โอสถ โกศิน
บทความชีวประวัตินี้เขียนเหมือนประวัติสมัครงาน |
บทความนี้อาศัยการอ้างอิงจากแหล่งข้อมูลปฐมภูมิมากเกินไป |
นายโอสถ โกศิน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และอดีตนายกสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์[1]
โอสถ โกศิน | |
---|---|
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ | |
ดำรงตำแหน่ง 18 ธันวาคม พ.ศ. 2515 – 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 | |
นายกรัฐมนตรี | ถนอม กิตติขจร |
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม | |
ดำรงตำแหน่ง 16 ตุลาคม พ.ศ. 2516 – 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2517 | |
นายกรัฐมนตรี | สัญญา ธรรมศักดิ์ |
ก่อนหน้า | พลเอกกฤษณ์ สีวะรา |
ถัดไป | อรุณ สรเทศน์ |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 25 สิงหาคม พ.ศ. 2456 |
เสียชีวิต | 19 ตุลาคม พ.ศ. 2549 (93 ปี) |
คู่สมรส | คุณหญิง ลมุลศรี โกศิน |
ประวัติ แก้ไข
เกิดวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2456 เป็นบุตรของพระยุติชาญดำรงเวทย์ อดีตตุลาการ และ นางยุติชาญดำรงเวทย์ (กิมเหนอ) นายโอสถ โกศิน ได้สมรสกับ น.ส.ลมุลศรี เลิศดำริห์การ พาณิชย์ศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (บุตรีขุนเลิศดำริห์การ อดีตประธานกรมการหอการค้าไทย และอดีตนายกเทศมนตรีนครกรุงเทพฯ) เมื่อวันที่ 27 พ.ศ. 2494 ปัจจุบันคือ คุณหญิง ลมุลศรี โกศิน โดยได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตติยจุลจอมเกล้า
ประวัติข้างต้นนี้ ท่านโอสถ โกศิน ได้เป็นผู้บันทึกไว้ด้วยตนเอง เมื่อ พ.ศ. 2543 สำหรับบุคคลทั่วไปที่ได้รู้จักใกล้ชิดกับท่าน ย่อมทราบดีว่าท่านเป็นผู้ที่มีความโอบอ้อมอารี มีบุคคลเป็นจำนวนมากที่ได้รับการอุปถัมภ์เปลี่ยนแปลงชีวิตให้ดีขึ้น โดยที่ท่านมิได้หวังผลตอบแทนแต่อย่างใด มีเมตตาต่อผู้ร่วมงานและผู้น้อย ท่านมีความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ อีกทั้งยังเป็นผู้ใฝ่หาความรู้ตลอดเวลา และไม่ยอมใช้วันเวลาให้ผ่านไปอย่างเปล่าประโยชน์ มีความมุ่งมั่นที่จะร่วมทำคุณประโยชน์ให้แก่ส่วนรวมในทุกด้านที่ท่านสามารถจะทำได้ และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นอย่างสูง ด้านศาสนายังได้เป็นผู้ก่อตั้งกองทุนปลูกรากแก้วศาสนทายาท วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก เพื่อเป็นทุนการศึกษาแก่ภิกษุสามเณร โดยทั่วไป ท่านจึงเป็นผู้สูงวัยที่ถึงพร้อมด้วยคุณสมบัติประเสริฐนานัปการ อันนับเป็นบุคคลตัวอย่างสำหรับบุคคลรุ่นหลังจะถือเป็นแบบอย่าง
แม้ว่าท่านจะเป็นผู้ที่ทำงานอย่างจริงจัง แต่ก็ได้แบ่งเวลาสำหรับการผ่อนคลายกับครอบครัวและงานอดิเรกของท่าน เช่น การอ่านหนังสือ เขียนหนังสือ ดูแลไม้นานาชนิดในสวนที่บ้าน และพบปะกลุ่มเพื่อนที่ใกล้ชิดเป็นประจำ ท่านเป็นผู้มีอารมณ์ขันและทันเหตุการณ์ของบ้านเมืองตลอดเวลา ท่านจึงเป็นผู้อาวุโสที่ทันสมัย จนถึงวาระสุดท้าย เมื่อพ้นภาระจากการเป็นกรรมการในหน่วยงานต่างๆ ในช่วงสุดท้ายท่านได้ใช้ชีวิตด้วยความสงบสุข แวดล้อมด้วยสมาชิกในครอบครัว และญาติมิตรอย่างอบอุ่น และถึงแก่อนิจกรรม โดยความสงบด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2549 สิริอายุ 93 ปี 2 เดือน 24 วัน
ประวัติการศึกษา แก้ไข
- พ.ศ. 2472 จบมัธยมปลายที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ (อายุ 16 ปี)
- พ.ศ. 2474 จบวิชากฎหมายชั้นเนติบัณฑิต (อายุ 18 ปี)
- พ.ศ. 2497-2500 ไปศึกษาวิชากฎหมายต่อ ณ ประเทศอังกฤษ สำเร็จเป็นเนติบัณฑิต จากสำนักลินคอนส์อินน์ (อายุ 44 ปี)
- พ.ศ. 2506 จบการศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 6
- พ.ศ. 2512 รับการอบรมนักบริหารรุ่นที่ 18
- 18 กันยายน 2529 ได้รับพระราชทานปริญญารัฐประศาสนาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
