ธงชัยประจำหน่วยตำรวจ
ธงชัยประจำหน่วยตำรวจ คือธงซึ่งได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไว้เพื่อเป็นมิ่งขวัญประจำหน่วยกำลังของตำรวจหน่วยต่าง ๆ โดยมีลักษณะ การได้มา และมีความสำคัญเช่นเดียวกับธงชัยเฉลิมพลประจำหน่วยทหาร ซึ่งถือเป็นเสมือนเครื่องหมายแทนชาติ ศาสนา และองค์พระมหากษัตริย์ เพื่อให้ข้าราชการตำรวจทั้งหลาย ได้ยึดเหนี่ยวเคารพเป็นมิ่งขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ปกป้องอธิปไตยของชาติ รวมถึงเพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้ตำรวจไทยเป็นตำรวจในพระมหากษัตริย์ จักต้องปฏิบัติหน้าที่ปกป้องอาณาประชาราษฎร์ต่างพระเนตรพระกรรณของพระมหากษัตริย์
ธงชัยประจำหน่วยตำรวจ มีชื่อเรียกปรากฏตามหลักฐานของส่วนราชการต่าง ๆ ในชื่อต่าง ๆ ได้แก่ "ธงชัยเฉลิมพลประจำหน่วยตำรวจ" "ธงชัยเฉลิมพลประจำกอง" "ธงชัยประจำกอง" "ธงประจำกอง" และ "ธงชัย" ซึ่งล้วนเป็นชื่อที่เรียกธงเดียวกันที่ได้รับพระราชทานดังกล่าว
ประวัติ
แก้ก่อนปี พ.ศ. 2522 หน่วยทหารบก ทหารเรือ และทหารอากาศ มี “ธงชัยเฉลิมพล” รวมถึง “ธงประจำกอง” เป็นธงประจำหน่วยทหาร ซึ่งในขณะนั้น หน่วยตำรวจก็มี "ธงประจำกอง" หรือตามหลักฐานของสำนักราชเลขาธิการเรียกชื่อธงนี้ว่า "ธงชัยเฉลิมพล ประจำหน่วยตำรวจ" ซึ่งได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นธงประจำหน่วยตำรวจต่าง ๆ เช่นเดียวกับธงชัยเฉลิมพล และธงประจำกองของหน่วยทหาร
ต่อมาเมื่อได้มีการแก้ไข พ.ร.บ.ธง พ.ศ. 2522 ได้บัญญัติให้ธงชัยเฉลิมพล และ ธงประจำกองทหารบก ธงประจำกองทหารเรือ และธงประจำกองทหารอากาศ ที่มีอยู่แต่เดิมให้เรียกชื่อว่า “ธงชัยเฉลิมพล” ทั้งหมด โดยมิได้บัญญัติรับรองความมีอยู่ของ “ธงประจำกอง” หรือ “ธงชัยเฉลิมพลประจำหน่วยตำรวจ” ของหน่วยตำรวจ ซึ่งได้รับพระราชทานมาก่อนนั้นแต่อย่างใด หากแต่ใน พ.ร.บ.ธง พ.ศ. 2522 ได้บัญญัติธงที่เกี่ยวกับหน่วยตำรวจไว้เพียง “ธงพิทักษ์สันติราษฎร์” เท่านั้น ซึ่งมิใช่ “ธงชัยเฉลิมพลประจำหน่วยตำรวจ” หรือ “ธงประจำกองของตำรวจ” เนื่องจากเป็นธงคนละธง มีลักษณะและที่มาแตกต่างกัน
ความสำคัญ
แก้ความสำคัญของธงชัยประจำหน่วยตำรวจนี้ ปรากฏในพระบรมราโชวาทในวันพิธีสวนสนามและพระราชทานธงชัยประจำหน่วยตำรวจเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2495 ความตอนหนึ่งที่ว่า
“...ในการที่ข้าพเจ้าได้มอบธงชัยให้แก่หน่วยต่าง ๆ ในกรมตำรวจในวันนี้ ก็โดยที่ระลึกว่า หน้าที่สำคัญของตำรวจทั้งหลายในปัจจุบัน มิใช่เพียงรักษาความสงบภายในบ้านเมืองเท่านั้น แต่ต้องป้องกันความไม่สงบที่อาจจะมาจากภายนอกประเทศอีกด้วย ธงนี้นับว่าเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง เพราะเป็นสัญลักษณ์แทนตัวข้าพเจ้า ผู้ซึ่งเอาใจใส่ตัวท่านทั้งหลายตลอดเวลา เพราะเป็นที่หมาย ที่เคารพในเวลาที่กองตำรวจได้เข้าเป็นหมวดหมู่อยู่ประจำ และเมื่อถึงวาระจำเป็นที่คับขัน เมื่อท่านได้ระลึกถึงธงชัยนี้แล้ว ก็จะเป็นเครื่องชักนำให้องอาจกล้าหาญ และร่าเริงใจที่จะประกอบหน้าที่ บำเพ็ญตนให้สมกับเป็นตำรวจของชาติไทย อย่าให้ผู้ใดติเตียนว่าเราเกิดมาเสียชาติเกิดได้ ฉะนั้น ท่านทั้งหลายจงรับธงนี้ไว้ด้วยความรัก และความเคารพเทิดทูน และพิทักษ์รักษาธงนี้ไว้ยิ่งกว่าชีวิตตน และให้เป็นมิ่งขวัญที่เป็นศักดิ์ศรีของกรมตำรวจสืบไป ...”[1]
และปรากฏในพระบรมราโชวาทในวันพิธีสวนสนามและพระราชทานธงชัยประจำกองโรงเรียนตำรวจภูธรภาค 4 วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2496 ความตอนหนึ่งว่า
“... ข้าพเจ้าได้มอบธงชัย ประจำกองโรงเรียนตำรวจภูธรภาค 4 ในวันนี้ก็โดยเห็นว่า กองโรงเรียนนี้เป็นแหล่งฝึก และอบรมตำรวจส่วนหนึ่ง เพื่อเพิ่มพูนกำลังของประเทศชาติ ในด้านรักษาความสงบภายใน และทั้งป้องกันความไม่สงบ อันจะมีมาจากภายนอกประเทศด้วย จึ่งสมควรจะได้มีธงประจำกองนี้ไว้เป็นมิ่งขวัญประจำกอง เพราะธงชัยนี้เป็นเสมือนเครื่องหมายแทนชาติ สาสนา และตัวข้าพเจ้า จงพิทักษ์รักษาธงนี้ด้วยความรักและเคารพให้ยิ่งกว่าชีวิตของตน เพื่อเป็นมิ่งขวัญ และศักดิ์ศรีของกรมตำรวจสืบไป ...” [2]
ลักษณะของธง
แก้ธงชัยประจำหน่วยตำรวจที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนี้ มีลักษณะและส่วนประกอบของธงรวมถึงการได้มา เช่นเดียวกันกับธงชัยเฉลิมพลของทหารทุกประการ โดยผืนธงชัย มีลักษณะอย่างเดียวกับธงชาติเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้างด้านละ 70 เซนติเมตร ตรงกลางผืนธงมีตราแผ่นดินในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีชื่อหน่วยตำรวจที่ได้รับพระราชทานธง เช่น "โรงเรียนนายร้อยตำรวจ" เป็นไหมสีแดงริมสีขาวเป็นแถวโค้งโอบใต้ตราแผ่นดิน ผืนธงมุมด้านที่ติดกับคันธงมีรูปพระมหามงกุฎและเลขหมายรัชกาลของพระมหากษัตริย์ที่พระราชทานเป็นตัวเลขไทยมีเหลือง ภายใต้พระมหามงกุฎมีพระปรมาภิไธยย่อสีแดงขลิบริมสีขาว รัศมีสีฟ้า ขอบธงด้านที่ติดกับคันธงมีเกลียวเชือกสีแดงสลับดำ ด้านอื่นมีแถบจีบสีขาวกว้าง 2 เซนติเมตร
สำหรับส่วนประกอบของธงนั้น ยอดคันธงเป็นรูปช้างสามเศียรภายใต้พระมหามงกุฎทำด้วยโลหะสีเงิน ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปที่ทำพิธีแล้ว เรียกว่า "พระยอดธง" และบรรจุเส้นพระเจ้า (เส้นพระเกศา) ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 คันธงมีขนาดกว้างเส้นผ่าศูนย์กลาง 3.5 เซนติเมตร ยาว 2.43 เมตร คันธงระหว่างฐานช้างสามเศียรกับมุมบนของธง มีแถวธงชาติเป็นโบหูกระต่ายห้อยชายทั้งสอง ยาวเลยมุมธงด้านล่าง ปลายชายแถบทั้งสองเป็นครุย คันธงตอนที่ติดกับธงสักหลาดสีแดงต่อกับริมธงหุ้มรอบคันธง มีหมุดทำด้วยโลหะสีเงิน 35 หมุด หมุดที่ 1 เป็นรูปประเทศไทย หมุดที่ 2 เป็นรูปเสมาธรรมจักร หมุดที่ 3 เป็นรูปพระปรมาภิไธยย่อ หมุดที่ 4 เป็นรูปรัฐธรรมนูญ หมุดต่อไปเป็นรูปเครื่องหมายตราแผ่นดินในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หมุดที่ 1 อยู่บนสุด หมุดต่อไปเรียงลงมาตามลำดับ
ประวัติการพระราชทานธงชัยประจำหน่วยตำรวจ
แก้ธงชัยประจำหน่วยของตำรวจ มีความประวัติความเป็นมาเท่าที่ปรากฏหลักฐาน ดังนี้
- วันพุธที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2495
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในการพระราชพิธีตรึงหมุดธงชัยเฉลิมพลประจำหน่วยตำรวจ (ตามหลักฐานข่าวในพระราชสำนักของสำนักราชเลขาธิการ ใช้คำว่า “ธงชัยเฉลิมพล ประจำหน่วยตำรวจ”) [3]
