ศิลป์ รัตนพิบูลชัย

(เปลี่ยนทางจาก ขุนศิลป์ศรชัย)

พลโท[1] ศิลป์ รัตนพิบูลชัย หรือ สิลป์ รัตนพิบูลชัย หรือ ขุนศิลป์ศรชัย (นามเดิม ศิลป์ รัตนวราหะ 19 มกราคม พ.ศ. 2446-6 ตุลาคม พ.ศ. 2499) เป็นอดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี อดีตเจ้ากรมการขนส่งทหารบก เจ้ากรมการรักษาดินแดน อธิบดีกรมการขนส่ง เป็นบุคคลสำคัญผู้หนึ่งในคณะก่อการรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2491[2] อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่สอง ในสภาผู้แทนราษฎรไทย ชุดที่ 7[3]

ศิลป์ รัตนพิบูลชัย
เลขาธิการนายกรัฐมนตรี
ดำรงตำแหน่ง
1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2487 – 1 สิงหาคม พ.ศ. 2487
นายกรัฐมนตรีจอมพล แปลก พิบูลสงคราม
ก่อนหน้าไชย ประทีปะเสน
ถัดไปทองเปลว ชลภูมิ
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด19 มกราคม พ.ศ. 2446
เสียชีวิต6 ตุลาคม พ.ศ. 2499 (53 ปี)

ประวัติ แก้

ขุนศิลป์ศรชัย ได้รับแต่งตั้งเป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เมื่อปี พ.ศ. 2487[4] สืบต่อจากพลตรี ไชย ประทีปะเสน ในรัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม

ขุนศิลป์ศรชัย รับราชการทหาร เคยดำรงตำแหน่งสำคัญ อาทิ เจ้ากรมการขนส่งทหารบก เจ้ากรมการรักษาดินแดน[5]

ขุนศิลป์ศรชัย เป็นบุคคลสำคัญผู้หนึ่ง ในการรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2491 คือ เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2491 เวลาประมาณ 09.00 น. ซึ่งตรงกับวันจักรี อันเป็นวันหยุดราชการ กลุ่มนายทหารจำนวน 4 คน ประกอบด้วย พ.ท.ก้าน จำนงภูมิเวท, พล.ต.สวัสดิ์ สวัสดิ์รณชัย สวัสดิเกียรติ, พ.อ.ขุนศิลปศรชัย และ พ.ท.ละม้าย อุทยานานนท์ ได้แต่งกายเต็มยศขัดกระบี่ถือปืนเข้าพบ นายควง อภัยวงศ์ ที่บ้านพักในซอยตรงข้ามสนามกีฬาแห่งชาติ อ้างเหตุเรียกร้องให้นายควงจ่ายเงินจำนวน 28 ล้านบาท อันเป็นค่าใช้จ่ายระหว่างเดินทางกลับจากเชียงตุง หลังการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งได้ทำการเบิกจ่ายก่อนหน้านั้นแล้วจากกระทรวงการคลัง จำนวน 9 ล้านบาท แต่นายควงไม่ยอมจ่าย ซึ่งเรื่องนี้เป็นความขัดแย้งระหว่างนายควงกับทหารกลุ่มนี้มาอยู่ก่อนแล้ว ที่ทำให้ก่อนหน้านั้นมีข่าวลือว่าจะเกิดการรัฐประหาร และที่สุดขอให้นายควงลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีภายใน 24 ชั่วโมง โดยอ้างว่าคณะนายทหารที่ทำการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 นั้น เห็นว่ารัฐบาลนายควงไม่สามารถแก้ไขปัญหาภาวะเศรษฐกิจของชาติที่ตกต่ำลงได้ โดยเฉพาะเรื่องค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นมาก จนที่สุดในเวลา 16.00 น. ที่ประชุมได้ร่างใบกราบบังคมทูลลาออกของนายควงเสร็จ และมีมติให้ นายควงพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2491 เนื่องจากรัฐประหารครั้งนี้ กระทำเป็นการภายในใช้นายทหารเพียงไม่กี่คน โดยไม่มีการเคลื่ยนย้ายกำลังพลใด ๆ ทำให้ได้ชื่อว่า "รัฐประหารเงียบ" ซึ่งสื่อมวลชนในขณะนั้นเรียกเหตุการณ์ครั้งนี้ว่าเป็น "การจี้นายกรัฐมนตรี"[6]

ขุนศิลป์ศรชัย มีบทบาทสำคัญคือ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 ขณะที่คณะรัฐนมตรีได้มีการประชุมกันอยู่นั้น พันเอกศิลป์ รัตนพิบูลชัย เจ้ากรมการรักษาดินแดน ได้เข้าไปในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และรายงานให้จอมพล ป. ทราบถึงเหตุการณ์คณะนายทหารชั้นผู้น้อยจำนวนหนึ่งได้นำรถถัง 6 คัน พร้อมด้วยอาวุธครบมือ กำลังเดินทางมายังทำเนียบรัฐบาล และเจตนาสังหารโหดคณะรัฐมนตรีทั้งชุด[7] นำไปสู่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน[8] หรือเรียกว่า "กบฏวังหลวง" ในเวลาต่อมา

ขุนศิลป์ศรชัย ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเภทที่สอง เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494[9]

ขุนศิลป์ศรชัย ได้รับแต่งตั้งเป็นอธิบดีกรมการขนส่ง ในปี พ.ศ. 2495 ซึ่งมีผลงานสำคัญในการเพิ่มทุนให้บริษัท ขนส่ง จำกัด ในการจัดซื้อรถโดยสารและเรือโดยสารเพิ่มเติม และเปิดการเดินรถเพิ่มเติมในเส้นทางกรุงเทพฯ-นนทบุรี

พลโท ศิลป์ ถึงแก่กรรมและมีงานพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุวัดพระศรีมหาธาตุ วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2499[2]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้

อ้างอิง แก้

  1. "ประกาศสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่องพระราชทานยศทหาร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-08-14. สืบค้นเมื่อ 2020-04-13.
  2. 2.0 2.1 สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม๑ อนุสรณ์ พลโท ขุนศิลป์ศรชัย
  3. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่สอง
  4. แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ตั้งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
  5. ทำเนียบเจ้ากรม กรมการรักษาดินแดน
  6. หนังสือ นายควง อภัยวงศ์ กับพรรคประชาธิปัตย์ โดย ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม (กรุงเทพมหานคร, พ.ศ. 2522)
  7. กบฏ 23 กุมภา
  8. การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
  9. "ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเภทที่สอง" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-04-13. สืบค้นเมื่อ 2020-04-13.
  10. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๗๒ ตอนที่ ๙๕ ง หน้า ๓๐๔๔, ๑๓ ธันวาคม ๒๔๙๘
  11. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๗๐ ตอนที่ ๗๘ ง หน้า ๕๓๙๐, ๒๒ ธันวาคม ๒๔๙๖
  12. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญชัยสมรภูมิ, เล่ม ๕๘ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๙๒๙, ๒ พฤษภาคม ๒๔๘๔
  13. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญชัยสมรภูมิ, เล่ม ๖๐ ตอนที่ ๖๕ ง หน้า ๓๙๐๒, ๑๔ ธันวาคม ๒๔๘๖
  14. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความ พระราชทานเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ, เล่ม ๕๑ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๐๔๑, ๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๗๗
  15. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญช่วยราชการเขตภายใน, เล่ม ๖๐ ตอนที่ ๔๓ ง หน้า ๒๕๘๙, ๑๗ สิงหาคม ๒๔๘๖
  16. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๕๖ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๐๓๗, ๕ ตุลาคม ๒๔๘๒