รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของประเทศไทย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับที่ 20 มีที่มาจากการที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2558 ประกอบด้วยสมาชิก 21 คน มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ สมาชิก คสช. เป็นประธาน[1] เมื่อร่างเสร็จแล้ว มีการลงประชามติในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2559 ซึ่งผู้มาใช้สิทธิร้อยละ 61.35 เห็นชอบ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยและพระราชทานรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2560 หลังมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติตามพระบรมราชวินิจฉัย จำนวนมาตราในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทั้งหมด 279 มาตรา มากเป็นอันดับที่ 3 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
พุทธศักราช 2560
หน้าแรกของรัฐธรรมนูญ
ข้อมูลทั่วไป
ผู้ตรารัฐบาลไทย
ผู้ลงนามพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
วันลงนาม6 เมษายน 2560
ผู้ลงนามรับรองพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
(นายกรัฐมนตรี)
วันลงนามรับรอง6 เมษายน 2560
วันประกาศ6 เมษายน 2560
วันเริ่มใช้6 เมษายน 2560
ท้องที่ใช้ ไทย
การร่าง
ชื่อร่างร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ผู้ยกร่างคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ
การแก้ไขเพิ่มเติม
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2564
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกวิจารณ์ว่าเป็นการสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เนื่องจากกำหนดให้สมาชิกวุฒิสภาไทย ชุดที่ 12 จำนวน 250 คน ที่ทำหน้าที่ในช่วง 5 ปีแรก มาจากการแต่งตั้งหรือคัดเลือกโดย คสช. ทั้งหมด ทำให้ถูกมองว่าองค์กรอิสระถูกควบคุมโดย คสช. ในทางอ้อม นอกจากนี้ การรณรงค์ให้ความรู้และให้ลงมติคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญถูกปิดกั้น และคำถามพ่วงในประชามติมีความซับซ้อนเข้าใจยาก ซึ่งมีผลให้สมาชิกวุฒิสภามีอำนาจร่วมลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีได้เช่นเดียวกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ส่วนเนื้อหาอื่น เช่น การแก้ไขให้ "สิทธิ" หลายประการของประชาชนกลายเป็น "หน้าที่" ของรัฐ ตลอดจนบทเฉพาะกาลที่รับรองบรรดาประกาศและคำสั่งของ คสช.

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกวิจารณ์และมีการเรียกร้องให้แก้ไขเพิ่มเติมอยู่หลายครั้ง แต่จนถึงปัจจุบันยังมีการแก้ไขเพิ่มเติมเพียงครั้งเดียวคือเพื่อเปลี่ยนระบบการเลือกตั้ง ส่วนประเด็นยกเลิกวุฒิสภาจากการแต่งตั้งซึ่งเป็นข้อเรียกร้องสำคัญข้อหนึ่งของการประท้วงในประเทศไทย พ.ศ. 2563–2564 ไม่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา

ประวัติ

แก้

คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ

แก้

วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 เกิดรัฐประหาร โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คณะรัฐประหารมีคำสั่งยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ต่อมาในวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ซึ่งกำหนดให้มี "คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ" (กรธ.) ประกอบด้วยสมาชิก 36 คน สรรหามาจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.), สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.), คณะรัฐมนตรี (ครม.), และ คสช. เพื่อร่างรัฐธรรมนูญถาวรฉบับใหม่ วันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 เทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. ลงนามคำสั่งแต่งตั้ง กยร. ซึ่งมีบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน[2] ทั้งนี้การร่างรัฐธรรมนูญเป็นหนึ่งโรดแมปสำคัญของ คสช. ก่อนจะเปิดให้มีการเลือกตั้งครั้งถัดไป[3]

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ กยร. เดิมมี 315 มาตรา หลังจากได้รับข้อเสนอของ สปช. แล้ว กยร. ได้ปรับแก้เนื้อหาให้เหลือ 285 มาตรา[4] แต่ในวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2558 สปช. มีมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของ กยร.[5] ส่งผลให้ สปช. และ กยร. สิ้นสุดลงในวันนั้น

คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ

แก้

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ. 2558 กำหนดให้ คสช. แต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ขึ้นแทน กยร. ชุดเดิม[6] วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2558 คสช. จึงแต่งตั้ง กรธ. โดยมีมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน[1]

สมาชิกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ มีดังนี้

กรธ. ชุดนี้พ้นจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2561[7][8]

เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ

แก้

29 มกราคม พ.ศ. 2559 กรธ. ได้เผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญเบื้องต้นผ่านเว็บไซต์ของรัฐสภา[9]

30 มีนาคม พ.ศ. 2559 หนังสือพิมพ์ สเตรดไทมส์ เขียนว่า ร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวจะให้คณะผู้ยึดอำนาจการปกครองมีอำนาจในรัฐสภาอีกห้าปี โดยจะได้แต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ทั้ง 250 คน โดยสงวนหกที่นั่งไว้ให้ผู้บัญชาการทหารและตำรวจ นอกจากนี้ ในกรณีที่เกิดวิกฤตการณ์ ยังมีบทเฉพาะกาลให้สภาผู้แทนราษฎรเลือกนายกรัฐมนตรีที่มิได้มาจากการเลือกตั้ง[10]

10 เมษายน พ.ศ. 2559 หนังสือพิมพ์ ประชาไท ลงว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวตัดสิทธิของบุคคลได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐ "อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ" แต่กำหนดให้เป็น "หน้าที่ของรัฐ"[11]

เนื้อหาในรัฐธรรมนูญชุดนี้ที่เปลี่ยนไป มีการตัดมาตรา 5 องค์กรแก้วิกฤต แก้ไขมาตรา 12 คุณสมบัติองคมนตรีที่ต้องไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) หรือดำรงตำแหน่งทางการเมือง มาตรา 15 อำนาจการแต่งตั้งและการให้ข้าราชการในพระองค์พ้นจากตำแหน่งขึ้นอยู่กับพระราชอัธยาศัย มาตรา 16 มาตรา 17 การตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หรือไม่ก็ได้ เมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร มาตรา 19 ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งเคยได้รับการแต่งตั้งและปฏิญาณตนมาแล้ว ไม่ต้องปฏิญาณตนที่รัฐสภาอีก และมาตรา 182 เกี่ยวกับเรื่องผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ[12] รวมทั้งการเพิ่ม มาตรา 65 ที่บัญญัติให้มีการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ[13]

การลงประชามติ

แก้

26 มีนาคม พ.ศ. 2559 โฆษก กรธ. แถลงว่า กรธ. พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ต่อมาวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2559 สนช. พิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. .... วาระ 2 และ 3 ตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีเนื้อหาห้ามรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ[14] 9 เมษายน พ.ศ. 2559 สนช. เห็นชอบเป็นเอกฉันท์ให้เพิ่มคำถามประชามติให้สมาชิกวุฒิสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีอำนาจลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีด้วยหรือไม่[15]

19 เมษายน พ.ศ. 2559 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดให้วันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2559 เป็นวันออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ[16]

แถบผลคะแนนจากการออกเสียงประชามติในประเด็นร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
เห็นชอบ :
61.35 (16,820,402)
ไม่เห็นชอบ :
38.65 (10,598,037)
แถบผลคะแนนจากการออกเสียงประชามติในประเด็นเพิ่มเติมว่าด้วยบทเฉพาะกาลในร่างรัฐธรรมนูญ
เห็นชอบ :
58.07 (15,132,050)
ไม่เห็นชอบ :
41.93 (10,926,648)

7 สิงหาคม พ.ศ. 2559 ในการออกเสียงประชามติ ผลปรากฏว่า ร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงเรื่องอำนาจลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีของสมาชิกวุฒิสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ได้รับความเห็นชอบด้วยคะแนนข้างมากของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง จากนั้น กรธ. นำร่างรัฐธรรมนูญไปปรับปรุงในบางมาตราและในบทเฉพาะกาลเพื่อให้เข้ากับคำถามพ่วงเป็นเวลา 30 วัน หลังจากนั้น ส่งร่างคืนนายกรัฐมนตรีให้นำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อให้ทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป

อย่างไรก็ดี มีการวิเคราะห์ว่าเหตุที่ร่างรัฐธรรมนูญนี้ผ่านประชามติเป็นเพราะแนวคิด "รับไปก่อน จะได้เลือกตั้ง" รวมทั้งมีการจับกุมและดำเนินคดีต่อผู้รณรงค์ให้ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญหลายกรณี[17]

"ข้อสังเกตพระราชทาน" และการประกาศใช้

แก้

วันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2560 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวประทับพระราชอาสน์หน้าพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์เพื่อลงพระปรมาภิไธยในร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ฉบับที่ 20 และประทับตราพระราชลัญจกร นับเป็นพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญและรัฐพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญในรอบ 48 ปี 9 เดือน 2 สัปดาห์ 3 วัน[18]นับตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2511 ที่มีรัฐพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511 ฉบับที่ 8

อนึ่ง ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 นั้น ได้ทรงมอบ "ข้อสังเกตพระราชทาน" และให้รัฐบาลแก้ไขให้เป็นไปตามข้อสังเกตดังกล่าว[19] ได้แก่ มาตรา 5, 17 และ 182[20] ใจความสำคัญคือ 1) ตัดข้อความที่ให้ศาลรัฐธรรมนูญเรียกประชุมประมุขสามอำนาจเพื่อแก้ไขวิกฤตการเมือง, 2) พระมหากษัตริย์ไม่จำเป็นต้องแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และ 3) ผู้รับสนองกฎหมาย พระบรมราชโองการและประกาศพ้นจากความรับผิดชอบ[21] เป็นการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญตามพระราชประสงค์หลังจากมีประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญแล้ว

ข้อวิจารณ์

แก้

ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น จากภาควิชาการเมืองและการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ซึ่งมีผลงานเขียนเกี่ยวกับประเทศไทยในหลายประเด็น วิจารณ์เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญชุดนี้ในทำนองว่า "ทำให้ทหารมีที่ยืนอย่างถาวรในรัฐบาล เพื่อให้การแทรกแซงกลายเป็นเรื่องปกติ"[22] รวมไปถึง ส.ว. มาจากการคัดเลือกของ คสช. และมีวาระ 5 ปี ซึ่งนานกว่าชุดอื่น ทั้งยังมีอำนาจร่วมออกเสียงเลือกนายกรัฐมนตรี และมีอำนาจกำกับดูแลให้รัฐบาลชุดใหม่ต้องทำตามยุทธศาสตร์ที่ คสช. จัดทำขึ้น[23] สวนดุสิตโพลเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน 1,164 คน ระหว่างวันที่ 6-9 ธันวาคม พ.ศ. 2560 เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้ใหม่ โดยส่วนใหญ่มองว่า เป็นฉบับปราบโกง เน้นป้องกันทุจริต แต่จุดอ่อนเป็นการสืบทอดอำนาจของ คสช.[24]

ระบบการเลือกตั้งแบบใหม่

แก้
 
ผลการเลือกตั้งทั่วไปปี 2562 ซึ่งมีจำนวนพรรคในสภาล่างมากที่สุดเป็นประวัติการณ์

รัฐธรรมนูญดังกล่าวกำหนดการเลือกตั้ง ส.ส. เป็นแบบจัดสรรปันส่วนผสม บัตรเลือกตั้งสามารถเลือกได้เพียงตัวเลือกเดียวเพื่อเลือกทั้งผู้สมัครและพรรคการเมือง มีการแถลงความมุ่งหมายของระบบดังกล่าวไว้ว่า เพื่อให้พรรคการเมืองส่งผู้สมัครที่ดีที่สุด ไม่ใช่ส่ง "เสาโทรเลข" อย่างไรก็ตาม ความมุ่งหมายแฝงเร้น คือ ป้องกันพรรคการเมืองขนาดใหญ่เกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้น ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 จึงเกิดยุทธศาสตร์ "พรรคแบงก์ย่อย" ซึ่งพรรคการเมืองพันธมิตรของทักษิณ ชินวัตร มีการตั้งพรรคการเมืองหลายพรรคแล้วส่งผู้สมัครแบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อแยกกัน[25] นอกจากนี้ ยังมีปรากฏการณ์ครึกโครมที่พรรคพลังประชารัฐดึงตัวผู้สมัครในช่วงปี พ.ศ. 2561[26]

นอกจากนี้ แม้รัฐธรรมนูญกำหนดให้พรรคการเมืองเปิดเผยชื่อบุคคลที่จะเสนอเป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 88 แต่มาตรา 272 เปิดช่องให้รัฐสภาพิจารณาบุคคลนอกบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอมาได้ อีกทั้ง ส.ว. ชุดแรกซึ่งมีวาระ 5 ปียังมีอำนาจลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 272 ได้ หมายความว่า ส.ว. ดังกล่าวจะมีอำนาจลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีได้ 2 คน (หากคิดวาระคนละ 4 ปี)[26]

กฎหมายไม่ได้กำหนดสูตรคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อที่ชัดเจน แต่ในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2562 คณะกรรมการการเลือกตั้งเลือกตีความให้พรรคเล็กได้ประโยชน์ และพรรคอนาคตใหม่เสียประโยชน์[27] ทั้งที่พรรคเล็กเหล่านั้นเสียงไม่ถึงคะแนนขั้นต่ำที่ได้รับจัดสรร ส.ส. พึงมี[28] ในปี 2565 รัฐสภามีมติให้ใช้ระบบคะแนนที่พรรคการเมืองได้รับทั้งประเทศหาร 500 (ซึ่งอาจทำให้เกิดเหตุการณ์การตีความแบบในปี 2562) ทำให้พรรคเพื่อไทยเตรียมยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่[29]

ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

แก้

เนื้อหา

แก้

เนื้อหาโดยย่อของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ให้รายละเอียดนั้น ให้รายละเอียดไว้ว่า[30] ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) เป็นกรอบนโยบายหลักที่ถูกกำหนดขึ้นเพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศไทยในระยะยาว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนให้แก่ประเทศไทย ยุทธศาสตร์ชาตินี้มีลักษณะเป็นแผนที่ครอบคลุมหลากหลายด้าน ซึ่งจะบังคับใช้เป็นระยะเวลายาวนานถึง 20 ปี เพื่อตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายที่ประเทศไทยต้องเผชิญในอนาคต

ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีถูกแบ่งออกเป็น 6 ด้านหลัก ซึ่งแต่ละด้านมีเป้าหมายและแนวทางการพัฒนาที่ชัดเจน ดังนี้:

