พระเจ้าอโนรธามังช่อ

พระเจ้าอโนรธามังช่อ หรือ พระเจ้าอโนรธา (อังกฤษ: Anawrahta Minsaw, Anawrahta, พม่า: အနိရုဒ္ဓ; 1044 – 1077) พระองค์เป็นผู้ก่อตั้ง อาณาจักรพุกาม ถือเป็นบิดาของชาติพม่า พระเจ้าอโนรธาได้เปลี่ยนอาณาเขตเล็กๆ ในเขตแห้งแล้งของ พม่าตอนบน ให้เป็นอาณาจักรพม่าแห่งแรกอันเป็นรากฐานของ พม่า ยุคใหม่ (เมียนมา)[2][3] ได้เริ่มมีการบันทึก ประวัติศาสตร์พม่า หลังการครองบัลลังก์พุกามของพระองค์ในปี ค.ศ. 1044[4]

พระเจ้าอโนรธามังช่อ
အနော်ရထာ
อนุสาวรีย์ของพระเจ้าอโนรธามังช่อ
กษัตริย์แห่งพม่า
ครองราชย์11 สิงหาคม ค.ศ. 1044 – 11 เมษายน ค.ศ. 1077
ราชาภิเษก16 ธันวาคม ค.ศ. 1044
ก่อนหน้าโซะกะเต้
ต่อไปพระเจ้าซอลู
ประสูติ11 พฤษภาคม ค.ศ. 1014
วันอังคาร ขึ้น 11 ค่ำ เดือน Nayon 376 ME
พุกาม
สวรรคต11 เมษายน ค.ศ. 1077(1077-04-11) (62 ปี)
วันอังคาร แรม 3 ค่ำ เดือน Kason 439 ME
พุกาม
ชายาAgga Mahethi[1]
Pyinsa Kalayani
Saw Mon Hla
Manisanda
พระราชบุตรพระเจ้าซอลู
พระเจ้าจานซิต้า
พระนามเต็ม
มินสอ
มหาราชาสิริอนิรุทธเทวา
ราชวงศ์พุกาม
พระราชบิดากู้นซอจ้องพยู
พระราชมารดาMyauk Pyinthe
ศาสนาพุทธเถรวาท ก่อนหน้านั้นนับถือพุทธแบบอะยี

พระเจ้าอโนรธารวมพื้นที่ลุ่ม แม่น้ำอิรวดี ทั้งหมดเป็นหนึ่งเดียวเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ รวมถึงพื้นที่บริเวณรอบนอกเช่น รัฐฉาน และ รัฐยะไข่ ให้มาอยู่ภายใต้การปกครองของพุกาม พระองค์หยุดยั้งการรุกล้ำของ จักรวรรดิเขมร สู่ ชายฝั่งตะนาวศรี ได้สำเร็จและเข้าสู่พื้นที่ลุ่ม แม่น้ำเจ้าพระยา ตอนบน ทำให้พุกามเป็นหนึ่งในสองอาณาจักรหลักบนแผ่นดินใหญ่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

พระราชประวัติช่วงต้น แก้

พระเจ้าอโนรธาเป็นราชโอรสแห่งกษัตริย์พุกาม คือ กู้นซอจ้องพยู หลังจากที่พระองค์มีชัยต่อโซะกะเต้ พระเชษฐาต่างมารดาผู้แย่งบัลลังก์จากพระราชบิดาได้แล้ว พระองค์จึงมอบบัลลังก์นั้นคืนพระบิดาซึ่งผนวชอยู่ เมื่อพระบิดามิทรงรับพระเจ้าอโนรธาจึงเสวยราชบัลลังก์แทน

ในหลักฐานประวัติศาสตร์ทางวิชาการ ยอมรับว่าพระองค์คือกษัตริย์พม่าพระองค์แรกที่สร้างความปึกแผ่นแก่พม่า ทรงรวบรวมแว่นแคว้นต่าง ๆ ขึ้นเป็นหนึ่งเดียว อีกทั้งยังทรงสถาปนาพระพุทธศาสนาให้สถิตย์อยู่ในพม่าตราบจนทุกวันนี้ด้วย

ครองราชย์และพระราชกรณียกิจในทางพุทธศาสนา แก้

พระเจ้าอโนรธาขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ. 1587 (ค.ศ. 1044) ช่วงเวลาที่พระองค์ขึ้นครองราชย์นั้น อาณาบริเวณของพุกามกินพื้นที่เพียงแถบเมืองพุกามและประเทศพม่า (ในปัจจุบัน) ตอนกลางเท่านั้น ต่อมาพระองค์ได้ทำให้อาณาจักรแข็งแกร่งมั่นคงโดยรวมเอาเมืองประเทศราชต่าง ๆ เข้าด้วยกัน และเพื่อให้อาณาจักรพุกามรวมตัวกันได้อย่างมั่นคงในเบื้องแรก พระองค์จึงเริ่มดำเนินการให้มีเศรษฐกิจแบบพึ่งตนเอง มีการกั้นเหมืองฝายตามคูคลองในพื้นที่เจาะแซอย่างเป็นระบบ ในพื้นที่นั้นได้มีการขุดอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ขึ้น 7 แห่งโดยอาศัยน้ำจากแม่น้ำปางลองและแม่น้ำซอจี แล้วตั้งหมู่บ้านขึ้น 11 แห่ง ในหนังสือแบบเรียนทางประวัติศาสตร์ของพม่าทุกวันนี้ ระบุว่าพระเกียรติยศของพระองค์ระบือไกลไปจนถึงอาณาจักรล้านนาและอยุธยา

