ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์)
รองอำมาตย์โท ขุนวิจิตรมาตรา นามเดิม สง่า กาญจนาคพันธุ์ (7 กรกฎาคม พ.ศ. 2440 – 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2523) ผู้สร้างหนัง ผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ผู้ประพันธ์เพลงต่าง ๆ หลายเพลง ซึ่งรวมถึงเนื้อร้องเพลงชาติไทยฉบับแรกสุดในปี พ.ศ. 2475 และเป็นผู้แต่งหนังสือต่าง ๆ หลายเรื่อง เช่น หลักไทย ภูมิศาสตร์สุนทรภู่ เป็นต้น นับได้ว่าเป็นนักคิด นักค้นคว้า และนักเขียนสำคัญคนหนึ่งของ ยุครัตนโกสินทร์
ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) | |
---|---|
เกิด | 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2440 ตำบลบางลำเจียก อำเภอบางยี่เรือ จังหวัดธนบุรี |
เสียชีวิต | 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2523 (82 ปี) โรงพยาบาลโรงงานยาสูบ กรุงเทพมหานคร |
สัญชาติ | ไทย |
อาชีพ | ผู้กำกับ, นักเขียน, นักแต่งเพลง |
คู่สมรส | วิเชียร อภิวัฒน์ |
บุตร | 7 คน |
บิดามารดา |
|
ประวัติ
แก้เกิดวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2440 บิดาชื่อ ขุนสารการ (ทองดี) อาชีพรับราชการ สังกัดกระทรวงมหาดไทย และเป็นผู้พิพากษา มารดาชื่อ พับ
จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 8 จากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เข้ารับราชการเป็นล่ามภาษาอังกฤษในกรมแผนที่ กระทรวงกลาโหม เมื่อ พ.ศ. 2463 ต่อมาในปี พ.ศ. 2467 โอนย้ายไปรับราชการในกระทรวงพาณิชย์ จนเกษียณอายุในตำแหน่งหัวหน้ากองมาตราชั่งตวงวัดเมื่อปี พ.ศ. 2500
เริ่มชีวิตนักประพันธ์ด้วยการเขียน บทละครร้อง ตั้งแต่อายุได้ 20 ปี หลังจากนั้นก็ได้ทำงานเขียนประเภท นิยาย สารคดี การประพันธ์เพลง และภาพยนตร์
ในปี พ.ศ. 2473 หม่อมราชวงศ์อนุศักดิ์ หัสดินทร์ แห่งหัสดินทร์ภาพยนตร์ ติดต่อให้ช่วยแต่งเรื่อง จึงได้ประพันธ์บทถ่ายทำเรื่องแรกในชีวิต "รบระหว่างรัก" และเป็นผู้กำกับการแสดงด้วย
ต่อมาเป็นผู้ประพันธ์เรื่องและเพลงตลอดจนกำกับการแสดงเรื่อง "หลงทาง" ซึ่งออกฉายเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2475 "หนังพูด" เรื่องยาวครั้งแรก ของ ภาพยนตร์เสียงศรีกรุง มีเพลงประกอบทั้งหมด 6 เพลง คือ เพลงพัดชา เพลงบัวบังใบ เพลงลาวเดินดง เพลงกุหลาบหอม (ขึ้นพลับพลา) เพลงโยสะลัม และเพลงเงี้ยว โดย ขุนสนิทบรรเลงการใช้ทำนองเพลงไทยเดิมทั้งหมด แล้วใส่เนื้อร้องประกอบเข้าไป ออกฉายที่โรงภาพยนตร์พัฒนากร ได้รับคำชมเชยเป็นอย่างดี ทำให้ศรีกรุงได้ชื่อว่าเป็นผู้บุกเบิกภาพยนตร์เสียงอย่างสมบูรณ์แบบ
