กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง

กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (อังกฤษ: Central Investigation Bureau) หรือ ซีไอบี เป็นหน่วยงานระดับกองบัญชาการ อยู่ในส่วนสนับสนุนการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำหน้าที่ดูแลกองบังคับการในสังกัดที่มีอำนาจในการปฏิบัติการทั่วราชอาณาจักร วันที่ 5 กุมภาพันธ์ [1]พ.ศ. 2568 ผู้บัญชาการได้แก่ พลตำรวจโท จิรภพ ภูริเดช รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ได้แก่ พลตำรวจตรี มนตรี เทศชัน[2]พลตำรวจตรี วิวัฒน์ ชัยสังฆะ พลตำรวจตรี ไพบูลย์ น้อยหุ่น พลตำรวจตรี ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย พลตำรวจตรี สุวัฒน์ แสงนุ่ม พลตำรวจตรี โสภณ สารพัฒน์ พลตำรวจตรี ภูมินทร์ พุ่มพันธุ์ม่วง พลตำรวจตรี ณัฐพงษ์ สัตยานุรักษ์ พลตำรวจตรี จรูญเกียรติ ปานแก้ว

กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง
อักษรย่อบช.ก.
คำขวัญมืออาชีพ เป็นกลาง เคียงข้างประชาชน
ข้อมูลองค์กร
ก่อตั้ง11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2484; 84 ปีก่อน (2484-02-11)
โครงสร้างเขตอำนาจ
หน่วยงานแห่งชาติประเทศไทย
เขตอำนาจในการปฏิบัติการประเทศไทย
สำนักงานใหญ่1106 ถนนพหลโยธิน แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร

ผู้บริหารหน่วยงาน
หน่วยงานปกครอง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
กองบังคับการ • 11 กองบังคับการ
เว็บไซต์
cib.go.th

ประวัติ

แก้

กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ก่อตั้งเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2484[3] จากการก่อตั้ง กองสอบสวนกลาง และรับโอนภารกิจจากตำรวจสันติบาล จำนวน 3 กองกำกับการมาอยู่ในการดูแล คือ กองกำกับการ 1 สืบสวนปราบปรามโจรผู้ราย กองกำกับการ 3 เทคนิคตำรวจ และกองกำกับการ 5 ตำรวจสรรพสามิตร[4] และได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการกรมตำรวจในกระทรวงมหาดไทย พุทธศักราช 2485 แบ่งส่วนความรับผิดชอบของกองสอบสวนกลางเป็น 3 กองกำกับการ คือ กองกำกับการกอง 1 ค้นคว้าสมมุติฐานของการประทุษร้าย มี 5 แผนก กองกำกับการกอง 2 ทะเบียน มี 5 แผนก กองกำกับการกอง 3 วิชาการตำรวจ แบ่งเป็น 5 แผนก[5]

พ.ศ. 2491 กองสอบสวนกลาง ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง แบ่งส่วนราชการเป็น 12 หน่วยงาน ประกอบด้วย กองทะเบียน กองตำรวจสันติบาล กองปราบปราม กองตำรวจรถไฟ กองตำรวจจราจรทางหลวง กองตำรวจน้ำ กองวิทยาการ กองการสื่อสาร กองยานยนต์ โรงเรียนสืบสวน กองพิเศษ และกองกำกับการโรงเรียนตำรวจสอบสวนกลาง[6]

ภารกิจ

แก้

กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง มีภารกิจหลักในการถวายความปลอดภัยองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และพระบรมวงศานุวงศ์ ป้องกันปราบปรามอาชญากรรมเฉพาะทาง อาชญากรรมที่มีความซับซ้อนที่มีลักษณะเป็นองค์กร หรือมีขอบเขตอำนาจนอกเหนือจากตำรวจท้องที่จะดำเนินการ ซึ่งรวมไปถึงอาชญากรรมข้ามชาติ และการก่อการร้าย[7] โดยมีอำนาจในการบังคับใช้กฎหมาย ปราบปรามอาชญากรรม สืบสวนสอบสวนครอบคลุมทั้งประเทศ

ปัจจุบันได้นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกตามความเหมาะสมในแต่ละกองบังคับการ อาทิ การป้องกันและระงับเหตุอาชญากรรมด้วยระบบกล้องตรวจจับการกระทำผิด โดย ศูนย์ปฏิบัติการตรวจสอบและเฝ้าระวังรถต้องสงสัย (Suspect Vehicle Command Center) โดยกองบังคับการตำรวจทางหลวง[8] ในการตรวจจับและเข้าตรวจค้น

หน่วยงานในสังกัด

แก้

ด้วยอำนาจหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมที่มีความหลากหลายและเฉพาะทาง จึงมีการแบ่งโครงสร้างหน่วยงานออกเป็นระดับกองบังคับการ ประกอบไปด้วย

กองบังคับการปราบปราม

แก้

กองบังคับการปราบปราม มีหน้าที่เกี่ยวกับการสืบสวนสอบสวน ป้องกัน และปราบปราม ทั่วประเทศไทย ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด ยกเว้นคดีที่เกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ, คดีเกี่ยวกับการท่องเที่ยว และความผิดทางเศรษฐกิจโดยตรง

กองบังคับการตำรวจทางหลวง

แก้

กองบังคับการตำรวจทางหลวง ทำหน้าที่ตรวจตรารักษาความสงบเรียบร้อยป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและตามกฎหมายอื่นอันเกี่ยวกับความผิดทางอาญาและจราจร บริการประชาชนผู้ใช้ทางให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยในเขตทางหลวงและทางพิเศษที่อยู่ในอำนาจรับผิดชอบ และควบคุมดูแลการใช้ทางหลวงให้เป็นไปตามกฎหมาย