ในทางสงครามทรงชนะศึกกับยะไข่และสะเทิม จึงสามารถดำเนินการปกครองอย่างเป็นระบบ และสร้างเอกภาพโดยรวมให้กับพม่า

 
เจดีย์ชเวซีโกนในปัจจุบัน

พระเจ้าอโนรธาเมื่อทรงครองราชย์แล้ว ไม่โปรดที่ชาวพม่าขณะนั้นนับถือความเชื่อพื้นเมือง เช่น ผี หรือ นะ และนักบวชอะยี เป็นต้น จึงทรงสถาปนาพระพุทธศาสนาให้สถิตย์อยู่ในอาณาจักรพม่า ซึ่งในขณะนั้น มีพระรูปหนึ่ง ชื่อ พระชินอรหันต์ กำลังจารึกแสวงบุญจากเมืองสะเทิมมายังพุกาม พระเจ้าอโนรธาได้แสดงความนอบนบต่อพระชินอรหันต์ พระองค์ก็ทรงมีศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง จึงทรงขอร้องให้พระชินอรหันต์เผยแผ่พระศาสนาในพุกาม และด้วยความช่วยเหลือของพระชินอรหันต์ พระเจ้าอโนรธาจึงสามารถกำจัดความเชื่อดั้งเดิมลงได้ พวกอะยีถูกจับสึกแล้วให้คนเหล่านั้นรับใช้ในงานอันควรแก่อาณาจักรต่อไป ด้วยเหตุนี้ความเชื่อถือแบบอะยีจึงค่อย ๆ หมดไปจากพุกาม ซึ่งต่อมาพระชินอรหันต์เป็นผู้ที่พระเจ้าอโนรธาให้ความเคารพอย่างมาก และเป็นผู้ที่กล้าแสดงความคิดคัดค้านการบริหารปกครองบ้านเมืองของพระองค์ด้วย

นอกจากนี้เมื่อครั้งพระองค์ยกทัพไปตีเมืองสะเทิม ได้ทรงอัญเชิญพระไตรปิฎกและพระเถระผู้เชี่ยวชาญในพระคำภีร์มายังพุกาม พระเถระชาวมอญซึ่งชำนาญในคำภีร์ได้ช่วยพระชินอรหันต์เป็นอย่างมากเพื่อให้พุทธศาสนาเป็นที่แพร่หลาย และทรงสร้างก่อเจดีย์มากมายหลายองค์ในทุกที่ที่พระองค์เสด็จไปถึงไม่เฉพาะแค่พุกาม ซึ่งเจดีย์องค์ที่มีชื่อที่สุดที่พระองค์ทรงสร้างคือ เจดีย์ชเวซีโกน

และพระองค์ยังส่งเสริมให้มีการเล่าเรียนพระไตรปิฏกในวัดต่าง ๆ และเชื่อว่าพระองค์เป็นผู้ทำการลบจุลศักราชเมื่อพุทธศักราชล่วงแล้วได้ 1172 ปี เมื่อพระองค์ขึ้นครองราชย์

ในการรับรู้ของคนยุคปัจจุบัน แก้

ในการรับรู้ของชาวไทยจะรู้จัก พระเจ้าอโนรธาในแง่ของการเป็นกษัตริย์ที่ทรงนำพระพุทธศาสนาเข้ามาในพม่าเป็นพระองค์แรก ซึ่งคนไทยจะรู้จักพระองค์ในพระนามว่า พระเจ้าอนุรุทธ' หรือ พระเจ้าอนิรุทธ

พระเจ้าอโนรธามังช่อสวรรคตในปี พ.ศ. 1620 ตามพงศาวดารพม่าระบุว่า พระองค์สวรรคตด้วยอุบัติเหตุระหว่างออกล่าสัตว์ เนื่องจากถูกกระบือเผือกขวิด

ปัจจุบัน ทางพม่ายกย่องพระเจ้าอโนรธามังช่อ เป็น 1 ใน 3 กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งพม่า ซึ่งประกอบด้วย พระองค์, พระเจ้าบุเรงนอง แห่งราชวงศ์ตองอู และ พระเจ้าอลองพญา แห่งราชวงศ์อลองพญา และมีการอ้างอิงถึงพระองค์ในภาพยนตร์สัญชาติพม่า ในปี พ.ศ. 2548 ซึ่งเป็นภาพยนตร์เกี่ยวกับวีรกรรมของพระเจ้าจานสิตา ในชื่อเรื่อง "Kyansit Min"[5]

อ้างอิง แก้

  1. Yazawin Thit Vol. 1 2012: 108, footnote #2
  2. Harvey 1925: 34
  3. Htin Aung 1967: 38
  4. Coedès 1968: 133, 148–149, 155
  5. IMDb
  • Pe Maung Tin and G.H. Luce (trs.) The Glass Palace Chronicle of the Kings of Burma (Rangoon: Rangoon University Press 1960), pp. 64-79: Maung Htin Aung, A History of Burma (New York: Columbia University Press, 1967), p. 37
  • พระราชพงศาวดารเหนือ ประชุมพงศาวดารฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม ๑ (พระนคร: สำนักพิมพ์ก้าวหน้า, 2506) หน้า 88-97
ก่อนหน้า พระเจ้าอโนรธามังช่อ ถัดไป
โซะกะเต   พระมหากษัตริย์พม่า
(อาณาจักรพม่ายุคที่ 1)

(พ.ศ. 1587 - พ.ศ. 1620)
  พระเจ้าซอลู