สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ไทย)

องค์กรตำรวจของประเทศไทย
(เปลี่ยนทางจาก กรมตำรวจ)

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (อังกฤษ: Royal Thai Police) เป็นส่วนราชการที่อยู่ในบังคับบัญชาไม่สังกัดกระทรวงใดและขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทย[4] จัดตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2541 โดยเปลี่ยนจากกรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทย[5] ปัจจุบันสำนักงานตำรวจแห่งชาติอยู่ในบังคับบัญชาของ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
Royal Thai Police
เครื่องหมายราชการ
ตราอาร์ม
ธงประจำหน่วยงาน
อักษรย่อตร. / RTP
คำขวัญพิทักษ์สันติราษฎร์
ข้อมูลองค์กร
ก่อตั้ง13 ตุลาคม พ.ศ. 2403; 164 ปีก่อน (2403-10-13)
หน่วยงานก่อนหน้า
  • กองโปลิศ (POLIS) พ.ศ. 2403
  • กรมตำรวจภูธรและกรมพลตระเวน พ.ศ. 2458
  • กรมตำรวจ พ.ศ. 2475
เจ้าหน้าที่ประมาณ 230,000 นาย[1][2]
งบประมาณรายปี125,304,728,300 บาท
(พ.ศ. 2568)[3]
โครงสร้างเขตอำนาจ
หน่วยงานแห่งชาติประเทศไทย
เขตอำนาจในการปฏิบัติการประเทศไทย
แผนที่เขตอำนาจของ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
บัญญัติตราสาร
  • พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565
สำนักงานใหญ่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, ถนนพระรามที่ 1 แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร

ได้รับเลือกเป็นเจ้าหน้าที่รับผิดชอบ
ผู้บริหารหน่วยงาน
หน่วยงานปกครอง ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี
สำนักงาน
ส่วนภูมิภาค
9 v2/AIzaSyB41DRUbKWJHPxaFjMAwdrzWzbVKartNGg
เว็บไซต์
เว็บไซต์ของสำนักงาน
อาคารสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีผู้บังคับบัญชาสูงสุดคือ พลตำรวจเอก กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ โดยมีโฆษกประจำสำนักงานฯ คือ พลตำรวจโท อาชยน ไกรทอง

ประวัติ

ชื่อเรียกตำรวจในไทย

ในช่วงแรก ตำรวจเรียกโดยคำทับศัพท์ว่า โปลิศ มาจากคำภาษาอังกฤษว่า Police สำหรับเรียกหน่วยตำรวจที่จัดตั้งขึ้นอย่างเป็นระบบในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[6]

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งร้อยเอก แซมมวล โยเซฟ เบิร์ด เอมส์ (Capt. Samuel Joseph Bird Ames) เป็นผู้จัดตั้งกองโปลิศในปี พ.ศ. 2403 มีภารกิจในการรักษาความสงบภายในประเทศ แทนที่ตำแหน่งเดิมคือข้าหลวงกองจับ และกองตระเวนซ้ายขวา ซึ่งในช่วงเริ่มต้นได้มีการจ้างแขกมลายูและอินเดียมาเป็นตำรวจ เรียกว่ากองโปลิศคอนสเตเบิ้ล และค่อย ๆ เปลี่ยนมาใช้คนไทยในเวลาต่อมา[ต้องการอ้างอิง]

สำหรับอีกคำคือคำว่า พลตระเวน ซึ่งยังมีใช้งานปัจจุบันอยู่บนตราของตำรวจภูธร มาจากการแปลงคำเรียกตำรวจในภาษาอังกฤษ คำว่า COP ซึ่งย่อมาจาก Constable of Patrol แปลว่า ตำรวจลาดตระเวน หรือ พลตระเวน ซึ่งคำนี้ภายหลังใช้งานแทนชื่อเดิมเมื่อครั้งก่อตั้งคือกองโปลิศ และแบ่งออกเป็น 2 หน่วยตามหน้าที่ความรับผิดชอบ คือ กองพลตระเวน สังกัดกระทรวงนครบาล และกรมตำรวจภูธร สังกัดกระทรวงมหาดไทย[ต้องการอ้างอิง]

อีกคำที่เรียกตำรวจคือคำว่า หมาต๋า มาจากภาษาจีน ซึ่งแปลว่าตำรวจเช่นกัน โดยใช้เรียกโดยคนจีนในเกาะฮ่องกง และประเทศจีนทางตอนใต้ คำว่า มา หรือ หม่า แปลว่าชาวมุสลิม และคำว่า ต๋า หรือ ต๊า มาจากคำว่าตี โดยใช้เรียกชาวกุรข่าที่ทางการอังกฤษในยุคนั้นจ้างมาทำหน้าที่ตำรวจ จึงใช้เรียกชาวกุรข่าเหล่านั้นตามลักษณะและการทำหน้าที่[7]

ตำรวจก่อนปี พ.ศ. 2403

ตำรวจในยุคเริ่มต้นก่อนการจัดตั้งกองตำรวจสมัยใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 4 นั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัด โดยจากหลักฐานที่พบ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถปกครองในรูปแบบของจตุสดมภ์ ซึ่งกิจการตำรวจแบ่งออกเป็นตำรวจพระนครบาล และตำรวจภูธร สังกัดอยู่กับเวียง และตำรวจหลวงสังกัดวัง จากนั้นในปี พ.ศ. 1918 ได้โปรดเกล้าตราให้ตำแหน่งตำรวจเป็นตำแหน่งนายพลเรือนเช่นเดียวกับข้าราชการฝ่ายอื่น คนที่ทำหน้าที่ตำรวจต้องคัดเลือกจากผู้สืบเชื้อสายตระกูลที่ประกอบคุณงามความดี จนได้รับความไว้วางใจ ขึ้นตรงการบังคับบัญชาตรงกับพระมหากษัตริย์และปฏิบัติงานในขอบเขตจำกัด[6]

พ.ศ. 2403 - 2475 พัฒนากิจการตำรวจ

ในยุครัตนโกสินทร์ สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการตั้ง ข้าหลวงกองจับ ซึ่งมีภารกิจคล้ายกับตำรวจ เรียกอีกชื่อว่า ตำรวจหวาย แต่งกายด้วยชุดพลเรือนพร้อมกับมัดหวาย ช่วยเหลือตุลาการในการทำงานคล้ายคลึงกับตำรวจในลอนดอนที่ชื่อว่า โบสตรีทรันเนอร์ส (Bow Street Runners) ซึ่งข้าหลวงกองจับที่ตั้งขั้นมานั้นไม่สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งร้อยเอก แซมมวล โยเซฟ เบิร์ด เอมส์ (Capt. Samuel Joseph Bird Ames) มาจัดตั้งกองตำรวจในการรักษาความสงบเรียบร้อยตามแบบยุโรปในปี พ.ศ. 2403 และจัดตั้งกองโปลิศคอนสเตบิล[8]

ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กองโปลิศคอนสเตเบิลที่ก่อตั้งมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 นั้นยังมีกำลังพลไม่เพียงพอในการปฏิบัติงาน รวมถึงกำลังพลทั้งหมดยังคงเป็นชาวต่างชาติ ทำให้การสื่อสารระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับราษฎรในขณะนั้นยังเป็นปัญหาในการรักษาความสงบเรียบร้อย จึงได้ปรับปรุงกองตำรวจนั้นให้ทันสมัย ขยายพื้นที่ความรับผิดชอบไปทั่วทั้งมณฑลกรุงเทพ และพระราชทานนามว่า กองโปลิส และรับสมัครชาวไทยเข้าทำหน้าที่ตำรวจ และประกาศตรากฎหมายจำนวน 53 ข้อเพื่อกำหนดขอบเขตหน้าที่ รวมถึงกำหนดยศสำหรับสายการบังคับบัญชาตามรูปแบบของตะวันตก ประกอบไปด้วย[8]

  • อินสเปกเตอร์ เยเนราล (Inspector General)
  • ชิฟโปลิศ ออฟฟิเซอร์ ที่สอง (2nd Chief Police Officer)
  • สายัน เมเยอร์ (Sergent Major)
  • สายัน กอบปรัน (Sergent Corporal)
  • คอนสเตเบอ (Constable)

ภายหลังการตรากฎหมายดังกล่าว ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามใหม่ในปี พ.ศ. 2420 ว่า กองตะเวน ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์ (พระยศในเวลานั้น) เนื่องจากเคยเป็นทูตประจำประเทศอังกฤษ ทำให้มีความเข้าใจการปฏิบัติงานของตำรวจในอังกฤษจากการศึกษาดูงานมาช่วงดำรงตำแหน่ง โดยหลังจากได้รับตำแหน่ง ได้ปรับปรุงโครงสร้างการทำงานใหม่ให้มีความทันสมัย โดยแบ่งเป็น 2 หน่วยงานแยกจากกันอิสระ บังคับบัญชาโดยเจ้ากรม[8] คือ

  1. กองตระเวน ฝ่ายกองไต่สวนโทษหลวง (The Criminal Investigation Department) โดยยุบกองตระเวนซ้ายขวาเข้าด้วยกัน ตั้งเป็นกองตระเวนลับ เรียกอีกอย่างว่ากองตระเวนสอดแนม (Detective) ในทุก ๆ แขวง มีภารกิจในการพิจารณาไต่สวนความต่าง ๆ ชันสูตรพลิกศพ และการจับโจรผู้ราย
  2. กองตระเวน ฝ่ายกองรักษา (The Operation Department) โดยยุบรวมกองโปลิศน้ำและกองโบลิศบกเข้าด้วยกัน และแบ่งออกใหม่เป็น 2 หน่วย คือ กองตระเวนฝ่ายกองรักษากองชั้นใน มีภารกิจในการรักษาการณ์ตามท้องที่ต่าง ๆ ทุกแขวงในพระนคร และกองตระเวนฝ่ายกองรักษากองชั้นนอก มีหน้าที่รักษาการณ์ในท้องที่ลำคลองและทุ่งนาภายนอกเขตพระนคร

โดยมีการฝึกอบรมให้กับตำรวจใหม่เกี่ยวกับข้อกฎหมาย ข้อบังคับ และการฝึกระเบียบและอาวุธ ซึ่งมีอาวุธ 4 ชนิดคือ ปืนไรเฟิล ปืนสั้น ดาบ และกระบอง ห้ามใช้อาวุธในการจับผู้กระทำผิด นอกจากมีการต่อสู้ด้วยอาวุธ รวมถึงมีการกำหนดเครื่องแบบตามอย่างตำรวจประเทศอังกฤษ[8]

ต่อมาในปี พ.ศ. 2435 ได้มีการปฏิรูปการปกครองของแผ่นดินให้มีความทันสมัยตามแบบตะวันตก จึงมีการโปรดเกล้าฯ ตั้งกระทรวงตามรูปแบบใหม่ทั้งหมด 12 กระทรวง และมอบหมายให้เสนาบดีเป็นหัวหน้าในแต่ละกระทรวง โดยกรมกองตระเวนนั้นเป็นกรมใหญ่ จึงให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์ ซึ่งได้รับตำแหน่งเป็นเสนาบดีประจำกระทรวงนครบาลได้ดูแลไปก่อน พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์จึงได้กราบบังคมทูลให้ทรงว่าจ้างชาวต่างชาติที่มีประสบการณ์ในงานกองตระเวนมาดูแลกรมกองตระเวน จึงได้มีพระบรมราชานุญาตให้จ้าง มิสเตอร์เอ เย เอ ยาร์ดิน (อาร์เธอร์ จอห์น อเล็กซานเดอร์ ยาร์ดิน – Mr.Arthur John Alexander Jardine) ซึ่งเป็นข้าราชการประจำกองตระเวนอังกฤษในประเทศอินเดีย สังกัดกรมกองตระเวนเมืองพม่า ตำแหน่งเจ้ากรมแขวงผาปูน เมืองพม่า ซึ่งในขณะนั้นเป็นอาณานิคมของประเทศอังกฤษ ซึ่งรัฐบาลอังกฤษได้ยินยอมให้มีการยืมตัวเป็นระยะเวลา 9 ปี เพื่อมารับตำแหน่ง ผู้บังคับการกองตระเวน (Chief Commissioner) เพื่อมาบริหารกรมกองตระเวน ในวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2440[9]

จากนั้นมิสเตอร์ยาดินได้เสนอให้มีการปรับปรุงโครงสร้างการบริหารงานและบังคับบัญชาใหม่ โดยยุบรวมกองตระเวนต่าง ๆ และจัดลำดับขั้นการบังคับบัญชา ให้มีอธิบดี (Inspector General) รองอธิบดี (Deputy Inspector General) เจ้ากรมแขวง (Superintendents of Divisions) ปลัดกรม (Assistant Superintendents) และสารวัตรใหญ่ (Chief Inspectors) ให้มีการจัดตั้งกองตระเวนม้าโดยคัดเลือกพลตระเวนชาวอินเดียมาทำหน้าที่ และเปลี่นยแปลงสีของเครื่องแบบเป็นสีกากีตามแบบกองตระเวนอินเดีย เนื่องจากสีน้ำเงินเดิมเมื่อใช้งานในเขตร้อนเมื่อเวลาผ่านไปสีจะซีด จัดให้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้ายามประจำการมีนกหวีด จัดหากุญแจมือและโซ่ล่ามผู้ต้องหาในแต่ละโรงพัก รวมถึงกำหนดเงินเดือนที่เพียงพอเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงาน[9]