ร่วมงานกับภาพยนตร์เสียงศรีกรุงโดยตลอด สร้างผลงานที่น่าจดจำไว้หลายเรื่อง ทั้งข่าวสารคดี และแนวบันเทิงคดี เช่น บันทึกเหตุการณ์ ฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 150 ปี (2475) และ บันทึกเหตุการณ์ สมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานรัฐธรรมนูญ (2475) ทั้งสองเรื่องเป็นข่าวสารคดี ส่วนแนวบันเทิงคดีปีเดียวกัน คือ เรื่อง "หลงทาง" หนังพูดเรื่องยาวแรกของหนังเสียงศรีกรุง
เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ใน พ.ศ. 2475 คณะราษฎร์ได้ประกาศใช้เพลงชาติมหาชัย ซึ่งประพันธ์เนื้อร้องโดย เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นเพลงชาติฉบับที่แต่งทำนองโดยพระเจนดุริยางค์ เมื่อแรก ๆ นั้น ได้ใช้คำร้องของขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธ์) ประพันธ์ เป็นเพลงชาติไทยฉบับที่ห้า ใช้"ระหว่างปี พ.ศ. 2475–2477
ในปี พ.ศ. 2485 เกิดสงครามมหาเอเซียบูรพา สร้างความเดือดร้อน เกิดภาวะขาดแคลนขึ้นในอุตสาหกรรมทุกระดับ ไม่เว้นแม้แต่ อุตสาหกรรมภาพยนตร์ ฟิล์มเริ่มขาดแคลน ศรีกรุงเลิกทำหนัง เหลือแต่ของรัฐบาลที่มีเนื้อหาปลุกใจให้รักชาติทั้งหมด หนึ่งในหลายเรื่องที่โดดเด่นคือ "บ้านไร่นาเรา" ของกองทัพอากาศ เรื่องราวของชาวนากับอุดมการณ์รักชาติ ที่สอดคล้องกับนโยบายการบริหารประเทศของ จอมพล ป. พิบูลสงครามผู้นำประเทศ ในสมัยนั้น รวมทั้งเพลงประกอบอมตะ "บ้านไร่นาเรา" โดยพระเจนดุริยางค์ ประพันธ์ทำนองในแนวของความขยันขันแข็งในการทำงาน บ้านเมืองอุดมสมบูรณ์ และเป็นเพลงที่ สำนักงานวัฒนธรรมแห่งชาติ ยกย่องเป็น เพลงลูกทุ่ง เพลงแรกในงานวันเพลงลูกทุ่ง
พ.ศ. 2486 ประพันธ์บทละครเวทีและเพลงอมตะเรื่อง "ศรอนงค์" จัดแสดงโดยคณะละครของพระนางเธอ ลักษมีลาวัณ พระมเหสีในรัชกาลที่ 6 ซึ่งทรงดำริให้เป็นมรหสพเพื่อบำรุงขวัญกำลังใจของประชาชนในภาวะเงียบเหงายามสงคราม ที่ศาลาเฉลิมกรุง ละครและเพลงประกอบยังคงได้รับความนิยม เป็นละครทางทีวีและรีวิวคอนเสิร์ตจนทุกวันนี้
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ได้ประพันธ์เรื่องเพื่อทำภาพยนตร์ อีกครั้งใน พ.ศ. 2495 เรื่อง "ทะเลรัก" อำนวยการสร้างโดย เสวตร์ เปี่ยมพงศ์สานต์ ปีถัดมาภาพยนตร์จากนวนิยายชื่อเดียวกัน (ที่ประพันธ์ไว้เมื่อปี พ.ศ. 2469) เรื่อง "วารุณี" ภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องเป็นภาพยนตร์ 16 มิลลิเมตรบันทึกเสียงลงในฟิล์ม ประสบความสำเร็จพอสมควร งานประพันธ์อีกเรื่องเป็นบทละครประกอบเพลงทางไทยทีวีช่อง 4 เรื่อง "มาร์โคโลกับคุบไบลข่าน" นำแสดงโดย อารีย์ นักดนตรี คู่กับ กำธร สุวรรณปิยะศิริ ซึ่งรับบทนำครั้งแรก พ.ศ. 2502[1]กับเรื่องอื่นๆ ได้แก่ เจ้าจอมเจียวกุน ไซซี ฮวนลิฮวยกับซิเต็งซัน ฯลฯ
พ.ศ. 2514 ภาพยนตร์เสียงศรีกรุง กลับมาสร้างหนังซาวด์ออนฟิล์มอีกครั้ง (ท่ามกลางกระแสนิยมการสร้างหนัง 16 มม. และหนังสโคป เสียงพากย์ในฟิล์ม) และได้เชิญเป็นผู้กำกับการแสดงเรื่อง กลัวเมีย (สร้างใหม่ ) ก่อนปิดกิจการถาวรในปีต่อมา
