ภาคตะนาวศรี

(เปลี่ยนทางจาก เขตตะนาวศรี)

ตะนาวศรี[2] หรือ ตะนีนตายี[2] (พม่า: တနင်္သာရီ; มอญ: ဏၚ်ကသဳ, တနၚ်သြဳ) เป็นภาคที่ตั้งอยู่ทางใต้สุดของประเทศพม่า

ภาคตะนาวศรี

တနင်္သာရီတိုင်းဒေသကြီး
การถอดเสียงเป็นอักษรโรมัน
 • พม่าta.nangsayi. tuing: desa. kri:
ธงของภาคตะนาวศรี
ธง
ที่ตั้งภาคตะนาวศรีในประเทศพม่า
ที่ตั้งภาคตะนาวศรีในประเทศพม่า
พิกัด: 13°0′N 98°45′E / 13.000°N 98.750°E / 13.000; 98.750
ประเทศ พม่า
ภูมิภาคใต้
เมืองหลักทวาย
การปกครอง
 • มุขมนตรีแหล่แหล่มอ (เอ็นแอลดี)
พื้นที่
 • ทั้งหมด43,344.9 ตร.กม. (16,735.6 ตร.ไมล์)
ประชากร
 (พ.ศ. 2557)[1]
 • ทั้งหมด1,408,401 คน
 • ความหนาแน่น32 คน/ตร.กม. (84 คน/ตร.ไมล์)
ประชากรศาสตร์
 • กลุ่มชาติพันธุ์พม่า, มอญ, ยะไข่, ไทใหญ่, พม่าเชื้อสายไทย, กะเหรี่ยง, มอแกน, พม่าเชื้อสายมลายู
 • ศาสนาพุทธ, คริสต์, อิสลาม, ฮินดู
เขตเวลาUTC+6:30 (เวลามาตรฐานพม่า)
รหัส ISO 3166MM-05

ประวัติ

แก้

ยุคประวัติศาสตร์

แก้

ในด้านประวัติศาสตร์ตะนาวศรีปรากฏตัวและมีฐานะเป็นรัฐอิสระก่อนการเกิดอาณาจักรพะโค เมาะตะมะ อังวะ สุโขทัย และอยุธยา ในหลักศิลาจารึกมีบันทึกว่า ดินแดนของอาณาจักรไทยทางฝั่งตะวันตกในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ได้แผ่ขยายไปจนถึงหงสาวดีจดอ่าวเบงกอล และในบันทึกของมิชชันนารีที่เข้ามาติดต่อกับไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา สยามสมัยพระนารายณ์มหาราชมีอาณาเขตแผ่ถึงปัตตานี ลาว ภูเขียว เขมร อังวะ พะโค และมะละกา มีเมืองท่าสำคัญคือมะริดและภูเก็ต และมีหัวเมืองสำคัญคือ พิษณุโลก ตะนาวศรี กรุงเทพมหานคร และเพชรบุรี[3][4][5] ในอดีตที่ผ่านมา เช่นในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชหรือสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมืองมะริดและตะนาวศรี ถือเป็นเมืองที่มีความสำคัญมากของไทย เนื่องจากเป็นเมืองที่พ่อค้าต่างประเทศทางอินเดีย และยุโรปนำสินค้าจากทางเรือขึ้นมาค้าขายในเมืองไทย ถึงกับมีการแต่งตั้งเจ้าเมืองที่มีความรู้ความสามารถให้ปกครองดูแล และด้วยความสำคัญทางยุทธศาสตร์เช่นนี้ ในอดีตไทยกับพม่าจึงมักมีศึกชิงเมืองมะริดและตะนาวศรีกันบ่อยครั้ง เมืองตะนาวศรียังถือเป็นหนึ่งในพระยามหานคร 8 เมือง ที่ต้องเข้ามาถือน้ำพิพัฒน์สัตยา คือ เมืองพิษณุโลก ศรีสัชนาลัย สุโขทัย กำแพงเพชร นครศรีธรรมราช นครราชสีมา ตะนาวศรี และทวาย[6] ตลอดช่วงประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาทั้งไทยและพม่า ได้ผลัดกันเข้าครอบครองดินแดนทั้ง 3 นี้ แม้บางช่วงจะอยู่ในฐานะหัวเมืองที่ไม่ขึ้นกับใครโดยตรง

ยุคกรุงศรีอยุธยาตอนปลายจนถึงยุครัตนโกสินทร์

แก้

ในยุคสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย เมื่อปี พ.ศ. 2302 สมัยสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์ รัชกาลสุดท้ายแห่งกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าอลองพญา กษัตริย์พม่า ได้ยกกองทัพมาตีเมืองทวายซึ่งขณะนั้นแข็งเมืองอยู่ และได้ยกพลตามมาตีเมืองมะริดและตะนาวศรี หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2330 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้พยายามยกทัพไปตีเมืองทวายคืนจากพม่า แม้จะไม่สำเร็จ แต่ในอีก 4 ปีต่อมา คือ พ.ศ. 2334 เมืองทะวาย ตะนาวศรี และมะริด ก็มาขอขึ้นกับไทย

ในปี พ.ศ. 2366 ปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย อังกฤษเริ่มเข้ายึดหัวเมืองชายฝั่งทะเลของพม่า รวมทั้งตะนาวศรี มะริด และทวาย ซึ่งเป็นเมืองหลวงของภาคตะนาวศรี พร้อมทั้งได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าสำรวจทำแผนที่ เพื่อจะได้รู้จักสภาพภูมิประเทศ ทรัพยากร และขอบเขตของเมืองที่ตนยึดได้ เมื่อมาถึงทิวเขาตะนาวศรีจึงได้ทราบว่าฝั่งตะวันออกของทิวเขาตะนาวศรีเป็นอาณาเขตของประเทศไทย

ภายหลังในปี พ.ศ. 2408 จึงได้ส่งข้าหลวงใหญ่อังกฤษประจำอินเดียมาติดต่อกับรัฐบาลไทยเพื่อขอให้มีการปักปันเขตแดนระหว่างไทยกับพม่าของอังกฤษเป็นการถาวร ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ในช่วงปี พ.ศ. 2408 – พ.ศ. 2410 มีการตั้งคณะข้าหลวงปักปันเขตแดน เพื่อดำเนินการร่วมสำรวจและชี้แนวเขตแดนของตนตั้งแต่จังหวัดแม่ฮ่องสอน จนถึงจังหวัดระนอง โดยฝ่ายไทยได้แต่งตั้งเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ สมุหกลาโหม ผู้บังคับหัวเมืองฝ่ายใต้เฉียงตะวันตก เป็นข้าหลวงมีอำนาจเต็ม และมีเจ้าพระยายมราช (ครุฑ) พระยาเพชรบุรี และพระยาชุมพร (กล่อม) รับผิดชอบตั้งแต่เขตจังหวัดกาญจนบุรี ถึงจังหวัดระนอง ส่วนอังกฤษได้ตั้ง Lieutenant Arthur Herbert Bagge เป็นข้าหลวงมีอำนาจเต็ม

เมื่อการสำรวจทำแผนที่ และทำบัญชีรายละเอียดเกี่ยวกับที่หมายเขตแดนเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงได้มีการประชุมจัดทำอนุสัญญาขึ้นที่กรุงเทพ ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2411 และได้มีการให้สัตยาบันกัน ที่กรุงเทพ เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2411 ภายหลังจากฝ่ายไทยได้ตรวจสอบเห็นว่าแผนที่ The Map of Tenasserim and the adjacent provinces of the Kingdom of Siam ที่อังกฤษจัดทำขึ้นใหม่นั้นถูกต้องแล้ว นับแต่นั้นแนวพรมแดนระหว่างไทยกับพม่าตั้งแต่สบเมยถึงปากแม่น้ำกระบุรี จึงได้เปลี่ยนจากเส้นเขตแดนที่ยอมรับโดยพฤตินัย มาเป็นเส้นเขตแดนที่กำหนดขึ้นโดยอนุสัญญา[ต้องการอ้างอิง] บัญชีที่หมายเขตแดนแนบท้ายอนุสัญญา และแผนที่แนบท้ายอนุสัญญา

ในอนุสัญญาได้ระบุเส้นเขตแดนตรงแม่น้ำกระบุรีว่า “..ตั้งแต่เขาถ้ำแดงตามเขาแดนใหญ่มาจนถึงปลายน้ำกระใน เป็นเขตแดนจนถึงปากน้ำปากจั่น ลำแม่น้ำเป็นกลาง เขตแดนฝ่ายละฟาก เกาะในแม่น้ำปากจั่นริมฝั่งข้างอังกฤษเป็นของอังกฤษ ริมฝั่งข้างไทยเป็นของไทย เกาะขวางหน้ามลิวันเป็นของไทย แม่น้ำปากจั่นฝั่งตะวันตกเป็นของอังกฤษ ตลอดจนถึงปลายแหลมวิคตอเรีย ฝั่งตะวันออกตลอดไปเป็นของไทยทั้งสิ้น...”

สรุปว่า ในครั้งนั้นกำหนดให้แม่น้ำเป็นกลาง ให้ฝั่งเป็นเขตแดน ฝั่งด้านตะวันตกเป็นของพม่า ฝั่งด้านตะวันออกเป็นของไทย สำหรับเกาะในแม่น้ำถ้าชิดฝั่งตะวันตกก็ให้เป็นของอังกฤษ ถ้าชิดฝั่งตะวันออกก็ให้เป็นของไทย สำหรับเกาะขวางให้เป็นของไทย

กล่าวได้ว่า ในการให้สัตยาบันครั้งนี้ถือเป็นการยอมรับอย่างเป็นทางการตามข้อตกลงระหว่างประเทศ ว่าเมืองมะริด ทวาย และตะนาวศรี เป็นดินแดนของประเทศพม่าที่อยู่ในบังคับของอังกฤษ นับตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2411 เป็นต้นมา

การปรับปรุงเส้นเขตแดนใหม่กับไทย

แก้

ในปี พ.ศ. 2379 แม่น้ำปากจั่นที่กั้นเขตแดนระหว่างจังหวัดระนองของประเทศไทยกับภาคตะนาวศรีของประเทศพม่าเปลี่ยนทางเดิน รัฐบาลไทยจึงได้ขอปรับปรุงเส้นเขตแดนนี้กับอังกฤษ ซึ่งทำให้ไทยเสียดินแดนที่เป็นเกาะไปประมาณ 100 ไร่ แต่ได้คืนมา 186 ไร่ และดินแดนที่ได้คืนมานี้ประชากรส่วนใหญ่ก็เป็นชาวไทย[7]

หลังได้รับเอกราชจากอังกฤษ

แก้

หลังจากได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี ค.ศ. 1948 ดินแดนทางตะวันออกเฉียงเหนือก็ได้รับการจัดตั้งเป็นรัฐกะเหรี่ยง ต่อมาใน ค.ศ. 1974 ดินแดนทางตอนเหนือที่เหลือของภาคตะนาวศรีก็ได้รับการจัดตั้งเป็นรัฐมอญ[8] แต่เดิมเมืองเอกของภาคตะนาวศรีคือเมืองเมาะลำเลิง (มะละแหม่ง) แต่เมื่อมีการจัดตั้งเป็นรัฐมอญแล้ว เมืองเมาะลำเลิงจึงตกอยู่ในการปกครองของรัฐมอญ ต่อมาจึงมีการจัดตั้งเมืองทวายเป็นเมืองเอกของภาคตะนาวศรีแทนเมืองเมาะลำเลิงที่อยู่ในเขตของรัฐมอญ[8] ต่อมาในปี ค.ศ. 1989 ทางการพม่าได้ทำการเปลี่ยนแปลงการสะกดชื่อภาคตะนาวศรีในอักษรโรมัน โดยจากเดิมสะกดว่า Tenasserim เปลี่ยนเป็น Tanintharyi และออกเสียงเป็นภาษาพม่าเป็น ตะนี่นตายี นั่นเอง

ที่ตั้ง

แก้

การแบ่งเขตการปกครอง

แก้

ภาคตะนาวศรีมีการปกครองแบบภาคไม่ใช่รัฐ ไม่ได้มีกองกำลังแบ่งแยกดินแดนเหมือนชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ การปกครองของภาคตะนาวศรีมี 4 จังหวัด ดังนี้

