ประสิทธิ์ พยอมยงค์

ประสิทธิ์ พยอมยงค์ (7 มีนาคม พ.ศ. 2469 - 2 เมษายน พ.ศ. 2553) ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล - เรียบเรียงเสียงประสาน) และเจ้าของบทเพลงข้าวนอกนา บ้านเรา รักเธอเสมอ คนเดียวในดวงใจ ฆ่าฉันให้ตายดีกว่า เดือนเอ๋ย

ประสิทธิ์ พยอมยงค์
เกิด7 มีนาคม พ.ศ. 2469
เสียชีวิต2 เมษายน พ.ศ. 2553 (อายุ 84 ปี)
สถานพยาบาลศุขเวช เนอร์สซิ่งโฮม รามคำแหง 21 กรุงเทพมหานคร
อาชีพนักดนตรี
ปีที่แสดงพ.ศ. 2491 - 2542
ผลงานเด่นข้าวนอกนา บ้านเรา รักเธอเสมอ คนเดียวในดวงใจ ฆ่าฉันให้ตายดีกว่า เดือนเอ๋ย
ศิลปินแห่งชาติพ.ศ. 2532 - สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล)


ประวัติ แก้

ประสิทธิ์ พยอมยงค์ เกิดเมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2469 ที่บ้านเลขที่ บ้านเลขที่ 22 ถนนโยธา ตำบลตลาดน้อย อำเภอสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรของนายสุธรรม และนางนิล แซ่เตียว มีน้องสาวร่วมบิดามารดาอีกหนึ่งคน สำหรับนามสกุลพยอมยงค์นั้น เป็นนามสกุลที่ได้รับพระราชทานผ่านทางเรือเอกประทีป พยอมยงค์ ผู้เป็นน้องชายนายสุธรรม ครอบครัวนี้จึงใช้นามสกุลนี้ตลอดมา

ประสิทธิ์ พยอมยงค์ ถือกำเนิดมาในครอบครัวคาทอลิก โดยบิดาประกอบอาชีพค้าขาย ส่วนมารดาประกอบอาชีพรับตัดเย็บเสื้อผ้า จึงมีฐานะปานกลาง ประสิทธิ์ พยอมยงค์จึงได้รับการศึกษาในระดับสูง โดยสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนอัสสัมชัญ และเข้าเรียนในคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง รุ่นเดียวกับนายธานินทร์ กรัยวิเชียร อดีตนายกรัฐมนตรี และ นายมารุต บุนนาค อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร แต่ไม่จบเนื่องจากมหาวิทยาลัยต้องปิดในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ประสิทธิ์ พยอมยงค์จึงเลิกศึกษา และเริ่มต้นชีวิตนักดนตรีอย่างเต็มตัวตั้งแต่นั้นมา

ชีวิตการเล่นดนตรี แก้

ประสิทธิ์ พยอมยงค์หัดเล่นเปียโนจากชัยวัฒน์ เลาหบุตร น้าชาย มาตั้งแต่อายุ 10 ปี แต่ประสิทธิ์เองมีปัญหาคือรูปร่างเล็ก และนิ้วมือสั้น ทำให้เล่นเปียโนคลาสสิกได้ไม่ดีนัก ทำให้ต้องหันไปหาการเล่นการเล่นเปียโนในแนวป๊อบปูล่าแทน ส่วนการเล่นดนตรีอย่างจริงจังนั้น เริ่มเมื่อเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยได้รวมพรรคพวกเพื่อตั้งวงดนตรีของมหาวิทยาลัย ตามที่นิยมตั้งในขณะนั้น สำหรับการอยู่ในวงดนตรีมหาวิทยาลัยครั้งนี้ ประสิทธิ์ได้พบกับจำนรรจ์ กุณฑลจินดา อดีตหัวหน้าวงดนตรีกรรณเกษมด้วย

ส่วนงานดนตรีที่เป็นอาชีพหลักนั้น เริ่มต้นเมื่อระยะหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ราว พ.ศ. 2489 เนื่องจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ปิดทำการในระยะสงครามและเกิดสถานบันเทิงมากขึ้น ทำให้ประสิทธิ์หันไปเล่นดนตรีตามสถานบันเทิงเหล่านั้น โดยมีผู้ชักชวนคือ ครูไสล ไกรเลิศ ครูเพลงที่ปั้นสุเทพ วงศ์กำแหง และ ชรินทร์ นันทนาครขึ้นมา ในขณะนั้นประสิทธิ์ พยอมยงค์มีอายุได้เพียง 20 ปี

ประสิทธิ์ พยอมยงค์เริ่มชีวิตการเป็นนักดนตรีครั้งแรกที่ภัตตาคารห้อยเทียนเหลา หรือ หยาดฟ้าภัตตาคาร โดยมีเพื่อนร่วมวงคือ จำนรรจ์ กุณฑลจินดา ฮอน หาญบุญตรง สมาน กาญจนะผลิน ธนิต ผลประเสริฐ เวส สุนทรจามร และ เฉลียว คีติกานต์ ชาวฟิลิปปินส์ สำหรับเพลงที่เล่นมักจะเป็นเพลงลีลาศเป็นส่วนใหญ่

หลังจากที่เล่นที่ห้อยเทียนเหลามาได้ระยะหนึ่ง ประสิทธิ์ พยอมยงค์ได้ร่วมกับพรรคพวกตั้งวงดนตรีกรุงเทพสวิงขึ้นมา เพื่อบรรเลงส่งกระจายเสียงไปยังสถานีวิทยุ จ.ส.ของพันเอกการุณ เก่งระดมยิง โดยได้รวบรวมนักดนตรีไว้หลายคน เช่น อุทิตต์ ทินกร ณ อยุธยา เกษม ชื่นประดิษฐ์ สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ ในระยะนี้เองประสิทธิ์ พยอมยงค์เริ่มแต่งทำนองเพลงแล้วมีเพื่อนร่วมวงเป็นผู้ใส่เนื้อร้อง จนกลายเป็นที่นิยมต่อมาอีกหลายเพลง

ประสิทธิ์ พยอมยงค์เริ่มทำงานประจำในช่วงนี้ ควบคู่ไปกับการเล่นดนตรี โดยทำงานที่บริษัทแผ่นเสียง ย่านวังบูรพา โดยได้เป็นผู้ดูแลการสั่งเข้าแผ่นเสียง และควบคุมห้องบันทึกเสียงด้วย เช่น บริษัท อัศวินการละคร และแผ่นเสียง, บริษัท ดีคูเปอร์ แอนด์ยอห์นสัน และ บริษัท แบล๊คแอนด์ไว้ท์ ซึ่งการทำงานในวงการแผ่นเสียงนี้เอง ทำให้โลกดนตรีของประสิทธิ์กว้างขึ้นกว่าเดิม และได้รู้จักกับคนในวงการดนตรีมากขึ้น

ใน พ.ศ. 2496 พ.ต.อ.พุฒ บูรณสมภพได้ตั้งวงดนตรีประสานมิตรขึ้น ประสิทธิ์ พยอมยงค์ได้เข้าไปเป็นนักดนตรีอยู่ในวงนั้น พร้อมกับพรรคพวกเดิม และใหม่หลายคน เช่น สมาน กาญจนะผลิน สง่า ทองธัช ม.ร.ว.พรพุฒิ วรวุฒิ มาโนช ศรีวิภา เล็ก ชะอุ่มงาม และ ชาลี อินทรวิจิตร แต่วงดนตรีประสานมิตรอยู่ได้ไม่นานก็สลายตัวไป เนื่องด้วยเหตุผลทางการเมือง ประสิทธิ์ พยอมยงค์และ จำนรรจ์ กุณฑลจินดา จึงฟื้นวงดนตรีใหม่ เปลี่ยนชื่อเป็นวงดนตรีกรรณเกษม ได้ สมาน กาญจนะผลิน และ ไพบูลย์ ลีสุวัฒน์มาร่วมวง

ประสิทธิ์ พยอมยงค์เคยเดินทางไปร่วมแสดงเพื่อกระชับสัมพันธ์กับจีนแดง โดยร่วมคณะกับสุวัฒน์ วรดิลก และ เพ็ญศรี พุ่มชูศรี ใน พ.ศ. 2500 เมื่อกลับมาแล้วต้องต่อสู้คดีคอมมิวนิสต์พักหนึ่ง ใน พ.ศ. 2502 จึงได้เข้ารับราชการที่วงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ ร่วมกับ ครูเอื้อ สุนทรสนานแต่อยู่ได้เพียง 3 ปี ประสิทธิ์ก็ลาออกไปอยู่วงดนตรีเทศบาลกรุงเทพกับสุทิน เทศารักษ์ จนกระทั่ง พ.ศ. 2512 จึงได้ลาออก และไปเรียนวิชาเรียบเรียงเสียงประสานกับแมนรัตน์ ศรีกรานนท์ รุ่นเดียวกับ นริศร ทรัพยะประภา และ ชัยยุทธ เวชสวรรค์ พร้อมกับเข้าสอนที่นั่น จึงยุติการเล่นดนตรีตามไนต์คลับ และสอนมาจนกระทั่งอายุมากจึงเลิกสอนไป


การเรียบเรียงเสียงประสาน แก้

ประสิทธิ์ พยอมยงค์ ถือได้ว่าเป็นนักเรียบเรียงเสียงประสานฝีมือดีคนหนึ่งในวงการเพลงไทยสากล โดยประสิทธิ์ พยอมยงค์ได้อาศัยการศึกษาด้วยตนเองก่อนในระยะแรก จากการนำเอาคอร์ดกีตาร์มาแยกเสียงประสาน สำหรับเพลงแรกๆ ที่ประสิทธิ์ พยอมยงค์แยกเสียงประสาน เป็นผลงานเพลงของครูนารถ ถาวรบุตร มาเป็นแนวทางก่อน เนื่องจากประสิทธิ์ถนัดเปียโนเช่นเดียวกับครูนารถ

หลังจากที่พอจะเริ่มแยกเสียงประสานได้แล้ว ประสิทธิ์เริ่มใช้ออเคสตราชีท (โน้ตเพลงสากล) มาเขียนสกอร์ให้เครื่องดนตรีแต่ละชิ้นบรรเลง แล้วนำมาประยุกต์ให้เข้ากับเพลงไทยสากล โดยมีคีติ คีตากร หรือบิลลี่ นักดนตรีชาวฟิลิปปินส์แห่งวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ และ วงดนตรีสุนทราภรณ์เป็นต้นแบบ

ประสิทธิ์ พยอมยงค์ได้เรียนการเรียบเรียงเสียงประสานอย่างจริงจังกับครูแมนรัตน์ ศรีกรานนท์ที่สยามกลการ จนได้รับการยอมรับ และได้รับยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล - เรียบเรียงเสียงประสาน) ประจำปี พ.ศ. 2532


ผลงานเพลง แก้

ผลงานเพลงของครูประสิทธิ์ พยอมยงค์มีอยู่พอสมควร แต่ไม่มากนัก โดยแต่งร่วมกับนักแต่งเพลงอีกหลายคน เช่น เกษม ชื่นประดิษฐ์ ชาลี อินทรวิจิตร ทิพย์ประภา เนรัญชรา ร้อยแก้ว รักไทย สุรพล โทณะวณิก สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ อ.กวี สัตโกวิท อุทิตต์ ทินกร ณ อยุธยา พอจะประมวลได้ดังนี้

  • หน้าชื่นอกตรม
  • เก็บใจไว้รอ
  • ข้างขอบลาน
  • คนขายเสียง
  • คนเดียวในดวงใจ
  • จูบฟ้าลาดิน
  • ซอสวาท
  • ตะวันยอแสง
  • นักโทษรัก
  • บ้านเรา
  • ผยอง
  • พลังแห่งความคิดถึง
  • ไม่เคยรักใครเท่าเธอ
  • รักเธอเสมอ
  • ว้าเหว่
  • สายชล
  • หัวใจที่ถอดวาง
  • หยาดรุ้ง
  • เหมือนไม่เคย
  • เหมือนตายจากกัน
  • อยากสอยดาว
  • เกลียดคนสวย
  • ข้าวนอกนา
  • ชีวิตคนดำ
  • ระเริงชล
  • โอ้รัก
  • รักทรงฤทธิ์
  • จดหมายรัก
  • โรครัก
  • ไกลชู้
  • ฆ่าฉันให้ตายดีกว่า
  • เธอเป็นหัวใจของฉัน
  • โธ่เอ๋ย
  • รักดาว
  • หนีรัก
  • อย่าทรมานอีกเลย
  • เดือนเอ๋ย

ฯลฯ


รางวัลและเกียรติคุณ แก้

ครูประสิทธิ์ พยอมยงค์มีผลงานที่ได้รับยกย่องและเชิดชูเกียรติ ดังนี้

  • พ.ศ. 2509 รางวัลแผ่นเสียงทองคำ พระราชทาน ครั้งที่ 2 เพลงดาวประดับเมือง
  • พ.ศ. 2514 รางวัลแผ่นเสียงทองคำ พระราชทาน ครั้งที่ 3 เพลง ลมหวน
  • พ.ศ. 2516 รางวัล ตุ๊กตาเงิน เพลงประกอบดีเด่น จากภาพยนตร์ เรื่อง ชู้ ของ เปี๊ยก โปสเตอร์
  • พ.ศ. 2519 รางวัล เสาอากาศทองคำ ครั้งที่ 2 เพลง ข้าวนอกนา
  • พ.ศ. 2532 ได้รับการเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล - เรียบเรียงเสียงประสาน)

ถึงแก่กรรม แก้

ครูประสิทธิ์ พยอมยงค์ได้ล้มป่วยเป็นอัลไซเมอร์และช่วยเหลือตัวเองไม่ได้มาเป็นเวลานาน จนกระทั่งถึงแก่กรรมด้วยอาการระบบทางเดินหายใจและระบบเลือดล้มเหลว เมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2553 เวลา 18.00 น. ณ สถานพยาบาลศุขเวชเนอร์สซิ่งโฮล์ม

อ้างอิง แก้