นับแต่นั้นก็มิได้เกี่ยวข้องกับงานภาพยนตร์อีกเลย จนวาระสุดท้ายของชีวิต เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2523 มีอายุได้ 83 ปี
ครอบครัว
แก้สมรสกับ นางสาววิเชียร อภิวัฒน์ ธิดาของ นายจิ๋ว และ นางเล็ก มีบุตร-ธิดา รวม 7 ท่าน คือ
- นายโสภณ กาญจนาคพันธุ์
- นายโสภิณ กาญจนาคพันธุ์
- นางโสภา เปี่ยมพงศ์สานต์ ภรรยา นายเสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์
- นายชาญ กาญจนาคพันธุ์
- นายดิเรก กาญจนาคพันธุ์
- นางสีแพร จริตงาม ภรรยา เรืออากาศเอกสงวน จริตงาม
- ร้อยเอก เอก กาญจนาคพันธุ์
ผลงาน
แก้ภาพยนตร์
แก้- รบระหว่างรัก (2474) กำกับ / เรื่อง (หนังเงียบ)
- ท้าวกกขนาก (2475) กำกับ / เรื่อง (หนังเงียบ)
- หลงทาง (2475) กำกับ / เรื่องและเพลง
- ปู่โสมเฝ้าทรัพย์ (2476) กำกับ / เรื่องและเพลง
- เลือดทหารไทย (2478) กำกับ / เรื่องและเพลง
- พญาน้อยชมตลาด (2478) เพลง
- เมืองแม่หม้าย (2478) เพลง
- เพลงหวานใจ (2480) กำกับ / เรื่องและเพลง
- บ้านไร่นาเรา (2485) เรื่องและเพลง
- ทะเลรัก (2495) กำกับ / เรื่อง
- วารุณี (2496) กำกับ / เรื่อง
- กลัวเมีย (2514) กำกับ
ละคร
แก้- ศรอนงค์ (เรื่องและเพลง ละครเวทีคณะของพระนางเธอ ลักษมีลาวัณ ช่วงสงครามมหาเอเซียบูรพา ศาลาเฉลิมกรุง พ.ศ. 2486)
- มาร์โคโปโลกับคุบไบลข่าน (เรื่องและเพลง ไทยทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม พ.ศ. 2502)
- เจ้าจอมเจียวกุน (เรื่องและเพลง ไทยทีวี)
- ไซซี (เรื่องและเพลง ไทยทีวี)
- ฮวนลิฮวยกับซิเต็งซัน (เรื่อง ไทยทีวี)
บทเพลง
แก้ส่วนใหญ่รับหน้าที่ประพันธ์คำร้องมากกว่า หลายเพลงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องแม้ภาพยนตร์เรื่องนั้น ๆ จะออกจากโรงไปแล้ว
- บวงสรวง (จากภาพยนตร์ "เมืองแม่หม้าย" - พ.ศ. 2470)
- กุหลาบหอม (ขึ้นพลับพลา) (จากภาพยนตร์ "หลงทาง" - พ.ศ. 2474)
- บัวบังใบ (จากภาพยนตร์ "หลงทาง" - พ.ศ. 2474)
- เนื้อร้องเพลงชาติสยาม พ.ศ. 2475 (ทำนองโดยพระเจนดุริยางค์)
- ลาทีกล้วยไม้ (จากภาพยนตร์ "ปู่โสมเฝ้าทรัพย์" - พ.ศ. 2476)
- กุหลาบในมือเธอ (จากภาพยนตร์ "เลือดทหารไทย" - พ.ศ. 2477)
- เพลงประจำมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (ทำนองมอญดูดาว พ.ศ. 2477)
- เธอใกล้หรือไกล (จากภาพยนตร์ "เพลงหวานใจ" - พ.ศ. 2480)
- บ้านไร่นาเรา (จากภาพยนตร์ชื่อเรื่องเดียวกัน - พ.ศ. 2485)
- ศรอนงค์ (ประกอบละครเวที-โทรทัศน์ หลังสงครามโลกครั้งที่สอง)
- นี่แหละสวรรค์ (ผลงานช่วงหลังสงคราม ขับร้องโดยศรีสุดา รัชตะวรรณ นักร้องวงดนตรีสุนทราภรณ์)
- อย่ามัวมอง (ศรีสุดา รัชตะวรรณขับร้อง)
- กบใต้กอบัว (ดัดแปลงจากโคลงโลกนิติ ศรีสุดา รัชตะวรรณ ขับร้อง)
- บัวไกลตา (เพลงประกอลละคร ชวลี ช่วงวิทย์ ขับร้อง)
- บัวแนบน้ำ (เพลงประกอบละครโทรทัศน์มาโคร์โปโล อารีย์ นักดนตรี ขับร้อง)
- มิ่งไม้เหมย (แต่งเพื่อประกอบละครโทรทัศน์ อารีย์ นักดนตรี ขับร้อง วงดนตรีสุนทราภรณ์บรรเลง เมื่อปี พ.ศ. 2501)
- หลงเงา (อารีย์ นักดนตรีขับร้อง ประกอบละครเรื่องเจ้าจอมเจียวกุล)
- รำพึงรัก (เพลงประกอบละครกำธร สุวรรณปิยะศิริขับร้อง)
- รักแน่หรือ (เพลงประกอบละครอารีย์ นักดนตรีขับร้อง)
- รำวงมาลัยลอย(หมู่วงดนตรีสุนทราภรณ์ขับร้อง)
- ร็อคเร่งรัก (ศรีสุดา รัชตะวรรณ เลิศ ประสมทรัพย์ ขับร้องออกอากาศ)
- ไม่มีชายจริง (มีอีกชื่อว่าชายชายคาวรนุช อารีย์ขับร้อง)
- แม่น้ำสวรรค์ (อารีย์ นักดนตรีขับร้อง)
ฯลฯ
หนังสือ
แก้- หลักไทย (งานค้นคว้าเกี่ยวกับทฤษฎีชนชาติไทย ได้รับพระราชทานรางวัลจากรัชกาลที่ 7 เมื่อ พ.ศ. 2471)
- เด็กคลองบางหลวง
- กรุงเทพฯ เมื่อวานนี้
- กรุงเทพเมื่อ 70 ปีก่อน
- 80 ปีในชีวิตข้าพเจ้า
- สำนวนไทย
- ภูมิศาสตร์สุนทรภู่
- ภูมิศาสตร์วัดโพธิ์
- คอคิดขอเขียน
- สิ่งที่คิดเห็นในเรื่องคาวี
- ประวัติการค้าไทย
- โหงวโฮ้วเพ็งปัก
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้- พ.ศ. 2495 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 3 ตริตาภรณ์ช้างเผือก (ต.ช.)[2]
- พ.ศ. 2491 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 3 ตริตาภรณ์มงกุฎไทย (ต.ม.)[3]
- พ.ศ. 2479 – เหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ (พ.ร.ธ.)[4]
- พ.ศ. 2496 – เหรียญจักรพรรดิมาลา (ร.จ.พ.)[5]
- พ.ศ. 2493 – เหรียญบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 9 (ร.ร.ศ.9)
อ้างอิง
แก้- ↑ อารีย์ นักดนตรี, โลกมายาของอารีย์, กายมารุต 2546 ISBN 976-91018-4-7 หน้า 214-224
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-07-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๖๙ ตอนที่ ๗๓ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๔๓, ๑๒ ธันวาคม ๒๔๙๕
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๖๕ ตอนที่ ๗๕ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๕๓๓, ๒๕ ธันวาคม ๒๔๙๑
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, บัญชีรายนามข้าราชการและราษฎร ที่ได้รับพระราชทานเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ เก็บถาวร 2022-07-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๕๓ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๙๘๑, ๙ สิงหาคม ๒๔๗๙
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-05-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๗๐ ตอนที่ ๗๘ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๓๐๖, ๒๓ ธันวาคม ๒๔๙๖