เจ้าจอมแว่น ในรัชกาลที่ 1

(เปลี่ยนทางจาก เจ้าจอมแว่น)

เจ้าจอมแว่น พระนามเดิม เจ้านางคำแว่น ชาวลาวสองฝั่งโขงเรียกฉายานามว่า เจ้านางเขียวค้อม เจ้านางท่านแรกในราชวงศ์จักรี เป็นพระบรมวงศานุวงศ์จากราชวงศ์เวียงจันทน์อดีตเจ้านางของสมเด็จพระเจ้าสิริบุญสาร (ครองราชย์ พ.ศ. 2294-2322) แห่งนครหลวงเวียงจันทน์[1] ต่อมารับสถาปนาเป็นพระสนมเอกใน ร. 1 รับใช้พระยุคลบาทอย่างใกล้ชิดแต่สมัยพระยาตากสินจนผลัดราชวงศ์ใหม่ นับเป็นพระสนมเอกผู้ทรงอิทธิพลต่อราชสำนักสยามฝ่ายในอย่างสูงจนชาววังยกย่องเป็นสมเด็จพระบรมราชินี และเป็นเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ซึ่งอภิบาลสมเด็จพระเจ้าลูกเธอที่ทรงพระเยาว์อย่างเข้มงวดจนรับฉายาว่า พระสนมเอกเสือ [2]

เจ้านางคำแว่น
เจ้าจอมในพระมหากษัตริย์สยาม
เกิดพ.ศ. 2312
ถึงแก่อนิจกรรมพ.ศ. 2352 (40 ปี)
สัญชาติลาวเวียงจันทน์
บิดาพระนครศรีบริรักษ์หรือเพียเมืองแพน (ท้าวศักดิ์ เสนอพระ)

พระประวัติ

แก้

ราชตระกูลจากราชวงศ์เวียงจันทน์

แก้

เจ้านางคำแว่นเป็นเจ้านายราชวงศ์เวียงจันทน์องค์แรกที่เชื่อมสัมพันธ์ทางเครือญาติกับราชวงศ์จักรีของสยาม เดิมเป็นชาวนครหลวงเวียงจันทน์ สันนิษฐานว่าประสูติที่เมืองพานพร้าว (พันพร้าว หรือ ธารพร้าว) ปัจจุบันคือ ต.พันพร้าว จ.หนองคาย ตรงข้ามนครหลวงเวียงจันทน์ เป็นธิดาพระนครศรีบริรักษ์ (ท้าวศักดิ์ หรือ ท้าวพัน) เจ้าเมืองขอนแก่นหรือผู้ว่าราชการเมืองขอนแก่นองค์แรก พระนครศรีบริรักษ์เป็นต้นสกุลเสนอพระ นครศรีบริรักษ์ แพนพา อุปฮาด สุนทรพิทักษ์ ฯลฯ ใน จ.ขอนแก่น เจ้านางคำแว่นเป็นพระนัดดาเจ้าแสนปัจจุทุมหรือท้าวแสนแก้วบุฮม(นักประวัติศาสตร์บางคนสันนิษฐานว่าท่านคือเจ้าศรีวิชัย บุตรพระเจ้าธรรมิกราชซึ่งในพื้นเมืองท่งและเมืองมุกดาหาร กล่าวว่า ท่านเป็นบิดาของเจ้าแก้วมงคลและเจ้าจันทรสุริยวงศ์) บ้านเพี้ยปู่ เมืองธุรคมหงส์สถิต (เมืองทุละคม) นครหลวงเวียงจันทน์[3] เป็นพระราชปนัดดาสมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 3 (สมเด็จพระเจ้าสิริบุญสาร) พระมหากษัตริย์แห่งนครหลวงเวียงจันทน์ และเป็นพระราชนัดดา (หลานลุง) เจ้าแก้วมงคล (เจ้าแก้วบุรม) ผู้สร้างเมืองท่งศรีภูมิ ปัจจุบันคือ อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด

แต่มีเนื้อความขัดแย้งกับพงสาวดารเมืองท่ง (พื้นเมืองท่ง) กล่าวคือ เป็นไปไม่ได้ที่เจ้าแก้วมงคลจะเป็นพี่น้องกับเพี้ยเมืองแพนหากเป็น ปู่-หลาน จะมีความน่าเชื่อถือมากกว่าเนื่องจากเจ้าแก้วมงคล ประสูติ ณ. ปี พ.ศ. 2184 ส่วนเพี้ยเมืองแพนเป็นเจ้าเมืองในปี พ.ศ. 2340 ซึ่งห่างกัน 156 ปี บ้างว่าพระนครศรีบริรักษ์ (ศักดิ์) บิดาเป็นบุตรพระรัตนวงศามหาขัติยราช (ภู) เจ้าเมืองสุวรรณภูมิ พระรัตนวงศาฯ เป็นอนุชาพระยาขัติยวงศ์พิสุทธิบดี (สีลัง ต้นสกุล ธนสีลังกูร) เจ้าเมืองร้อยเอ็ด ทั้ง 2 เป็นบุตรพระขัติยวงศา (ทนต์ หรือ สุทนต์) เจ้าเมืองร้อยเอ็ดองค์แรก และมีศักดิ์เป็นพระราชนัดดาเจ้าแก้วมงคล ทัศนะนี้เจ้านางคำแว่นจึงเป็นพระราชปนัดดาเจ้าแก้วมงคล มีหลักฐานที่เชื่อว่าเป็นบันทึกเก่าแก่ซึ่งน่าจะมีอายุและความน่าเชื่อถือกว่า ทั้ง 2 กรณี(ทัศนะ) ข้างต้น

จากเอกสารพื้นเมืองท่ง-เอกสารฝ่ายทายาทเมืองสุวรรณภูมิ (ทัศนะที่3) มีกล่าวว่า เจ้ามืดดำโดน มีโอรส 3 องค์ คือ เจ้าเชียง เจ้าสูน เจ้าอุ่น (ปลัดเมืองขุขันธ์ซึ่งต่อมาได้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองศีร์ษะเกษท่านแรก นามว่า พระยารัตนวงศา อีกทั้งยังเป็นลูกเขยของพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวนหรือตากะจะเจ้าเมืองขุขันธ์ท่านแรกและเป็นบิดาของพระประจันตประเทศหรือเจ้าเมืองชลบถวิบูลย์ท่านแรก) ส่วนเจ้าเซียงบุตรท้าวมืด มีบุตร 3 คน คือ ท้าวเพ (เจ้าเมืองหนองหานท่านแรก), ท้าวโอ๊ะ (เจ้าเมืองสุวรรณภูมิ), ท้าวพร และธิดาไม่ทราบนามอีก 2 คน ในพื้นเมืองท่ง ระบุว่าท้าวพรซึ่งเป็นบุตรของท้าวเซียงมีบุตรชาย 2 คน คือ เพี้ยเมืองแพน (พระนครศรีบริรักษ์ เจ้าเมืองขอนแก่นท่านแรก) เพี้ยศรีปาก (พระเสนาสงคราม เจ้าเมืองพุทไธสงท่านแรก และเป็นบิดาของพระยานครภักดี เจ้าเมืองแปะหรือบุรีรัมย์ท่านแรก)[4][5]

ราชตระกูลฝ่ายบิดาเจ้านางคำแว่นปกครองเมืองขอนแก่นตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์จนปฏิรูปการปกครองยกเลิกระบบกินเมืองหลัง พ.ศ. 2444 ราชวงศ์และกลุ่มเครือญาติเป็นต้นตระกูลสำคัญของภาคอีสานหลายสายและแยกย้ายตั้งบ้านเมืองในหัวเมืองลาวมากถึง 23 หัวเมืองคือ เมืองท่ง (ท่งศรีภูมิ) เมืองสุวรรณภูมิราชบุรีประเทษราช (สุวรรณภูมิ) เมืองร้อยเอ็ดราชบุรีศรีสาเกต (ร้อยเอ็ด) เมืองชลบถวิบูลย์ (ชลบถ) เมืองขอนแก่น เมืองเพี้ย (บ้านเมืองเพี้ย) เมืองรัตนนคร เมืองมหาสารคาม เมืองศรีสระเกษ เมืองโกสุมพิสัย เมืองกันทรวิชัย (โคกพระ) เมืองวาปีปทุม เมืองหนองหาร (หนองหานน้อย) เมืองโพนพิสัย (โพนแพง) เมืองพุทไธสงค์ เมืองเกษตรวิสัย เมืองพนมไพรแดนมฤค (พนมไพร) เมืองธวัชบุรี เมืองพยัคฆภูมิพิสัย (บ้านเมืองเสือ) เมืองจตุรพักตรพิมาน (บ้านเมืองหงษ์) เมืองขามเฒ่า เมืองเปือยใหญ่ (บ้านค้อ) และเมืองน่าน (นันทบุรี) [6]

พี่น้อง

แก้

เจ้านางคำแว่นมีพี่น้องร่วมบิดา 5 ท่านคือ

  1. เจ้านางคำแว่น (เจ้าจอมแว่น)
  2. พระนครศรีบริรักษ์ (จาม) เจ้าเมืองขอนแก่น
  3. ท้าวผาม
  4. เพียวรบุตร กรมการเมืองขอนแก่น บิดาพระยานครศรีบริรักษ์ บรมราชภักดีศรีศุภสุนทร (อุ หรือ อู๋ ต้นสกุล นครศรีบริรักษ์ ) เจ้าเมืองขอนแก่นองค์สุดท้าย ผู้ว่าราชการเมืองขอนแก่นท่านแรก และจางวางราชการเมืองขอนแก่น
  5. หญิงไม่ปรากฏนาม หม่อมในพระนครศรีบริรักษ์ (คำบ้ง หรือ คำบัง) เจ้าเมืองขอนแก่น[7]

เชลยศึก

แก้

เดิมเจ้านางคำแว่นอาศัยอยู่กับบิดาที่นครหลวงเวียงจันทน์แต่ครั้งบิดาบรรดาศักดิ์เพียเมืองแพนกรมการเมืองธุรคมหงส์สถิต ทำราชการขึ้นราชอาณาจักรเวียงจันทน์ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 3 (สมเด็จพระเจ้าสิริบุญสาร) ต่อมาบิดาเลื่อนเป็นเจ้าเมืองรัตนนคร[8] แต่ในหลักฐานทางฝั่งเมืองหนองคายกลับมีข้อขัดแย้งกับประวัติเมืองธุรคมหงส์สถิตของเพี้ยเมืองแพน เนื่องจากเมืองธุรคมหงษ์สถิตย์ถูกตั้งเมื่อสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยมีพระวิชิตหงษ์พิไสย บุตรพระปทุมเทวาภิบาล เจ้าเมืองหนองคาย เป็นเจ้าเมืองธุรคมหงษ์สถิตย์ท่านแรก โดยขึ้นกับเมืองหนองคาย[9] ซึ่งในขณะนั้นเมืองเวียงจันทน์มิได้คงความเป็นเมืองอยู่แต่ประการใดเนื่องจากถูกทัพสยามทำลายและยุบอาณาจักร์ลงและหากแต่เป็นเพียงเมืองร้างขึ้นตรงกับเมืองหนองคายด้วยเฉกเช่นเดียวกันกับเมืองธุรคมหงษ์สถิตย์ เพราะฉะนั้นเป็นไปไม่ได้ที่เพี้ยเมืองแพนจะมาจากเมืองธุรคมและเคยเป็นกรมการเมืองหรือเป็นหน่อเนื้อเชื้อเจ้าเมืองธุรคมหงษ์สถิตย์

ถ้าหากอิงจากการอพยพมาจากในกำแพงเมืองเวียงจันทน์ ก็มิได้เป็นเชื้อเจ้าเชื้อกษัตริย์แต่ประการใดหากแต่เป็นเพียงเชื้อสายขุนนางเวียงจันทน์ชั้นผู้น้อยที่ส่งบุตรสาว อย่างนางคำแว่น ให้ไปเป็นนางกำนัลหรือบาทจาริกาแก่กษัตริย์ลาวเวียงจันทน์ ซึ่งมักเป็นที่นิยมของเหล่าขุนนางที่มักจะพึงกระทำกันเพื่อประโยชน์ทางตำแหน่งการเมือง พ.ศ. 2321 เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (ร. 1) เป็นแม่ทัพยกทำลายนครหลวงเวียงจันทน์พร้อมกวาดต้อนครัวลาว พระราชโอรส พระราชธิดา พระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนางท้าวเพีย และทรัพย์สมบัติสิ่งของศาสตราวุธ ช้างม้าเป็นอันมากมาธนบุรี พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) พระบาง และพระพุทธรูปมีค่าจำนวนมากของลาวถูกอัญเชิญมาสยามในสงครามครั้งนี้ด้วย เจ้านางคำแว่นในฐานะเชลยศึกจึงตามเสด็จสู่แผ่นดินสยามเช่นกัน[10]

ฝ่ายเพียเมืองแพนบิดาอพยพพลข้ามโขงตั้งบ้านเรือนกระจายหลายแห่งในภาคอีสานคือ บ้านโพธิ์ตาก (ปัจจุบันคือ บ.โพธิ์ตาม ต.บ้านกง อ.เมืองขอนแก่น) บ้านยางเดี่ยว บ้านโพธิ์ศรี (ปัจจุบันคือ บ.โพธิ์ศรี ต.บ้านโน อ.กระนวน จ.ขอนแก่น) บ้านโพธิ์ชัย (ปัจจุบันคือ บ.โพธิ์ชัย อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น) จากนั้นอพยพพลบางส่วนมาตั้งที่บ้านชีโหล่นแขวงเมืองท่ง (สุวรรณภูมิ) แล้วอพยพไพร่พลตั้งเป็นเมืองเพี้ยที่บ้านโนนกระยอม (ดอนพยอม)[11] (ปัจจุบันคือ บ.เมืองเพี้ย ต.เมืองเพี้ย อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น) 9 ปีต่อมา พ.ศ. 2331 จึงพาไพร่พลประมาณ 330 คนขอแยกตัวจากเมืองสุวรรณภูมิไปตั้งที่ฝั่งบึงบอน[12]

ในทัศนะที่ 1 ที่กล่าวมาข้างต้นความน่าจะเป็นไปได้น้อยมากเนื่องจากมีความขัดแย้งกับพื้นเมืองจากหลาย ๆ ฉบับ มีนักประวัติศาสตร์หลายท่านมองว่าบันทึกประวัติเมืองขอนแก่นในทัศนะที่1พึ่งถูกบันทึกขึ้นใหม่อายุของเอกสารการบันทึกยังมีมาไม่นาน อาจเนื่องด้วยความขัดแย้งภายในราชวงศ์เจ้าจารย์แก้ว ระหว่างท้าวอ่อนเจ้าเมืองสุวรรณภูมิกับเพี้ยเมืองแพนจึงทำให้ผู้บันทึกข้อมูลประวัติเมืองขอนแก่นและประวัติของเพี้ยเมืองแพนบันทึกคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงและต่างจากเอกสารพื้นเมืองอื่นๆ (ทัศนะที่2-3) ที่มีอายุการบันทึกของเอกสารที่มีอายุที่ยาวนานกว่า

ผู้อยู่เบื้องหลังการตั้งเมืองขอนแก่น

แก้

หลัง ร. 1 ปราบดาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์ราชวงศ์จักรีได้สถาปนาเจ้านางคำแว่นเป็นเจ้าจอมแว่นพระสนมเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ต่อมาเพียเมืองแสน (คำพาว) กรมการเมืองสุวรรณภูมิญาติเพียเมืองแพน (ศักดิ์) วิวาทกับกรมการเมืองเดิมจึงแยกไปตั้งไพร่พลที่บ้านหนองกองแก้วและรับโปรดเกล้าฯ เป็นพระจันทรประเทศเจ้าเมืองชลบถ (ปัจจุบันคือ อ.ชนบท จ.ขอนแก่น) ขึ้นเมืองนครราชสีมา[13] ฝ่ายเพียเมืองแพน (ศักดิ์) บิดาอยากเป็นเจ้าเมืองบ้างจึงปรึกษาเจ้านางคำแว่นธิดาซึ่งเห็นดีด้วย ต่อมาเจ้านางคำแว่นทูลโปรดเกล้าฯ ให้บิดาซึ่งยกพลแยกจากเมืองสุวรรณภูมิมาตั้งที่บ้านบึงบอน (ปัจจุบันคือ บ.เมืองเก่า ต.ในเมือง อ.เมืองขอนแก่น) แต่ พ.ศ. 2332 ขึ้นเป็นเจ้าเมือง พ.ศ. 2340 ร. 1 จึงโปรดเกล้าฯ ให้เพียเมืองแพนเป็นพระนครศรีบริรักษ์เจ้าเมืองขอนแก่นองค์แรก ตั้งนามเมืองตามนามบ้านขามที่ตั้งพระธาตุขามแก่น ทำราชการขึ้นเมืองนครราชสีมาด้วยประชากรเพียง 330 ครัวเท่านั้น[14] ใบบอกเมืองขอนแก่น 28 เมษายน ร.ศ. 109 ระบุโดยละเอียดว่า

เขียนที่ว่าราชการเมืองขอนแก่นฝ่ายเมืองเดิม วันที่ 28 เมษายน รัตนโกสินทร์ศก 109 ข้าพเจ้าอุปฮาต ราชวงษ์ ราชบุตร หลวงพรหมภักดีผู้ช่วย เมืองแสน เมืองจัน ท้าวเพี้ยกรมการเมืองขอนแก่น บอกปรนนิบัติคำนับมายังท่านออกพันนายเวร ขอให้นำขึ้นกราบเรียน พณหัวเจ้าท่านลูกขุน ณ ศาลาทรงทราบ ด้วยเดิมจะตั้งเป็นเมืองขอนแก่น เจ้านางคำแว่นกราบบังคมทูลให้เมืองแพน พาสมัครพรรคพวกแยกออกจากเมืองสุวรรณภูมิ จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมตั้งเมืองแพนเป็นที่เจ้าเมืองขอนแก่น หาทันมีอุปฮาต ราชวงษ์ ราชบุตรไม่ เมืองแพนเจ้าเมืองถึงแก่กรรมไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ท้าวคำบ้งบุตรเขยเมืองแพนเจ้าเมือง ขึ้นเป็นที่พระนครเจ้าเมือง โปรดให้ท้าวคำยวงเป็นที่ราชบุตร แต่ที่อุปฮาตราชวงษ์นั้นหาทันตั้งไม่ พระนครคำบ้งถึงแก่กรรมไปจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ตั้งราชบุตรคำยวงเป็นที่พระนครเจ้าเมือง ตั้งท้าวสุวันบุตรพระนครคำบ้งเป็นที่อุปฮาต ตั้งพระราชวงษาบุตรหลานเจ้าเมืองแผนเป็นที่ราชวงษ์ ตั้งท้าวคำพางบุตรพระนครคำยวงเป็นที่ราชบุตร ขึ้นไปครอบครองบ้านเมืองก็โดยยุติธรรม คุมส่วยผลเร่วลงมาทูลเกล้าฯ เสมอทุกปีมิได้ทศค้าง ครั้นอยู่หลายปีราชวงษ์ถึงแก่กรรมไป จึงโปรดเกล้าให้ท้าวอินบุตรพระนครคำยวงเป็นที่ราชวงษ์ ครั้นพระนครเจ้าเมือง อุปฮาต และราชบุตรถึงแก่กรรมไป จึงโปรดเกล้าฯ ให้ท้าวหนูเข้ามาเป็นเจ้าเมืองขอนแก่น โปรดเกล้าฯ ให้ราชวงษ์อินบุตรพระนครคำยวงเป็นที่อุปฮาต ท้าวมุ่งบุตรพระนครคำยวงที่เป็นพี่ชายอุปฮาตอินเป็นที่ราชวงษ์ ท้าวจันชมภูบุตรอุปฮาตสุวันคนเก่าเป็นที่ราชบุตร อยู่มาได้สามปีจึงโปรดเกล้าฯ ให้พระนครหนู หนีจากเมืองขอนแก่นไปเป็นเจ้าเมืองมุกดาหาร แล้วจึงทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งอุปฮาตอินเป็นที่พระนครศรีบริรักษ์เจ้าเมือง ราชวงษ์มุ่งเป็นที่อุปฮาต ท้าวขติยะบุตรเขยพระนครคำยวงเป็นที่ราชวงษ์ แต่ราชบุตรยังคงที่ พระนครศรีบริรักษ์พาท้าวเพียประพฤติราชการบ้านเมืองก็เป็นสัจจเป็นธรรม คุมเงินส่วยผลเร่วเมืองขอนแก่น จำนวนปีละยี่สิบแปดช่างแปดตำลึง ลงมาทูลเกล้าฯ เสมอทุกปี ฯลฯ[15]

พงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสานของหม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ม.ร.ว. ปฐม คเนจร) ระบุเหตุการณ์ตั้งเมืองขอนแก่นว่า ...ลุจุลศักราช 1159 ปีมเสง นพศก (พ.ศ. 2340) ฝ่ายเพี้ยเมืองแพน บ้านชีโล่น เมืองสุวรรณภูมิ เห็นว่าเมืองแสนได้เป็นเจ้าเมืองชนบท ก็อยากจะได้เป็นบ้าง จึงเกลี้ยกล่อมผู้คนให้อยู่ในบังคับสามร้อยคนเศษ จึงสมัครขึ้นอยู่ในเจ้าพระยานครราชสีมา แล้วขอตั้งบ้านบึงบอนเป็นเมือง เจ้าพระยานครราชสีมาได้มีใบบอกมายังกรุงเทพฯ จึงโปรดเกล้าฯ ตั้งให้เมืองแพนเป็นที่พระยานครศรีบริรักษ์ เจ้าเมือง ยกบ้านบึงบอนขึ้นเป็นเมืองขอนแก่น ขึ้นกับเมืองนครราชสีมา...[16] เหตุการณ์เดียวกันยังถูกระบุในพงศาวดารอีสานฉบับพระยาขัติยวงศา (เหลา ณ ร้อยเอ็จ) ด้วยว่า ...ได้ทราบข่าวว่าเมืองแพน บ้านชีโล่น แขวงเมืองสุวรรณภูมิ พาราษฎร ไพร่พลประมาณ 330 คน แยกจากเมืองสุวรรณภูมิไปขอตั้งฝั่งบึงบอนเป็นเมือง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เมืองแพนเป็นพระนครศรีบริรักษ์ ผู้ว่าราชการเมืองขอนแก่น...[17]

ฉายาเจ้านางเขียวค้อมแห่งลาว

แก้

เจ้านางเขียวค้อมเป็นฉายานามในอุดมคติของเจ้าหญิงพระราชธิดาของพระมหากษัตริย์ลาวที่ถือกำเนิดเป็นเจ้าฟ้า[18] หรือหมายถึงเจ้าหญิงในราชวงศ์ลาวที่ได้รับการอภิเษกสมรสกับพระมหากษัตริย์เมืองอื่นแล้วได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมเด็จพระบรมราชินีหรือพระสนมเอก ในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าสิริบุญสารแห่งนครเวียงจันทน์ (พ.ศ. 2294 - พ.ศ. 2322) ได้ปรากฏพระนามเจ้าหญิงที่ได้รับฉายาว่า เจ้านางเขียวค้อม อยู่ 4 พระองค์ ดังนี้

ขัดแย้งกับสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี

แก้

ความขัดแย้งของเจ้านางคำแว่นกับสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช บันทึกในหนังสือ โครงกระดูกในตู้ ว่า ...เมื่อเจ้านางคำแว่นมาอยู่ในทำเนียบสมเด็จเจ้าพระยาฯ แล้ว คุณหญิง (สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี) ก็หึงหวงมาก มีปากเสียงกับสมเด็จเจ้าพระยาฯ ด้วยเรื่องเจ้านางคำแว่นนี้อยู่บ่อย ๆ จนคืนวันหนึ่ง คุณหญิงถือดุ้นแสมไปยืนดักคอยอยู่ในที่มืด บนนอกชานเรือน พอเจ้านางคำแว่นเดินออกมาจากเรือนหลังใหญ่ อันเป็นที่อยู่ของสมเด็จเจ้าพระยาฯ คุณหญิงก็เอาดุ้นแสมตีหัว เจ้านางคำแว่นก็ร้องขึ้นว่า คุณพี่เจ้าคะ คุณหญิงตีหัวดิฉัน สมเด็จเจ้าพระยาฯ ก็โกรธยิ่งนัก ฉวยได้ดาบออกจากเรือนจะมาฟันคุณหญิง ฝ่ายคุณหญิงก็วิ่งเข้าเรือนที่ท่านอยู่ แล้วปิดประตูลั่นดาลไว้ สมเด็จเจ้าพระยาฯ ก็เอาดาบฟันประตูอยู่โครม ๆ ...[19]

เรื่องมีอยู่ว่า ครั้ง ร. 1 ยังไม่ปราบดาภิเษกทรงเสน่ห์หาเจ้านางคำแว่นมากด้วยหน้าตาสวยงามหมดจดและเป็นลาวพุงขาว แต่เกรงคุณหญิงนาค (สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี) ที่มีปากเสียงกับพระองค์เรื่องบาทบริจาริกาและหญิงบำเรอบ่อยจึงได้แต่ให้เจ้านางดูแลงานเรือนทั่วไป รอเวลาคุณหญิงประทับในพระราชวังเป็นเพื่อนธิดาที่เป็นพระสนมเอกพระยาตากสิน คุณหญิงรู้ทันสามีจึงสั่งนางกลัดข้าใช้ซึ่งมีหน้าที่บีบนวดสามีทุกคืนว่า หากสมเด็จเจ้าพระยาฯ สั่งหาเจ้านางให้มาเคาะบอกท่านก่อนแล้วค่อยไปตามเจ้านางมา ส่วนคุณหญิงก็ไม่ค้างแรมในพระราชวังนาน 2 เดือน คืนหนึ่งสมเด็จเจ้าพระยาฯ ทนไม่ไหวจึงสั่งนางกลัดตามหาเจ้านางนางคำแว่นมาพบ นางกลัดทำตามที่คุณหญิงสั่งคือเคาะบอกก่อนจึงไปตามเจ้านางมา

