สงครามครูเสด

(เปลี่ยนทางจาก นักรบครูเสด)

ครูเสด (อังกฤษ: Crusade) เป็นชุดสงครามทางศาสนาในช่วงยุคกลาง ซึ่งคริสตจักรละตินเป็นผู้ริเริ่ม สนับสนุน และบางครั้งก็สั่งการเอง สงครามครั้งที่รู้จักกันดีที่สุด คือ คราวที่ส่งกองทัพไปยังดินแดนศักดิ์สิทธิ์ระหว่าง ค.ศ. 1095–1291 โดยประสงค์จะปลดปล่อยเยรูซาเล็มกับพื้นที่รายรอบให้พ้นจากการปกครองของมุสลิม กิจกรรมทางทหารที่เกิดขึ้นพร้อมกันในคาบสมุทรไอบีเรียเพื่อต่อต้านชาวมัวร์ (สงครามเรกองกิสตา) และในยุโรปตอนเหนือเพื่อต่อต้านเผ่าสลาฟ (ครูเสดในภาคเหนือ) ก็ได้ชื่อว่าครูเสดเช่นกัน ตลอดคริสต์ศตวรรษที่ 15 ยังมีครูเสดคราวอื่น ๆ อีกที่ได้รับอนุมัติจากศาสนจักรให้รบกับนิกายคริสต์นอกรีต รบกับจักรวรรดิไบแซนไทน์และจักรวรรดิออตโตมัน ปราบปรามลัทธินอกศาสนากับกลุ่มมิจฉาทิฐิ และเป็นไปเพื่อเหตุผลทางการเมือง สงครามครูเสดที่ราษฎรเป็นผู้ก่อก็เกิดบ่อยครั้ง แต่ศาสนจักรไม่อนุมัติ นับตั้งแต่เริ่มครูเสดครั้งที่หนึ่งซึ่งส่งผลให้ศาสนาคริสต์ยึดเยรูซาเล็มคืนได้ใน ค.ศ. 1099 เป็นต้นมา ก็เกิดครูเสดอีกหลายสิบครั้ง ซึ่งก่อให้เกิดจุดศูนย์รวมความสนใจจุดหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ยุโรปนานหลายร้อยปี

ภาพกรุงเยรูซาเลมในสงครามครูเสดครั้งแรก

ครูเสดนั้นเริ่มด้วยการที่สันตะปาปาเออร์บันที่ 2 ประกาศครูเสดครั้งที่หนึ่ง ณ สภาแกลร์มงใน ค.ศ. 1095 โดยหนุนให้มีการสนับสนุนทางทหารแก่จักรพรรดิอเล็กซิออสที่ 1 แห่งไบแซนไทน์ เพื่อยกไปปราบจักรวรรดิเซลจุก และเรียกร้องให้มีการส่งคณะจาริกอาวุธครบมือไปเยรูซาเล็ม มีกระแสตอบรับอย่างตื่นตัวจากทั่วทุกชนชั้นทางสังคมในยุโรปตะวันตก แรงจูงใจให้เกิดครูเสดครั้งที่หนึ่งนั้นมีหลายประการ เป็นต้นว่า ความต้องการช่วยให้รอดในทางศาสนา การปฏิบัติตามพันธะหน้าที่ในระบอบศักดินา โอกาสที่จะได้ชื่อเสียง และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมือง ครูเสดครั้งหลัง ๆ มักมีกองทหารที่จัดตั้งขึ้นอย่างเป็นระบบเป็นผู้ดำเนินการ บางครั้งก็มีกษัตริย์นำไป และทุกครั้งจะได้รับใบบุญ (indulgence) จากสันตะปาปา ความสำเร็จในช่วงแรก ๆ นำไปสู่การเกิดขึ้นของรัฐครูเสดสี่แห่ง คือ เคาน์ตีอิเดสซา ราชรัฐแอนติออก ราชอาณาจักรเยรูซาเลม และเคาน์ตีตริโปลี การมีอยู่ของนักรบครูเสดในภูมิภาคนี้ยังดำเนินต่อไปในบางรูปแบบจนกระทั่งเมืองเอเคอร์แตกใน ค.ศ. 1291 หลังจากนั้นก็ไม่มีครูเสดเกิดขึ้นเพื่อยึดดินแดนศักดิ์สิทธิ์กลับคืนอีก

ส่วนการต่อสู้ระหว่างชาวคริสต์กับชาวมุสลิมในคาบสมุทรไอบีเรีย ซึ่งได้รับการประกาศให้เป็นครูเสดเมื่อ ค.ศ. 1123 นั้น ได้รับการเรียกขานในหมู่ชาวคริสต์ว่า สงครามเรกองกิสตา สงครามนี้ยุติใน ค.ศ. 1492 ด้วยการล่มสลายของรัฐมุสลิมอีเมียริตกรานาดา และนับแต่ ค.ศ. 1147 มา เกิดการรบในยุโรปตอนเหนือเพื่อต่อต้านชนเผ่านอกรีต ซึ่งถือว่าเป็นครูเสดเช่นกัน ใน ค.ศ. 1199 สันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 3 ริเริ่มการประกาศสงครามครูเซดทางการเมืองต่อชาวคริสต์นอกรีต ในคริสต์ศตวรรษที่ 13 มีการใช้ครูเสดเป็นเครื่องมือต่อต้านผู้ถือลัทธิแคทาริซึมในล็องด็อก และต่อต้านรัฐบอสเนีย มีการประพฤติเช่นนี้ต่อ ๆ มาเพื่อต่อต้านชาววอลเดนเซียนในซาวอยและชาวฮัสไซต์ในโบฮีเมียในคริสต์ศตวรรษที่ 15 และต่อต้านชาวโปรเตสแตนต์ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 นับแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 14 เป็นต้นมา มีการใช้วาทศิลป์เกี่ยวกับครูเสดเพื่อสนองต่อการเกิดขึ้นของจักรวรรดิออตโตมัน มายุติลงใน ค.ศ. 1699 ด้วยสงครามสันนิบาติศักดิ์สิทธิ์