การทำงาน แก้ไข
เมื่อจบการศึกษาวิชากฎหมายจากโรงเรียนกฎหมายชั้นเนติบัณฑิตแล้ว เข้ารับราชการในกระทรวงยุติธรรม ตำแหน่งธุรการอยู่ 7 ปี เพื่อรอเวลาให้มีอายุครบ 25 ปี จึงได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้พิพากษาตาม พ.ร.บ.ตุลาการ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2481-2484 ต่อมาในปี พ.ศ. 2485-2489 จึงได้โอนไปรับราชการกระทรวงพาณิชย์ ในตำแหน่งหัวหน้ากอง และลาออกจากราชการ ในปี พ.ศ. 2489
หลังจากลาออกจากราชการแล้ว ได้มาประกอบอาชีพส่วนตัว โดยเริ่มด้วยการตั้งสำนักงานทนายความ แล้วต่อมาจึงทำการค้าและอุตสาหกรรม เช่น ตั้งโรงงานกลั่นแอลกอฮอล์ โรงงานสุรา โรงงานผลิตแชลแลค ก่อตั้งธนาคาร และบริษัทประกันภัย ตั้งบริษัทส่งยางไปต่างประเทศ และทำการจัดสรรที่ดิน งานชิ้นสุดท้าย คือ ซื้อวังบูรพาภิรมย์และสร้างเป็นศูนย์การค้าแห่งแรกในกรุงเทพฯ หลังจากนั้นจึงเลิกกิจการค้าไปศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ เพื่อศึกษาวิชากฎหมาย ณ ประเทศอังกฤษ เมื่อจบกลับมาแล้วเข้าเป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชากฎหมาย ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน และโรงเรียนสืบสวนของกรมตำรวจ
งานการเมือง แก้ไข
โอสถ โกศิน ได้รับการแต่งตั้งเป็นรองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสินค้าขาออก[2] สำนักงานรัฐมนตรี ในปี พ.ศ. 2503 และเป็นเลขาธิการ ในปี พ.ศ. 2504[3] และได้รับแต่งตั้งให้ทำงานพิเศษ อาทิ กรรมการบริหารของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และเป็นประธานคณะกรมการฯ อยู่ระยะหนึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา ในปี พ.ศ. 2512 และเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในปี พ.ศ. 2515 จากนั้นได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในรัฐบาลของนายสัญญา ธรรมศักดิ์ และได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติอีก 2 สมัย และเป็นสมาชิกวุฒิสภาต่อเนื่องอีก 3 สมัย
ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ผลักดันและดำเนินการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมแห่งแรกของประเทศไทยขึ้น คือ นิคมอุตสาหกรรมบางชัน เมื่อปี พ.ศ. 2516[4]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้ไข
- พ.ศ. 2517 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)[5]
- พ.ศ. 2509 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)[6]
- พ.ศ. 2531 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 2 ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.) (ฝ่ายหน้า)[7]
- พ.ศ. 2485 – เหรียญช่วยราชการเขตภายใน การรบสงครามอินโดจีน (ช.ร.)[8]
- พ.ศ. 2535 – เหรียญกาชาดสมนาคุณ ชั้นที่ 1 (เหรียญทอง)
อ้างอิง แก้ไข
- ↑ ประวัติ โอสถ โกศิน[ลิงก์เสีย]
- ↑ แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการการเมืองในสำนักนายกรัฐมนตรี
- ↑ แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการการเมืองในสำนักนายกรัฐมนตรี
- ↑ ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมบางชันเป็นนิคมอุตสาหกรรมทั่วไป
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๙๑ ตอนที่ ๑๔๑ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๒, ๑๗ สิงหาคม ๒๕๑๗
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๘๓ ตอนที่ ๑๑๔ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๒๓, ๑๙ ธันวาคม ๒๕๐๙
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๕ ตอนที่ ๗๒ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑, ๔ พฤษภาคม ๒๕๓๑
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญช่วยราชการเขตภายใน, เล่ม ๖๐ ตอนที่ ๔๑ ง หน้า ๒๔๗๒, ๓ สิงหาคม ๒๔๘๖