รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2491

รัฐประหาร 6 เมษายน พ.ศ. 2491 เกิดขึ้นในเช้าวันอังคารที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2491 เป็นการทำรัฐประหารโดยบุคคลกลุ่มเดียวกันกับที่ทำรัฐประหารรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 กล่าวคือเป็นกลุ่มบุคคลที่สนับสนุน จอมพล ป. พิบูลสงคราม อดีตนายกรัฐมนตรี ที่พ้นตำแหน่งไปภายหลังการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง บังคับให้ พันตรีควง อภัยวงศ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2491

นายควง อภัยวงศ์ หรือ พ.ต.ควง อภัยวงศ์ ขณะกำลังอภิปรายในรัฐสภา พ.ศ. 2490
วันที่6 เมษายน พ.ศ. 2491
(76 ปี 189 วัน)
สถานที่
ไทย ราชอาณาจักรไทย
ผล
คู่สงคราม
คณะนายทหารกลุ่มที่ทำการ รัฐประหาร พ.ศ. 2490 รัฐบาลควง อภัยวงศ์
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
พล.ท. ผิน ชุณหะวัณ ควง อภัยวงศ์

เหตุการณ์

แก้
 
ควง อภัยวงศ์ ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2491

โดยที่ภายหลังจากกลุ่มนายทหารนำโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ (ยศขณะนั้น) ได้ทำการรัฐประหารรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 แล้วได้แต่งตั้งให้ นายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พรรคฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร รักษาการในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อจัดการเลือกตั้งทั่วไปสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)

ต่อมาในการเลือกตั้งวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2491 พรรคประชาธิปัตย์ สามารถชนะการเลือกตั้งได้รับเสียงสูงสุดในสภาฯ นายควง อภัยวงศ์ ในฐานะ หัวหน้าพรรคได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสืบต่อ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่บ่งชี้ว่า ผู้มีอำนาจที่แท้จริงก็คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้บัญชาการทหารแห่งชาติ ที่ทางคณะรัฐประหารได้แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนี้ และให้การสนับสนุนนั่นเอง และมีความเป็นไปได้ว่าอาจมีการรัฐประหารซ้อน เพราะทั้งก่อนและหลังการเลือกตั้ง ได้มีความพยายามของกลุ่มบุคคลกลุ่มหนึ่ง พยายามที่จะมิให้นายควง ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ถึงขนาดได้เข้าเฝ้า พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ประธานองคมนตรี เพื่อมิให้แต่งตั้งนายควง แต่ทางพระองค์เจ้าธานีนิวัตฯ ได้ตอบว่า ปล่อยให้เป็นกระบวนการของสภาฯ อีกทั้งคณะรัฐบาลของนายควง ก็ได้มีความขัดแย้งกับคณะรัฐประหาร ในเรื่องของการแต่งตั้ง พ.ต.ท.เผ่า ศรียานนท์ รองอธิบดีกรมตำรวจ หนึ่งในสมาชิกคณะรัฐประหารเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย แต่ทาง พล.ท.ชิต มั่นศิลป์ สินาดโยธารักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยไม่เห็นชอบด้วย เนื่องจากคณะรัฐประหารหลังการรัฐประหารใหม่ ๆ ได้ประกาศว่าจะไม่แทรกแซงการทำงานของรัฐบาล ซึ่งในเรื่องทั้งหมดนี้ พล.ท.กาจ กาจสงคราม รองหัวหน้าคณะรัฐประหารได้ออกมาประกาศว่า ไม่เป็นความจริง และคณะรัฐประหารมิได้มีความต้องการที่จะทำการรัฐประหารอีกครั้ง

