สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค)
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ หรือ สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย นามเดิม ทัต เป็นขุนนางสยามจากตระกูลบุนนาค ดำรงตำแหน่งเป็นจางวางพระคลังสินค้าในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นผู้สำเร็จราชการในพระนครในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค) | |
---|---|
ผู้สำเร็จราชการในพระนคร | |
ดำรงตำแหน่ง พ.ศ. 2398 - พ.ศ. 2400 | |
กษัตริย์ | พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว |
จางวางกรมพระคลังสินค้า | |
ดำรงตำแหน่ง ? - พ.ศ. 2400 | |
กษัตริย์ | พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว |
ถัดไป | พระยาศรีพิพัฒน์ (แพ บุนนาค) |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | ทัต พ.ศ. 2334 พระนคร อาณาจักรรัตนโกสินทร์ |
เสียชีวิต | พ.ศ. 2400 (66 ปี) พระนคร ประเทศสยาม |
คู่สมรส | 4 คน |
บุตร | 27 คน |
บุพการี |
|
ครอบครัว | ตระกูลบุนนาค |
ประวัติ
แก้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2334 เดิมชื่อ ทัต เป็นบุตรคนที่สิบของเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) มารดาคือเจ้าคุณพระราชพันธุ์นวล ซึ่งเป็นพระขนิษฐาในสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติเกิดในสายสกุลบุนนาคซึ่งสืบเชื้อสายมาจากเจ้าพระยาบวรราชนายก (เฉกอะหมัด) สมุหนายกชาวเปอร์เซียในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม บิดาของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติคือเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) ดำรงตำแหน่งเป็นสมุหกลาโหมในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช บ้านของเจ้าพระยาอรรคมหาเสนาอยู่ที่บริเวณกำแพงพระบรมมหาราชวังทางทิศใต้ บริเวณวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหารในปัจจุบัน สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติมีพี่สาวร่วมมารดาได้แก่เจ้าคุณวังหลวง (นุ่น) เจ้าคุณวังหน้า (คุ้ม) และเจ้าคุณปราสาท (ต่าย) และมีพี่ชายร่วมมารดาคือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค)
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ เริ่มรับราชการในรัชกาลที่ 1 ในตำแหน่งนายสนิทหุ้มแพรมหาดเล็ก ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ดำรงตำแหน่งเป็นจมื่นเด็กชา หัวหมื่นมหาดเล็กในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ เมื่อพระองค์สวรรคตในปี พ.ศ. 2360 จึงย้ายกลับมารับราชการในวังหลวงตำแหน่งจางวางมหาดเล็ก ต่อมาได้เลื่อนเป็น พระยาศรีสุริยวงศ์ ในเวลาต่อมา ในพ.ศ. 2361 มีการขยายพระบรมมหาราชวังลงมาทางทิศใต้ พระยาศรีสุริยวงศ์ (ทัต) และพระยาสุริยวงศ์มนตรี (ดิศ) ผู้เป็นพี่ชายจึงย้ายที่อยู่ไปยังริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกใต้บ้านกุฎีจีน[1] พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแต่งตั้งให้พระยาศรีสุริยวงศ์ (ทัต) ขึ้นเป็นพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาจางวางพระคลังสินค้า (เล่ากันว่าเมื่อในรัชกาลที่3 จะโปรดให้ฯเป็นเจ้าพระยายมราช ท่านไม่รับ จึงได้เป็น พระยาโกษาพิพัฒน์ว่าที่พระคลังสินค้า)