ศัพทวิทยา

แก้

ในประวัติศาสตร์นิพนธ์สมัยใหม่ คำว่า "crusade" แรกเริ่มใช้เรียกคณะทหารอาสาชาวคริสต์ยุโรปในคริสต์ศตวรรษที่ 11, 12 และ 13 ที่เดินทางสู่แผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ ต่อมาเริ่มนำคำไปใช้รวมถึงการรณรงค์ที่ชักนำ สนับสนุน และบางครั้งชี้นำโดยโรมันคาทอลิกเพื่อต่อต้านคนนอกศาสนา, คนนอกรีต หรือกล่าวหาศาสนาอื่นที่เป็นเป้าหมาย[1] สิ่งเหล่านี้แตกต่างจากสงครามอื่น ๆ ของศาสนาคริสต์ที่ถูกพิจารณาว่าเป็นการสำนึกบาปและผู้ที่เข้าร่วมจะได้รับการให้อภัยต่อบาปที่รับสารภาพทั้งหมด[2] การใช้คำศัพท์สามารถสร้างความซาบซึ้งประทับใจที่เข้าใจผิดถึงความเชื่อมโยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับสงครามครูเสดครั้งแรก และคำจำกัดความเป็นเรื่องสำคัญทางประวัติศาสตร์นิพนธ์ที่ยกมาอภิปรายกันในหมู่นักประวัติศาสตร์ร่วมสมัย[3][4][5]

ในสงครามครูเสดครั้งที่ 1, iter, "การเดินทาง" และ peregrinatio, "จาริกแสวงบุญ" ถูกนำมาใช้ในการการรณรงค์ คำศัพท์ Crusader ยังคงไม่ถูกแยกออกจากการจาริกแสวงบุญของคริสเตียนในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 12 ในตอนท้ายของคริสต์ศตวรรษภาษาเฉพาะของสงครามครูเสดถูกนำมาใช้ในรูปแบบของ crucesignatus—"หนึ่งสัญลักษ์คือกางเขน"—สำหรับผู้ทำสงครามศาสนา นำไปสู่ภาษาฝรั่งเศส croisade—เส้นทางแห่งกางเขน[3] ในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 13 กางเขนได้กลายเป็นตัวบ่งชี้หลักของสงครามครูเสด ด้วย crux transmarina—"กางเขนโพ้นทะเล"— ใช้สำหรับสงครามครูเสดในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก และ crux cismarina—"กางเขนข้างทะเลนี้"— สำหรับสงครามครูเสดในยุโรป[6][7] ในภาษาอังกฤษสมัยใหม่ คำว่า "crusade" สร้างขึ้นตั้งแต่ต้นคริสต์ทศวรรษที่ 1700[8]

คำในภาษาอาหรับสำหรับการต่อสู้หรือการแข่งขัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการเผยแผ่ศาสนาอิสลาม—jihād— ถูกใช้สำหรับสงครามศาสนาของชาวมุสลิมกับคนนอกศาสนา และชาวมุสลิมบางคนเชื่อว่ามันคือหน้าที่ตามคัมภีร์กุรอานและหะดีษ[9] "ภาษาแฟรงก์" และ "ภาษาละติน" ถูกใช้โดยประชาชนในตะวันออกใกล้ระหว่างสงครามครูเสดสำหรับชาวยุโรปตะวันตก ซึ่งแยกจากคริสเตียนไบแซนไทน์ซึ่งเป็นที่รู้จักในนาม "Greeks"[10][11] "Saracen" ถูกใช้เรียกชาวมุสลิมอาหรับ มาจากชื่อกรีกและโรมันสำหรับชนเผ่าเร่ร่อนในทะเลทรายซีเรีย-อาหรับ[12] แหล่งข้อมูลสงครามครูเสดใช้คำว่า "Syrians" เพื่ออธิบายคริสเตียนที่พูดภาษาอาหรับซึ่งเป็นสมาชิกของคริสตจักรออร์โธดอกกรีก และ "Jacobites" สำหรับผู้ที่เป็นสมาชิกของคริสตจักรออร์โธดอกซ์ของซีเรีย[13] รัฐสงครามครูเสดแห่งซีเรียและปาเลสไตน์เป็นที่รู้จักกันในนาม "Outremer" มาจากภาษาฝรั่งเศส outre-mer หรือ "ดินแดนโพ้นทะเล"[14]

สงครามครูเสดแต่ละครั้ง

แก้

มีสงครามครูเสดเกิดขึ้นหลายครั้ง แต่ครั้งที่สำคัญที่ใหญ่ที่สุดเกิดขึ้นระหว่างศตวรรษที่ 11 ถึง 13 ซึ่งมีสงครามใหญ่ ๆ เกิดขึ้นถึง 9 ครั้งในมหาสงครามครั้งนี้และยังมีสงครามย่อย ๆ เกิดอีกหลายครั้งในระหว่างนั้น สงครามบางครั้งก็เกิดขึ้นภายในยุโรปเอง เช่น ที่สเปน และมีสงครามย่อย ๆ เกิดขึ้นตลอดศตวรรษที่ 16 จนถึงยุคเรอเนสซองซ์ และการปฏิรูปศาสนา

เมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก

แก้

พื้นหลัง

แก้
 
การขยายตัวของศาสนาอิสลามระหว่าง ค.ศ. 622 - 750
  การขยายตัวของศาสนาอิสลามภายใต้มุฮัมมัด ค.ศ. 622–632
  ... ระหว่างจักรวรรดิรอชิดีน ค.ศ. 632–661
  ... และระหว่างราชวงศ์อุมัยยะฮ์ ค.ศ. 661–750

