หยาดน้ำค้าง (สกุล)
- บทความนี้เป็นบทความสกุลทางชีววิทยา สำหรับบทความอื่นดูที่หยาดน้ำค้าง
หยาดน้ำค้าง | |
---|---|
Drosera tokaiensis | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Plantae |
ไม่ได้จัดลำดับ: | Angiosperms |
ไม่ได้จัดลำดับ: | Eudicots |
ไม่ได้จัดลำดับ: | Core eudicots |
อันดับ: | Caryophyllales |
วงศ์: | Droseraceae |
สกุล: | Drosera L. |
สปีชีส์ | |
ดูเพิ่มในรายชื่อของพืชในสกุลหยาดน้ำค้าง |
หยาดน้ำค้าง (อังกฤษ: Sundew) เป็นพืชกินสัตว์สกุลใหญ่สกุลหนึ่ง ในวงศ์หญ้าน้ำค้าง มีประมาณ 194 ชนิด สามารถล่อ จับ และย่อยแมลงด้วยต่อมเมือกของมันที่ปกคลุมอยู่ที่ผิวใบ โดยเหยื่อที่จับได้จะใช้เป็นสารเสริมทดแทนสารอาหารที่ขาดไป พืชในสกุลหยาดน้ำค้างมีหลายรูปแบบและหลายขนาดต่างกันไปในแต่ละชนิด สามารถพบได้แทบทุกทวีปทั่วโลก ยกเว้นทวีปแอนตาร์กติกา
ชื่อวิทยาศาสตร์ของหยาดน้ำค้าง คือ Drosera มาจากคำในภาษากรีก δρόσος: "drosos" แปลว่า "หยดน้ำ หรือ น้ำค้าง" รวมทั้งชื่อในภาษาอังกฤษ "sundew" กลายมาจาก ros solis ซึ่งเป็นภาษาละตินแปลว่า "น้ำตาพระอาทิตย์" โดยมีที่มาจากเมือกบนปลายหนวดแต่ละหนวดที่แวววาวคล้ายน้ำค้างยามเช้า
ในประเทศไทยพบหยาดน้ำค้างอยู่ 3 ชนิดคือ จอกบ่วาย (Drosera burmannii Vahl), หญ้าน้ำค้าง (Drosera indica L.) และ หญ้าไฟตะกาด (Drosera peltata Sm.)[1]
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
แก้หยาดน้ำค้างเป็นพืชหลายปี (มีไม่กี่ชนิดที่เป็นพืชปีเดียว) โตชั่วฤดู มีรูปแบบเป็นใบกระจุกทอดนอนไปกับพื้นหรือแตกกิ่งก้านตั้งตรงกับพื้นดิน มีขนาดความสูง 1 เซนติเมตร ถึง 1 เมตร ขึ้นอยู่กับชนิด ในชนิดที่มีรูปแบบลำต้นเลื้อยไต่สามารถยาวได้ถึง 3 เมตร เช่น ชนิด D. erythrogyne[2] หยาดน้ำค้างสามารถมีช่วงชีวิตได้ถึง 50 ปี[3] พืชสกุลนี้มีความสามารถในการดูดซึมสารอาหารจากเหยื่อที่จับได้เพราะหยาดน้ำค้างขนาดเล็กจะไม่มีเอนไซม์ (โดยเฉพาะไนเตรทรีดักเตส[4]) ที่ต้นไม้ทั่วไปใช้ดูดซึมสารประกอบไนโตรเจนในดิน
ลักษณะวิสัย
แก้สกุลสามารถแบ่งได้ตามรูปแบบการเจริญเติบโต:
- หยาดน้ำค้างเขตอบอุ่น (Temperate Sundews): เป็นชนิดที่เป็นกลุ่มใบคลี่ออกหนาแน่นหรือที่เรียกว่าหน่องันที่จำศลีในฤดูหนาว มีถิ่นอาศัยในทวีปอเมริกาเหนือและทวีปยุโรป Drosera arcturi จากออสเตรเลีย (รวมทั้งแทสมาเนีย) และนิวซีแลนด์เป็นอีกหนึ่งชนิดของหยาดน้ำค้างเขตอบอุ่นที่ตายลงกลับไปสู่หน่องันรูปเขาสัตว์
- หยาดน้ำค้างใกล้เขตร้อน (Subtropical Sundews): หยาดน้ำค้างชนิดนี้เป็นการเติบโตไม่อาศัยเพศมีวงจรการเติบโตเพียงหนึ่งรอบปีภายใต้ภูมิอากาศใกล้เขตร้อนหรือเกือบใกล้เขตร้อน
- หยาดน้ำค้างแคระ (Pygmy Sundews): มีประมาณ 40 ชนิดในออสเตรเลีย มีขนาดเล็กมาก มีการสร้างหน่อ (เจมมา) สำหรับการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ และมีขนหนาแน่นบริเวณกะบังรอบตรงกลาง ซึ่งขนเหล่านี้ใช้ปกป้องต้นไม้จากแสงอันร้อนแรงของพระอาทิตย์ในฤดูร้อนของทวีปออสเตรเลีย หยาดน้ำค้างแคระได้รับการจัดเป็นสกุลย่อย Bryastrum
- หยาดน้ำค้างมีหัว (Tuberous Sundews): มีเกือบ 50 ชนิดในประเทศออสเตรเลีย ที่มีหัวอยู่ใต้ดินเพื่อจะได้มีชีวิตรอดจากฤดูร้อนที่สุดโต่งในถิ่นที่อยู่อาศัย และจะแตกใบใหม่ในฤดูใบไม้ร่วง แบ่งออกเป็นสองกลุ่มคือลำต้นใบกระจุกแบบกุหลาบซ้อนและลำต้นแบบเลื้อยไต่ หยาดน้ำค้างมีหัวได้รับการจัดเป็นสกุลย่อย Ergaleium
- หยาดน้ำค้าก้านใบเป็นปมตรงปลาย (Petiolaris Complex): กลุ่มของหยาดน้ำค้างเขตร้อนของประเทศออสเตรเลียที่ถิ่นอาศัยมีอากาศอบอุ่นคงที่แต่ปัจัยความเปียกชื้นไม่สม่ำเสมอ มีประมาณ 14 ชนิดที่วิวัฒนาการเป็นพิเศษเพื่อรับมือกับสิ่งแวดล้อมแห้งแล้งแต่ผันผวนนั้น เช่น มีขนปกคลุมก้านใบหนาแน่น ซึ่งจะรักษาความชุ่มชื้นไว้ และเพิ่มผิวสำหรับการควบแน่นน้ำค้างยามเช้า
ถึงแม้ว่าหยาดน้ำค้างเหล่านี้ไม่ได้เป็นรูปแบบการเจริญเติบโตแบบเดียวกันอย่างชัดเจน แต่มักจะรวบกันไว้ในกลุ่มเดียวกัน:
- หยาดน้ำค้างควีนแลนด์ (Queensland Sundews): เป็นกลุ่มเล็กมี 3 ชนิด (D. adelae D. schizandra และ D. prolifera) ทั้งหมดเติบโตในถิ่นที่อยู่ที่มีความชื้นสูงในร่มเงาของป่าฝนประเทศออสเตรเลีย
ใบและกับดัก
แก้หยาดน้ำค้างมีต่อมหนวดจับ ที่ปลายของหนวดมีสารคัดหลั่งเหนียวปกคลุมแผ่นใบ กลไกการจับและย่อยเหยื่อปกติใช้ต่อมสองชนิด ชนิดแรกคือต่อมมีก้านที่หลั่งเมือกรสหวานออกมาดึงดูดและดักจับแมลง และหลั่งเอนไซม์ออกมาเพื่อย่อยแมลงนั้น ชนิดที่สองคือต่อมไร้ก้านที่ดูดซึมสารอาหารที่ได้จากการย่อย (หยาดน้ำค้างบางชนิดไม่มีต่อมไร้ก้าน เช่น D. erythrorhiza) เหยื่อขนาดเล็กซึ่งส่วนมากจะเป็นแมลงจะถูกดึงดูดโดยสารคัดหลั่งรสหวานที่หลั่งออกมาจากต่อมมีก้าน เมื่อแมลงแตะลงบนหนวด แมลงก็จะถูกจับไว้ด้วยเมือกเหนียว และในที่สุดเหยื่อก็จะยอมจำนนต่อความตายด้วยความเหนื่อยอ่อนหรือการขาดอากาศหายใจเพราะเมือกจะห่อหุ้มตัวและอุดทางเดินหายใจของเหยื่อนั้น ซึ่งส่วนมากจะกินเวลา 15 นาที[5] ต้นไม้จะหลั่งเอนไซม์ เอสเทอร์เรส, เพอร์ออกซิเดส, ฟอสฟาเตส และ โปรตีเอส[6]ออกมา เอนไซม์เหล่านี้จะย่อยและปลดปล่อยสารอาหารออกจากแมลง สารอาหารจะถูกดูดซึมผ่านทางผิวใบเพื่อนำไปใช้ในการเจริญเติบโตของต้นไม้ต่อไป
หยาดน้ำค้างทุกชนิดสามารถเคลื่อนไหวหนวดของมันได้ ซึ่งการเคลื่อนไหวนั้นจะตอบสนองต่อการสัมผัสของเหยื่อ หนวดจะไวต่อการกระตุ้นอย่างมากและจะงอเข้าหากลางใบเพื่อนำเหยื่อมาสัมผัสกับต่อมมีก้านให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ตามคำกล่าวของชาลส์ ดาร์วิน การสัมผัสของขาแมลงขนาดเล็กกับหนวดของหยาดน้ำค้างเพียงหนวดเดียวก็เพียงพอที่จะกระตุ้นให้เกิดการตอบสนองนั้นได้[5] การตอบสนองต่อการสัมผัสเรียกว่าทิกมอทรอปิซึม (thigmotropism, การเคลื่อนไหวของพืชโดยมีสัมผัสเป็นสิ่งเร้า) และในหยาดน้ำค้างบางชนิดการตอบสนองนี้จะเกิดรวดเร็วมาก หนวดรอบนอกของ D. burmannii และ D. sessilifolia สามารถงอเข้าสู่ภายในภายในไม่กี่วินาทีเมื่อถูกสัมผัส ในขณะที่ D. glanduligera สามารถงอหนวดรัดเหยื่อได้ในสิบวินาที[7] หยาดน้ำค้างบางชนิดสามารถงอแผ่นใบได้หลายองศาเพื่อให้สัมผัสเหยื่อมากที่สุด D. capensis มีการเคลื่อนไหวที่น่าทึ่งที่สุด ใบของมันจะงอล้อมรอบตัวเหยื่อได้ใน 30 นาที และในหยาดน้ำค้างบางชนิดอย่างเช่น D. filiformis ไม่สามารถงอใบตอบสนองเหยื่อได้[8]
ในหยาดน้ำค้างในออสเตรเลียบางชนิด (D. hartmeyerorum, D. indica) มีรูปแบบขนติ่ง (แข็งมีสีแดงหรือเหลือง) เพิ่มเข้ามา ซึ่งอาจจะใช้ในการช่วยจับเหยื่อ แต่หน้าที่แท้จริงของมันนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด
รูปร่างสัณฐานของใบในสกุลหยาดน้ำค้างนั้นมีความหลากหลายแบบสุดโต่ง มีตั้งแต่ใบรูปไข่ไร้ก้านของ D. erythrorhiza จนถึงใบรูปเข็มกึ่งแบบขนนกสองชั้นของ D. binata
ดอกและผล
แก้ดอกของหยาดน้ำค้างคล้ายกับพืชกินสัตว์ชนิดอื่นๆที่ชูดอกอยู่เหนือใบของมันด้วยก้านดอกที่ยาว การที่ดอกและกับดักอยู่ห่างกันนั้นน่าจะเกิดจากการปรับตัวเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้พาหะถ่ายเรณูมาติดกับดักของมัน อย่างไรก็ตาม มีการแสดงว่าหยาดน้ำค้างดึงดูดแมลงต่างชนิดกันสำหรับพาหะถ่ายเรณูและเหยื่อซึ่งชนิดของแมลงทั้งสองประเภทนั้นคาบเกี่ยวกันเพียงเล็กน้อย[9] ความสูงของก้านดอกนั้นอาจเป็นไปได้ที่ใช้ยกดอกให้สูงขึ้นเพื่อให้พาหะถ่ายเรณูสนใจ ส่วนมากช่อดอกจะเป็นช่อเชิงลด ดอกจะบานออกโดยการตอบสนองต่อความเข้มของแสง(เปิดเฉพาะเมื่อได้รับแสงแดดโดยตรง)และดอกจะเบนตามแสงแดดโดยตอบสนองต่อพระอาทิตย์
ดอกของหยาดน้ำค้างจะเป็นวงกลมสมมาตรกัน มีห้ากลีบ (ยกเว้นในบางชนิดที่มีสี่กลีบดอก; D. pygmaea และแปดถึงสิบสองกลีบดอก; D. heterophylla) โดยมากมีดอกขนาดเล็ก (<1.5 ซม. หรือ 0.6 นิ้ว) อย่างไรก็ตาม มีหยาดน้ำค้างสองสามชนิด เช่น D. regia และ D. cistiflora ที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของดอก 4 ซม. (1.5 นิ้ว) หรือมากกว่า[8] ทั่วไปแล้วดอกมีสีขาวหรือชมพู แต่ชนิดที่ขึ้นในประเทศออสเตรเลียกลับมีสีที่หลากหลาย เช่น สีส้ม (D. callistos), สีแดง (D. adelae), สีเหลือง (D. zigzagia) หรือสีม่วง (D. microphylla)
หยาดน้ำค้างมีรังไข่เป็นรังไข่แบบสูงกว่าและพัฒนามาเป็นผลแห้งแตกที่ภายใบบรรจุไปด้วยเมล็ดเล็กๆมากมาย
ราก
แก้ระบบรากของหยาดน้ำค้างเกือบทุกชนิดจะมีการวิวัฒนาการน้อยมาก เพราะหน้าที่หลักของมันมีแค่ดูดซับน้ำและยึดต้นไม้กับกับพื้น หยาดน้ำค้างแอฟริกาสองสามชนิดใช้รากเป็นที่เก็บสะสมน้ำและอาหาร บางชนิดมีระบบรากจริงที่เหลืออยู่ระหว่างฤดูหนาวถ้าลำต้นตายลง บางชนิด เช่น Drosera adelae และ Drosera hamiltonii ใช้รากของมันสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ โดยแตกหน่อจากรากของมัน หยาดน้ำค้างในออสเตรเลียบางชนิดมีหัวใต้ดินเพื่อให้ต้นไม้รอดตายในฤดูร้อนที่แห้งแล้ง รากของหยาดน้ำค้างแคระบ่อยครั้งที่มันมีรากที่ยาวมากเมื่อเทียบสัดส่วนกับขนาดของต้น 1 ซม.มีรากยาวมากกว่า 15 ซม.จากผิวดิน หยาดน้ำค้างแคระบางชนิด เช่น D. lasiantha และ D. scorpioides มีระบบรากวิสามัญ หยาดน้ำค้างชนิด Drosera intermedia และ D. rotundifolia มีรายงานว่าพบรูปแบบอาบัสคูลาไมคอไรซาแทรกอยู่ในเนื้อเยื่อของพืช[10]
วงศ์วานวิวัฒนาการ
แก้แผนภาพวิวัฒนาการชาติพันธุ์แสดงความสัมพันธ์ระหว่างสกุลย่อยจำแนกโดยรีวาดาเวีย (Rivadavia) และคณะในปี ค.ศ. 2002[11] หมู่ Meristocaulis ที่มีเพียงชนิดเดียวไม่ถูกรวมไว้ในการศึกษานี้ ทำให้การจัดความสัมพันธ์ไม่ชัดเจนนัก แต่ในการศึกษาเมื่อเร็วๆนี้ ได้จัดวางมันไว้ใกล้กับหมู่ Bryastrum นอกจากนี้หมู่ Regiae ทีมีความสัมพันธ์กับ Aldrovanda และ Dionaea ก็ยังไม่แน่นอน[12] นอกจากนี้ หมู่ Drosera เป็นกลุ่มที่มีบรรพบุรุษต่างกัน ถูกจัดความสัมพันธ์หลายสายในแผนภาพวงศ์วานวิวัฒนาการ ดังนั้นควรมีการปรับปรุงเพื่อให้ความความชัดเจนมากขึ้น
การสืบพันธุ์
แก้หยาดน้ำค้างหลายชนิดสืบพันธุ์ได้ด้วยตนเอง (ผสมในต้นเดียว) และบ่อยครั้งที่มีการผสมเรณูในดอกเดียวกัน[8] ทำให้มีเมล็ดมากมาย เมล็ดสีดำเล็กๆจะเริ่มงอกเมื่อได้รับแสงและความชื้น ขณะที่เมล็ดของชนิดที่อยู่ในเขตอบอุ่นต้องการความเย็น, อากาศชื้น, เป็นตัวกระตุ้นในการงอก เมล็ดของหยาดน้ำค้างที่มีหัวต้องการความร้อน, ฤดูร้อนที่แห้ง ตามด้วยความเย็น, ฤดูหนาวที่เปียกชื้น สำหรับกระตุ้นให้เมล็ดงอก
การสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศเกิดขึ้นตามธรรมชาติในหยาดน้ำค้างบางชนิดที่สร้างไหลหรือเมื่อรากอยู่ใกล้กับผิวดิน ใบแก่ที่สัมผัสกับดินอาจแตกหน่อเป็นต้นเล็กๆได้ หยาดน้ำค้างแคระจะสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศเช่นกัน โดยใช้ใบที่คล้ายเกล็ดที่เรียกว่าเจมมา หยาดน้ำค้างที่มีหัวสามารถสร้างตะเกียงจากหัวของมันได้
บ่อยครั้งการกระจายพันธุ์ของหยาดน้ำค้างเกิดจากใบ, หัว หรือราก เท่าๆกับที่เกิดจากเมล็ด
การกระจายพันธุ์
แก้การกระจายพันธุ์ของพืชสุกลหยาดน้ำค้างนั้นแพร่กระจายจากรัฐอะแลสกาในทางตอนเหนือจนถึงประเทศนิวซีแลนด์ในทางตอนใต้ โดยมีศูนย์กลางความหลากหลายอยู่ที่ประเทศออสเตรเลีย (ประมาณ 50% ของชนิดที่ค้นพบ), ทวีปอเมริกาใต้ (20+ ชนิด) และทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา (20+ ชนิด) มีหยาดน้ำค้างสองสามชนิดที่พบได้ในทวีปยูเรเชียและทวีปอเมริกาเหนือ ซึ่งบริเวณเหล่านี้ถือเป็นรอบนอกของการกระจายพันธุ์ของสกุลซึ่งโดยทั่วไปการกระจายพันธุ์ของหยาดน้ำค้างจะไม่เข้าใกล้บริเวณเขตอบอุ่นหรือขั้วโลกเหนือ มีการคาดคิดที่ต่างออกไปว่าการวิวัฒนาการของพืชสกุลนี้เกิดขึ้นในช่วงการแตกออกของทวีปกอนด์วานา เนื่องจากการเลื่อนไหลของทวีป และการวิวัฒนาการที่เกิดการกระจายตัวที่กว้างขวางในปัจจุบันเกิดจากผลนั้น[11] ต้นกำเนิดของสกุลคาดว่าอยู่ในทวีปแอฟริกาหรือประเทศออสเตรเลีย[11]
ในยุโรปพบหยาดน้ำค้างเพียงสามชนิดเท่านั้น คือ: D. intermedia, D. anglica, และ D. rotundifolia ซึ่งสองชนิดหลังมีการกระจายพันธุ์ที่ซ้อนทับกัน ทำให้เกิดลูกผสมที่เป็นหมันอย่าง D. × obovata ในอเมริกาเหนือนอกจากจะมีหยาดน้ำค้างสามชนิดรวมทั้งลูกผสมเหมือนกับในยุโรปแล้วยังมีหยาดน้ำค้างอีกสี่ชนิด D. brevifolia เป็นพืชล้มลุกขนาดเล็กที่พบในรัฐที่ใกล้ชายฝั่ง จากรัฐเท็กซัสถึงรัฐเวอร์จิเนีย ในขณะที่ D. capillaris นั้นพบได้ในแถบเดียวกันและยังพบในแถบแคริบเบียนอีกด้วย ชนิดที่สาม D. linearis พบทางตอนเหนือของสหรัฐอเมริกาและทางตอนใต้ของประเทศแคนาดา D. filiformis มีสองชนิดย่อยพบตามรัฐทางชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐอเมริกา เช่น แหลมฟลอริดา เป็นต้น
พืชในสกุลนี้บ่อยครั้งถูกระบุบว่าพบได้ทั่วโลกซึ่งหมายความว่ามีการกระจายพันธุ์ทั่วโลก ลุดวิจ ดีลส์ (Ludwig Diels) นักพฤกษศาสตร์ ผู้เขียนเอกสารเกี่ยวสกุลนี้ เรียกสิ่งนี้ว่า "การตัดสินใจที่ผิดอย่างที่สุดในสกุลนี้ การกระจายพันธุ์นั้นผิดปกติอย่างมาก" („arge Verkennung ihrer höchst eigentümlichen Verbreitungsverhältnisse“) ในขณะที่ยอมรับว่าหยาดน้ำค้าง "อาศัยอยู่ในส่วนที่พิเศษของผิวโลก" („einen beträchtlichen Teil der Erdoberfläche besetzt“)[13] เขาชี้ว่าไม่พบหยาดน้ำค้างจากในบริเวณเกือบจะทั้งหมดของพื้นที่ที่มีสภาพภูมิอากาศแห้งแล้ง ป่าดิบชื้น ชายฝั่งแปซิฟิกของอเมริกา โพลีนีเซีย บริเวณเมดิเตอร์เรเนียน และ แอฟริกาเหนือ และพบหนาแน่นน้อยในแถบอบอุ่น เช่น ยุโรป และอเมริกาเหนือ[13]
ถิ่นอาศัย
แก้โดยทั่วไปแล้วหยาดน้ำค้างจะเติบโตในฤดูที่มีความชุ่มชื้นหรือถิ่นอาศัยที่เปียกชื้นตลอดปีที่มีดินมีสภาพเป็นกรดและได้รับแสงในปริมาณที่สูง ถิ่นอาศัยโดยปกติจะเป็นหนองน้ำ, พื้นที่ลุ่ม, ที่ลุ่มหนอง, ที่ลุ่มมีน้ำขัง,ภูเขาหัวตัดของประเทศเวเนซุเอลา, วอล์ลัมของชายฝั่งออสเตรเลีย, ฟินบอสของประเทศแอฟริกาใต้, และลำห้วยที่ชุ่มชื้น หยาดน้ำค้างหลายชนิดเติบโตในกลุ่มสแฟกนั่ม มอสส์ซึ่งดูดซับสารอาหารจำนวนมากจากดินและเปลี่ยนดินให้มีสภาพเป็นกรด ทำให้ดินมีสารอาหารไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตของพืช ซึ่งหยาดน้ำค้างเหล่านั้นที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาสารอาหารเหล่านี้สามารถเจริญเติบโตปกคุลมได้บนพื้นที่เหล่านี้
จากที่กล่าวมาข้างต้น หยาดน้ำค้างมีความหลากหลายในถิ่นที่อยู่อาศัย ทำให้หยาดน้ำค้างแต่ละชนิดต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมที่หลากหลาย อย่างในป่าฝน, ทะเลทราย (เช่น D. burmannii และ D. indica) และสิ่งแวดล้อมที่เกือบไม่ได้รับแสงเลย (หยาดน้ำค้างควีนแลนด์) หยาดน้ำค้างชนิดในเขตอบอุ่นจะจำศีลในฤดูหนาว ซึ่งเป็นตัวอย่างการปรับตัวให้เข้ากับถิ่นอาศัย ทั่วไปแล้วหยาดน้ำค้างชอบสภาพอากาศอบอุ่นแต่ก็ทนต่อความหนาวเย็นได้พอสมควร
การอนุรักษ์
แก้แม้ว่าไม่มีหยาดน้ำค้างชนิดใดในสหรัฐอเมริกาจะได้รับการปกป้องจากรัฐบาลกลาง แต่ทุกชนิดกลับถูกบรรจุอยู่ในบัญชีพืชที่ถูกคุกคามหรือใกล้สูญพันธุ์ในบางรัฐ[14] นอกจากนี้ ประชากรส่วนมากที่เหลืออยู่จะพบในพื้นที่ที่ได้รับการปกป้อง เช่น อุทยานแห่งชาติ หรือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า พืชในสกุลหยาดน้ำค้างได้รับการปกป้องโดยกฎหมายจากหลายประเทศในยุโรป เช่น ประเทศเยอรมนี[15] ออสเตรีย สวิสเซอร์แลนด์ สาธารณรัฐเช็ก ฟินแลนด์[15] ฮังการี[15] ฝรั่งเศส[15] และบัลแกเรีย[15] ปัจจุบัน การคุกคามร้ายแรงในยุโรปและอเมริกาเหนือคือการสูญเสียถิ่นอาศัยจากการพัฒนา เช่น การระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่มน้ำเพื่อการเกษตร และการเก็บเกี่ยวพีท (peat) บางชนิดสูญพันธุ์ไปแล้วในหลายพื้นที่ของการกระจายพันธุ์ การนำพืชกลับเข้ามาสู่ถิ่นอาศัยเป็นการยากมากหรือแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะความต้องการทางระบบนิเวศวิทยาของประชากรพืชนั้นๆ ต้องใกล้เคียงกับบริเวณภูมิศาสตร์ที่อาศัยเดิมของมัน เนื่องจากความคุ้มครองทางกฎหมายในหนองน้ำและทุ่งหญ้าที่เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับผลของความพยายามอันเข้มข้นที่ปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมของถิ่นอาศัยดังกล่าว ภัยคุกคามต่อความอยู่รอดของของหยาดน้ำค้างอาจจะจำกัดขอบเขตได้ แม้ว่าหยาดน้ำค้างหลายชนิดส่วนมากจะถูกคุกคามจนใกล้สูญพันธุ์ ด้วยความที่หยาดน้ำค้างมีขนาดเล็ก โตช้า ทำให้ยากต่อการปกป้อง ในการที่เป็นส่วนหนึ่งของภูมิประเทศ หยาดน้ำค้างมักถูกมองข้ามหรือไม่เป็นที่จดจำ
ในประเทศแอฟริกาใต้และประเทศออสเตรเลีย สองสามพื้นที่ที่มีความหลากหลายของชนิดพันธุ์ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยทางธรรมชาติของพืชสกุลนี้อยู่ภายใต้การรุกรานอย่างมากจากกิจกรรมของมนุษย์ แหล่งอาศัยหลายพื้นที่ (เช่น รัฐควีนส์แลนด์, เพิร์ท และ เคปทาวน์) ถูกคุกคามอย่างหนักจากการลดลงของความชื้นที่เกิดจากการทำการเกษตรและการทำป่าไม้ในพื้นที่ชนบท อีกทั้งภัยแล้งที่เกิดขึ้นในออสเตรเลียในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาก็เป็นเหตุคุกคามหยาดน้ำค้างหลายชนิดเช่นกัน
พืชสกุลนี้ที่เป็นพืชเฉพาะถิ่นมีการกระจายพันธุ์ในพื้นที่จำกัด มักถูกคุกคามจากการเก็บพืชออกจากป่า D. madagascariensis ได้รับการจัดเป็นสิ่งมีชีวิตที่ใกล้จะสูญพันธุ์ในประเทศมาดากัสการ์เพราะถูกเก็บออกจากป่าจำนวนมาก โดยถูกส่งออกถึง 10 - 200 ล้านต้นต่อปีเพื่อให้ในเชิงการแพทย์[15]
ประโยชน์
แก้ประโยชน์ทางการแพทย์
แก้หยาดน้ำค้างถูกให้ในทางการแพทย์มาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่12 เมื่อแพทย์ชาวอิตาลีจากโรงเรียนแห่งซาแลร์โน (Salerno) ที่ชื่อมัตตาเออุส ปลาเตอารีอุส (Matthaeus Platearius) บรรยายถึงพืชสกุลนี้ว่าเป็นยาสมุนไพรรักษาอาการไอภายใต้ชื่อ "herba sole" มีการใช้กันทั่วไปในประเทศเยอรมนีและทุกๆที่ในทวีปยุโรป ชาที่ทำจากหยาดน้ำค้างถูกแนะนำจากนักสมุนไพรว่าสามารถเป็นรักษาอาการไอแห้งๆ, โรคหลอดลมอักเสบ, โรคไอกรน, โรคหืด และ "อาการหายใจลำบากที่มีสาเหตุจากหลอดลม"[16] จากการศึกษาในปัจจุบันระบุบว่าพืชสกุลหยาดน้ำค้างมีคุณสมบัติบรรเทาอาการไอ[17]
Materia Medica ของคูลเบร์ท (Culbreth) ในปี ค.ศ. 1927 แสดงรายการว่า D, rotundifolia, D. anglica และ D.linearis ใช้เป็นยากระตุ้น และ รักษา หลอดลมอักเสบ, ไอกรน, และ วัณโรค[18] หยาดน้ำค้างถูกใช้เป็นสารกระตุ้นกำหนัดและกระตุ้นหัวใจด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังใช้รักษาการไหม้จากแดดเผา ปวดฟัน[19] และป้องกันเป็นกระ ยาเหล่านี้ยังคงใช้อยู่ในปัจจุบัน มีประมาณ 200-300 ชนิดที่ขึ้นทะเบียน ปกติจะใช้ร่วมกับส่วนผสมอื่น ปัจจุบัน หยาดน้ำค้างยังคงใช้ในการรักษาอาการป่วยอย่างเช่น ไอ การติดเชื้อที่ปอด และ แผลในกระเพาะ
ยาแต่เดิมนั้นทำมาจาก ราก ดอก และผล[20] ตั้งแต่หยาดน้ำค้างมีการอนุรักษ์ในหลายๆส่วนของยุโรปและอเมริกาเหนือ การสกัดยานั้นจึงต้องใช้หยาดน้ำค้างที่โตเร็วและได้จากการปลูกเลี้ยง (โดยเฉพาะ D. rotundifolia, D. intermedia, D. anglica, D. ramentacea และ D. madagascariensis) หรือหยาดน้ำค้างที่นำเข้ามาจาก มาดากัสการ์, สเปน, ฝรั่งเศส, ฟินแลนด์ และ ประเทศกลุ่มทะเลบอลติก[21]
ไม้ประดับ
แก้เพราะด้วยความที่มันเป็นพืชกินสัตว์และมีกับดักที่สวยงามแพรวพราว หยาดน้ำค้างจึงเป็นไม้ประดับที่ได้รับความนิยมอย่างมาก อย่างไรก็ตามความต้องการในสิ่งแวดล้อมของหยาดน้ำค้างหลายๆชนิดค่อนข้างจะเข้มงวดทำให้ยากต่อการปลูกเลี้ยง เป็นผลให้หยาดน้ำค้างหลายๆชนิดไม่มีการปลูกเลี้ยงทางการค้ากัน แต่ก็ยังมีอีกสองสามชนิดที่ถูกเลี้ยงทางการค้าอย่างเป็นล่ำเป็นสัน และมักจะพบมันวางขายอยู่ใกล้ๆกับกาบหอยแครง ซึ่งก็มี D. capensis, D. aliciae, และ D. spatulata[22]
ในหยาดน้ำค้างหลายๆชนิด โดยทั่วไปแล้ว ต้องการสิ่งแวดล้อมที่มีความชื้นสูง ปกติจะอยู่ในรูปแบบของเครื่องปลูกที่เปียกหรือชื้นอย่างสม่ำเสมอ หลายชนิดต้องการน้ำบริสุทธิ์ สารอาหาร เกลือ หรือแร่ธาตุในดิน สามารถหยุดยั้งการเจริญเติบโตหรือทำให้มันตายได้ ปกติจะใช้เครื่องปลูกเป็นสแฟกนัมมอสส์ที่ยังสดผสมกับที่แห้งแล้ว, สแฟกนัมพีชมอสส์, ทราย, และ/หรือ เพอร์ไลต์ และรดน้ำด้วยน้ำกลั่น, น้ำที่ผ่านกระบวนการออสโมซิสผันกลับ หรือน้ำฝน[8]
นาโนเทคโนโลยีชีวภาพ
แก้เมือกที่ผลิตโดยหยาดน้ำค้างมีคุณสมบัติยืดหยุ่นอย่างน่าทึ่งและทำให้สกุลนี้เป็นหัวเรื่องที่น่าสนใจมากในการวิจัยวัสดุชีวภาพ ในการศึกษาเมื่อไม่นานมานี้ ได้ทำการวิเคราะห์เมือกเหนียวในหยาดน้ำค้างสามชนิด (D. binata, D. capensis, และ D. spatulata) เพื่อวิเคราะห์หาปริมาณเส้นใยนาโนและอนุภาคนาโน[23] จากการใช้กล้องจุลทรรศน์แรงอะตอม, กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนชนิดส่องผ่าน, และการวัดการกระจายพลังงานของรังสีเอกซ์ นักวิจัยสามารถสังเกตเห็นเครือข่ายของเส้นใยนาโนและอนุภาคนาโนที่มีขนาดต่าง ๆ ภายในเมือก นอกจากนี้ยังพบแคลเซียม แมกนีเซียม และ คลอรีน ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของเกลือชีวภาพ[23] อนุภาคนาโนเหล่านี้คาดว่าถูกสร้างขึ้นเพื่อเพิ่มความเหนียวและความหนืดของเมือก ซึ่งจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของกับดัก ที่สำคัญ ในการวิจัยวัสดุชีวภาพคือเมื่อเมือกถูกทำให้แห้งจะให้สารตั้งต้นที่เหมาะสมสำหรับการยึดติดกับเซลล์ที่มีชีวิต สิ่งนี้มีความหมายที่สำคัญสำหรับวิศวกรรมเนื้อเยื่อเนื่องจากคุณสมบัติยืดหยุ่นของสาร โดยพื้นฐานแล้ว การเคลือบเมือกหยาดน้ำค้างบนการผ่าตัดแบบปลูกฝัง เช่น การเปลี่ยนสะโพก หรือการปลูกถ่ายอวัยวะ สามารถเพิ่มอัตราการฟื้นตัวอย่างมากและลดโอกาสในการถูกปฏิเสธ เนื่องจากเนื้อเยื่อที่มีชีวิตสามารถติดและเติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ผู้แต่งยังแนะนำการใช้งานที่หลากหลายสำหรับเมือกหยาดน้ำค้าง ประกอบด้วย การรักษาแผล การฟื้นฟูสภาวะเสื่อม หรือสารยึดติดสังเคราะห์ประสิทธิภาพสูง[23]
อื่นๆ
แก้หัวของหยาดน้ำค้างชนิดที่มีหัวที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศออสเตรเลียเป็นอาหารของชนเผ่าอะบอริจิน ชนพื้นเมืองในทวีปออสเตรเลีย[24] หัวบางชนิดก็ถูกนำมาทำเป็นสีย้อมผ้า[25] ขณะที่สีม่วงและสีเหลืองที่ย้อมอยู่บนเสื้อผ้าของชาวสก็อตตามภูเขาสูงได้จาก D. rotundifolia[26] เหล้าที่ทำจากพืชสกุลหยาดน้ำค้าง ปัจจุบันยังคงยังมีการผลิตอยู่ ซึ่งใช้สูตรจากสมัยคริสต์ศวรรษที่ 14 โดยทำมากจากใบสดๆของ D. capensis, D. spatulata, และ D. rotundifolia[25]
องค์ประกอบทางเคมี
แก้สารประกอบทางเคมีหลายชนิดที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพพบได้ในหยาดน้ำค้าง ประกอบด้วย ฟลาโวนอยด์ (แคมพ์เฟอรอล, ไมริเซติน, เควอซิทิน และ ไฮเปอร์โรไซด์),[27] ควิโนน (พลัมบาจิน,[28] hydroplumbagin glucoside[29] และ rossoliside (7–methyl–hydrojuglone–4–glucoside)[30]), และส่วนประกอบอื่น ๆ เช่น แคโรทีนอยด์, กรดพืช (เช่น กรดบิวทิริก, กรดซิตริก, กรดฟอร์มิก, กรดแกลลิก, กรดมาลิก, กรดโพรพิโอนิก), ยางไม้, แทนนิน และ กรดแอสคอร์บิก (วิตามินซี)
อ้างอิง
แก้- ↑ สำนักงานหอพรรณไม้. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันทน์ -- กรุงเทพมหานคร : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, 2549
- ↑ Mann, Phill (2001). The world's largest Drosera เก็บถาวร 2011-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน; Carnivorous Plant Newsletter, Vol 30, #3: pg 79.
- ↑ Barthlott et al., Karnivoren, p. 102
- ↑ Karlsson PS, Pate JS (1992). "Contrasting effects of supplementary feeding of insects or mineral nutrients on the growth and nitrogen and phosphorus economy of pygmy species of Drosera". Oecologia. 92: 8–13. doi:10.1007/BF00317256.
- ↑ 5.0 5.1 Charles Darwin (1875). Insectivorous Plants. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2005-07-20. สืบค้นเมื่อ 2009-08-15.
- ↑ Barthlott et al., Karnivoren, p. 41
- ↑ Hartmeyer, I. & Hartmeyer, S., (2005) Drosera glanduligera: Der Sonnentau mit "Schnapp-Tentakeln", DAS TAUBLATT (GFP) 2005/2: 34-38
- ↑ 8.0 8.1 8.2 8.3 D'Amato, Peter (1998). The Savage Garden - Cultivating Carnivorous Plants. Berkley, California: Ten Speed Press.
- ↑ Murza, Gillian L; Heaver, Joanne R; Davis, Arthur R; 2006 Minor pollinator-prey conflict in the carnivorous plant, Drosera anglica. Plant Ecology. Vol. 184, no. 1, pp. 43-52.
- ↑ B. Wang and Y.-L. Qiu (2006). "Phylogenetic distribution and evolution of mycorrhizas in land plants". Mycorrhiza. 16: 299–363. doi:10.1007/s00572-005-0033-6.[ลิงก์เสีย]
- ↑ 11.0 11.1 11.2 Rivadavia, Fernando; Kondo, Katsuhiko; Kato, Masahiro und Hasebe, Mitsuyasu (2003). "Phylogeny of the sundews, Drosera (Droseraceae), based on chloroplast rbcL and nuclear 18S ribosomal DNA Sequences". American Journal of Botany. 90: 123–130. doi:10.3732/ajb.90.1.123.
{{cite journal}}
: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์) - ↑ http://www.amjbot.org/cgi/content/full/89/9/15[ลิงก์เสีย]03
- ↑ 13.0 13.1 Diels, Ludwig: Droseraceae, in Engler, A. (Hrsg.): Pflanzenr. 4, 112 : 109, 1906
- ↑ USDA, Threatened and Endangered; Results for Genus Drosera; Results compiled from multiple publications. (Retrieved 04:30, May 16, 2006)
- ↑ 15.0 15.1 15.2 15.3 15.4 15.5 World Wildlife Fund Germany, TRAFFIC Germany (eds.), Drosera spp. - Sonnentau, 2001, p. 5, PDF Online เก็บถาวร 2011-10-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ Schilcher, H. & M. Elzer 1993. Drosera (Sundew): A proven antitussive. Zeitschrift Phytotherapie 14(50): 4.
- ↑ Oliver-Bever B. Plants in Tropical West Africa. Cambridge University Press: Cambridge, 1986: 129.
- ↑ Culbreth, David M. R. Materia Medica and Pharmacology. Lea & Febiger, Philadelphia, 1927.
- ↑ Lewis, Walter H., 1977 Medical Botany - Plants Affecting Man's Health; John Wiley & Sons, St. Louis, Misouri. pg. 254. Plant decoction of "Drosera sp.." used in Mexico to treat toothache.
- ↑ Wichtl M.; Herbal Drugs and Phytopharmacetuicals; Boca Raton, FL: CRC Press, 1994, 178;81.
- ↑ World Wildlife Fund Germany, TRAFFIC Germany (eds.), Drosera spp. - Sonnentau, 2001, p. 5, PDF Online เก็บถาวร 2020-07-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ Rice, Barry. 2006. Growing Carnivorous Plants. Timber Press: Portland, Oregon.
- ↑ 23.0 23.1 23.2 Zhang, M.; Lenaghan, S.C.; Xia, L.; Dong, L.; He, W.; Henson, W.R.; Fan, X. (2010). "Nanofibers and nanoparticles from the insect capturing adhesive of the Sundew (Drosera) for cell attachment". Journal of Nanobiotechnology. 8 (20): 20. doi:10.1186/1477-3155-8-20. PMC 2931452. PMID 20718990.
- ↑ Barthlott et al., Karnivoren, p. 100
- ↑ 25.0 25.1 Plantarara (2001): Artzneimittle, Tee, und Likör aus fleischfressenden Pflanzen เก็บถาวร 2006-06-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ Dwelly, Edward; "Dwelly’s [Scottish] Gaelic Dictionary” (1911) (Dath)
- ↑ Ayuga C; และคณะ (1985). "Contribución al estudio de flavonoides en D. rotundifolia L". An R Acad Farm. 51: 321–326.
- ↑ Wagner H; และคณะ (1986). "Immunological investigations of naphthoquinone – containing plant extracts, isolated quinones and other cytostatic compounds in cellular immunosystems". Phytochem Soc Eur Symp: 43.
- ↑ Vinkenborg, J; Sampara-Rumantir, N; Uffelie, OF (1969). "The presence of hydroplumbagin glucoside in Drosera rotundifolia L". Pharmaceutisch Weekblad. 104 (3): 45–9. PMID 5774641.
- ↑ Sampara-Rumantir N. (1971). "Rossoliside". Pharm Weekbl. 106 (35): 653–664. PMID 5566922.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- A key to Drosera species, with distribution maps and growing difficulty scale เก็บถาวร 2008-02-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- A virtually exhaustive listing of Drosera pictures on the web เก็บถาวร 2006-09-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- International Carnivorous Plant Society
- Carnivorous Plant FAQ
- Listing of scientific Drosera articles online (terraforums.com) เก็บถาวร 2007-11-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- The Sundew Grow Guides เก็บถาวร 2010-02-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Sundew images from smugmug
- Botanical Society of America, Drosera - the Sundews เก็บถาวร 2010-06-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน