คณะอัศวินบริบาล

คณะอัศวินผู้พิทักษ์คริสตจักร
(เปลี่ยนทางจาก อัศวินแห่งมอลตา)

คณะอัศวินบริบาลในนักบุญยอห์นแห่งเยรูซาเลม (ละติน: Ordo Fratrum Hospitalis Sancti Ioannis Hierosolymitani) หรือเรียก อัศวินบริบาล (อังกฤษ: Knights Hospitaller) เป็นคณะบุรุษที่ทำงานที่สถานบริบาลอมาลฟิที่ตั้งขึ้นในเยรูซาเลมในปี ค.ศ. 1080 เพื่อใช้สำหรับคนยากจน ผู้แสวงบุญ และผู้บาดเจ็บหรือเจ็บป่วยที่เดินทางมายังดินแดนศักดิ์สิทธิ์ หลังจากคริสตจักรตะวันตกได้รับชัยชนะต่อกรุงเยรูซาเลมในปี ค.ศ. 1099

คณะอัศวินบริบาลในนักบุญยอห์นแห่งเยรูซาเลม
Ordo Fratrum Hospitalis
Sancti Ioannis Hierosolymitani
ประจำการราว ค.ศ. 1099–ปัจจุบัน
ขึ้นต่อพระสันตะปาปา
รูปแบบคริสตจักรตะวันตก คณะอัศวิน
ศูนย์กลางเยรูซาเลม
สมญาอัศวินแห่งมอลตา
ผู้อุปถัมภ์นักบุญยอห์นผู้ให้รับบัพติศมา
คำขวัญPro Fide, Pro Utilitate Hominum
สีหน่วยBlack & White, Red & White
สัญลักษณ์นำโชคเหยี่ยว
ปฏิบัติการสำคัญสงครามครูเสด
การล้อมเมืองเอเคอร์ (ค.ศ. 1291)
การล้อมมอลตา (ค.ศ. 1565)
ยุทธการเลอพานโต (ค.ศ. 1571) ทำงานให้กับรัฐต่างๆ ในยุโรป
ผู้บังคับบัญชา
ผบ. สำคัญJean Parisot de la Valette, Garnier of Nablus

ต่อมาในช่วงสงครามครูเสดครั้งที่ 1 สถานบริบาลอมาลฟิก็ก่อตั้งเป็นคณะทหารภายใต้กฎบัตร โดยมีพันธกิจในการดูแลผู้บาดเจ็บและป้องกันดินแดนศักดิ์สิทธิ์ แต่เมื่อเสียกรุงเยรูซาเลมแก่ฝ่ายมุสลิม คณะอัศวินบริบาลก็ย้ายไปตั้งถิ่นฐานใหม่ที่โรดส์เป็นอาณาจักรของตนเอง และต่อมาที่มอลตาเป็นประเทศราชภายใต้การปกครองของอุปราชสเปนประจำซิซิลี

การก่อตั้งและประวัติเบื้องต้น แก้

 
แกรนด์มาสเตอร์และอัศวินอาวุโสในคริสต์ศตวรรที่ 14

ในปี ค.ศ. 600 อธิการโพรบัส (Abbot Probus) ได้รับมอบหมายจากสมเด็จพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 1 ให้สร้างสถานบริบาลในกรุงเยรูซาเลมเพื่อดูแลนักแสวงบุญชาวคริสต์ที่เดินทางไปยังดินแดนศักดิ์สิทธิ์ ในปี ค.ศ. 800 ชาร์เลอมาญจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ขยายสถานบริบาลของโพรบัสและเพิ่มห้องสมุด ราวสองร้อยปีต่อมาในปี ค.ศ. 1005, กาหลิบอัล-ฮาคิม บิ-อมร อัลลอฮ์ (Al-Hakim bi-Amr Allah) ทำลายสถานบริบาลและบ้านเรือนอื่น ๆ อีกสามพันหลังในกรุงเยรูซาเลม ในปี ค.ศ. 1023 พ่อค้าจากอามาลฟิ และซาเลอร์โน ในอิตาลีได้รับอนุญาตให้สร้างสถานบริบาลใหม่โดยกาหลิบอาลิ อัซ-ซาเฮียร์ (Ali az-Zahir) แห่งอียิปต์ สถานบริบาลใหม่สร้างบนที่ที่เดิมเป็นอารามของนักบุญยอห์นผู้ให้รับบัพติศมาบริหารโดยนักพรตคณะเบเนดิกติน

คณะบริบาลอารามิกได้รับก่อตั้งขึ้นเป็นคณะนักบวชหลังสงครามครูเสดครั้งที่ 1 โดยบุญราศีเจอราร์ด โทม (Gerard Thom) ที่ได้รับการอนุมัติโดยพระบัญญัติพระสันตะปาปา (Papal bull) ของสมเด็จพระสันตะปาปาปาสคาลที่ 2 ในปี ค.ศ. 1113[1] เจอราร์ดขยายดินแดนของคณะและรายได้ไปทั่วราชอาณาจักรเยรูซาเลมและอาณาบริเวณที่ไกลออกไปจากนั้น นอกไปเรมงด์ดูปุยแห่งโปรวองซ์ (Raymond du Puy de Provence) ผู้นำคนต่อมาก่อตั้งสถานบริบาลที่สำคัญไม่ไกลจากโบสถ์โฮลีเซพัลเครอ (Church of the Holy Sepulchre) ในเยรูซาเลมโดยมีจุดประสงค์เมื่อเริ่มแรกในการดูแลรักษานักแสวงบุญในเยรูซาเลม แต่ต่อมาก็รวมไปถึงการให้บริการคุ้มครองนักแสวงบุญโดยผู้ถืออาวุธและขยายตัวจนกลายเป็นกองกำลังที่มีขนาดใหญ่พอสมควร

ผู้บริบาล (The Hospitallers) และอัศวินเทมพลาร์ (Knights Templar) ที่ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1119,[2] กลายเป็นกลุ่มคริสต์ศาสนิกชนสำคัญผู้มีอำนาจอยู่ในบริเวณนั้น คณะมาได้รับชื่อเสียงหลังจากการต่อสู้กับฝ่ายมุสลิมหลายครั้ง ทหารของบริบาลสวมเสื้อคลุมสีดำที่มีกางเขนขาว[3]

เมื่อมาถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 12 ลัทธิอัศวินบริบาลก็แบ่งเป็นกองทหารและกลุ่มผู้ทำงานกับผู้เจ็บป่วยแต่ก็ยังเป็นคณะนักบวชและได้รับสิทธิพิเศษต่าง ๆ จากพระสันตะปาปา เช่นไม่ต้องอยู่ในอำนาจการปกครองของผู้ใดนอกไปจากอำนาจการปกครองของพระสันตะปาปา ไม่ต้องเสียภาษีและมีสิทธิในการเป็นเจ้าของสิ่งก่อสร้างทางศาสนาด้วยตนเองได้ คณะอัศวินเท็มพลาร์และบริบาลสร้างป้อมปราการต่าง ๆ ในดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ ในช่วงเวลาที่รุ่งเรืองที่สุดของราชอาณาจักรเยรูซาเลมบริบาลมีป้อมใหญ่ ๆ เจ็ดป้อมและอสังหาริมทรัพย์อีก 140 แห่ง สองแห่งที่ใหญ่ที่สุดในราชอาณาจักรและในราชรัฐแอนติออก (Principality of Antioch) คือปราสาทเชวาลีเยร์ (Krak des Chevaliers) และปราสาทมาร์กัท (Margat)[1] ทรัพย์สินของคณะแบ่งเป็นไพรออรี (Priory) ที่แบ่งออกเป็นเบลลิวิค (bailiwick) เฟรดเดอริค บาร์บารอซซาจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ทรงสัญญาว่าจะพิทักษ์อัศวินแห่งเซนต์จอห์นในเอกสารพระราชนุญาตของปี ค.ศ. 1185

อัศวินแห่งไซปรัสและอัศวินแห่งโรดส์ แก้

 
ปราสาทของอัศวินที่เกาะโรดส์
 
โรดส์และดินแดนที่เป็นของอัศวินเซนต์จอห์น

การขยายอำนาจของอิสลามในบริเวณตะวันออกกลางจนในที่สุดก็สามารถขับอัศวินออกจากเยรูซาเลม หลังจากราชอาณาจักรเยรูซาเลมล่มในปี ค.ศ. 1291 (กรุงเยรูซาเลมเองล่มในปี ค.ศ. 1187) อัศวินก็ถูกจำกัดบริเวณอยู่แต่ในอาณาจักรเคานท์แห่งตริโปลี และเมื่อเอเคอร์ถูกยึดในปี ค.ศ. 1291 อัศวินก็ต้องไปหาที่ตั้งใหม่ในราชอาณาจักรไซปรัส หลังจากการเข้าไปพัวพันกับการเมืองในไซปรัส แกรนด์มาสเตอร์ กีโยม เดอ วิลลาเรต์ (Guillaume de Villaret) ก็วางแผนที่จะหาที่ดินที่เป็นของคณะเองโดยเลือกเกาะโรดส์เป็นที่ตั้งใหม่ ผู้นำคนต่อมา ฟุล์คส์ เดอ วิลลาเรต์ (Fulkes de Villaret) ทำตามแผนที่วางไว้และเมื่อวันที่ 15 สิงหาคมค.ศ. 1309 หลังจากต่อสู้กันอยู่สองปี เกาะโรดส์ก็ยอมแพ้ นอกจากโรดส์แล้ว อัศวินก็ยังยึดเกาะบริเวณใกล้เคียงกันอีกหลายเกาะ และเมืองท่าอานาโตเลียสองเมืองคือ โบดรัม (Bodrum) และคาสเตโลริโซ (Kastelorizo)

อัศวินเทมพลาร์ถูกยุบเลิกในปี ค.ศ. 1312 และทรัพย์สินและที่ดินส่วนใหญ่ถูกยกให้กับบริบาล (Hospitaller) ทรัพย์สินและที่ดินแบ่งออกเป็น 8 บริเวณทังก์ (Tongue) (อารากอน, โอแวร์ญ, คาสตีล, อังกฤษ, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, อิตาลี และโปรวองซ์) แต่ละบริเวณก็ปกครองก็บริหารโดยไพรเออร์ (Prior) หรือถ้ามีมากกว่าหนึ่งไพรเออรีในบริเวณนั้นก็จะปกครองโดยแกรนด์ไพรเออร์ ที่โรดส์และมอลตาอัศวินที่ประจำอยู่ที่ทังก์แต่ละทังก์ก็นำโดย “Bailli” แกรนด์ไพรเออร์ของอังกฤษในขณะนั้นคือฟิลลิป เทม (Philip Thame) ผู้เป็นผู้หาที่ดินที่ตั้งของบริเวณทังก์ในอังกฤษระหว่างปี ค.ศ. 1330 ถึงปี ค.ศ. 1358

เมื่อตั้งถิ่นฐานอยู่บนเกาะโรดส์ อัศวินเซนต์จอห์นที่รู้จักกันในชื่อ “อัศวินแห่งโรดส์” ด้วย[4] ก็จำยอมต้องกลายเป็นนักรบเพิ่มขึ้นอีกโดยเฉพาะในการต่อสู้กับโจรสลัดบาร์บารี อัศวินแห่งโรดส์สามารถป้องกันการรุกรานในคริสต์ศตวรรษที่ 15 ได้สองครั้ง หนึ่งโดยสุลต่านแห่งอียิปต์ในปี ค.ศ. 1444 และอีกครั้งหนึ่งโดยสุลต่านเมห์เหม็ดที่ 2แห่งจักรวรรดิออตโตมันในปี ค.ศ. 1480 ผู้ที่หลังจากยึดยึดคอนสแตนติโนเปิลได้ในปี ค.ศ. 1453 แล้วก็ทรงหันมาตั้งเป้าที่จะทำลายอัศวินแห่งโรดส์

ในปี ค.ศ. 1494 อัศวินแห่งโรดส์ก็ไปตั้งที่มั่นที่แหลมฮาลิคาร์นัสซัส (ปัจจุบันโบดรัม) อัศวินใช้ส่วนที่ไม่ถูกทำลายของซากที่บรรจุศพแห่งมอสโซลอส (Mausoleum of Maussollos) (หนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคโบราณ) ไปใช้ในการสร้างเสริมปราสาทโบดรัม[5] [6]

ในปี ค.ศ. 1522 สุลต่านสุลัยมานแห่งจักรวรรดิออตโตมันก็ทรงนำกองทัพเรือ 400 ลำและทหารราบจำนวน 200,000 มารุกรานโรดส์[7] ทางฝ่ายอัศวินภายใต้การนำของแกรนด์มาสเตอร์ ฟิลลิป วิลลิเยร์ เดอ ลิสเซิล-อาดัน (Philippe Villiers de L'Isle-Adam) มีทหารด้วยกันทั้งหมด 7,000 คนและป้อม การล้อมโรดส์ใช้เวลาห้าเดือน ในที่สุดผู้ที่รอดจากการโจมตีก็ได้รับพระบรมราชานุญาตจากสุลต่านสุลัยมานให้ออกจากโรดส์ อัศวินแห่งโรดส์จึงถอยไปตั้งหลักที่ซิซิลี

อัศวินแห่งมอลตา แก้

 
ตราของอัศวินบริบาลแบ่งสี่กับตราของปิแยร์ ดอร์บูส์ซอง (Pierre d'Aubusson) บนบอมบาร์ด (bombard) ที่ปิแยร์สั่ง เหนือตราเป็นคำจารึก “F. PETRUS DAUBUSSON M HOSPITALIS IHER”
 
การแสดงการต่อสู้ของอัศวินในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ที่ป้อมเซนต์เอลโม, วาเล็ตตา, มอลตา (8 พฤษภาคม ค.ศ. 2005)
 
ทิวทัศน์จากวาเล็ตตาไปยังป้อมเซนต์แอนเจโล

หลังจากที่เร่ร่อนจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งอยู่ 7 ปีในยุโรป อัศวินก็ก่อตั้งใหม่ในปี ค.ศ. 1530 เมื่อสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 5 แห่งสเปนในฐานะพระมหากษัตริย์แห่งซิซิลีก็พระราชทานมอลตาให้แก่คณะ[8] พร้อมทั้งโกโซ (Gozo) และทริโปลี (Tripoli) เมืองท่างของแอฟริกาเหนือในการเป็นอาณาจักรเป็นการแลกเปลี่ยนกับเหยี่ยวมอลตาหนึ่งตัวต่อปีที่ต้องนำมามอบให้แก่อุปราชแห่งซิซิลี ผู้เป็นผู้แทนพระองค์ในวัน “All Souls Day” ของทุกปี[2] (ข้อมูลนี้นำไปใช้เป็นโครงเรื่องของนวนิยายที่มีชื่อเสียงเรื่อง “The Maltese Falcon” โดยดาชิลล์ แฮมเม็ทท์)

อัศวินบริบาลก็ยังคงต่อสู้กับฝ่ายมุสลิมอยู่ และโดยเฉพาะกับกลุ่มโจรสลัดบาร์บารี แม้ว่าจะมีกองเรือเพียงไม่กี่ลำแต่ก็ทำให้เป็นที่เคืองพระทัยของสุลต่านออตโตมัน ที่เห็นว่าอัศวินบริบาลสามารถไปหาที่มั่นใหม่ได้ ในปี ค.ศ. 1565 สุลต่านสุลัยมานจึงทรงส่งกองทัพจำนวน 40,000 คนมาล้อมอัศวิน 700 คนและทหารอีก 8,000 คนเพื่อจะกำจัดอัศวินออกจากมอลตา[8]

ในช่วงแรกของการรุกราน สถานะการณ์ดูเหมือนจะซ้ำรอยกับที่โรดส์ที่ฝ่ายบริบาลเพลี่ยงพล้ำ เมืองต่าง ๆ เกือบทุกเมืองถูกทำลายและอัศวินครึ่งหนึ่งถูกสังหาร เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม สถานะการณ์ของฝ่ายอัศวินก็ถึงจุดวิกฤติ ทหารถูกฆ่าตายไปเป็นจำนวนมากและอ่อนกำลังลงทุกวัน แต่เมื่อสภาสงครามเสนอให้ทิ้งอิลบอร์โก (Il Borgo) และเซ็งเกลีย (Senglea) และถอยไปยังป้อมเซนต์แอนเจโล (Fort St. Angelo) แกรนด์มาสเตอร์ ฌอง ปาริโซต์ เดอ ลา วาเลตต์ (Jean Parisot de la Valette) ปฏิเสธ

อุปราชแห่งซิซิลีก็ไม่ส่งกองหนุนมาช่วยซึ่งอาจจะเป็นเพราะพระราชโองการจากพระเจ้าฟิลลิปที่ 2 แห่งสเปนคลุมเครือที่ทำให้การตัดสินใจช่วยหรือไม่ช่วยตกอยู่ในความรับผิดชอบของอุปราช ถ้าตัดสินใจผิดก็หมายถึงการพ่ายแพ้และทำให้ซิซิลีและเนเปิลส์ตกอยู่ในอันตรายจากฝ่ายออตโตมัน ตัวอุปราชเองก็ทิ้งลูกชายไว้กับวาเลตต์บนเกาะ ฉะนั้นจึงไม่ใช่การตัดสินใจที่ง่ายนัก แต่ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดอุปราชก็ลังเลในการส่งกองกำลังไปช่วยจนกระทั่งผลของการถูกโจมตีแทบจะอยู่ในมือของอัศวินที่ถูกละทิ้งอยู่บนเกาะ

เมื่อวันที่ 23 สิงหาคมก็มีการโจมตีครั้งใหญ่ครั้งสุดท้ายโดยผู้ที่มาล้อม สถานะการณ์คับขันจนแม้แต่ทหารผู้บาดเจ็บก็ต้องร่วมเข้าต่อสู้ป้องกันด้วย แต่การโจมตีของฝ่ายออตโตมันก็ไม่รุนแรงนักนอกจากที่ป้อมเซนต์เอลโม ซึ่งทำให้ป้อมต่าง ๆ ยังต่อต้านอยู่ได้[9] ทางฝ่ายอัศวินก็ซ่อมแซมกำแพงส่วนที่ถูกตีแตกทั้งกลางวันและกลางคืน สำหรับฝ่ายออตโตมันการยึดมอลตาดูจะยากขึ้นทุกวัน กองกำลังที่พักอยู่ในที่แคบจำกัดก็ล้มป่วยและเสียชีวิตกันมากมายระหว่างช่วงฤดูร้อน อาวุธและอาหารก็เริ่มร่อยหรอลงและกำลังใจในการต่อสู้ของทางฝ่ายออตโตมันก็เริ่มลดถอยลงเพราะความพ่ายแพ้ในการพยายามโจมตีหลายครั้งที่ได้รับ นอกจากนั้นแล้วเมื่อวันที่ 23 มิถุนายนทางฝ่ายออตโตมันก็สูญเสียเทอร์กุต ไรส์ (Turgut Reis) ผู้เป็นแม่ทัพเรือผู้มีประสิทธิภาพซึ่งเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ แม่ทัพสองคนที่เหลืออยู่ ปิยาเล ปาชา (Piyale Pasha) และลาลา คารา มุสตาฟา ปาชา (Lala Kara Mustafa Pasha) เป็นผู้มีความเลินเล่อ ทั้งสองมีกองทัพเรือขนาดใหญ่ที่ใช้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงครั้งเดียว, ขาดการติดต่อกับฝั่งอาฟริกา และไม่พยายามระวังการโจมตีจากแนวหลังโดยซิซิลี

เมื่อวันที่ 1 กันยายน ปิยาเลและลาลาก็พยายามเป็นครั้งสุดท้าย แต่กำลังขวัญของทหารฝ่ายออตโตมันก็อยู่ในสภาพที่ย่ำแย่ ซึ่งทำให้การโจมตีเป็นไปอย่างไม่เต็มใจเท่าใดนัก ทำให้อัศวินผู้ที่ถูกล้อมมีกำลังใจดีขึ้นและเริ่มมองเห็นทางที่จะได้รับชัยชนะ ทางฝ่ายออตโตมันมีความตกประหวั่นเมื่อได้ข่าวว่าทางซิซิลีส่งกำลังมาช่วยโดยหาทราบไม่ว่าเป็นเพียงกองกำลังเพียงกองเล็ก ๆ แต่ก็มีผลทำให้ละทิ้งการล้อมเมื่อวันที่ 8 กันยายน การล้อมมอลตาจึงเป็นชัยชนะครั้งสุดท้ายของอัศวินแห่งเซนต์จอห์น[10]

เมื่อฝ่ายออตโตมันถอยทัพไปแล้วบริบาลก็เหลือกำลังคนอยู่เพียง 600 คนที่ถืออาวุธได้ การสันนิษฐานที่เชื่อถือได้กล่าวว่าฝ่ายออตโตมันตอนที่มีกำลังคนสูงสุดมีถึง 40,000 คนและเหลือ 15,000 คนกลับไปคอนสแตนติโนเปิล การล้อมเป็นภาพที่บันทึกไว้บนจิตรกรรมฝาผนังโดยมัตเตโอ เปเรซ ดาลเล็ชชิโอ (Matteo Perez d'Aleccio) ในท้องพระโรงเซนต์ไมเคิลและเซนต์จอร์จหรือที่เรียกว่าท้องพระโรงพระราชบัลลังก์ (Throne Room) ในวังของแกรนด์มาสเตอร์ในวาเล็ตตา ความเสียหายที่ได้รับจากการล้อมเมืองทำให้ต้องสร้างเมืองใหม่ - เมืองปัจจุบันวาเล็ตตาเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่แกรนด์มาสเตอร์ผู้ต่อต้านการล้อมโดยไม่ยอมถอย

ในปี ค.ศ. 1607 แกรนด์มาสเตอร์บริบาลก็ได้รับฐานะเป็น “Reichsfürst” (เจ้าชายแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ แม้ว่าดินแดนของบริบาลจะอยู่ทางใต้ของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์) ในปี ค.ศ. 1630 แกรนด์มาสเตอร์ก็ได้รับแต่งตั้งให้มีฐานะทางศาสนาเท่าเทียมกับพระคาร์ดินัลที่ใช้คำนำหน้าที่เป็นเอกลักษณ์ว่า “His Most Eminent Highness” ที่แสดงถึงความสมฐานะในการเป็นเจ้าชายแห่งคริสตจักร (Prince of the Church)

ชัยชนะในเมดิเตอเรเนียน แก้

หลังจากที่ก่อตั้งตัวขึ้นในมอลตาแล้ว อัศวินบริบาลก็ขาดจากเหตุผลเดิมในก่อตั้งเป็นคณะ ซึ่งเมื่อก่อตั้งขึ้นมีจุดประสงค์ในการเข้าร่วมในสงครามครูเสดในดินแดนศักดิ์สิทธิ์ เมื่อย้ายมาอยู่ที่มอลตาแล้วก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เพราะตำแหน่งที่ตั้งและกำลังทรัพย์ เมื่อรายได้จากผู้อุปถัมภ์ในยุโรปผู้ไม่เต็มใจที่ส่งเงินจำนวนมามาดำเนินการสนับสนุนองค์การที่ขาดจุดประสงค์ลดน้อยลง อัศวินบริบาลก็หันไปหาการรักษาความปลอดภัยในทะเลเมดิเตอเรเนียนจากอันตรายจากโจรสลัดที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะจากออตโตมันที่สนับสนุนโจรสลัดบาร์บารีให้ก่อความไม่สงบในบริเวณฝั่งทะเลของแอฟริกาเหนือ จากความมีชื่อเสียงที่ได้รับในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16 หลังจากการป้องกันจากการถูกล้อมได้ในปี ค.ศ. 1565 พร้อมกับชัยชนะครั้งใหญ่ต่อจักรวรรดิออตโตมันของฝ่ายคริสเตียนในยุทธการเลอพานโตในปี ค.ศ. 1571 อัศวินบริบาลก็ตั้งตนเป็นองค์อุปถัมภ์พ่อค้าชาวคริสต์ที่คนส่งสินค้าไปมากับลว้าน และทำการปลดปล่อยคริสต์ศาสนิกชนที่ถูกจับไปเป็นทาสโดยโจรสลัดบาร์บารี ซึ่งมาเรียกว่า "คอร์โซ"[11]

แต่กระนั้นไม่นานอัศวินบริบาลก็ต้องพยายามดำเนินการรักษาคณะด้วยรายได้ที่ลดต่ำลง การเพิ่มหน้าที่ในการรักษาความปลอดภัยในทะเลเมดิเตอเรเนียนให้แก่สาธารณรัฐเวนิส, สาธารณรัฐเจนัว และ ฟลอเรนซ์ก็เท่ากับเป็นการสร้างความรับผิดชอบในฐานะผู้พิทักษ์เช่นที่เคยทำมาก่อน ปัญหาที่มีอยู่ทวีคูณขึ้นเมื่อในระหว่างช่วงเวลานี้อัตราแลกเปลี่ยนของเงินตราท้องถิ่นต่อ "สคูโด" ที่ก่อตั้งขึ้นในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16 กลายมาล้าสมัยไป ซึ่งหมายความว่าอัศวินค่อย ๆ ได้รับเงินสนับสนุนจากพ่อค้าน้อยลงเป็นลำดับ[12] ปัญหาทางเศรษฐกิจประกอบกับที่ดินที่แห้งแล้งที่อาศัยอยู่ ก็ทำให้อัศวินมีพฤติกรรมเลยเถิดไปถึงการปล้นเรือมุสลิม[13] การปล้นที่บ่อยครั้งขึ้นทำให้อัศวินมีเงินมาใช้อย่างฟุ่มเฟือย เอาผู้หญิงท้องถิ่นเป็นภรรยา และเข้าร่วมกับกองเรือฝรั่งเศสและสเปนในการเดินทางผจญภัยต่าง ๆ ที่เป็นการเพิ่มรายได้ให้มากยิ่งขึ้น[14] พฤติกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ตรงกันข้ามกับการถือคำปฏิภาณในการรักษาความสมถะเมื่อเข้าเป็นนักบวชตามหลักปฏิบัติของคณะ ความเปลี่ยนแปลงทางทัศนคติของอัศวิน ประจวบกับการปฏิรูปศาสนาฝ่ายโปรเตสแตนต์ และ การปฏิรูปคาทอลิก และการขาดเสถียรภาพของสถาบันโรมันคาทอลิก เหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้มีผลกระทบกระเทือนต่ออัศวินอย่างรุนแรง เมื่อในคริสต์ศตวรรษที่ 16 และ 17 เกิดความเสื่อมโทรมด้านทัศนคติทางศาสนาของผู้คนทั่วไปในยุโรป ที่ทำให้ความสำคัญของการมีคณะอัศวินลดถอยลง ซึ่งก็แปลว่าการสนับสนุนทางการเงินจากชาติต่าง ๆ ในยุโรปก็ลดน้อยลงตามไปด้วย[15] การที่อัศวินโรมันคาทอลิกเริ่มพิจารณายอมรับอังกฤษเข้ามาเป็นรัฐสมาชิก หลังจากที่ สมเด็จพระเจ้าเฮนรีที่ 8 แห่งอังกฤษ แยกตัวออกไปเป็นคณะอิสระอยู่ชั่วระยะหนึ่ง เมื่อสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 แห่งอังกฤษผู้เป็นพระราชินีโปรเตสแตนต์ขึ้นครองราชย์ก็เป็นการแสดงให้เห็นถึงการยอมรับลัทธิอื่นของอัศวิน[16] อัศวินบริบาลถึงกับมีเขตเยอรมันซึ่งมีทั้งโปรเตสแตนต์และโรมันคาทอลิกเท่า ๆ กัน

ความเสื่อมโทรมทางจริยธรรมของอัศวินบริบาลในช่วงนี้แสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดจากการตัดสินใจของอัศวินหลายคนในการเข้ารับราชการในราชนาวีต่างประเทศและกลายเป็น "ทหารรับจ้าง" (sea-dogs) แห่งคริสต์ศตวรรษที่ 14 ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 17 โดยนิยมกันไปทำงานให้กับฝรั่งเศส[17] การไปเป็นทหารรับจ้างเป็นข้อที่ตรงกันข้ามกับหลักการของอัศวินบริบาลอย่างที่สุด ตรงที่การไปทำงานให้กับมหาอำนาจในยุโรปเป็นโอกาสที่อาจจะเป็นไปได้ที่จะนำไปสู่การที่อัศวินต้องไปต่อสู้กับกองทัพคริสเตียนของอีกฝ่ายหนึ่ง เช่นในการปะทะกันประปรายทางนาวีระหว่างฝรั่งเศสกับสเปนที่เกิดขึ้น[18] สิ่งที่เป็นปฏิทรรศน์มากที่สุดก็เมื่อฝรั่งเศสไปเป็นพันธมิตรกับออตโตมันอยู่หลายปี ผู้ซึ่งเป็นศัตรูอันสำคัญของอัศวินและผู้เป็นเหตุผลหลักในการดำรงตัวของคณะเอง ฝรั่งเศสไปลงนามในสัญญาทางการค้าหลายฉบับ และ ถึงกับไปตกลงสงบศึก (ที่ไม่มีผล) กับออตโตมันในช่วงเวลานี้ด้วย[19] การที่อัศวินเข้าไปพัวพันกับพันธมิตรของศัตรูหมายเลขหนึ่งแสดงให้เห็นถึงความลักลั่นทางจรรยาธรรมของอัศวินและความสำคัญทางการค้าที่เพิ่มมากขึ้นในทะเลเมดิเตอเรเนียนในขณะนั้น การไปทำงานให้กับราชนาวีต่างประเทศโดยเฉพาะฝรั่งเศสเป็นการเปิดโอกาสให้อัศวินได้ทำหน้าที่ทางศาสนาและรับใช้พระมหากษัตริย์, เพื่อเพิ่มการเป็นที่รู้จักของราชนาวีที่รับราชการหรือมอลตา, เพื่อมีรายได้เพิ่มขึ้น และเพื่อหากิจการต่าง ๆ ทำเพื่อขจัดความจำเจ[20] พฤติกรรมนี้แสดงให้เห็นว่าอัศวินเริ่มจะละทิ้งความภักดีต่อทั้งคณะและศาสนา แต่ผู้ที่ได้ประโยชน์คือฝรั่งเศสที่ได้กองกำลังทางนาวีที่มีประสบการณ์ที่ช่วยเพิ่มความมั่นคงทางด้านภัยที่มาจากสเปน การเปลี่ยนทัศนคติของอัศวินในระหว่างช่วงนี้สรุปได้จากคำกล่าวของพอล ลาครัวซ์ที่ว่า:

"ฐานะที่เพิ่มขึ้นจากความมั่งคั่งร่ำรวย การมีอภิสิทธิ์ที่ทำให้เป็นเหมือนราชรัฐ ... คณะในที่สุดก็ขาดจริยธรรมจากความฟุ่มเฟือย และ การปราศจากกิจการ ที่ทำให้เลิกคิดถึงจุดประสงค์เดิมที่แท้จริในการก่อตั้งคณะ และหันไปอ้าแขนรับความสำราญ ความละโมบและความหยิ่งในที่สุดก็ไม่มีขอบเขต อัศวินแสร้งทำตนว่าเหนืออำนาจของผู้ใด โดยการเที่ยวยึดเที่ยวปล้นโดยไม่คำนึงว่าเป็นทรัพย์สินของผู้ใดไม่ว่าจะเป็นของผู้นอกศาสนาหรือคริสเตียน"[21].

เมื่ออัศวินบริบาลมีชื่อเสียงและความมั่งคั่งร่ำรวยขึ้น รัฐในยุโรปก็เริ่มหมดความสนใจกับคณะและไม่เต็มใจที่จะให้เงินสนับสนุนอย่างที่เคยทำมาให้แก่คณะที่หารายได้ได้ดีจากการรุกรานทางทะเล ฉะนั้นวัฏจักรของความเสื่อมโทรมที่เกิดจากการมีรายได้เพิ่มขึ้นซึ่งเป็นการลดเงินสนับสนุนก็เกิดขึ้น จนกระทั่งในที่สุดอัศวินก็ต้องพึ่งรายได้จากการหากินทางทะเลแต่เพียงอย่างเดียว[14] เหตุผลอีกประการหนึ่งที่มหาอำนาจในยุโรปหันความสนใจจากอัศวินบริบาลและหันไปสนใจกับปัญหาบนผืนแผ่นดินใหญ่ก็เนื่องมาจากสงครามสามสิบปี ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1641 ก็มีจดหมายจากบุคคลสำคัญผู้ไม่ทราบนามในวาลเล็ตตาในมอลตาไปถึงพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 พันธมิตรสำคัญของอัศวินที่กล่าวถึงปัญหาที่ประสบ:

"อิตาลีให้ความสนับสนุนเราแต่ไม่มาก โบฮีเมียและเยอรมนีเกือบไม่ได้สนับสนุน และอังกฤษและเนเธอร์แลนด์เป็นเวลาเนิ่นนานแล้วที่ไม่ได้สนับสนุนแต่อย่างใด เรามีบางสิ่งที่สามารถทำให้ดำรงตัวอยู่ได้ เซอร์ ในราชอาณาจักรของท่านและในสเปน"[22]

แต่ที่น่าสังเกตคือไม่มีการกล่าวถึงรายได้อันดีที่ได้มาจากการหากินทางทะเล เจ้าหน้าที่มอลตาเห็นประโยชน์จากการเป็นโจรสลัดว่าเป็นรายได้สำคัญและส่งเสริมให้เกิดการกระทำนั้นมากขึ้น แม้ว่าอัศวินจะถือปฏิภาณความยากจนแต่ก็ได้รับอนุญาตให้เก็บสินค้าและทรัพย์สินที่ปล้นได้เป็นของตนเองส่วนหนึ่ง และ ให้ใช้ทุนทรัพย์ในการสร้างเสริมเรือให้แข็งแรงขึ้น[23] นอกจากการปล้นสดมทางเรือแล้วอัศวินก็ยังมีกิจการการค้าทาสที่รุ่งเรืองพอกับโจรสลัดบาร์บารี

ปัญหาขัดแย้งใหญ่ของระบบการหากินของอัศวินบริบาลคือการเรียกร้องในการบังคับใช้มาตรการในการมีอำนาจที่จะหยุดและขึ้นเรือทุกลำที่สงสัยว่าจะบรรทุกสินค้าออตโตมัน และยึดสินค้าและนำมาขายใหม่ในวาลเล็ตตา ซึ่งรวมทั้งกะลาสีซึ่งเป็นสินค้าที่มีค่าที่สุด พฤติกรรมที่ว่านี้ทำให้หลายชาติอ้างว่าเป็นตกเป็นเหยื่อจากการกระทำของอัศวินที่ยึดเรือแม้ว่าเป็นที่ต้องสงสัยเพียงเล็กน้อยว่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าที่มาจากตุรกี[13] เมื่อปัญหาเริ่มบานปลายขึ้นเจ้าหน้าที่มอลตาพยายามควบคุมโดยการก่อตั้งศาล 'Consiglio del Mer' สำหรับกัปตันเรือผู้มีความรู้สึกว่าถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมสามารถร้องเรียนได้ และมักจะสำเร็จ การให้ใบอนุญาตในการทำกิจการหากินทางทะเลก็ได้รับการควบคุมมากขึ้นเพราะมอลตาพยายามรักษาสันติภาพกับมหาอำนาจในยุโรป แต่กระนั้นมาตรการก็ไม่ประสบผลสำเร็จไปเสียทั้งหมด ที่เห็นได้จากบันทึกจำนวนมากของคดีร้องเรียนต่าง ๆ จากศาล 'Consiglio del Mer' ตั้งแต่ ค.ศ. 1700 ในที่สุดพฤติกรรมดังกล่าวก็นำความหายนะมาให้แก่ลัทธิเอง[24]

ความยุ่งยากในยุโรป แก้

ในปี 1789 เกิดการปฏิวัติขึ้นในฝรั่งเศส มีการต่อต้านพวกขุนนางและชนชั้นสูงไปทั่วประเทศ ทำให้กลุ่มบริบาลสูญเสียแหล่งเงินทุนในฝรั่งเศสไปอย่างถาวร เมื่อการปฏิวัติจบลง รัฐบาลใหม่ของฝรั่งเศสก็สั่งยึดอสังหาริมทรัพย์และทรัพย์สินของบริบาลในฝรั่งเศสจนหมด

มอลตาพ่าย แก้

เมื่อปี 1798 ฐานที่มั่นของกลุ่มในมอลตาถูกนโปเลียนยึดในระหว่างการขยายอิทธิพลไปอียิปต์ของนโปเลียน ทางกลุ่มพยายามเจรจาต่อรองกับยุโรปเพื่อที่จะกลับคืนสู่อำนาจอีกครั้ง พระเจ้าซาร์แห่งรัสเซียจึงมอบที่หลบภัยให้พวกอัศวินในเมือง เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ต่อมาในช่วงปี 1800 ทางกลุ่มก็อ่อนแอลงเรื่อย ๆ เนื่องจากสูญเสียสมาชิกในยุโรป และตกต่ำจนถึงที่สุด

ด้วยการสนับสนุนจากพระสันตะปาปาลีโอที่ 13 ทางกลุ่มก็ฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้งในปี 1834 และมีศูนย์บัญชาการในกรุงโรมและเป็นที่รู้จักในชื่อ คณะทหารองค์อธิปัตย์แห่งมอลตา (Sovereign Military Order of Malta)

ในปัจจุบัน แก้

คณะทหารองค์อธิปัตย์แห่งมอลตาเป็นคณะโรมันคาทอลิก ได้รับการยอมรับจากสมาชิกถาวรแห่งสหประชาชาติ โดยมีกิจกรรมหลัก ๆ ในเรื่องทางศาสนา การกุศล และโรงพยาบาล และเป็นที่รู้จักกันในชื่อคณะแห่งมอลตา (Order of Malta) คติประจำกลุ่มคือ Tuitio Fidei et Obsequium Pauperum เป็นภาษาละติน แปลว่า "ผู้ปกป้องความศรัทธาและช่วยเหลือผู้ยากไร้" (Defence of the faith and assistance to the poor)

ในปัจจุบัน ยังมีกลุ่มเลียนแบบอัศวินบริบาลเป็นจำนวนมาก ซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องอันใดกับกลุ่มของจริง

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 "Knights Of Malta - unofficial website". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-02-14. สืบค้นเมื่อ 2009-05-16.
  2. 2.0 2.1 "Malta History 1000 AD - present". Carnaval.com. สืบค้นเมื่อ 2008-10-12.
  3. "Knights Of Malta - unofficial website<". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-02-14. สืบค้นเมื่อ 2009-05-16.
  4. "CATHOLIC ENCYCLOPEDIA: Knights of Malta". Newadvent.org. สืบค้นเมื่อ 2008-10-12.
  5. "Bodrum.com". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-02-14. สืบค้นเมื่อ 2009-05-21.
  6. "Turkeyhotelguides.com". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-03-05. สืบค้นเมื่อ 2021-09-07.
  7. (G. Veinstein). "Süleymān : Encyclopaedia of Islam : Brill Online". Brillonline.nl. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-02-14. สืบค้นเมื่อ 2008-10-12.
  8. 8.0 8.1 "Malta History". Jimdiamondmd.com. สืบค้นเมื่อ 2008-10-12.
  9. "Knights of Malta". Knightshospitallers.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-07-05. สืบค้นเมื่อ 2008-10-12.
  10. Ottoman Siege of Malta, 1565 - World History at KMLA - accessed September 14, 2007
  11. Peter Earle, Corsairs of Malta and Barbary, (London: Sidgwick & Jackson, 1970); p. 107
  12. Hoppen, 'The Finances of the Order of St John of Jerusalem' p. 106
  13. 13.0 13.1 Peter Earle, Corsairs of Malta and Barbary, (London: Sidgwick & Jackson, 1970); p. 109
  14. 14.0 14.1 Peter Earle, Corsairs of Malta and Barbary, (London: Sidgwick & Jackson, 1970); p. 97
  15. Herny Kamen, Early Modern European Society, (London: Routledge, 2000); p. 17
  16. D F Allen, 'Charles II, Louis XIV and the Order of Malta', The Historial Journal, 33(4), 1990, p. 326
  17. Paul Walden Bamford, 'The Knights of Malta and the King of France 1665-1700', French Historical Studies, 3, 1964; p. 432
  18. Paul Walden Bamford, 'The Knights of Malta and the King of France 1665-1700', French Historical Studies, 3, 1964; p. 434
  19. D F Allen, 'Charles II, Louis XIV and the Order of Malta', The Historial Journal, 33(4), 1990, p. 324
  20. Paul Walden Bamford, 'The Knights of Malta and the King of France 1665-1700', French Historical Studies, 3, 1964; pp. 423-433
  21. Paul Lacroix, Military and Religious Life in the Middle Ages and the Renaissance, (New York: Frederick Ungar Publishing, 1964); p. 188
  22. D F Allen, 'Charles II, Louis XIV and the Order of Malta', The Historial Journal, 33(4), 1990, p. 338
  23. Desmond Seward, The Monks of War, (London: Penguin, 1972); p. 274
  24. Molly Greene, 'Beyond the Northern Invasion: The Mediterranean in the 17th Century', Past and Present, 2002 (174), p. 46

ดูเพิ่ม แก้

  • Cohen, R. (2004-04-15) [1920]. Julie Barkley, Bill Hershey and PG Distributed Proofreaders (บ.ก.). Knights of Malta, 1523-1798. Project Gutenberg. สืบค้นเมื่อ 2006-05-29.
  • Nicholson, Helen J. (2001). The Knights Hospitaller. ISBN 1843830388.
  • Noonan, James-Charles, Jr. (1996). The Church Visible: The Ceremonial Life and Protocol of the Roman Catholic Church. Viking. p. 196. ISBN 0670867454.
  • Peyrefitte, Roger. Knights of Malta. Translated from the French by Edward Hyams. Secker & Warburg, London, 1960, page 96.
  • Read, Piers Paul (1999). The Templars. Imago. p. 118. ISBN 8531207355.
  • Riley-Smith, Jonathan (1999). Hospitallers: The History of the Order of St John. Hambledon.
  • Tyerman, Christopher (2006). God's War: A New History of the Crusades. Allen Lane. p. 253. ISBN 0-7139-9220-4.
  • "Some Notes About the Sovereign Military Order of Malta in the U.S.A." Nobilta (Rivista di Araldica, Genealogia, Ordini Cavallereschi). Istituto Araldico Genealogico Italiano. Vol VII, No. 32 (September/October 1999). Reference by Carl Edwin Lindgren relating only to the Order in the United States.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้