นบีมุฮัมมัดก่อตั้งศาสนาอิสลามในคาบสมุทรอาหรับและเมื่อสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 632 เกิดการรวมตัวของชาวอาหรับขึ้นเป็นรัฐเดียว อำนาจอาหรับขยายตัวอย่างรวดเร็วในคริสต์ศตวรรษที่ 7 และ 8 ส่วนใหญ่เกิดจากการพิชิตทางทหาร การแผ่อิทธิพลขยายไปถึงภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเอเชียใต้ ข้ามเอเชียกลาง ตะวันออกกลาง รวมถึงการยึดกรุงเยรูซาเล็มจากจักรวรรดิไบแซนไทน์หลังจากปิดล้อมในปี ค.ศ. 637 แอฟริกาเหนือ ตอนใต้ของอิตาลี คาบสมุทรไอบีเรียและเทือกเขาพิเรนีส[15][16][17] ความอดกลั้น การค้า และความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างอาหรับและรัฐคริสเตียนของยุโรปเกิดขึ้นและจางหาย ยกตัวอย่างเช่น อัลฮะกิม บิอัมร์ อัลเลาะฮ์ (al-Hakim bi-Amr Allah) กาหลิบราชวงศ์ฟาติมียะห์ได้ทำลายโบสถ์แห่งสุสานศักดิ์สิทธิ์ (Church of the Holy Sepulchre) ในกรุงเยรูซาเล็ม แต่ผู้สืบตำแหน่งอนุญาตให้จักรวรรดิไบแซนไทน์สร้างขึ้นใหม่[18] จักรวรรดิไบแซนไทน์ได้ดินแดนคืนเมื่อปลายคริสต์ศตวรรษที่ 10 โดยกษัตริย์บาซิลที่ 2 (Basil II) ซึ่งใช้เวลาส่วนใหญ่ในรัชกาลถึงครึ่งศตวรรษในการปราบพิชิต การแสวงบุญของชาวคาทอลิกไปยังสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ได้รับอนุญาต ชาวคริสเตียนในดินแดนมุสลิมได้รับสถานะษิมมี (Dhimmi) มีสิทธิตามกฎหมายและได้รับการคุ้มครองจากกฎหมาย คริสเตียนเหล่านี้ได้รับอนุญาตให้รักษาโบสถ์ไว้ และการแต่งงานข้ามศาสนาหรือความเชื่อไม่ใช่เรื่องแปลก[19] วัฒนธรรมและหลักความเชื่อต่าง ๆ ดำรงอยู่ร่วมกันและและแข่งขันกัน แต่เมื่อกลับไปยังยุโรปตะวันตก ผู้แสวงบุญชาวคาทอลิกและพ่อค้ากลับรายงานว่าสภาพชายแดนระหว่างท่าเรือซีเรียและกรุงเยรูซาเล็มไม่เอื้ออำนวยต่อการอยู่อาศัยเป็นอย่างมาก[20]

ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 8 คริสตศาสนิกชนเข้าร่วมการทัพเพื่อยึดคาบสมุทรไอบีเรียคืน ที่รู้จักกันในชื่อ เรกองกิสตา การทัพถึงจุดผลิกผันในปี ค.ศ. 1085 เมื่อกษัตริย์อัลฟอนโซแห่งเลอองและคาสเตล (Alfonso VI of León and Castile) เข้ายึดโตเลโด[21] ในเวลาเดียวกัน เอมิเรตแห่งซิซิลีถูกพิชิตโดยนอร์มัน โรเจอร์แห่งฮัวเตวิลล์ (Roger de Hauteville) ผู้เสี่ยงโชคใน ค.ศ. 1091[22] ยุโรปในช่วงเวลานี้ตกอยู่ในการดิ้นรนต่อสู้กับอำนาจต่าง ๆ หลายด้าน ใน ค.ศ. 1054 จากความพยายามนับศตวรรษของคริสตจักรลาตินที่จะถือสิทธิ์สูงสุดเหนืออัครบิดรแห่งจักรวรรดิตะวันออกนำไปสู่การแบ่งแยกคริสตจักรอย่างถาวรที่เรียกว่าศาสนเภทตะวันออก-ตะวันตก[23] จากการปฏิรูปเกรกอเรียน (Gregorian Reform) สันตะปาปานักปฏิรูปพยายามที่จะเพิ่มอำนาจและอิทธิพลเหนือฆราวาส เริ่มต้นราว ค.ศ. 1075 และต่อเนื่องไประหว่างสงครามครูเสดครั้งที่ 1 ข้อขัดแย้งเรื่องการสถาปนาสมณศักดิ์คือการต่อสู้ทางอำนาจระหว่างคริสตจักรกับรัฐในยุโรปยุคกลางว่าคริสตจักรคาทอลิกหรือจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ที่จะแต่งตั้งและสถาปนาสมณศักดิ์นักบวช[24][25] พระสันตะปาปาซ้อนคลีเมนต์ที่ 3 (Antipope Clement III) ซึ่งเป็นสมเด็จพระสันตะปาปาอีกองค์หนึ่งในช่วงเวลานี้และสมเด็จพระสันตะปาปาเออร์บันทรงใช้เวลาส่วนใหญ่ในตอนต้นของการดำรงตำแหน่งสังฆราชของพระองค์ในการลี้ภัยออกจากโรม ผลที่ตามมาก็คือการนับถือศาสนาและความสนใจในเรื่องศาสนาเพิ่มมากขึ้นในหมู่ประชากรทั่วไปในยุโรปคาทอลิก และการโฆษณาชวนเชื่อทางศาสนาโดยองค์สันตะปาปาสนับสนุนสงครามอันชอบธรรมเพื่อเรียกคืนปาเลสไตน์จากชาวมุสลิม การร่วมในสงครามครูเสดถูกมองว่าเป็นรูปแบบของการสำนึกบาปที่สามารถชดเชยบาปได้[26]

สภานการณ์ที่เป็นอยู่ถูกทำให้เสียกระบวนโดยการอพยพชาวตะวันตกของเผ่าเติร์ก ปี ค.ศ. 1071 ชัยชนะเหนือกองทัพไบแซนไทน์ในยุทธการแมนซิเคิร์ท เมื่อพิจารณาจากเหตุการณ์สำคัญโดยนักประวัติศาสตร์ เหตุการณ์นี้ถือว่าเป็นหนึ่งในขั้นตอนของการขยายตัวของจักรวรรดิเซลจุคสู่อานาโตเลีย[27] หนึ่งปีหลังจากนั้น ชาวเติร์กได้แย่งสิทธ์การควบคุมปาเลสไตน์จากราชวงศ์ฟาติมียะห์[28]

สงครามครูเสดครั้งที่ 1 ค.ศ. 1095-1101

แก้
 
สมเด็จพระสันตะปาปาเออร์บันที่ 2 ในสภาแห่งเคลียมอนท์ประกาศให้แย่งชิงแดนศักดิสิทธิ์คืน

เริ่มต้นเมื่อปี 1095 โดยสมเด็จพระสันตะปาปาเออร์บันที่ 2 (Urban II) แห่งกรุงโรม รวบรวมกองทัพชาวคริสต์ไปยังกรุงเยรูซาเลม ช่วงแรกกองทัพของปีเตอร์ นักพรต (Peter the Hermit) นำล่วงหน้ากองทัพใหญ่ไปก่อน ส่วนกองทัพหลักมีประมาณ 50,000 คนซึ่งส่วนใหญ่มาจากประเทศฝรั่งเศส นำโดย โรเบิร์ต เคอร์โทส ดยุกแห่งนอร์มังดี โอรสของสมเด็จพระเจ้าวิลเลียมที่ 1 แห่งอังกฤษ