ต่อมาได้ปรับปรุงหน่วยกองตระเวนชั้นนอก เนื่องจากมีพื้นที่รับผิดชอบที่กว้างขวางมาก โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน โดยใช้แนวคลองแสนแสบและคลองภาษีเจริญเป็นเส้นแบ่งเขตแนวรับผิดชอบ ประกอบไปด้วย กองตระเวนชั้นนอก แขวงฝ่ายเหนือ และกองตระเวนชั้นนอก แขวงฝ่ายใต้[9]

ก่อนหน้านั้นในส่วนภูมิภาคไม่มีตำรวจเป็นของตนเอง หน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยจึงเป็นของเจ้าเมือง โดยมีกรมการเมือง นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นผู้ช่วยในการรักษาความสงบ และเมื่อเกินความสามารถก็มีการตั้งกองตระเวนเฉพาะกิจขึ้นมาเพื่อควบคุมสถานการณ์เหล่านั้นเป็นการชั่วคราวด้วยเงินภาษีของเมือง และเกณฑ์กำลังพลจากในเมืองเอง ในปี พ.ศ. 2440 หลังจากการยกฐานะกองตระเวนขึ้นเป็นหน่วยงานระดับกรมมาแล้ว 5 ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอลเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ให้มีการจัดตั้งกรมตำรวจภูธรขึ้น มอบหมายให้ ร้อยเอก ยี เชา (G. Schau) หรือหลวงศัลวิธานนิเทศ ซึ่งเป็นนายทหารจากกรมมหาดเล็กรักษาพระองค์ ทำหน้าที่เป็นเจ้ากรมตำรวจภูธร สังกัดกระทรวงมหาดไทยที่มีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ (ยศขณะนั้น) ดำรงตำแหน่งเสนาบดี[9]

สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. 2453 ได้มีการโปรดเกล้าฯ พระราชทานตราเครื่องหมายโล่กับดาบ เป็นเครื่องหมายประจำกรมพลตระเวน และในปี พ.ศ. 2454 ได้ทรงอนุญาตให้ใช้ ตราพระแสงดาบเขนและโล่ เพื่อประกอบที่บริเวณมุมธงประจำกรมตำรวจภูธร ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่ใช้งานมาจนถึงปัจจุบัน[10]

นอกจากนี้ สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ได้จัดตั้งกรมนักสืบขึ้นมา (C.I.D) และให้รวมเจ้าหน้าที่มาส่วนหนึ่งเพื่อจัดตั้งกรมที่ชื่อว่า ตำรวจภูบาล สังกัดกรมตำรวจภูธร มีภารกิจในการช่วยเหลือตำรวจท้องที่สืบสวนปราบปรามความไม่สงบและงานในสายวิทยาการ[11] ต่อมาเนื่องจากงบประมาณและการบังคับบัญชาที่แยกออกจากกัน ทำให้การบริหารจัดการกิจการตำรวจเกิดความยากลำบาก จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ยุบรวมกรมตำรวจภูธรและกรมกองตระเวนเข้าด้วยกัน แล้วเรียกว่า กรมตำรวจภูธรและกรมพลตระเวน[11] ในวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2458[11] และมอบหมายให้ พลโท พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าคำรบ ดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดี และให้ขึ้นตรงต่อกระทรวงนครบาล ที่ดูแลโดยเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ที่เป็นเสนาบดี[12] และในช่วงปลายปีได้เปลี่ยนแปลงชื่อเป็น กรมตำรวจภูธรและกรมตำรวจนครบาล[13]

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการรื้อฟื้นตำรวจภูบาลอีกครั้งหลังจากสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ กลับเข้ามารับตำแหน่งทางการเมืองในฐานะอภิรัฐมนตรี เพื่อปฏิบัติการอีกครั้ง โดยเป็นหน่วยที่ปฏิบัติงานด้านการข่าวในทางการเมือง ซึ่งในขณะนั้นมีข่าวเกี่ยวกับการเรียกร้องประชาธิปไตยของกลุ่มบอลเชวิคในรัสเซียช่วงปี พ.ศ. 2460 ทำให้มีความกังวลว่าจะมีการเคลื่อนไหวดังกล่าวในประเทศไทย[11]

ต่อมาในปี พ.ศ. 2465 ได้โปรดเกล้าฯ ให้ยุบรวมกระทรวงนครบาลกับกระทรวงมหาดไทยเข้าด้วยกัน เหลือเพียงกระทรวงมหาดไทย กรมตำรวจภูธรและกรมตำรวจนครบาล จึงได้ย้ายมาสังกัดต่อกระทรวงมหาดไทย จากนั้นในปี พ.ศ. 2469 ได้เปลี่ยนชื่อ กรมตำรวจภูธรและกรมตำรวจนครบาล เป็น กรมตำรวจภูธร[14] โดยยังแบ่งโครงสร้างภายในเป็น 2 ส่วนเช่นเดิม คือตำรวจภูธร และตำรวจนครบาล[13]

พ.ศ. 2475 - 2541 กรมตำรวจ

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 คณะกรรมการราษฎรได้มีการเสนอญัตติให้สภาผู้แทนราษฎร ได้พิจารณาการจัดวางโครงการกรมตำรวจในวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2475 แถลงญัตติโดย พระยามานวราชเสวี (ปลอด วิเชียร ณ สงขลา) ภายหลังการประชุม ในวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2475 ได้มีการประกาศพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อ กรมตำรวจภูธร เป็น กรมตำรวจ[11] โดยมีตำแหน่งอธิบดี และมีรองอธิบดีเป็นผู้ช่วย และแบ่งโครงสร้างในขณะนั้นออกเป็น 4 ส่วนด้วยกันคือ

  1. กองกำกับการ
  2. ตำรวจนครบาล
  3. ตำรวจภูธร
  4. ตำรวจสันติบาล สนับสนุนการทำงานของตำรวจนครบาลและภูธร โดยตำรวจสันติบาลนี้เองมีภารกิจและหน้าที่เช่นเดียวกับตำรวจภูบาลในช่วงก่อนหน้า[11]

ในทางการเมืองขณะนั้น ตำรวจไม่ได้มีบทบาทใดเลยในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยเริ่มกลับมามีบทบาทอีกครั้ง หลังการรัฐประหารโดย พลตรี เผ่า ศรียานนท์ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 และได้โอนจากทหารเข้ามาคุมกรมตำรวจ ได้รับยศพลตำรวจเอก และพัฒนากรมตำรวจอย่างก้าวกระโดดจนเทียบเท่าเหล่าทัพหนึ่งในขณะนั้น[15][16] ซึ่ง พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ ได้มีประโยคที่สร้างการจดจำภาพลักษณ์ของตำรวจมาจนถึงทุกวันนี้คือ

ภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ ไม่มีสิ่งใดที่ตำรวจไทยทำไม่ได้ ในทางที่ไม่ขัดศีลธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม และกฎหมายบ้านเมือง[16]

 
ตำรวจไทยยุค 70's

หลังจากนั้นตำรวจได้กลายเป็นเหมือนเครื่องมือทางการเมืองชิ้นหนึ่งของผู้มีอำนาจ ในการใช้แสวงหาและใช้ในการรักษาฐานอำนาจ โดยฝ่ายการเมืองนั้นสามารถที่จะควบคุมการทำงานของตำรวจผ่านการควบคุมผู้นำองค์กรและแทรกแซงการบริหารงานบุคคลของเจ้าหน้าที่ตำรวจมาโดยตลอด ทั้งจากฝั่งของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง และนายทหารที่มาจากการรัฐประหาร[17]

พ.ศ. 2541 - ปัจจุบัน

ในวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2541 กรมตำรวจ สังกัดกระทรวงมหาดไทย ได้ถ่ายโอนไปขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี และเปลี่ยนชื่อเป็น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ[18] โดยหลังการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ได้มีการกราบทูลเชิญสมเด็จพระสังฆราชฯ เป็นประธานในการทำพิธีเจิมป้ายชื่อใหม่ โดยมี พลตำรวจเอก ประชา พรหมนอก ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนแรกเข้าร่วมในพิธีดังกล่าวด้วย[19]

ปัจจุบันสำนักงานตำรวจแห่งชาติแบ่งโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 พระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2552 และกฎกระทรวง แบ่งส่วนราชการเป็นกองบังคับการหรือส่วนราชการอย่างอื่นในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2552 โดยมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงและแก้ไขเพิ่มเติมอยู่ตลอด เพื่อประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ[ต้องการอ้างอิง]

สถานภาพหน่วยงาน พันธกิจ ภารกิจและอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย

สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นส่วนราชการระดับกรมมีฐานะเป็นนิติบุคคลขึ้นการบังคับบัญชาโดยตรงต่อนายกรัฐมนตรี โดยไม่อยู่ในสังกัดกระทรวงใด ๆ หรือสำนักนายกรัฐมนตรี มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

  1. รักษาความปลอดภัยต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะ
  2. ดูแลควบคุมและกำกับการปฏิบัติงานของข้าราชการตำรวจซึ่งปฏิบัติการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
  3. ป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดทางอาญา
  4. รักษาความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยของประชาชน และความมั่นคงของราชอาณาจักร
  5. ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของข้าราชการตำรวจหรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
  6. ช่วยเหลือการพัฒนาประเทศ ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย
  7. ปฏิบัติการอื่นใดเพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้การปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่ ตามข้อ 1, 2, 3, 4 หรือ 5 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ตามที่กำหนดไว้ในบทบัญญัติ มาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547[20]

หน่วยงานในสังกัดตำรวจ

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แบ่งหน่วยงานในสังกัดตามรูปแบบการปฏิบัติงาน[21] ประกอบไปด้วย

ส่วนบังคับบัญชา

  • สำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ (สยศ.ตร.)
  • สำนักงานส่งกำลังบำรุง (สกบ.)
  • สำนักงานกำลังพล (สกพ.)
  • สำนักงานงบประมาณและการเงิน (สงป.)
  • สำนักงานกฎหมายและคดี (กมค.)
  • สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (สง.ก.ตร.)
  • สำนักงานจเรตำรวจ (จต.)
  • สำนักงานตรวจสอบภายใน (สตส.)
  • สำนักงานเลขานุการตำรวจแห่งชาติ (สลก.ตร.)
  • กองการต่างประเทศ (ตท.)
  • กองสารนิเทศ (สท.)
  • สำนักงานคณะกรรมการนโนบายตำรวจแห่งชาติ (สง.ก.ต.ช.)
  • กองบินตำรวจ (บ.ตร.)
  • กองวินัย (วน.)
  • สถาบันฝึกอบรมระหว่างประเทศว่าด้วยการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย (ILEA)[22]

ส่วนป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม

  • กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ตั้งอยู่ถนนศรีอยุธยา แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร
  • ตำรวจภูธรภาค 1 (ภ.1) ตั้งอยู่ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร
  • ตำรวจภูธรภาค 2 (ภ.2) ตั้งอยู่ตำบลหนองข้างคอก อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี
  • ตำรวจภูธรภาค 3 (ภ.3) ตั้งอยู่ถนนสรรพสิทธิ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา
  • ตำรวจภูธรภาค 4 (ภ.4) ตั้งอยู่ถนนหน้าเมือง ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น
  • ตำรวจภูธรภาค 5 (ภ.5) ตั้งอยู่ถนนมหิดล ตำบลหนองหอย อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
  • ตำรวจภูธรภาค 6 (ภ.6) ตั้งอยู่ตำบลมะตูม อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก
  • ตำรวจภูธรภาค 7 (ภ.7) ตั้งอยู่ถนนข้างวัง ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม
  • ตำรวจภูธรภาค 8 (ภ.8) ตั้งอยู่ที่ถนนเทพกระษัตรี ตำบลไม้ขาว อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต
  • ตำรวจภูธรภาค 9 (ภ.9) ตั้งอยู่ตำบลฉลุง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

ส่วนสนับสนุนการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม

ส่วนการศึกษา

ส่วนบริการ

หน่วยงานอื่น ๆ

  • โรงพิมพ์ตำรวจ
  • กองทุนเพื่อการสืบสวนและการสอบสวนคดีอาญา
  • ศูนย์บริการข้อมูลคนหายและศพนิรนาม
  • ศูนย์ปราบปรามคนร้ายข้ามชาติและเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย[24]
  • สายด่วนรถหาย
  • ศูนย์ติดตามสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5
  • ศูนย์รักษาความปลอดภัย และความสงบเรียบร้อยการจัดการเลือกตั้ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศลต.ตร.)
  • ศูนย์ปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

เครื่องแบบ

เครื่องแบบของตำรวจไทย ได้รับอิทธิพลมาจากประเทศอังกฤษ[6] โดยในช่วงแรกตำรวจไทยแต่งกายด้วยเสื้อสีน้ำเงิน กางเกงตามสมัย และสวมหมวกยอด (Helmet) ต่อมาจึงได้เปลี่ยนเป็นสีกากีตามความต้องการของ มิสเตอร์เอ เย เอ ยาร์ดิน ผู้บัญชาการตำรวจคนแรกของไทย เนื่องจากสีน้ำเงินเมื่อใช้นานไปสีจะซีด ทำให้มีโทนสีที่ไม่สม่ำเสมอกัน[9]

ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการพระราชทานสีของเครื่องแบบใหม่ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือสี สนว.01 เนื่องจากสีกากีเดิมที่ใช้งานอยู่มีหลายเฉดสี ไม่มีสีมาตรฐาน โดย พลตำรวจเอก จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในขณะนั้นได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเปลี่ยนแปลงเครื่องแบบในการปฏิบัติงานให้เป็นสีดังกล่าวภายในระยะเวลา 3 เดือน[25] และเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกนายต้องตัดผมสั้นเกรียน โดยเรียกกันอย่างลำลองว่า ต้องขาวสามด้าน[26] เพื่อความมีระเบียบวินัยของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

