วัดประดู่ฉิมพลี
วัดประดู่ฉิมพลี เดิมชื่อ วัดฉิมพลี หรือชาวบ้านเรียกว่า วัดประดู่นอก คู่กับวัดประดู่ใน (วัดประดู่ในทรงธรรม) เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ในแขวงวัดท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร
วัดประดู่ฉิมพลี | |
---|---|
![]() เจดีย์กลมทรงรามัญ | |
![]() | |
ชื่อสามัญ | วัดฉิมพลี, วัดประดู่นอก |
ที่ตั้ง | เลขที่ 168 ซอยเพชรเกษม 15 ถนนเพชรเกษม แขวงวัดท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร 10600 |
ประเภท | วัดราษฎร์ |
นิกาย | มหานิกาย |
เจ้าอาวาส | พระศรีรัตนโมลี (สมคิด สุรเตโช ป.ธ.9) |
![]() |
ประวัติ
แก้ที่ชื่อว่า วัดฉิมพลี เพราะบริเวณที่ตั้งวัดเต็มไปด้วยต้นงิ้ว ในสมัยรัชกาลที่ 3 สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค) เมื่อครั้งดำรงยศเป็นพระยาศรีพิพัฒนรัตนราชโกษา จางวางพระคลังสินค้า ได้จัดหาที่ดินและก่อสร้างวัด โดยใช้เวลานานถึง 8 ปี จึงแล้วเสร็จในรัชสมัยรัชกาลที่ 4 ในเวลานั้นถือเป็นวัดราษฎร์ที่ใหญ่และงดงามกว่าวัดราษฎร์โดยทั่วไป
เมื่อวัดสร้างแล้วเสร็จนั้น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค) ได้เพียรพยายามเสาะหาพระพุทธรูปที่สวยงาม เพื่อนำมาประดิษฐานในพระอุโบสถ ซึ่งตามประวัติกล่าวว่า เจ้าอธิการวัดอ้อยช้าง หรือวัดบางอ้อยช้าง จังหวัดนนทบุรี ได้อัญเชิญพระพุทธรูปพระศรีศาสดามาจากจังหวัดพิษณุโลก เพื่อนำไปประดิษฐาน ณ วัดอ้อยช้าง แต่ความทราบไปถึงสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค) ท่านจึงไปอัญเชิญมาประดิษสถานที่วัดประดู่ฉิมพลี ครั้นความทราบไปถึงรัชกาลที่ 4 จึงทรงมีพระบรมราชโองการลงมาว่า เนื่องจากพระศรีศาสดาเป็นพระพุทธรูปสำคัญอยู่คู่กับพระชินสีห์มาก่อน จึงให้อัญเชิญพระศรีศาสดาจากวัดประดู่ฉิมพลี มาประดิษสถานที่วัดบวรนิเวศวิหารแต่ขณะที่เชิญมานั้น ยังสร้างพระวิหารไม่เสร็จ จึงโปรดให้นำไปไว้ที่วัดสุทัศน์เทพวราราม ชั่วคราวก่อน เมื่อเดือน 4 แรม 10 ค่ำ ปีฉลูเบญจศก พ.ศ. 2396
เมื่อพระประธานของวัดประดู่ฉิมพลีไม่มีแล้ว สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค) จึงได้ไปเลือกหาพระพุทธรูปที่มีลักษณะพุทธศิลป์ที่สวยงาม และมีขนาดเท่ากับพระศรีศาสดาจากวัดอ้อยช้าง เป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะศิลปะสุโขทัย พระพักตร์เอิบอิ่ม ผิวองค์พระดั่งทองคำ จึงได้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ ณ พระอุโบสถ วัดประดู่ฉิมพลี และได้ตั้งชื่อพระพุทธรูปองค์นี้ว่า พระสุโขทัย หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า หลวงพ่อสุโขทัย
กรมการศาสนา ได้คัดเลือกวัดประดู่ฉิมพลีให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างในปี พ.ศ. 2535[1]
สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ร่วมกับวัดประดู่ฉิมพลี ได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์วัด เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2558–2563 ตั้งแต่พระอุโบสถ พระเจดีย์ทรงรามัญ และปรับปรุงภูมิทัศน์เขตพุทธาวาส
อาคารเสนาสนะและปูชนียวัตถุ
แก้อุโบสถ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน กว้าง 13 เมตร ยาว 32 เมตร สร้างตามศิลปะแบบพระราชนิยมรัชกาลที่ 3 ซุ้มประตูหน้าต่างปั้นลายปูนเป็นลายดอกไม้ใบไม้ บานประตูและหน้าต่างปิดทองประดับกระจกลายยา ภายในอุโบสถประดิษฐาน หลวงพ่อสุโขทัย พระพุทธสัมพันธมุนี พระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง 99 นิ้ว มีพระวิหาร 2 หลัง กว้าง 6.10 เมตร ยาว 17.30 เมตร ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตก 1 หลัง เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ และด้านทิศตะวันออก 1 หลัง เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางประทับยืน
เจดีย์กลมทรงรามัญ เป็นเจดีย์กลม ฐานกบบัลลังก์เป็นแปดเหลี่ยม มีบัวประดับที่เชิงระฆังที่เหนือบัลลังก์ และที่ใต้ปลียอด มีเครื่องประดับแบบเจดีย์รามัญทั่วไป มีเสารายและชานโดยรอบ ภายในประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง วัดมีศาลาราชสังวราภิมณฑ์ เป็นอาคารทรงไทย ก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น กว้าง 11 เมตร ยาว 16.50 เมตร ประดิษฐานรูปหล่อเหมือนพระราชสังวราภิมณฑ์ หรือหลวงปู่โต๊ะ[2]
ระเบียงภาพ
แก้-
หมู่พระพุทธรูปยืนในวิหาร
-
พระพุทธชินราชบนศาลาราชสังวราภิมณฑ์
-
พระบรมรูป สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
-
พระนอนตะแคงซ้าย
-
รอยพระพุทธบาทบนเจดีย์กลมทรงรามัญ
อ้างอิง
แก้- ↑ "วัดประดู่ฉิมพลี (WAT PRADUECHIMPLEE)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-07-03. สืบค้นเมื่อ 2020-07-23.
- ↑ "รักษ์วัดรักษ์ไทย : วัดประดู่ฉิมพลี อารามแห่งพระดี "หลวงปู่โต๊ะ"". ผู้จัดการออนไลน์. June 1, 2016.