ร้านกาแฟ หรือ คาเฟ่ (ฝรั่งเศส: café) เป็นร้านประกอบกิจการเกี่ยวกับกาแฟ[1] ลักษณะร้านแบบคาเฟ่นั้นเป็นการผสมรูปแบบระหว่าง "ภัตตาคาร" และ "บาร์" เข้าด้วยกัน โดยทั่วไปร้านกาแฟจะไม่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะเน้นไปที่เครื่องดื่มประเภท กาแฟ ชา หรือ ช็อกโกแลต และอาจมีอาหารว่าง อย่างซุป แซนด์วิช ขนมอบและของหวานที่เสิร์ฟเคียงกับเครื่องดื่ม เช่น เค้กหรือคุกกี้ไว้บริการด้วย

ร้านกาแฟคาเฟเดอฟลอเรในกรุงปารีสนับเป็นหนึ่งในร้านกาแฟที่เก่าแก่ที่สุดของเมือง เป็นที่รู้จักจากการที่มีบุคคลสำคัญเช่นนักเขียนและนักปรัชญาชื่อดังหลายคนเคยใช้บริการ

เกี่ยวกับชื่อ

แก้

ชื่อว่า คาเฟ่ (café) มาจากภาษาฝรั่งเศส ภาษาโปรตุเกสและภาษาสเปน มีการออกเสียงว่า "kaff" (เสียงอ่านภาษาอังกฤษ: /ˈkæff/)[2][3][4] ในสหรัฐอเมริกาอาจหมายถึงภัตตาคารที่เสริฟเครื่องดื่มร้อน ๆ และแซนด์วิช ซึ่งอาจเรียกว่า "coffee shop" [5][6]

ประวัติศาสตร์

แก้
 
คอฟฟี่เฮาส์ (Coffeehouse) ในลอนดอนช่วงศตวรรษที่ 17

ร้านกาแฟเริ่มปรากฏในบันทึกของประวัติศาสตร์ตั้งแต่ศริสต์ศตวรรษที่ 16 ในแคว้นเปอร์เซีย ร้านกาแฟในสมัยนั้น คือสถานที่ซึ่งชาวบ้านมารวมตัวกันเพื่อดื่มกาแฟหรือชา ฟังเพลงและเล่นหมากรุก จากนั้นราวศริสต์ศตวรรษที่ 17 ร้านกาแฟจึงเริ่มเป็นที่นิยมในทวีปยุโรป หลังจากชาวยุโรปเริ่มรู้จักดื่มกาแฟ โดยร้านกาแฟแรกของลอนดอนเปิดขึ้นในปี ค.ศ. 1652 เป็นสถานที่แลกเปลี่ยนข่าวสารและเป็นที่พบปะของหมู่พ่อค้านักธุรกิจ อีกแปดสิบกว่าปีต่อมา คือปี ค.ศ. 1739 การสำรวจพบว่ามีร้านกาแฟในลอนดอนถึง 551 ร้านและกลายเป็นแหล่งนัดพบของคนในวงกว้างขึ้น ตั้งแต่พ่อค้า นักปราชญ์ ทนายความและนักประพันธ์ ซึ่งบันทึกของผู้มาเยือนชาวฝรั่งเศสอ้างถึงร้านกาแฟในลอนดอนว่า "เป็นสถานที่คุณมีสิทธิ์จะอ่านหนังสือพิมพ์ได้ทุกฉบับ และสามารถวิพากษวิจารณ์รัฐบาลได้"[ใคร?] แต่สำหรับร้านกาแฟเก่าแก่ที่ยังคงเปิดมาถึงปัจจุบัน ร้าน Caffè Florian ที่เมืองเวนิส อิตาลี ถือเป็นร้านกาแฟที่เก่าที่สุดในโลก ซึ่งก็เปิดมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1720 หรือยุคที่กาแฟเฟื่องฟูในยุโรปนั่นเอง[7]

เนื่องด้วยร้านกาแฟเป็นสถานที่สาธารณะซึ่งไม่จำกัดประเภทของลูกค้า แตกต่างจากร้านเดิม ๆ ที่ลูกค้าส่วนมากจะเป็นผู้ชาย ความนิยมของร้านกาแฟจึงได้แพร่กระจายไปในทุก ๆ มุมของโลกและคาเฟ่ในแต่ละประเทศก็พัฒนาลักษณะและรูปแบบที่แตกต่างกันไป เช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกา ร้านกาแฟคือภัตตาคารขนาดเล็ก จำหน่ายเครื่องดื่มหลายประเภท ทั้งกาแฟ ชา ช็อกโกแล็ต พร้อมทั้งจำหน่ายอาหารและขนมอบ ซึ่งต่างจากคาเฟ่ในประเทศฝรั่งเศสที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกฮอล์ด้วย[ต้องการอ้างอิง]

ในประเทศไทย ร้านกาแฟแห่งแรกมีชื่อว่า "Red Cross Tea Room" ดำเนินกิจการโดย แหม่มโคล ผู้ก่อตั้งโรงเรียนวังหลัง (โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย) โดยเปิดขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1917 ที่สี่กั๊กพระยาศรี ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 เพื่อหาเงินให้สภากาชาดช่วยฝ่ายสัมพันธมิตร ส่วนร้านของชาวไทยร้านแรก เจ้าพระยารามราฆพ ได้เปิดร้าน "กาแฟนรสิงห์" ขึ้นที่สนามเสือป่า เฉพาะในเวลา 15.00–18.00 น. เพื่อบริการผู้ที่มาฝึกซ้อมเสือป่า[8]

อ้างอิง

แก้
  1. Oxford English Dictionary, 2nd ed (1989), entry number 50031127 (café).
  2. Motorcycle. Alford, Steven E., Ferriss, Suzanne. Objekt Series, 2007. Page 82
  3. Britslang: An Uncensored A-Z of the People's Language, Including Rhyming Slang Puxley, Ray. Robson, 1 Apr 2005. p. 216
  4. Shorter Slang Dictionary. Fergusson, Rosalind; Partridge, Eric; Beale, Paul. Psychology Press, 1994
  5. A Café is a coffee-house, a restaurant; strictly a French term, but in the late 19th c. introduced into the English-speaking countries for the name of a class of restaurant. Oxford English Dictionary
  6. A coffee-house; a teashop; an informal restaurant; a bar.; Oxford Essential Dictionary of Foreign Terms in English
  7. รสนิยมกระเช้าของขวัญ ในแต่ละประเทศ เก็บถาวร 2016-04-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ค้นเมื่อ 5 ม.ค. 2559, จาก เว็บไซต์ http://www.loveyouflower.com/
  8. บุนนาค, โรม (2018-02-02). "เมื่อ "เครื่องดื่มปีศาจ" มาสยาม! ร.๓ ทรงปลูกเป็นสวนหลวงในหัวแหวนกรุงรัตนโกสินทร์!!". ผู้จัดการออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 2018-02-09.