อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ

แหล่งโบราณคดีในประเทศไทย
(เปลี่ยนทางจาก เมืองโบราณศรีเทพ)

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ เป็นอุทยานประวัติศาสตร์แห่งหนึ่งของประเทศไทยอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร 232 กิโลเมตร ห่างจากอำเภอเมืองเพชรบูรณ์ 130 กิโลเมตร ภายใต้การดูแลของกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ตั้งอยู่บนที่ราบห่างจากแม่น้ำป่าสัก[1] ไปทางทิศตะวันออกราว 4 กิโลเมตร ในอำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 60 - 80 เมตร[2]ครอบคลุมโบราณสถานในเมืองเก่าศรีเทพ พื้นที่ราว 4.7 ตารางกิโลเมตร (ราว 2,900 ไร่) ประกอบด้วยชุมชนโบราณในลักษณะเมืองซ้อนเมืองขนาดใหญ่[1] และกลุ่มโบราณสถานสำคัญที่มีความโดดเด่นทั้งด้านศิลปกรรม สถาปัตยกรรม ศาสนาและวัฒนธรรม ซึ่งสะท้อนถึงการเป็นศูนย์กลางทางการแลกเปลี่ยนสินค้าที่สามารถติดต่อกับภูมิภาคอื่น ๆ ได้สะดวก และความเจริญรุ่งเรืองต่อเนื่องกันถึง 3 ยุค ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย ยุคทวารวดีจนถึงยุคขอมเรืองอำนาจ[3][1] และในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2566 อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกโดยยูเนสโก[4] ภายใต้ชื่อ เมืองโบราณศรีเทพ และโบราณสถานสมัยทวารวดีที่เกี่ยวข้อง[5]

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ
แผนที่
ที่ตั้งอำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ประเทศไทย
ประเภทนิคม
พื้นที่4.7 ตารางกิโลเมตร (470 เฮกตาร์)
ความเป็นมา
สร้างพุทธศตวรรษที่ 8
ละทิ้งพุทธศตวรรษที่ 18
สมัยสมัยโบราณ
วัฒนธรรมทวารวดี
เกี่ยวเนื่องกับชาวมอญ
หมายเหตุเกี่ยวกับสถานที่
ค้นพบพ.ศ. 2447
ขุดค้นพ.ศ. 2478
ผู้ขุดค้นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
สภาพฟื้นฟูบางส่วน
ผู้ถือกรรมสิทธิ์สาธารณะ
ผู้บริหารจัดการกรมศิลปากร, จ่ายค่าเข้าชม
การเปิดให้เข้าชมใช่
สถาปัตยกรรม
รูปแบบสถาปัตยกรรม
เมืองโบราณศรีเทพ
และโบราณสถานสมัยทวารวดีที่เกี่ยวข้อง *
  แหล่งมรดกโลกโดยยูเนสโก
พิกัด15°27′59″N 101°09′00″E / 15.46639°N 101.15000°E / 15.46639; 101.15000
ประเทศ ไทย
ภูมิภาค **เอเชียและแปซิฟิก
ประเภทมรดกทางวัฒนธรรม
เกณฑ์พิจารณา(ii), (iii)
อ้างอิง1662
ประวัติการขึ้นทะเบียน
ขึ้นทะเบียน2566 (คณะกรรมการสมัยที่ 45)
พื้นที่866.471 เฮกตาร์
พื้นที่กันชน3,824.148 เฮกตาร์
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพตั้งอยู่ในประเทศไทย
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ
ที่ตั้งเมืองโบราณศรีเทพในประเทศไทย
* ชื่อตามที่ได้ขึ้นทะเบียนในบัญชีแหล่งมรดกโลก
** ภูมิภาคที่จัดแบ่งโดยยูเนสโก

ด้วยเอกลักษณ์และความสำคัญของเมืองศรีเทพ จึงมีนักวิชาการบางท่านสันนิษฐานว่าเมืองศรีเทพเป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรม ทวารวดี หรือเมืองศรีเทพนั้นคือ ทวารวดี ไม่ใช่เมืองนครปฐมโบราณ หรือเมืองอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรีตามที่เชื่อกันมา[6][7]

ประวัติ

แก้

เมืองโบราณศรีเทพมีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 8-18 เป็นเมืองที่มีความสำคัญมากแห่งหนึ่งในสมัยทวารวดี มีการติดต่อรับคติความเชื่อทางศาสนาหลายศาสนาและนิกาย ทั้งพุทธศาสนาแบบเถรวาทและมหายาน รวมไปถึงศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ในเสาวระนิกาย (นับถือพระสุริยะ) ไวษณพนิกาย (นับถือพระวิษณุ) และไศวนิกาย (นับถือพระศิวะ)[1] มีการติดต่อสัมพันธ์กับวัฒนธรรมใกล้เคียงตั้งแต่วัฒนธรรมอินเดีย ขอม และทวารวดีจากแหล่งอื่น ๆ โดยยังหลงเหลือหลักฐานทางโบราณคดีและงานศิลปกรรม สามารถแสดงความเป็นศูนย์กลางของอารยธรรมและการค้า แสดงให้เห็นถึงการอยู่ร่วมกันของชุมชนที่ต่างศาสนาในระยะเวลาเดียวกัน[8]

บริเวณเมืองฯ พบหลักฐานการพัฒนาการอย่างต่อเนื่องใน 3 สมัย ได้แก่ ชุมชนยุคก่อนประวัติศาสตร์ สมัยทวารวดี และสมัยวัฒนธรรมขอมแผ่ขยายเข้ามามีอิทธิพลในตอนปลาย ก่อนจะหมดความสำคัญกลายเป็นเมืองร้าง[9]

ชุมชนยุคก่อนประวัติศาสตร์บริเวณศรีเทพเป็นชุมชนเกษตรกรรม ประกอบด้วยหมู่บ้านเล็ก ๆ หลายแห่ง แต่ละหมู่บ้านมีผู้นำ ผู้คนรู้จักการใช้ชีวิตและจัดการตนเองให้อยู่ร่วมกับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติเป็นอย่างดี มีการเพาะปลูกข้าวและเลี้ยงสัตว์ ตลอดจนการล่าสัตว์และรวบรวมทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ นอกจากนี้ยังมีการทอผ้า การทำเครื่องปั้นดินเผา และการถลุงโลหะในชุมชนด้วย ผู้คนอาจเชื่อเรื่องชีวิตหลังความตายหรือโลกหน้าในขณะที่พวกเขาฝังศพผู้ตายด้วยสิ่งของที่ฝังศพหลากหลายชนิด การหาอายุของเรดิโอคาร์บอน AMS ของตัวอย่างฟันจากแหล่งขุดค้นดังกล่าวให้ผล 1,730 ± 30 ปีที่แล้ว[2]

นอกจากวัฒนธรรมอินเดีย ขอมและทวารวดีแล้ว ยังปรากฏร่องรอยการเดินทางมาของชาวจีน โดยพบจารึกบนพระพิมพ์เป็นอักษรจีนมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 13-14 สลักชื่อภิกษุ "เหวินเซียง" อันแสดงถึงความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกับจีนและความสำคัญของเมืองโบราณศรีเทพในยุคสมัยดังกล่าว ที่ทำให้คนจากต่างถิ่นต้องมาเยือน[10]

สกุลช่างศรีเทพ

แก้
 
พระสุริยเทพ พบที่เมืองเก่าศรีเทพ

ประติมากรรมรูปเคารพของเมืองศรีเทพมีความโดดเด่นแตกต่างจากประติมากรรมอื่นที่ร่วมสมัยในภูมิภาค โดยเฉพาะประติมากรรมสุริยเทพและเทวรูปอื่นในสกุลช่างศรีเทพ การพบประติมากรรมสุริยะเทพนี้มีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี และคติความเชื่อเป็นอย่างมาก เพราะสะท้อนให้เห็นว่าครั้งหนึ่งชาวเมืองนับถือศาสนาพราหมณ์และบูชาสุริยเทพเป็นเทพองค์สำคัญ อีกทั้งแสดงถึงการติดต่อสัมพันธ์กับต่างชาติ เพราะสุริยเทพเป็นเทพแห่งแสงสว่าง การเริ่มต้น ความรุ่งโรจน์หรือรุ่งเรืองตามคติความเชื่อของชาวอินเดียและชาวอารยัน[11] ในส่วนสกุลช่างศรีเทพในทางประติมากรรมนั้น หมายถึง เป็นประติมากรรมลอยตัวอย่างแท้จริง (ไม่มีการค้ำยันบริเวณศีรษะกับแขนไว้ด้วยกันเพื่อป้องกันการหัก) มีลักษณะกายวิภาคชัดเจน ประทับยืนด้วยอาการตริภังค์หรือเอียงสะโพกเล็กน้อย แสดงอาการเคลื่อนไหว[12]

การค้นพบ

แก้

เมืองเก่าศรีเทพ เดิมมีชื่อว่า "เมืองอภัยสาลี"[13]: 23 [1] หรือ "เมืองไพศาลี"[14]: 280–281  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงค้นพบเมื่อเสด็จไปตรวจราชการมณฑลเพชรบูรณ์[15]: 255  ครั้งทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เมื่อ พ.ศ. 2447–2448 และได้ทรงเรียกเมืองนี้เสียใหม่ว่า "เมืองศรีเทพ" ตามชื่อเมืองที่ปรากฏในทำเนียบเก่าบอกรายชื่อหัวเมืองในสมัยอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์ กรมศิลปากรจึงได้ใช้ชื่อเรียกเมืองโบราณที่สำรวจพบว่าเมืองศรีเทพ จนกว่าจะค้นพบหลักฐานเอกสารที่ยืนยันชื่อที่แท้จริงของเมืองโบราณแห่งนี้[16]

หลวงวิจิตรวาทการ (วิจิตร วิจิตรวาทการ) อธิบดีกรมศิลปากรในขณะนั้นได้ขึ้นทะเบียนเมืองโบราณศรีเทพ เป็นโบราณสถานของชาติ เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2478[17] และประกาศลงใน ราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 กระทั่งใน พ.ศ. 2527 เมืองโบราณศรีเทพได้รับการอนุรักษ์และพัฒนาเพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมที่สำคัญของชาติ ภายใต้การบริหารจัดการในรูปแบบอุทยานประวัติศาสตร์ โดยการกำกับดูแลของอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ สำนักศิลปากรที่ 4 ลพบุรี กรมศิลปากร

สถานที่สำคัญ

แก้

กรมศิลปากรได้ดำเนินการ สำรวจ ขุดค้น ศึกษา และพัฒนาบรรดาโบราณสถานและโบราณวัตถุในเมืองศรีเทพตั้งแต่ พ.ศ. 2521[15]: 255  ได้ทำการบูรณะและบำรุงรักษาสิ่งก่อสร้างให้มั่นคงถาวร และแบ่งพื้นที่สำคัญออกเป็นสองส่วน ได้แก่ เมืองใน และเมืองนอก

  • เมืองใน มีพื้นที่ประมาณ 1.87 ตารางกิโลเมตร (1,300 ไร่) ผังเมืองค่อนข้างกลม ภายในตัวเมืองมีภูมิประเทศเป็นพื้นที่ราบลอนลูกคลื่น มีกำแพงเมืองที่ก่อด้วยดินล้อมรอบ และมีคูเมืองนอกกำแพง มีประตูเมืองทั้งสี่ทิศ พบโบราณสถานกระจายตัวอยู่ 48 แห่ง ที่เกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนาและศาสนาฮินดู มีรูปแบบศิลปกรรมในวัฒนธรรมทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 8-18) โบราณสถานที่สำคัญ อาทิ เขาคลังใน ปรางค์ศรีเทพ และ ปรางค์สองพี่น้อง ตั้งอยู่เกือบกึ่งกลางเมืองค่อนไปทางทิศตะวันตก นอกจากนี้ยังมีสระน้ำโบราณทั้งขนาดใหญ่ และเล็กอีกจำนวนกว่า 70 แห่ง
  • เมืองนอก มีพื้นที่ประมาณ 2.83 ตารางกิโลเมตร (1,589 ไร่) ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของเมืองใน ผังเมืองค่อนข้างเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามุมมน พบโบราณสถาน 64 แห่ง มีสระน้ำโบราณจำนวนมาก

นอกจาก เมืองใน และ เมืองนอก ยังพบโบราณสถานอีกกว่า 50 แห่ง โบราณสถานที่สำคัญ อาทิ เขาคลังนอก ปรางค์ฤๅษี กลุ่มเขาคลังสระแก้ว และสระแก้ว และเขาถมอรัตน์ นอกจากนี้ยังพบร่องรอยการฝังศพมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์สมัยทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 11 - 17) และลพบุรี (พุทธศตวรรษที่ 16 - 17) อีกด้วย[15]: 255 

ศาลเจ้าพ่อศรีเทพ

แก้

อยู่ห่างจากประตูทางเข้าเล็กน้อยทางด้านซ้ายมือ ศาลเจ้าพ่อศรีเทพไม่ใช่โบราณสถาน แต่เป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้านทั่วไป โดยทุกปีจะมีงานบวงสรวง ในราวเดือนกุมภาพันธ์ (ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3)

ปรางค์ศรีเทพ

แก้

เป็นสถาปัตยกรรมแบบวัฒนธรรมขอมโบราณในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16-17[13]: 106  หันหน้าไปทางทิศตะวันตก ลักษณะของปรางค์สร้างด้วยอิฐและศิลาแลง ฐานล่างก่อด้วยศิลาแลงเป็นฐานบัวลูกฟัก[1] แบบเดียวกับสถาปัตยกรรมขอมทั่ว ๆ ไป เรือนธาตุก่อด้วยอิฐ ในการขุดค้นบริเวณนี้พบชิ้นส่วนทับหลังรูปลายสลักราวพุทธศตวรรษที่ 16-17[1] ซึ่งน่าจะเป็นการสร้างเพิ่มหลังจากโบราณสถานเขาคลังใน ต่อมาประมาณพุทธศตวรรษที่ 18 มีการพยายามจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงใหม่แต่ไม่สำเร็จ โดยได้พบชิ้นส่วนทิ้งกระจัดกระจาย

สระแก้วสระขวัญ

แก้

สระแก้วสระขวัญมีเนื้อประมาณ 10 ไร่ สระแก้วจะอยู่นอกเมืองไปทิศเหนือ ส่วนสระขวัญจะอยู่ในบริเวณเมืองส่วนนอก สระน้ำทั้งสองสระนี้มีน้ำขังตลอดปี และเชื่อกันว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ มีการนำน้ำทั้งสองสระนี้ไปใช้ประกอบพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาตั้งแต่สมัยโบราณมาจนถึงปัจจุบัน[18][19]

โบราณสถานเขาคลังใน

แก้

เชื่อกันว่าเป็นที่เก็บอาวุธและทรัพย์สมบัติต่าง ๆ จึงเรียกว่า "เขาคลัง"[13]: 95  การก่อสร้างประมาณพุทธศตวรรษที่ 12-14[13]: 83 [20]: 11  ผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง ที่ฐานมีรูปปูนปั้นบุคคล และสัตว์ประดับเป็นศิลปะแบบทวารวดีมีลักษณะศิลปะแบบเดียวกับที่พบที่เมืองคูบัว โบราณสถานบ้านโคกไม้เดน จังหวัดนครสวรรค์ และวัดนครโกษา จังหวัดลพบุรี จะเห็นว่าเขาคลังในตั้งอยู่เกือบกลางเมือง ลักษณะทางผังเมืองจะคล้ายกับเมืองทวารวดีอื่น ๆ เช่น เมืองนครปฐมโบราณ เมืองคูบัวที่ราชบุรี และจากรายละเอียดปูนปั้นบุคคลหรือลวดลาย แบบเดียวกับที่พบที่เมืองคูคล้าย

ปรางค์สองพี่น้อง

แก้
 
ปรางค์สองพี่น้อง

ลักษณะเป็นปรางค์ 2 องค์ ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงขนาดใหญ่[1] หันหน้าไปทางทิศตะวันตกเช่นเดียวกับปรางค์ศรีเทพ มีประตูทางเข้าทางเดียวและจากการขุดแต่งทางโบราณคดี พบทับหลังที่มีจำหลักเป็นรูปพระอิศวรอุ้มนางปารพตี ประทับนั่งอยู่เหนือโคอศุภราช ซึ่งลักษณะของทับหลังและเสาประดับกรอบประตูเป็นสิ่งกำหนดอายุของปรางค์ สร้างขึ้นเนื่องในศาสนาฮินดู[13]: 97  ซึ่งอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 16-17[13]: 97 [1] เป็นศิลปะขอม สันนิษฐานว่าน่าจะอยู่ในสมัยบาปวน - นครวัด[21]: 39 [13]: 97 [1] และได้มีการสร้างปรางค์องค์เล็กเพิ่ม โดยพบร่องรอยการสร้างทับกำแพงแก้วที่ล้อมรอบปรางค์องค์ใหญ่ ซึ่งอยู่ใต้ปรางค์องค์เล็ก และยังมีการก่อปิดทางขึ้นโดยเสริมทางด้านหน้าให้ยื่นออกมา และก่อสร้างอาคารขนาดเล็กทางทิศเหนือเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ระหว่างองค์ปรางค์ทั้งสองแห่งคือปรางค์สองพี่น้อง และปรางค์ศรีเทพจะมีกำแพงล้อมรอบ และมีอาคารปะรำพิธีขนาดเล็กกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป แสดงให้เห็นถึงลักษณะการวางผังแบบเดียวกับที่พบในภาคอีสานของประเทศไทย

เขาคลังนอก

แก้
 
ซุ้มคล้ายอาคารจำลองหลายขนาดที่มีเสาประดับ เขาคลังนอก

เขาคลังนอกเป็นมหาสถูปในวัฒนธรรมทวารวดีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ขุดสำรวจเสร็จสิ้นในปี พ.ศ. 2555 มีลักษณะหลงเหลือเป็นสิ่งก่อสร้างสี่เหลี่ยม กว้างด้านละประมาณ 64 เมตร ความสูงจากฐานถึงยอด ประมาณ 20 เมตร ใช้ศิลาแลงก่อสูงขึ้นไปจนมีขนาดใหญ่โต แบ่งเป็น 2 ชั้นหลัก ๆ โดยแต่ละชั้นสูงประมาณ 5 เมตร[22] แต่ละทิศมีเจดีย์เล็ก ๆ รายรอบ ซึ่งแสดงถึงความเชื่อเกี่ยวกับมณฑลจักรวาล และอิทธิพลทางสถาปัตยกรรมของอินเดียตอนใต้และชวากลางคล้ายบรมพุทโธ ประเทศอินโดนีเซีย

เขาถมอรัตน์และถ้ำ

แก้

เขาถมอรัตน์ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกนอกของเมืองโบราณศรีเทพห่างออกไปประมาณ 17-20 กิโลเมตร[13]: 125 [23]: 57  เป็นภูเขาหินปูนขนาดใหญ่ที่มีรูปลักษณ์เฉพาะ มีความสูง 584 เมตร[24] เป็นที่ตั้งของถ้ำถมอรัตน์ ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นศาสนสถานที่ดัดแปลงจากถ้ำหินปูนธรรมชาติ ถ้ำกว้าง 10 เมตร ลึกถึงก้นถ้ำ 23 เมตร เพดานถ้ำสูง 12 เมตรกลางถ้ำมีหินใหญ่เป็นแกนย้อนจากเพดานถ้ำลงมา[25]: 60  โดยพบประติมากรรมสลักนูนต่ำทางด้านตะวันออกของแกนมีสภาพไม่สมบูรณ์จากการถูกสกัดพระพักตร์และพระหัตถ์[25]: 60  ดังนี้ พระพุทธรูปประทับยืนบนฐานดอกบัว ปางแสดงธรรม พระโพธิสัตว์ พระพุทธรูปปางสมาธิ ปางประทานพร ปางประทานอภัย (หรือปางเสด็จลงจากดาวดึงส์)[26]: 267  ปางแสดงธรรมทั้งสองพระหัตถ์ (วิตรรกะมุทรา) พระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาท (แบบยุโรป) ปางแสดงธรรม พระพุทธรูปปางสมาธิ พระพุทธรูปนาคปรกปางสมาธิ พระพุทธรูปปางปรินิพพาน[27] รวมทั้งหมด 11 องค์เป็นศิลปะทวาราวดี ลักษณะของภาพแกะสลักนั้นคล้ายกับศิลปะขอมแบบกำแพงพระ คาดว่าสร้างตามคติความเชื่อในพุทธศาสนานิกายมหายาน เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 14[13]: 125 [28]

ราว พ.ศ. 2505 หัวหน้าหน่วยศิลปากรที่ 3 กรมศิลปากรได้รับแจ้งว่ามีการทำลายและขโมยชิ้นส่วนของพระพุทธรูปแกะสลักไปจากถ้ำ ได้แก่พระเศียรและพระหัตถ์[25]: 60  ภายหลังสืบทราบว่าอยู่ภายใต้การครอบครองของนายจิม ทอมป์สัน[25]: 60  หลังเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรได้เดินทางไปตรวจสอบก็พบว่าพระพุทธรูปจำหลักที่มีอยู่จำนวน 11 องค์ ถูกสกัดเอาเศียรและมือไปจนหาที่สมบูรณ์ไม่ได้ จึงเข้าแจ้งความต่อนายอำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์[25]: 60  สุดท้ายหลังการต่อรองและเข้าเจรจาต่อหลายครั้งนายทอมป์สันยินยอมคืนสมบัติรวม 28 ชิ้นแก่กรมศิลปากร หนึ่งในนั้นคือเศียรพระโพธิสัตว์ศรีอารยเมตไตรย ซึ่งถูกโจรกรรมจากถ้ำเขาถมอรัตน์[25]: 70  ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่อยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร[25]: 70 

อาคารหลุมขุดค้นทางโบราณคดี

แก้
 
ปรางค์ฤาษี

จัดแสดงโครงกระดูกมนุษย์และโครงกระดูกช้างที่ได้ขุดค้นทางโบราณคดีเมื่อ พ.ศ. 2531

โบราณสถานอื่น ๆ

แก้

นอกจากโบราณสถานหลักแล้วยังมีโบราณสถานย่อย ๆ กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป เช่น ทิศใต้ของเขาคลังใน พบโบสถ์ก่อด้วยศิลาแลง พบใบเสมาหินบริเวณใกล้หลุมขุดค้น และพบโบราณสถานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสสมัยทวารวดี ซึ่งได้มีการก่อสร้างทับในระยะที่รับเอาศาสนาพราหมณ์เข้ามา จึงเห็นได้ว่าบริเวณเมืองชั้นในเดิมน่าจะเป็นเมืองแบบทวารวดีและมีการสร้างสถาปัตยกรรมขอมในระยะหลังเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ทางทิศใต้ยังพบอาคารมณฑปแบบทวารวดีขนาดใหญ่ และมีการพยายามเปลี่ยนแปลงให้เป็นเทวาลัยเช่นเดียวกับปรางค์ศรีเทพประมาณต้นศตวรรษที่ 18 แต่ไม่สำเร็จ และทางทิศตะวันตกของเขาคลังนอก พบกลุ่มโบราณสถานที่มีลักษณะเป็นกำแพงอิฐล้อม ซึ่งกำลังดำเนินการขุดค้น ณ ต้นปี 2565[29] เป็นต้น

ทางทิศเหนือนอกกำแพงเมืองออกไปมีสระน้ำสองแห่ง ชื่อสระแก้วและสระขวัญ ในสมัยก่อนเมืองศรีเทพต้องส่งส่วยน้ำจากสระทั้งสองนี้ เพื่อนำไปใช้ทำน้ำพระพิพัฒน์สัตยา

การยกย่อง

แก้

นประวัติศาสตร์ศรีเทพได้รับรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย (Thailand Tourism Award) ประจำปี 2543 จำนวน 2 รางวัลคือ รางวัลประเภทแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมโบราณสถานยอดเยี่ยมและรางวัลสื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ด้านอินเทอร์เน็ตดีเด่น

รัฐบาลไทยได้เสนอเมืองโบราณศรีเทพขึ้นบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) เพื่อพิจารณาให้ขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก เมื่อวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2562

เหตุผลที่ได้รับคัดเลือกเป็นแหล่งมรดกโลก

แก้

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกจากยูเนสโก เป็นแห่งที่ 7 ของประเทศไทย และเป็นแห่งที่ 4 ในประเภทมรดกโลกทางวัฒนธรรม ภายใต้ชื่อ เมืองโบราณศรีเทพ และโบราณสถานสมัยทวารวดีที่เกี่ยวข้อง (The Ancient Town of Si Thep and its Associated Dvaravati Monuments)[5] ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 45 เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2566 ที่กรุงรียาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย[4] เนื่องจากผ่านข้อกำหนดและหลักเกณฑ์พิจารณาให้เป็นแหล่งมรดกโลก ดังนี้

  • (ii) - เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลยิ่ง ผลักดันให้เกิดการพัฒนาสืบต่อมาในด้านการออกแบบทางสถาปัตยกรรม อนุสรณ์สถาน ประติมากรรม สวน และภูมิทัศน์ ตลอดจนการพัฒนาศิลปกรรมที่เกี่ยวข้อง หรือการพัฒนาการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ซึ่งได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง หรือบนพื้นที่ใดๆ ของโลกซึ่งทรงไว้ซึ่งวัฒนธรรม
  • (iii) - เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงหลักฐานของวัฒนธรรมหรืออารยธรรมที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันหรือว่าที่สาบสูญไปแล้ว

การเดินทาง

แก้

การเดินทาง เมืองศรีเทพอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร 232 กิโลเมตร ห่างจากตัวเมืองเพชรบูรณ์ประมาณ 130 กิโลเมตร และห่างจากอำเภอวิเชียรบุรีประมาณ 25 กิโลเมตร การเดินทาง ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 21 ถนนคชเสนีย์ (สระบุรี-หล่มสัก)[13]: 13  ถึงหลักกิโลเมตรที่ 102 แล้วแยกเข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2211 ไปอีกประมาณ 10 กิโลเมตร[13]: 13  จะเห็นป้ายบอกทางเข้าอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพอยู่ด้านขวามือ

หนังสืออ่านเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้
เชิงอรรถ
  1. 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 อารีรัตน์ งามขำ. (2558). "บทที่ ๔ วัฒนธรรมการสร้างปราสาทหิน: ปรางค์ศรีเทพ และปรางค์สองพี่น้อง", ใน เขมรัฐนคร. กรุงเทพฯ: วายุ. 466 หน้า.
  2. 2.0 2.1 The Ancient Town of Si Thep and its Associated Dvaravati Monuments
  3. ‘ศรีเทพ’ สู่ ‘มรดกโลก’ แหล่งอารยธรรม 3 ยุค
  4. 4.0 4.1 "เมืองโบราณศรีเทพ มรดกโลกแห่งที่ 7 ของไทย กับ "จิ๊กซอว์" ประวัติศาสตร์ที่ถูกโจรกรรมไป". บีบีซีไทย. 19 กันยายน 2023. สืบค้นเมื่อ 20 กันยายน 2023.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  5. 5.0 5.1 "เมืองโบราณศรีเทพ และโบราณสถานสมัยทวารวดีที่เกี่ยวข้อง (แหล่งวัฒนธรรม)". สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. 2023-09-23. สืบค้นเมื่อ 2023-09-26 – โดยทาง ระบบฐานข้อมูลแหล่งมรดกโลกในประเทศไทย.
  6. สำรวจ ‘ศรีเทพ’ เยือนมหาสถูปแห่งลุ่มน้ำป่าสัก พิสูจน์ศูนย์กลางทวารวดี?
  7. ทวารวดี : ‘ศรีเทพ’ ไม่ใช่‘นครปฐม’?
  8. ครม.เห็นชอบ เสนอเมืองโบราณศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ เป็นมรดกโลก
  9. เฟสบุค เพจ อนุสาร อ.ส.ท.
  10. จารึกบนพระพิมพ์พบที่เมืองศรีเทพ
  11. ประติมากรรมสุริยเทพ เมืองโบราณศรีเทพ
  12. รู้จัก “อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ” ก่อนเป็นมรดกโลก
  13. 13.00 13.01 13.02 13.03 13.04 13.05 13.06 13.07 13.08 13.09 13.10 13.11 กรมศิลปากร, อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ สำนักศิลปากรที่ ๔ ลพบุรี. (2550). อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ. เก็บถาวร 2023-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์ (๑๙๗๗). 204 หน้า. ISBN 978-974-417-857-2
  14. กรมศิลปากร. (2516). ทะเบียนโบราณวัตถุสถานทั่วราชอาณาจักร เก็บถาวร 2023-10-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร. 552 หน้า.
  15. 15.0 15.1 15.2 กรมศิลปากร. (2549). นามานุกรมพิพิธภัณฑสถานในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ. 400 หน้า. ISBN 978-974-4-25049-0
  16. ประวัติที่มาและความสำคัญ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ กรมศิลปากร
  17. ประกาศกรมศิลปากร กำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ. (๒๔๗๘, ๘ มีนาคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม ๕๒. หน้า ๓,๖๙๓.
  18. มนู นันทมนตรี. (2536). จดหมายจากเชียงราย: สิ่งน่ารู้ของเชียงรายและเมืองเหนือ. กรุงเทพฯ: ธรรมสภา. 217 หน้า. หน้า 92.
  19. โมทยากร. (2514). นำเที่ยวแผ่นดินของไทย ๗๒ จังหวัด. กรุงเทพฯ: พิทยาคาร. 408 หน้า. หน้า 86.
  20. สันติ เล็กสุขุม. (2557). งานช่าง คำช่างโบราณ: ศัพท์ช่าง และข้อคิดเกี่ยวกับงานช่างศิลป์ไทย. พิมพิ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: มติชน. 283 หน้า. ISBN 978-974-0-21278-2
  21. กรมศิลปากร. (2548). วารสารศิลปากร, 48(4-6). (มิถุนายน - พฤศจิกายน 2548).
  22. เจาะเรื่องเขาคลังนอก…มหาสถูปเมืองศรีเทพ ข้อมูลจากปากคนในเมื่อครั้งอนุรักษ์พัฒนา
  23. วินัย พงศ์ศรีเพียร. (2537). ความยอกย้อนของอดีต: พิพิธนิพนธ์ พลตรี หม่อมราชวงศ์ศุภวัฒย์ เกษมศรี. กรุงเทพฯ: งานกราฟฟิค. 309 หน้า. ISBN 978-974-8-90108-4
  24. UNESCO World Heritage Centre. (2023). EXECUTIVE SUMMARY: The Ancient Town of Si Thep and its Associated Dvaravati Monuments. pp 7–8. 22 September 2023. Retrieved 22 Sep 2023.
  25. 25.0 25.1 25.2 25.3 25.4 25.5 25.6 กรมศิลปากร. (2511). วารสารศิลปากร, 12(3) เก็บถาวร 2023-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (กันยายน, 2511).
  26. นิคม มูสิกะคามะ. (2515). "อาณาจักรทวารวดี", ใน แผ่นดินไทยในอดีต เล่ม 1: เอกสารการค้นคว้าและวิจัยโบราณคดี. กรุงเทพฯ: แพร่พิทยา. 296 หน้า.
  27. ศักดิ์ชัย สายสิงห์. (2547, สิงหาคม). ศิลปะทวารวดี : วัฒนธรรมพุทธศาสนายุคแรกเริ่มในดินแดนไทย. กรุงเทพฯ: ด่านสุทธาการพิมพ์. 296 หน้า. ISBN 974-7383-65-9
  28. โบราณสถานถ้ำเขาถมอรัตน์
  29. อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ. (2022, 25 กุมภาพันธ์). ภาพขณะดำเนินการขุดศึกษาเนินโบราณสถาน ค.น.9/2. [โพสต์และรูปภาพประกอบ]. สืบค้นเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2565 จาก Facebook @อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ
  30. จารึกโบราณสถานหมายเลข 0996 ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย
  31. มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา, สถาบันทักษิณคดีศึกษา. (2529). สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ เล่ม 6 พ.ศ. 2529. กรุงเทพฯ: อมรินทร์การพิมพ์. 2,574 หน้า.
  32. 32.0 32.1 32.2 สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์, หม่อมราชวงศ์. (2537). ศรีทวารวดีถึงศรีรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ. 414 หน้า. ISBN 974-7367-28-8 ข้อผิดพลาดพารามิเตอร์ใน {{ISBN}}: checksum
  33. ธิดา สาระยา. (2532). (ศรี) ทวารวดี: ประวัติศาสตร์ยุคต้นของสยามประเทศ. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ. 279 หน้า.
  34. อาทร จันทวิมล. (2546). ประวัติของแผ่นดินไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: อักษรไทย. 445 หน้า. ISBN 974-917-970-6

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

15°27′56″N 101°09′11″E / 15.465634°N 101.153054°E / 15.465634; 101.153054