ฝ่ายคุณหญิงถือดุ้นแสมยืนดักในที่มืดบนนอกชานเรือน ครั้นเจ้านางคำแว่นทาแป้งและน้ำอบเสร็จแล้วเดินมาทางเรือนหลังใหญ่ซึ่งเป็นห้องสมเด็จเจ้าพระยาฯ คุณหญิงเอาดุ้นแสมตีกลางศีรษะเจ้านางจนเลือดท่วม เจ้านางนางจึงร้องหาสมเด็จเจ้าพระยาฯ ฝ่ายคุณหญิงเห็นเลือดออกมากก็ตกใจวิ่งเข้าเรือนปิดประตูลั่นดาล สมเด็จเจ้าพระยาฯ ออกมาเห็นเจ้านางคำแว่นเจ็บก็โกรธมาก ฉวยดาบออกจากเรือนจะฟันคุณหญิง เมื่อมาถึงเรือนถีบประตูไม่ออกก็เอาดาบฟันประตูเสียงดังอึกทึกคึกโครม คุณฉิม (ร. 2 ในกาลต่อมา) บุตรคนโตได้ยินเหตุการณ์คิดว่าเจ้าคุณพ่อโมโหใหญ่โตหากปล่อยไว้เกรงแม่รับอันตราย จึงช่วยกันกับคุณจุ้ยและพี่เลี้ยงเข็นครกตำข้าวหลายใบมาต่อใต้หน้าต่างเรือนคุณหญิงพลางเรียกให้หนีลงมา และพาหลบไปอยู่ในวังหลวงโดยอาศัยอยู่ตำหนักเจ้าจอมฉิมใหญ่พระราชธิดาซึ่งเป็นพระสนมเอกพระยาตากสิน

เมื่อสมเด็จเจ้าพระยาฯ เข้ามาเห็นดังนั้นจึงให้เจ้านางคำแว่นรับตำแหน่งดูแลข้าทาสและความเรียบร้อยในเรือนทั้งหมดแทนคุณหญิง สมเด็จเจ้าพระยาฯ ปราบดาภิเษกและสถาปนาพระบรมมหาราชวัง คุณหญิงก็ไม่เคยเสด็จประทับในพระบรมมหาราชวัง แต่ประทับอยู่พระราชวังเดิมฝั่งธนบุรีกับเจ้าฟ้าชายฉิมพระราชโอรส เสด็จมาเยี่ยมพระราชธิดาในพระบรมมหาราชวังเพียงครั้งคราวตราบสวรรคต เจ้านางคำแว่นจึงรับสถาปนาเป็นพระสนมเอก โปรดฯ ให้รับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทตลอดรัชกาลจนชาววังยกย่องเป็นสมเด็จพระบรมราชินี[20]

ความใจกล้า

แก้

เจ้านางคำแว่นกล้าหาญและมีศิลปะในการเพ็ดทูลเรื่องต่าง ๆ ที่ไม่มีผู้ใดกล้านำขึ้นกราบบังคมทูล ร. 1 หากเรื่องนั้นสมควรและถูกต้องก็กราบทูลทันทีไม่กลัวพระราชอาญา ความกล้าหาญประจักษ์เมื่อ พ.ศ. 2339 คราว ร. 1 ทรงเหน็ดเหนื่อยพระวรกายจากว่าราชการงานเมือง ขณะบรรทมเกิดพระสุบินทรงละเมอข้าราชบริพารตกใจไม่ทราบจะทำอย่างไร เจ้านางคำแว่นตัดสินใจกัดจมูกจนรู้สึกพระองค์และตื่นพระบรรทม จึงได้รับความดีความชอบเป็นที่โปรดปรานของพระองค์มากจนไม่พิโรธ[21] ความกล้าหาญปรากฏอีกครั้งดังนี้ ...ที่น่าเห็นว่าเป็นคนดี ก็เพราะท่านจงรักต่อสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าเป็นที่สุด เป็นผู้ปฏิบัติในเวลาทรงพระชราอยู่จนสิ้นรัชกาล เมื่อทรงสร้างพระโกษทองใหญ่ไว้สำหรับพระองค์นั้น ครั้งสร้างเสร็จแล้ว ก็โปรดให้ยกเข้าไปตั้งไว้ถวายทอดพระเนตรในพระที่นั่งไพศาลฯ ทอดพระเนตรแล้วก็มิได้ตรัสให้ยกไปเก็บเข้าคลัง ให้ตั้งไว้บนพระที่นั่งหลายวัน พระสนมเอกเสือไม่สบายใจเห็นเป็นลาง ก็ทูลวิงวอนว่า เป็นอัปมงคลให้ยกไปเสีย ตรัสตอบว่า กูทำสำหรับใส่ตัวกูเองจะเป็นอัปมงคลทำไม แต่ก็โปรดให้ยกพระโกษไป พระสนมเอกเสือเป็นคนได้รับพระราชทานอภัย ทูลอะไรทูลได้จึงมีเรื่องเล่าต่อไป...

อภิบาลสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ

แก้

เจ้านางคำแว่นรับราชการใน ร. 1 อย่างใกล้ชิดแต่ไม่ได้ประสูติพระราชโอรสพระราชธิดา จึงถวายการอภิบาลพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี หรือพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงจันทบุรี ใน ร. 1 กับเจ้าจอมมารดาเจ้าหญิงทองสุกอย่างใกล้ชิดด้วยเป็นราชวงศ์ลาวเวียงจันทน์เหมือนกันและเป็นพระญาติใกล้ชิดโดยมีพระราชปัยกา (ทวด) พระองค์เดียวกัน นอกจากนี้ยังถวายการอภิบาลสมเด็จพระเจ้าลูกเธอใน ร. 2 ที่ประสูติแต่เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีอีก 3 พระองค์คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าชายอาภรณ์ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าชายกลาง (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์) และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าชายปิ๋ว ตลอดถวายการอภิบาลพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าหญิงบุญรอด (สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี) ด้วย

งานฝีมือในราชสำนัก

แก้

เจ้านางคำแว่นหรือเจ้าจอมแว่นมีฝีมือในการปรุงอาหารลาวอย่างการปรุงน้ำยาข้าวปุ้นหรือขนมเส้น (สยามเรียกขนมจีน) สันนิษฐานว่าเป็นน้ำยาแบบลาวและเป็นผู้ประดิษฐ์ขนมไข่เหี้ย สาเหตุจาก ร. 1 มีพระราชประสงค์เสวยไข่เหี้ยกับมังคุดแต่หาไม่ได้เนื่องจากไม่ใช่ฤดูวางไข่ เจ้านางคำแว่นจึงประดิษฐ์ขนมไข่เหี้ยตั้งเครื่องถวายแทนโดยเลียนแบบรูปร่างไข่เหี้ยจนพอพระราชหฤทัย ต่อมาสยามเปลี่ยนชื่อใหม่ว่าไข่หงส์[22]

การพระศาสนา

แก้

สร้างวัดดาวดึงษาสวรรค์

แก้

ครั้งหนึ่ง ร. 1 แสดงพระอาการว่าสบายพระราชหฤทัยจึงตรัสและทรงพระสรวลอย่างสนุกสนาน เจ้านางคำแว่นจึงเข้าไปทูลว่า (คงทูลด้วยภาษาลาว) "เสด็จพี่เจ้าขา ดีฉันจะทูลความสักเรื่องหนึ่ง แต่เสด็จพี่อย่ากริ้วหนา" พระองค์ตรัสตอบว่า "จะพูดอะไรก็พูดไปเถิด ไม่กริ้วดอก" เจ้านางคำแว่นจึงทูลว่า "ถ้ายังงั้น เสด็จพี่สบถให้ดีฉันเสียก่อน ดีฉันจึงจะทูล" พระองค์ก็ตรัสด้วยถ้อยความอันหยาบคายว่า "อีอัปรีย์ บ้านเมืองลาวของมึง เคยให้เจ้าชีวิตจิตสันดานสบถหรือ กูไม่สบถ พูดไปเถิด กูไม่โกรธดอก" เจ้านางคำแว่นกระเถิบหาพระองค์แล้วกระซิบทูลว่า "เดี๋ยวนี้ แม่รอดท้องได้ 4 เดือน" พระองค์ทรงอึ้งครู่หนึ่งแล้วตรัสว่า "ท้องกับใคร" เจ้านางคำแว่นทูลว่า "จะมีกะใครเสียอีกเล่า ก็พ่อโฉมเอกของเสด็จพี่น่ะซี" [23]

ร. 1 ทรงกริ้วนิ่ง ๆ หลายวันจึงไม่มีผู้ใดทราบว่าจะทรงทำอย่างไรแน่และพากันเกรงพระราชอาญาแทนเจ้าฟ้าทั้งสองไปตามกัน เจ้านางคำแว่นร้อนใจกว่าผู้ใดจึงหาโอกาสทูลถามว่าทารกในพระครรภ์จะเป็นเจ้าฟ้าหรือไม่ พระองค์ตรัสว่าเป็นเจ้าฟ้า เจ้านางคำแว่นและเหล่าเจ้านายก็โล่งใจตามกัน ในที่สุดกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทก็เข้าไปขอพระพระราชทานโทษแทนพระเจ้าหลานทั้งสองซึ่งก็คือ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร (ร. 2) กับเจ้าฟ้าหญิงบุญรอดพระธิดาเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ ซึ่งสมัย ร. 4 ทรงโปรดเกล้าฯ เป็นสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี เจ้านางคำแว่นรักใคร่เจ้าฟ้าทั้งสองเป็นพิเศษถึงกับบนว่า หากเรื่องคลี่คลายในทางที่ดีจะสร้างวัดหนึ่งวัด ในที่สุดก็สร้างวัดขึ้นกลางสวนวัดในตำบลบางยี่ขัน ธนบุรี (เชิงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า) เรียกว่าวัดขรัวอิน[24]

พระอุโบสถวัดก่ออิฐสูงพ้นดินราว 2 ศอก ใช้เสาไม้แก่นเป็นประธาน หลังคามุงกระเบื้อง ผนังใช้ไม้สักเป็นฝารอบมีบานประตูหน้าต่าง กุฎีทำด้วยเสาไม้แก่นหลังคามุงบังสัณฐานเรือนโบราณ ต่อมาสมัย ร. 2 เมื่อเจ้านางคำแว่นอนิจกรรมแล้ว ญาติสตรีท่านหนึ่งเป็นข้าราชการฝ่ายนามว่า อิน มีจิตศรัทธาปฏิสังขรณ์ใหม่ทั้งวัด โดยรื้อสถานที่เก่าทิ้งทั้งหมดแล้วสร้างใหม่ โดยสร้างเป็นอุโบสถขนาดเล็กก่ออิฐปูนใหม่ เสนาสนะก่ออิฐถือปูนแต่เครื่องบนใช้ไผ่สานเป็นแกน เสร็จแล้วกราบถวายบังคมทูล ร. 2 จึงทรงดำริว่า "วัดขรัวอินนี้แปลก สมภารเจ้าวัดชื่อ อิน ผู้ศรัทธาปฏิสังขรณ์ก็ชื่อ อิน ไม่แต่เท่านั้น ชาวบ้านก็อุตส่าห์ให้เรียกว่า วัดขรัวอิน เสียอีก" จึงได้พระราชทานนามใหม่ว่า วัดดาวดึงษาสวรรค์ หมายถึงสวรรค์ชั้นที่พระอินทร์สถิตย์อยู่[25]

สร้างกุฏิและอุทิศที่ดินถวายวัดสังข์กระจาย

แก้

วัดสังข์กระจาย เป็นวัดโบราณในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ต่อมาเจ้าจอมแว่นได้มอบทุนให้จำนวนหนึ่งเพื่อสร้างกุฏิ 4 คณะด้านใต้ เป็นกุฏิถือปูนทั้งหมด ปัจจุบันกลายเป็นเขตบ้านเช่า ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดให้กรมหมื่นไกรสรวิชิตเป็นนายงานควบคุมสร้างพระอุโบสถ โดยให้หันหน้าวัดไปทางคลองบางวัวทองอยู่เคียงกับกุฏิของเดิม พร้อมสร้างกุฏิขึ้นใหม่บริเวณพระอุโบสถด้านใต้ เล่ากันว่าเมื่อขุดพื้นที่เพื่อสร้างพระอุโบสถได้ขุดพบพระกัจจายน์หล่อด้วยสำริด ขนาดหน้าตักกว้าง 10 นิ้วไม่มีฐาน และขุดพบสังข์]]ด้วยตัวหนึ่งแต่สังข์ได้ชำรุด ส่วนพระกัจจายน์ได้เก็บรักษาไว้เป็นคู่พระอาราม ครั้นเมื่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงถือนิมิตเหตุอันนี้ พระราชทานนามว่า วัดสังข์กระจาย]

ต่อมา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) โปรดให้ปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ โดยเจ้าจอมแว่นได้อุทิศสวนของตนซึ่งอยู่ติดกับเขตวัดให้แก่วัดสังข์กระจาย[26]

ในตำนานกล่าวถึงความสัมพันธ์ของวัดกับเจ้าจอมแว่นไว้ว่า ภายหลังการสร้างวัดเสร็จเจ้าจอมแว่นได้ส่งข้าหลวงสนิทคนหนึ่งเป็นหญิงมดชื่อจ่ายให้ไปเฝ้าสวนของพระองค์ ซึ่งมีเนื้อที่ติดกับที่ของนายสังข์ ด้วยเจ้าจอมแว่นเห็นเหมาะที่จะเฝ้าสวนจึงได้ส่งมา ภายหลังไม่นานนางจ่ายกับนายสังข์มีความสนิทชอบพอกันมาก จึงดำริร่วมใจกันที่จะสร้างวัดนี้ต่อไป นางจ่ายถึงกับขันอาสาไปขอความช่วยเหลือจากเจ้าจอมแว่น ในที่สุดความปรารถนาของทั้งสองก็สมประสงค์ เจ้าจอมแว่นได้มอบทุนให้มาจำนวนหนึ่ง ครั้งหลังก็ได้สร้างเพิ่มเติมขึ้นอีกหลายอย่าง คือ สร้างกุฏิขึ้น 4 คณะ ทางมุมด้านใต้เป็นกุฏิตึกถือปูนทั้งหมด แต่ละคณะก็มีกุฏิ 4 หลัง หลังหนึ่งๆ มี 2 ห้อง กุฏิเจ้าอาวาสปลูกอยู่ทางทิศตะวันออกของคณะ ได้สร้างถนนผ่านระหว่างช่องกุฏิ แล้วก่อกำแพงอิฐล้อมรอบสูง 1 วา มีประตูเข้าออกทั้ง 4 ทิศ บริเวณที่หมู่กุฏินี้ตั้งอยู่ บัดนี้กลายเป็นเขตบ้านเช่าไปหมดแล้ว

ครั้นแล้วเสร็จ เมื่อจะขอพระราชทานวิสุงคามสีมาต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นตอนที่จะเชิดหน้าชูตาผู้สร้าง ก็เกิดทะเลาะเบาะแว้งเป็นปากเสียงเกี่ยงแย่งกันจะเอาชื่อ นางจ่ายก็ปรารถนาขอพระราชทานในนามของตนเพราะตนอุตส่าห์วิ่งหาเงินหาทองมาสร้าง ฝ่ายนายสังข์ก็ไม่ยอม ปรารถนาจะขอในนามของตนเช่นกัน เพราะตนก็สละหยาดเหงื่อและแรงกายทุ่มเทมาตั้งแต่แรกเริ่ม เมื่อต่างมาเกิดแตกคอกันขึ้นในเรื่องนี้ นางจ่ายจึงวิ่งเข้าหาเจ้าจอมแว่นนายของตน แล้วเล่าความเป็นมาให้ทราบ โดยฐานะที่เจ้าจอมแว่นเป็นที่พระสนมเอก พระเจ้าอยู่หัวโปรดปรานมาก จะทูลสิ่งใดก็ทูลได้ ครั้นเมื่อได้นำความกราบบังคมทูลเพื่อขอให้พระราชทานวิสุงคามสีมา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมีพระราชดำรัสว่า วัดที่นายสังข์นางจ่ายสร้างขึ้นนั้น ไม่สวยสมเกียรติกับพระสนมเอกเช่นเจ้าจอมแว่น ทรงรับจะสร้างพระราชทานใหม่ จึงโปรดเกล้าฯ ให้กรมหมื่นไกสรวิชิตมาเป็นนายงานควบคุมสร้างพระอุโบสถขึ้น ให้หันหน้าไปทางคลองบางวัวทองอยู่เคียงกับกุฏิสงฆ์ของเดิม พร้อมกับได้สร้างกุฏิขึ้นใหม่อีกหมู่หนึ่งตรงมุมพระอุโบสถด้านใต้อีกด้วย เล่ากันว่า แรกขุดพระอุโบสถนั้น พบพระกัจจายน์องค์หนึ่งกับสังข์ตัวหนึ่ง เฉพาะสังข์ชำรุดเพราะแรงจอบเสียมที่ขุด วัดนี้มีความแปลกประการหนึ่ง ด้วยวัดนี้นายสังข์กับนางจ่ายเป็นผู้ริเริ่มสร้าง เมื่อนำเอาชื่อของคนทั้งสองมาเข้าคู่กันเป็น สังข์-จ่าย ก็ฟังใกล้เคียงกับคำว่า สังข์กระจายน์ ตามนามที่พระราชทานเป็นที่สุด[27]

ทำบุญเลี้ยงพระ

แก้

หลักฐานในจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวีกล่าวว่า[28] เจ้าจอมแว่นเป็นเจ้านายท่านหนึ่งในบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์และเจ้านายที่ร่วมกันจัดอาหารคาวหวานถวายพระภิกษุสงฆ์และเลี้ยงผู้คนในคราวพระราชพิธีสำคัญต่างๆ เช่น เมื่อครั้งทำบุญใหญ่ฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) ได้ทรงโปรดให้เลิกนำข้าวถวายพระ แต่ให้ทำขนมจีนเลี้ยงพระสงฆ์นับพันรูปโดยใช้แป้งขนมจีนจำนวนมากถึงวันละเกวียน ในงานนี้เจ้าจอมแว่นผู้มีชื่อเสียงในการปรุงน้ำยาที่สุดในสมัยนั้น ได้เป็นผู้ปรุงถวายพระในงานบุญใหญ่ครั้งนี้เอง

องค์ราชูปถากวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

แก้

เจ้าจอมแว่นรับราชการในพระองค์โดยมิได้มีพระองค์เจ้า (พระราชโอรสหรือพระราชธิดา) แม้พระองค์เดียว ทรงทำหน้าที่ดูแลบรรดาพระเจ้าลูกเธอที่ยังทรงพระเยาว์อย่างเข้มงวดจนเป็นที่เกรงกลัวและได้รับฉายาว่า คุณเสือ โดยส่วนตัวนั้นเจ้าจอมแว่นคงต้องการมีพระองค์เจ้า ดังปรากฏความในสาส์นสมเด็จ เล่ม 14 ว่า

…ที่ในวิหารพระโลกนาถมีรูปจำหลักด้วยศิลาอ่อนทำเป็นเด็กแต่งเครื่องอาภรณ์ติดฝาผนังไว้ 2 ข้างพระพุทธรูป เล่ากันมาว่าเมื่อสร้างวัดพระเชตุพนนั้น เจ้าจอมแว่นพระสนมเอกผู้เป็นราชูปถาก ซึ่งเจ้านายลูกเธอเกรงกลัวเรียกกันว่า คุณเสือ อีกนาม 1 กราบทูลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ว่า อยากจะทำบุญอธิษฐานขอให้มีลูก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำรูปเด็ก 2 รูป อย่างเป็นเครื่องประดับพระวิหาร…

การทำเช่นนี้เป็นความในที่รู้กันในหมู่คนใกล้ชิด ไม่ได้เป็นที่เปิดเผย แต่มีความปรากฏในจารึกคำโคลงใต้ภาพเด็ก ข้างพระพุทธรูปในวิหารพระโลกนาถ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ว่า

รจนาสุดารัตนแก้วกุมารี หนึ่งฤๅ เสนออธิบายบุตรี ลาภไซร้ บูชิตเชษฐชินศรีเฉลาฉลัก หินเฮย บุญส่งจงลุได้เสด็จด้วยดั่งถวิล กุมารหนึ่งพึงฉลักตั้ง ติดผนัง สถิตย่อยู่เบื้องหลัง พระไว้ คุณเสือสวาดิหวังแสวงบุตร ชายเฮย เฉลยเหตุธิเบศร์ให้ สฤษดิแสร้งแต่งผล[29]

โดยปกติแล้ว ผู้คนมักนิยมไปกราบไหว้บูชาพระพุทธโลกนาถที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เพราะเชื่อกันว่าศักดิ์สิทธิ์ในเรื่องให้บุตร และจะประสบผลสำเร็จหากขอในคืนวันเพ็ญซึ่งเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา นอกจากสร้างรูปเด็กถวายประดับในวิหารพระโลกนาถแล้ว ในงานเทศน์มหาชาติครั้งหนึ่ง เจ้าจอมแว่นยังทำกระจาดใหญ่ใส่เด็กผมจุกแต่งเครื่องหมดจดงดงาม ติดกัณฑ์เทศน์ถวายเป็นสิทธิขาด นับเป็นความคิดแปลกแหวกแนว อาจจะสืบเนื่องมาจากความต้องการมีพระองค์เจ้าเป็นอย่างยิ่งก็เป็นได้[30]

ถึงแก่อนิจกรรม

แก้

เจ้านางคำแว่น ถึงแก่อนิจกรรมในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) ประชาชนได้สร้างพระธาตุบรรจุพระอัฐิของพระองค์ไว้ ณ วัดนางเขียวค้อม เมืองพานพร้าว เรียกว่า ธาตุเจ้านางเขียวค้อม อนึ่ง เมืองพานพร้าวและเมืองศรีเชียงใหม่ (ในเขตจังหวัดหนองคายปัจจุบัน) เป็นหัวเมืองลาวที่เจ้านางคำแว่นได้ขอร้องให้พระราชสวามีห้ามทำลาย เมื่อครั้งยกทัพไปเผานครเวียงจันทน์สมัยพระเจ้าตากสิน

เกียรติยศ

แก้
ธรรมเนียมยศของ
เจ้าจอมแว่น
ในรัชกาลที่ 1
การเรียนไหว้สาบาทเจ้า
การแทนตนกระผม/ดิฉัน
การขานรับครับผม/ค่ะ

บรรดาศักดิ์

แก้
  • พ.ศ. 2312 : เจ้านางคำแว่น
  • ไม่ปรากฏ : หม่อมแว่น ในสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก
  • พ.ศ. 2325 : เจ้าจอมแว่น ในรัชกาลที่ 1

พงศาวลี

แก้

พงศาวลีทรรศนะที่ 1

แก้

พงศาวลีทรรศนะที่ 2

แก้

พงศาวลีทรรศนะที่ 3

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. http://pantip.com/topic/32458543
  2. https://www.gotoknow.org/posts/233054
  3. http://ps8921.blogspot.com/2011/09/blog-post.html
  4. https://www.facebook.com/722488218128250/posts/1180913005619100/
  5. https://www.facebook.com/722488218128250/posts/1185849368458797/
  6. https://www.facebook.com/notes/350419951739054/
  7. http://board.postjung.com/783480.html
  8. https://m.facebook.com/permalink.php?story_fbid=679651548780760&id=679296892149559
  9. https://th.m.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9B%E0%B8%97%E0%B8%B8%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A0%E0%B8%B4%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%A5_(%E0%B8%9A%E0%B8%B8%E0%B8%8D%E0%B8%A1%E0%B8%B2_%E0%B8%93_%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%B2%E0%B8%A2)
  10. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-04-14. สืบค้นเมื่อ 2016-04-04.
  11. http://www.sujitwongthes.com/2011/02/
  12. http://esanwisdom.kku.ac.th/esandb/en/[ลิงก์เสีย]
  13. ดูรายละเอียดใน ประมวล พิมพ์เสน, สิ่งแวดล้อม ศิลปกรรม นำเที่ยวขอนแก่น, (ขอนแก่น: ขอนแก่นการพิมพ์, 2540).
  14. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-12-23. สืบค้นเมื่อ 2016-04-06.
  15. กองจดหมายเหตุแห่งชาติ, เอกสาร ร.5 ม.2. 12 ก/1 (92) ใบบอกเมืองขอนแก่น ลงวันที่ 28 เมษายน ร.ศ. 109. อ้างใน ประมวล พิมพ์เสน (ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดขอนแก่น โรงเรียนกัลยาณวัตร), บันทึกประวัติศาสตร์เมืองขอนแก่น: เปิดเผยหลักฐานข้อมูลการตั้งเมืองขอนแก่น วิวัฒนาการของเมืองขอนแก่น ฯลฯ, (ขอนแก่น: โรงพิมพ์พระธรรมขันต์, 2541), หน้า 77-78.
  16. หม่อมอมรวงษ์วิจิตร (หม่อมราชวงศ์ปฐม คเนจร) (เรียบเรียง), (2458). "พงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ: คัดจากประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 4 อำมาตย์เอก พระยาศรีสำรวจ (ชื่น ภัทรนาวิก) ม.ม, ท.ช, รัตน ว,ป,ร.4 พิมพ์แจกในงานศพ พัน ภัทรนาวิก ผู้มารดา เมื่อปีเถาะสัปตศก พ.ศ. 2458", วิกิซอร์ซ [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: https://th.wikisource.org/wiki/%E0%B8%9E%E0%[ลิงก์เสีย] [9 มกราคม 2563].
  17. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-29. สืบค้นเมื่อ 2016-04-06.
  18. http://thaimisc.pukpik.com/freewebboard/php/vreply.php?user=nongkhaicity&topic=259[ลิงก์เสีย]
  19. ดูรายละเอียดใน มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, โครงกระดูกในตู้, พิมพ์ครั้งที่ 8, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สยามรัฐ, 2547), 109 หน้า ISBN=974-690-131-1
  20. http://www.oknation.net/blog/bongbongstory/2009/08/08/entry-2
  21. http://bangkrod.blogspot.com/2011/12/blog-post_27.html
  22. ดูรายละเอียดใน สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย, (กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2547), 360 หน้า ISBN=974-9527-87-9
  23. ดูรายละเอียดใน พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ (นมส., นามแผง), สามกรุง, (กรุงเทพฯ: ศิลปาบรรณาคาร, 2514).
  24. ดูรายละเอียดใน สภาพระธรรมกถึก-สหภูมิอยุธยา และคณะศิษย์, ประวัติวัดดาวดึงษาราม: สภาพระธรรมกถึก-สหภูมิอยุธยา และคณะศิษย์ จัดพิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ท่านพระครูโวทานธรรมาจารย์ ณ เมรุวัดดาวดึงษาราม ธนบุรี 1 พฤษภาคม 2503, (กรุงเทพฯ: การพิมพ์สตรีสาร, 2503).
  25. http://www.oknation.net/blog/surasakc/2010/06/11/entry-1
  26. "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2018-12-23. สืบค้นเมื่อ 2021-08-10.
  27. https://nunut005.wordpress.com/
  28. http://2g.pantip.com/cafe/library/topic/K8512326/K8512326.html
  29. ศิลปวัฒนธรรม (SILPA-MAG.COM ), (19 ตุลาคม 2562). "ต้นตอ "ลาวบางกอก" ลาวจากเวียงจันยุคต้นรัตนโกสินทร์ บริวารเจ้าสู่รุ่นสุดท้ายที่เข้ามา", LINE TODAY [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: https://today.line.me/th/pc/article/%E0%B8%95%[ลิงก์เสีย] [9 มกราคม 2563].
  30. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-04-14. สืบค้นเมื่อ 2016-04-04.