พล.ต.สวัสดิ์ สวัสดิรณชัย สวัสดิเกียรติ
พ.ท.ละม้าย อุทยานานนท์
พ.อ.ขุนศิลป์ศรชัย

หลังจากการเลือกตั้งไม่นาน ได้มีกลุ่มคนจำนวนหนึ่ง เรียกตัวเองว่า "คณะประชาธิปไตย" ประกอบด้วยนักการเมืองกลุ่มหนึ่ง นำโดย พล.ท.พระยาเทพหัสดิน รวมทั้ง ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์เองด้วยส่วนหนึ่ง เช่น นายเลื่อน พงษ์โสภณ, นายฟอง สิทธิธรรม, นายเลียง ไชยกาล ได้รวมตัวกันสนับสนุน จอมพล ป. ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง โดยเขียนลงไปในป้ายประกาศว่าจะขอ "สนับสนุนจอมพล ป.ตลอดกาล" ซึ่งคนกลุ่มนี้ได้เคลื่อนไหวรวมตัวกันที่สนามหลวงและสวนลุมพินี พร้อมกับได้ล่ารายชื่อบุคคลต่าง ๆ เพื่อให้สนับสนุน จอมพล ป.

จากนั้นในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2491 เวลาประมาณ 09.00 น. ซึ่งตรงกับวันจักรี อันเป็นวันหยุดราชการ กลุ่มนายทหารจำนวน 4 คน ประกอบด้วย พ.ท.ก้าน จำนงภูมิเวท, พล.ต.สวัสดิ์ สวัสดิรณชัย สวัสดิเกียรติ, พ.อ.ขุนศิลป์ศรชัย และ พ.ท.ละม้าย อุทยานานนท์ ได้แต่งกายเต็มยศขัดกระบี่ถือปืนเข้าพบ นายควง อภัยวงศ์ ที่บ้านพักในซอยตรงข้ามสนามกีฬาแห่งชาติ อ้างเหตุเรียกร้องให้นายควงจ่ายเงินจำนวน 28 ล้านบาท อันเป็นค่าใช้จ่ายระหว่างเดินทางกลับจากเชียงตุง หลังการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งได้ทำการเบิกจ่ายก่อนหน้านั้นแล้วจากกระทรวงการคลัง จำนวน 9 ล้านบาท แต่นายควงไม่ยอมจ่าย ซึ่งเรื่องนี้เป็นความขัดแย้งระหว่างนายควงกับทหารกลุ่มนี้มาอยู่ก่อนแล้ว ที่ทำให้ก่อนหน้านั้นมีข่าวลือว่าจะเกิดการรัฐประหาร และที่สุดขอให้นายควงลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีภายใน 24 ชั่วโมง โดยอ้างว่าคณะนายทหารที่ทำการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 นั้น เห็นว่ารัฐบาลนายควงไม่สามารถแก้ไขปัญหาภาวะเศรษฐกิจของชาติที่ตกต่ำลงได้ โดยเฉพาะเรื่องค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นมาก

เมื่อนายทหารกลุ่มนี้กลับไปแล้ว ในเวลาเที่ยง นายควงได้ส่งนายทหารคนสนิทเข้าพบนายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่เป็นแกนนำในการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ที่วังสวนกุหลาบ อันเป็นฐานบัญชาการ เพื่อขอคำยืนยันในเรื่องนี้ แต่ก็ไม่พบ ต่อมาในเวลา 14.00 น. พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ หัวหน้าคณะรัฐประหารได้เดินทางมาพบนายควงด้วยตัวเองถึงบ้านพัก และยืนยันถึงความต้องการของคณะนายทหาร นายควงพยายามติดต่อกับ ผู้บัญชาการทหารเรือ และผู้บัญชาการทหารอากาศ เพื่อขอความคุ้มครองแต่ไม่เป็นผล นายควงได้เรียกประชุมคณะรัฐมนตรีทั้งหมดที่บ้านพักเพื่อขอทราบท่าที แม้นายบุญเท่ง ทองสวัสดิ์ รัฐมนตรีสั่งราชการกระทรวงมหาดไทย ยืนยันว่า จะเป็นผู้สั่งการให้ตำรวจทำการจับกุมคณะนายทหารกลุ่มนี้เสียในฐานะเป็นกบฏ แต่ก็ในที่ประชุมไม่เห็นด้วย ด้วยเกรงว่าจะเป็นเหตุให้เกิดการนองเลือด อีกทั้งม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช รัฐมนตรีสั่งราชการกระทรวงการคลัง ได้ยืนยันว่า รัฐบาลมิอาจลดค่าครองชีพให้ต่ำลงมาทันใจคณะรัฐประหารจริง

ที่สุดในเวลา 16.00 น. ที่ประชุมได้ร่างใบกราบบังคมทูลลาออกของนายควงเสร็จ และมีมติให้ นายควงพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2491 และปลายเดือนเมษายน ปีเดียวกันนั้น คณะรัฐมนตรีมีมติให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสืบต่อ เป็นการเริ่มต้นครองอำนาจของ จอมพล ป. ครั้งใหม่ที่ยาวนานถึงเกือบ 10 ปี

เนื่องจากรัฐประหารครั้งนี้ กระทำเป็นการภายในใช้นายทหารเพียงไม่กี่คน โดยไม่มีการเคลื่ยนย้ายกำลังพลใด ๆ ทำให้ได้ชื่อว่า "รัฐประหารเงียบ" ซึ่งสื่อมวลชนในขณะนั้นเรียกเหตุการณ์ครั้งนี้ว่าเป็น "การจี้นายกรัฐมนตรี"[1]

สภาร่างรัฐธรรมนูญ

แก้

สภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2491 เป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญคณะแรกของประเทศไทย โดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) เพื่อทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ สมาชิกที่มาจากสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทน และสมาชิกที่มาจากผู้ที่ไม่ใช่สมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทน รวมจำนวน 40 คน[2]

สมาชิก

แก้
จากรัฐสภา
  1. เจ้าพระยาศรีธรรมธิเบศ
  2. พระยาเทพวิทุร
  3. พลโทพระยาเทพหัสดิน
  4. หลวงประกอบนิติสาร
  5. พระชัยปัญญา
  6. พระยากฤตราชทรงสวัสดิ์
  7. พระยาสาริกพงศ์ธรรมพิลาส
  8. หม่อมเจ้าเฉลิมศรีจันทรทัต จันทรทัต
  9. พระยาปรีดานฤเบศร์
  10. พระยาศรีธรรมราช
  11. หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช
  12. หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร
  13. นายเกษม บุญศรี
  14. ขุนคงฤทธิศึกษากร (ปาน คงฤทธิ์ศึกษากร)
  15. หลวงอังคณานุรักษ์
  16. นายบุญเท่ง ทองสวัสดิ์
  17. นายเพียร ราชธรรมนิเทศ
  18. นายชวลิต อภัยวงศ์
  19. ร้อยโทสมพันธุ์ ขันธะชวนะ
  20. นายเทพ โชตินุชิต
นอกรัฐสภา
  1. นายเกษม ดำรงบุล
  2. พระยาอรรถพิทย์พิศาล
  3. หม่อมเจ้ามงคลอุดม ชยางกูร
  4. นายหลุย คีรีวัด
  5. นายจงใจภักดิ์
  6. พระยาอรรถการีย์นิพนธ์
  7. พระยาศรีวิสารวาจา
  8. นาวาเอกพระยาศราภัยพิพัฒ
  9. พันเอกก้าน จำนงภูมิเวท
  10. พลโทจิร วิชิตสงคราม
  11. พลโทชิต มั่นศิลป์ สินาดโยธารักษ์
  12. นายสุวิชช พันธเศรษฐ
  13. นายอินทร สิงหเนตร์
  14. พลเรือตรีเล็ก สุมิตร
  15. นายทองม้วน อัตถากร
  16. ศาสตราจารย์พิเศษหยุด แสงอุทัย
  17. นายโชติ คุ้มพันธ์
  18. หม่อมราชวงศ์สุมนชาติ สวัสดิกุล
  19. พันตรีหลวงสรสิทธยานุการ
  20. ขุนประเสริฐศุภมาตรา

ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. หนังสือ นายควง อภัยวงศ์ กับพรรคประชาธิปัตย์ โดย ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม (กรุงเทพมหานคร, พ.ศ. 2522)
  2. "ประกาศประธานวุฒิสภา เรื่อง ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา.