วังบูรพา เป็นชื่อย่าน ย่านหนึ่งในพื้นที่แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ครอบคลุมพื้นที่บริเวณถนนเจริญกรุง, ถนนมหาไชย, ถนนพาหุรัด, ถนนตรีเพชร และถนนบูรพา ซึ่งย่านวังบูรพานั้นเคยเป็นสถานที่ตั้งของวังบูรพาภิรมย์ พระที่ตำหนักที่ประทับของสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช องค์ผู้ทรงเป็นต้นราชสกุลภาณุพันธุ์ เคยเป็นศูนย์การค้าที่คึกคักได้รับความนิยมอย่างมาก และแหล่งชุมนุมกันของวัยรุ่น คนหนุ่มสาว ในยุคสมัยก่อนกึ่งพุทธกาล (ก่อน พ.ศ. 2500) รวมถึงในเวลาหลังจากนั้นไม่นาน

ย่านวังบูรพาในปัจจุบัน (แยกเฉลิมกรุง)

ประวัติ

แก้

ก่อตั้งและยุครุ่งเรือง

แก้

สภาพการเป็นศูนย์การค้าของวังบูรพาเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2497 หลังจากที่นายโอสถ โกศิน ได้ตกลงซื้อที่ของวังบูรพาภิรมย์ต่อจากทายาทของเจ้าของวังในปี พ.ศ. 2494 ด้วยราคา 13 ล้านบาท เนื่องจากไม่มีผู้อยู่อาศัยอยู่เป็นเวลานาน และได้ทุบทำลาย เพื่อเปิดทางสร้างเป็นศูนย์การค้าขึ้นมาแทนที่ และได้รับความนิยมหลังจากนั้นไม่นาน [1]

ในยุครุ่งเรือง วังบูรพามีโรงภาพยนตร์ถึง 3 แห่ง ได้แก่ คิงส์, ควีนส์ และแกรนด์ ซึ่งฉายภาพยนตร์ที่ไม่ซ้ำกัน จึงไม่แย่งผู้ชมกัน โดยคิงส์ จะฉายภาพยนตร์จีน, ภาพยนตร์ฮ่องกงของชอว์บราเดอร์สสตูดิโอ และภาพยนตร์ฮอลลีวูดของเมโทร-โกลด์วิน-เมเยอร์, ควีนส์ จะขึ้นชื่อในเรื่องของการฉายภาพยนตร์อินเดีย และภาพยนตร์ฮอลลีวูดของโคลัมเบียพิคเจอร์ส ขณะที่แกรนด์จะเน้นไปที่ภาพยนตร์ไทย และภาพยนตร์ฮอลลีวูดของยูไนเต็ดอาร์ทติสทส์และยูนิเวอร์แซลสตูดิโอส์ ซึ่งนั่นยังไม่นับศาลาเฉลิมกรุง อีกหนึ่งโรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ในอาณาบริเวณเดียวกันอีกด้วย อีกทั้งยังมีร้านอาหาร, ร้านกาแฟ, ร้านถ่ายรูป, ห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ มากมาย เช่น ร้านขายยาบอมใบ, ห้างรัตนมาลา, ห้างย่งเตียงสโตร์, ห้างลิลลี่, ห้างเวียงฟ้า, ร้านกาแฟหรดี รวมถึงห้างเซ็นทรัล สาขาวังบูรพา ซึ่งเป็นกิจการสาขาแรกของกลุ่มเซ็นทรัล และพื้นที่รอบ ๆ วังบูรพายังเป็นที่ตั้งของตลาดมิ่งเมือง และตลาดบำเพ็ญบุญ ที่เป็นแหล่งรวมของร้านตัดเสื้อ โดยเฉพาะร้านตัดเสื้อผู้หญิง ซึ่งนับว่าอยู่ในทำเลที่ไม่ไกลไปจากย่านพาหุรัด ซึ่งเป็นแหล่งค้าขายผ้าแหล่งใหญ่ โดยกล่าวกันว่าร้านตัดเสื้อที่นี่ ลูกค้าสามารถสั่งตัดแล้วรออีกราว 1–2 ชั่วโมง ก็ได้รับของแล้ว นับว่ารวดเร็วมาก อีกทั้งวังบูรพายังเป็นท่ารถโดยสารระหว่างจังหวัด คล้ายกับสถานีขนส่งหมอชิตในปัจจุบัน และยังเป็นทางผ่านของรถราง พาหนะที่ได้รับความนิยมในสมัยนั้นด้วย [2]

 
ย่านวังบูรพาด้านถนนจักรเพชร ตัดกับถนนมหาไชยและถนนเยาวราช (แยกบูรพา)

นอกจากนี้แล้ว กลุ่มวัยรุ่นคนหนุ่มสาวที่รวมตัวกันอยู่ที่วังบูรพา ได้รับการขนานนามว่า "โก๋หลังวัง" อันหมายถึง วัยรุ่นที่แต่งตัวตามสมัยนิยมในเวลานั้น หากเป็นวัยรุ่นชายจะแต่งตัวโดยสวมเสื้อรัดรูปลายดอก แขนทรงกระบอก และหวีผมให้เป็นทรงสูงและม้วนที่ด้านบน และไว้จอน เรียกกันว่า "ออร์เลน" ซึ่งเพี้ยนมาจากคำว่า "ออลอน" อันเป็นชื่อของเส้นใยสังเคราะห์ที่ใช้ตัดเสื้อในเวลานั้น และออกเสียงในภาษาไทยคล้ายกับคำว่าจิ้งเหลน ถ้าหากเป็นวัยรุ่นหญิงจะสวมกระโปรงบาน แต่งหน้าอ่อน ๆ มีผ้าคาดผม และที่เข็ดขัดจะเหน็บผ้าเช็ดหน้าเอาไว้ ในส่วนของพฤติกรรมจะชื่นชอบในการฟังเพลงสากลตะวันตก เช่น ร็อกแอนด์โรล, คลั่งไคล้ดารานักร้องต่างประเทศ เช่น เอลวิส เพรสลีย์, คลิฟฟ์ ริชาร์ด และเจมส์ ดีน เป็นต้น เนื่องจากที่ชุมนุมของวัยรุ่นกลุ่มนี้ คือ พื้นที่บริเวณด้านหลังของสถานที่ตั้งวังบูรพาภิรมย์ [3][2][4][5]

ยุคถดถอยและความเปลี่ยนแปลง

แก้

วังบูรพา เริ่มถดถอยความนิยมลงไปราว พ.ศ. 2508 หลังการเกิดขึ้นของย่านการค้าสยามและราชประสงค์ที่ได้รับความนิยมขึ้นมาแทน ตลาดมิ่งเมืองที่เคยคึกคัก ก็ได้มีมติรัฐบาลตั้งแต่ พ.ศ. 2501 ให้รื้อถอน และได้รื้อถอนเสร็จสิ้นสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2521[4] ขณะที่โรงภาพยนตร์ต่าง ๆ ก็ทยอยปิดตัวลง โดยแห่งสุดท้ายที่ปิดกิจการคือ ควีนส์ ซึ่งปิดตัวลงเมื่อปี พ.ศ. 2533 หลังจากแบกรับภาวะขาดทุนไม่ไหว โดยภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายที่ฉาย คือ ฉลุย โครงการ 2[2]

ต่อมา สถานที่เดิมที่เคยเป็นที่ตั้งของวังบูรพาภิรมย์ ได้เปลี่ยนมาเป็นห้างเมอร์รี่คิงส์ สาขาวังบูรพา อยู่ระยะหนึ่ง หลังจากห้างเมอร์รี่คิงส์ปิดตัวลง ได้เปลี่ยนมาเป็นเมก้า พลาซ่า สะพานเหล็ก เช่นในปัจจุบัน และที่ตั้งเดิมของตลาดมิ่งเมือง ก็ได้กลายมาเป็นดิโอลด์สยามพลาซ่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 เพื่อเป็นการรื้อฟื้นความรุ่งเรืองของย่านวังบูรพาในอดีต

ยุคปัจจุบัน

แก้

ปัจจุบัน หลายร้านค้าในย่านวังบูรพา เช่น ร้านอาหาร หรือร้านถ่ายรูป ที่เปิดดำเนินกิจการมาตั้งแต่ยุครุ่งเรือง ก็ยังคงเปิดกิจการและยังคงรูปแบบเดิมอยู่ แม้นว่ายุคสมัยและเทคโนโลยีหลายอย่างจะเปลี่ยนไปแล้วก็ตาม และสิ่งที่ขึ้นชื่ออย่างมากและเป็นที่รู้จักกันดีของย่านวังบูรพามาอย่างยาวนาน คือ การเป็นศูนย์รวมของร้านขายปืน ที่มีอยู่ด้วยกันหลายร้าน และยังเป็นที่ตั้งของร้านหนังสือและโรงพิมพ์ชั้นนำหลายร้านอีกด้วย[2] [4]

อ้างอิง

แก้
บรรณานุกรม
  • เกษตรศิริ, ชาญวิทย์ (2555). กาลานุกรมสยามประเทศไทย 2485-2554. โพสต์บุ๊กส์. ISBN 9789742280703.
อ้างอิง

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

13°44′45″N 100°30′05″E / 13.745833°N 100.501389°E / 13.745833; 100.501389