นอกจากนี้ยังมีแนวคิดในการเปลี่ยนแปลงเครื่องแบบสำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายป้องกันปราบปราม[27] เพื่อความคล่องแคล่วในการปฏิบัติงาน โดยเปลี่ยนเครื่องหมายเป็นผ้า จากเดิมเป็นโลหะ และเปลี่ยนเนื้อผ้าให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อความคล่องตัวและประสิทธิภาพในการป้องกันปรามปรามอาชญากรรม[28] โดยเริ่มนำร่องใช้งานในพื้นที่กองบัญชาการตำรวจนครบาลเป็นพื้นที่แรก

พาหนะ

พาหนะของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประกอบด้วยพาหนะที่หลากหลาย ทั้งรถยนต์ รถจักรยานยน อากาศยานปีกหมุนและปีกตรึง รวมถึงเรือตรวจการณ์ ตามภารกิจและหน้าที่ของตำรวจหน่วยนั้น โดยใช้สีพื้นฐานของพาหนะเป็นสีเลือดหมู ซึ่งเป็นสีประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติประดับอยู่บนยานพาหนะ

ในอดีตรถตำรวจท้องที่จะเป็นรถสีเลือดหมูในพื้นที่ตำรวจภูธร และสีดำในพื้นที่ตำรวจนครบาล แล้วคาดสีขาวในช่วงกลางของรถ แต่ปัจจุบันรถตำรวจท้องที่จะใช้สีเดิมของรถ (ส่วนใหญ่สีบรอนซ์เงิน) และคาดแถบสีแดงเลือดหมูขอบดำบนแนวยาวของรถ พร้อมอักษรบอกสังกัดตอนท้ายของรถ[29] สำหรับรถยนต์นั้นปัจจุบันสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีการใช้งานทั้งในรูปแบบของการซื้อขาดเป็นทรัพย์สินของทางราชการ[30] และในรูปแบบของการเช่าใช้งานโดยกำหนดระยะเวลา[31]

อาวุธปืน

สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีปืนประจำกายไว้ให้ตำรวจใช้งาน[32] แต่ปืนเหล่านั้นมีจำนวนไม่เพียงพอต่ออัตราและความต้องการใช้งานของเจ้าหน้าที่[33] รวมถึงมีความล้าสมัย และระเบียบที่ยุ่งยากในการดูแลรักษา ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจส่วนใหญ่มักซื้ออาวุธปืนประจำกายใช้เอง ผ่านโครงการจำหน่ายปืนสวัสดิการข้าราชการตำรวจซึ่งมีราคาต่ำกว่าท้องตลาด[33] ซึ่งถึงแม้ว่าปืนประจำกายในโครงการดังกล่าวจะมีราคาต่ำกว่าท้องตลาด แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจหลายนายยังคงต้องกู้เงินจากสหกรณ์ออมทรัพย์มาเพื่อซื้อปืนประจำกาย และผ่อนชำระเอากับสหกรณ์ในภายหลัง[34]

สำหรับอาวุธปืนประเภทอื่น ๆ สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีการจัดหาไว้ประจำการสำหรับใช้งานในสถานการณ์ต่าง ๆ ตามความจำเป็นของแต่ละหน่วย โดยในระหว่างปี พ.ศ. 2558 - 2564 สัดส่วนการจัดหาอาวุธของกองสรรพาวุธ สำนักส่งกำลังบำรุง มีอัตราการจัดหาอาวุธสูงสุดคือ ปืนลูกซอง ปืนพก ปืนเล็กยาว และประเภทปืนที่ได้รับงบประมาณสูงที่สุดคือ ปืนเล็กยาว ปืนลูกซอง ปืนกลมือ[35] โดยอาวุธปืนพื้นฐานสำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่ในอดีตคือ ปลย.11[36] ปัจจุบันได้มีการจัดหาอาวุธปืนเล็กสั้นแบบ เอ็ม 4[37][38] ให้ตำรวจท้องที่ได้ใช้งานตามสถานการณ์และความจำเป็นต่าง ๆ และอาวุธปืนกลมือและปืนเล็กยาวจู่โจมสำหรับหน่วยปฏิบัติการพิเศษต่าง ๆ[39]

นอกจากนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้จัดหาอาวุธปืนชนิดพิเศษต่าง ๆ สำหรับใช้ในการรักษาความสงบ อาทิ ปืนควบคุมฝูงชนแบบ FN 303[40] ในกองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน ปืนช็อตไฟฟ้า[41][42] สำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจสายตรวจในการระงับเหตุต่าง ๆ[40]

ภาพ แบบ ชนิด ขนาดลำกล้อง ที่มา หมายเหตุ
ปืนพก
 
เอ็ม 1911 ปืนพกกึ่งอัตโนมัติ .45 เอซีพี   สหรัฐ  ไทย ปืนพกเอ็ม1911เอ1 ของไทยผลิตภายใต้ใบอนุญาต ในประเทศนี้รู้จักในฐานะปืนพก แบบ 86 (ปพ.86)
 
เฮคเลอร์แอนด์คอช ยูเอสพี ปืนพกกึ่งอัตโนมัติ .45 เอซีพี   เยอรมนี ใช้ในหน่วยปฏิบัติการพิเศษอรินทราช 26 และหน่วยปฏิบัติการพิเศษนเรศวร 261
 
เอชเอส 2000 ปืนพกกึ่งอัตโนมัติ 9×19 มม. พาราเบลลัม   โครเอเชีย ใช้ในหน่วยปฏิบัติการพิเศษอรินทราช 26 และหน่วยปฏิบัติการพิเศษนเรศวร 261[43]
 
ซีแซด 75 ปืนพกกึ่งอัตโนมัติ 9×19 มม. พาราเบลลัม   สาธารณรัฐเช็ก
 
เบเรตตา 92 ปืนพกกึ่งอัตโนมัติ 9×19 มม. พาราเบลลัม   อิตาลี ใช้ในตำรวจนครบาลและตำรวจจราจร
 
เบเรตตา เอ็มเม1951 ปืนพกกึ่งอัตโนมัติ 9×19 มม. พาราเบลลัม   อิตาลี
 
เบเรตตา ปีx4 สตอร์ม ปืนพกกึ่งอัตโนมัติ 9×19 มม. พาราเบลลัม   อิตาลี ใช้ในหน่วยปฏิบัติการพิเศษอรินทราช 26 และหน่วยปฏิบัติการพิเศษนเรศวร 261
 
บราวนิง ไฮ-พาวเวอร์[44] ปืนพกกึ่งอัตโนมัติ 9×19 มม. พาราเบลลัม   เบลเยียม
 
ซิก ซาวเออร์ พี 226[45] ปืนพกกึ่งอัตโนมัติ 9×19 มม. พาราเบลลัม   เยอรมนี ใช้ในหน่วยปฏิบัติการพิเศษอรินทราช 26 และหน่วยปฏิบัติการพิเศษนเรศวร 261
 
ซิก ซาวเออร์ เพ320เอสเพ ปืนพกกึ่งอัตโนมัติ 9×19 มม. พาราเบลลัม   เยอรมนี ปืนพกหลักมาตรฐาน
 
กล็อก 17[46] ปืนพกกึ่งอัตโนมัติ 9×19 มม. พาราเบลลัม   ออสเตรีย ใช้ในหน่วยปฏิบัติการพิเศษอรินทราช 26 และหน่วยปฏิบัติการพิเศษนเรศวร 261
 
แอฟแอ็น ไฟฟ์-เซเวน ปืนพกกึ่งอัตโนมัติ แอฟแอ็น 5.7×28 มม.   เบลเยียม
ปืนลูกซอง
 
เรมิงตัน โมเดล 870 ปืนลูกซอง 12 เกจ   สหรัฐ ใช้ในหน่วยปฏิบัติการพิเศษอรินทราช 26 และหน่วยปฏิบัติการพิเศษนเรศวร 261
 
มอสเบิร์ก 500 ปืนลูกซอง 12 เกจ   สหรัฐ
 
ฟรันกี เอ็สเซปีอาเอ็สเซ-12 ปืนลูกซอง 12 เกจ   อิตาลี ใช้ในหน่วยปฏิบัติการพิเศษอรินทราช 26 และหน่วยปฏิบัติการพิเศษนเรศวร 261
ปืนกลมือ
 
เฮคแลร์อุนด์คอค เอ็มเพ5 ปืนกลมือ 9×19 มม. พาราเบลลัม   เยอรมนี ปัจจุบันถูกลดสถานะเป็นอาวุธสำรองราชการของหน่วยปฏิบัติการพิเศษอรินทราช 26 และหน่วยปฏิบัติการพิเศษนเรศวร 261 และถูกแทนที่โดย ซิก ซาวเออร์ เอ็มพีเอกซ์ เนื่องจากการบำรุงรักษาที่มีประสิทธิภาพในการปฏิบัติการ และลดภาระในการบำรุงรักษา
 
เฮ็คเลอร์อุนท์ค็อค อูเอ็มเพ ปืนกลมือ 9×19 มม. พาราเบลลัม   เยอรมนี ใช้ในหน่วยปฏิบัติการพิเศษอรินทราช 26 และหน่วยปฏิบัติการพิเศษนเรศวร 261
 
เฮคแลร์อุนด์คอค เอ็มเพ7 ปืนกลมือ ฮาคา 4.6×30 มม.   เยอรมนี ใช้ในหน่วยปฏิบัติการพิเศษอรินทราช 26 และหน่วยปฏิบัติการพิเศษนเรศวร 261
ซิก ซาวเออร์ เอ็มพีเอกซ์ ปืนกลมือ 9×19 มม. พาราเบลลัม   สหรัฐ  เยอรมนี ปืนกลมือหลักมาตรฐานของหน่วยปฏิบัติการพิเศษของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
 
เอฟเอ็น พี90 ปืนกลมือ 5.7x28 มม.   เบลเยียม ปืนกลมือเอฟเอ็น พี90 ใช้ในหน่วยปฏิบัติการพิเศษอรินทราช 26 และหน่วยปฏิบัติการพิเศษนเรศวร 261
 
อูซี ปืนกลมือ 9×19 มม. พาราเบลลัม   อิสราเอล ใช้ในตำรวจสันติบาล
 
คริสเวกเตอร์ ปืนกลมือ 9×19 มม. พาราเบลลัม   สหรัฐ ใช้ในหน่วยปฏิบัติการพิเศษอรินทราช 26 และหน่วยปฏิบัติการพิเศษนเรศวร 261
ซีแซด สกอร์เปียน อีโว 3 ปืนกลมือ 9×19 มม. พาราเบลลัม   เช็กเกีย ปืนกลมือหลักมาตรฐาน
ปืนเล็กยาวจู่โจม
 
เอ็ม 16 ปืนเล็กยาวจู่โจม 5.56×45 มม. นาโต   สหรัฐ ใช้ในตำรวจตระเวนชายแดนเป็นหลัก และใช้งานโดยตำรวจท้องที่บางส่วน
 
เอ็ม 4 คาร์ไบน์ ปืนเล็กสั้นจู่โจม 5.56×45 มม. นาโต   สหรัฐ รุ่นยิง 3 นัดส่วนใหญ่มักจะใช้ตำรวจท้องที่เป็นหลักโดยมีตราสำนักงานตำรวจแห่งชาติประทับไว้บนด้านขวาของโครงปืนส่วนล่างเพื่อป้องกันการโจรกรรม แต่อย่างไรก็ตามยังมีรุ่น 3 นัดยังมีใช้บางส่วนในหน่วยปฏิบัติการพิเศษอรินทราช 26 และหน่วยปฏิบัติการพิเศษนเรศวร 261 อยู่บ้างซึ่งส่วนใหญ่แล้วอรินทราช 26 และ นเรศวร 261 จะใช้ เอ 1 เป็นหลัก
แอฟแอ็น แอฟอาแอล ปืนเล็กกล และปืนเล็กยาว 7.62×51 มม. นาโต   เบลเยียม แต่ยังมีใช้งานบางส่วนของตำรวจตระเวนชายแดนและตำรวจท้องที่ และมีชื่อราชการ คือ ปลย./ปลก. 05
 
แอฟแอ็น ซีอาแอล ปืนเล็กกล และปืนเล็กยาว 5.56×45 มม. นาโต   เบลเยียม แต่ยังมีใช้งานบางส่วนของตำรวจตระเวนชายแดนและตำรวจท้องที่ และมีชื่อราชการ คือ ปลย./ปลก. 14
 
เฮคเลอร์แอนด์คอช เอชเค 33 ปืนเล็กยาวจู่โจม 5.56×45 มม. นาโต   เยอรมนี ส่วนใหญ่ปลดประจำการแล้วปัจจุบันใช้เป็นปืนในพิธีทบทวนคำปฏิญาณและสวนสนามในวันตำรวจ และยังมีใช้อยู่ในบางหน่วยอยู่บ้าง
 G36C

 G36K

เฮคเลอร์แอนด์คอช จี 36
  • รุ่น C ปืนเล็กสั้นจู่โจม
  • รุ่น K ปืนเล็กยาวจู่โจม
5.56×45 มม. นาโต   เยอรมนี ใช้ในหน่วยปฏิบัติการพิเศษนเรศวร 261
 
เบเร็ตตา เออาร์เอ็ก 160 ปืนเล็กสั้นจู่โจม 5.56×45 มม. นาโต   อิตาลี ใช้ในหน่วยปฏิบัติการพิเศษอรินทราช 26
ปืนปราบจลาจล
 
เอฟเอ็น 303 ปืนปราบจลาจล 17.3 มม. (0.68 นิ้ว)   เบลเยียม ใช้ในกองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน
ปืนช็อตไฟฟ้า
ไททั่น 86 อาวุธช็อกไฟฟ้า   ไต้หวัน ใช้ในกองบังคับการปฏิบัติการพิเศษ[47]
เทเซอร์ เอกซ์ 2 อาวุธช็อกไฟฟ้า   สหรัฐ ใช้ในการระงับเหตุในตำรวจท้องที่[42]

วันตำรวจ

วันตำรวจ
 
พิธีถวายคำสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามเนื่องในวันตำรวจ
จัดขึ้นโดยไทย
ความสำคัญวันตั้ง "กรมตำรวจ"
การถือปฏิบัติ
  • การเชิญธงชัยประจำหน่วยตำรวจต่าง ๆ
  • การเดินสวนสนาม
วันที่17 ตุลาคม
ความถี่ทุกปี

วันตำรวจ เดิมตรงกับวันที่ 13 ตุลาคมของทุกปี เนื่องจากวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2458 เป็นวันประกาศรวม "กรมพลตระเวน" กับ "กรมตำรวจภูธร" เป็นกรมเดียวกัน เรียกว่า "กรมตำรวจ" จึงถือเอาวันที่ 13 ตุลาคมของทุกปี[11] ในปี พ.ศ. 2494 พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจในขณะนั้นได้จัดให้มีพิธีเดินสวนสนาม[15] และปฏิบัติต่อเนื่องมาจนถึง พ.ศ. 2500 หลังจากนั้นได้ระงับการจัดพิธีเดินสวนสนามที่เป็นการรวมหน่วยทุกหน่วยของตำรวจ ประกอบแต่พิธีทางศาสนาและกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์เพียงอย่างเดียว

ต่อมา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้อนุมัติหลักการให้มีการจัดพิธีกล่าวคำสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามเนื่องในวันตำรวจ ณ ลานฝึกศรียานนท์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ โดยการสนธิกำลังนักเรียนนายร้อยตำรวจร่วมกับข้าราชการตำรวจจากกองบัญชาการต่าง ๆ ในทุก ๆ ปี ทั้งนี้โดยเชิญธงชัยประจำหน่วยตำรวจเข้าร่วมในพิธีจำนวน 6 ธง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน[48][49] รวมถึงได้มีการจัดการสวนสนามของตำรวจในจังหวัดต่าง ๆ ในวันนี้ด้วย[50]

ต่อมาในปี พ.ศ. 2560 มีการเปลี่ยนแปลงวันตำรวจเป็นวันที่ 17 ตุลาคมของทุกปี โดยยึดตามวันที่มีการเปลี่ยนแปลงจากกรมตำรวจเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งตรงกับวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2541[51][52]

และอันเนื่องมาจากวันที่ 13 ตุลาคม ตรงกับวันนวมินทรมหาราช อันตรงกับวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