ในที่สุดเมื่อปี 1099 กองทัพก็เดินทางจากแอนติออคมาถึงกำแพงเมือง และยึดฐานที่มั่นใกล้กำแพงเข้าปิดล้อมเยรูซาเลมไว้ กองกำลังมุสลิมที่ได้รับการขนานนามว่า ซาระเซ็น ได้ต่อสู้ด้วยความเข้มแข็ง ทว่าท้ายที่สุดนักรบครูเสดก็บุกฝ่าเข้าไป และฆ่าล้างทุกคนที่ไม่ใช่ชาวคริสต์กระทั่งชาวมุสลิมในเมืองหรือชาวยิวในสถานที่ทางศาสนาก็ล้วนถูกฆ่าจนหมด เหลือเพียงผู้ปกครองเดิมในขณะนั้นซึ่งได้รับอนุญาตให้ออกไปได้ แต่ทว่าข่าวการรบนั้นไม่อาจไปถึงพระสันตะปาปา เนื่องจากพระองค์สิ้นพระชนม์ในอีกไม่กี่วันถัดมา

ผู้นำเหล่านักรบศักดิ์สิทธิ์ที่ได้รับเลือกคือ กอดฟรีย์แห่งบูยง ซึ่งอยู่ในตำแหน่งนานหนึ่งปีจึงเสียชีวิต เดือนกรกฎาคมปี 1100 บอลด์วินจากเอเดสซาจึงขึ้นสืบเป็นกษัตริย์ พระองค์อภิเษกกับเจ้าหญิงอาร์เมเนีย แต่ไร้รัชทายาท พระองค์สวรรคตในปี 1118 ผู้เป็นราชนัดดานามบอลด์วินจึงครองราชย์เป็นกษัตริย์บอลด์วินที่ 2 แห่งอาณาจักรศักดิ์สิทธิ์ มีราชธิดา 3 พระองค์ และที่น่าสนใจคือครั้งนี้บัลลังก์สืบทอดทางธิดาองค์โตหรือมเหสี และพระสวามีจะครองราชย์แทนกษัตริย์องค์ก่อน

สงครามครูเสดมีสาเหตุหลักมาจากความแตกต่างทางความเชื่อในศาสนาแต่ละศาสนา จนทำให้ไม่เข้าใจซึ่งกันและกัน ซึ่งผู้เริ่มต้นคือชาวมุสลิมต้องการครอบครองดินแดนศักดิ์สิทธิ์ คือ กรุงเยรูซาเลม นอกจากนั้นเหตุผลทางการเมืองก็เป็นอีกสาเหตุของสงครามด้วย เพราะในสมัยนั้นเศรษฐกิจในยุโรปตกต่ำ ผู้นำศาสนาในโรมันคาทอลิกเรืองอำนาจมาก และมีอำนาจเหนือกษัตริย์ และครอบครองทรัพย์สินมหาศาล ขนาดมีความเชื่อในตอนนั้นว่า ถ้าเป็นไปได้พ่อแม่ทุกคนอยากให้บุตรชายของตนเป็นนักบวชเพื่อจะเป็นผู้นำศาสนา

สงครามครูเสดได้คร่าชีวิตและทรัพย์สินของมนุษยชาติอย่างมากมายมหาศาล เพราะพระสันตะปาปาอ้างว่าเขาสามารถล้างบาปให้กับนักรบครูเสดได้ และอนุญาตให้ปล้น ฆ่า ยึดทรัพย์พวกนอกศาสนาได้ ซึ่งหลักการนี้ไม่มีในพระคำภีร์ไบเบิ้ล อีกทั้งขุนนางในสมัยนั้นต้องการยึดทรัพย์สินของพวกยิวที่ร่ำรวย และต้องการมีอิทธิพลในยุโรบไปจนถึงตะวันออกกลางจึงใช้ข้ออ้างของศาสนามาอ้างในการทำสงครามครั้งนี้

ผลของสงครามครูเสดนี้ฆ่าคนไปจำนวนมากมายนับจากยิวในยุโรบไปจนถึงยิวในเยรูซาเร็ม และทำให้ชาวมุสลิมและคริสเตียนบาดหมางกันทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ทั้งสองศาสนา แม้ทั้งสองจะมีความต่างกันแต่สามารถอยู่ร่วมกันได้ในดินแดนแถบนั้น และสงครามครูเสดทำให้ความขัดแย้งเหล่านั้นยังคงหลงเหลือมาจนถึงปัจจุบัน

สงครามครูเสดครั้งที่ 2 (1147–1149)

แก้

ลัทธิศักดินา (Feudalism) ที่พวกครูเสดนำมาใช้ในเอเชียน้อย (Asia Minor) นี้ได้ระบาดในหมู่พวกมุสลิมเช่นกัน พวกมุสลิมชนชาติต่าง ๆ ในตะวันออกกลางต่างก็แก่งแย่งถืออำนาจกัน แตกออกเป็นหลายนคร

อิมาดุดดีน ซังกี (Imaduddin Zangi) ผู้เป็นบุตรคนหนึ่งของ อัก สุนกูร อัลฮาญิบ ซึ่งเป็นเจ้าเมืองฮะลับ หรืองอเลปโป (ภาษาละติน: Aleppo) ภายใต้อาณาจักรของ มะลิกซาห์ ใน ค.ศ. 1127 ได้เป็นอะตาเบก (เจ้านคร) แห่งโมสุล และต่อมา 1128 ก็ได้รวบรวมอเลปโปเข้าอยู่ใต้อำนาจของตน โดยเข้าข้างกษัตริย์แห่งสัลญูก ซึ่งกำลังแย่งชิงเขตแดนต่าง ๆ ของจักรวรรดิอับบาซียะฮ์ ในปี ค.ศ. 1135 เขาพยายามตีนครดามัสคัส เมื่อรวบรวมให้อยู่ใต้อำนาจ แต่ก็ไม่สำเร็จ ระหว่างทางที่ถอยทัพกลับไปอเลปโป ก็ได้เข้าตีนครฮิมสฺ เพื่อยึดมาเป็นของตน แต่ตีไม่สำเร็จ สองปีต่อมา ซังกีย้อนกลับมาตีนครฮิมสฺอีกครั้ง แต่ก็ไม่สำเร็จอีกเช่นกัน ทางนครดามัสคัสเมื่อกลัวว่าซังกีจะยกทัพมาประชิตเมืองอีกครั้ง ก็ได้ผูกสัมพันธไมตรีกับอาณาจักรเยรูซาเลมของพวกครูเสด

ซังกียกทัพไปตีพวกครูเสด จนเกิดปะทะกันที่บารีน ฟูล์ก เจ้าราชอาณาจักรเยรูซาเลมพ่ายแพ้ พากองทัพที่รอดตายหนีออกจากนครเยรูซาเลม ซังกีได้ผูกสัมพันธไมตรีกับนครดามัสคัส เมื่อเห็นว่าตนไม่มีความสามารถที่จะเอาชนะได้ ประกอบกับได้ข่าวว่า จักรพรรดิยอห์น คอมเนนุส (John Comnenus) ได้ยึดเอานครอันติออก ที่พวกครูเสดปกครองอยู่นั้น เข้ามาอยู่ในอาณาจักรไบแซนไทน์ และได้ส่งกองทัพมาประชิตเมืองอเลปโปของตน

พวกครูเสดที่ส่งมาโดยจักรพรรดิยอห์น คอมเนนุส (John Comnenus) พวกนี้ยึดเมืองบุซาอะ (Buzaa) ได้ฆ่าพวกผู้ชายทั้งหมดแล้วกวาดต้อนผู้หญิงและเด็กไปเป็นทาส

แม้ซังกีจะวางแผนการเพื่อยึดนครดามัสคัสอีกในเวลาต่อมา ถึงขั้นกับสมรสกับนางซุมุรรุด มารดาเจ้านคร ด้วยการยกเมืองฮิมสฺเป็นสินสอด และต่อมาเจ้านครก็ถูกลอบสังหาร ซังกีก็ไม่อาจจะยึดเอานครดามัสคัสเป็นของตนได้ เวลาต่อมา นครดามัสคัสก็กลับไปรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับพวกครูเสดอีกครั้ง และได้ร่วมกันโจมตีกองทัพของซังกีที่บานิยาส

ซังกีได้ยกทัพเข้าตีนครเอเดสสาที่อยู่ภายใต้พวกครูเสดแตกเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม ค.ศ. 1114 จุดนี้เป็นจุดเริ่มต้นของสงครามครูเสดครั้งที่ 2

ซังงีถูกทาสรับใช้ของตน ซึ่งเป็นชาวแฟรงก์ ลอบสังหารเมื่อวันที่ 5 เราะบีอุษษานีย์ 541 ตรงกับวันที่ 14 กันยายน 1146 ซังงีมีบุตร 4 คน ล้วนเป็นคนมีความสามารถทั้งสิ้น ในระหว่างความยุ่งยากนี้พวกคริสต์ในเมืองเอเดสสา คิดกบฏฆ่าทหารมุสลิมที่รักษาเมืองและได้รับความช่วยเหลือจากพวกแฟรงก์ ภายใต้การนำของโยสเซลิน (Joscellin) ยึดเมืองเอเดสสาได้ แต่บุตรสองคนของซังงี ชื่อ นูรุดดีน มะฮฺมูด (ฝรั่งเรียก Noradius) ตีเมืองเอเดสสากลับคืนมาได้ พวกที่ก่อกบฏและทหารแฟรงก์ถูกฆ่า พวกอาร์มิเนียนที่เป็นต้นคิดกบฏถูกเนรเทศ และนูรุดดีนสั่งให้รื้อกำแพงเมือง ผู้คนต่างหนีออกจากเมืองจนเมืองเอเดสสากลายเป็นเมืองร้าง

การสูญเสียเมืองเอเดสสาเป็นครั้งที่ 2 นี้ ได้ก่อให้เกิดการโฆษณาขนานใหญ่ในยุโรป แบร์นาร์แห่งแกลร์โว (Bernard Clairvaux) ซึ่งฉลาดในการพูดและได้ฉายาว่า ปีเตอร์นักพรตคนที่สอง ได้เที่ยวเทศนาปลุกใจนักรบ ให้ร่วมกันป้องกันสถานกำเนิดแห่งศาสนาคริสต์ เหตุนี้ทำให้พวกคริสเตียนตกใจกลัวยิ่งนักว่า พวกสัลญูกตุรกีจะยกทัพมาตียุโรป และตนจะไม่ได้เป็นเจ้าของศาสนสถานในปาเลสไตน์อีก การปลุกใจครั้งนี้ไม่เร้าใจแต่เพียงขุนนาง อัศวินและสามัญชน ซึ่งเป็นส่วนในสงครามครูเสดครั้งแรกเท่านั้น พวกกษัตริย์ต่าง ๆ ก็พลอยนิยมไปด้วย พระเจ้าหลุยส์ที่ 7 แห่งฝรั่งเศสได้ถือเอาสงครามครูเสดเป็นเครื่องเบี่ยงบ่ายการกระทำอันโหดร้าย ต่อพลเมืองบางพวกที่เป็นกบฏต่อพระองค์ กษัตริย์คอนราดที่ 3 แห่งเยอรมันเข้าร่วมทัพด้วย เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นใน ค.ศ. 1147 ข้างพระเจ้าหลุยส์ที่ 7 แห่งฝรั่งเศส มีพระมเหสีร่วมไปในกองทัพด้วย ชื่ออิเลนอร์ (เอลินอร์แห่งอากีแตน มเหสีคนนี้ต่อมาไปสมรสกับพระเจ้าเฮนรี่ที่ 2 แห่งอังกฤษ) การที่ราชินีเข้าร่วมกองทัพด้วยทำให้ผู้หญิงฝรั่งเศสอีกจำนวนมากอาสาเข้ากองทัพครูเสด ซึ่งคราวนั้นมีพลประมาณ 900,000 คน พวกฝรั่งเศสได้กระทำชู้กับหญิงในกองทัพอย่างเปิดเผย กองทัพของสองกษัตริย์ได้รับการต่อต้านและเสียหายอย่างหนัก

