ประเทศลีชเทินชไตน์

(เปลี่ยนทางจาก ราชรัฐลิกเตนสไตน์)

47°09′N 9°33′E / 47.15°N 9.55°E / 47.15; 9.55

ราชรัฐลีชเทินชไตน์

Fürstentum Liechtenstein (เยอรมัน)
คำขวัญ"เพื่อพระเจ้า เจ้าชาย และปิตุภูมิ"
(เยอรมัน: Für Gott, Fürst und Vaterland)
ที่ตั้งของ ประเทศลีชเทินชไตน์  (เขียว) ในยุโรป  (เทาอาเกต)  —  [คำอธิบายสัญลักษณ์]
ที่ตั้งของ ประเทศลีชเทินชไตน์  (เขียว)

ในยุโรป  (เทาอาเกต)  —  [คำอธิบายสัญลักษณ์]

ที่ตั้งของลีชเทินชไตน์
เมืองหลวงวาดุซ
เทศบาลใหญ่สุดชาน
47°10′00″N 9°30′35″E / 47.16667°N 9.50972°E / 47.16667; 9.50972
ภาษาราชการเยอรมัน
ศาสนา
(2015[1])
83.2% คริสต์
—73.4% คาทอลิก (ทางการ)
—9.8% คริสต์นิกายอื่น ๆ
7.0% ไม่มี
5.9% อิสลาม
3.9% อื่น ๆ
การปกครองรัฐเดี่ยวในระบบรัฐสภาภายใต้ระบอบราชาธิปไตยกึ่งภายใต้รัฐธรรมนูญ
เจ้าชายฮันส์-อาดัมที่ 2
เจ้าชายอาล็อยส์
ดานีเอล ริช
สภานิติบัญญัติลันท์ทาค
เป็นเอกราชในฐานะราชรัฐ
• การรวมกันระหว่าง
วาดุซกับ
เช็ลเลินแบร์ค
23 มกราคม ค.ศ. 1719
12 กรกฎาคม ค.ศ. 1806
23 สิงหาคม ค.ศ. 1866
พื้นที่
• รวม
160 ตารางกิโลเมตร (62 ตารางไมล์) (อันดับที่ 189)
2.7[2]
ประชากร
• ค.ศ. 2020 ประมาณ
38,896[3] (อันดับที่ 217)
237 ต่อตารางกิโลเมตร (613.8 ต่อตารางไมล์) (อันดับที่ 57)
จีดีพี (อำนาจซื้อ) ค.ศ. 2013 (ประมาณ)
• รวม
5.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ[4] (อันดับที่ 149)
98,432 ดอลลาร์สหรัฐ[5][6][7] (อันดับที่ 3)
จีดีพี (ราคาตลาด) ค.ศ. 2010 (ประมาณ)
• รวม
5.155 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ[6][7] (อันดับที่ 147)
143,151 ดอลลาร์สหรัฐ[5][6][7] (อันดับที่ 1)
เอชดีไอ (ค.ศ. 2019)เพิ่มขึ้น 0.919[8]
สูงมาก · อันดับที่ 19
สกุลเงินฟรังก์สวิส (CHF)
เขตเวลาUTC+01:00 (เวลายุโรปกลาง)
• ฤดูร้อน (เวลาออมแสง)
UTC+02:00 (เวลายุโรปกลาง)
ขับรถด้านขวา
รหัสโทรศัพท์+423
โดเมนบนสุด.li

ลีชเทินชไตน์[9] หรือ ลิกเตนสไตน์[9] (เยอรมัน: Liechtenstein, ออกเสียง: [ˈlɪçtn̩ʃtaɪn]) หรือชื่ออย่างเป็นทางการ ราชรัฐลีชเทินชไตน์ หรือ ราชรัฐลิกเตนสไตน์ (เยอรมัน: Fürstentum Liechtenstein)[10] เป็นประเทศขนาดเล็กที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล ตั้งอยู่ในภูมิภาคยุโรปกลาง มีพรมแดนด้านตะวันออกติดกับประเทศออสเตรีย และด้านตะวันตกติดกับสวิตเซอร์แลนด์[11] ลีชเทินชไตน์มีการปกครองแบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยมีเจ้าชายฮันส์-อาดัมที่ 2 เป็นพระประมุขพระองค์ปัจจุบัน ใช้ภาษาเยอรมันเป็นภาษาราชการ

ลีชเทินชไตน์ถือเป็นประเทศที่มีขนาดเล็กที่สุดเป็นอันดับสี่ในทวีปยุโรป ด้วยพื้นที่เพียง 160 ตารางกิโลเมตร (62 ตารางไมล์) และมีประชากรเพียง 38,749 คน (ค.ศ. 2019) แบ่งการปกครองออกเป็น 11 เทศบาล มีเมืองหลวงคือ วาดุซ และเทศบาลที่มีขนาดใหญ่สุดคือ ชาน นอกจากนี้ยังถือเป็นประเทศที่เล็กที่สุดที่มีพรมแดนติดกับสองประเทศ[12] ในเชิงเศรษฐศาสตร์ ลีชเทินชไตน์มีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศเฉลี่ยต่อคนสูงที่สุดในโลกเมื่อปรับตามภาวะเสมอภาคของอำนาจซื้อ ถือเป็นประเทศที่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจสูง โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่วาดุซ ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่รู้จักในฐานะแหล่งหลบเลี่ยงภาษีของกลุ่มมหาเศรษฐี แต่ในปัจจุบันลีชเทินชไตน์ไม่ได้อยู่ในบัญชีดำอย่างเป็นทางการของประเทศที่เป็นจุดหมายในการเลี่ยงภาษีอีกต่อไป ถึงแม้จะมีขนาดเล็ก และเต็มไปด้วยภูเขาสูง แต่ก็มีสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย นอกจากนี้ลีชเทินชไตน์ยังเป็นที่นิยมของนักเล่นกีฬาฤดูหนาว และยังมีชื่อเสียงในฐานะเป็นประเทศที่เก็บภาษีต่ำมากประเทศหนึ่ง

ลีชเทินชไตน์เป็นสมาชิกของสหประชาชาติ สมาคมการค้าเสรียุโรป และ สภายุโรป แม้จะไม่ใช่สมาชิกของสหภาพยุโรป ทว่าลีชเทินสไตน์ก็มีส่วนร่วมในพื้นที่เชงเกน และ เขตเศรษฐกิจยุโรป และมีสหภาพศุลกากรและสหภาพการเงินร่วมกับสวิตเซอร์แลนด์

ประวัติศาสตร์

แก้

ในปี ค.ศ. 1719 โยฮันน์ที่ 1 โยเซฟ เจ้าชายแห่งลีชเทินชไตน์ ได้ซื้อแคว้นสองแคว้นที่มีชื่อว่า วาดุซ และ เชลเลนบูร์ก จากจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์และตั้งชื่อใหม่ว่า ลีชเทินชไตน์ ต่อมาในปี ค.ศ. 1815 ดินแดนนี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของสมาพันธรัฐเยอรมัน และแยกตัวออกเป็นอิสระในปี ค.ศ. 1866 ลีชเทินชไตน์เป็นประเทศเดียวในยุโรปในศตวรรษที่ 20 ที่ไม่เคยเกิดสงครามเลย[13]

ภูมิศาสตร์

แก้
 
แม่น้ำไรน์ เขตแดนซึ่งแบ่งสวิตเซอร์แลนด์กับลีชเทินชไตน์

ประเทศลีชเทินชไตน์ตั้งอยู่ทางตอนกลางของทวีปยุโรป อยู่ระหว่างประเทศสวิตเซอร์แลนด์และออสเตรีย พิกัด 47°16′ องศาเหนือ 9°32′ องศาตะวันออก มีพื้นที่ทั้งหมดเพียง 160 ตารางกิโลเมตร ซึ่งมีขนาดใกล้เคียงกับกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. (มีขนาดเป็น 0.9 เท่า) โดยมีความยาวจากเหนือจรดใต้ 25 กิโลเมตร และกว้างสุดเพียง 6 กิโลเมตร มีพรมแดนติดต่อกับประเทศออสเตรียยาว 34.9 กิโลเมตร ติดกับสวิตเซอร์แลนด์ 41.1 กิโลเมตร รวมพรมแดนยาวทั้งหมด 76 กิโลเมตร แต่ในปี ค.ศ. 2006 มีการสำรวจและพบว่า อาณาเขตที่แท้จริงมากกว่าเดิม 1.9 กิโลเมตร เป็น 77.9 กิโลเมตร ลีชเทินชไตน์เป็นหนึ่งในสองประเทศของโลกที่ถูกประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลล้อมรอบ ซึ่งอีกประเทศหนึ่งคือ อุซเบกิสถาน

พื้นที่ 2 ใน 3 ของประเทศเป็นภูเขา ภูเขาส่วนใหญ่เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาแอลป์ มีแม่น้ำไรน์ไหลผ่านทางด้านตะวันตกของประเทศ จุดที่สูงที่สุดคือยอดเกราชปิทซ์ (Grauspitz) มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 2,599 เมตร ตั้งอยู่ใต้สุดของประเทศ ส่วนจุดที่ต่ำที่สุดสูงกว่าระดับน้ำทะเล 430 เมตร

ส่วนภูมิอากาศมีลักษณะคล้ายกับประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในฤดูหนาวอากาศหนาว เมฆมาก มีหิมะและฝนบ่อยครั้ง ส่วนในฤดูร้อนจะชื้น อากาศเย็นถึงอุ่น มีเมฆมาก

การแบ่งเขตการปกครอง

แก้
 
เขตการปกครองของลีชเทินชไตน์

ลีชเทินชไตน์แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 11 เทศบาล (เยอรมัน: Gemeinden, รูปเอกพจน์ : Gemeinde) ส่วนใหญ่ประกอบด้วยเมืองเพียงแห่งเดียว โดยเทศบาล 5 แห่งจัดอยู่ในเขตเลือกตั้งตอนล่าง (Unterland) และอีก 6 แห่งอยู่ในเขตเลือกตั้งตอนบน (Oberland) เทศบาลทั้ง 11 แห่งมีดังนี้

ธง เทศบาล ประชากร[5]
(31 มิถุนายน 2557)
พื้นที่
(ตารางกิโลเมตร)
เขตเลือกตั้งอุนเทอร์ลันท์ (Unterland)
  รุกเก็ล
(Ruggell)
2,108 7.38
  เช็ลเลินแบร์ค
(Schellenberg)
1,050 3.59
  กัมพรีน
(Gamprin)
1,635 6.12
  เอ็ชเชิน
(Eschen)
4,341 10.38
  เมาเริน
(Mauren)
4,124 7.49
เขตเลือกตั้งโอเบอร์ลันท์ (Oberland)
  ชาน
(Schaan)
5,964 26.92
  พลังเคิน
(Planken)
421 5.34
  วาดุซ
(Vaduz)
5,391 17.32
  ทรีเซินแบร์ค
(Triesenberg)
2,620 29.69
  ทรีเซิน
(Triesen)
4,966 26.48
  บัลท์เซิร์ส
(Balzers)
4,595 19.73

เศรษฐกิจ

แก้
 
ใจกลางเมืองวาดุซ เมืองหลวงของประเทศ

แต่ก่อนอาชีพหลักของชาวลีชเทินชไตน์คือเกษตรกรรม แต่เปลี่ยนเป็นประเทศอุตสาหกรรมเมื่อประมาณ ค.ศ. 1945 รายได้หลักของประเทศคือการท่องเที่ยวและการจำหน่ายดวงตราไปรษณียากร ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของลีชเทินชไตน์มาจากภาคอุตสาหกรรม 40% ซึ่งประกอบด้วย อิเล็กทรอนิกส์ การผลิตโลหะ สิ่งทอ เซรามิก เวชภัณฑ์ อาหาร และการท่องเที่ยว ภาคการเงินการธนาคาร 30% ภาคการบริการ การท่องเที่ยว 25% และภาคการเกษตร 5% ซึ่งผลผลิตที่ได้จากการเกษตรได้แก่ ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโพด มันฝรั่ง ปศุสัตว์ นม เนย

แรงงานส่วนใหญ่ทำงานในภาคอุตสาหกรรม การค้า และการก่อสร้าง จำนวนแรงงานที่สำรวจในปี ค.ศ. 2014 มีทั้งสิ้น 18,614 คน ในจำนวนนี้ 6,877 คน (37%) อาศัยในประเทศออสเตรีย สวิตเซอร์แลนด์ และเยอรมนี และเดินทางไป - กลับข้ามประเทศทุกวัน[5]

สินค้าส่งออกของลีชเทินชไตน์คือ เครื่องจักรขนาดเล็กและเครื่องจักรที่สั่งทำพิเศษ เครื่องมือด้านทันตกรรม แสตมป์ เครื่องใช้โลหะ เครื่องปั้นดินเผา ส่วนสินค้านำเข้าคือ เครื่องจักร ผลิตภัณฑ์โลหะ สิ่งทอ อาหาร และรถยนต์ กลุ่มประเทศคู่ค้าหลักคือสหภาพยุโรป ประเทศสมาชิกเอฟตา และสวิตเซอร์แลนด์

 
สวนไวน์ใกล้เมืองวาดุซ

ในประเทศลีชเทินชไตน์มีการเก็บภาษีในอัตราที่ต่ำ สำหรับบริษัทที่ตั้งขึ้นใหม่จะมีช่วงปลอดภาษี ขึ้นอยู่กับประเภทธุรกิจ ภาษีสำหรับอสังหาริมทรัพย์ เก็บในอัตรา 0.2 - 0.9% ภาษีเงินได้อัตรา 4 - 18% สำหรับบริษัทถือหุ้น (holding company) ที่มีถิ่นที่อยู่ในลีชเทินชไตน์ได้รับสิทธิพิเศษไม่ต้องเสียภาษี ลีชเทินชไตน์จึงเป็นแหล่งดึงดูดการลงทุนนอกประเทศที่สำคัญของยุโรป

การทำไวน์เป็นสิ่งที่ชาวลีชเทินชไตน์ภาคภูมิใจ แม้จะมีพื้นที่เพาะปลูกน้อย (เพียง 54 เอเคอร์) แต่พื้นที่เพาะปลูกอุดมสมบูรณ์ และภูมิอากาศที่มีแสงแดดปีละ 1,500 ชั่วโมง ประกอบกับมีโรงงานผลิตไวน์ที่ทันสมัย ทำให้ไวน์ของลีชเทินชไตน์มีคุณภาพใกล้เคียงกับไวน์สวิส ปัจจุบันไวน์ของลีชเทินชไตน์ที่ผลิตได้จะจำหน่ายในประเทศเป็นหลัก ยี่ห้อที่ขึ้นชื่อคือ ซุสส์ดรุก (Sussdruck) มีสีอิฐแดง และ เบียร์ลิ (Beerli) มีสีแดงเข้ม การโฆษณาเน้นให้เห็นถึงความเชี่ยวชาญด้านการเพาะปลูก การเก็บ และการกลั่น โดยสามารถหาดื่มได้ตามร้านอาหารทั่วไป

ในนโยบายด้านเศรษฐกิจ ลีชเทินชไตน์มีความร่วมมือใกล้ชิดกับสวิตเซอร์แลนด์ และเป็นสมาชิกกลุ่มเอฟตา ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1960 มีส่วนร่วมในความตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างสวิตเซอร์แลนด์กับยุโรป และเป็นภาคีความตกลงเขตเศรษฐกิจยุโรป ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1995 หลังปี ค.ศ. 1945 ได้เปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจจากเกษตรกรรมเป็นการท่องเที่ยว ภาคบริการทางการเงิน และอุตสาหกรรมซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็ก คือ อุตสาหกรรมผลิตเครี่องจักรกล สิ่งทอ เซรามิค ผลิตภัณฑ์ เคมีและยา อิเล็คโทรนิคส์ อาหารกระป๋อง

ข้อพิพาทระหว่างประเทศ ลีชเทินชไตน์อ้างสิทธิในดินแดนของสาธารณรัฐเช็ก 620 ตารางไมล์ ซึ่งเช็กริบมาจากราชวงศ์ลีชเทินชไตน์ในปี ค.ศ. 1918 แต่ฝ่ายเช็กไม่ยอมรับการอ้างสิทธิดังกล่าว โดยถือว่าการเรียกร้องสิทธิเหนือดินแดนใด ๆ จะต้องไม่ย้อนหลังเกินกว่าเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1948 เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์ขึ้นครองอำนาจ[ต้องการอ้างอิง]

ประชากร

แก้
จำนวนผู้นับถือศาสนาในลีชเทินชไตน์
ศาสนา [14] ค.ศ. 2000 ค.ศ. 1990
คริสต์นิกายโรมันคาทอลิก 78.4% 84.9%
คริสตจักรปฏิรูป 7.9% 9.4 %
คริสต์นิกายออร์ทอดอกซ์ 1.1% 0.7%
คริสต์นิกายอื่น ๆ 0.4% 0.1%
อิสลาม 4.8% 2.4%
ยูดาห์ 0.1% 0.0%
อื่น ๆ 0.3% 0.1%
ไม่นับถือศาสนาใด ๆ 7.0% 2.4%

จากการประมาณจำนวนประชากรเมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2014 ลีชเทินชไตน์มีประชากร 37,215 คน และจากการสำรวจสำมะโนประชากรเมื่อ ค.ศ. 2000 มีประชากร 33,307 คน ในจำนวนนี้กว่า 68% อยู่ในวัย 15-64 ปี อัตราการเพิ่มจำนวนประชากรอยู่ที่ 0.7% ชาวต่างชาติที่พำนักอยู่ในประเทศมีจำนวน 12,522 คน คิดเป็น 33.6% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ ในจำนวนนี้ถึง 58% มาจากสามประเทศได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรีย และเยอรมนี[5]

ลีชเทินชไตน์เป็นประเทศขนาดเล็กที่สุดอันดับที่ 4 ของทวีปยุโรป รองจากนครรัฐวาติกัน โมนาโก และซานมารีโน ภาษาราชการของประเทศคือภาษาเยอรมัน ประชากรส่วนใหญ่พูดภาษาตระกูลอัลเลแมนิกเยอรมัน ถึงแม้ว่าประชากรของประเทศกว่า 1 ใน 3 มาจากประเทศอื่น ได้แก่ ผู้พูดภาษาเยอรมันที่มาจากประเทศเยอรมนี ออสเตรีย และสวิตเซอร์แลนด์ ผู้พูดภาษาอิตาลี รวมไปถึงตุรกี ซึ่งภาษาอัลเลแมนิกเป็นสำเนียงท้องถิ่นที่แตกต่างกับภาษาเยอรมันมาตรฐานค่อนข้างมาก หากแต่คล้ายคลึงกับสำเนียงท้องถิ่นอื่น ๆ ในพื้นที่ใกล้เคียง เช่น ในรัฐฟอร์อาร์ลแบร์ค ประเทศออสเตรีย

ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ จากการสำรวจสำมะโนประชากรในปี ค.ศ. 2000 ประชากรกว่า 87.9% นับถือศาสนาคริสต์ ในจำนวนนี้ 78.4% นับถือคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก และประมาณ 8% นับถือนิกายโปรเตสแตนต์ ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับผลการสำรวจในปี ค.ศ. 1990 ปรากฏว่าจำนวนผู้นับถือศาสนาคริสต์ลดลง ในส่วนของศาสนาอิสลามและไม่นับถือศาสนาเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว[15]

อายุขัยเฉลี่ยของชาวลีชเทินชไตน์อยู่ที่ 79.68 ปี โดยเพศชายมีอายุขัยเฉลี่ย 76.1 ปี และเพศหญิง 83.28 ปี อัตราการตายของทารกคือ 4.64 คนต่อการเกิด 1,000 คน และจากการประมาณเมื่อเร็ว ๆ นี้ อัตราการอ่านออกเขียนได้ของชาวลีชเทินชไตน์อยู่ที่ 100% (อ่านออกเขียนได้ทุกคน) ซึ่งโครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ (อังกฤษ: Programme for International Student Assessment) ที่ร่วมมือกับองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) จัดอันดับให้ระบบการศึกษาของลีชเทินชไตน์ดีเยื่ยมเป็นอันดับที่ 10 ของโลก[16]

การคมนาคม

แก้
 
ลีชเทินชไตน์บัส ระบบขนส่งมวลชนของประเทศ

ถนนภายในลีชเทินชไตน์มีความยาวทั้งสิ้น 380 กิโลเมตร โดยความยาว 90 กิโลเมตรมีช่องทางสำหรับรถจักรยาน ส่วนทางรถไฟภายในประเทศมีความยาวเพียง 9.5 กิโลเมตร ซึ่งเชื่อมต่อกับประเทศออสเตรียและสวิตเซอร์แลนด์ การรถไฟได้รับการบริหารดูแลโดยการรถไฟสหพันธรัฐออสเตรีย (ÖBB)[17] มีสถานีรถไฟทั้งสิ้น 4 สถานี ได้แก่ สถานีชาน-วาดุซ (Schaan-Vaduz) ฟอสท์ฮิลที (Forst Hilti) เนนเดลน์ (Nendeln) และชานวัลด์ (Schaanwald) รถไฟที่ให้บริการจะมาอย่างไม่มีเวลากำหนดแน่นอน เพราะเป็นเพียงทางผ่านระหว่างเมืองเฟลด์เคียร์ชของออสเตรียกับเมืองบุคส์ของสวิตเซอร์แลนด์ ส่วนรถไฟยูโรซิตี้และรถไฟที่เดินทางระยะไกลข้ามประเทศที่ผ่านเส้นทางสายนี้มักจะไม่จอดในสถานีในประเทศลีชเทินชไตน์

ระบบขนส่งมวลชนของลีชเทินชไตน์มีชื่อว่า ลีชเทินชไตน์บัส (อังกฤษ: Liechtenstein Bus) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ระบบโพสท์บัสสวิส (อังกฤษ: Swiss Postbus system) ของสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเส้นทางเดินรถจะแยกกัน ลีชเทินชไตน์บัสจะวิ่งเฉพาะภายในประเทศ และจะไปเชื่อมกับระบบรถโดยสารสวิสที่เมืองบุคส์และซาร์กันส์ของสวิตเซอร์แลนด์ นอกจากนี้ลีชเทินชไตน์บัสยังวิ่งไปถึงเมืองเฟลด์เคียร์ชของออสเตรียอีกด้วย

ลีชเทินชไตน์ไม่มีสนามบินในประเทศ ซึ่งสนามบินขนาดใหญ่ที่อยู่ใกล้ที่สุดคือ ท่าอากาศยานซือริช ในเมืองซือริช ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ลีชเทินชไตน์มีลานจอดเฮลิคอปเตอร์เพียงแห่งเดียวในเทศบาลบัลเซอร์ส ซึ่งสามารถใช้งานได้กับเฮลิคอปเตอร์เช่าเหมาลำ[18][19]

อ้างอิง

แก้
  1. "Central Intelligence Agency". The World Factbook. Central Intelligence Agency. 7 February 2020. สืบค้นเมื่อ 24 February 2020.
  2. Raum, Umwelt und Energie เก็บถาวร 12 ตุลาคม 2011 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Landesverwaltung Liechtenstein. Retrieved 2 October 2011.
  3. "Link Sharing".
  4. "Liechtenstein in Figures: 2016" (PDF). Llv.li. สืบค้นเมื่อ 3 August 2017.
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 "Amt für Statistik, Landesverwaltung Liechtenstein". Llv.li. สืบค้นเมื่อ 30 June 2020.
  6. 6.0 6.1 6.2 Key Figures for Liechtenstein เก็บถาวร 17 กันยายน 2009 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Landesverwaltung Liechtenstein. Retrieved 1 July 2012.
  7. 7.0 7.1 7.2 World Development Indicators, World Bank. Retrieved 1 July 2012. Note: "PPP conversion factor, GDP (LCU per international $)" and "Official exchange rate (LCU per US$, period average)" for Switzerland were used.
  8. Human Development Report 2020 The Next Frontier: Human Development and the Anthropocene (PDF). United Nations Development Programme. 15 December 2020. pp. 343–346. ISBN 978-92-1-126442-5. สืบค้นเมื่อ 16 December 2020.
  9. 9.0 9.1 "ประกาศสำนักงานราชบัณฑิตยสภา เรื่อง กำหนดชื่อประเทศ ดินแดน เขตการปกครอง และเมืองหลวง" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 139 (พิเศษ 205 ง). 1 กันยายน 2565.
  10. Duden Aussprachewörterbuch, s.v. "Liechtenstein[er]".
  11. "IGU regional conference on environment and quality of life in central Europe". GeoJournal. 28 (4). 1992. doi:10.1007/BF00273120. ISSN 0343-2521. S2CID 189889904.
  12. "The smallest countries in the world by area". www.countries-ofthe-world.com.
  13. Go Genius ปีที่ 4 ฉบับที่ 42 เดือนพฤษภาคม 2539, กรุงเทพมหานคร: บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด, 2539, ISSN 0858-5946
  14. "Publikationen zur Volkszählung 2000 – Amt für Volkswirtschaft – Landesverwaltung Liechtenstein". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-01. สืบค้นเมื่อ 2008-05-01.
  15. "Publikationen zur Volkszählung 2000 – Amt für Volkswirtschaft (AVW) – Landesverwaltung Liechtenstein<". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-01. สืบค้นเมื่อ 2008-05-01.
  16. Range of rank on the PISA 2006 science scale
  17. Verkehrsverbund Vorarlberg
  18. Heliport Balzers FL LSXB
  19. Heliports – Balzers LSXB – Heli-Website von Matthias Vogt[ลิงก์เสีย]

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้