  1. ความมั่นคง (Security): มีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงในทุกมิติ ทั้งด้านการทหาร เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ประเทศมีเสถียรภาพและสามารถรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การพัฒนาด้านนี้ยังครอบคลุมถึงการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยคุกคามทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ รวมถึงการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงร่วมกัน
  2. การสร้างความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness Enhancement): มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในเวทีโลก โดยการพัฒนาเศรษฐกิจที่เน้นการสร้างนวัตกรรม การยกระดับภาคอุตสาหกรรมและบริการ การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา การพัฒนาทักษะและความสามารถของแรงงาน รวมถึงการส่งเสริมการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาสิ่งแวดล้อมธุรกิจและการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ
  3. การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource Development and Strengthening): มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและศักยภาพของประชากรไทยให้มีความพร้อมในการเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล การศึกษา การฝึกอบรม และการสร้างโอกาสในการพัฒนาทักษะเป็นเรื่องสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อให้ประชากรมีความสามารถในการแข่งขันในตลาดแรงงานโลก
  4. การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม (Social Equality and Opportunities Creation): มีเป้าหมายเพื่อสร้างสังคมที่มีความเสมอภาคและเป็นธรรม ลดช่องว่างระหว่างชนชั้น และเสริมสร้างโอกาสให้กับกลุ่มคนที่ด้อยโอกาส การพัฒนาด้านนี้รวมถึงการส่งเสริมการเข้าถึงบริการสาธารณะที่มีคุณภาพ การสร้างโอกาสทางการศึกษาและการทำงานให้กับกลุ่มคนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล การพัฒนาสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการพัฒนาสังคม
  5. การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Environmental-Friendly Growth for Quality of Life): มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในลักษณะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การพัฒนาด้านนี้รวมถึงการส่งเสริมการใช้พลังงานที่ยั่งยืน การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การพัฒนาพื้นที่สีเขียวในเมือง และการส่งเสริมวิถีชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
  6. การปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ (Government Administration Rebalancing and Development): มีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐให้มีประสิทธิภาพและโปร่งใส การพัฒนาด้านนี้รวมถึงการปฏิรูประบบราชการ การปรับปรุงกฎหมายและระเบียบข้อบังคับ การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริการสาธารณะ การส่งเสริมความโปร่งใสในการดำเนินงานของภาครัฐ และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบการดำเนินงานของภาครัฐ

นอกจากนี้ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ยังให้ความสำคัญกับการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนจะช่วยให้การดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง

ในทางปฏิบัติ การดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จะถูกกำกับดูแลและประเมินผลโดยหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะมีการจัดทำรายงานความก้าวหน้าและการประเมินผลเป็นระยะ เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมายและสามารถปรับปรุงแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ทันท่วงที

ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นแผนการพัฒนาที่ยาวนานและครอบคลุมหลายด้าน ซึ่งต้องการความร่วมมือและความตั้งใจจริงจากทุกภาคส่วนของสังคมในการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นประเทศที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนในอนาคต

ข้อวิจารณ์

แก้

แม้จะมีความตั้งใจดีในการกำหนดแนวทางการพัฒนาประเทศในระยะยาว ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ผูกมัดให้รัฐบาลในอนาคตต้องปฏิบัติตามแนวทางที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) วางไว้ ส่งผลให้เกิดระบอบการปกครองที่เรียกว่า 'ประชาธิปไตยที่มีกองทัพชี้นำ' รวมทั้งลดทอนบทบาทของนักการเมืองทั้งระดับชาติและท้องถิ่น[31] การนี้ยังถูกกล่าวหาว่าเป็นเครื่องมือในการสืบทอดอำนาจอีกด้วย งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์พบว่า ตัวยุทธศาสตร์ชาติมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาความไม่ต่อเนื่องของนโยบายของรัฐที่เกิดจากความไร้เสถียรภาพทางการเมือง แต่การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติดังกล่าวเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกจุด เนื่องจากปัญหาทางการเมืองไทยล้วนเกิดจากการแทรกแซงจากกองทัพและชนชั้นนำ[32]

นอกจากนี้ยังมีการแสดงให้เห็นถึงความฟุ่มเฟือยและความไร้ประสิทธิภาพในหลาย ๆ ด้าน

  1. ความฟุ่มเฟือยในการกำหนดเป้าหมาย: เอกสารนี้กำหนดเป้าหมายที่ดูฟุ้งเฟ้อและยิ่งใหญ่เกินจริง ซึ่งบางครั้งดูเหมือนจะเป็นการตั้งเป้าหมายที่ไม่สามารถบรรลุได้ในทางปฏิบัติ การกำหนดเป้าหมายที่ใหญ่เกินไปและไม่สมเหตุสมผล ทำให้ขาดความชัดเจนและการประเมินความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ
  2. ความไร้ประสิทธิภาพในการดำเนินงาน: การดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีพบว่ามีปัญหาในการบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ ตัวอย่างเช่น ไอลอว์รายงานว่า สำหรับแผนยุทธศาสตร์ที่มีเป้าหมายให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2565 พบว่ามีกฎหมายปฏิรูปประกาศใช้แล้วเพียง 2 ฉบับจากเป้าหมาย 45 ฉบับ นอกจากนี้ยังมีบางแผนปฏิรูปที่กำหนดเป้าหมายให้บรรลุตั้งแต่ยังไม่เริ่มทำงาน การขาดความคืบหน้าและประสิทธิภาพในการดำเนินงานทำให้แผนนี้ดูเหมือนจะเป็นเพียงแผนการที่ไม่สามารถบรรลุได้จริง
  3. การฟุ้งเฟ้อในเนื้อหา: เอกสารนี้เต็มไปด้วยแนวคิดและวัตถุประสงค์ที่ดูเหมือนจะเป็นไปในทางที่ดี แต่ขาดรายละเอียดและวิธีการดำเนินงานที่ชัดเจน แนวคิดที่ฟุ้งเฟ้อและไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง ทำให้แผนนี้ดูเหมือนจะเป็นเพียงเอกสารที่เต็มไปด้วยความฝันและความหวัง แต่ขาดการวางแผนที่เป็นระบบและมีความเป็นไปได้
  4. การขาดการประเมินผลที่มีประสิทธิภาพ: แม้ว่าเอกสารนี้จะมีการกำหนดการประเมินผลและการติดตามความคืบหน้า แต่การดำเนินงานจริงกลับขาดการประเมินผลที่มีประสิทธิภาพ การประเมินผลที่ไม่เข้มงวดและไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ทำให้ขาดการปรับปรุงและการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในระหว่างการดำเนินงาน
  5. การใช้งบประมาณอย่างฟุ่มเฟือย: การดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ซึ่งในหลายๆ กรณีเป็นการใช้งบประมาณอย่างฟุ่มเฟือย โดยไม่มีการวางแผนการใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพ การใช้งบประมาณในโครงการที่ไม่สามารถบรรลุผลได้จริง ทำให้ทรัพยากรถูกใช้ไปอย่างไม่เกิดประโยชน์สูงสุด

ไอลอว์รายงานว่า สำหรับแผนยุทธศาสตร์ที่มีเป้าหมายให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2565 พบว่ามีกฎหมายปฏิรูปประกาศใช้แล้วเพียง 2 ฉบับจากเป้าหมาย 45 ฉบับ รวมทั้งมีบางแผนปฏิรูปที่กำหนดเป้าหมายให้บรรลุตั้งแต่ยังไม่เริ่มทำงาน[33]

วุฒิสภา

แก้

วุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหารทั้งหมด อีกทั้งมีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี ทำให้ถูกวิจารณ์ว่าเป็นเครื่องมือสำหรับสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ[34] ไอลอว์ยังรายงานว่าสมาชิกวุฒิสภามีการแต่งตั้งญาติของตัวเองเข้ามาเป็นคณะทำงาน และออกเสียงร่างกฎหมายไปในทิศทางเดียวกันถึงร้อยละ 98[35]

มีการเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อยกเลิกวุฒิสภาจากการแต่งตั้ง เหลือเป็นสภาเดี่ยว ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องสำคัญข้อหนึ่งของการประท้วงในประเทศไทย พ.ศ. 2563–2564

ในปี 2562 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณให้สัมภาษณ์ว่า มั่นใจว่าจะควบคุม ส.ว. ได้เพราะตั้งมาเอง[36] และในปี 2565 ส.ส. พรรคพลังประชารัฐให้สัมภาษณ์ว่า เชื่อว่าพรรคพลังประชารัฐจะยังเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลต่อไป เพราะมี ส.ว. สนับสนุน[37]

การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

แก้

การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นข้อเรียกร้องของผู้ประท้วงในการประท้วงในประเทศไทย พ.ศ. 2563–2564 ตั้งต่อข้อเรียกร้องสามประการที่เสนอต่อรัฐบาลในวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 มีการเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจำนวน 6 ญัตติทั้งจากพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้าน มีการอภิปรายร่วมของรัฐสภาและลงมติในวันที่ 24 กันยายน 2563 ในวันดังกล่าว รัฐสภามีมติตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนรับหลักการ อันเป็นผลให้เลื่อนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญออกไปอย่างน้อย 1 เดือน[38] หลังจากนั้นมีการลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญในวาระหนึ่ง ซึ่งเป็นร่างของพรรคเพื่อไทยและพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งจะไม่แก้ไขรัฐธรรมูญหมวด 1 และหมวด 2 และไม่ยุ่งเกี่ยวกับอำนาจของสมาชิกวุฒิสภาในการร่วมเลือกตั้งนายกรัฐมนตรี ส่วนร่างที่ไอลอว์รวบรวมรายชื่อกว่า 1 แสนรายชื่อถูกตีตก

"ขออวยพรให้ท่านอายุยืนเพียงพอที่จะเห็นความพยายามของท่านล่มสลายไม่มีชิ้นดี เห็นความต้องการของท่านถูกบดขยี้ด้วยกงล้อของเวลาที่เดินหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง และได้มีโอกาสรับรู้ด้วยตา ด้วยหู ของท่านเอง ว่าผู้คนและยุคสมัยจะตราหน้าพวกท่าน ว่าอย่างไรไว้ในประวัติศาสตร์ของชาติเรา"
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์[39]

ในเดือนมีนาคม 2564 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องผ่านการลงประชามติ 2 ครั้ง เพื่อให้ความเห็นชอบว่าจะให้มีการแก้ไข และให้ความเห็นชอบต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่เสนอ[40] หลังจากนั้น รัฐสภาลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในวาระสาม (ซึ่งมีเรื่องการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ)[41]

รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 1

แก้

ในวันที่ 24 มิถุนายน 2564 รัฐสภาลงมติรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเฉพาะของพรรคประชาธิปัตย์ที่จะแก้ไขเรื่องบัตรเลือกตั้งจากใบเดียวเป็นสองใบเท่านั้น โดยไม่สนใจได้แก้ไขเรื่องอำนาจของสมาชิกวุฒิสภา ก่อนหน้านี้ ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ไม่บรรจุร่างรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทยที่มีเนื้อหาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญโดยอ้างว่าศาลรัฐธรรมนูญได้เคยวินิจฉัยเรื่องนี้ไว้แล้ว[42]

ในเดือนกันยายน 2564 รัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญอีกครั้ง และได้รับร่างแก้ไขเพิ่มเติมที่เสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์ ที่จะกลับมาใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ, สัดส่วน สส. แบ่งเขต 400 คน กับ สส. บัญชีรายชื่อ 100 คน, และใช้สูตรเลือกตั้งแบบรัฐธรรมนูญปี 2540 อีกครั้ง และผ่านวาระ 3 เมื่อวันที่ 10 กันยายน ทั้งนี้พรรคก้าวไกลกับภูมิใจไทยงดออกเสียง พรรคพลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ และเพื่อไทย ลงมติเห็นชอบ เช่นเดียวกับสมาชิกวุฒิสภาเกินกึ่งหนึ่ง[43]

ในเดือนพฤศจิกายน 2564 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมในชื่อ "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2564" ให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต 400 คนและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ 100 คน และให้ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แทนใบเดียวที่เคยใช้ในการเลือกตั้งปี 2562 โดยสมาชิกวุฒิสภาลงมติเห็นชอบ 149 เสียง หรือคิดเป็นร้อยละ 60 ของจำนวนสมาชิกวุฒิสภา[44] นักวิชาการมองว่าระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบจะเป็นระบบที่ทำให้พรรคใหญ่ได้เปรียบโดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย อาจเห็นพรรคเล็กย้ายไปอยู่รวมกับพรรคใหญ่ และพรรคพลังประชารัฐจะเผชิญกับปัญหาการต่อรองผลประโยชน์เพื่อรักษาเอกภาพของพรรค[45]

ความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับถัดไป

แก้

ในเดือนเดียวกันยังมีการรวบรวมรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญอีกครั้งโดยกลุ่ม Re-Solution นำโดยพริษฐ์ วัชรสินธุ จากกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า และปิยบุตร แสงกนกกุล จากคณะก้าวหน้า มีเนื้อหาตัดอำนาจของสมาชิกวุฒิสภาแล้วโอนให้มาเป็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งให้ยกเลิกวุฒิสภากลับมาใช้ระบบสภาเดี่ยว แต่รัฐสภาลงมติคัดค้านร่างดังกล่าวตั้งแต่วาระแรก[46]

ในปี 2565 ปิยบุตรเป็นแกนนำในการรวบรวมรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อให้กระจายอำนาจมากขึ้น[47]

ในเดือนกันยายน 2565 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 4 ร่าง ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับสิทธิบุคคลและชุมชน สิทธิและเสรีภาพของประชาชน คุณสมบัติ ที่มาของนายกรัฐมนตรี และการตัดอำนาจของสมาชิกวุฒิสภาในการเลือกนายกรัฐมนตรี ไม่ผ่านการพิจารณาจากรัฐสภา เนื่องจากถึงแม้จะได้รับเสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา แต่เสียงเห็นชอบของสมาชิกวุฒิสภาไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนด[48]

ปัญหาสืบเนื่อง

แก้

รัฐธรรมนูญกำหนดห้ามบุคคลดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรวมกันเกิน 8 ปี แต่เรื่องการนับวาระของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เกิดปัญหาขึ้นว่าจะนับแบบใด เนื่องจากต่างฝ่ายต่างตีความกันไปคนละแบบ จนเกิดปัญหาข้อกฎหมายในปี 2565[49] ด้านทักษิณ ชินวัตร เชื่อว่าผู้ร่างรัฐธรรมนูญเขียนขึ้นมาเพื่อต้องการกีดกันเขาคนเดียว[50]

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ, ราชกิจจานุเบกษา, สืบค้นวันที่ 6 ตุลาคม 2558
  2. ประกาศสภาปฏิรูปแห่งชาติ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ, ราชกิจจานุเบกษา, สืบค้นวันที่ 30 มกราคม 2559
  3. "โรดแมป คสช. อีกไกลแค่ไหนกว่าจะได้เลือกตั้ง?". workpointTODAY. สืบค้นเมื่อ 22 May 2022.
  4. ดู:
  5. มติ "สปช." 135 เสียงคว่ำร่างรธน. - ยุบ กมธ.ชุด "บวรศักดิ์", ข่าวสด, 6 ตุลาคม 2558
  6. ราชกิจจานุเบกษา, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2558, เล่ม 132, ตอนที่ 64 ก, หน้า 1. [ออนไลน์]. เข้าถึงเมื่อ: 12 ธันวาคม 2559
  7. ""มีชัย"เปิดใจหลังยุบ กรธ.พ้นตำแหน่ง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-09-19. สืบค้นเมื่อ 2018-09-18.
  8. เปิดใจภารกิจสุดท้ายมือกฎหมาย มีชัย ฤชุพันธุ์
  9. เนื้อหาสาระร่างรัฐธรรมนูญ (ฉบับปราบโกง) เบื้องต้น 270 มาตรา, ไทยรัฐ, สืบค้นวันที่ 30 มกราคม 2559
  10. Thailand's new draft Constitution unveiled. The Strait Times.
  11. ร่างรัฐธรรมนูญ 2559: ตัดข้อความ “สิทธิเสมอกัน” ในการรับบริการสาธารณสุข “ที่ได้มาตรฐาน”
  12. รัฐธรรมนูญ 2560 แก้ 8 มาตราจากร่างฯประชามติ-ตัดองค์กรแก้วิกฤต-เพิ่มส.ว.ร่วมเลือกนายกฯ
  13. อภิชาติ คุณวัฒน์บัณฑิต.“ปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติของประเทศไทย.” วิทยานิพนธ์ศิลปศาตรมหาบัณฑิต สาขาวิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2561.[ลิงก์เสีย]
  14. สนช.ลงมติผ่านร่าง พ.ร.บ.ประชามติ รุมค้าน ก.ม.ห้ามชวนโหวตโน ละเมิดสิทธิ์ปชช. ไทยรัฐ
  15. สนช.เคาะตั้งคำถามพ่วงประชามติให้รัฐสภาฯโหวตเลือกนายกฯ โพสต์ทูเดย์.
  16. ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง กำหนดวันออกเสียงประชามติ ราชกิจจานุเบกษา.
  17. ""รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน" VS "รัฐธรรมนูญฉบับเยาวชนไม่ได้เลือก"". BBC ไทย. สืบค้นเมื่อ 24 April 2022.
  18. พิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญ ธรรมเนียมปฏิบัติ 3 รัชกาล
  19. รัฐบาลแก้ไข รธน. ตามข้อสังเกตพระราชทานเสร็จแล้ว
  20. 5-17-182 รธน.ใหม่ ก่อนนายกฯสั่งแก้ให้เป็นไปตามพระราชกระแสรับสั่ง
  21. First Look at Major Changes to the New Thai Constitution
  22. รัฐธรรมนูญใหม่ กับ ความไม่แน่นอนใหม่
  23. 7 เรื่องต้องรู้: อ่าน “รัฐธรรมนูญ 2560” ฉบับเร่งรัด
  24. โพลชี้รธน.ปี60เป็นฉบับปราบโกง แต่มองจุดอ่อนสืบทอดอำนาจ
  25. สุเทพ แฉกลยุทธ์ทักษิณ แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย หวั่นเพื่อไทยได้ ส.ส.เกิน 300
  26. 26.0 26.1 2 ปีประกาศใช้ รธน. : สำรวจสิ่งที่ กรธ. คิด กับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในสนามเลือกตั้ง 2562
  27. "กกต.ร่อนเอกสาร แจง ผลคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ ยึดสูตร 25พรรคได้ส.ส. มีพรรคเล็กได้ที่นั่งเพียบ". มติชน. 2019-04-05. สืบค้นเมื่อ 2019-04-06.
  28. Pravit Rojanaphruk (April 8, 2019). "Doubts over Election Commission's Party List Allocations Grow". ข่าวสด. สืบค้นเมื่อ 2020-06-02.
  29. "เปิดมติรัฐสภา ใครหนุน-ใครต้าน สูตรปาร์ตี้ลิสต์หาร 100". BBC News ไทย. สืบค้นเมื่อ 9 July 2022.
  30. ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พ.ศ. 2561-2580 (ฉบับย่อ) (PDF). ประเทศไทย: สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. 2018.
  31. Montesano, Michael J. (2019). "The Place of the Provinces in Thailand's Twenty-Year National Strategy: Toward Community Democracy in a Commercial Nation?" (PDF). ISEAS Perspective. 2019 (60): 1–11. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 13 September 2020. สืบค้นเมื่อ 23 August 2020.
  32. อภิชาติ คุณวัฒน์บัณฑิต. ปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติของประเทศไทย.[ลิงก์เสีย] วิทยานิพนธ์ศิลปศาตรมหาบัณฑิต สาขาวิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2561.
  33. "นับถอยหลังแผนการปฏิรูปประเทศต้องเห็นผลสิ้นปี 65 แต่ยังไม่บรรลุเป้า ตั้งเกณฑ์ง่าย ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง". iLaw. สืบค้นเมื่อ 5 September 2022.
  34. "รวมข้อมูล 250 ส.ว. แต่งตั้ง : กลไกหลักสืบทอดอำนาจจากยุค คสช". ilaw. สืบค้นเมื่อ 23 June 2022.
  35. "เปิดชื่อ ส.ว. แต่งตั้งญาติเป็นผู้ช่วย 50 คน รับเงินเดือนหลักหมื่น พบทหาร คนใกล้ชิด คสช. อีกกว่าครึ่งพัน". ilaw. สืบค้นเมื่อ 23 June 2022.
  36. "'ประวิตร' ลั่น ส.ว. ตั้งมาก็ต้องคุมได้ ปัดเปิดรายชื่อ ยันไม่มีคนใกล้ชิด". THE STANDARD. 13 March 2019. สืบค้นเมื่อ 3 October 2022.
  37. "พปชร.แก้เกมเล็งเสนอแคนดิเดตนายกฯ 3 คนชูชื่อ 'ลุงป้อม' ชิงเก้าอี้นายกฯ". ไทยโพสต์. 1 October 2022. สืบค้นเมื่อ 3 October 2022.
  38. "รัฐสภายืด "เปิดสวิตช์แก้ รธน."". BBC ไทย. สืบค้นเมื่อ 25 September 2020.
  39. ""พิธา" ปลุกปิดสวิตช์ ส.ว.รื้อระบอบ "บิ๊กตู่" ชี้ นักการเมืองแค่เด็กขี่ม้า เจ้าของสั่งได้ทุกเมื่อ". ผู้จัดการ (ภาษาอังกฤษ). 24 June 2021. สืบค้นเมื่อ 25 June 2021.
  40. "ศาลรัฐธรรมนูญชี้สภามีอำนาจร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ต้องทำประชามติ". BBC ไทย. สืบค้นเมื่อ 25 June 2021.
  41. "มติรัฐสภาโหวตคว่ำร่างแก้ไข รธน. วาระ 3". BBC ไทย. สืบค้นเมื่อ 25 June 2021.
  42. "รัฐสภาโหวตรับร่างเดียว จาก 13 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ". BBC ไทย. สืบค้นเมื่อ 25 June 2021.
  43. "รัฐธรรมนูญ วาระ 3 "ผ่านฉลุย" ส.ว. ทหารสาย 3 ป. ไม่แตกแถว". ประชาชาติธุรกิจ. 10 September 2021. สืบค้นเมื่อ 11 September 2021.
  44. "รัฐสภาผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 ให้กลับไปใช้บัตรเลือกตั้งสองใบ". BBC News ไทย. สืบค้นเมื่อ 9 July 2022.
  45. "การเมืองบัตร2ใบ หลังแก้รัฐธรรมนูญ". มติชนออนไลน์. 10 October 2021. สืบค้นเมื่อ 9 July 2022.
  46. "สรุปความเคลื่อนไหวศึกแก้รัฐธรรมนูญไตรภาคตลอดปี 2564". iLaw. สืบค้นเมื่อ 24 April 2022.
  47. ""ปลดล็อกท้องถิ่น" ทะลุ 5 หมื่นชื่อ! "ปิยบุตร" เชื่อพรรค-ส.ว.หนุนกระจายอำนาจ". กรุงเทพธุรกิจ. 7 June 2022. สืบค้นเมื่อ 23 June 2022.
  48. "มติรัฐสภา คว่ำ 4 ร่างแก้รธน.เปิดทางส.ว.เลือกนายกฯต่อ". สยามรัฐ. 7 September 2022. สืบค้นเมื่อ 7 September 2022.
  49. "Prayuth Chan-ocha: Thai court suspends PM and coup leader". BBC News. 24 August 2022. สืบค้นเมื่อ 26 August 2022.
  50. "นายกฯ 8 ปีไม่ต้องให้ศาลตีความ แนะ "ประยุทธ์" ออกตามกฎกติกาเท่กว่าเยอะ". ไทยรัฐ. 17 August 2022. สืบค้นเมื่อ 5 September 2022.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้
ก่อนหน้า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ถัดไป
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
(ฉบับชั่วคราว)

(22 กรกฎาคม 2557 - 6 เมษายน 2560)
  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
(6 เมษายน พ.ศ. 2560 – ปัจจุบัน)
  ยังไม่มี