ส่วนหนึ่งกองทัพของกษัตริย์คอนราดถูกทำลายที่เมืองลาซิกียะหฺ (ภาษาละติน: Laodicea หรือ Latakia) ส่วนกองทัพของพระเจ้าหลุยส์ที่ 7 ที่ยกมาทางทะเลก็ถูกโจมตียับเยินโดยเฉพาะที่เมืองก็อดมูส (Babadagh ปัจจุบันในตุรกี ภาษาละติน: Cadmus) อย่างไรก็ตามเนื่องจากพวกครูเสดมีกำลังพลมาก จึงเหลือรอดมาถึงเมืองอันติออก ซึ่งเวลานั้นพวกขุนนางและอัศวินจำนวนมากพักอยู่ในเมืองอันติออก ซึ่งเวลานั้นเรย์มอง ผู้เป็นลุงของราชินีอีเลนอร์ เป็นผู้ปกครองเวลานั้นพวกขุนนางและอัศวินจำนวนมากพักอยู่ในเมืองอันติออกเช่น เคาน์เตสแห่งบัวส์ (Countess of Blois) เคาน์เตสแห่งรูสสี (Countess of Roussi) ดัชเชสแห่งบุยยอง (Duchess of Bouillon) Sybille แห่งแฟลนเดอร์ส และสตรีของผู้สูงศักดิ์อื่น ๆ อีก แต่จอมราชินีของพวกเขา คือมเหสีของพระเจ้าหลุยส์ที่ 7 เมื่อพักผ่อนและสนุกสนานกับพวกผู้หญิงเพียงพอแล้ว พวกครูเสดก็ยกทัพเข้าล้อมเมืองดามัสคัส แต่ไม่สำเร็จ เพราะนูรุดดีน และสัยฟุดดีน อัลฆอซี บุตรทั้งสองของซังกี ได้ยกทัพมาช่วย ทั้งกษัตริย์คอนราดแห่งเยอรมนีและพระเจ้าหลุยส์ที่ 7 แห่งฝรั่งเศสได้เลิกทัพกลับยุโรป พวกครูเสดต้องล่าทัพกลับบ้านเมืองด้วยความผิดหวังและสูญเสียอย่างหนัก

ส่วนพวกครูเสดที่มาจากพวกยุโรปเหนือ ก็ได้เคลื่อนทัพจนถึงโปรตุเกส แล้วได้ร่วมมือกับกษัตริย์อัลฟอนโซ เพื่อโจมตีนครลิสบอน และขับไล่พวกมุสลิมออกจากนครนี้ในปี 1147

กองทัพครูเสดจากเยอรมันได้เข้าไปโจมตีพวกสลาฟที่อยู่รอบอาณาเขตอาณาจักรเยอรมัน

สงครามครูเสดครั้งที่ 3 (1187–1192)

แก้

ศอลาฮุดดีน อัลอัยยูบีย์ ได้ตีเอานครเยรูซาเลมกลับคืนมาเป็นของพวกมุสลิมอีกครั้งในปี 1187

เมื่อศอลาฮุดดีนได้ข่าวพวกแฟรงก์ยกทัพมา จึงประชุมนายทัพโดยให้ความเห็นว่าจะโจมตีพวกนี้ขณะเดินทัพอยู่ แต่พวกนายพลว่าให้ตีเมื่อมาถึงชานเมืองอักกะ (Acre) พวกครูเสดได้ตั้งทัพล้อมเมืองนี้ไว้ และปีกข้างหนึ่งจดทะเล ทำให้สามารถรับเสบียงจากยุโรปได้สะดวก ถ้าศอลาฮุดดีนได้เริ่มโจมตีพวกนี้ขณะเดินทาง ก็คงไม่ประสบสถาณะคับขันเช่นนี้ พวกตุรกีจากเมืองใกล้ ๆ ก็ยกทัพมาช่วย และในวันที่ 1 ชะอฺบาน 585 (14 กันยายน 1189) ศอลาฮุดดีนได้เริ่มโจมตีพวกครูเสด หลานชายของท่านคนหนึ่งชื่อ ตะกียุดดีน ได้แสดงความกล้าหาญมากในการรบ ตอนนี้ทหารศอลาฮุดดีนมีกำลังน้อยกว่าพวกครุเสดมาก เพราะต้องกระจายกำลังป้องกันเมืองหน้าด่านต่าง ๆ เช่นที่ยืนยันเขตแดนติดเมืองตริโปลี เอเดสสา อันติออก อเล็กซานเดรีย ฯลฯ ในรอบนอกเมืองอักกานั้น พวกครูเสดถูกฆ่าราว 10,000 คน ได้เกิดโรคระบาดขึ้นเพราะด้วยศพทหารเหล่านี้ เนื่องจากติดพันอยู่การสงคราม ไม่สามารถรักษาที่รบให้สะอาดได้ ศอลาฮุดดีนเองได้รับโรคระบาดนี้ด้วย แพทย์แนะนำให้ถอนทหารและได้ยกทัพไปตั้งมั่นอยู่ที่ อัลคอรรูบะหฺ พวกครูเสดจึงยกทัพเข้าเมืองอักกาและเริ่มขุดคูรอบตัวเมือง

ศอลาฮุดดีนได้มีหนังสือไปยังสุลฎอนของมอร็อคโคให้ยกทัพมาสมทบช่วยแต่พวกนี้ได้ปฏิเสธ ในฤดูใบไม้ผลิศอลาฮุดดีนได้ยกทัพมาโจมตีเมืองอักกาอีก พวกครูเสดได้เสริมกำลังมั่นและสร้างหอคอยหลายแห่ง แต่ทั้งหมดถูกกองทัพศอลาฮุดดีนยิงด้วยด้วยลูกไฟ เกิดไฟไหม้ทำลายหมด ตอนนี้กำลังสมทบจากอียิปต์มาถึงทางเรือและกำลังการรบจากที่อื่นมาด้วย พวกแฟรงก์เสียกำลังการรบทางแก่อียิปต์อย่างยับเยิน พวกครูเสดถูกฆ่าและเสียกำลังทัพมาก แต่ในปลายเดือนกรกฎาคม 1190 เคานต์เฮนรี่แห่งแชมเปญ ผู้มีสายสัมพันธ์กับพระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศสได้ยกทัพหนุนมาถึง ศอลาฮุดดีนได้ถอยทัพไปตั้งมั่นที่อัลคอรรูบะหฺอีก ได้ทิ้งกองทหารย่อย ๆ ไว้ ซึ่งได้ต่อสู้พวกครูเสดอย่างกล้าหาญ ตอนนี้พวกครูเสดไม่สามารถคืบหน้าได้ จึงจดหมายไปยังพระสันตะปาปาขอให้จัดทัพหนุนมาช่วย พวกคริสเตียนได้หลั่งไหลกลับมาสมทบพวกครูเสดอีกครั้ง เพราะถือว่าการรบ "พวกนอกศาสนา" ครั้งนี้ทำให้ตนถูกเว้นบาปกรรมทั้งหมดและได้ขึ้นสวรรค์ ศอลาฮุดดีนจัดทัพรับมือพวกนี้อย่างเต็มที่ ให้ลูกชายของตนชื่อ อะลีย์ อุษมาน และฆอซี อยู่กลางทัพ ส่วนปีกทางขวาให้น้องชายชื่อสัยฟุดดีนเป็นแม่ทัพ ทางซ้ายให้เจ้านครต่าง ๆ คุม แต่ในวันประจัญบานกันนั้นตัวศอลาฮุดดีนเองป่วย จึงได้เฝ้าดูการสู้รบจากยอดเขาแห่งหนึ่ง พวกครูเสดถูกตีพ่ายตกทะเลได้รับความเสียหายอย่างหนัก พวกนี้เริ่มขาดแคลนอาหารและโดยที่ฤดูหนาวย่างเข้ามา จึงพักการรบ

เมื่อถึงต้นฤดูใบไม้ผลิ คือเดือนเมษายน 1191 พวกครูเสดได้รับทัพหนุนเพิ่มขึ้นอีก โดยพระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศสได้ยกทัพมา พร้อมกันนั้นพระเจ้าริชาร์ดใจสิงห์แห่งอังกฤษก็ยกทัพมาอีกด้วย มีเรือรบมา 20 ลำ เต็มไปด้วยทหารและกระสุน กำลังหนุนของศอลาฮุดดีนมาไม่พร้อม ทหารมุสลิมในเมืองอักกามีกำลังน้อยกว่าจึงขอยอมแพ้พวกครูเสด โดยแม่ทัพมุสลิมมีนคนหนึ่งชื่อ มัชตูบ ผู้คุมกำลังป้องกันอักกาได้อุทรต่อพระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศสแต่ถูกปฏิเสธเว้นแต่ พวกมุสลิมจะยอมยกเมืองเยรูซาเลมให้ พวกมุสลิมจึงกลับสู้รบอีกจนสุดชีวิต ขณะการล้อมเมืองและการสู้รบอยู่เป็นเช่นนี้ได้เกิดโรคระบาดเกิดขึ้น ในที่สุดมีเงื่อนไขว่า พวกมุสลิมจะต้องคืนไม้กางเขน(ดั้งเดิมสมัยพระเยซู) และต้องเสียค่าปรับเป็นทอง 200,000 แท่ง แต่เนื่องจากต้องเสียเวลาหาทองจำนวนเท่านี้ กษัตริย์ริชาร์ดใจสิงห์แห่งอังกฤษ ผู้ที่นักประวัติศาสตร์เคยยกย่องและชื่นชมกันนั้นได้จับทหารมุสลิมจำนวน 27,000 คน ออกจากเมืองและสับต่อหน้าต่อตาคนทั้งหลาย เมืองอักกาตกอยู่ในมือพวกครูเสดที่บ้าศาสนาเหล่านี้ ส่วนทัพศอลาฮุดดีนต้องถอยทัพไปตั้งที่อื่นเพราะกำลังน้อยกว่าและกำลังหนุนไม่มีพอ ตอนหนึ่งมีเรือจากอียิปต์ลำเลียงเสบียงมาช่วย แต่เกือบถูกครูเสดยึดได้ นายเรือจึงสั่งให้จมเรือพร้อมทั้งคนในเรือทั้งหมด

กองทัพครูเสดภายใต้การนำของพระเจ้าริชาร์ดใจสิงห์ได้บุกไปยังอัสก็อลาน (ภาษาละติน: Ascolon) ศอลาฮุดดีนได้ยกกองทัพไปยันไว้ได้มีการรบกันอย่างกล้าหาญถึง 11 ครั้ง ในการรบที่อัรสูฟ ศอลาฮุดดีนเสียทหารราว 8,000 คน ซึ่งเป็นทหารชั้นดีและพวกกล้าตาย เมื่อเห็นว่าอ่อนกำลังป้องกันปาเลสไตน์ไม่ได้ จึงยกทัพไปยังอัสก็ออลาน อพยพผู้คนออกหมดแล้วรื้ออาคารทิ้ง เมื่อพระเจ้าริชาร์ดมาถึง ก็เห็นแต่เมืองร้าง จึงทำสัญญาสงบศึกด้วย โดยได้ส่งทหารไปพบน้องชายศอลาฮุดดีนชื่อ สัยฟุดดีน (ภาษาละติน: Saphadin) ทั้งสองได้พบกัน ลูกของเจ้านครครูเสดคนหนึ่งเป็นล่าม พระเจ้าริชาร์ดจึงให้บอกความประสงค์ที่อยากให้ทำสัญญาสงบศึก พร้อมทั้งบอกเงื่อนไขด้วย ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ฝ่ายมุสลิมยอมรับไม่ได้ การพบกันครั้งนั้นไม่ได้ผล

ฝ่ายมาร์ควิสแห่งมองเฟอร์รัดผู้ร่วมมาในกองทัพด้วยเห็นว่าการทำสัญญาโอ้เอ้ จึงส่งสารถึงศอลาฮุดดีน โดยระบุเงื่อนไขบางอย่าง แต่สัญญานี้ไม่เป็นผลเช่นกัน ต่อมาพระเจ้าริชาร์ดขอพบศอลาฮุดดีนและเจรจาเรื่องสัญญาสงบศึกอีก โดยเสนอเงื่อนไขว่า พวกครูเสดต้องมีสิทธิครอบครองเมืองต่าง ๆ ที่ได้ตีไว้ และฝ่ายมุสลิมต้องคืนเยรูซาเลมให้พวกครูเสด พร้อมกับไม้กางเขนที่ทำด้วยไม้ ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าเป็นไม้ที่พระเยซูถูกพวกยิวตรึงทรมานด้วย ศอลาฮุดดีนปฏิเสธที่จะยกเมืองเยรูซาเลมให้พวกครูเสด แต่ยอมในเรื่องให้เอาไม้กางเขนที่กล่าวในเงื่อนไขที่ว่า พวกครูเสดต้องปฏิบัติตามสัญญาของตนอย่างเคร่งครัด การเจรจานี้ก็ไม่เป็นผลอีกเช่นกัน พระเจ้าริชาร์ดจึงหันไปเจรจากับสัยฟุดดีนใหม่โดยให้ความเห็นว่าการเจรจานี้ จะเป็นผลบังคับเมื่อศอลาฮุดดีนยินยอมด้วยในปั้นปลาย เงื่อนไขมีว่า

  1. กษัตริย์ริชาร์ดยินดียกน้องสาวของเขาผู้เป็นแม่หม้าย (แต่เดิมเป็นมเหสีของกษัตริย์ครองเกาะซิซิลี) ให้แก่สัยฟุดดีน(น้องชายศอลาฮุดดีน)
  2. ของหมั้นในการสมรสนี้คือ กษัตริย์ริชาร์ดจะยกเมืองที่พระองค์ตีได้ ตามชายทะเลให้น้องสาวของตน และศอลาฮุดดีนก็ต้องยกเมืองต่าง ๆ ที่ยึดได้ให้ น้องชายเป็นการทำขวัญเช่นกัน
  3. ให้ถือเมืองเยรูซาเลมเป็นเมืองกลาง ยกให้แก่คู่บ่าวสาวนี้ และศาสนิกของทั้งสองฝ่ายมีสิทธิ์ที่จะไปมาพำนัก อยู่ในเมืองนี้อย่างเสรี บ้านเมืองและอาคารทางศาสนาที่ปรักหักพัง ต่างช่วยกันซ่อมแซม

ศอลาฮุดดีนยอมตามเงื่อนไขนี้ แต่สัญญาก็ไม่เป็นผลอีก เพราะพวกพระในศาสนาคริสต์ไม่ยอมให้พวกคริสเตียนยกลูกสาว น้องสาว หรือผู้หญิงฝ่ายตนไปแต่งงานกับมุสลิมผู้ที่พวกเขาถือว่าเป็น “พวกนอกศาสนา” พวกบาทหลวงได้ชุมนุมกันที่จะขับพระเจ้าริชาร์ดออกจากศาสนาคริสต์ให้ตกเป็นคน นอกศาสนาไปด้วย และได้ขู่เข็ญน้องสาวของพระองค์ต่าง ๆ นานา

กษัตริย์ริชาร์ดจึงได้เข้าพบสัยฟุดดีนอีก ขอให้เปลี่ยนจากการนับถืออิสลามมาเป็นคริสเตียน แต่สัยฟุดดีนปฏิเสธ ในขณะเดียวกันกษัตริย์ริชาร์ดเกิดการรำคาญการแทรกแซงของมาร์ควิสแห่งมองเฟอร์รัด จึงจ้างให้ชาวพื้นเมืองลอบฆ่า เมื่อเรื่องมาถึงเช่นนี้ กษัตริย์ริชาร์ดก็ท้อใจอยากยกทัพกลับบ้าน เพราะตีเอาเยรูซาเลมไม่ได้ ได้เสนอเงื่อนไขที่จะทำสัญญาสงบศึกกับศอลาฮุดดีนไม่ยอมต่อเงื่อนไขบางข้อ เพราะบางเมืองที่กล่าวนั้นมีความสำคัญต่อการป้องกันอาณาจักรอย่างยิ่ง ไม่สามารถปล่อยให้หลุดมือไปได้ แต่ความพยายามของนักรบทั้งสองนี้ยังคงมีต่อไป จนในที่สุดเมื่อวันที่ 2 กันยายน ค.ศ. 1192 (22 ชะอ์บาน ฮ.ศ. 588) ทั้งสองฝ่ายได้ทำสัญญาสงบศึกเป็นการถาวรและกษัตริย์ริชาร์ดได้ยกทัพกลับบ้านเมือง เขายกทัพผ่านทางตะวันออกของยุโรปโดยปลอมตัว แต่กลับถูกพวกเป็นคริสเตียนจับไว้ได้คุมขังไว้ ทางอังกฤษต้องส่งเงินจำนวนมากเพื่อไถ่ตัวเขา

สงครามครูเสดครั้งที่ 3 ก็ยุติลงเพียงนี้ ด้วยการสูญเสียชีวิตมนุษย์นับแสน ผู้คนนับล้านไร้ที่อยู่ บ้านเมืองถูกทำลาย หลังจากนั้นศอลาฮุดดีนได้ยกทหารกองเล็ก ๆ ไปตรวจตามเมืองชายฝั่ง และซ่อมแซมสถานที่ต่าง ๆ และได้กลับมาพักที่ดามัสคัสพร้อมครอบครัว จนกระทั่งท่านได้ถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ 4 มีนาคม ค.ศ. 1193 (27 เศาะฟัร ฮ.ศ. 589) มีอายุเพียง 55 ปี

ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. "crusades". Oxford English Dictionary (3rd ed.). Oxford University Press. กันยายน 2005.
  2. Tyerman 2019, p. 1.
  3. 3.0 3.1 Asbridge 2012, p. 40.
  4. Tyerman 2011, pp. 225–226.
  5. Constable 2001, pp. 1–22.
  6. Tyerman 2019, p. 5.
  7. "Outremer". Oxford English Dictionary (3rd ed.). Oxford University Press. กันยายน 2005.
  8. Tyerman 2011, p. 77.
  9. "jihad". Oxford English Dictionary (3rd ed.). Oxford University Press. กันยายน 2005.
  10. "Frank". Oxford English Dictionary (3rd ed.). Oxford University Press. กันยายน 2005.
  11. "Latin". Oxford English Dictionary (3rd ed.). Oxford University Press. กันยายน 2005.
  12. "Saracen". Oxford English Dictionary (3rd ed.). Oxford University Press. กันยายน 2005.
  13. Jotischky 2004, p. 141.
  14. Tyerman 2019, p. 105.
  15. Wickham 2009, p. 280
  16. Lock 2006, p. 4
  17. Hindley 2004, p. 14
  18. Pringle 1999, p. 157
  19. Findley 2005, p. 73
  20. Asbridge 2012, p. 28
  21. Bull 1999, pp. 18–19
  22. Mayer 1988, pp. 17–18
  23. Mayer 1988, pp. 2–3
  24. Rubenstein 2011, p. 18
  25. Cantor 1958, pp. 8–9
  26. Riley-Smith 2005, pp. 8–10
  27. Asbridge 2012, p. 27
  28. Hindley 2004, p. 15

บรรณานุกรม

แก้