สุวัฒน์ วรรณศิริกุล
นายสุวัฒน์ วรรณศิริกุล (1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 - 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2555) อดีตรองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน อดีตประธานสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และประธานภาคกรุงเทพมหานคร พรรคพลังประชาชน อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานครหลายสมัย ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกในปี พ.ศ. 2529 ในสังกัดพรรคประชากรไทย และสังกัดพรรคพลังประชาชน เป็นพรรคสุดท้าย
สุวัฒน์ วรรณศิริกุล | |
---|---|
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร (6 สมัย) | |
ดำรงตำแหน่ง 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2529 – 2 ธันวาคม พ.ศ. 2551 | |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 |
เสียชีวิต | 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 (78 ปี) |
พรรคการเมือง | ประชากรไทย (2522–2543) ไทยรักไทย (2543–2550) พลังประชาชน (2550–2551) |
คู่สมรส | มะลิ วรรณศิริกุล |
ประวัติ
แก้นายสุวัฒน์ วรรณศิริกุล เกิดเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 ที่บ้านริมแม่น้ำเจ้าพระยา ใกล้ปากคลองบางปะแก้ว จังหวัดธนบุรี (ปัจจุบันเป็น แขวงบางปะกอก เขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร) เป็นบุตรของนายสมหวัง และนางทองอยู่ วรรณศิริกุล มีพี่น้อง 8 คน
นายสุวัฒน์ วรรณศิริกุล สำเร็จการศึกษาจากอิสลามวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ปริญญาตรีมหาวิทยาลัยรามคำแหง และประกาศนียบัตรชั้นสูง สาขาการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า
สมรสกับนางมะลิ วรรณศิริกุล (นามสกุลเดิม:จ่างตระกูล-ถึงแก่กรรม 3 มกราคม พ.ศ. 2538) อดีตสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร 2528-2532 กลุ่มพัฒนาราษฎร์บูรณะ เขตราษฎร์บูรณะ มีบุตรธิดา 7 คน คือ
- นางสาวนพสรัญ วรรณศิริกุล อดีตผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร พรรคเพื่อไทย พ.ศ. 2554 เป็นข้าราชการการเมือง ตำแหน่งประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2554-2557
- นางสุวิชชา วิเศษศิริ
- นางอลิสา วรรณศิริกุล
- นายสุเมธี วรรณศิริกุล อดีตสมาชิกสภาเขตเขตราษฎร์บูรณะ ประชากรไทย พ.ศ. 2537-2541 อดีตผู้สมัครสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตราษฎร์บูรณะ เพื่อไทย พ.ศ. 2553
- นางสุรัตนา วรรณศิริกุล
- นายสุวรวิทย์ วรรณศิริกุล อดีตสมาชิกสภาเขตเขตทุ่งครุ พ.ศ. 2545-2548 พรรคไทยรักไทย อดีตผู้สมัครสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตทุ่งครุ เพื่อไทย พ.ศ. 2553
- นางสาวสุพัตรา วรรณศิริกุล
งานการเมือง
แก้นายสุวัฒน์ วรรณศิริกุล อดีตดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 7 ตำบลบางปะกอก อำเภอราษฎร์บูรณะ จังหวัดธนบุรี ต่อมาเป็นแขวงบางปะกอก เขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร โดยดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านเป็นเวลา 27 ปี เป็นที่รู้จักทั่วไปอย่างกว้างขวางในนามของผู้ใหญ่เล็ก ได้รับรางวัลผู้ใหญ่บ้านดีเด่นแหนบทองคำ กระทรวงมหาดไทย และต่อมาได้เป็นกำนันแขวงบางปะกอกในระยะสั้น จึงเลื่อนขึ้นมาลงเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
นายสุวัฒน์ วรรณศิริกุล เริ่มต้นสมัครรับเลือกตั้งในสังกัดพรรคประชากรไทย ในปี พ.ศ. 2529 ต่อมาในปี พ.ศ. 2544 ย้ายมาสังกัดพรรคไทยรักไทย และในการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2550 ได้รับเลือกตั้งในสังกัดพรรคพลังประชาชน และดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน ประธาน ส.ส. ภาคกรุงเทพมหานคร และประธาน ส.ส. พรรคพลังประชาชน กระทั่งถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี ในยุบพรรคพลังประชาชน พร้อมกับบ้านเลขที่ 109
อนึ่ง นายสุวัฒน์เคยดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษา และผู้ช่วยเลขารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รองประธานคณะกรรมาธิการการคมนาคม (พ.ศ. 2529, 2531) ประธานคณะกรรมาธิการการสิ่งแวดล้อม (พ.ศ. 2538) ประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข (พ.ศ. 2544) และประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง (พ.ศ. 2550)
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
แก้สุวัฒน์ วรรณศิริกุล ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรวม 6 สมัย คือ
- การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2529 กรุงเทพมหานคร สังกัดพรรคประชากรไทย
- การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2531 กรุงเทพมหานคร สังกัดพรรคประชากรไทย
- การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2538 กรุงเทพมหานคร สังกัดพรรคประชากรไทย
- การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2544 กรุงเทพมหานคร สังกัดพรรคไทยรักไทย
- การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2548 กรุงเทพมหานคร สังกัดพรรคไทยรักไทย
- การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2550 กรุงเทพมหานคร สังกัดพรรคพลังประชาชน (พ.ศ. 2541)
ถึงแก่อนิจกรรม
แก้นายสุวัฒน์ วรรณศิริกุล ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2555[1]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้- พ.ศ. 2547 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)[2]
- พ.ศ. 2544 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)[3]
- พ.ศ. 2526 – เหรียญกาชาดสมนาคุณ ชั้นที่ 1 (เหรียญทอง)
อ้างอิง
แก้- ↑ "'สภา'เปิด ประชุมนัดพิเศษทันที". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2012-08-03.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2007-01-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๑ ตอนที่ ๒๓ ข หน้า ๒, ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๗
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2017-12-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๘ ตอนที่ ๒๒ ข หน้า ๗, ๔ ธันวาคม ๒๕๔๔
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- นายสุวัฒน์ วรรณศิริกุล[ลิงก์เสีย], เว็บไซต์รัฐสภาไทย
- บัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของนายสุวัฒน์ วรรณศิริกุล[ลิงก์เสีย], สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
- ข้อมูลนักการเมืองไทย (นายสุวัฒน์ วรรณศิริกุล), ศูนย์ข้อมูลนักการเมืองไทย