงศ์

ผู้จัดและดำเนินรายการวิทยุและโทรทัศน์ ได้แก่ "ครอบจักรวาล" รายการสารคดีปกิณกะ ว่าด้วยการท่องเที่ยวและแนะนำอาหาร ทั้งในและต่างประเทศ ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก, "การบินไทยไขจักรวาล" (พ.ศ. 2521-พ.ศ. 2546) รายการตอบปัญหาสำหรับนักเรียนมัธยมศึกษา โดยมีการบินไทยเป็นผู้สนับสนุน , " พ่อบ้านเข้าครัว" ช่วงทศวรรษ 2520-2530

หม่อมราชวงศ์ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ ยังเขียนบทความประจำคอลัมน์ "ถนัดศรีชวนชิม" ให้กับหนังสือพิมพ์มติชนรายสัปดาห์ และหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ รวมถึงผลิตและจัดรายการโทรทัศน์ "พ่อลูกเข้าครัว" ร่วมกับบุตรชาย หม่อมหลวงศิริเฉลิม สวัสดิวัตน์ (คุณหมึกแดง) พ.ศ. 2551

ศิลปิน แก้

ด้วยเลือดศิลปินการขับร้องเพลงไทยเดิมจากหม่อมมารดา และ คุณตา หลวงกล่อมโกศลศัพท์ (จอน สุนทรเกศ) ซึ่งเป็นน้าของหม่อมมารดา พรสวรรค์จากสายเลือดจึงทำให้คุณชายได้กลายเป็นนักร้องวงดนตรีสุนทราภรณ์รุ่นแรกแต่ในช่วงนั้นไม่ได้บันทึกเสียงเพราะช่วงสงครามโลกครั้งที่สองเมื่อสงครามสงบจึงกลับไปเรียนเมื่อเรียนจบ จึงกลับมาร้องเพลงและออกแผ่นเสียง โด่งดังอย่างต่อเนื่องยาวนาน มีเพลงโด่งดังระดับตำนานมากมาย เช่น สีชัง ยามรัก หวงรัก วนาสวาท จนได้เป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล-ขับร้อง)[8] พ.ศ. 2551

หม่อมราชวงศ์ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ เป็นผู้ที่มีความสามารถเฉพาะตัวที่สูงยิ่งทั้งด้านการขับร้องเพลง ศิลปะการแสดง การพูด และการเขียนบทความ โดยเฉพาะการขับร้องเพลงไทยสากล มีเทคนิคการ้องเพลงท่เป็นแบบเฉพาะของตนเอง การเอื้อน การออกเสียงเต็มไปด้วยมนต์ขลังทั้งนุ่มนวล อ่อนหวาน มีผลงานเพลงที่ขับร้องอัดแผ่นเสียง รวมกว่า 200 เพลง เพลงบางเพลงมีความไพเราะได้รับความนิยมไม่เสื่อมคลาย อาทิ เพลงสีชัง ทะเลระทม วานลมจูบ ทำไมหนอ ตราบสิ้นลม วนาสวาท ฯลฯ นอกจากนี้ยังเป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญในการยกระดับสถานภาพของนักร้อง นักดนตรี นักแต่งเพลงให้มีเกียรติ มีชื่อเสียง เป็นที่ยอมรับของสังคม รวมทั้งยังเป็นผู้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์งานด้านอื่น ๆ เช่น การทำศูนย์อาหารเชลล์ชวนชิม จัดรายการครอบจักรวาล จัดรายการวิทยุโทรทัศน์ เขียนบทความ เป็นพิธีกร เป็นที่ปรึกษาให้กับหน่วยงาน องค์กร บริษัท สถาบันการศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนอยู่เป็นประจำ จากผลงานดังกล่าวทำให้ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน จากเพลงสีชัง รางวัลเสาโทรทัศน์ทองคำ ในฐานะจัดรายการดีเด่น รางวัลเมขลาในฐานะผู้มีผลงานดีเด่นด้ายวิทยุและโทรทัศน์

คุณชายยังมีความสามารถในทางจิตรกรรม โดยได้รับเชิญเป็น อาจารย์พิเศษ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

งานนักชิม และการทำอาหาร แก้

"เชลล์ชวนชิม" อันโด่งดังทั่วประเทศ และบุกเบิกรายการทำอาหารในประเทศไทย เช่น "พ่อบ้านเข้าครัว" , " พ่อลูกเข้าครัว"

โดย ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ ได้รับการถ่ายทอดความเชี่ยวชาญในการทำอาหารมาจากหม่อมมารดา หม่อมเจริญ สวัสดิวัตน์ ณ อยุธยา ผู้เคยปรุงพระกระยาหารถวายสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และจากหม่อมย่า หม่อมลมุล สวัสดิวัตน์ ณ อยุธยา ผู้กำกับห้องเครื่องหวานวังสระปทุมในสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

งานประวัติศาสตร์ สังคม และศิลปวัฒนธรรมของไทย แก้

เป็นผู้เชี่ยวชาญ รอบรู้ ในงานประวัติศาสตร์ สังคม และศิลปวัฒนธรรมของไทย ที่ถ่ายทอดความรู้ผ่านรายการวิทยุ และโทรทัศน์ "ครอบจักรวาล" มาอย่างยาวนาน

งานการเมือง แก้

หม่อมราชวงศ์ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ เคยได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2516[9] ของรัฐบาล นายสัญญา ธรรมศักดิ์

รางวัลที่ได้รับ แก้

  • รางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน นักร้องชายรองชนะเลิศ ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2506 จากเพลงสีชัง
  • รางวัลเมขลา พ.ศ. 2524-2525 (สาขาผู้ดำเนินรายการดีเด่น จากรายการ การบินไทยไขจักรวาล,ผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวิทยุและโทรทัศน์)
  • รางวัลเกียรติคุณสังข์เงิน สาขาวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ. 2526
  • รางวัลเทพทอง ในฐานะบุคคลดีเด่นด้านวิทยุและโทรทัศน์ พ.ศ. 2538
  • รางวัลโทรทัศน์ทองคำ สาขารายการโทรทัศน์ดีเด่น พ.ศ. 2539
  • รางวัลผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น พ.ศ. 2550
  • ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล-ขับร้อง)[8] พ.ศ. 2551
  • รางวัลเกียรติยศคนทีวี ในงานประกาศผลรางวัลโทรทัศน์ทองคำ ครั้งที่ 25 ประจำปี พ.ศ. 2551
  • ปริญญาวารสารศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • ปริญญานิเทศศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต

ชีวิตครอบครัว แก้

สมรสครั้งที่ 1 (2495 - 2501) กับหม่อมหลวงประอร มาลากุล มีบุตร 2 คน คือ

สมรสครั้งที่ 2 (2505 - 2562) กับนางโรจนา สวัสดิวัตน์ ณ อยุธยา (สกุลเดิม สวนรัตน์) มีบุตร 1 คน คือ

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้

ลำดับสาแหรก แก้

อ้างอิง แก้

  1. ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ ผู้สร้างตำนาน "นักชิมอาหาร"
  2. หม่อมราชวงค์ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์ เป็นปูชนียบุคคลและท่านเป็นตัวอย่าง หนึ่งของความสง่างามและความดีงามของผู้เป็นที่เคารพ
  3. ชีวิตที่เกินคำบรรยาย
  4. ปิดตำนานเชลล์ชวนชิม "หม่อมราชวงศ์ถนัดศรี" ถึงแก่กรรม
  5. อารีย์ นักดนตรี, โลกมายาของอารีย์, กาย มารุต 2546 ISBN 974-91018-4-7 หน้า 124-132
  6. ย้อนชมเหตุการณ์สำคัญ 63 ปี อสมท[ลิงก์เสีย]จากสำนักข่าวไทย
  7. www.thaifilm.com
  8. 8.0 8.1 ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ ศิลปินครอบจักรวาล มติชนฉลองใหญ่ "คุณชายยอดนักชิม" โดย สกุณา ประยูรศุข (วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11311 มติชนรายวัน)[ลิงก์เสีย]
  9. "พระบรมราชโองการ แต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-09-27. สืบค้นเมื่อ 2016-04-22.
  10. แถมสิน รัตนพันธุ์ตำนาน "ลึก(ไม่)ลับ"' ฉบับ ทระนง ฅนหนังสือพิมพ์. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์ร่วมด้วยช่วยกัน, พ.ศ. 2548. 160 หน้า หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-9785-33-9
  11. ราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ หน้า 1056 วันที่ 31 ธันวาคม 2517
  12. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ประจำปี 2552

แหล่งข้อมูลอื่น แก้