- วันจันทร์ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2495
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนิน ณ ลานพระราชวังดุสิต พระราชทานธงชัยเฉลิมพลสำหรับพระราชทานแก่หน่วยตำรวจ (ตามหลักฐานข่าวในพระราชสำนักของสำนักราชเลขาธิการ ใช้คำว่า “ธงชัยเฉลิมพล ประจำหน่วยตำรวจ”) [4]
ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราโชวาท ทรงเรียกธงที่พระราชทานว่า “ธงชัยประจำหน่วยต่าง ๆ ในกรมตำรวจ” [1]
- วันเสาร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2496
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในการพระราชพิธีตรึงหมุดธงชัยเฉลิมพล สำหรับพระราชทานโรงเรียนตำรวจภูธรภาค 4 (ตามหลักฐานข่าวในพระราชสำนักของสำนักราชเลขาธิการ ใช้คำว่า “ธงชัยเฉลิมพล สำหรับพระราชทานโรงเรียนตำรวจภูธรภาค 4”) [5]
- วันอังคารที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2496
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนิน ณ ลานพระราชวังดุสิต พระราชทานธงชัยเฉลิมพลประจำกอง โรงเรียนตำรวจภูธรภาค 4 (ตามหลักฐานข่าวในพระราชสำนักของสำนักราชเลขาธิการ ใช้คำว่า “ธงชัยเฉลิมพลประจำกอง โรงเรียนตำรวจภูธรภาค 4”) [6]
ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราโชวาท ทรงเรียกธงที่พระราชทานว่า “ธงชัยประจำกอง” [2]
- วันพฤหัสบดีที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2497
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในการพระราชพิธีตรึงหมุดธงชัยเฉลิมพล สำหรับพระราชทานโรงเรียนตำรวจภูธรภาค 1 ภาค 3 และภาค 8 (ตามหลักฐานข่าวในพระราชสำนักของสำนักราชเลขาธิการ ใช้คำว่า “ธงชัยเฉลิมพล สำหรับพระราชทานโรงเรียนตำรวจภูธรภาค 1 ภาค 3 และภาค 8”) [7]
- วันพุธที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2497
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนิน ณ ลานพระราชวังดุสิต พระราชทานธงชัยเฉลิมพลประจำกอง โรงเรียนตำรวจภูธรภาค 1 ภาค 3 และ ภาค 8 (ตามหลักฐานข่าวในพระราชสำนักของสำนักราชเลขาธิการ ใช้คำว่า “ธงชัยเฉลิมพลประจำกอง โรงเรียนตำรวจภูธรภาค 1 ภาค 3 และ ภาค 8”) [8]
ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราโชวาท ทรงเรียกธงที่พระราชทานแก่ตำรวจนั้นว่า “ธงชัยประจำกอง” [9]
หลังจากนั้นเป็นต้นมา (ยังไม่มีหลักฐานว่าได้รับพระราชทานธงชัยประจำกองตำรวจหลังจากนั้นอีกเมื่อใด) ได้ปรากฏว่า ในการสวนสนามถวายสัตย์ปฏิญาณตนของเหล่าข้าราชการตำรวจ เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2550 ณ สนามราชมังคลากีฬาสถาน กรุงเทพฯ ได้เชิญธงชัยประจำกองของหน่วยตำรวจมากระทำพิธี เป็นจำนวนทั้งสิ้น 13 ธง ดังนี้
- ธงชัยประจำโรงเรียนนายร้อยตำรวจ จำนวน 1 ธง
- ธงชัยประจำโรงเรียนพลตำรวจภูธรภาค 1-9 จำนวน 9 ธง
- ธงชัยประจำโรงเรียนพลตำรวจนครบาล จำนวน 1 ธง
- ธงชัยประจำกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน จำนวน 1 ธง
- ธงชัยประจำกองกำกับการ 3 กองบังคับการกองตรวจ จำนวน 1 ธง
- รวมทั้งสิ้น 13 ธง
ทั้งนี้ การปฏิบัติในการเชิญธง การทำความเคารพ และพิธีการอื่น ๆ เกี่ยวกับธงชัยประจำหน่วยตำรวจนั้น มีวิธีการปฏิบัติเช่นเดียวกับธงชัยเฉลิมพลของหน่วยทหารทุกประการ
ในส่วนของธงชัยประจำโรงเรียนนายร้อยตำรวจ จะมีการเชิญไปกระทำพิธีกล่าวคำสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของนักเรียนนายร้อยตำรวจ เนื่องในวันตำรวจ 13 ตุลาคม ของทุก ๆ ปีตลอดมา
แม้ว่าธงชัยประจำหน่วยต่าง ๆ ของตำรวจจะมิได้ปรากฏอยู่ใน พ.ร.บ.ธง พ.ศ. 2522 แต่เมื่อพิจารณาถึงการได้รับพระราชทาน การพระราชพิธีตรึงหมุดธงโดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ความสำคัญของธง ลักษณะต่าง ๆ ของธง และเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ของสำนักราชเลขาธิการที่เรียกธงดังกล่าวว่า “ธงชัยเฉลิมพล” มาโดยตลอด ก็ถือได้ว่า “ธงชัยประจำหน่วยตำรวจ” ที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ ก็มีความสำคัญเช่นเดียวกันกับธงชัยเฉลิมพลของหน่วยทหารทุกประการ ตามหลักฐานของส่วนราชการต่าง ๆ ได้กล่าวถึงธงชัยประจำหน่วยตำรวจนี้ในชื่อต่าง ๆ ได้แก่ "ธงชัยเฉลิมพลประจำหน่วยตำรวจ" "ธงชัยเฉลิมพลประจำกอง" "ธงชัยประจำกอง" "ธงประจำกอง" และ "ธงชัย" ซึ่งก็คือธงเดียวกันนั่นเอง
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 สำนักราชเลขาธิการ. พระบรมราโชวาทในการพระราชทานธงชัยประจำหน่วยของกรมตำรวจ เนื่องในพิธีสวนสนามวันตำรวจ ณ วันที่ 13 ตุลาคม 2495. เก็บถาวร 2011-11-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ 2.0 2.1 สำนักราชเลขาธิการ. พระบรมราโชวาทในวันพิธีสวนสนามและพระราชทานธงชัยประจำกองโรงเรียนตำรวจภูธรภาค 4 วันที่ 13 ตุลาคม 2496. เก็บถาวร 2011-11-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ สำนักราชเลขาธิการ. ข่าวในราชสำนัก[ลิงก์เสีย] พระบรมมหาราชวัง, วันพุธที่ 8 ตุลาคม 2495.
- ↑ สำนักราชเลขาธิการ. ข่าวในราชสำนัก[ลิงก์เสีย] พระบรมมหาราชวัง, วันจันทร์ที่ 13 ตุลาคม 2495.
- ↑ สำนักราชเลขาธิการ. ข่าวในราชสำนัก[ลิงก์เสีย] พระบรมมหาราชวัง, วันเสาร์ที่ 26 กันยายน 2496.
- ↑ สำนักราชเลขาธิการ. ข่าวในราชสำนัก[ลิงก์เสีย] พระบรมมหาราชวัง, วันอังคารที่ 13 ตุลาคม 2496.
- ↑ สำนักราชเลขาธิการ. ข่าวในราชสำนัก[ลิงก์เสีย] พระบรมมหาราชวัง, วันพฤหัสบดีที่ 7 ตุลาคม 2497.
- ↑ สำนักราชเลขาธิการ. ข่าวในราชสำนัก[ลิงก์เสีย] พระบรมมหาราชวัง, วันพุธที่ 13 ตุลาคม 2497.
- ↑ สำนักราชเลขาธิการ. พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานธงชัยประจำกองโรงเรียนตำรวจภูธรภาค 1 ภาค 3 กับภาค 8 และพิธีสวนสนามในวันตำรวจ 13 ตุลาคม 2497.[ลิงก์เสีย]
ดูเพิ่ม
แก้แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- เอกสารวิชาการอ้างอิงเพิ่มเติม
- ธงชัยประจำโรงเรียนนายร้อยตำรวจ (เว็บไซต์นายตำรวจปกครอง โรงเรียนนายร้อยตำรวจ)[ลิงก์เสีย]
- ประวัติธงชัยประจำกอง ศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค 1[ลิงก์เสีย]
- วิดีโอพิธีเชิญธงชัยเฉลิมพลประจำกองตำรวจ
- วิดีโอพิธีเชิญธงชัยเฉลิมพลประจำกองตำรวจ
- วิดีโอพิธีเชิญธงชัยเฉลิมพลประจำกองตำรวจ
- วิดีโอพิธีเชิญธงชัยเฉลิมพลประจำกองตำรวจ
- วิดีโอพิธีเชิญธงชัยเฉลิมพลประจำกองตำรวจ
- วิดีโอพิธีเชิญธงชัยเฉลิมพลประจำกองตำรวจ
- วิดีโอลักษณะของธงชัยเฉลิมพลประจำกองตำรวจ