กลัวเมีย เป็นภาพยนตร์ไทยพูด (ในฟิล์ม) ของไทยแนวตลกชวนหัวประกอบเพลง ระบบ 35 มม. ระบบไวด์สกรีน เสียงในฟิล์ม (ซาวออนฟิล์ม) ของ บริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุง จำกัด พ.ศ. 2479 (ขาวดำ)

กลัวเมีย
กำกับหลวงอนุรักษ์รัถการ (2479)
ขุนวิจิตรมาตรา (2514)
เขียนบทหลวงอนุรักษ์รัถการ
อำนวยการสร้างมานิต วสุวัต (2479)
ชายชาญ วสุวัต (2514)
นักแสดงนำครั้งที่ 1
มานี สุมนนัฎ
จำรัส สุวคนธ์
เขียน ไกรกุล
ครั้งที่ 2
สมบัติ เมทะนี
อรัญญา นามวงศ์
รุจน์ รณภพ
นงลักษณ์ โรจนพรรณ
กำกับภาพหลวงกลการเจนจิต
ตัดต่อกระเศียร วสุวัต (2479)
ดนตรีประกอบนารถ ถาวรบุตร (ทำนอง)
จำรัส รวยนิรันดร์ (คำร้อง)
กิจ สาราภรณ์ (ช่วยแต่งเพลง ใจสนองใจ)
บริษัทผู้สร้าง
บริษัทภาพยนตร์เสียงศรีกรุง จำกัด / ศรีกรุงภาพยนตร์
วันฉายพ.ศ. 2479 (ฉบับแรก)
พ.ศ. 2514 (ฉบับหลัง)
ประเทศไทย
ภาษาไทย

นำแสดงโดย มานี สุมนนัฎ นางเอกศรีกรุงผู้มีชื่อเสียงและ จำรัส สุวคนธ์ ดาวรุ่งดวงใหม่จาก เลือดชาวนา ซึ่งได้เป็นดาราระดับพระเอกศรีกรุงอย่างสมบูรณ์ มีสิทธิ์นั่งเก้าอี้พิเศษของโรงถ่ายหลังจากภาพยนตร์เรื่องนี้ นอกจากนี้ยังมีเพลงไพเราะร่วมสมัยเป็นที่จดจำของผู้ฟังเพลงจนถึงปัจจุบัน

หลังจากศรีกรุงหยุดกิจการภาพยนตร์ไปนานตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ต่อมาในปี พ.ศ. 2514 ได้หวนกลับวงการอีกครั้งประเดิมด้วย กลัวเมีย ฉบับสร้างใหม่เป็นเรื่องแรก (สีอิสต์แมน) ในนาม ศรีกรุงภาพยนตร์

นำแสดงโดย สมบัติ เมทะนี และ อรัญญา นามวงศ์ ดาราคู่ขวัญยอดนิยมสมัยนั้น ร่วมด้วย รุจน์ รณภพ, นงลักษณ์ โรจนพรรณ (ดาราจอแก้วไทยทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม ที่ก้าวสู่วงการจอเงินมาแล้วหลายเรื่อง) ฉายที่โรงภาพยนตร์เพชราม่า เชิงสะพานลอยประตูน้ำ (ใกล้ซอยชิดลม)

ชายชาญ วสุวัต อำนวยการสร้าง, มานิต วสุวัต ที่ปรึกษา กำกับการแสดงโดย ขุนวิจิตรมาตรา ซึ่งเคยช่วยงานที่ศรีกรุงในยุคบุกเบิก

เรื่องย่อ แก้

เรื่องของสามีเจ้าชู้ไม่เลือกแม้แต่สาวใช้ในบ้าน แต่ไม่อาจรอดพ้นสายตาของภรรยาที่ระแวงคอยจับผิดอยู่ก่อนแล้วทุกครั้ง จนเธอทนไม่ไหวตัดสินใจหนีออกจากบ้าน ฝ่ายชายเริ่มสำนึกได้ว่าตนเป็นต้นเหตุทั้งหมด ขณะที่ฝ่ายภรรยาซึ่งอดคิดถึงสามีไม่ได้จึงกลับเข้ามาในบ้านและแอบได้ยินฝ่ายชายรำพันด้วยความเสียใจ ทั้งคู่ปรับความเข้าใจและกลับมาเริ่มต้นชีวิตร่วมกันใหม่ในที่สุด

งานสร้าง แก้

ทั้งสองฉบับ ถ่ายทำด้วยฟิล์ม 35 มม.ระบบไวด์สกรีน ซาวออนฟิล์ม (บันทึกเสียงจริงขณะถ่ายทำ) ตามมาตรฐานสากลซึ่งศรีกรุงเป็นผู้บุกเบิกการสร้างระบบนี้ในเมืองไทยตั้งแต่เริ่มแรกโดยต้องใช้อุปกรณ์และผู้ชำนาญรวมทั้งค่าใช้จ่ายมากกว่าระบบพากย์ลงฟิล์มภายหลัง ภาพยนตร์ประสบความสำเร็จอย่างดีทั้งสองครั้ง

ฉากเด่นตอนหนึ่งของฉบับ พ.ศ. 2514 ซึ่งต้องถ่ายทำให้ได้ในครั้งเดียว คือ เมื่อสามีภรรยา (สมบัติ-อรัญญา) ทะเลาะกันตามปกติ แต่คราวนี้ภรรยาโกรธจัด คว้าไวโอลินที่สามีหลอกว่ากำลังฝึกเล่น ฟาดสุดแรงกับขอบโต๊ะจนเครื่องดนตรีหักกระเด็นเป็นชิ้น ๆ ทั้งการประชันบทบาทของดารานำและการบันทึกเสียงให้ความสมจริงจนผู้ชมนิ่งอึ้งด้วยคาดไม่ถึงกับความรุนแรงของสถานการณ์

เพลง แก้

  1. สุรานารี (จำรัส-เขียน / สมบัติ-นงลักษณ์)
  2. ใจสนองใจ (มานี / อรัญญา)
  3. แสนอาลัย (จำรัส / สมบัติ)
  4. ชื่นชีวิต (จำรัส-มานี / สมบัติ-อรัญญา)
  5. ยามรัก (มีเฉพาะฉบับ พ.ศ. 2514 โดย หม่อมราชวงศ์ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ ดารารับเชิญ)
  6. ผัวหาย (มีเฉพาะฉบับ พ.ศ. 2514 โดย ขวัญจิต ศรีประจันต์ นักร้องรับเชิญ)

เพลงต้นฉบับ บันทึกลงแผ่นเสียงตราศรีกรุง อัลบั้มอื่น ๆ ขับร้องโดย เช่น หม่อมราชวงศ์ถนัดศรี สวัสดิวัตน์, จินตนา สุขสถิตย์, นริศ อารีย์, อารีย์ นักดนตรี, อัลบั้มลองเพลย์เพลงบรรเลงของวงศรีกรุงออร์เคสตร้า โดย อดิง ดีล่า - กังวาล ชลกุล และ อัลบั้มเฉพาะกิจชุด เพลงประทับใจในอดีตของนารถ ถาวรบุตร โดย ประสิทธิ์ พยอมยงค์, หม่อมราชวงศ์พรพุฒิ วรวุฒิ, ประสาน สุทัศน์ ณ อยุธยา, นพ โสตถิพันธ์ เป็นต้น

อ้างอิง แก้

  • ภาพยนตร์ กลัวเมีย ศรีกรุงภาพยนตร์ /ภาพยนตร์เสียงศรีกรุง, 2514
  • กาญจนาคพันธุ์ ยุคเพลงหนังและละครในอดีต เรืองศิลป์ 2518 หน้า 89