  1. The partisan history of police power in Thailand https://www.newmandala.org/the-partisan-history-of-police-power-in-thailand/
  2. POLICE IN THAILAND https://factsanddetails.com/southeast-asia/Thailand/sub5_8f/entry-3283.html
  3. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๘, เล่ม ๑๔๑ ตอนที่ ๕๙ ก หน้า ๘๒, ๓๐ กันยายน ๒๕๖๗
  4. "พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-11-12. สืบค้นเมื่อ 2018-01-15.
  5. พระราชกฤษฎีกาโอนกรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทยไปจัดตั้งเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๑
  6. 6.0 6.1 6.2 ศิลปวัฒนธรรม (2021-08-25). "ตำรวจคนแรกในไทย (สมัยรัตนโกสินทร์) ตร.ยุคต้นโดนชาวบ้านล้อ-แกล้ง ก่อนเป็นกิจการเต็มสูบ". ศิลปวัฒนธรรม.
  7. "ขอติง"รองฯปุระชัย"นิยาม"หมาต๋า"เพี้ยน!". mgronline.com. 2004-11-23.
  8. 8.0 8.1 8.2 8.3 มติชนสุดสัปดาห์ (2021-04-02). "การรักษาความสงบเรียบร้อย ในรัชสมัย รัชกาลที่ 5 / บทความพิเศษ "นอกเครื่องแบบ"". มติชนสุดสัปดาห์.
  9. 9.0 9.1 9.2 9.3 9.4 มติชนสุดสัปดาห์ (2021-04-09). "การเดินทางของตำรวจไทย (6) กองตระเวน ภายใต้การควบคุมของมิสเตอร์ยาร์ดิน / บทความพิเศษ "นอกเครื่องแบบ"". มติชนสุดสัปดาห์.
  10. "ร.๕ มหากษัตริย์ผู้สร้าง'ปึกแผ่น' แก่ตำรวจไทย ตอน ๔". dailynews. 2016-12-11.
  11. 11.0 11.1 11.2 11.3 11.4 11.5 11.6 Silpa-1 (2022-03-06). "เบื้องหลังคณะราษฎรตั้ง "ตำรวจสันติบาล" และบทบาทตร.สาขาพิเศษในการเมืองหลัง 2475". ศิลปวัฒนธรรม.
  12. มติชนสุดสัปดาห์ (2021-04-14). "การเดินทางของตำรวจไทย / บทความพิเศษ "นอกเครื่องแบบ"". มติชนสุดสัปดาห์.
  13. 13.0 13.1 "ตำรวจที่อยากรู้จัก". www.thairath.co.th. 2021-08-30.
  14. "ยินดีต้อนรับสู่ ห้องสมุด กศน. อำเภอฝาง". cmi.nfe.go.th.
  15. 15.0 15.1 แจ๊ค (2022-02-09). "อนุสาวรีย์ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์".
  16. 16.0 16.1 "ตำรวจคือฐานอำนาจสำคัญ ทหารจึงไม่อยากปฏิรูป". สยามรัฐ. 2021-09-05. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-06-26. สืบค้นเมื่อ 2022-05-17.
  17. "เปิดแฟ้มปฏิรูป 'ตำรวจไทย' ภายใต้ 2 ทศวรรษแห่งความยุ่งเหยิง". www.tcijthai.com (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  18. "17 ตุลาคม วันตำรวจ". THE STANDARD. 2020-10-16.
  19. "เปิดประวัติป้ายชื่อ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ความภาคภูมิใจ-เกียรติภูมิองค์กร (ชมคลิป)". www.thairath.co.th. 2014-01-30.
  20. ราชกิจจานุเบกษา. พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 เก็บถาวร 2022-06-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เล่ม 121 ตอนที่ 18 ก วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2547, หน้า 1-46
  21. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ - หน่วยงานในสังกัด (royalthaipolice.go.th)
  22. "สถาบันฝึกอบรมระหว่างประเทศว่าด้วยการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย กรุงเทพฯ (ILEA Bangkok) จัดการประชุมประจำปีคณะกรรมการร่วมสหรัฐอเมริกา-ไทย". สถานทูตสหรัฐฯและสถานกงสุลในประเทศไทย. 2017-05-31.
  23. "กองบัญชาการตำรวจไซเบอร์ แยกหน่วยใหม่อีก 3 ด.เสร็จ ตร. 1,700 นายกระจายทั่วประเทศ". workpointTODAY.
  24. "ศูนย์ปราบปรามคนร้ายข้ามชาติ รวบ 2 แก๊งต่างชาติรัสเซีย-จีน". mgronline.com. 2021-03-22.
  25. "ผบ.ตร.โชว์เครื่องแบบใหม่ "สีสนว.01" สั่งตร.ทั่วประเทศเปลี่ยนใน 3 เดือน". workpointTODAY.
  26. ""ขาวสามด้าน" ทรงเก่ามาเล่าใหม่". BBC News ไทย. สืบค้นเมื่อ 2022-05-17.
  27. "โฆษก ตร.เผยเครื่องแบบสนามใหม่ สายปราบปราม คล่องตัว ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ". www.thairath.co.th. 2021-12-28.
  28. matichon (2021-12-28). "เปิดภาพ "เครื่องแบบสนาม" ใหม่ เพื่อตำรวจสายงานป้องกันปราบปราม คล่องตัว-ปลอดภัย-เพิ่มประสิทธิภาพ". มติชนออนไลน์.
  29. หมดยุคขาวหัวแดง รถตำรวจยุคใหม่สีบรอนด์เทาคาดแถบแดงเลือดหมูแล้วน่ะ (gimyong.com)
  30. "Mitsubishi Triton ถูกใช้เป็นรถตำรวจตชด. คันละเกือบล้านบาท จะคุ้มค่าเงินภาษีหรือไม่ มาดูสเปครายละเอียดกัน". chobrod.com - ตลาดซื้อขายรถยนต์ทั้งรถมือสองรถใหม่ใหญ่ที่สุดในไทย.
  31. Homruen, Nathakorn. "สรุปประเด็น ตำรวจไทยเช่า Tesla Model 3 คันละ 12 ล้าน โดนติงว่าแพงกว่าปกติ 3 เท่า!? | MagCarZine.com | ข่าวสารยานยนต์ ให้คุณรู้จริงก่อนใคร" (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-06-29. สืบค้นเมื่อ 2022-05-18.
  32. "ผบ.ตร.สั่งสอบปืนหลวง พบจำนำร้านปืนออนไลน์". สยามรัฐ. 2021-06-14.
  33. 33.0 33.1 "ทำไมตำรวจไทยต้องซื้ออาวุธปืนใช้เอง". THE STANDARD. 2017-12-22.
  34. "ประกาศ เรื่อง เงินกู้สามัญเพื่อซื้ออาวุธปืนโครงการจัดหาอาวุธปืนพกประจำกาย ซิก ซาวเออร์ โมเดิล พี 320 เอสพี เพื่อเป็นสวัสดิการแก่ข้าราชการตำรวจ และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้". skpcoop.org.
  35. "ย้อนดูการจัดซื้ออาวุธของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ". Thai PBS. 2021-08-20.
  36. "อึ้ง! ปืนโรงพักเสาหินหายจากคลัง สภ.แม่สะเรียง 31 กระบอก ตำรวจดอดส่งจำนำชายแดนไทย-พม่า". mgronline.com. 2021-02-25.
  37. "ปลส.เอ็ม 4". sanpawut.police.go.th. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-07-05. สืบค้นเมื่อ 2022-05-18.
  38. "แจงภาพ ตร.ปากเกร็ดถือปืนเอ็ม4 ในด่านเคอร์ฟิว เป็นชุดคุ้มกันตามยุทธวิธี". www.thairath.co.th. 2021-07-13.
  39. "อรินทราช 26 หน่วยจู่โจมผู้อยู่เบื้องหลังปฏิบัติการสำคัญ". bangkokbiznews. 2020-02-09.
  40. 40.0 40.1 "7 อาวุธที่ คฝ. ใช้สลายผู้ชุมนุมในเดือนส.ค.-ก.ย. | ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน". 2021-10-14.
  41. isranews (2020-09-26). "เส้นทาง 'ปืนช็อตไฟฟ้า' 215 ล.! สตช.ซื้อต่ำกว่าราคากลางกระบอกละ 100 บ." สำนักข่าวอิศรา.
  42. 42.0 42.1 "ไม้ง่ามหลีกไป ตำรวจโกสุมพิสัย ใช้ปืนช็อตไฟฟ้า สยบคลั่งถือเคียวพุ่งชาร์จ". www.thairath.co.th. 2021-06-25.
  43. "HS Produkt" (PDF). Hrvatski vojnik (ภาษาโครเอเชีย) (337/338): 20. 28 มีนาคม 2011. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 7 ตุลาคม 2012. สืบค้นเมื่อ 11 พฤษภาคม 2013.
  44. "อาวุธประจำกาย และอาวุธธประจำกายทหารราบ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-03-24. สืบค้นเมื่อ 2022-05-18.
  45. "อาวุธประจำกาย และอาวุธธประจำกายทหารราบ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-03-24. สืบค้นเมื่อ 2022-05-18.
  46. "อาวุธประจำกาย และอาวุธธประจำกายทหารราบ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-03-24. สืบค้นเมื่อ 2022-05-18.
  47. "ตำรวจหน่วยแรกใช้ปืนช็อตไฟฟ้า". สำนักข่าวไทย อสมท. 2020-10-06.
  48. แจ๊ค (2022-02-23). "ตำรวจสวนสนาม".
  49. "วันตำรวจ "มาร์ค" ฝัน ตร.ทำงานเพื่อประชาชน โปร่งใส ตรวจสอบได้". mgronline.com. 2009-10-13.
  50. "ตำรวจภูธรจังหวัดชัยภูมิ - พิธีกล่าวคำสัตย์ปฏิญาณตน กล่าวอุดมคติตำรวจ พิธีมอบใบประกาศเกียรติคุณ เนื่องใน "วันตำรวจ" ประจำปี 2562 ณ ลานหน้า ภ.จว.ชัยภูมิ". www.chaiyaphumpolice.com.
  51. "17 ตุลาคม 2564 - วันตำรวจ". THE STANDARD. 2021-10-17.
  52. สถานีคิดเลขที่ 12 (2017-10-20). "วันตำรวจ 17 ต.ค. โดย สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน". มติชนออนไลน์.

แหล่งข้อมูลอื่น

13°44′38″N 100°32′16″E / 13.743955°N 100.537852°E / 13.743955; 100.537852