จังหวัด อำเภอ
อักษรไทย อักษรพม่า อักษรโรมัน อักษรไทย อักษรพม่า อักษรโรมัน
 ทวาย  ထားဝယ်  Dawei  ทวาย  ထားဝယ်  Dawei
 ล่องโลน  လောင်းလုံ  Launglon
 ตะแยะช่อง  သရက်ချောင်း  Thayetchaung
 เย-พยู  ရေဖြူ  Yebyu
 มะริด  မြိတ်  Myeik  มะริด  မြိတ်  Myeik
 จู้นซุ  ကျွန်းစု  Kyunsu
 ปะลอ  ပုလော  Palaw
 ตะนาวศรี  တနင်္သာရီ  Tanintharyi
 เกาะสอง  ကော့သောင်း  Kawthaung  เกาะสอง  ကော့သောင်း  Kawthaung
 บกเปี้ยน  ဘုတ်ပြင်း  Bokpyin  บกเปี้ยน  ဘုတ်ပြင်း  Bokpyin

ประชากร

แก้

ประชากรมี 1.2 ล้านคน และมีหลากหลายชาติพันธุ์ ส่วนใหญ่จะเป็นชาวมอญ, ชาวทวาย, ชาวพม่า และชาวกะเหรี่ยง พวกที่ถือตัวเป็นชาวไทยส่วนใหญ่จะอาศัยทางใต้ของภาคตะนาวศรี นอกจากนี้ยังมีกลุ่มชาวไทยเชื้อสายลาวอพยพออกมาจากแดนไทยแถบจังหวัดราชบุรี ช่วงก่อนปี พ.ศ. 2394 โดยหนีไปยังเมืองทวาย, เมาะลำเลิง, มะริด และตะนาวศรี และนำสินค้าเข้ามาค้าขายที่บ้านจางวางบัวโรย แขวงเมืองราชบุรี[9]

หลังจากการเสียดินแดนบริเวณภาคตะนาวศรี ชาวไทยที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้จึงกลายเป็นประชาชนชาวพม่าไป โดยในปลายปี พ.ศ. 2549 ได้มีคนเชื้อสายไทยกว่า 3,000 คน อพยพเข้าสู่ฝั่งไทย แต่อย่างก็ตามพวกเขาเหล่านี้ก็ไม่ได้รับสัญชาติไทย และใช้ชีวิตเช่นเดียวกับแรงงานชาวพม่าทั่วไป[10]

ภาษา

แก้

ในอดีตนั้น ประชากรส่วนใหญ่ในดินแดนแถบนี้ใช้ภาษามอญ ภาษาไทย ภาษากะเหรี่ยง และภาษามลายู มะริดในตอนต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 แบ่งการปกครองเป็น 5 อำเภอ (township) คือ มะริด ปะลอ (Palaw) ตะนาวศรี บกเปี้ยน (Bokpyin)[11] และมะลิวัลย์ (Maliwun)[12] บกเปี้ยนมีประชากร เมื่อปี พ.ศ. 2444 ราว 7,255 คน ร้อยละ 18 พูดภาษาพม่า ร้อยละ 53 พูดภาษาสยาม ร้อยละ 20 พูดภาษามลายู[13] ตำบลมะลิวัลย์มีประชากรประมาณ 7,719 คน ประกอบไปด้วยชาวสยาม ชาวจีน และมลายู ตำบลตะนาวศรีตั้งอยู่ทางตะวันออกสุดของอำเภอมะริด และอยู่ติดแดนสยาม ประชากรปี พ.ศ. 2434 มีประมาณ 8,389 คน เพิ่มขึ้นเป็น 10,712 คน ในปี พ.ศ. 2444 [14]

ปัจจุบันประชากรส่วนใหญ่ของภาคตะนาวศรีใช้ภาษาพม่าในการสื่อสารระหว่างกลุ่ม และเป็นภาษาราชการ ส่วนทางใต้จะมีกลุ่มคนพูดภาษาไทย ภาษาไทยถิ่นใต้ และภาษามลายูอยู่บ้าง ส่วนกลุ่มคนเชื้อสายไทยภาคตอนบนของภาคตะนาวศรี นอกจากนี้ยังมีการใช้ภาษาไทยถิ่นอีสานในตำบลคลองใหญ่ ซึ่งมีบรรพบุรุษอพยพมาจากจังหวัดเพชรบุรีและจังหวัดอุดรธานีตั้งแต่ครั้งสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง และสืบทอดวัฒนธรรมจากอีสาน เช่น การทำประเพณีบุญบั้งไฟ และเลี้ยงปู่ตาหรือผีประจำหมู่บ้าน

ศาสนา

แก้

ประชากรส่วนใหญ่ของตะนาวศรีส่วนมาก นับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท ส่วนศาสนาอิสลาม อยู่ในกลุ่มของชาวพม่าเชื้อสายมลายู, ชาวไทยมุสลิม, ชาวโรฮีนจา และชาวพม่าเชื้อสายอินเดียบางส่วน โดยเฉพาะทางตอนใต้ของภาคตะนาวศรีซึ่งมีอาศัยอยู่หนาแน่น ส่วนศาสนาคริสต์นั้นแม้จะมีประวัติศาสตร์มานานในดินแดนนี้ ตั้งแต่ก่อนสมัยอาณานิคม แต่ก็มีจำนวนน้อย โดยมีชุมชนเชื้อสายเวียดนามที่อพยพเข้ามาในภาคตะนาวศรีตั้งแต่รัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยเข้ามาอาศัยในเมืองมะริด และตะนาวศรี โดยมีบาทหลวงชาวฝรั่งเศสเป็นผู้ฝึกสอนศาสนา และขณะเดียวกันก็ลี้ภัยทางศาสนาจากเวียดนามด้วย[15]

ประเพณีท้องถิ่น

แก้
  • ลุจา (Lukya) ที่มะริด
  • ลอยบาตร ที่ทวาย
  • ฝังไห ที่เมืองเย (Ye)
  • แห่พระเจ้า 28 องค์ ที่ทวาย มะริด และปะลอ (Palaw)

อ้างอิง

แก้
  1. Census Report. The 2014 Myanmar Population and Housing Census. Vol. 2. Naypyitaw: Ministry of Immigration and Population. May 2015. p. 17.
  2. 2.0 2.1 "ประกาศสำนักงานราชบัณฑิตยสภา เรื่อง กำหนดชื่อประเทศ ดินแดน เขตการปกครอง และเมืองหลวง" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 139 (พิเศษ 205 ง). 1 กันยายน 2565.
  3. Gervaise 1998: 7, 15, 40, 58
  4. Choisy 1993: 186, 213, 232-237
  5. Smithies 1995
  6. มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง. ประมวลกฎหมายรัชกาลที่ 1 จุลศักราช 1166 พิมพ์ตามฉะบับหลวง ตรา 3 ดวง เล่ม 1. กรุงเทพฯ, ม.ม.ป., หน้า 58-59
  7. โรม บุนนาค. ชุดบันทึกแผ่นดิน ตอน เรื่องเก่าเล่าสนุก ๒. กรุงเทพฯ : สยามบันทึก.2552, หน้า 171 ISBN 978-611-7180-00-2
  8. 8.0 8.1 "Myanmar Divisions". Statoids. สืบค้นเมื่อ 2009-04-10.
  9. กองจดหมายเหตุ กรมศิลปากร, รัชกาลที่ 4, รล-กห, จ.ศ. 1217 (พ.ศ. 2398) เล่ม 9, หน้า 228-229
  10. "คนไทยพลัดถิ่นที่จังหวัดระนอง : คนไร้รัฐในภาคใต้ของประเทศไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-02-17. สืบค้นเมื่อ 2010-03-15.
  11. ปกเปี้ยน บางทีอ่านบกเปี้ยน และบางครั้งเรียกว่าบอกแปง
  12. มะลิวัลย์ พม่าเรียกมะลิยุน สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเรียกมะลิวัน
  13. Imperial Gazetteer of India 8:263
  14. Imperial Gazetteer of India 17: 298
  15. ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 36, ฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม 9, (พระนคร:ก้าวหน้า, 2507) หน้า 150