กองบังคับการตำรวจรถไฟ

แก้

กองบังคับการตำรวจรถไฟ เป็นหน่วยงานที่ดูแลพื้นที่ในส่วนบริเวณรถไฟของประเทศไทย มีหน้าที่รักษาความปลอดภัยของผู้ใช้บริการรถไฟทั่วประเทศ และจับกุมบุคคลที่มีหมายจับตามกฎหมายที่ใช้รถไฟเป็นพาหนะ ก่อตั้งขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

กองบังคับการตำรวจน้ำ

แก้

กองบังคับการตำรวจน้ำ มีหน้าที่ในการปฏิบัติตามข้อกำหนดในพระราชบัญญัติตำรวจเช่นเดียวกับบนฝั่งทุกประการ และมีหน้าที่เพิ่มเติมคือการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ตามกฎหมายทางทะเลที่กำหนด

กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

แก้

กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำหน้าที่รับผิดชอบในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศในชนบทโดยเฉพาะอย่างยิ่งอุทยานแห่งชาติและป่าแห่งชาติ นอกจากนี้ยังทำ หน้าที่เจ้าหน้าที่การจับกุมลอบล่าสัตว์ป่า, การสืบสวนการละเมิดสิ่งแวดล้อม, อาคารที่ผิดกฎหมาย, การปกป้องสัตว์คุ้มครองสัตว์บังคับสัตว์ใกล้สูญพันธุ์กฎหมายและการป้องกันไฟป่า

กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์

แก้

กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมที่เกี่ยวกับการค้ามนุษย์ทั่วราชอาณาจักร

กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ

แก้

มีหน้าที่ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ให้บริการและอำนวยความสะดวกรวมถึงรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงภายในที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ[9]

กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ

แก้

กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ มีหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยและป้องกันปราบปรามอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตในหน่วยงานราชการทั่วประเทศ ปฏิบัติภารกิจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และกฎหมายอื่น ๆ เกี่ยวกับความผิดทางอาญา การทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐและในวงการราชการ[10]

กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับคุ้มครองผู้บริโภค

แก้

กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับคุ้มครองผู้บริโภค มีหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา สืบสวนสอบสวนการกระทำที่มีโทษในทางอาญาที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม[11]

กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี

แก้

กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เป็นหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายที่มุ่งเน้นเกี่ยวกับ ป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี

กองบังคับการปฏิบัติการพิเศษ

แก้

กองบังคับการปฏิบัติการพิเศษ เป็นหน่วยงานปฏิบัติการพิเศษที่มีศักยภาพสูงของกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง มีภารกิจหลักในการถวายความปลอดภัยแก่ องค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป ผู้สำเร็จราชการแทน ผู้แทนพระองค์ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป และบุคคลที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับเป็นพระราชอาคันตุกะ รักษาความสงบเรียบร้อยและป้องกันปราบปรามการก่อจลาจล ควบคุมฝูงชนที่มีผลกระทบต่อความปลอดภัย รอบเขตพระราชฐาน รวมถึงการต่อต้านการก่อการร้าย สนับสนุนและป้องกันปราบปรามการก่อการร้าย ระงับเหตุฉุกเฉินและวินาศกรรมทั่วราชอาณาจักร[12]

ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. โปรดเกล้าฯ ขรก.ตำรวจ ระดับ รอง ผบช.-ผบก. 228 นาย
  2. โปรดเกล้าฯ ขรก.ตำรวจ ระดับ รอง ผบช.-ผบก. 228 นาย
  3. "ผบ.ตร.ร่วมงานวันคล้ายวันสถาปนากองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง". m.mgronline.com.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  4. "ประวัติความเป็นมาของสันติบาล". กองบัญชาการตำรวจสันติบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ. 2016-05-06.
  5. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชกฤษฎีกา จัดวางระเบียบราชการกรมตำรวจในกระทรวงมหาดไทย พุทธศักราช 2485 (soc.go.th) 12 พฤษภาคม 2485, เล่มที่ 59 ตอนที่ 32 หน้าที่ 1062 - 1063.
  6. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชกฤษฎีกา จัดวางระเบียบราชการกรมตำรวจในกระทรวงมหาดไทย พุทธศักราช 2498 (soc.go.th) 12 กรกฎาคม 2498, เล่มที่ 72 ตอนที่ 51 หน้าที่ 1084 - 1094.
  7. "วิสัยทัศน์/อำนาจหน้าที่ -". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-02-18. สืบค้นเมื่อ 2022-02-18.
  8. aumarsr (2022-01-31). "ตำรวจสอบสวนกลาง ใช้เทคโนโลยีกล้องตรวจจับ SVCC ตรวจสอบรถยนต์ต้องสงสัยพบมีการปลอมแปลงเอกสาร". Chiang Mai News. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-02-19. สืบค้นเมื่อ 2022-02-19.
  9. "เกี่ยวกับเรา – ECD – กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ" (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-01-21. สืบค้นเมื่อ 2022-03-17.
  10. adminccd. "อำนาจหน้าที่". ACD Police. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-06-09. สืบค้นเมื่อ 2022-03-17.
  11. "เกี่ยวกับเรา – cppd". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-01-16. สืบค้นเมื่อ 2022-03-17.
  12. ราชกิจจานุเบกษา. กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการเป็นกองบังคับการหรือส่วนราชการอย่างอื่นในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2563 (soc.go.th) เล่มที่ 137 ตอนที่ 60 ก, วันที่ 25 กรกฎาคม 2563, หน้า 13-16