ในพ.ศ. 2372 พระยาศรีพิพัฒน์ฯ (ทัต) ปฏิสังขรณ์วัดร้างเดิมในเขตคลองสาน[2]ใกล้กับนิวาสสถานและถวายขึ้นเป็นพระอารามหลวง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯพระราชทานนามว่า "วัดพระยาญาติการาม" (ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามใหม่ว่า "วัดพิชยญาติการามวรวิหาร")
ในปี พ.ศ. 2381 ทาสในเรือน[3]ของพระสุริยอภัย (สนิท) บุตรชายคนโตของพระยาศรีพิพัฒน์ฯ ฟ้องร้องว่าพระสุริยอภัยลักลอบติดต่อสัมพันธ์เชิงชู้สาวกับเจ้าจอมอิ่ม จึงโปรดให้กรมหลวงรักษ์รณเรศสืบสวนพบมีมูลความจริง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงมีพระเมตตาโปรดให้พระยาศรีพิพัฒน์ฯ ขอพระราชทานอภัยโทษขึ้นมา แต่พระยาศรีพิพัฒน์ฯ ทูลว่าคนผิดต้องได้รับโทษขอให้ลงพระอาญาไปตามพระอัยการจึงจะสมควร[4] พระสุริยอภัย (สนิท) บุตรชายคนโตของพระยาศรีพิพัฒน์ฯ จึงถูกประหารชีวิต
ในปลายรัชกาลที่ 3 พระยาศรีพิพัฒน์ฯ (ทัต) ได้จัดหาที่ดินและก่อสร้างวัด ซึ่งได้ที่บริเวณดงต้นงิ้ว วัดจึงได้ชื่อว่า วัดฉิมพลี (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นวัดประดู่ฉิมพลี) โดยใช้เวลาสร้างนานถึง 8 ปี จึงแล้วเสร็จในรัชสมัยรัชกาลที่ 4 ในเวลานั้นถือเป็นวัดราษฎร์ที่ใหญ่และงดงามกว่าวัดราษฎร์โดยทั่วไป สมเด็จเจ้าพระยาฯ ท่านไปเลือกสรรและอัญเชิญพระศรีศาสดาจากวัดบางอ้อยช้าง จังหวัดนนทบุรี มาประดิษฐานเป็นพระประธานที่วัด
ปราบกบฏหวันหมาดหลี
แก้ในพ.ศ. 2382 กบฏหวันหมาดหลี หลานสองคน[5] ของสุลต่านตวนกูปะแงหรันแห่งไทรบุรีได้แก่ ตนกูมูฮาหมัดซาอัด (Tunku Muhammad Sa'ad) และตนกูมูฮาหมัดทาอิบ (Tunku Muhammad Taib) ร่วมมือกับหวันหมาดหลีซึ่งเป็นโจรสลัดในทะเลอันดามัน นำทัพเรือเข้าบุกยึดเมืองไทรบุรีในเดือนมีนาคมพ.ศ. 2382 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯมีพระราชโองการให้พระยาศรีพิพัฒน์ฯ (ทัต) และเจ้าพระยายมราช (บุนนาค) ยกทัพเรือลงไปช่วยเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) ในการปราบกบฏไทรบุรี พระยาศรีพิพัฒน์ฯและเจ้าพระยายมราชยกทัพถึงเมืองสงขลาในเดือนเมษายน พบว่าพระภักดีบริรักษ์ (แสง) ได้ยึดเมืองไทรบุรีไว้ได้แล้ว
ขณะนั้นเกิดการวิวาท[3]ระหว่างสุลต่านมูฮัมหมัดที่ 2 (Muhammad II) แห่งกลันตัน หรือ"ตนกูสนิปากแดง"[6] และตนกูบือซาร์ (Tunku Besar) หรือ"ตนกูปะสา" ตนกูปะสาให้เจ้าเมืองบังโกล (Banggol) หรือ "พระยาบาโงย" ยกทัพเข้าโจมตีเมืองกลันตัน สุลต่านมูฮัมหมัดแห่งกลันตันสู้ไม่ได้จึงมีหนังสือถึงพระยาศรีพิพัฒน์ฯ (ทัต) ขอความช่วยเหลือจากสยามเข้าช่วยปราบตนกูปะสาและพระยาบาโงย พระยาศรีพิพัฒน์ฯมีตราเรียกให้ทั้งสุลต่านมูฮัมหมัดและตนกูปะสามาเจรจาสงบศึกกันที่เมืองสงขลา สุลต่านมูฮัมหมัดและตนกูปะสาไม่ยอมมาและพระยาบาโงยหลบหนีไปตรังกานู พระยาศรีพิพัฒน์ฯจึงส่งพระยาไชยานอกราชการนำกำลังไปจับตัวสุลต่านมูฮัมหมัดและตนกูปะสามาพบพระยาศรีพิพัฒน์ฯที่เมืองสงขลา เมื่อทั้งสุลต่านมูฮัมหมัดและตนกูปะสายินยอมสงบศึกซึ่งกันและกันแล้ว พระยาศรีพิพัฒน์ฯจึงปล่อยตัวสุลต่านมูฮัมหมัดและตนกูปะสากลับไปยังกลันตันตามเดิม
เมื่อเจ้าพระยานครฯ (น้อย) ถึงแก่อสัญกรรมในเดือนพฤษภาคมพ.ศ. 2382 พระยาศรีพิพัฒน์ฯจึงจัดระเบียบการปกครองของไทรบุรีใหม่ โดยให้ตนกูอาหนุ่มขึ้นเป็นสุลต่านแห่งไทรบุรี และแบ่งรัฐไทรบุรีออกเป็นสามหน่วยการปกครองได้แก่สตูล ปะลิส และไทรบุรีเดิม ให้ตนกูมูฮัมหมัดอากิบเป็นเจ้าเมืองสตูล[7] ให้ตวนไซยิดฮุสเซน (Tuan Syed Hussein) เป็นเจ้าเมืองปะลิส หลังจากเสร็จสิ้นงานราชการที่หัวเมืองมลายูแล้ว พระยาศรีพิพัฒน์ฯจึงสร้างเจดีย์บนเขาเมืองสงขลาเรียกว่า "เจดีย์ขาว" เคียงคู่กับ "เจดีย์ดำ" ซึ่งเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) ผู้เป็นพี่ชายได้สร้างขึ้นเมื่อยกทัพปราบหัวเมืองมลายูในพ.ศ. 2375
รับทูตบาเลสเตียร์
แก้ในเดือนเมษายนพ.ศ. 2393 นายโยเซฟ บาสเลสเตียร์ (Joseph Balestier) ทูตของสหรัฐอเมริกาเดินทางมายังกรุงเทพเพื่อเจรจาขอแก้หนังสือสัญญา เนื่องจากในขณะนั้นเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) กำลังเดินทางไปสักเลกยังหัวเมืองฝ่ายตะวันตก พระยาศรีพิพัฒน์ฯและจมื่นไวยวรนาถ (ช่วง) จึงเป็นผู้ต้อนรับทูตแทน นายบาเลสเตียร์เข้าพบพระยาศรีพิพัฒน์ฯที่บ้านและพระยาศรีพิพัฒน์ฯกล่าวทักทายปราศรัยนายบาเลสเตียร์ แต่นายบาเลสเตียร์โกรธว่าฝ่ายสยามมัวแต่พูดจาทำให้เสียเวลา และหยิบจดหมายของประธานาธิบดีจากในกระเป๋าเสื้อยื่นให้พระยาศรีพิพัฒน์ฯแล้วขอเข้าเฝ้าฯ พระยาศรีพิพัฒน์ฯตอบว่าจะต้องให้ขุนนางสยามถวายหนังสือก่อนแล้วค่อยเข้าเฝ้าฯ นำไปสู่การทุ่มเถียง[3]ระหว่างพระยาศรีพิพัฒน์ฯและนายบาเลสเตียร์จนสุดท้ายนายบาเลสเตียร์เดินออกจากบ้านพระยาศรีพิพัฒน์ฯไป เมื่อเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) กลับมาถึงกรุงเทพฯ นายบาเลสเตียร์จึงฟ้องเจ้าพระยาพระคลังฯว่าพระยาศรีพิพัฒน์ฯดูถูกทูตอเมริกาและประเทศอเมริกา[3] สุดท้ายนายบาเลสเตียร์จึงเดินทางออกจากกรุงเทพฯไปโดยการเจรจาแก้สัญญาไม่ประสบผล
เลื่อนขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าพระยาฯ
แก้เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชสมบัติเมื่อเดือนเมษายนพ.ศ. 2394 โปรดฯให้เรียกพระยาศรีพิพัฒน์ฯ (ทัต) ว่าเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติไปก่อน ต่อมาจึงมีพระราชโองการจารึกสุพรรณบัฏเนื้อแปด แต่งตั้งพระยาศรีพิพัฒน์ฯ ขึ้นเป็น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ นรเนตรนารถราชสุริยวงศ สกลพงศประดิษฐา มุขมาตยาธิบดี ไตรสรณศรีรัตนธาดา สกลมหารัชชาธิเบนทร ปรเมนทรมหาราชวโรประการ มโหฬารเดชานุภาพบพิตร ถือศักดินา 30,000 พระราชทานกลดเสลี่ยงงา พระแสงประดับพลอยลงยาราชาวดี เป็นเครื่องยศอย่างเจ้าต่างกรม เป็นผู้สำเร็จราชการภายในพระนครและว่าที่พระคลังสินค้าเช่นเดิม ถือตราจันทรมณฑลเทพบุตรชักรถ ในขณะที่เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) ผู้เป็นพี่ชายได้รับการแต่งตั้งเป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ คนทั่วไปกล่าวขานนามสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ว่า "สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่" ในขณะที่กล่าวนามสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติว่า "สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย"
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติเป็นหนึ่งในคณะผู้แทนสยามในการเจรจาสนธิสัญญาเบาว์ริง (Bowring Treaty) ในเดือนเมษายนพ.ศ. 2398 สนธิสัญญาของสยามกับสหรัฐอเมริกาโดยมีนายทาวน์เซนด์ แฮร์ริส เป็นผู้แทนในเดือนพฤษภาคมพ.ศ. 2399 เรียกว่า สนธิสัญญาแฮร์ริส (Harris Treaty) และสนธิสัญญากับฝรั่งเศสในเดือนสิงหาคมพ.ศ. 2399 โดยมีนายชาลส์ เดอ มงตีญี (Charles de Montigny) เป็นผู้แทนของพระจักรพรรดินโปเลียนที่ 3
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ เป็นแม่กองสร้างวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร สร้างพระปรางค์ภูเขาทอง วัดสระเกศ สร้างวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร สร้างพระอภิเนาว์นิเวศน์และพระที่นั่งไชยชุมพล ซ่อมพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ ในพระบรมมหาราชวัง นอกจากนี้ท่านยังมีความสามารถในการเดินเรือ เป็นผู้ต่อเรือบาร์จ (เรือท้องแบน) ขนาด 300 ตัน และเรือสกูนเนอร์ ขนาด 200 ตัน ใช้เดินทางติดต่อค้าขายถึงศรีลังกา
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติถึงแก่พิราลัยเมื่อปีพ.ศ. 2400 อายุ 66 ปี ขณะเป็นแม่กองสร้างสวนนันทอุทยาน ในเดือนธันวาคมพ.ศ. 2400 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานเพลิงศพสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติที่วัดพิชัยญาติการาม[3]
เกียรติยศ
แก้ธรรมเนียมยศของ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ | |
---|---|
ตราประจำตัว | |
การเรียน | ใต้เท้ากรุณาเจ้า |
การแทนตน | กระผม/ดิฉัน |
การขานรับ | ขอรับเหนือเกล้า/เจ้าค่ะ |
บุตรธิดา
แก้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติมีบุตรธิดา ดังนี้
- ท่านผู้หญิงน้อย
ท่านผู้หญิงน้อยเป็นธิดาพระยาสมบัติบาล (เสือ) กับคุณหญิงม่วง ธิดาเจ้าคุณพระราชพันธุ์ (ชูโต) พระเชษฐาในสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินีในรัชกาลที่ 1
- พระสุริยภักดี (สนิท บุนนาค); พ.ศ. 2355-2381 สมรสกับคุณศรี ธิดาพระยาอุไทยธรรม (กลาง ณ บางช้าง) กับคุณหญิงน่วม พระยาอุไทยธรรม (กลาง ณ บางช้าง) เป็นบุตรที่ 2 ในพระยาสมุทรสงคราม (ศร ณ บางช้าง) และเจ้าคุณพระราชพันธุ์ (แก้ว) พระขนิษฐาในสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินีในรัชกาลที่ 1[8]
- คุณชายกลาง บุนนาค
- คุณชายแดง บุนนาค
- เจ้าคุณตำหนักเดิม (นุ่ม บุนนาค; พ.ศ. ?-2419)
- คุณชายผูก บุนนาค
- คุณหญิงแห บุนนาค
- คุณชายชิด มหาดเล็กวิเศษ (พ.ศ. ?-2381)
- เจ้าคุณหญิงเป้า (พ.ศ. ?-2435) ภรรยาพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค)
- คุณชายนพ บุนนาค
- คุณชายกระจ่าง บุนนาค
- เจ้าคุณคลี่ บุนนาค (พ.ศ. 2375-2448)
- คุณชายโต บุนนาค
- หม่อมหงิม
หม่อมหงิมเป็นหม่อมประทานจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าประไพวดี กรมหลวงเทพยวดี
- เจ้าพระยาศรีพิพัฒน์ (แพ บุนนาค); พ.ศ. 2362-2431) สมรสกับท่านผู้หญิงอ่วม
- พระยาอิศรานุภาพ (เอี่ยม บุนนาค; พ.ศ. 2366-2445) สมรสกับคุณหญิงนิ่ม ธิดาพระศรีทรงยศ (เจ้าสัวเนียม)
- คุณหญิงลิ้นจี่ บุนนาค
- พระยานานาพิธภาษี (โต บุนนาค; พ.ศ. 2377-2430) สมรสกับคุณหญิงจันทร์
- หม่อมมิ่ง
หม่อมมิ่งเป็นหม่อมประทานจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าประไพวดี กรมหลวงเทพยวดี
- คุณหญิงสวน บุนนาค รับราชการฝ่ายในเป็นพนักงานผ้าเหลือง
- คุณหญิงนิ่ม บุนนาค
- คุณหญิงลำเภา บุนนาค
- พระยากลาโหมราชเสนา (ฉ่ำ บุนนาค; พ.ศ. 2369-2441) สมรสกับคุณหญิงอาบ (ชูโต)
- หม่อมคล้าย
- คุณหญิงปาน บุนนาค รับราชการฝ่ายในเป็นพนักงานผ้าเหลือง
- ท่านผู้หญิงพัน ภรรยาเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค)
- คุณหญิงเน่า บุนนาค
- นายไชยขรรค์มหาดเล็กหุ้มแพร (โชติ บุนนาค; พ.ศ. 2378-2402)
- หม่อมทรัพย์
- คุณหญิงหุ่น ภรรยาพระยาวงศาภรณ์ภูษิต (เมฆ บุนนาค)
- หม่อมมี
- พระยาวรพงศ์พิพัฒน์ (แย้ม; พ.ศ. 2366-2404) สมรสกับคุณหญิงทองคำ
- หม่อมงิ้ว
- คุณหญิงเทพ บุนนาค
- หม่อมเอม
- คุณชายเชย บุนนาค
- คุณหญิงตุ๊กตา บุนนาค
- หม่อมนิ่ม
- ท้าวศรีสัจจา (เลื่อน บุนนาค; พ.ศ. ?-2443)
- หม่อมปิ่น
- เด็กหญิง (ไม่มีนาม)
- หม่อมสินลา
- เด็กชาย (ไม่มีนาม)
- หม่อมแย้ม
- เด็กหญิง (ไม่มีนาม)
- หม่อมเนย
- คุณชายเริก บุนนาค
- หม่อมแสง
- คุณหญิงลำใย ภรรยาพระยาราชานุวงศ์ราชินิกุล (โต บุนนาค)
- คุณหญิงเล็ก บุนนาค
- หม่อมน้อย (ขรัวยายคล้าย)
- คุณชายอ่ำ บุนนาค
- เจ้าคุณจอมมารดาสำลี ในรัชกาลที่ 4 (พ.ศ. 2378-2443)
- คุณชายเปี่ยม บุนนาค
- คุณชายรอด บุนนาค
- หม่อมทิม
- คุณหญิงจาด บุนนาค
- หม่อมกลีบ
- หม่อมมณฑา ในหม่อมเจ้าประทุมเสพ ฉัตรกุล
อ้างอิง
แก้- ↑ ถิ่นฐานและบ้านเรือนของสกุลบุนนาค[ลิงก์เสีย]
- ↑ "การสร้างวัดในสกุลบุนนาค". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-02-22. สืบค้นเมื่อ 2020-05-09.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค). พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชชกาลที่ ๓.
- ↑ "(1) ๓:ท พระสุริยภักดี มีนามว่า สนิท". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-10-28. สืบค้นเมื่อ 2020-05-09.
- ↑ KEDAH GENEALOGY continued from the previous page.
- ↑ "ประวัติความเป็นมา จังหวัดปัตตานี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-10-09. สืบค้นเมื่อ 2020-07-09.
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-10-29. สืบค้นเมื่อ 2020-05-08.
- ↑ ลำดับราชินิกุลบางช้าง พิมพ์ในงานศพพระยาสุริยานุวงศ์ประวัติ (เต็น บุนนาค) ปีมะแม พ.ศ. 2462
- สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค)เก็บถาวร 2006-06-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- เสนาบดีตระกูลบุนนาค เก็บถาวร 2012-06-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน